fbpx

ทำไมคนรู้น้อยมั่นใจมาก แต่คนรู้มากกลับไม่มั่นใจ?

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนพูดถึงเรื่อง ‘ภูเขาแห่งความโง่’ (Mount Stupid) กันเยอะมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นำเอาเรื่องนี้มาพูดในการอบรมข้าราชการบรรจุใหม่ของกรุงเทพมหานครในวันที่ 13 เมษายน 2020 

โดยภูเขาเขาแห่งความโง่นี้มาจากพฤติกรรมของคนที่เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อะไรสักเรื่องในระยะแรก จะซึมซับกับความรู้แปลกใหม่ในปริมาณมหาศาล จนรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก ถึงกับหลงคิดว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญและเกิดความมั่นใจมากในการออกความคิดความเห็น

แม้ว่าความรู้ที่ได้ร่ำเรียนไปนั้นจะยังมีอยู่น้อยหรือยังรู้แบบผิดๆ ถูกๆ อยู่ก็ตาม

อันที่จริงแล้วหากเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นอีก มนุษย์ก็จะเริ่มตระหนักในความรู้ที่ยังน้อยอยู่ของตัวเองได้มากขึ้น และจะกลับมามีความถ่อมตัวมากขึ้น จากนั้นจะค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้น จนสามารถไต่ระดับความมั่นใจกลับขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อรู้มากขึ้นในเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง

ความมั่นใจในช่วงแรกๆ นี่แหละครับที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ภูเขาแห่งความโง่’ และเรียกปรากฏการณ์นี้เป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Dunning-Kruger Effect’ โดยตั้งตามชื่อคนค้นพบเรื่องนี้ในปี 1999 สองคนคือ เดวิด ดันนิง (David Dunning) และจัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน [1]

อคติแบบนี้มีข้อเสียสำคัญคือ ทำให้กลายเป็นคนแบบ ‘น้ำเต็มแก้ว’ ได้ง่ายๆ และหยุดเรียนรู้หรือไม่ก็เรียนรู้ได้ช้าหรือได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

แต่นี่ไม่ใช่ทฤษฎีเดียวที่แสดงนัยของอาการ ‘กบน้อยในสระจ้อย’ หรือ ‘โง่แต่อวดฉลาด’ ยังมีการทดลองอื่นอีก และอันที่จริงแล้วเรื่องภูเขาแห่งความโง่ก็ยังไม่ ‘สะเด็ดน้ำ’ เสียทีเดียว เพราะยังมีคนพยายามทดสอบเพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อสรุปเรื่องนี้อยู่

ปี 2002 มีนักวิจัย 2 คนจากมหาวิทยาลัยเยล คือ เลโอนิด รอเซนบลิต (Leonid Rozenblit) และแฟรงค์ คีล (Frank Keil) ทำการทดลองและพบว่ามีสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาพลวงตาของความรู้’ (illusion of knowledge) หรือบางคนก็เรียกว่าเป็น ภาพลวงตาของความลึกล้ำของการอธิบาย (illusion of explanatory depth) อยู่ด้วย

ในการทดลองของพวกเขา จะยกตัวอย่างเกี่ยวกับปรากฏการณ์วิทยาศาสตร์ต่างๆ หรือไม่ก็เครื่องยนต์กลไกเทคโนโลยีต่างๆ แล้วให้อาสาสมัครให้คะแนนตัวเองจาก 1 ถึง 7 (จากไม่รู้เลย, รู้น้อยมาก หรือรู้แค่คร่าวๆ ไปจนถึงรู้แบบทะลุปรุโปร่ง) จากนั้นก็ทดสอบโดยให้เขียนอธิบายออกมาให้ละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ข้อสรุปที่นักวิจัยได้คือ อาสาสมัครส่วนใหญ่มักจะประเมินตัวเอง ‘เก่งเกินจริงไปมาก’ ล่วงหน้าไปก่อนเสมอ เช่น ตอบว่ารู้และเข้าใจดี (เช่น ให้คะแนนตัวเองเท่ากับ 5-7) แต่พอให้เขียนอธิบายกลับแทบเขียนอธิบายอะไรออกมาไม่ได้เลย  

มีการทดลองอื่นๆ ที่ได้ผลสรุปในแนวทางเดียวกันด้วย เช่น การทดสอบในนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โท หรือ ป.เอก) ว่าเข้าใจเนื้อหาระดับปริญญาตรีดีมากน้อยเพียงใด ก็พบว่าพวกที่จบการศึกษาไปแล้วประเมินความรู้ความเข้าใจตัวเองสูงกว่าจริงเช่นกัน   

