fbpx

“2566 คือปีอันตรายสำหรับประเทศไทย” อ่านเกมเลือกตั้งไทยในกำมือระบอบสีกากี กับ Paul Chambers

‘Khakistocracy’ อันแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ระบอบสีกากี’ มาจากการผสมระหว่างคำว่า ‘Khaki’ (สีกากี) และ ‘Aristocracy’ (อภิชนาธิปไตย: การปกครองที่อำนาจอยู่ในมือชนชั้นนำกลุ่มเล็ก) หรือบ้างอาจบอกว่าคือคำแผลงจาก ‘Kakistocracy’ (ทรชนาธิปไตย: การปกครองโดยคนเลวร้าย) แต่ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไรก็แล้วแต่ คำว่า Khakistocracy ใช้อธิบายถึงระบอบการเมืองที่กองทัพมีอำนาจครอบงำการเมือง และเป็นคำที่พอล แชมเบอร์ (Paul Chambers) อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร หยิบมานิยามระบอบการเมืองไทย

Khakistocracy มีได้ในหลายรูปแบบ โดยในบริบทการเมืองไทยนั้น แชมเบอร์อธิบายว่า ตัวละครสำคัญของเครือข่ายอำนาจนำ คือกองทัพอันเป็นพันธมิตรต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งใช้คำเรียกว่า ‘ทหารพระราชา’ (Monarchized Military) โดยเครือข่ายอำนาจที่ว่านี้เป็นเครือข่ายชนชั้นนำไทยอันมีโครงสร้างไม่เป็นทางการและอยู่หลังฉาก หากแต่มีอำนาจควบคุมแทรกแซงการเมืองเหนือกว่าสถาบันการเมืองที่เป็นทางการ เสมือนว่าเป็น ‘รัฐคู่ขนาน’ (Parallel State)

นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 Khakistocracy แบบไทยๆ ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ทว่ามีพลวัตเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็แล้วแต่ แชมเบอร์ชี้ว่ารัฐคู่ขนานนี้คืออุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยเสมอมา

การรัฐประหารปี 2557 อันไล่เลี่ยกับการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยในปี 2559 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Khakistocracy ของไทย และในทัศนะของแชมเบอร์ ระบอบสีกากีเวอร์ชันนี้ทำให้การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยไกลเกินเอื้อมยิ่งกว่าเดิม

สำหรับใครหลายคน การเลือกตั้งทั่วไป 2566 ที่จะมีขึ้นในอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนข้างหน้านี้ อาจเป็นความหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้วยปลายปากกาของตัวเอง … แต่แชมเบอร์ไม่คิดเช่นนั้น

“ผมว่ามันคงไม่ต่างจากเดิมนะ” คือคำตอบที่แชมเบอร์พูดต่อเรา ด้วยความมั่นใจว่ากองทัพและชนชั้นนำไม่อาจยอมปล่อยมือจากการเมืองไทยในวันนี้ไปอย่างง่ายดาย

แม้แชมเบอร์จะคาดการณ์ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง แต่เขาก็มองว่าพรรคจะถูกสกัดทุกวิถีทาง หรือต่อให้ตั้งรัฐบาลได้ แต่คงยากที่จะไปได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะถึงอย่างไร กองทัพยังคงมี ‘รัฐประหาร’ เป็นไม้ตายสุดท้ายเฉกเช่นตลอดมา

หากฉากทัศน์ไม่หลุดไปจากนี้ นี่คงเป็นเครื่องยืนยันถึงสัจธรรมการเมืองไทยที่ว่า ผู้กำหนดชะตากรรมการเมืองที่แท้จริงคือกองทัพอันเป็นตัวแทนชนชั้นนำไทย

จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะอ่านอนาคตการเมืองไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยไม่อ่านกองทัพไทยที่ถูกเปรียบเปรยว่าคือพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดและดำรงอยู่มาต่อเนื่องยาวนานที่สุดบนเส้นทางการเมืองไทย การสนทนากับผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพกับการเมืองไทยที่ฝากหนังสือและผลงานวิชาการดังมาแล้วหลายชิ้นอย่างพอล แชมเบอร์ จึงเป็นสิ่งที่ 101 พลาดไม่ได้ในห้วงเวลาปีหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือที่แชมเบอร์เรียกว่า “ปีอันตราย” (Year of Living Dangerously) อีกปีหนึ่งของประเทศไทย

Paul Chambers
ภาพจาก วิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

ขอแสดงความยินดีกับผลงานหนังสือเล่มใหม่ของคุณที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา (Beer in East Asia: A Political Economy) ซึ่งค่อนข้างน่าประหลาดใจว่าคุณเขียนเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเบียร์ เพราะหัวข้อนี้ค่อนข้างฉีกจากผลงานก่อนๆ ของคุณพอสมควร อะไรที่บันดาลใจให้คุณทำผลงานหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา

มันมีสองเหตุผล เหตุผลแรกคือผมอยากจะพักตัวเองจากที่ติดตามแต่ประเด็นกองทัพและพัฒนาการประชาธิปไตยมาตลอด (หัวเราะ) แล้วอาจารย์นิธิ เนื่องจำนงค์ ที่เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ร่วมกับผมก็เป็นคนแนะนำกับผมว่าเรามาเขียนเรื่องนี้กันดีไหม แล้วผมก็คิดว่าดีเหมือนกันนะ ผมจะได้เขียนอะไรที่แปลกใหม่ไปจากเดิมบ้าง

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมสนใจในประเด็นอุตสาหกรรมเบียร์ คือจะว่าไปมันก็สะท้อนแง่มุมของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ-พลเรือนอยู่ อย่างในกรณีประเทศไทย ถ้าย้อนไปในช่วงทศวรรษ 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ตั้งบริษัทบางกอกเบียร์ ขึ้นมาเพื่อแข่งกับเบียร์สิงห์ มันเลยเป็นการแข่งขันระหว่างกองทัพและพลเรือนซึ่งเป็นรอยัลลิสต์ในช่วงเวลานั้น กรณีนี้ล่ะที่ทำให้ผมสนใจประเด็นเศรษฐกิจการเมืองเรื่องอุตสาหกรรมเบียร์ขึ้นมา มันเป็นอะไรที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน แล้วมันก็น่าสนใจมากด้วยที่อุตสาหกรรมเบียร์ในไทยมีความเชื่อมโยงกับกองทัพ นอกจากกรณีประเทศไทยแล้ว ผมก็ยังสนใจศึกษาถึงอุตสาหกรรมเบียร์ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะที่เป็นภาพแทนของการเชื่อมประสานระหว่างการเมืองแห่งอำนาจเข้ากับอุตสาหกรรม หรือพูดอีกอย่าง มันคือการที่การเมืองพยายามเข้าควบคุมอุตสาหกรรม

