fbpx
เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ: สังคมไทยในความเสื่อมแห่งอาญาสิทธิ์ของราชาชาตินิยม

การเลือกตั้งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาทำให้คนไทยคุ้นชินกับชัยชนะของพรรคเพื่อไทย (รวมถึงไทยรักไทยและพลังประชาชน) อันเป็นพรรคที่ครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง-ครองใจมวลชนเสียงข้างมาก แต่หลังจากที่ คสช. ครองอำนาจมาเก้าปี ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลก็คว้าชัยขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งนี้

ฐานเสียงสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งคือคนชั้นกลาง น่าสนใจว่าในกลุ่มโหวตเตอร์ก้าวไกลนี้คงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เคยเข้าร่วมการประท้วงสนับสนุนอำนาจเผด็จการให้ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

หลังการปกครองประเทศของ คสช. ยาวนานเก้าปี มาถึงวันนี้คนชั้นกลางส่งเสียงต้องการพรรคที่มีข้อเสนอแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างตามกลไกประชาธิปไตย

ไม่ใช่เวลาเพียงชั่วข้ามคืนหรือช่วงหาเสียงไม่กี่เดือนที่จะเปลี่ยนใจคนชั้นกลางให้ผละจากเผด็จการมายืนข้างประชาธิปไตยได้ ภาพที่คนไทยเห็นในวันนี้เป็นการยืนยันว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญทางความคิด ความรู้สึก และความเชื่อของผู้คนในสังคม

101 จึงชวน ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองภาพสะท้อนสังคมไทยผ่านการเลือกตั้งและปัจจัยที่ทำให้สังคมไทยมองหาคำตอบใหม่ๆ มาเป็นทางออกจากปัญหาที่เรื้อรังยาวนาน

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายคนมองว่าเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย อาจารย์คิดว่าเรื่องไหนเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด

ทัศนคติทางการเมืองของคนชั้นกลางเปลี่ยน คนชั้นกลางเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญมาก อย่างในเหตุการณ์14 ตุลาฯ 2516 หรือพฤษภา 2535 ใครอยากมีอำนาจนำในเมืองไทยต้องได้คนชั้นกลางไว้เป็นพวก ไม่อย่างนั้นคุณจะเป็นใหญ่ไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นทหารหรือนักการเมือง

เมื่อดูความเปลี่ยนแปลงทางสังคมประชากร พอถึงช่วงทักษิณ ชินวัตร เห็นชัดว่าคนชั้นกลางระดับล่างเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียงข้างมากที่สุดในประเทศ มากกว่าคนกลุ่มอื่น นั่นแปลว่าแผ่นดินก้อนใหญ่ที่สุดของสนามการเมืองไทยคือคนชั้นกลาง ดังนั้นคนชั้นกลางเป็นทั้งปัจจัยที่ทำให้มันคลี่คลายและเป็นปัจจัยที่ทำให้มันไม่มีเสถียรภาพ

ผลการเลือกตั้งหนนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้านทัศนคติทางการเมืองของคนชั้นกลาง ช่วง คสช. ขึ้นมา คือคุณเจอม็อบเสื้อแดงเสื้อเหลืองมาร่วม 10 ปีจนมีอาการ mobilization fatigue คือเหนื่อยจากการระดมกำลังเคลื่อนไหวกันนานมาก ไม่ได้แปลว่าทุกคนไปร่วม แต่บ้านเมืองยุ่งจนมีความรู้สึกไม่มั่นคงอันเกิดจากม็อบไม่หยุดเลย นั่นคือทัศนคติของคนชั้นกลางตอนนั้นทำให้เขาต้องการแสวงหาความสงบหลังเหนื่อยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาเยอะแล้ว

แต่ผลเลือกตั้งครั้งนี้เห็นชัดว่าเปลี่ยนจาก mobilization fatigue เป็น immobility fatigue คือเหนื่อยกับการไม่ได้เคลื่อนไปไหน เพราะติดกับดักอำนาจนิยมที่เกิดจาก คสช. ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่สามารถผลักดันข้อเรียกร้องของตัวเองในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเข้าไปถึง คสช. ได้ เพราะ คสช. ก็มีวาระของเขาเองซึ่งก็อยู่ในหมู่อีลีตและสถาบันอำนาจเก่า

จากที่คนเหนื่อยล้ากับการเคลื่อนไหวและความไม่มั่นคงที่เกิดจากม็อบ มาสู่เหนื่อยล้ากับการไม่ได้เคลื่อนไหว เพราะติดกับดักอำนาจนิยม ผลการเลือกตั้งก็เลยสวิงออกมาขนาดนี้ แล้วยังมีปัจจัยอื่น การทำงานความคิด-การทำงานการเมืองของพรรคก้าวไกลก็มีผลมาก แต่ผมยังให้น้ำหนักกับการที่คนชั้นกลางเปลี่ยนและการเปลี่ยนนี้เกิดจากเขาไม่ได้สิ่งที่คาดหวังจากระเบียบการเมืองของ คสช.

สำหรับคนชั้นกลางที่หันมาเลือกพรรคก้าวไกล อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ก้าวไกลเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา

เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะสูตรการเมืองเก่าที่ตรึงความคิดจิตใจคนชั้นกลางกรุงเทพฯ เป็นเวลานาน คือสูตร ‘คนดี-ความดี’ ในช่วงประมาณ 10-20 ปีที่ผ่านมาคำโฆษณาเรื่อง ‘คนดี-ความดี’ และ ‘เราต้องได้คนดีมาปกครอง’ มันเกาะกุมความคิดจิตใจคนชั้นกลางไว้มาก ซึ่งก้าวไกลไม่ได้เสนอเรื่องนี้เลย เขาคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนดี แต่อยู่ที่ระบบโครงสร้าง ดังนั้นข้อเสนอของเขามุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อให้มีพื้นที่ให้คนชั้นกลางมีโอกาสแก้ปัญหาของตัวเองทางการเมือง มีโอกาสเสนอข้อเรียกร้องของตัวเองต่อการเมือง มีโอกาสในการทำมาหากินทางเศรษฐกิจมากขึ้น นี่เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แล้วการใช้ความดี-คนดีมาเป็นคำตอบนั้นไม่จับใจแล้ว ไม่น่าเชื่อถือแล้ว ก็เลยทำให้ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเกาะกุมความคิดจิตใจของเขาได้ดีกว่าพรรคอื่น

ในช่วงหลังเลือกตั้งที่ผ่านมาพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (หัวหน้าพรรคก้าวไกล) ทำตัวเป็นนายกฯ เสมือน นี่คงเป็นส่วนหนึ่งของวิธีที่เขาคิดว่าได้ผล เขาจะชนะโหวตในสภาจนเป็นนายกฯ ได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่เขาทำให้ฐานะความเป็นนายกฯ ของเขาจากการชนะเลือกตั้งเป็น a virtual fait accompli (fait accompli แปลว่าความจริงที่สำเร็จรูปเรียบร้อยแล้ว) คือทำตัวให้เหมือนนายกฯ แล้ว นี่คือความเป็นจริงเสมือนที่ปรากฏตรงหน้า

ตั้งแต่ชนะเลือกตั้ง พิธารณรงค์หาเสียงไม่ได้หยุดเลย นอกจากไปขอบคุณจังหวัดต่างๆ แล้วก็ไปเข้าพบกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะไปฟังปัญหาของบรรดาสมาคมคนชั้นกลาง-นักธุรกิจ เก็บรวบรวมความเห็นข้อเสนอของเขา ซึ่งจะเอาไปแก้ไขได้หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เขาลงไปฟัง เทียบกับสมัยรัฐบาลตู่คือมีศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ก็ตั้งเอาไว้แล้วเดือดร้อนปวดท้องก็ไปบอกศูนย์ดำรงธรรม คุณไม่มีทางเข้าถึงอย่างมั่นใจรู้ผลได้เลย เหมือนการจุดธูปขอพระแล้วไม่รู้ว่าหลวงพ่อจะช่วยแก้ปัญหาหรือเปล่า วิธีบริหารของคุณตู่เหมือนเราอยู่ในระบอบที่อำนาจรวมศูนย์สูงสุดที่เดียว คุณไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้เลยจนกว่าอำนาจสูงสุดซึ่งอยู่กับลุงตู่จะได้ยินแล้วยอมแก้ไขให้ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาจะได้ยินไหม

ลองนึกถึงคนที่อยู่กับศูนย์ดำรงธรรมมาเก้าปี แล้วจู่ ๆ มีคนที่เป็นนายกฯ เสมือนมาหาแล้วฟังความเห็นของคุณ จะแก้ได้ไหมอีกเรื่องหนึ่ง แต่เขาเห็นหัวคุณ นี่คือสิ่งที่คนชั้นกลางไทยเรียกร้องเพราะขาดหายไปในสมัย คสช.


