fbpx

ทหาร(เกณฑ์)มีไว้ทำไม? : เสียงของความฝันและความจริงต่อการปฏิรูปกองทัพไทย

เกณฑ์ทหาร

ในช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแส ‘ทหารมีไว้ทำไม’ กลับมาอีกครั้งในโลกออนไลน์ หลังจากที่ยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวคนหนึ่งลงคลิปในประเด็น ‘ทหารมีไว้ทำไม’ ซึ่งเป็นการทดลองใช้ชีวิตเป็นทหารชายแดน ส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างมาก และสังคมกลับมาตั้งคำถามถึงประเด็นทหารและกองทัพอีกครั้งว่า “ทหารและกองทัพยังคงจำเป็นหรือไม่ในยุคสมัยปัจจุบัน”

ที่ผ่านมาเรื่องราวที่เกิดขึ้นเบื้องหลังกำแพงค่ายทหารเป็นเหมือนดินแดนสนธยาที่ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงเป็นอย่างไร และก็ไม่มีใครทราบได้เช่นกันว่างบประมาณในกองทัพถูกใช้เช่นไร – รวมถึงประเด็น ‘ทหารเกณฑ์’

กว่าเรื่องราวเบื้องหลังกำแพงจะถูกบอกเล่าออกมาก็ต้องมีกลิ่นเลือด บางคนก็บาดเจ็บออกมา บ้างก็ล้มตายในค่ายทหาร แต่การบาดเจ็บล้มตายนั้นไม่ได้เกิดจากอริราชศัตรูแต่อย่างใด กลับมาจากการฝึกทหารเกณฑ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรงภายในกองทัพ จนก็เกิดคำถามว่า ‘ทหารเกณฑ์มีไว้ทำไม’ ด้วยเช่นกัน

101 ชวนมองประวัติศาสตร์ของการเกณฑ์ทหาร เพื่อเข้าใจปัญหาในปัจจุบัน ก่อนที่จะร่วมกันสืบค้นคำตอบ หาทิศทางและความเป็นไปได้ในอนาคต สำหรับการเกณฑ์ทหารและการปฏิรูปกองทัพไทย ผ่านทัศนะของ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), Prof.Dr. Erik Melander (Department of Peace and Conflict Research, Uppsala University), Dr. Anders Engvall (Stockholm School of Economics), Dr. Paul Chambers (คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร) และ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี (สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

หมายเหตุ เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา ‘ทหารเกณฑ์และการปฏิรูปทหารของไทย’ (conscription and military reforms in thailand) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารของไทยภายใต้ความรุนแรง

ผู้ช่วยศาตราจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และอาจารย์นักวิจัยประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เริ่มต้นอธิบายว่าประเทศไทยเริ่มมีการเกณฑ์กำลังพลขึ้นมาในประเทศครั้งแรก ตั้งแต่เหตุการณ์วิกฤตปากน้ำ ร.ศ.112 (พ.ศ. 2436) ที่กองทัพฝรั่งเศสปะทะกับทหารของสยาม ณ ปากแม่น้ำ ว่าเป็นประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญยิ่งของสยามและเป็นเหมือนจุดกำเนิดของกองทัพสมัยใหม่ในประเทศไทย

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ก็มองว่า สยามจำเป็นต้องสร้างกองกำลังทหารสมัยใหม่ขึ้นมา โดยมีบันทึกว่ารัชกาลที่ 5 ตรัสกับพระราชโอรสว่า “ขัตติยต้องเป็นทหารหมด” ราวกับเป็นพันธกิจแห่งขัตติยะ จึงเห็นว่าพระราชโอรสมักจะเสด็จไปทรงศึกษาด้านการทหารตั้งแต่ปี 2436 เป็นต้นมา เพื่อที่จะต่อสู้กับฝรั่งเศสและเริ่มต้นการปฏิรูปทหาร