ในหนังสือเล่มนี้ คุณอธิบายกรณีประเทศไทยไว้ประมาณไหน

ตลาดเบียร์ในประเทศไทยเป็นแบบผู้เล่นสองราย (duopoly) โดยผู้เล่นหลักคือบริษัทบุญรอดบริวเวอรีและบริษัทไทยเบฟเวอเรจ แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นรายเล็กที่พยายามจะเจาะเข้าไปในตลาดให้ได้ ทว่าผู้เล่นหลักสองรายยังไม่ยอมปล่อยให้เป็นเช่นนั้น นี่คือภาพโครงสร้างของตลาดเบียร์ไทยในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบริบทเศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่ที่ตลาดมักถูกครอบงำด้วยเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่  

ยิ่งไปกว่านั้น อย่างที่ผมเล่าไปแล้วข้างต้น มันยังเกี่ยวพันกับกองทัพ อย่างบริษัทบางกอกเบียร์ในตอนนั้นก็ถือได้ว่าเป็น ‘ทุนสีกากี’ (Khaki Capital) ผมขอเล่าเรื่องบางกอกเบียร์ต่อให้ฟังว่า หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 บริษัทก็เปลี่ยนชื่อเป็นไทยอมฤต ผลิตเบียร์ยี่ห้ออมฤตขึ้นมา โดยธุรกิจนี้สามารถอยู่รอดไปได้ด้วยเหตุผลสำคัญหนึ่งคือการมีสายสัมพันธ์ต่อราชวงศ์ไทย แล้วถ้าเราไปมองฝั่งเบียร์สิงห์ นั่นก็มีสายสัมพันธ์ต่อราชวงศ์ไทยเหมือนกัน แล้วต่อมาบริษัทไทยเบฟฯ ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ซึ่งมันสะท้อนว่าการที่ธุรกิจเบียร์จะอยู่รอดได้ในประเทศนี้ เส้นสายถือเป็นสิ่งสำคัญ แล้วในที่สุดเบียร์อมฤตอันมาจากความพยายามของจอมพลสฤษดิ์ในการแข่งขันกับบริษัทเบียร์ที่ใกล้ชิดต่อราชวงศ์มากกว่า ก็เป็นอันพ่ายแพ้ไป จนอมฤตปิดตัวลงในที่สุดในปี 2545 ก่อนที่ต่อมาบุญรอดฯ จะมีไทยเบฟฯ เข้ามาเป็นคู่แข่งใหม่ จนเป็นสองผู้เล่นหลักในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจในปัจจุบันคือการเติบโตขึ้นมาแข่งของบรรดาผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายย่อย แต่ด้วยความที่ตลาดยังอยู่ภายใต้ผู้เล่นสองรายที่มีอำนาจล็อบบีในทางกฎหมายสูง ทำให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายย่อยพวกนี้ต้องอาศัยการส่งออกเบียร์ไปผลิตที่ต่างประเทศ ก่อนจะนำกลับเข้ามาขาย ทำให้ผู้ผลิตพวกนี้ต้องจ่ายภาษีรวมกันเป็นมูลค่ามหาศาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกค้าผู้บริโภคคราฟต์เบียร์เริ่มมีเงินมากพอที่จะจ่ายเงินซื้อคราฟต์เบียร์ที่มีราคาแพงเหล่านี้แล้ว สิ่งนี้ก็กำลังสะท้อนภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจการเมืองของไทยในวันนี้อยู่ ผมขอเล่าแค่เท่านี้แล้วกัน (หัวเราะ)

มันน่าสนใจตรงที่ว่าทุนสีกากีกลับพ่ายแพ้ในการแข่งขันสนามนี้ มันสะท้อนถึงอะไรได้ไหม

ผมขอเปรียบเทียบให้เห็นอย่างนี้ ขณะที่เบียร์ของทุนกองทัพไทยไม่ล้มเหลว แต่เบียร์ของทุนตัดมาดอว์ (กองทัพพม่า) อย่างเมียนมาเบียร์ กลับประสบความสำเร็จมาก โดยสามารถครอบครองตลาดเบียร์ในพม่าได้ ซึ่งมันสะท้อนว่าในพม่า กองทัพคือสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง ขณะที่ในประเทศไทย กองทัพไม่ได้มีอำนาจสูงสุด แต่ยังมีสถาบันอื่นที่มีอำนาจเหนือกว่า เห็นได้ว่าบริบทของสองประเทศนี้แตกต่างกัน

ถ้าเราคุยกว้างกว่าเรื่องเบียร์ แล้วมามองสภาวะทุนสีกากีของประเทศไทยในวันนี้ คุณมองเห็นอะไร และมีพัฒนาการอะไรจากอดีตบ้าง

ทุนสีกากีมีหลายมิติ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองในมิติไหน ซึ่งผมเองศึกษาลงไปโดยแบ่งเป็น 4 มิติ

มิติแรกคือด้านงบประมาณ ซึ่งเป็นทุนในส่วนที่เป็นทางการและเป็นไปตามกฎหมาย โดยจะเห็นได้ว่างบประมาณในส่วนกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีบางช่วงที่ลดลงไปบ้างด้วยปัจจัยต่างๆ แต่ในไม่นานก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น และนับตั้งแต่ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แนวโน้มของงบกลาโหมก็มองได้ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นในแง่งบประมาณ ถือว่าทุนสีกากีกำลังเติบโต