การเปลี่ยนแปลงของคนชั้นกลาง จากที่ซื้อไอเดียเรื่องคนดี-ความดี กลายมาเป็นเอาด้วยกับนโยบายเปลี่ยนโครงสร้างของก้าวไกล เป็นเพราะว่าสังคมเปลี่ยนมาก่อนแล้วหรือเป็นเพราะก้าวไกลเสนอขายจนคนยอมรับ

ครึ่งๆ คือภาพสังคมเศรษฐกิจไทยในโครงสร้างชนชั้น โอกาสของการทำมาหากินในตลาดนั้นเปลี่ยนไปพอสมควร ทั้งเรื่องเทคโนโลยี สถานะทางเศรษฐกิจ ในช่วงเก้าปีที่ผ่านมามีความผันผวนเยอะมาก มีโควิด มีหลังโควิด มีความขัดแย้งในโลกาภิวัตน์ที่ทำให้อเมริกากับจีนขมึงตึงเครียดกัน โอกาสทำมาหากินเปลี่ยน ซัพพลายเชนก็ต้องปรับปรุงกันใหม่หมดเลย

ขณะที่สังคมคลี่คลายเปลี่ยนแปลงไป มีปัญหาใหม่ๆ มีความต้องการเปลี่ยนใหม่ๆ แต่ภาครัฐและระบบราชการมันนิ่ง เพราะ คสช. หรือกลุ่มชนชั้นนำที่แวดล้อม คสช. ให้ค่ากับความมั่นคงมากกว่า เหมือนแทบจะแช่แข็งการทำงานของระบบราชการให้ไม่ขยับขานรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม ในขณะที่สังคมเจอความผันผวนเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่คุณปล่อยให้ภาครัฐยังปกครองแบบรัฐราชการแบบเก่า

ผมคิดว่าคุณตู่จะมีความสุขมากเลยถ้าไม่มีการเมืองมายุ่งแล้วเขาได้เป็นปลัดกระทรวงประเทศไทย เขาทำงานเหมือนปลัดกระทรวงประเทศไทยจึงทำให้ทั้งประเทศไม่สามารถมีรัฐที่ตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างทันท่วงที

อีกส่วนหนึ่งก็คือการทำงานการเมืองของพรรคก้าวไกลที่ปักธงว่าปัญหาอยู่ตรงนี้ ต้องแก้ตรงนี้


แล้วคนชั้นกลางเปลี่ยนขั้วแบบถาวรหรือเปล่า บางคนมองว่าเป็นความเห่อ เช่น เลือกก้าวไกลแล้วทันสมัย มีคนกรี๊ดพิธาแบบดารา

เป็นเดิมพันของประชาธิปไตยนะครับ ว่าประชาธิปไตยจะสามารถปรับปรุงโครงสร้างแสดงตัวออกมาและมีที่ทางให้คนชั้นกลางได้เข้าไปใช้เพื่อแก้ปัญหาของตัวเองหรือเปล่า ถ้ามันทำไม่ได้ ดูแล้วไม่เห็นต่างจากศูนย์ดำรงธรรมของลุงตู่เลย มันก็ไม่ใช่อะไรที่จะซื้อใจคนชั้นกลางได้ตลอดไป

คนชั้นกลางจะไม่ตายกับพรรคไหน ไม่ตายกับเผด็จการหรือประชาธิปไตย ไม่ตายกับทักษิณ พวกเขาหักหลังทักษิณได้ แล้วก็ไม่ตายกับลุงตู่ พวกเขาหักหลังลุงตู่ได้ คนชั้นกลางเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจไม่ได้ของทั้งเผด็จการและประชาธิปไตย และเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจไม่ได้ทั้งกับคนที่กลัวสมบูรณาญาสิทธิราชย์และคนที่กลัวสาธารณรัฐ เขาสวิงได้และสวิงมาแล้ว ดูประวัติการเมืองของไทยสัก 20-30 ปีที่ผ่านมา เดี๋ยวก็สวิงไปเผด็จการ เดี๋ยวก็เอาประชาธิปไตย เดี๋ยวเอากับกลุ่มพลังการเมืองที่เน้นอำนาจอยู่ที่ประชาชนจากการเลือกตั้ง เดี๋ยวเอากลุ่มพลังการเมืองที่เน้นอำนาจอยู่ที่ระบบข้าราชการ อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ สวิงไปมาตลอด นี่ไม่ใช่ของตาย คำถามคือคุณมีเงื่อนไขที่ทำให้ประชาธิปไตยเวิร์กสำหรับเขาไหม ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ เพราะมันมีช่องทางให้พวกเขาเข้ามาจับจองแล้วใช้พื้นที่ประชาธิปไตยในการผลักดันข้อเรียกร้องของเขามากกว่าระบอบอำนาจนิยมในแบบที่ลุงตู่ทำ นั่นเป็นเงื่อนไขสำคัญ

นี่คือกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนโฉมไปแล้ว คุณจะทำยังไงที่จะอยู่กับพวกเขาได้ จะทำอย่างไรให้พรรคของคุณเปลี่ยนโครงสร้างข้างใน เปลี่ยนธรรมเนียมการทำงานข้างใน และมีพื้นที่ให้กับพวกเขาได้ ถ้าปรับตัวไม่ทันคุณก็จะโดนลูกค้ากลุ่มนี้ถล่มแหลก เพราะทุกวันนี้มีเทคโนโลยีสื่อสารที่เขาสามารถแสดงความต้องการของเขาได้โดยตรง เร็วกว่าแต่ก่อนเยอะ แต่ถ้าคุณทำได้ก็เป็นคะแนนบวกของคุณ


คนชั้นกลางเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แน่นอนไหม ไม่ใช่ว่าช่วงหนึ่งต้องการปกป้องสถาบันฯ ช่วงหนึ่งต้องการให้เศรษฐกิจโต อีกช่วงก็ต้องการอีกแบบหนึ่ง

โดยประวัติศาสตร์ แนวโน้มทางการเมืองของทั้งคนชั้นกลางในโลกตะวันตกและคนชั้นกลางในเมืองไทยคือ เสรีนิยมทางการเมืองความคิดและเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ แปลว่าคุณไม่ชอบอำนาจอธิปไตยที่เด็ดขาดสัมบูรณ์ (absolute sovereignty) ไม่ว่าคนที่ถืออำนาจนั้นจะเป็นทหารแบบเผด็จการหรือเป็นนักการเมืองแบบประชาธิปไตย เขากลัวอำนาจอธิปไตยเด็ดขาดสัมบูรณ์ที่จะตัดสินเปรี้ยงแล้วริบอะไรของเขาไปหมด เขาต้องการพื้นที่เสรีภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจและพื้นที่เสรีภาพทางการเมืองความคิด ดังนั้นเขาจึงระแวงทั้งอำนาจอธิปไตยเด็ดขาดสัมบูรณ์ที่มาจากการเลือกตั้งและอำนาจอธิปไตยเด็ดขาดสัมบูรณ์ที่มาจากการยึดอำนาจ