บันไดขั้นแรกของการปฏิรูปทหารในช่วงเวลานั้นคือ การกำหนดข้อบังคับการเกณฑ์ทหารที่มณฑลพิษณุโลก และมณฑลนครสวรรค์ขึ้น ใน พ.ศ. 2446 และต่อมาจึงมีการประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทรศก 124’ ใน พ.ศ. 2448 โดยบัญญัติให้ชายฉกรรจ์รับราชการทหารกองเกิน 2 ปี แล้วเข้ารับราชการทหารกองประจำการอีก 2 ปี แล้วปลดจากกองประจำการเป็นกองหนุนขั้นที่ 1 อายุ 5 ปี แล้วปลดไปอยู่ในกองหนุนขั้นที่ 2 อายุ 10 ปี แล้วให้ถือว่าหมดหน้าที่รับราชการทหาร

‘พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทรศก 124’ จึงนับได้ว่าเป็นการเกณฑ์ทหารครั้งแรกของสยาม และพัฒนาต่อมาจนเป็น ‘พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497’ ที่ใช้จนถึงปัจจุบันนี้

“แนวคิดของการเกณฑ์ทหารสมัยใหม่ของไทยส่วนหนึ่งมาจากหนังสือเรื่อง ‘ตำนานการเกณฑ์ทหาร’ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่สร้างแนวคิดดังกล่าวจนก่อเกิดเป็นประวัติศาสตร์การทหารโบราณของไทย และมีอิทธิพลต่องานประวัติศาสตร์ชิ้นอื่นๆ หลังจากนั้น

“แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีงานศึกษาที่โต้แย้งว่า แนวคิดที่เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารและระบบไพร่ที่กรมพระยาดำรงอธิบายนั้น อาจคลาดเคลื่อนได้ เพราะระบบการเกณฑ์แรงงานสมัยโบราณของไทยนั้น ไม่ได้เป็นระบบและมีความเข้มแข็งขนาดนั้น”

‘ตำนานการเกณฑ์ทหาร’ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ศรีสมภพเสนอว่า งานเขียนชิ้นดังกล่าวของกรมพระยาดำรงล้วนแต่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง กล่าวคือเป็นเรื่องราวที่กรมพระยาดำรงต้องการอธิบายประวัติศาสตร์ของการเกณฑ์แรงงานและไพร่ในสมัยโบราณ ​ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ประเทศไทย ว่าเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน หมายความรวมถึงประวัติศาสตร์ของระบบทหารและการเกณฑ์ทหารที่มีอย่างนาวนาน

เมื่อพูดถึงการเกณฑ์ทหาร อีกหนึ่งปัญหาที่จะผุดขึ้นมาในความคิดของใครหลายคนคือ ‘การใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน’ โดยศรีสมภพได้หยิบยกหนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ เป็นงานทรงนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งศึกษาวิชาการทหารในประเทศรัสเซียและกลับมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยทหารบก ก็มีการพูดถึงกรณีการทำร้ายร่างกายทหารที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น จนเกิดเป็นความขัดแย้งอันอื้อฉาวจนเกิดการเปลี่ยนตัวบุคคลสำคัญภายในกองทัพในสมัยรัชกาลที่ 6

นอกจากนี้ยังมีบันทึกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเขียนเรื่องราวประสบการณ์สมัยไปศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษซึ่งมีเรื่องการใช้กำลังทำร้ายทหาร ซึ่งท่านก็นำมาปรับใช้ในกองทัพเรือของประเทศไทยด้วย จากทั้งสองเหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าการซ้อมทหารนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของการพัฒนากองทัพสมัยใหม่ของประเทศไทย

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

“เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ทำให้เห็นว่า ระบบทหารสมัยใหม่ของไทยที่รับมาจากต่างประเทศ เราก็ได้รับเอาระบบที่ใช้ความรุนแรงในหมู่ทหารสมัยแรกของประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการซ้อม การข่มขู่ ติดมาด้วย”

เมื่อศรีสมภพไปสัมภาษณ์ทหารเกณฑ์ในพื้นที่ภาคใต้ ก็พบว่าการทำร้ายร่างกายกับทหารนั้นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น การนำหัวปักพื้น การทุบตี การบังคับให้ลงไปแช่ในบ่ออุจจาระ พุ่งหลัง และแถกปลาหมอ แม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสังคมเริ่มจับตาไปยังค่ายทหารมากขึ้น แต่ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่หลังกำแพงของค่ายทหาร

“แม้ประเทศอื่นปรับเปลี่ยนไปแล้ว แต่ไทยไม่เคยปรับเลย และใช้จนถึงปัจจุบันนี้ – ทางออกของปัญหานี้ที่เราควรพูดคุยกันต่อไป คือ ทำอย่างไรที่จะปฏิรูปทหารและกองทัพไทยได้” ศรีสมภพกล่าวทิ้งท้าย

กองทัพและทหารเกณฑ์ยังจำเป็นต่อประเทศไทย (?)

