fbpx

ผลิตจิตแพทย์

สำนักข่าวอื่นลงข่าวเร่งผลิตจิตแพทย์ ไม่เห็น The101.world สนใจ นึกในใจว่าคงจะเห็นว่าไม่มีสาระ (นี่เป็นการเขียนเพื่อหยอกเอินเพื่อนเก่า)

โดยมิได้วิจัย จำนวนผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นมาหาผมมากขึ้นทุกสัปดาห์ ความคิดฆ่าตัวตายมีเพิ่มขึ้นทุกคน เหตุหนึ่งเพราะที่โรงพยาบาลรัฐทำงานไม่ทัน สังคมผลิตผู้ป่วยเร็วเกินอัตรากำลัง การเพิ่มอัตรากำลังจึงเป็นเรื่องที่คนธรรมดาคิดถึงเป็นอย่างแรก

แต่ผู้กุมนโยบายมิใช่คนธรรมดา

คงเลี่ยงมิได้ที่จะเร่งผลิตจิตแพทย์และนักจิตวิทยา แต่จะอย่างไรก็ควรแก้ไขต้นเหตุด้วย หลายคนเชื่อว่าต้นเหตุไม่มีทางแก้ได้ ซึ่งก็คงจะจริงหากบริหารราชการแบบรวมศูนย์ เพราะประเทศของเราใหญ่เกินไป

ใหญ่เกินกว่าที่กระทรวงเดียวจะทำอะไรได้ แม้จะพยายามใช้กลไกส่วนภูมิภาค (คือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สสจ.) ก็ทำมิได้ นอกจากเรื่องประเทศของเราใหญ่เกินไปแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องไม่รู้เรื่องไหนเป็นหน้าที่ของกระทรวงไหน

ลองปัญหาใดไม่มีเจ้าภาพหรือมีเจ้าภาพร่วม หากโครงสร้างไม่ดีมีหลายเจ้าภาพก็เหมือนไม่มี

ยังจำได้ถึงปีสงครามยาเสพติดรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นฝ่ายจิตเวชของโรงพยาบาลต้องส่งรายงานให้ 5 หน่วยงานด้วยตัวชี้วัดต่างๆ กันไป 5 แบบฟอร์ม เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าวันนี้ปัญหายาเสพติดไม่ไปไหน  

เวลามีผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหาการใช้ยาเสพติดร่วมด้วยมาหา ผมมักถามว่าเพราะอะไรถึงรู้ว่าซื้อยาที่ไหน ก็จะถูกผู้ป่วยมองหน้าด้วยความสงสัยว่าทำไมคุณหมอไม่รู้  ปัญหาคือคุณหมอผู้รับผิดชอบงานยาเสพติดไม่รู้จริงๆ

เราให้คนไม่รู้จริงทำงานมานักต่อนัก

วันนี้มีเด็กนักเรียนมัธยมป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตายร่วมด้วยมากขึ้นจริง ไม่ต้องวิจัยตาไม่บอดก็ต้องเห็น เหมือนผู้ป่วยเชียงใหม่เชียงรายที่เป็นมะเร็งปอดและมะเร็งเต้านมเพราะฝุ่นควัน PM 2.5 เพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ไม่ต้องวิจัยตาไม่บอดก็ต้องเห็นเช่นกัน   

เรื่องโรคซึมเศร้าคิดเร็วๆ ก็ว่าเป็นงานของกรมสุขภาพจิต คิดอีกทีก็อาจจะเป็นงานของกระทรวงศึกษาธิการด้วย หากเราลดความตึงเครียดของการเรียน การสอบ การสอบเข้า และความกดดันอันเกิดจากความไร้เสรีภาพด้านการศึกษาได้ จำนวนนักเรียนที่เจ็บป่วยจะลดลงเป็นครึ่ง แต่คิดอีกทีอะไรที่ว่ามาก็เกินกำลังกระทรวงศึกษาธิการอยู่ดี