ในความหมายหนึ่ง นี่แหละคือเหตุแห่งความไม่ค่อยมีเสถียรภาพของการเมืองไทยที่ผ่านมา เพราะตอนนี้เราเป็นประเทศที่มีคนชั้นกลางเป็นฐานใหญ่ของบ้านเมือง แล้วคนชั้นกลางมักเป็นอย่างนี้แหละ มันสวิงได้ ทั้งประชาธิปไตยและทั้งเผด็จการสามารถมีปัญหากับคนชั้นกลางได้ทั้งคู่

ปัญหาของ คสช. คือทำได้ไม่ดีในแง่เศรษฐกิจสังคมและทำตัวแบบไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้เกิดพื้นที่เหนือการวิจารณ์จำนวนมาก สังคมไทยแต่เดิมมาก็มักจะมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหนือการวิจารณ์ เดิมทีอาจจะเป็นศาสนา ต่อมาอาจจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ คสช. คือเครือข่ายอำนาจ คสช. อยากทำตัวให้อยู่เหนือการวิจารณ์หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นศาลหรือกองทัพ ถ้าสามารถมีมาตรา 113 หรือมาตรา 114 ไว้ปกป้องพวกเขาเหมือนมาตรา 112 เขาก็คงออกกฎหมายมาแล้ว เขาไม่แฮปปี้เลยที่จะอยู่ภายใต้การวิจารณ์ แล้วคุณจะให้คนชั้นกลางทำอะไร เมื่อคนชั้นกลางมีอำนาจเข้าถึงสื่อและวิจารณ์

ดังนั้น สัญญาประชาคมแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ คสช. ให้ไว้กับคนชั้นกลางไม่บรรลุผล คือคุณไม่มีเสรีภาพทางการเมืองนะ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับทางการเมือง แต่คุณมีเสรีภาพส่วนตัว สามารถเที่ยวรอบโลก สามารถทำมาหากินได้ เราจะทำให้เศรษฐกิจโต เราจะทำให้พวกคุณได้บริโภคนิยมต่อ สามสถาบันหลักของคนชั้นกลาง อันได้แก่ ตลาดหุ้น ธนาคาร และช้อปปิ้งมอลล์จะศักดิ์สิทธิ์ แล้วคนชั้นกลางจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

เขาทำตามสัญญาประชาคมนี้ไม่ได้ แล้วดันเพิ่มพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เข้าถึงไม่ได้เข้ามา มันเป็นระเบียบอำนาจที่ถึงที่สุดแล้วคนชั้นกลางรู้สึกว่ากูไม่เอากับมึงแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะอยู่กับประชาธิปไตยไปตลอด

คุณอยู่ในห้องกับช้างตัวนี้ที่เรียกว่าคนชั้นกลาง แล้วมันมีบุคลิกพิลึกๆ คุณอยากจะทำห้องนี้ให้เป็นประชาธิปไตย คุณต้องรู้นิสัยมัน อย่าคิดว่าของตาย ไม่แน่หรอก


ชนชั้นกลางจำนวนมากเคยเข้าร่วม กปปส. ที่ชูเรื่องการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้บางส่วนก็หันมาโหวตให้ก้าวไกล ซึ่งโดนกล่าวหาว่าเป็นพรรคสุดโต่ง-ล้มเจ้า เราจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์) เพิ่งเขียนบทความลงมติชนสุดสัปดาห์ว่า อาญาสิทธิ์มันเสื่อมอย่างทั่วด้าน คำว่าอาญาสิทธิ์นี้หมายถึง authority

คำว่า authority ก็คือสมมติคุณยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์แล้วจู่ๆ มีใครก็ไม่รู้จะมาตรวจบัตรประชาชน คุณจะยอมไหม…ไม่ยอมใช่ไหมครับ แต่ถ้าคนนั้นสวมชุดตำรวจมาขอดูบัตรประชาชนคุณยอมไหม… ก็น่าจะยอม เครื่องแบบนั่นคือ authority นี่คือความแตกต่างระหว่างอำนาจดิบที่มาบีบคอแล้วค้นเอากับ authority คือยอมให้ค้นเพราะนับถือว่าคุณมีสิทธิใช้อำนาจนั้น

ผมคิดว่าอุดมการณ์หลักของสังคมไทยสูญเสียอาญาสิทธิ์ สูญเสียพลังความศักดิ์สิทธิ์ที่จะออกคำสั่งแล้วคุณยอมทำตามโดยดุษฎี อุดมการณ์หลักนั้นคืออะไร ถ้าใช้คำของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลคือ ‘ราชาชาตินิยม’ แต่มันแปลว่าอะไรกันแน่

มีกลุ่มชาวพุทธเคลื่อนไหวให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ในที่สุดก็ไม่เคยถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าบรรจุไว้จะเหมือนมาเลเซียหรืออิหร่านที่บอกว่าอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ คือมีอำนาจบังคับในรัฐนี้ ทั้งรัฐสังกัดศาสนานี้ พอเราไม่เคยมีศาสนาประจำชาติ ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ดี แต่ผมเห็นว่าราชาชาตินิยมคือศาสนาประจำชาติไทยโดยที่ไม่ต้องบัญญัติเอาไว้

คำว่าศาสนาประจำชาติในภาษาอังกฤษใช้คำว่า state religion นั่นคือ ‘ศาสนาของรัฐ’ เราปฏิบัติต่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยมราวกับเป็นศาสนาของรัฐ คือไม่มีฐานะทางการ แต่มีพลังอำนาจในทางอุดมการณ์ประหนึ่งเป็นศาสนาของรัฐและทำหน้าที่เป็นบทบัญญัติหน้าที่พลเมืองด้วย ภาษาของอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์เรียกว่ามันเป็นธรรมวิทยาแห่งพลเมือง เป็นศาสนาของพลเมือง (civic religion)

แล้วถามว่าทำไมมวลชนที่เคยอยู่กับ กปปส. จึงมาโหวตให้ก้าวไกล ผมคิดว่านี่คือความเสื่อมแห่งอาญาสิทธิ์ของราชาชาตินิยม

ราชาชาตินิยมก็เหมือนอุดมการณ์อนุรักษนิยมทั้งหลายที่จะต้องอนุรักษ์ถนอมรักษาบางสิ่งเอาไว้ คำถามคือตกลงจะอนุรักษ์อะไรกันแน่และจะอนุรักษ์เพื่อสิ่งใด ผมคิดว่าคำตอบที่ให้มาฟังดูโหวงกลวงมากขึ้น ลองยกตัวอย่างว่าอะไรที่จะมีฐานะเป็นเหมือน state religion และมีพลังให้คนอยากจะรักษาหวงแหนไว้แบบอนุรักษนิยม มันต้องเป็นโลกุตรธรรมอยู่บ้าง คือเป็นสิ่งที่ข้ามพ้นโลกกายภาพ (transcendental) ข้ามพ้นโลกียวิสัยไป มันต้องเป็นความดีทางธรรมะในตัวเอง เรามาถึงยุคสมัยที่มีกลุ่มคนไปปรากฏตัวที่รัฐสภาคุยกับ ส.ว. แสดงความยึดมั่นที่จะปกป้องสถาบันกษัตริย์แล้วขอเงิน 28 ล้านบาทเพื่อมาจัดพิธีกรรม มันไม่ transcendental ด้านที่เป็นโลกุตรธรรมเลือนหายไปจากอุดมการณ์หลักนี้ กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน เรื่องวัตถุ

สัญญาณเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอาญาสิทธิ์ของราชาชาตินิยม มันไม่ transcendental มันคลายความศักดิ์สิทธิ์ลง มันไม่โลกุตรธรรมเหมือนเก่า มันโหวงกลวง ตกลงเราจะอนุรักษ์อะไรไปเพื่ออะไร มันตอบได้ไม่ชัดเหมือนเก่า


เมื่ออาญาสิทธิ์ของราชาชาตินิยมในฐานะศาสนาของรัฐเสื่อมลงไป ผู้คนที่เสื่อมศรัทธาเขาเปลี่ยนใจไปนับถือสิ่งอื่นไหม