มิติที่สองคือด้านที่ดิน ทุกวันนี้กองทัพคือผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ที่สุดในประเทศ หลายคนอาจเข้าใจว่าคือพระมหากษัตริย์ แต่ที่จริงแล้วคือกองทัพ การที่กองทัพถือครองที่ดินมากขนาดนี้มีรากฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อยู่ ซึ่งเห็นได้ชัดนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 รวมถึงการที่กองทัพมีบทบาทในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้กองทัพได้ย่างกรายเข้าไปในหลายพื้นที่ และเมื่อเอาชนะได้ก็สามารถยึดพื้นที่ไว้เป็นของตน โดยทุกวันนี้หลายพื้นที่ได้กลายเป็นพื้นที่ฐานทัพในปัจจุบัน และที่น่าสนใจคือในบางพื้นที่ ถ้าเราต้องการจะซื้อที่ดินตรงนั้น เราต้องไปติดต่อที่สำนักงานของกองทัพนะ (หัวเราะ) อย่างเช่นบนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ที่เคยเป็นสนามสู้รบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ ด้วยความที่กองทัพยังคงมีที่ดินในมือมากขนาดนี้ เราเลยเห็นว่าเพราะอะไรพรรคก้าวไกลถึงได้ออกมาเรียกร้องให้มีการกระจายที่ดิน

มิติที่สามคือมิติคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจต่างๆ มิตินี้ค่อนข้างสำคัญ ถ้าเราย้อนมองไปเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว อาจจะเป็นยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือจอมพลสฤษดิ์ จะเห็นว่าทุกตำแหน่งเป็นทหารทั้งหมดเลย (หัวเราะ) แต่เวลาผ่านไปทหารก็ลดลงไปทีละเล็กละน้อย ถ้าเราลองไปจิ้มดูเว็บไซต์รัฐวิสาหกิจสักแห่งหนึ่ง จะเห็นได้ว่าเหลือทหารอยู่บนบอร์ดเพียงประมาณสองคนเท่านั้น ถ้าถามว่าอย่างนี้แปลว่าบทบาทของทุนสีกากีในมิตินี้ลดลง แล้วอำนาจของพลเรือนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า คำตอบคือใช่และไม่ใช่ ที่ใช่ก็เพราะว่าเราก็เห็นชัดอยู่ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในบอร์ดเป็นพลเรือนแล้ว แต่ถ้าเรามองไปที่พลเรือนเหล่านั้น สิ่งที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่ล้วนแต่ผ่านหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งพูดได้ว่าคนเหล่านี้คือพลเรือนที่แม้จะมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งของตัวเอง แต่ก็มีบทบาทเป็นตัวแทนเกื้อหนุนผลประโยชน์ของกองทัพ โดยไม่ได้อยู่ในเครื่องแบบทหาร เพราะฉะนั้นผมสรุปว่าทุนสีกากีในมิตินี้ยังคงดำเนินต่อมาอยู่ เพียงแต่มันดูไม่เหมือนว่ามันดำเนินอยู่

และมิติที่สี่คือเรื่องความเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ถ้าย้อนไปในสมัยจอมพลสฤษดิ์ เขาถือหุ้นบริษัทต่างๆ อยู่เยอะมาก แต่ทุกวันนี้เราไม่เห็นผู้นำทหารเข้าไปถือหุ้นแบบนั้นกันแล้ว เพราะมันทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่ดีในสายตาประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้คือบางคนมีการถือหุ้นผ่านนอมินีแทน แต่ดูเหมือนมักจะถือในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย เช่นไม่เกิน 5% อย่างไรก็ตาม แนวโน้มหนึ่งที่เราสังเกตได้คือทุกครั้งที่มีรัฐประหาร เมื่อกองทัพมีอำนาจเหนือกระทรวงการคลังแล้ว สัดส่วนการถือหุ้นเหล่านี้มักจะเพิ่มขึ้น ทั้งที้ทั้งนั้นแหล่งเงินของคนในกองทัพไม่ได้มีเท่านี้ แต่ยังมีหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเงินอย่างชัดเจน เช่น บริษัท Royal Thai Army Entertainment หรือมูลนิธิป่ารอยต่อห้าจังหวัด

การขึ้นสู่อำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการรัฐประหารในปี 2557 ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างไรบ้างต่อพัฒนาการของทุนสีกากีทั้งหมดนี้

มันทำให้ทุนสีกากีก้าวหน้าขึ้น มันเพิ่มโอกาสให้กองทัพสามารถแสวงหาผลประโยชน์และธำรงไว้ซึ่งทุนสีกากีของตัวเอง โดยขาดความโปร่งใสและขาดความรับผิดรับชอบมากขึ้น ก็แน่นอน ใครจะไปตรวจสอบกองทัพได้ในเมื่อกองทัพกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ และต่อให้จะผ่านการเลือกตั้งในปี 2562 แต่มันก็มีพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.ที่ยังคงเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)

ตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ คุณคิดว่ามันจะมีนัยสำคัญต่อความเป็นไปของทุนสีกากีและระบอบทหารนี้อย่างไร

ผมว่ามันคงไม่ต่างจากเดิมนะ สิ่งที่ผมคิดไว้ว่าจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ผมอาจจะผิดก็ได้ คือพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง แต่คำถามคือแล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะชัยชนะของพรรคเพื่อไทยไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยจะครองเก้าอี้นายกฯ เสมอไป เมื่อถึงเวลา มันอาจมีอะไรบางอย่างไม่สู้ดีเกิดขึ้น เช่น การยุบพรรค หรืออาจจะมีการพยายามใช้อภินิหารทางกฎหมายบางอย่างเพื่อสกัด แล้วสุดท้ายอาจกลายเป็นพลเอกประยุทธ์หรือพลเอกประวิตร (วงษ์สุวรรณ) ที่รัฐสภาโหวตให้เป็นนายกฯ ผมคิดว่าอย่างนั้น

แต่มันก็เป็นไปได้นะที่พรรคเพื่อไทยจะครองตำแหน่งนายกฯ ได้ แต่ผมว่าอีกประมาณหนึ่งปี ก็คงจะโดนรัฐประหาร

แปลว่าคุณไม่คิดเลยว่ากองทัพจะยอมสละอำนาจ?

