fbpx

ศาลสอน

ครั้งแรกที่จำได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจัดการถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยของตนเอง คือคดียุบพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2550 ขณะนั้นเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ภายหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่จะมีการยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ประกอบกับเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่งของประเทศ ประชาชนสนใจกันมาก การอ่านคำวินิจฉัยจึงกลายเป็นรายการสาธารณะไป ด้วยความหนาหลายร้อยหน้า ตุลาการแต่ละท่านผลัดกันอ่านจนเสียงแห้ง จากบ่ายสองไปจบเอาเกือบใกล้เที่ยงคืน

จากวันนั้นดูเหมือนกลายเป็นบรรทัดฐานเสียแล้วว่า หากเป็นคดีการเมืองที่สำคัญต้องมีการถ่ายทอดสด คำถามคือถ่ายทอดสดทำไม ถ่ายแล้วได้อะไร ถ้าไม่ถ่ายทอดสด ทำอะไรแทนจะดีกว่า

อย่างผิวเผินที่สุด การถ่ายทอดสดเป็นไปตามหลักที่ว่า การพิจารณาคดีต้องเป็นไปโดยเปิดเผย ให้สาธารณะเข้าถึงได้ ประกอบกับพอมีผู้สนใจเยอะ ศาลจึงอนุญาตให้มีการถ่ายทอด

ลึกซึ้งอีกชั้นอาจจะเพื่อลดความแออัด ให้มวลชนได้นั่งลุ้นที่บ้านแทน ไม่ต้องมาชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญ

แต่มองอีกด้าน การถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยมีหน้าที่สำคัญกว่านั้นในสังคมไทย คือ การสั่งสอนศีลธรรมสาธารณะ

มีผู้รู้ด้านการเมืองไทยตั้งข้อสังเกตไว้หลายท่านแล้วว่า คณะสงฆ์ไทยนั้นแทบไม่มีที่ยืนในการสั่งสอนศีลธรรมสาธารณะโดยสิ้นเชิง ศีลธรรมที่พระสงฆ์สอนได้นั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติส่วนตัวเพื่อให้พ้นทุกข์ส่วนตัวของปัจเจกเท่านั้น เช่น ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาศีล กาย วาจา ใจ ไปจนถึงส่องกรรม วิปัสสนากรรมฐานใดๆ แต่เรื่องว่าบุคคลแต่ละบุคคลควรปฏิบัติตนอย่างไรต่อกันในพื้นที่สาธารณะและภายใต้รัฐนั้น พระสงฆ์ไทยไม่ค่อยถนัด ไม่มีบทบาท ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะการถือว่าพระไม่ยุ่งเรื่องทางโลกหรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

การเป็นชาวพุทธที่ดีของพระสงฆ์ไทยจึงครอบคลุมแค่การเป็นคนดีเท่านั้น ไม่รวมถึงการเป็นพลเมืองดีด้วย ส่วนหลังปัจจุบันบุคคลเรียนรู้ผ่านการขัดเกลาอื่นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือปาฐกถาบุคคลสำคัญต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ของฆราวาสเสียส่วนมาก แต่เป็นฆราวาส นักคิด หรือปัญญาชนแบบพุทธ

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นหนึ่งในสถาบันช่วยขัดเกลาศีลธรรมสาธารณะตรงนี้ด้วย โดยเฉพาะศีลธรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์

การอ่านคำวินิจฉัยจึงไม่ใช่แค่การเพิ่มความโปร่งใส หรือช่วยให้สาธารณชนได้เข้าถึงคำวินิจฉัยในคดีเท่านั้น แต่คือการเทศนาให้ประชาชนฟังด้วยว่าศีลธรรมที่ดีของพลเมืองไทยที่ดีที่รัฐพึงปราถนานั้นคืออะไร

คำอธิบายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ไม่ว่าจะคดีปี 2564 ก็ดี หรือคดีพรรคก้าวไกลในปี 2567 ก็ดี จะสังเกตได้ว่ารวมคำบรรยายถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย รวมถึงพระมหากรุณาธิคุณต่างๆ ไว้ด้วย นอกจากนี้ยังมีส่วนว่าด้วยคำตำหนิผู้คิดจะเปลี่ยนแปลงสถานะดั้งเดิมดังกล่าวยาวเหยียดปิดท้าย เป็นการพากย์เดี่ยวเพื่ออบรมและสั่งสอนประชาชนไปในตัว ก่อนจะลงโทษผู้คิดล้มล้างการปกครองและระบอบรัฐธรรมนูญ

ปัญหาของการสั่งสอนศีลธรรมสาธารณะคือการสอนศีลธรรมใดๆ นั้น ผู้สอนเองต้องมีต้นทุนของตัวเองมาก่อน ภาษาปากคือ เครดิต ส่วนในทางการเมือง ต้นทุนตรงนี้บ้างก็เรียกว่าความชอบธรรม บ้างก็เรียกว่าบารมี

ยิ่งคำสอนขัดหรือฝืนความเป็นไปของสังคมเท่าไหร่ คนสอนยิ่งจำต้องมีบารมีสูงขึ้นเท่านั้น ไม่เช่นนั้น คำสอนดังกล่าวก็ไม่มีใครฟัง เช่น สอนให้เลิกกินเหล้า หรือให้สังคมไทยใช้สติหันมารักสามัคคีกัน ซึ่งต่อให้ผู้พูดเป็นสมเด็จพระสังฆราชก็ดูเหมือนจะไม่มีใครฟัง

ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เกือบสองทศวรรษในความขัดแย้งทางการเมืองได้กร่อนทำลายความน่าเชื่อใดๆ ที่มีไปจนแทบจะหมดสิ้น การจะสั่งสอนศีลธรรมสาธารณะตรงนี้แทบไม่มีผลใดๆ ผลอย่างเดียวที่จะได้คือการทำให้ศีลธรรมนั้นถูกบันทึกลงไปในเอกสารสาธารณะ เพื่อเป็นคำบรรยายสภาพสังคมไทยอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนบรรยายแล้วถูกต้องตรงกับสังคมไทยจริงๆ หรือไม่ ไม่มีใครสน 

ในทางตรงข้าม ยิ่งศาลอ่านเยอะเท่าไหร่ ดูเหมือนอุณหภูมิผู้ฟังจะสูงขึ้นทุกครั้ง ความรู้สึกหนึ่งที่มีผู้ถ่ายทอดให้ฟังคือคับแค้นใจ เหมือนศาลเป็นผู้มีสิทธิพูดสั่งสอนอยู่ฝ่ายเดียวด้วยหลักการตีความกฎหมายที่ผิดพลาดไปเสียหมด ยิ่งพูด ยิ่งเสื่อม แต่วิจารณ์ไม่ได้ เพราะบุคคลในชุดครุยก็จะเตือนเรื่องกฎหมายหมิ่นศาลเสมอๆ

ถ้าเช่นนั้นแล้ว คำถามคือจะถ่ายทอดสดต่อไปอีกดีไหม

ถ้ากลับไปที่จุดเริ่มต้นว่า หัวใจของการถ่ายทอดสดคือเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนพิจารณาคดี การถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัยอันขึงขังรุงรังนั้น อาจไม่ตอบโจทย์นี้ สิ่งที่ประชาชนอาจจะอยากเห็นมากกว่าคือ การถ่ายทอดสดกระบวนพิจารณาคดี เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ขั้นตอนการทำงาน เพราะที่ผ่านมาการพิจารณาคดีนั้นมีข้อน่าสงสัยไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกพยาน การซักพยาน ตลอดจนการสนทนาใดๆ ที่ตุลาการมีกับผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ล้วนตกเป็นความลับแทบจะตลอด มารู้เอาอีกทีคือเมื่อศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยแล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนการถ่ายทอดสด จากเวทีเทศนาสั่งสอนประชาชนฝ่ายเดียว มาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ซึ่งรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน จากนางสอนมาเป็น civil servant

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save