ผมคิดว่าตอนนี้ยังไม่ชัดว่าอะไรจะเข้ามาทดแทน แต่เมื่อมวลชนรอยัลลิสต์-มวลชนราชาชาตินิยมมองไปที่ราชาชาตินิยมแล้วเขาไม่เห็นตัวเขาในนั้น เขาจึงไปหาที่อื่นที่เขาจะอยู่แทนได้ คือหลักความเชื่อทางการเมืองที่มีพลังพอที่จะดึงดูดเขาได้ จะเป็นเสรีประชาธิปไตยไหม จะเป็นความคิดเรื่องการปฏิรูปเพื่อให้คนเท่ากันหรือเปล่า มันเป็นตัวเลือกและมีคนเลือกมากพอสมควรในการเลือกตั้ง แต่แน่นอนก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะคงอยู่ได้นาน อยู่ที่ว่ามันตอบสนองการแก้ปัญหาทางการเมืองเศรษฐกิจสังคมต่างๆ ได้หรือเปล่า

ปัญหามีเยอะ เพราะระเบียบอำนาจแบบเดิมและความเชื่อราชาชาตินิยมไม่ได้ตอบปัญหาที่ระเบียบอำนาจแบบเดิมก่อไว้ มันทำให้เราเจอกบฏตัวเล็กตัวน้อยเต็มไปหมดในวงการต่างๆ ซึ่งก็เกิดจากความไม่ยุติธรรม ความไม่เวิร์กของระบบต่างๆ เหล่านั้น แล้วเอาราชาชาตินิยมมาตอบ แล้วพบว่าตอบไม่ได้ ตอนนี้เริ่มมีคำตอบแบบอื่น มีข้อเสนอเรื่องการจัดระเบียบบนฐานความคิดแบบอื่น บนฐานอำนาจของคนที่เท่ากัน อำนาจเสียงข้างมากกำหนดตัดสิน อันนี้จะมาแทนที่ได้ไหม เราสามารถที่จะรักกันโดยที่เราเท่ากันได้ไหม สิ่งที่เรียกว่าภราดรภาพจะเกิดขึ้นได้ไหม เราอยู่ในช่วงกำลังขยับปรับเปลี่ยนผ่าน


หลังเลือกตั้งเครือข่ายชนชั้นนำรวมถึงเครือข่ายประยุทธ์เงียบผิดปกติ ผลการเลือกตั้งไปเขย่าพวกเขาแค่ไหน

คสช. ประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์หลักของเขาในแง่การทหาร เขาสามารถผูกเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพได้อย่างแน่นหนาในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันอาจจะมีจุดอ่อน มีปัญหา แต่นี่คือโปรเจ็กต์ที่เขาบรรลุ ส่วนโปรเจ็กต์ที่ไม่บรรลุคือเขาไม่สามารถสร้างระเบียบการเมืองรัฐสภา-ประชาธิปไตยที่มั่นคงแล้วรองรับสถาบันที่สำคัญของชาติได้ อันนี้ล้มเหลวเลย เขาพยายามจะสร้างพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา สุดท้ายพรรคก็แตก พอลงเลือกตั้งก็ทำได้ไม่ดี

ไม่ว่าคุณจะชอบหรือชัง คุณอยู่ในโลกที่มันจะมีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง ในที่สุดการดำรงคงอยู่ของสถาบันหลักของชาติในระยะยาวจะต้องมาตอบคำถามว่าจะดำรงคงอยู่คู่กับระเบียบรัฐสภาอย่างไร นั่นแปลว่าคุณต้องมีพรรคการเมืองที่จงรักภักดี พรรคการเมืองที่เหมาะกับสถาบันกษัตริย์ในศตวรรษที่ 21 และมีพลังเข้มแข็งดึงดูดมากพอที่จะทำให้สภาเป็นฐานที่มั่นของระเบียบสถาบันเหล่านั้นได้ คสช. ทำล้มเหลวหมดเลย ดังนั้นตอนนี้คำถามคือแล้วพรรคไหนจะทำสำเร็จ ไม่ใช่พรรค 3 ป. เกิดใหม่แน่ๆ เพื่อไทยหรือเปล่า หรือว่าก้าวไกลที่จะเสนอทางออกให้กับการดำรงคงอยู่ของสถาบันหลักของชาติในระยะยาวได้ โดยที่มีความมั่นคงและอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้ ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์สำคัญส่วนหนึ่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ คสช. อีกอย่างหนึ่งคือ คสช. ดูดเอาอำนาจและทรัพยากรมาอยู่ใต้การควบคุมของเกลียวความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีสถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับกองทัพไว้เยอะมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ อย่างรัฐธรรมนูญ นี่ไม่ใช่อะไรที่เราเคยรู้จักสมัยก่อน

คสช. ขึ้นมาในช่วงเปลี่ยนผ่านปลายรัชกาลที่ 9 ถึงต้นรัชกาลที่ 10 ทรัพยากรของประเทศและอำนาจทางการเมืองของประเทศนี้โดนดูดเข้าไปอยู่กับเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจนี้เยอะมากจนถึงจุดที่โอเวอร์โหลด คือคุณมีอำนาจในมือเยอะมาก คุณคุมไปหมดเลย แล้วคุณคุมไม่ได้ การเอาอำนาจมาอยู่ในมืออาจจะไม่ยาก แต่คุณคุมมันได้หรือเปล่า นี่คือปัญหาโอเวอร์โหลดที่ คสช. ทิ้งไว้ให้กับอีลีตไทย มันเป็นภาระมาก สุ่มเสี่ยงมาก คุณมีความรับผิดชอบมหาศาลต่อทรัพยากรและอำนาจมหาศาล โดยที่มีความไม่แน่นอนในอนาคตเยอะมาก

สิ่งที่เขาวางแผนไว้ตอน คสช. ยึดอำนาจคืออยากจะคุมความเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีเรื่องที่เขาคาดเดาไม่ได้เยอะเลย ความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับจีน โควิด สงครามยูเครน มันอยู่นอกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีทั้งนั้นเลย นี่คือปัญหาว่าจะสืบทอดเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ให้อยู่พ้น 20 ปีข้างหน้าได้อย่างไร

พูดให้ถึงที่สุดสิ่งที่จะประกันความมั่นคงในสายตา คสช. คือเกลียวสัมพันธ์ทางการเมือง ดังนั้นปฏิบัติการต่างๆ การวางตำแหน่งคน การฝึกคนต่างๆ ออกแบบมาเพื่อให้เกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจอยู่ต่อไปอีก 20 ปี ปรากฏว่าผิดหมดเลย คุณหลับตาแล้วนึกว่า 20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น… คุณนึกไม่ออก คุณตอบไม่ได้ อันนี้น่าเป็นห่วงที่สุด การวางแผนไว้ 20 ปี ทุกอย่างต้องเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้หมด ไม่มีอะไรออกนอกแผน แต่กลายเป็นว่ามีเรื่องที่ออกนอกแผนเยอะไปหมด แล้วมันออกนอกแผนถึงขนาดที่คุณไม่สามารถจะประกันได้ด้วยว่าเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจที่คุณสร้างขึ้นจะมั่นคงในอีก 20 ปีข้างหน้า


มองดูเส้นทางข้างหน้าของเครือข่ายชนชั้นนำบนภาระของเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจนี้อาจไม่ใช่หนทางที่ดี แต่สิ่งที่น่ากังวลคือหากสถานการณ์ของฝ่ายชนชั้นนำแย่มากๆ เขาอาจจะทำอะไรที่เราคาดไม่ถึงหรือรุนแรงกว่านี้ไหม