ผมเป็นพวกมองโลกในแง่ร้ายนะ ต้องขอโทษด้วย แต่ถ้าเราย้อนมองประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผมก็ไม่มีทางคิดเป็นอื่นได้

ตอนที่ทักษิณ (ชินวัตร) ชนะการเลือกตั้งขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ในปี 2544 และสามารถครองอำนาจได้นานถึง 6 ปี ส่วนหนึ่งก็มีปัจจัยสำคัญมาจากพลังพลเรือนที่เข้มแข็ง ขณะที่อำนาจกองทัพเสื่อมถอยลง หลังผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 และเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ในปี 2566 นี้ พลเรือนไม่ได้มีอำนาจเหมือนอย่างในตอนนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่ามันยากมากที่จะถอนอำนาจกองทัพออกไปได้

แล้วคิดว่าพอจะมีทางไหนบ้างที่จะนำทหารไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองต่อไปได้ ภายใต้บริบทสถานการณ์แบบนี้

มันมีอยู่สองทาง หนึ่งคือถ้าพระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น กับสองคือถ้านายกรัฐมนตรีเป็นพลเอกประยุทธ์หรือพลเอกประวิตร (หัวเราะ)

(หัวเราะ) ทางที่สองแปลว่าอะไร

(หัวเราะ) จะว่าไปมันไม่ได้เป็นฉากทัศน์ที่ดีนะ แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์ยังได้เป็นนายกฯ ต่อ หรือเป็นพลเอกประวิทย์ มันก็ไม่มีเหตุผลที่กองทัพจะออกมาทำรัฐประหารไง (หัวเราะ) เพราะถือว่าเขามีอำนาจอยู่แล้ว

ผมขอเล่าให้ฟัง ตอนที่ผมไปกล่าวสุนทรพจน์ให้กับทางสหภาพยุโรป มีคนมาถามผมว่า “พอล! มันจะไม่มีรัฐประหารใช่ไหม เพราะกองทัพน่าจะรู้หรือเปล่าว่าถ้าทำมันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ” ผมตอบกลับไปว่า คุณลองย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผมไม่คิดว่ากองทัพจะใส่ใจเรื่องเศรษฐกิจเท่าไหร่นะ ถ้าเขาใส่ใจจริง เขาคงไม่ทำรัฐประหารมาตั้งกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง (หัวเราะ) แต่ถ้าวันนี้เกิดกองทัพใส่ใจขึ้นมาจริง เขาก็คงไม่ทำรัฐประหาร แต่ผมไม่คิดว่ากองทัพจะมีทางใส่ใจ

และที่ผมคาดว่ารัฐประหารจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปี (กรณีที่พรรคเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาล) ก็เพราะว่าการสร้างสถานการณ์ที่จะนำไปสู่เงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ยิ่งตอนนี้ที่ไม่มีม็อบคนรุ่นใหม่แล้ว เขาก็ต้องพยายามหาทางสร้างสถานการณ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลในการทำรัฐประหาร เช่นอาจจะพยายามก่อการประท้วงอะไรขึ้นมา เหมือนอย่างสมัยการชุมนุมของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่นำไปสู่การรัฐประหารปี 2557

คุณบอกว่าถ้าพลเอกประยุทธ์หรือพลเอกประวิตรเป็นนายกฯ ทำให้กองทัพไม่ทำรัฐประหาร แต่ถ้ามองไปที่กองทัพตอนนี้จะเห็นว่าจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ คือพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรอยู่สายบูรพาพยัคฆ์ แต่ตอนนี้ผู้นำเหล่าทัพมาจากสายวงศ์เทวัญหมด ในเมื่อเป็นแบบนี้ คุณคิดว่าพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรยังคงมีอำนาจเหนือกองทัพอยู่จริงหรือเปล่า และคุณมองเห็นความสัมพันธ์ภายในกองทัพในตอนนี้อย่างไร

คำถามนี้ดีมาก เรื่องการแบ่งกลุ่มในกองทัพไทยเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ยิ่งนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ที่พระมหากษัตริย์ตั้งสังกัดใหม่ในกองทัพคือ ‘ทหารคอแดง’ ขึ้นมา แล้วไม่ว่าคุณจะเป็นทหารในสายไหนมาก็ตาม ทั้งบูรพาพยัคฆ์หรือวงศ์เทวัญ คุณก็สามารถเข้าสังกัดทหารคอแดงได้ทั้งสิ้น เสมือนว่าเข้ามาอยู่ใต้สังกัดเดียวกัน แต่ถึงอย่างไร ความเป็นบูรพาพยัคฆ์หรือวงศ์เทวัญก็ไม่อาจที่จะสลัดได้หลุด มันเลยเหมือนว่ามีการแบ่งขั้วย่อยกันอยู่ในนั้น แม้ว่าจะพยายามทำตัวให้ดูเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะฉะนั้นผมว่ามันยากที่ทหารคอแดงจะดำรงตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ได้จริง

สิ่งที่เราต้องจับตาต่อกองทัพในปีนี้อยู่ที่วันที่ 1 ตุลาคม คือการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี แต่ปีนี้ถือว่าสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีที่ผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพจะเกษียณอายุราชการพร้อมกัน แล้วพอประกอบกับที่ ส.ว.ชุดนี้กำลังจะหมดวาระลง และการเลือกตั้งใหญ่ก็ใกล้มาถึง นี่เลยเป็นปีที่จะวุ่นวายมากเป็นพิเศษ และแน่นอนว่าที่วุ่นที่สุดก็คือกองทัพ

ตอนนี้ผู้ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่มีอยู่ 4 คน คนแรกคือพลเอกเจริญชัย หินเธาว์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นทหารสายบูรพาพยัคฆ์ที่มีความใกล้ชิดกับพลเอกประยุทธ์ คนที่สองคือผู้ช่วย ผบ.ทบ. อีกคนหนึ่ง พลเอกสุขสรรค์ หนองบัวล่าง จากสายบูรพาพยัคฆ์ ซึ่งใกล้ชิดกับพลเอกประวิตร ถ้าเป็นหนึ่งในสองคนนี้ ก็อาจจะขึ้นอยู่กับว่าพลเอกประยุทธ์หรือพลเอกประวิตรจะเป็นนายกฯ คนต่อไป