Anders Engvall

Anders Engvall นักวิจัยจาก Stockholm School of Economics มองว่าระบบการเกณฑ์ทหารในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นมีปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะมิติของการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนก่อให้เกิดข้อถกเถียงและข้อเสนอมากมายจากสังคม ไม่ว่าจะเป็น ‘การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’ หรือแม้แต่ข้อเสนออย่าง ‘การยกเลิกกองทัพ’ – Anders จึงหยิบยกสองข้อเสนอดังกล่าวเพื่อใช้เป็นประตูในการอธิบายเรื่อง ‘การปฏิรูปกองทัพไทย’

เขามองว่า ข้อเสนอแรก อย่าง ‘การยกเลิกกองทัพ’ นั้น ในปัจจุบันนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยต่างอยู่ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ของโลก และภัยความมั่นคงที่เข้ามาในทุกทิศทาง

“หากเรามองไปทางภาคใต้ของประเทศไทย ก็จะพบปัญหาชายแดนใต้ที่ไม่เคยถูกแก้ไขอย่างถาวรและยังมีปัญหาความขัดแย้งด้านทรัพยากร หากเรามองไปยังทิศตะวันตกก็มีปัญหาการเมืองภายในประเทศพม่าที่ส่งผลมายังไทย หากเรามองไปยังภาคเหนือก็มีมหาอำนาจใหม่อย่าง ประเทศจีนที่พัฒนากองทัพอย่างต่อเนื่องและพยายามจะท้าทายสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจเก่า ความขัดแย้งดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยในอนาคตได้ – ดังนั้น การยกเลิกกองทัพไปเลยนั้นคงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งจากทุกทิศทางเช่นนี้”

สำหรับข้อเสนอ ‘การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’ นั้น Anders มองว่าเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากที่ผ่านมากองทัพไทยนั้นมีอำนาจอย่างมาก และไม่ยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เขาตั้งคำถามว่า หากในวันนี้สังคมจะมีแต่เพียงทหารอาชีพ และไม่มีทหารเกณฑ์นั้น จะยิ่งทำให้กองทัพแยกตัวออกจากความรับผิดและรับชอบต่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่า กองทัพเป็นองค์ที่อยู่เหนือรัฐบาลและประชาชน

Anders ชี้ว่าการมีอยู่ของทหารเกณฑ์จึงเป็นเหมือนตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ของกองทัพ เพราะฉะนั้นทิศทางของการปฏิรูปกองทัพในประเด็นการเกณฑ์ทหารนั้น อาจจะไม่ใช่การยกเลิก แต่เป็นการปฏิรูประบบเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิของทหารเกณฑ์ รับเพียงบุคคลที่สมัครใจอยากเป็นทหารเพียงเท่านั้น และเพิ่มแรงจูงใจในการสมัคร เช่น ค่าตอบแทน ทุนการศึกษา หรือประกันชีวิต เป็นต้น

คำถามที่สังคมต้องถามต่อไปคือ แม้จะมีหลายฝ่ายเริ่มเสนอวิธีการปรับเปลี่ยนกองทัพแล้ว กองทัพจะยอมเปลี่ยนได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาสังคมไทย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงกองทัพได้ยากมาก

รัฐและกองทัพไทยภายใต้ความสัมพันธ์อันเปราะบาง

Paul Chambers
ภาพจาก วิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

หนึ่งในนักวิชาการด้านเอเชียศึกษาที่มีงานศึกษาว่าด้วยทหารและกองทัพไทยอยู่หลายชิ้น อย่าง Paul Chambers อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่กองทัพนั้นอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน หลายครั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกำลังเดินอยู่ท่ามกลางทุ่นระเบิด หากรัฐบาลก้าวผิดก็อาจจะเกิดผลเสียต่อรัฐบาลชุดนั้นได้ ทำให้หลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างระมัดระวังตัว เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับ ‘ทหารของพระราชา’ ให้เดินต่อไปได้ภายใต้ความสัมพันธ์อันเปราะบางเช่นนี้