ต่อให้ทำก็ไม่แก้ปัญหาหรอก สิ่งที่พึงทำคือคุณต้องแก้ปัญหาโอเวอร์โหลด การเอาทรัพยากรและอำนาจจำนวนมากไว้ในมือ คุณดูแลได้ไม่ทั่วถึงหรอก พอมันอยู่กับคุณคนเดียวแล้วมันเสี่ยงอย่างน่ากลัว ใครที่มานั่งเก้าอี้ซึ่งคุมทรัพยากรและคุมอำนาจขนาดนี้ผมเป็นห่วงนะ แล้วคุณจะกลายเป็นศูนย์รวมที่ปัญหาวิ่งมาใส่เพราะคุณคุมอะไรไว้เยอะ ผมคิดว่าต้องแก้ปัญหาโอเวอร์โหลดนี้โดยทำร่วมกับรัฐสภา ทำร่วมกับพรรคการเมืองที่พอจะเสนอทางที่จะคลี่คลายปัญหานี้ให้กับชนชั้นนำไทยได้ ให้มีอีกระเบียบอำนาจที่มั่นคงในระยะยาว ไม่โอเวอร์โหลดและสามารถรับมือความผันผวนได้

พูดให้ถึงที่สุด ไม่มีพรรคการเมืองไหนคิดเรื่องนี้หรือคิดโดยเปิดเผย มีพรรคก้าวไกลพรรคเดียว ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ ชอบหรือชัง แต่เขาพยายามจะนึกถึงระเบียบการเมืองในอนาคตที่มีความมั่นคงให้กับสถาบันสำคัญของชาติ ในสภาพที่ไม่โอเวอร์โหลด


แต่ก็เป็นโจทย์ที่หากไม่แก้ รัฐบาลพลเรือนก็เดินต่อไปได้ยากด้วยหรือเปล่า

มันก็จะกระทบกระเทือนใช่ไหม ลองดูสิหนึ่งเดือนกว่าหลังเลือกตั้งนี้เราคิดเรื่องอะไร ในบางแง่เราเครียดกว่าก่อนเลือกตั้งอีก เพราะเรารู้สึกว่าหลายอย่างควรจะออกมาชัดเจนได้ แต่มันก็ไม่ออกมาชัดเจน เพราะมีรัฐพันลึก ศูนย์การตัดสินใจไม่ได้อยู่ตามที่ทางที่ควรจะเป็นตามปกติ อาจจะไปอยู่ที่ กกต. อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ค่ายทหาร หรือที่ไหนก็แล้วแต่ แต่มันไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ คือประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎร

คนจำนวนมากกลัว หุ้นตกเอาๆ เพราะมีปัจจัยที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะและคุณคุมไม่ได้เยอะไปหมด ถ้าคุณอยากให้เมืองไทยปกติต้องลดระเบียบอำนาจที่มีช่องให้อำนาจของคนข้างน้อยพวกอีลีตทั้งหลายมาดัดแปลงเฉไฉระเบียบอำนาจปกติของระบอบประชาธิปไตย ต้องลดลงไม่อย่างนั้นคุณอยู่ไม่สุขหรอก


วันนี้ ส.ว. เอาเรื่องมาตรา 112 มาเป็นเงื่อนไขในการโหวตนายกฯ มองได้ว่าเป็นภาพในการทำให้สถาบันกษัตริย์ออกห่างจากประชาธิปไตยมากขึ้นหรือเปล่า

ผมรู้สึกว่าผู้จงรักภักดีและกลุ่มพลังมวลชนฝ่ายขวากำลังทำกับ 112 แบบแปลกดี มีสามเรื่องที่ผมสังเกต

1. เขาทำราวกับว่า มาตรา 112 คือเครื่องรางของขลัง (fetish) ห้อยหลวงพ่อแล้วคงกระพันชาตรี กลายเป็นว่าไม่ได้อยู่ที่ว่ากฎหมายฉบับนี้พูดว่าอะไร แต่อย่ามาแตะ ถ้าแตะแล้วโลกจะวินาศไปหมด กลายเป็นเครื่องรางของขลังของระเบียบอำนาจที่เขาชอบ ซึ่งตลกมากเลยเพราะคุณไม่ได้พิจารณามันด้วยเนื้อหาหรือภาคปฏิบัติที่เป็นจริง

2. คนเหล่านี้คงจะคิดว่ามาตรา 112 คือเครื่องมือในการปกป้องสิ่งที่เขารัก ก็คือสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเขาคิดถึงสถาบันกษัตริย์แบบแช่แข็ง ถ้าเราดูหลัง 2475 สถาบันกษัตริย์มีพลวัต โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ในจังหวะการเมืองที่สำคัญอย่าง 14 ตุลาฯ 2516 หรือพฤษภา 2535 จะเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ถูกปรับให้รับกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วสามารถอยู่รอดพ้นและมั่นคงขึ้นได้ ไม่ได้แช่แข็งไว้ ไม่อย่างนั้นคงไม่อยู่มาถึงทุกวันนี้ แต่คนที่กำลังบ้า 112 แบบเครื่องรางของขลังกลับคิดถึงสถาบันกษัตริย์แบบแช่แข็ง ไม่ให้เปลี่ยนเลย มันไม่ใช่ แบบนี้จะเป็นอันตรายด้วยซ้ำ

3. คุณทำให้คนไม่ได้พูดเรื่องนี้เพราะกลัว หรือถ้าพูดก็พูดแบบคิดสองชั้นเสมอ รู้ว่าถ้าพูดทั้งหมดที่คิดในใจอาจจะไม่ปลอดภัยหรือไม่แน่ใจว่าที่พูดออกไปจะปลอดภัยหรือเปล่า เพราะเส้นแบ่งว่าอะไรถูกหรือผิดคลุมเครือครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ สถาบันสำคัญที่สุดของประเทศไทยคือสถาบันกษัตริย์ กลายเป็นสถาบันที่คนไทยไม่สามารถจะพูดถึงอย่างจริงใจได้ ต้องคิดสองชั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่สามารถถกถึงสถาบันที่สำคัญที่สุดของชาติอย่างตรงไปตรงมาได้ เราจะประกันความมั่นคงระยะยาวของสถาบันนี้ได้อย่างไร เพราะที่เราเห็นคือคุณปฏิบัติต่อมาตรานี้อย่างไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์เลย

มีคนตั้งข้อสังเกตเยอะแล้วว่า แต่ก่อนมีการฟ้องคดี 112 น้อยมาก เพิ่งมาเยอะระยะหลังนี้ ถามว่าเรื่องนี้สะท้อนว่าสถาบันฯ ออกห่างจากประชาธิปไตยไหม ผมคิดว่ามันสะท้อนว่าสถาบันฯ ออกห่างจากเสรีนิยม มีนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่เขาสรุปว่า ในช่วงปลายสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเหมาะหรือไม่เหมาะ สำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ฝ่ายขวาจินตนาการถึงสถาบันกษัตริย์ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจของนักการเมือง ไม่อยากให้นักการเมืองมีอำนาจอธิปไตยเด็ดขาดเกินไป วิธีคิดแบบคนชั้นกลางเสรีนิยมคือไม่ชอบถ้าใครมีอำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์เกินไป ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือเป็นนักการเมือง ดังนั้นในความหมายนี้คือเสรีนิยมและเป็น ‘เสรีนิยมธรรมราชา’ คือเป็นการใช้ความดีงาม ใช้ธรรมะซึ่งผูกติดกับการขึ้นครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจของนักการเมือง ซึ่งก็เป็นความจริงว่ามีนักการเมืองที่ทุจริตฉ้อฉลหรือใช้อำนาจโดยไม่ชอบมารังแกคนอื่น ช่วงที่สถาบันกษัตริย์เปล่งบารมีออกมาในลักษณะเสรีนิยมธรรมราชา ก็แทบจะไม่ได้ใช้มาตรา 112 เลย เพราะคนยอมรับ แทบทำให้มาตรา 112 เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น