แต่ก็อย่างที่คุณพูดว่าสายวงศ์เทวัญเป็นที่โปรดปรานของสถาบันสูงสุดของประเทศในการถูกเลือกขึ้นสู่เก้าอี้ผู้นำเหล่าทัพมากกว่า ซึ่งหากเป็นสายนี้ คนที่มีความเป็นไปได้คือผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) คนปัจจุบัน พลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี และอีกคนหนึ่งคือพลเอกอุกฤษฏ์ บุญตานนท์ (เสนาธิการทหารบก) ซึ่งคนนี้ถือว่าสำคัญเพราะเป็นทหารในสายเดียวกับพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (ประธานองคมนตรี) คือสายรบพิเศษ ก็จะถือได้ว่าเป็นแคนดิเดตประนีประนอม (compromising candidate)

วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ผมคาดว่าพลเอกทรงวิทย์น่าจะถูกเลือกเป็น ผบ.ทบ.เพื่อให้สายวงศ์เทวัญยังสืบทอดตำแหน่งต่อไป แต่ก็ไม่แน่ว่าผมอาจจะคาดการณ์ผิดก็ได้ และความน่าสนใจของพลเอกทรงวิทย์คือ ถ้าเขาได้เป็น ผบ.ทบ. เขาจะเป็น ผบ.ทบ.คนแรกที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ เพราะเขาจบจากสถาบันการทหารเวอร์จิเนีย (Verginia Military Institute) ซึ่งจะว่าไปนี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาจมีคนไม่พอใจกับการขึ้นสู่ตำแหน่งของเขา และจากที่ผมรู้คืออันที่จริง เขาต้องการรอให้พลโทพนา แคล้วปลอดทุกข์ จากสายวงศ์เทวัญ ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.แต่เนื่องจากตอนนี้เขาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ทำให้ยังไม่สามารถกระโดดข้ามตำแหน่งขึ้นมาได้ จึงอาจต้องให้พลเอกทรงวิทย์ดำรงตำแหน่งไปก่อนหนึ่งปี แม้ว่ากำหนดเกษียณอายุราชการของเขาจะทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งได้สองปีก็ตาม เพื่อรอให้พลโทพนาพร้อมมารับไม้ต่อ

แต่ก็ไม่แน่ว่าเขาอาจจะยอมให้พลเอกเจริญชัยเป็น ผบ.ทบ.ก็ได้ เพราะตามกำหนดเกษียณอายุราชการ พลเอกเจริญชัยจะเป็นได้เพียงปีเดียวเท่านั้น ก่อนที่จะต้องส่งต่อให้พลโทพนา ส่วนพลเอกสุขสรรค์กับพลเอกอุกฤษฏ์น่าจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่โผที่ผมเดาไว้คือ พลเอกทรงวิทย์เป็น ผบ.ทบ.ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น พลเอกเจริญชัยก็อาจเป็น ผบ.สส. และพลเอกสุขสรรค์เป็นรอง ผบ.ทบ.

ถ้าให้สรุปคือโผทหารที่เราจะเห็นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะเป็นภาพสะท้อนถึงการต่อรองขับเคี่ยวทางอำนาจในกองทัพที่ต้องจับตามอง

ตกลงแล้วคุณคิดว่าพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรยังมีอำนาจควบคุมกองทัพจริงอยู่ไหม  

ตอนนี้พลเอกประยุทธ์ยังคงควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะที่พลเอกประวิตรก็เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเหมือนกัน ต่อให้วันนี้เขาจะไม่ได้เป็นแล้ว แต่ก็ยังมีอิทธิพลอยู่มาก ซึ่งก็เป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรจะสามารถตัดสินใจถึงความเป็นไปของกองทัพได้อย่างแท้จริง โดยที่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงท่าทีของสถาบันสูงสุดเอง ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญ

แต่วันนี้พลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรได้แยกทางกันเดิน คุณว่าการแยกทางนี้มีนัยอะไรต่อความสัมพันธ์ภายในกองทัพบ้าง

มีนัยแน่นอน แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า แม้ทั้งสองจะมาจากสายบูรพาพยัคฆ์เหมือนกัน แต่ว่ามาจากสายย่อยคนละสายกันอีก โดยพลเอกประยุทธ์มาจากกรมทหารราบที่ 21 ขณะที่พลเอกประวิตร แม้จะเคยอยู่กรมทหารราบที่ 21 มาก่อน แต่เนื่องจากมีส่วนร่วมในความพยายามก่อรัฐประหารปี 2524 จึงหล่นไปอยู่กรมทหารราบที่ 12 อย่างไรก็ตาม ผมไม่แน่ใจในความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้มากนัก บางคนอาจจะบอกว่าความขัดแย้งระหว่างทั้งสองอาจเป็นแค่การแสดง แต่หลังฉากอาจจะยังทำงานร่วมกัน มันก็อาจจะใช่นะ ผมไม่รู้เหมือนกัน แต่ผมเชื่อว่าเขาน่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่างกันจริง

ถ้าถามว่าใครในสองคนนี้มีอิทธิพลในกองทัพมากกว่ากัน ผมคิดว่าเป็นพลเอกประวิตร แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นต่อพลเอกประวิตร หากในที่สุดมีการดีลกับทักษิณจริง ถึงแม้จะมีคนบอกว่าการดีลกับทักษิณไม่น่าเป็นปัญหาอะไรสำหรับพลเอกประวิตร เพราะพลเอกประวิตรมีอำนาจควบคุมกองทัพได้อยู่แล้ว แต่ผมไม่ซื้อความคิดนี้นะ เพราะที่จริงพลเอกประยุทธ์ก็มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แม้จะน้อยกว่าพลเอกประวิตรนิดหนึ่งก็ตาม ตรงนี้น่าสนใจเพราะถึงจุดหนึ่งเราอาจเห็นการขับเคี่ยวระหว่างทั้งสองคนในการช่วงชิงการสนับสนุนจากกองทัพ แล้วหากพลเอกประวิตรมีการดีลกับทักษิณจริง เราก็อาจได้เห็นพลเอกประยุทธ์ร่วมมือกองทัพ-ชนชั้นนำทำรัฐประหารต่อแนวร่วมประวิตร-ทักษิณก็ได้