Paul มองว่าการปฏิรูปกองทัพของประเทศไทยที่ผ่านมาจึงเกิดขึ้นเพื่อให้กองทัพมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้น มิใช่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกองทัพแต่อย่างใด เนื่องจากตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น กองทัพไทยกลับถูกเพิ่มบทบาทในการปกป้องสถาบันกษัตริย์

แม้ที่ผ่านมาจะเสียงการเรียกร้องถึงการปฏิรูปรูปกองทัพอยู่หลายครั้ง แต่การปฏิรูปกองทัพของไทยนั้นกลับเป็นเรื่องยากและเกิดขึ้นได้ช้าอย่างมาก หนึ่งในรัฐบาลที่มีการปฏิรูปกองทัพขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด นั่นคือรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร เพราะมีการตัดงบประมาณของกองทัพ ลดขนาดกองทัพให้มีขนาดที่กะทัดรัดมากขึ้น และการเข้าไปควบคุมกองทัพด้วยตนเอง เพื่อให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ จนกระทั่งประเทศไทยกลับสู่รัฐบาลทหารอีกครั้งในช่วงปี 2549-2551 และ 2557-2562 อีกทั้งหลังจากการเลือกตั้งปี 2562 ก็ได้รัฐบาลสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารมาอีก 5 ปี ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การปฏิรูปกองทัพกลับกลายเป็นประเด็นที่ไม่เร่งด่วนสำหรับรัฐบาล

การเกิดขึ้นและเติบโตของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลนั้น ทำให้กระแสการเรียกร้องการปฏิรูปทหารดังขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย เริ่มมีการจับตาดูประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภายในกองทัพที่ไม่เคยโปร่งใส ตลอดจนเรียกร้องให้ภาคประชาชนและรัฐบาลพลเรือนสามารถเข้ามาตรวจสอบกองทัพได้มากขึ้น อีกทั้งเสนอให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ความมั่นคง, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้ที่ดินของกองทัพ เห็นได้จากนโยบายของพรรคเสรีรวมไทย ที่เสนอให้นำที่ดินของกองทัพมาสร้างพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ที่พักอาศัย หรือโรงพยาบาล อีกทั้งพรรคยังเสนอให้มีการลดจำนวนนายพลลง ปรับสวัสดิการของทหารเพื่อจูงใจให้ประชาชนสมัครใจในการเป็นทหารมากขึ้น และย้ายกองทัพออกจากเมือง

สำหรับพรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบันอย่าง พรรคเพื่อไทย ที่ในช่วงก่อนเลือกตั้งก็เห็นด้วยว่าต้องมีการปฏิรูปกองทัพ แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินขึ้นมา ท่ามกลางความเชื่อว่าหลังจากการเลือกตั้งประเทศไทยจะเห็นสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น – แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

Paul แสดงความคิดเห็นว่า “ในช่วงก่อนเลือกตั้ง แม้แต่คุณสุทิน คลังแสง ยังเคยหาเสียงไว่ว่าหากเป็นรัฐบาลจะทบทวนงบประมาณของกองทัพ การจัดซื้อจัดจ้าง จนไปถึงแก้ไขประเด็นการเกณฑ์หทาร แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็แสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีเจตจำนงอย่างแท้จริงในการปฏิรูปกองทัพ มิหนำซ้ำยังกลายเป็นเหมือนส่วนต่อขยายของรัฐบาลประยุทธ์”

ดังนั้นสำหรับเขา ประเทศไทยยังคงเป็นรัฐเช่นเดิม คือ รัฐยังอยู่ภายใต้เงื้อมมือของกองทัพ และกองทัพก็อยู่ภายใต้สถาบันกษัตริย์ อีกทั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ไม่ส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปกองทัพขึ้น สุดท้ายแล้วความเป็นไปได้ของการปฏิรูปกองทัพที่เกิดขึ้นโดยประชาชนจึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลที่ขึ้นมาครองอำนาจนั้นมีเจตจำนงต่อเรื่องนี้เช่นไร มิเช่นนั้นคงต้องรอให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในกองทัพเอง

แม้การปฏิรูประบบกองทัพอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้

พวงทอง ภวัครพันธุ์

สำหรับมุมมองของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ต่อประเด็นการปฏิรูปกองทัพและการเกณฑ์ทหาร ในฐานะที่เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เขียนหนังสือ Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs เสนอว่า ที่ผ่านมาเมื่อสังคมเริ่มพูดถึงการปฏิรูปกองทัพนั้นมักจะมองกองทัพในลักษณะภาพใหญ่ แต่หลายครั้งกองกำลังสำคัญที่เป็นมือไม้ของกองทัพกลับเป็น ‘กองกำลังกึ่งทหาร’ (paramilitary) หรือที่พวงทองใช้คำว่า ‘กำลังทหารบ้าน’ ซึ่งอยู่ภายใต้กองทัพและกระทรวงมหาดไทย

กองกำลังกึ่งทหาร นั้น หมายความรวมทั้ง อาสารักษาดินแดน, ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และอีกหลายหน่วยงาน เป็นกลุ่มที่ได้รับงบประมาณมหาศาลอย่างมาก บ้างก็ได้รับอนุญาตให้ถืออาวุธ บ้างก็ได้รับเงินเดือนประจำ แต่กลุ่มเหล่านี้กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในความรับรู้ของสังคมสักเท่าไหร่ มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่รับรู้ถึงการทำงานของคนเหล่านี้ เช่น ชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากต้องอยู่กับคนเหล่านี้ตลอดมา

“แม้ว่าบางกลุ่มจะอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงมหาดไทย แต่หน่วยงานที่สามารถระดมใช้งานคนเหล่านี้ได้ คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นี่เป็นเหตุผลของการมีอยู่ของ กอ.รมน. ด้วยซ้ำไป เพื่ออนุญาตให้ทหารสามารถสั่งงานข้ามมายังหน่วยงานพลเรือนทุกหน่วยงานได้ภายใต้นามของความมั่นคงภายใน” พวงทองกล่าว

แม้ว่ากลุ่มเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงที่รัฐไทยต่อสู้กับแนวคิดคอมมิวนิสต์ กล่าวคือเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐในพื้นที่ท้องถิ่นห่างไกล และเป็นกลุ่มที่เผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐในขณะนั้น แม้ในวันนี้สถานการณ์เช่นนั้นจบไปแล้ว แต่แนวโน้มของการสร้างเครือข่ายของกองกำลังกึ่งทหารเหล่านี้กลับไม่ได้ลดลงไปเลย มิหนำซ้ำยิ่งขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งหมดนี้ทำให้พวงทองเสนอว่า “นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่กองทัพต้องการมีกำลังพลมากมาย เพื่อที่จะมีแขนขาไว้เพื่อใช้งานได้”

แม้กลุ่มกองกำลังกึ่งทหารจะเป็นการทำงานร่วมกับกองทัพไทย แต่สถานะนั้นต่างจากการเกณฑ์ทหารอย่างมาก เพราะชายไทยหลายคนอยากจะสมัคร เพราะเป็นกลุ่มที่มีอิสระ ไม่ต้องอยู่ภายในค่ายทหาร มีค่าตอบแทน และเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ กล่าวคือได้ทำงานร่วมกับกำลังทหารและตำรวจ

“คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมาจากผู้ชายไทยที่อยากรับราชการ แต่ไม่สามารถเข้าไปรับราชการได้อันเป็นผลจากปัจจัยต่างๆ ทั้งทรัพยากรส่วนตัว วุฒิการศึกษา และเครือข่ายทางอำนาจ นี่จึงเหมือนเป็นโอกาสเดียวที่พวกเขาสามารถเข้าไปทำงานในระบบราชการได้ และรัฐก็ใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อเป็นหูเป็นตา”