เห็นได้จากความพยายามปฏิรูปการศึกษา 20 กว่าปีไม่ไปไหนเหมือนกัน

โรคทางจิตเวชเกือบทุกชนิดรวมทั้งโรคซึมเศร้ามีสาเหตุจากพันธุกรรม การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อม ทั้งสามประการมีปฏิสัมพันธ์กันจนก่อโรค ก็น่าจะยอมรับว่าจิตแพทย์วันนี้ซึ่งใช้ยาเป็นหลักช่วยได้มากแค่ปัจจัยทางชีววิทยา

จิตแพทย์อีกกี่คนก็แก้ไขสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วมิได้  

นักจิตวิทยาอีกกี่คนก็แก้ไขสิ่งแวดล้อมมิได้ แต่สามารถนั่งพูดคุยกับผู้ป่วยให้ได้ อย่างไรก็ตามการพูดคุยที่เรียกว่าจิตบำบัดเป็นการรักษาที่ใช้เวลาทั้งสองฝ่ายคือนักจิตวิทยาและผู้ป่วย

ที่คนไม่รู้คือต้องใช้ความสามารถและความสามารถในการรู้ตนของทั้งสองฝ่ายด้วย

ปัญหาวันนี้ไม่เพียงนักจิตวิทยามีเวลาไม่พอ สมมติว่าเร่งผลิตจนมากพอก็จะติดปัญหาว่าผู้ป่วยเป็นฝ่ายไม่มีเวลา อย่าลืมว่าสามสิบบาทรักษาทุกโรคก็มาติดที่ค่าเดินทาง เรื่องค่าเดินทางอย่างเดียวก็เป็นทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจและคมนาคม เขียนมาเพื่อให้ระลึกว่าปัญหาลามปามออกไปเกินกำลังจิตแพทย์และนักจิตวิทยามากเสียจนไม่แน่ใจว่าเร่งผลิตเท่าไรจึงจะพอ  ยิ่งไปกว่านั้นผู้ผลิตคืออาจารย์แพทย์ก็ได้ยินว่าไม่มีเวลามากพอเช่นกัน

นี่พูดเรื่องนักเรียนเท่านั้นเอง หากพูดเรื่องนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็จะพบปัญหาอีกชุดที่ครอบคลุมอีกหลายหน่วยงาน

ลองถอยไปที่เรื่องการเลี้ยงดู ดังที่ได้ยินอยู่เรื่อยๆว่าพ่อแม่วันนี้ติดปัญหาเศรษฐกิจ ออกไปทำงานกันหมด เลิกงานก็รถติดกลับไม่ถึงบ้านเสียทีไม่มีเวลาไปพัฒนา executive function (EF) ลูกๆ ที่รออยู่ ในต่างจังหวัดว่ากันว่าเด็กก่อนวัยเรียนอยู่กับปู่ย่าตายายหรือศูนย์เด็กเล็กกันหมด แม้ทุกคนจะสำคัญแต่จะอย่างไรถ้าเราเอาพ่อแม่กลับบ้านได้ก็จะดีต่อการแก้ไขและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียน นักศึกษา และประชากรในอนาคตได้ดีที่สุด

พอพาดพิงพ่อแม่ก็มีคำถามว่าหน่วยงานไหนดูแลสวัสดิการลางานเลี้ยงลูกของพ่อแม่ และหน่วยงานไหนดูแลพี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็ก ในที่สุดเราก็มาถึงส่วนท้องถิ่นอยู่ดี  

พ่อแม่ก็ประชาชนของเรา

โรงเรียนก็อยู่ในพื้นที่เรา

เด็กก่อนวัยเรียนหรือวัยเรียนก็ของเรา

เศรษฐกิจและขนส่งสาธารณะก็ของเรา

ตรงไหนขายยาเสพติดเด็กๆ ก็ยังรู้

สุดท้ายคือโรงพยาบาลก็อยู่ในพื้นที่ของเรา โรงพยาบาลต้องการจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพิ่มกี่คนก็ต้องหาได้ด้วยเงินของเรา แต่เงินและอำนาจบริหารไม่ใช่ของเรา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save