แต่ก็อย่างที่ผมบอกว่า สายวงศ์เทวัญก็เป็นตัวแปรสำคัญในสมการ เห็นได้จากการเติบโตของทหารสายนี้ในกองทัพอย่างรวดเร็วตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างพลเอกณรงค์พันธ์ (จิตต์แก้วแท้; ผบ.ทบ.สายวงศ์เทวัญ) ก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ.แบบรวดเร็วเหนือความคาดหมายของหลายคน แม้ว่ายังมีประสบการณ์น้อยเมื่อเทียบกับอีกหลายคน ขณะที่พลเอกอภิรัชต์ (คงสมพงษ์; อดีต ผบ.ทบ.สายวงศ์เทวัญ) ก็ยังคงมีอิทธิพลในกองทัพมากอยู่ ซึ่งอาจจะมองได้ว่าพลเอกอภิรัชต์ตอนนี้ก็เป็นเสมือนพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) คนใหม่ และอย่างที่ผมบอก แนวโน้มที่เป็นไปได้คือพลเอกทรงวิทย์ ตามด้วยพลโทพนา ก็อาจกำลังก้าวขึ้นมา เราต้องจับตามองกองทัพในสายนี้ ซึ่งในที่สุดเราอาจได้เห็นการถดถอยของบูรพาพยัคฆ์ รวมทั้งการนำพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เข้าสู่กองทัพมากขึ้น โดยปีนี้ถือเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

แล้วถ้ามองไปที่การเลือกตั้งครั้งนี้ คุณว่าการแยกทางระหว่างพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรมีนัยอะไร

มีแน่นอน ถ้าสองคนนี้แตกคอกันจริง ก็แปลว่าเสียงของฝั่งนี้จะแตก ซึ่งจะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้อย่างง่ายๆ และอาจจะทำให้ทั้งสองไม่สามารถร่วมมือกันในการทำรัฐประหารต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ แต่ผมก็คิดว่า ต่อให้จะแตกคอกันจริง แต่ทั้งสองคนก็อาจจะยังสามารถทำงานร่วมกันได้อยู่ ตราบใดที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน นี่คือสัจนิยม และยิ่งถ้ามีอำนาจที่เหนือกว่าที่ต้องการให้เขาร่วมมือกัน เขาก็ต้องร่วมมือ

หลังการเลือกตั้งดูมีความเป็นไปได้หลายรูปแบบมาก คุณวางฉากทัศน์อนาคตจากการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้อย่างไรบ้าง

ผมมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้อยู่ 3 ฉากทัศน์ ฉากทัศน์แรกคืออดีตทหารที่เกษียณอายุราชการแล้วได้นั่งตำแหน่งนายกฯ ซึ่งนั่นคือไม่พลเอกประยุทธ์ ก็พลเอกประวิตร ฉากทัศน์ที่สองคือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ปีต่อมาก็โดนรัฐประหาร และอีกฉากทัศน์หนึ่งคืออาจได้รัฐบาลพลเรือนที่ไม่เข้มแข็ง เช่น อาจมีนายกฯ เป็นอนุทิน (ชาญวีรกูล; หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) ซึ่งถือเป็นตัวเลือกที่ประนีประนอมระหว่างพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร และสถาบัน หรือไม่ก็อาจเป็นผู้นำพลเรือนจากพรรคอย่างประชาธิปัตย์หรือชาติไทยพัฒนาประมาณนั้น แต่ผมบอกเลยว่าสามฉากทัศน์นี้ไม่ได้ดีสักฉากทัศน์ และถ้าถามถึงพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์; หัวหน้าพรรคก้าวไกล) ผมยังไม่คิดว่าเขาจะได้เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่อาจจะเป็นการนำพรรคก้าวไกลไปเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมากกว่า

และผมยังคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่หลังการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลอาจถูกยุบพรรคก็ได้ เพราะมีคนจ้องจะเล่นงานอยู่แล้ว หรือพรรคเพื่อไทยก็อาจโดนได้เหมือนกัน แม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทย ถ้าเกิดว่าตัดสินใจไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย เขาอาจจะใช้ข้อกล่าวหาของชูวิทย์ (กมลวิศิษฏ์) มายุบพรรคก็ได้นะ (หัวเราะ)

คุณกำลังจะบอกว่าถ้าพรรคไหนทำให้กองทัพหรือชนชั้นนำระคายเคือง ก็จะต้องถูกลงโทษอย่างนั้นใช่ไหม

ใช่ น่าจะเป็นอย่างนั้นล่ะ มันอาจจะฟังดูเป็นทฤษฎีสมคบคิด แต่ต้องรอดูว่ามันจะเกิดขึ้นจริงไหม

ผมว่าสุดท้ายมันไม่หนีไม่พ้นสามฉากทัศน์นี้ ซึ่งถ้าถามว่าฉากทัศน์ไหนดีที่สุด ก็แน่นอนว่าเป็นฉากทัศน์ที่พรรคเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาล แต่ก็มีคำถามอีกว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่โดนรัฐประหาร ซึ่งนั่นอาจทำให้พรรคเพื่อไทยต้องพยายามทำให้กองทัพและชนชั้นนำพอใจ แต่ก็ต้องถามอีกว่าแล้วจะทำอย่างไรล่ะให้เขาพอใจ (หัวเราะ)

ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล คุณคาดว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับกองทัพ น่าจะมีลักษณะประมาณไหน

ผมว่าอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการกองทัพ ไม่ยุ่งกับโผทหาร เพื่อไม่ทำให้กองทัพรู้สึกระคายเคือง ซึ่งจะเป็นเหมือนในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่รัฐบาลสามารถเข้าไปควบคุมได้ก็คืองบประมาณกองทัพ ตรงนี้ถือว่าสำคัญ

เพราะฉะนั้น อีกตำแหน่งหนึ่งที่เราต้องจับตาก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะแต่งตั้งใคร ซึ่งถ้าแต่งตั้งคนของพรรคขึ้นมาตำแหน่งนี้เลย ก็น่าจะสร้างปัญหาให้พรรคไม่น้อย เลยเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องเป็นคนที่สามารถประนีประนอมระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับกองทัพได้ ผมนึกถึงพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพลเอกประวิตร หรือไม่ก็อาจจะต้องนำพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา กลับมาดำรงตำแหน่งนี้อีกครั้งหนึ่ง นี่คือตำแหน่งสำคัญที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องคิดอย่างถี่ถ้วน และต้องอย่าลืมว่าสายวงศ์เทวัญยังมีอำนาจในกองทัพสูง หากไปทำให้เขาเคือง ก็จะเปรียบได้กับการไปทำให้ชนชั้นนำเคืองด้วย