สำหรับประเด็นการเกณฑ์ทหารในมุมมองของพวงทองนั้น เธอมองว่าในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หลังจากที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างชูประเด็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหารนั้น ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากจากคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ยังอยู่ในวัยเรียน เพราะเด็กชายทุกคนย่อมมีความฝันว่าไม่อยากไปเกณฑ์หทาร

เมื่อเป็นการชูนโยบายจากภาคการเมือง ทำให้เกิดการถกเถียงมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเมื่อก่อนพวงทองมองว่าประชาชนไทยมักจะรู้สึกว่าตนอยู่ในสถานะแบบไพร่ กล่าวคือหากรัฐออกกฎหมายมา หน้าที่ของพวกเขาคือการปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้หลังจากที่มีการชูนโยบายจากหลายพรรคการเมืองทำให้ การเกณฑ์ทหารกลายเป็นวาระสำคัญของการปฏิรูปกองทัพ – ยิ่งภาคการเมืองปฏิรูปกองทัพไม่ได้เท่าไหร่ ความรู้สึกของผู้คนต่อการปฏิรูปกองทัพก็มากขึ้นเท่านั้น

“เรื่องการเกณฑ์ทหารก็เป็นเหมือนเรื่องอื่นๆ ของกองทัพที่ถูกผูกขาดอำนาจมาอย่างนาวนาน เป็นเรื่องที่พลเรือนยากที่จะเอื้อมเข้าไปแทรกแซงได้ หากร่วมมือกันระหว่างประชาชนและพรรคการเมืองก็เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ หากพรรคการเมืองทั้งหลายปล่อยให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวในรัฐสภา การปฏิรูปกองทัพก็เป็นเรื่องยากที่จะทำได้”

เหตุผลที่พรรคการเมืองทั้งหลายต้องร่วมมือกัน เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเกณฑ์ทหารนั้นถูกเขียนให้ซับซ้อนและแทรกซึมอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ที่ไม่สามารถทำเพียงยกเลิก พ.ร.บ.การรับราชการทหาร เพียงเท่านั้น แต่หลายกฎหมายต้องถูกแก้ไขและยกเลิกไปพร้อมกัน – รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย

“หากคุณต้องการแก้ประเด็นการเกณฑ์หทาร คุณต้องแตะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา ให้อำนาจแก่กองทัพอย่างกว้างขวางมาก เรื่องนี้ถูกยืนยันโดยคุณสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กล่าวว่ายกเลิกการเกณฑ์ทหารไม่ได้ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ”

จากมาตรา 50(5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่วางหลักไว้ว่าบุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ ทำให้กองทัพมีอำนาจในการเรียกเกณฑ์กำลังพลได้  เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขให้การรับราชการทหารต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ เว้นแต่ประเทศอยู่ในสภาวะสงคราม

นอกจากรัฐธรรมนูญ ประเด็นการเกณฑ์ทหารยังเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ถูกแก้ไขอีกครั้งหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยทำให้การโยกย้ายทหารตำแหน่งนายพล ต้องขึ้นอยู่กับสภากลาโหมเท่านั้น จากเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือนายกรัฐมนตรีสามารถกระทำได้

มาตรา 43 ในการดําเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเรื่องดังต่อไปนี้ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม

(1) นโยบายการทหาร

(2) นโยบายการระดมสรรพกําลังเพื่อการทหาร

(3) นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม

(4) การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม

(5) การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร

จากมาตรา 43(2) ของพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม นั้นทำให้เห็นว่าการเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องของสภากลาโหม โดยสามารถกำหนดว่าแต่ละปีต้องการกำลังพลมากเท่าไร และ มาตรา 43(5) ซึ่งกำหนดว่าหากร่างกฎหมายที่พรรคการเมืองจะแก้ไขนั้น รวมถึงเรื่องการเกณฑ์ทหารต้องผ่านความเห็นชอบของสภากลาโหมเสียก่อน