เสรีนิยมธรรมราชาเป็นสิ่งที่ปรากฏในแง่บทบาทฐานะทางการเมืองของในหลวงรัชกาลที่ 9 และของสถาบันกษัตริย์ จนมาตรา 112 แทบไม่ถูกเอามาใช้ แต่ทุกวันนี้ถูกเอามาใช้เยอะมาก แล้วคุณคิดว่า 112 สำคัญมากถึงขนาดมิอาจปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข บอกว่ายกเลิกเท่ากับล้มล้างระบอบ ใช่หรือเปล่าว่ามันสะท้อนว่าเสรีนิยมธรรมราชากำลังมีปัญหา


หากมองภาพความขัดแย้งทางการเมืองวันนี้ คู่ขัดแย้งสำคัญคืออะไร

สังคมเปลี่ยนแล้ว แต่รัฐยังขยับเปลี่ยนยากเพราะติดปัญหากลไกต่อต้านเสียงข้างมากในรัฐธรรมนูญ มองในภาพรวมมีความไม่ลงรอยกันระหว่างสังคมกับรัฐ สังคมแสดงออกโดยผลเลือกตั้ง ทัศนคติทางการเมืองของคนชั้นกลางขยับเปลี่ยนแล้ว แต่รัฐไม่เปลี่ยน รัฐไม่สนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น คุณไม่สามารถทำให้สังคมกับรัฐเดินไปพร้อมกันได้ อันนี้คือโจทย์ซึ่งเรียกร้องการปรับเปลี่ยน คุณต้องสร้างช่องทางที่รัฐสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ถูกบล็อกโดย ส.ว. โดยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือโดยรัฐธรรมนูญ 2560 จนแทบขยับตัวไม่ได้ คุณต้องให้มันลื่นไหลและปรับตัวให้กับสังคมที่เปลี่ยนไปได้

ความขัดแย้งหลักทางการเมืองก็คือ กลุ่มคนที่พยายามจะแช่แข็งไม่ยอมให้รัฐปรับเปลี่ยน กับกลุ่มคนหรือพลังทางการเมืองที่ต้องการให้รัฐปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว


ในยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง โจทย์เรื่องคนเมืองกับคนชนบทมีความสำคัญในการเลือกตั้งมาก แล้วในการเลือกตั้งครั้งนี้โจทย์นี้ยังมีส่วนสำคัญอยู่ไหม

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย (อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่ให้สัมภาษณ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งอาจารย์พูดเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้นเป็นสิบปีแล้วว่า เส้นแบ่งเมือง-ชนบทหรือสองนคราประชาธิปไตยมันไม่เมกเซนส์แล้ว เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลง การกลายเป็นเมืองมันเยอะมาก ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการแสดงตัวเลขว่าคนไทยอยู่ในเมืองมากกว่าในชนบทแล้วด้วยซ้ำไป ดังนั้น การเอาเส้นแบ่งเมือง-ชนบทแบบหยาบๆ มาใช้อธิบายว่าการเมืองเปลี่ยนอาจจะไม่เมกเซนส์อีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่ว่าการกระจายทรัพยากรและกระจายอำนาจตามพื้นที่ยังเหลื่อมล้ำกันอยู่

ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในแง่ของอำนาจปกครองตัวเองและในแง่ของทรัพยากรยังมีอยู่จริง และตราบเท่าที่มันยังอยู่ก็จะสะท้อนออกทางการเมือง การดำรงอยู่ของอำนาจการเมืองแบบบ้านใหญ่อุปถัมภ์ในบางพื้นที่บางระดับยังมีอยู่เพราะโอกาสที่นั่นมันน้อย คนเอื้อมไปหาโอกาสไม่ได้ เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือเขา ทรัพยากรไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้นมากพอ เขาจึงยังต้องเลือกตั้งแบบบ้านใหญ่อยู่ ขณะที่ในบางพื้นที่คลี่คลายไปแล้ว

โจทย์ใหญ่คือต้องคิดถึงความเสมอภาคทางอำนาจปกครองตัวเองและทรัพยากรให้มากขึ้น ต้องแก้ไขปัญหานี้ ไม่ใช่ในความหมายเมือง-ชนบทแบบหยาบๆ อย่างแต่ก่อน ทำไมมี กทม. ที่เดียวที่ได้เลือกผู้ว่าฯ ทำไมที่อื่นไม่ได้เลือก คุณบอกว่าเลือกไม่ได้ ถ้าเลือกแล้วล้มล้างการปกครอง

คนชั้นกลางทนไม่ได้ตรงนี้ โลกเปลี่ยนไปไกลแล้ว ถ้าคุณให้อำนาจปกครองตัวเอง เขาจะสร้างโอกาสที่เขาจะโตทางเศรษฐกิจ โตทางความรู้สังคมได้อีกเยอะ แต่คุณไม่ให้เพราะกลัวว่าจะล้มล้างการปกครอง ผมคิดว่าคนชั้นกลางเปลี่ยนเพราะอย่างนี้ วิธีคิดเก่า-อุดมการณ์เก่าไม่ได้ให้คำตอบเลยกับปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่


ขณะที่คนชั้นกลางมีส่วนมากในการชี้ทิศทางการเลือกตั้ง แล้วคนรากหญ้ามีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

คนรากหญ้าลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เป้าหมายสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจคือเปลี่ยนคนรากหญ้าหรือคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนให้ขึ้นมาเป็นคนชั้นกลาง ซึ่งเราประสบความสำเร็จมากพอที่จะกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า รวมคนชั้นกลางระดับบน ระดับกลาง และระดับล่างเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว

เงื่อนไขช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยเป็นคุณกับการดำรงชีวิตของคนชั้นล่างเท่าไหร่ ตัวแทนทางการเมืองที่เป็นพลังของพวกเขาเองก็ยังไม่ปรากฏชัด ผมไม่คิดว่าก้าวไกลเป็นตัวแทนเขา ก้าวไกลเป็นพรรคของแอกทิวิสต์กับปัญญาชนที่มีฐานเป็นคนชั้นกลาง พรรคที่จะอิงรากหญ้าจริงๆ คือพรรคสามัญชนก็เลยลำบากหน่อย แต่ถ้าเงื่อนไขเศรษฐกิจคลี่คลายไปก็จะมีช่องทางก่อตัวของพรรคที่มาจากคนรากหญ้ามากขึ้น


แล้วเพื่อไทยล่ะ เป็นพรรคที่อิงรากหญ้าไหม

เพื่อไทยเหมือนหนังเรื่อง Split (2016) เป็นคนมีหลายบุคลิก เดี๋ยวเป็นแบบหนึ่ง อีกเดี๋ยวก็เป็นอีกแบบหนึ่ง พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทยเป็นพรรคที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน นี่คือพรรคแรกเลยที่นักธุรกิจลงไปเล่นเองก็คือคุณทักษิณ มันจึงกลางเก่ากลางใหม่อยู่ตลอด เขาจะโตได้เร็วต้องมีเงินกับมี ส.ส. ดังนั้นก็ไปกว้านเอา ส.ส. บ้านใหญ่ทั้งหลายเข้ามาอยู่ในพรรคและอยู่แบบสมาพันธรัฐ แบบหลวมๆ ไม่ได้อยู่แบบวินัยพรรคเข้มข้น อยู่แบบบ้านใครบ้านมัน มีเจ้าพ่อใหญ่คือทักษิณ ใต้เจ้าพ่อมีมือบริหารเศรษฐกิจ-มือบริหารการจัดการที่เป็นคนเดือนตุลาบ้าง เป็นมือธุรกิจอาชีพบ้าง เป็นพรรคที่แต่ไหนแต่ไรมาก็มีเถ้าแก่ จะเรียกว่ามีเจ้าของก็ได้

มันเป็นพรรคที่มีหลายบุคลิกซึ่งเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในการเลือกตั้ง ที่เขาไม่แลนด์สไลด์รอบนี้ก็เพราะไม่ได้เป็นพรรคที่ชัดเจนว่าเป็นอะไร ขณะเดียวกันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการเจรจาก็เพราะในพรรคไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน มีหลายบุคลิกอยู่ในนั้น