การต้องประนีประนอมกับชนชั้นนำ-กองทัพน่าจะส่งผลถึงรูปแบบการจับมือตั้งรัฐบาลผสมของเพื่อไทยด้วยหรือเปล่า คุณมองว่ารัฐบาลผสมสูตรไหนที่เป็นไปได้

ถ้าเพื่อไทยชนะ ผมว่าแนวร่วมรัฐบางก็คงมีพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ประมาณนี้ หรือไม่พรรคชาติไทยพัฒนาก็อาจจะย้ายไปร่วมก็ได้ แต่มันมีปัจจัยสำคัญหนึ่งคือที่ผมบอกไปว่า พรรคเพื่อไทยอาจจำเป็นต้องเข้าหาชนชั้นนำเพื่อจะได้รับการสนับสนุน ซึ่งนั่นทำให้พรรคเพื่อไทยอาจต้องยอมประนีประนอมตามความต้องการของชนชั้นนำในบางส่วน ซึ่งก็จะส่งผลถึงหน้าตาของแนวร่วม แต่ก็อย่างที่ผมบอกไปว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น อีกไม่นานก็คงเกิดรัฐประหาร

หากพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องทำอย่างนั้นจริง ก็คงเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นแนวร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ยิ่งตอนนี้ทั้งสองพรรคก็มีวิวาทะกันอยู่ด้วย

จริงๆ ก็ถูก กองทัพไม่ชอบพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว เพราะไม่อยากจะโดนกดดันให้ปฏิรูปกองทัพ แล้วสมมติว่าพรรคเพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ได้จริง พรรคเพื่อไทยก็ไม่จำเป็นต้องจับมือกับพรรคก้าวไกล เผลอๆ อาจจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เลยก็ได้ เหมือนอย่างตอนที่พรรคไทยรักไทยทำได้ในปี 2548 แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้จริง มันจะทำให้ฝ่ายขวาตื่นกลัวมาก จนอาจจะมีการตั้งม็อบออกมาขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้อีก เพราะฉะนั้นถึงอย่างไร ผมว่าพรรคเพื่อไทยก็ต้องมีการเจรจากับชนชั้นนำ โดยที่พลเอกประวิตรก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

นอกจากเรื่องการแบ่งก๊กในกองทัพแล้ว การแบ่งก๊กในฝั่งการเมืองก็คงมีความสำคัญไม่แพ้กัน คุณเคยให้คำจำกัดความหนึ่งของการเมืองไทยว่าเป็นการเมืองแบบก๊ก (faction politics) ซึ่งหยั่งรากในการเมืองไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แล้วคุณก็บอกว่าการขึ้นสู่อำนาจของพลเอกประยุทธ์ ตามด้วยการเลือกตั้ง 2562 ทำให้ faction politics กลับมาเข้มข้นขึ้น แล้วตอนนี้ที่เรากำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง 2566 คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของ faction politics ของไทยเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง 4 ปีที่แล้วหรือเปล่า

ไม่เปลี่ยน เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้ factionalism ในการเมืองไทยเข้มข้นขึ้นมีรากมาจากตัวรัฐธรรมนูญ 2560 เองที่ออกแบบมาโดยตั้งใจให้เกิดการแบ่งกลุ่มก๊กทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง เพื่อให้การเมืองถูกเข้ามาควบคุมได้ง่ายขึ้น ซึ่งคล้ายกับช่วงทศวรรษ 2520-2530 ที่การเมืองไทยแบ่งก๊กรุนแรงมาก กระทั่งมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาบรรเทาปัญหานี้ แต่ตอนนี้เราก็เห็นภาพแบบนั้นกลับมาอีกครั้ง

ผมขอย้อนภาพในปี 2540 ที่เกิดปรากฏการณ์งูเห่าครั้งใหญ่ คือตอนนั้นก๊กหนึ่งในพรรคประชากรไทยแยกตัวออกจากแนวร่วมรัฐบาล จนรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ล่มสลาย แล้วไปจับมือกับพรรคฝั่งตรงข้ามจนเป็นรัฐบาลชวน หลีกภัย ก่อนที่ในปี 2551 จะเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันที่ทำให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนล่ม แล้วทำให้เกิดรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นมา สถานการณ์แบบนี้ถือได้ว่าเป็นคุณลักษณะหนึ่งของประชาธิปไตยในรูปแบบกษัตริย์นิยม (Royalist Democracy) ซึ่งเป็นคำที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อธิบายการเมืองไทยไว้ คือมันเป็นระบอบที่ก๊กการเมืองสามารถย้ายขั้วย้ายข้างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างง่ายๆ ภายใต้การชี้นำของชนชั้นนำไทย

ถ้ามามองตอนนี้ เราอาจเห็นก๊กการเมืองมีการย้ายฝั่งไปมา อย่างเช่น กลุ่มสามมิตรที่ย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย (ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ) ซึ่งมีคนบอกผมว่า ไม่แน่นะ หลังการเลือกตั้ง มันอาจจะมีดีลลับ ที่ทำให้กลุ่มนี้ย้ายไปจับมือกับฝั่งเดิมก็ได้ (หัวเราะ) เพราะผมว่าถึงอย่างไรกลุ่มนี้ก็อยากอยู่ฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าใครจะเป็นแกนนำรัฐบาลก็แล้วแต่ แล้วอย่าลืมว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มากด้วย

การเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนกลับไปใช้กติกาบัตรสองใบคล้ายกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2540 คุณไม่คิดว่านี่จะช่วยให้ factionalism เบาลงได้หรือ

ไม่ช่วย เพราะจริงๆ มันจะช่วยได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นด้วย อย่างมาตราที่ว่าต้องเป็นสมาชิกพรรคนานเท่าไหร่ก่อนเลือกตั้ง ถึงจะมิสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดระยะเวลาตรงนี้ไว้นานพอสมควรจนยากต่อการย้ายพรรค อย่างตอนที่ทักษิณเป็นนายกฯ แล้วเสนาะ เทียนทอง หัวหน้ากลุ่มวังน้ำเย็นตอนนั้นที่ยังอยู่พรรคไทยรักไทย ออกมาบ่นประมาณว่า เหมือนผมติดอยู่ในกรงขัง

แปลว่าตราบใดที่กองทัพ-ชนชั้นนำยังอยู่ในอำนาจ และตราบใดที่ยังไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2560 เราไม่อาจมีทางแก้ factionalism ในการเมืองไทยได้เลย?