ดังนั้น อคติแบบนี้จึงไม่ได้จำกัดกับคนที่มีความรู้น้อยเท่านั้น ต่อให้เป็นคนมีความรู้มากแล้วในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ยังหลีกหนีอคติแบบนี้ได้ยากเช่นกัน   

อีกการทดลองหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2015 ชี้ว่า การเข้าถึงแหล่งความรู้ออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย มีส่วนทำให้เราประเมินตัวเองผิดพลาด ว่าเป็นคนมีความรู้มากกว่าจริงด้วยเช่นกัน

โดยในการทดลองนี้นักวิจัยจะถามคำถามที่ดูไม่ยากนัก เช่น “ซิปทำงานยังไง?” แล้วให้เขียนคำตอบ โดยกลุ่มควบคุมห้ามใช้ตัวช่วย แต่กลุ่มทดสอบให้ค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตได้ ปรากฏว่าเมื่อถามคำถามอื่นต่อมาอีก 4 คำถาม แล้วให้อาสาสมัครในแต่ละกลุ่มประเมินความรู้ตัวเองเกี่ยวกับเรื่องหลังนั้น

นักวิจัยพบว่ากลุ่มที่ยอมให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ แสดงความมั่นใจในความรู้ของตัวเองมากกว่าอีกกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วก็มีความรู้โดยเฉลี่ยเท่าๆ กับคนในอีกกลุ่มนั่นเอง

เรื่องนี้ยังจริงอีกด้วยกับเรื่อง ‘ทักษะ’ ต่างๆ เช่น หากให้อาสาสมัครดูคลิปการเต้น การปาลูกดอก หรือแม้แต่การขับเครื่องบินซ้ำๆ หลายๆ หน อาสาสมัครจะเผลอคิดไปว่าตัวเองมีทักษะที่ ‘ดีกว่าจริง

ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ การมีความมั่นใจมากเกินทำนองนี้ ทำให้เราชะล่าใจ จนเตรียมตัวน้อย ซ้อมน้อย ทำงานหนักน้อยลง หรือในมุมกลับก็อาจประเมินหรือให้ค่าผลงานของเพื่อนร่วมงานน้อยกว่าจริง (ไอ้หมอนั่น พูดเสียมาก งานส่วนที่ทำก็ไม่ได้เรื่องสักเท่าไหร่!) บางคนจดจำการมีส่วนร่วมของเพื่อนร่วมงานไม่ค่อยได้ จำไม่ได้ว่าใครช่วยทำหรือให้อะไรกับเรา (สำเร็จได้ ก็ฝีมือฉันทั้งนั้นแหละ!) จนเผลอประเมินไปว่าตัวเองเก่งกว่าจริง ทำงานมากกว่าจริง (ฉันขยันกว่าตั้งเยอะ งานส่วนนั้นถ้าให้ฉันทำ จะดีกว่านี้อีก!)

สุดท้าย จึงประเมินตัวเองผิดพลาด คิดว่าเก่งเกินจริง พอใจกล้าไปรับงานใหญ่ด้วยความเชื่อมั่น ครั้นพอไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ที่คอยประคองและทำหน้าที่เป็นลมใต้ปีกมาให้ตลอด ก็มีโอกาสมากที่จะคว่ำไม่เป็นท่า อีกแบบที่เห็นได้ชัดคือ พอต้องทำงานแบบ ‘solo’ เดี่ยวๆ ก็มักจะเกิดอาการไปไม่เป็น ถึงตอนนั้นก็จะตาสว่างว่า ไอ้ตัวเราก็ฝีมือไม่ค่อยเท่าไหร่หรอก!  

ไม่รู้ว่าเมื่อ AI ส่งอิทธิพลกับพวกเรามากขึ้นไปอีก อคติแบบนี้จะทวีความหนักหน่วงมากขึ้นอีกมากเพียงใดนะครับ เพราะ AI ในทุกวันนี้ก็เกือบๆ จะเป็น ‘ลูกแก้ววิเศษ’ ที่ให้คำตอบอะไร ช่วยอะไรเราได้มากมายเหลือเกิน  

แต่ความกลับตาลปัตรยังไม่หมดเพียงเท่านี้

ไม่เพียงแต่คนรู้น้อยจะมั่นใจมาก ปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กันหรืออาจจะใหญ่มากกว่าก็คือ บ่อยครั้งที่คนที่รู้มากก็กลับไม่มั่นใจในความรู้ที่ตัวเองมี เรียกว่ามี ‘คำสาปของความรู้’ (curse of knowledge) เกิดขึ้น บางคนเรียกเรื่องแบบนี้ว่าเป็น ‘คำสาปของความชำนาญ’ (curese of expertise)