จึงเห็นได้ว่าสภากลาโหมมีอำนาจและขอบเขตหน้าที่ค่อนข้างกว้างขวาง และหลายประเด็นก็เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพด้วยเช่นกัน แต่เมื่อสำรวจองค์ประกอบของสมาชิกสภากลาโหม (มาตรา 42) กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกได้มากที่สุด 28 คนนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากกองทัพ เช่น ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และตัวแทนของเครือข่ายอำนาจที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เช่น สมุหราชองครักษ์ รองสมุหราชองครักษ์ เสนาธิการกรมราชองครักษ์ แต่มีตัวแทนจากพลเรือนไม่ถึง 5 คน

“ในเมื่อองค์ประกอบของสมาชิกสภากลาโหมเป็นเช่นนี้ กลุ่มพลเรือนจะไปโหวตแข่งอะไรกับทหาร หากประเด็นไหนที่กองทัพไม่เห็นด้วย คุณก็ไม่มีทางที่จะผลักดันได้ ความพยายามที่จะให้กองทัพเป็นอิสระออกจากการควบคุมของพลเรือนถูกทำอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ โดยที่ฝ่ายพลเรือนและพรรคการเมืองก็ยังไม่เข้าใจและมองไม่เห็นว่ากองทัพมีอำนาจนอกเหนือกิจการด้านการทหารหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“ก่อนหน้านี้คุณเศรษฐา ทวีสิน แสดงความคิดเห็นว่า เราไม่ควรปฏิรูปกองทัพ แต่เราจะพัฒนาไปพร้อมกัน โดยให้กองทัพหันไปทำประเด็นยาเสพติด แต่ในความจริงแล้วกองทัพทำเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการบำบัดรักษา ป้องกันยาเสพติด ยื้อแย่งงบประมาณจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหามากกว่ากองทัพ ฝ่ายพลเรือนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากองทัพนำงบประมาณเหล่านั้นไปทำอะไรบ้าง หลายครั้งโครงการเหล่านี้ถูกเปลี่ยนเป็นโครงการที่บ่อนเซาะความชอบธรรมของฝ่ายการเมืองตลอดมา”

พวงทองเน้นย้ำว่า การปฏิรูปกองทัพไม่ได้เป็นเรื่องง่าย แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับเจตจำนงและความเข้าใจกองทัพของฝ่ายพลเรือนกับพรรคการเมือง โดยต้องทำให้หน่วยงานทั้งหลายของกองทัพอยู่ภายใจ้การตรวจสอบจากตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง

“หากรัฐบาลไม่แก้ไขและปฏิรูปกองทัพ คำกล่าวที่บอกว่าจะให้ประชาชนมีกิน มีใช้ และอยู่ด้วยกันอย่างมีศักดิ์ศรีก็ไม่มีทางเกิดขึ้นหรอก เพราะงบประมาณมหาศาลถูกนำไปใช้ในเรื่องที่ไม่ได้คุ้มค่าต่อเงินภาษีของประชาชนเลย” พวงทองกล่าวทิ้งท้าย

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไป การเกณฑ์ทหารต้องเปลี่ยนแปลง

Erik Melander

ข้อเสนอเรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หลายครั้งมักเกิดคำถามว่า หากไม่มีการเกณฑ์ทหารแล้ว หน้าตาของกำลังพลจะเป็นเช่นไร – Erik Melander จาก Department of Peace and Conflict Research, Uppsala University ชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารรอบโลก ว่าโลกมีแนวโน้มไปในทิศทางใด ปรับตัวอย่างไรในยุคสมัยปัจจุบัน

“ตั้งแต่หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น แนวโน้มของหลายๆ ประเทศก็ลดจำนวนทหารเกณฑ์ลดลง หลายประเทศในยุโปรมองว่าการเกณฑ์ทหารหรือมีกองทัพขนาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องสิ้นเปลือง โดยหลังจากสงครามเย็นมีถึง 24 ประเทศที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารอย่างถาวร”

แต่เมื่อการเมืองของโลกเปลี่ยนไป ทิศทางการเกณฑ์ทหารของโลกก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน เช่น จากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ทำให้ยูเครนก็กลับมาเกณฑ์กำลังพลอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2557 และประเทศรอบข้างและอีกหลายๆ ประเทศในยุโรปก็มองว่าประเทศของตนก็อยู่ในสถานการณ์อันเปราะบาง เช่น จึงกลับมาเกณฑ์ทหารอีกครั้ง