ทีนี้ต้องถามก่อนว่า คุณคิดว่าพรรคของคุณมีปัญหาหรือเปล่า ถ้าคุณไม่คิดว่ามีปัญหา ดีอยู่แล้ว เราต้องแบกต่อ แล้วเขาจะแก้ไขเหรอ ไม่แก้หรอก ดังนั้น คุณต้องยอมรับก่อนว่าคุณแพ้ คุณต้องคิดว่าคุณมีปัญหา แล้วคุณก็หาทางแก้ ซึ่งตอนนี้ผมยังไม่เห็นเลยว่าในพรรคเขาจะชัดเจนว่าเขามีปัญหา

ถ้าหาทางแก้คือคุณอยากจะเป็นพรรคแบบไหนล่ะ อยากจะเป็นพรรคเจ้าพ่อแบบเก่าซึ่งดูแล้วไม่มีอนาคต อยากเป็นพรรคแบบใหม่ของมือบริหาร หรืออยากจะเป็นพรรคมวลชนซึ่งตอบสนองต่อความใฝ่ฝันคนอีกรุ่นหนึ่ง คุณต้องเคลียร์ก่อนว่าจะเอายังไง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคลียร์มาตลอด มีจังหวะที่เขาไปคบกับเสื้อแดง เพราะเสื้อแดงเป็นมวลชนที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย ตอนนั้นก็ทำท่าจะเป็นพรรคมวลชน แต่สุดท้ายคุณก็เห็นมวลชนเป็นแค่เครื่องมือ ความสัมพันธ์ของคุณกับมวลชนไม่ใช่ออร์แกนิก หมายถึงเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นร่างกายเดียวกัน หรือเป็นอวัยวะของกันและกัน ไม่… คุณบอกกับมวลชนว่าเราถึงฝั่งแล้ว คุณเอาเขาไว้ใช้ข้ามแม่น้ำเท่านั้นเอง


แต่ช่วงหาเสียงเพื่อไทยก็ชูเรื่องปากท้อง พยายามเจาะกลุ่มคนต่างจังหวัด มันยังชัดไม่พอเหรอ

มันก็ชัดเจนว่าคนต้องการมากกว่าเรื่องปากท้อง เขาถึงได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์น้อยกว่าก้าวไกล แล้วความเกี่ยวพันระหว่างการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปกับเรื่องปากท้องไม่ใช่อะไรที่แยกขาดจากกันได้ขนาดนั้น

สิ่งที่คนชั้นกลางต้องการไม่ใช่เงินแจก สวัสดิการรูปแบบนั้นอาจเวิร์กสำหรับคนรากหญ้า คนชั้นกลางต้องการโอกาส แล้วโอกาสไม่มาเพราะโครงสร้างเก่าไม่เวิร์ก ต้องปฏิรูปโครงสร้างกระจายอำนาจ เอาอำนาจการปกครองตัวเองไปอยู่ในมือเขา กระจายให้เขาได้คุมทรัพยากรมากขึ้น แล้วโอกาสจะมา แนวทางแบบก้าวไกลตอบโจทย์อันนี้มากกว่า


แล้วถ้ามองคนเสื้อแดง ตอนนี้มีทั้งคนเสื้อแดงที่สนับสนุนเพื่อไทยและคนเสื้อแดงที่สนับสนุนก้าวไกล ช่วงก่อนเลือกตั้งก็ทะเลาะกันหนักเหมือนไม่เคยเป็นคนกลุ่มเดียวกันมาก่อน คิดว่าอะไรเป็นจุดแบ่งคนสองกลุ่มนี้

ผมไม่ได้รู้จักหรือคลุกคลีกับเสื้อแดงมากพอที่จะชัดเจนในประเด็นนี้ แต่น่าสนใจว่าคุณพูดถึงเสื้อแดงเหมือนกับที่คนรุ่นผมพูดถึง พคท.

เสื้อแดงคืออะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นมาในช่วงชีวิตคนแล้วมีพลังมาก มีความสำคัญมาก มันถูกปราบปราม และมันจะคงอยู่ตลอดไปหรือเปล่า… มันไม่อยู่ตลอดไปหรอก มันหมดภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์แล้วก็จากไป แยกย้ายกันไป มีเพลงไว้ร้องเวลาคิดถึง มีเสื้อหรือมีรูปคุณทักษิณเป็นที่ระลึก

ผมไม่คิดว่าเสื้อแดงตอนนี้เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน มันมียุคสมัยของมัน เมื่อหมดยุคสมัยก็แตกฉานซ่านเซ็นไป ดังนั้น มันอาจจะเป็นประโยชน์ในการเข้าใจช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เขามีบทบาทสำคัญขึ้นมาแล้วไปผูกติดกับพรรคเพื่อไทย ดึงให้พรรคเพื่อไทยขยับไปทางซ้ายมากขึ้น แต่หลังจากนั้นมา โดยเฉพาะปัจจุบันเห็นชัดว่าพรรคเพื่อไทยค่อนข้างห่างออกมาจากเสื้อแดงเยอะแล้ว ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง

เสื้อแดงอาจจะคิดถึงพรรคเพื่อไทย มากกว่าที่เพื่อไทยคิดถึงเสื้อแดงด้วยซ้ำไป


มีคนพูดกันว่าถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ในอนาคตอาจเหลือสองพรรคใหญ่คือก้าวไกลกับเพื่อไทยแข่งกันคนละขั้ว สองพรรคนี้ยืนอยู่คนละขั้วกันขนาดนั้นหรือเปล่า

ความคลี่คลายของความเป็นจริงและเหตุการณ์ในสังคมการเมืองและประวัติศาสตร์ยังไม่มาถึงจุดที่ชัดพอให้เราบอกได้ ถ้าบอกไปตอนนี้ก็เหมือนเป็นการคาดเดาบนฐานข้อมูลที่ไม่มากพอ แต่ผมคิดว่ามีความแตกต่างกันบางอย่างอยู่ อย่างที่บอกว่าพรรคเพื่อไทยมีหลายบุคลิก ขณะที่พรรคก้าวไกลพูดได้ค่อนข้างชัดเจนว่าคนทำงานในพรรคนี้คือแอกทิวิสต์กับปัญญาชน ฐานมวลชนของพรรคคือชนชั้นกลาง ส่วนภาพของเพื่อไทยยังอยู่ในช่วงที่ต้องหาให้ชัดว่าอัตลักษณ์ของคุณคืออะไร แต่ความต่างก็เห็นได้ชัดว่ามีอยู่ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ในแง่การก่อตั้งและสร้างพรรคอนาคตใหม่เปรียบเทียบกับพรรคไทยรักไทย ธนาธรไม่ใช่ทักษิณ

เท่าที่เห็นตอนนั้น คุณทักษิณคิดถึงการเมืองและพรรคการเมืองที่สร้างขึ้นมาแบบหนึ่ง แล้วก็จัดการกับมันแบบหนึ่ง แต่ผมคิดว่าธนาธรคิดถึงโปรเจ็กต์การเมืองและพรรคการเมืองที่เขาสร้างอีกแบบหนึ่ง แล้วจัดการกับมันอีกแบบ ดังนั้นมันออกมาไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไหร่ ในอนาคตเราไม่รู้หรอก แต่จากช่วงนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี่เป็นความต่างที่สำคัญอันหนึ่ง


อาจารย์เคยพูดถึงจังหวะก้าวที่ต่างกันของการเมืองในระบบ การเมืองภาคประชาชน และการเมืองวัฒนธรรม การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้จังหวะก้าวเข้ามาใกล้กันมากขึ้นไหม

ครับ แต่ว่าไม่ใช่ในดีกรีความเข้มข้นแบบเดิม ครูผมคืออาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เคยพูดไว้ว่า ระบบการเลือกตั้งประชาธิปไตยกระฎุมพีเป็นตัวสำคัญในการ moderate พวกราดิกัล จะซ้ายจัดหรือขวาจัดมาจากไหนถ้าเข้าสู่เวทีการเลือกตั้งของประชาธิปไตยกระฎุมพีเดี๋ยวจะออกกลางๆ ไม่งั้นไม่ชนะหรอก