คำสาปที่ว่าเห็นได้ชัดเจนในห้องเรียนนี่แหละครับ ครูอาจารย์จำนวนมากหลงลืมไปแล้วว่า ในตอนที่ตัวเองเป็นนักเรียนนักศึกษา การร่ำเรียนวิชาที่ตัวเองกำลังสอนอยู่นั้น มีความยากลำบากแสนเข็ญมากเพียงใดในตอนแรก และมักหลงคิดอยู่เรื่อยๆ ว่านักศึกษาต้องรู้เรื่องนั้นแล้ว ต้องจำเรื่องนี้ได้แล้ว และต้องทำอย่างนั้นเป็น ซึ่งก็มักจะไม่จริง จึงมักพรั่งพรูคำพูดบางอย่างที่แสนน่ารำคาญใจสำหรับนักศึกษาออกมา ไม่ว่าจะเป็น “อันนี้ง่ายๆ คุณไม่ต้องท่องก็จำได้” หรือ “จำแค่ไม่กี่สมการ ท่องแค่ไม่กี่สูตร ก็ทำโจทย์ได้ทุกข้อ”

เพราะสำหรับนักศึกษาแล้ว เนื้อหาที่เยอะแยะจนจะอ้วก แล้วก็ไม่เข้าใจ ตามไม่ทันตั้งแต่ต้น แล้วจะไปคิดแบบนั้นได้ไง จริงไหม อาจ๊าน!      

แต่ก็มีคนที่นำเอามุมกลับของ ‘คำสาปของความรู้’ มาใช้งานประโยชน์ได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง กรณีของบิล ไบรสัน (Bill Bryson) ที่เขียนเรื่อง ‘ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง จากจักรวาลถึงเซลล์’ (A Short History of Nearly Everything) ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ร่ำเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมามากนัก อันที่จริงเขาเป็นนักเขียนเรื่องการท่องเที่ยวขายดีเพียงแค่นั้น  

แต่วันหนึ่งเขาก็รำคาญใจได้ที่ เพราะอ่านบทความวิทยาศาสตร์อะไรก็ติดๆ ขัดๆ ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จึงตั้งใจว่าจะทำความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากพอที่จะสามารถอ่านหนังสือจำพวก pop science ได้ไม่ยาก

เขาจึงทุ่มเทเวลาอ่านหนังสือแนวนี้อยู่พักใหญ่ รวมทั้งหาโอกาสเข้าพบศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เพื่อสอบถามและเคลียร์ประเด็นข้อสงสัยต่างๆ

เขานำเรื่องราวที่อ่านมาเรียบเรียงใหม่ออกมาเป็นหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ แม้จนปัจจุบันก็ยังมีคนหาอ่านอยู่เสมอ ฉบับแปลไทยก็มีพิมพ์ใหม่ออกมาเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย

การที่เป็นเช่นนั้นได้ ก็เพราะเขานำจุดอ่อนของเขาคือความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่น้อยมาทำให้เป็นจุดแข็ง คือ ใช้ประสบการณ์ในการเป็นนักเขียน เล่าเรื่องต่างๆ เหล่านั้นใหม่ ในแบบที่คนที่มีพื้นความรู้ตั้งต้นน้อย เล่าให้คนแบบเดียวกันอ่าน ซึ่งคนแบบนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะพูดได้ว่าเป็นส่วนใหญ่ของคนในโลกเลยทีเดียว

โดยการเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว เขาก็ตัดคำศัพท์ ‘เทพๆ’ ในวงการหรือวิธีการอธิบายแบบ ‘ต้องคำสาปของความรู้’ ทิ้งไปให้มากที่สุด แต่คนอ่านก็ยังได้แนวคิดและตัวอย่าง พร้อมทั้งอ่านได้สนุกอีกด้วย  

การตระหนักในหลุมพรางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาแห่งความโง่ หรือภาพลวงของความรู้ และคำสาปของความรู้ จึงมีประโยชน์กับชีวิตของเราได้ (เช่น ทำให้รวยได้จากการเขียนหนังสือแค่เล่มเดียว!) หากนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกวิธี

References
1 Psychology, 2009, 1, 30-46, DOI: 10.1037//0022-3514.77.6.1121

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save