ถึงแม้จะมีการนำรูปแบบการเกณฑ์กำลังพลกลับมาอีกครั้ง แต่รูปแบบในการเกณฑ์ทหารนั้นกลับไม่ได้ใช้รูปแบบเดิมเหมือนอดีต และปรับเปลี่ยนระบบให้ตามยุคตามสมัยมากขึ้น

ทั้งนี้ หนึ่งในรูปแบบที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือ ‘Scandinavian model’ ซึ่งถูกเรียกครั้งแรกจากนักวิจัยชาวโปแลนด์ โดยรูปแบบดังกล่าวจะไม่ใช่การเกณฑ์ทหาร แต่เป็นการคัดเลือกทหาร โดยให้การเข้ามาเป็นทหารนั้นมีการแข่งขันที่มากขึ้น เช่น จัดการทดสอบโดยผู้ที่จะเข้ารับราชการทหารนั้นจะต้องสอบผ่านก่อน อีกทั้งไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเพศชายเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ทุกเพศสามารถเข้ามาเป็นทหารได้

หนึ่งในประเทศที่ใช้ ‘Scandinavian model’ คือ ประเทศสวีเดน โดยทางรัฐบาลจะส่งจดหมายแก่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปให้เข้าไปตอบแบบสอบถามในเว็บไซต์ หากไม่ทำถือว่ามีความผิด แบบสอบถามดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อต้องการทราบว่าประชาชนคนนั้นสนใจที่จะเข้ามาเป็นทหารหรือไม่ มีประสบการณ์เช่นไร มีข้อจำกัดทางกายภาพอย่างไร ซึ่งหากผลของการตอบแบบสอบถามไม่เหมาะสมกับการเป็นทหาร คนๆ นั้นก็ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร หรือหากคุณมีปัญหาทางสุขภาพ ก็มั่นใจได้ว่าเขาจะไม่ถูกเรียกอย่างแน่นอน

ดังนั้น ประชาชนที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นทหารในประเทศสวีเดนนั้นมีเพียงประมาณ ร้อยละ 6 ของประชากร ทุกเพศ ทำให้กระบวนการสรรหากำลังพล จึงไม่ได้เป็นการเกณฑ์เช่นเดิม แต่มีกระบวนการคัดเลือกและคัดสรรผ่านบททดสอบต่างๆ ส่งผลให้การเกณฑ์ทหารในประเทศที่ใช้โมเดลดังกล่าวเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากประชากรในประเทศเกิดความรู้สึกว่าคนที่ได้เข้าไปเป็นทหารคือหัวกะทิของคนในรุ่นเดียวกัน

นอกจากเปลี่ยนรูปแบบการเรียกกำลังพล ยังมีการปฏิรูปการฝึกทหารทั้งในมิติวัฒนธรรมและค่านิยม เช่น การฝึกทหารแบบเก่าที่เน้นความดุดัน การตะโกนแบบ shark attack (ตะโกนใส่หน้า) ก็ถูกยกเลิกไป และเปลี่ยนเป็นการใช้ทักษะความเป็นผู้นำเชิงบวก ส่งเสริมการสร้างความไว้วางใจระหว่างครูฝึกและพลทหาร

“การไปตะคอกใส่พวกเขากลายเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอีกต่อไป การฝึกต้องเปลี่ยนเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยากมาเป็นทหารมากขึ้น และพลทหารไม่ได้มีหน้าที่เพียงแต่รับฟังคำสั่งเหมือนเป็นหุ่นยนต์เท่านั้น แต่มีอิสระทางความคิดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ ส่งผลให้เมื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกเป็นเช่นนี้แล้ว ทหารจะปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจ และภูมิใจกับการเป็นทหาร

“ระบบของการเกณฑ์ทหารนั้นเป็นระบบที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่มาก ดังนั้นแต่ละประเทศย่อมไม่อยากให้กองทัพของตนเป็นกองกำลังที่มีพลทหารล้นเกิน ดังนั้นโลกจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องของการเกณฑ์ทหารท่ามกลางปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น” Erik ทิ้งท้าย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save