ในเวลาอันสั้นเราก็เห็นว่าก้าวไกลมีการขยับใช่ไหม จากยกเลิก 112 เป็นแก้ไข แล้วเรื่องแก้ไข 112 นี่ก็ไม่อยู่ในเอ็มโอยู 8 พรรค ประชาธิปไตยกระฎุมพีเวลาผ่านการเลือกตั้งคุณต้องชิงใจเสียงข้างมากในสภา มัน moderate ข้อเรียกร้อง พอเป็นอย่างนี้ก็ประจักษ์ชัด

ดังนั้น เรื่องที่สามกีบเสนอ เวลาผ่านการชนะเลือกตั้งเข้ามาในพรรคก้าวไกลแล้วไปถึงสภามันก็จะ moderate ลง ในแง่กลับกันผมก็เห็นด้วยกับอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล (อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ว่าชัยชนะในการเลือกตั้งของก้าวไกลเชื่อมโยงกับม็อบสามกีบได้ แต่พอคุณพาเอาการเมืองวัฒนธรรมที่อยู่บนท้องถนนเข้ามาในพื้นที่สถาบันการเมืองจะเกิดแรงกดดันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จะมีเขตห้ามเข้าทางความคิดเยอะมากและนี่คือเขต ‘ไม่ไทย’ ด้วย แปลว่าถ้าคุณเข้าไปแล้วคุณไม่ไทยทันทีเลย ในเขตนี้ก็มีเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ขณะเดียวกันก็มีแรงจากข้างนอกผลักดันให้เขาพยายามเข้าไปในเขตนั้น มันเป็นช่วงยื้อ อยู่ที่การเคลื่อนไหวนอกสภา แรงกดดันจากมวลชน แรงกดดันจากผู้เลือกตั้ง และอยู่ที่ว่าผู้ปฏิบัติงานของพรรคการเมืองที่รับภาระทำเรื่องนี้เข้มแข็งแค่ไหน

รับรองว่าไม่ง่ายแน่นอน แต่ถ้าทำสำเร็จจังหวะก้าวก็จะไปพร้อมกันยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้ระเบียบสถาบันการเมืองเหล่านี้เชื่อมต่อกับสังคม ถ้าเชื่อมต่อได้แปลว่าเสียงสะท้อนและแรงกดดันของสังคมเข้าสู่พื้นที่การเมืองเชิงสถาบันโดยตรงได้มากขึ้น มันสามารถจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้มันถูกตัดขาด เช่น นายกฯ ไม่ต้องมาจากปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้ นายกฯ มาจากเสียง ส.ว. ก็ได้ มีกลไกต่างๆ ที่ตีกำแพงล้อมสถาบันการเมืองโดยไม่ต้องสะดุ้งสะเทือนว่าสังคมคิดอะไร แต่ถ้าคุณทำให้ตัวเชื่อมในรัฐธรรมนูญปรับเปลี่ยนแก้ไขไป โอกาสที่ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นทั้งจากตัวคุณเองและคนอื่นก็จะมีมากขึ้น

การแก้รัฐธรรมนูญสำคัญ มันจะสร้างสะพานเชื่อมโดยตรงที่ง่ายขึ้นระหว่างสังคมกับภาครัฐ แล้วแรงกดดันจากสังคมจะค่อยๆ ทำให้ภาครัฐเปลี่ยน


คิดว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งนี้ได้แค่ไหน อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญ

ไม่ง่ายหรอก คุณแค่ชนะเลือกตั้ง คุณไม่ได้ชนะการปฏิวัตินะ คุณชนะเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญที่มีกลไกต่อต้านเสียงข้างมากเต็มไปหมด รัฐพันลึกหรือระบบราชการยังอยู่ครบพร้อมเช่นเดิม และมันพร้อมจะแทงคุณข้างหลังตลอด ดังนั้น ยาก เกมนี้เล่นกันนาน เล่นกันยาว แต่ว่ามันสันติ… อันนี้ดี มนุษย์ต้องใช้ความอดทน

เอาเป็นว่ามันดีขึ้นกว่าเก่า เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเก่า แล้วก็ชัดเจนว่าผู้คนต้องการระบบรัฐ-ระบบสถาบันการเมืองที่เปิดให้กับพลังสังคมกว้างขวางกว่าเก่า แล้วค่อยๆ ดันไป

มันจะประชาธิปไตยปั๊วะมาทันที…ไม่หรอก

ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงคิดจะปฏิรูปรัฐไทยแบบศักดินาราชสมบัติให้กลายเป็นรัฐทันสมัยเพื่อจะอยู่กับตะวันตกได้ เรื่องแรกที่ทรงจับตั้งแต่เจริญพระชนมายุไม่ถึง 20 ชันษาคือวางแผนสร้างระบบการศึกษาใหม่ทั่วประเทศ ทรงให้มหาดเล็กไปแปลรัฐธรรมนูญประเทศต่างๆ มาให้อ่าน พอสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการไม่ได้คุมแล้ว อย่างแรกที่รัชกาลที่ 5 ทำคือรวมศูนย์การเก็บภาษี เรื่องถัดไปคือลดอำนาจขุนนางใหญ่ที่วังหน้าลง แต่ต่อมาไม่ถึงปีเกิดกบฏวังหน้า โดยที่วังหน้ามีกำลังทหารและปืนเยอะกว่า แต่รัชกาลที่ 5 ไม่แพ้เพราะทรงผูกสัมพันธ์กับฝรั่ง ทำให้อังกฤษหนุน ทั้งที่พวกวังหน้าก็หวังจะดึงอังกฤษมาเป็นพวก วังหน้าก็เลยยอม ถ้าคุณไปแตะของสำคัญของเขา แป๊บเดียวได้เรื่อง

คำถามคือแล้วก้าวไกลไปแตะอะไรบ้าง ของเหล่านั้นสำคัญแค่ไหน ดังนั้นปฏิกิริยาตอบกลับมีแน่ๆ นี่ยังไม่ทันทำอะไรเลยก็ออกมาเยอะแยะแล้ว มียื่นฟ้องไปศาลรัฐธรรมนูญ มีมวลชน ไม่ง่ายหรอก


แล้วถ้าต้องบอกนักการเมืองที่พยายามจัดตั้งรัฐบาลอยู่ตอนนี้ว่าเรื่องอะไรที่เขาควรระมัดระวัง จะบอกอะไร

พูดยากนะ เรื่องเลวร้ายที่สุดที่เรานึกได้ ฝ่ายที่อยากจะได้ประชาธิปไตยก็โดนมาหมดแล้วในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐประหารสองรอบ ยุบพรรคโดนไปกี่ครั้ง ทุกพรรคโดนกันหมด ผมนึกไม่ค่อยออกว่าเขาจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เห็นได้ชัดว่านั่นไม่ใช่ทางที่จะหยุดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ ในที่สุดสังคมก็เปลี่ยน แม้กระทั่งหลักคิดความเชื่อที่สมัยหนึ่งคนคิดว่าสามารถสะกดคนส่วนใหญ่ให้อยู่กับคุณได้ มาถึงทุกวันนี้คนไม่คิดว่านั่นเป็นคำตอบแล้ว เขาเปลี่ยนฐานความภักดีความเชื่อได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น มันจะดีกว่าไม่ใช่เหรอ ถ้าคุณเข้าร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงแล้วออกแบบระเบียบใหม่โดยที่คุณมีส่วนด้วย แล้วคุณจะได้เปรียบ ต้องมีพื้นที่ให้คนอื่นได้เข้ามาแข่งกับคุณ มีโอกาสให้กับพวกเขาด้วย แต่ถ้าคุณขัดขืนฝืนไปหมด แทนที่คุณจะรักษาสิ่งเก่าไว้ได้ คุณอาจจะรักษาอะไรไว้ไม่ได้เลย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save