ถูก เพราะเขาต้องการให้เป็นแบบนั้น ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของกองทัพ-ชนชั้นนำของไทยก็คือรัฐบาลพลเรือนที่เข้มแข็ง เหมือนในสมัยพรรคไทยรักไทย เขาจะให้มันเกิดขึ้นมาไม่ได้ ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้น เขาก็ต้องทำรัฐประหาร

ฉากทัศน์ต่างๆ ที่คุณพูดมาดูเหมือนไม่เห็นทางเลยที่เราจะกลับไปเดินหน้าประชาธิปไตยได้ แต่คุณว่ามันพอจะมีความหวังอะไรอยู่ไหม

ผมว่าสิ่งที่อาจเป็นความหวังได้มากที่สุดคือวิกฤต เช่นการเกิดเหตุการณ์อย่างพฤษภาทมิฬปี 2535 หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 2516 ซึ่งทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยที่นำโดยรัฐบาลพลเรือนได้ อย่างไรก็ตาม มันอาจต้องมีนายทหารอย่างพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ในช่วง 14 ตุลาฯ ที่หันมาสนับสนุนประชาธิปไตย หรือในช่วงพฤษภาทมิฬ ที่มีพลเอกเปรม ซึ่งแม้จะเป็นการสนับสนุนประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมก็ตามที คือผมต้องการสื่อว่ามันต้องมีทั้งเหตุการณ์บางอย่างที่จะเป็นชนวนและต้องเกิดแนวร่วมที่เหมาะสมขึ้นมา ถึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่กว่าจะไปถึงวันนั้น

และเราอาจพูดได้ว่าสถานการณ์ความเป็นไปของประเทศขึ้นอยู่กับการต่อรองทางอำนาจระหว่างพลเรือนและฝ่ายเผด็จการ ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปสุดโต่งเกินไป อีกฝ่ายหนึ่งมักจะไม่ยอมและตัดสินใจออกมาต่อสู้ ถ้าเป็นฝั่งเผด็จการที่ไปสุดทางมากเกิน ก็ย่อมทำให้ประชาชนไม่พอใจ และขณะเดียวกันถ้าพลเรือนทำอะไรไปไกลเกิน เผด็จการก็จะไม่ยอม และก็ต้องออกมาทำรัฐประหาร นี่คือโจทย์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ คุณคิดว่าประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าไปเผชิญกับอะไร

2566 คือปีอันตราย (Year of Living Dangerously) สำหรับประเทศไทย จริงๆ ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ผ่านปีอันตรายมาแล้วหลายปี แต่ปีนี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่หลายอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นได้ อาจเกิดรัฐประหารครั้งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารโดยกองทัพหรือศาล หรืออาจเกิดการเดินขบวนประท้วงครั้งใหม่ และมีทั้งคำถามที่ว่าเราจะได้เห็นดีลระหว่างประวิตร-ทักษิณไหม และจะมีอำนาจที่มองไม่เห็นมาข้องเกี่ยวขนาดไหน เหล่านี้คือสิ่งที่ใกล้จะมาถึงและเราต้องจับตามอง

หากจะว่าไป ผมมองว่าการเมืองไทยในวันนี้ย้อนกลับไปคล้ายปี 2512 ที่จอมพลถนอม กิตติขจร จัดการเลือกตั้ง โดยที่ตนมีพรรคสหประชาไทยซึ่งเป็นทหารหนุนหลัง ซึ่งตอนนั้นจอมพลถนอมก็ชนะการเลือกตั้ง และถ้ามามองตอนนี้ ผมว่าเผลอๆ อาการหนักกว่าตอนนั้นเสียอีก เพราะครั้งนี้พรรคทหารแตกออกเป็นสองพรรคแล้วต้องมาแข่งขันกันเอง ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะอ่อนแอลง แต่ผมก็เกรงว่าหลังการเลือกตั้ง สถานการณ์อาจจะยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก คืออาจจะไม่พลเอกประยุทธ์ก็พลเอกประวิตรเป็นนายกฯ

ที่เราต้องจับตามองไกลกว่านั้นอีกคือปี 2567 ที่ ส.ว.จะไม่มีสิทธิเลือกนายกฯ อีกต่อไปแล้ว มันเลยน่าสนใจมากว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นจะออกมาทิศทางไหน และต้องดูอีกว่าหลังจากนั้น มันจะเกิดการเลือกตั้งจริง หรือจะมีการแก้กฎอะไรบางอย่างขึ้นมาก่อน หรือจะเกิดรัฐประหารขึ้นมาก่อน นี่คือสิ่งที่น่าจับตา

และพูดถึงรัฐประหาร ที่ผมบอกว่าอาจจะมีการทำรัฐประหารภายในหนึ่งปี ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วอาจจะไม่ถึงหนึ่งปีก็ได้ แต่เผลอๆ จะไม่เกินเดือนตุลาคมนี้ด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะในการทำรัฐประหาร ผู้นำเหล่าทัพที่จะเป็นผู้กระทำจำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่ง มีประสบการณ์มาแล้วระยะหนึ่ง มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่คนเพิ่งมารับตำแหน่ง ผบ.ทบ.ไม่นาน จะมานำการรัฐประหารในทันที อย่างตอนเกิดรัฐประหาร 6 ตุลาคม (2519) ตอนนั้นก็เพิ่งมี ผบ.ทบ.คนใหม่ คือพลเอกเสริม ณ นคร ซึ่งเขาก็ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับรัฐประหารครั้งนั้น แต่เป็นพวกรองผู้บัญชาการที่เป็นผู้กระทำมากกว่า เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าถ้าจะเกิดรัฐประหาร เป็นไปได้สูงว่าจะเกิดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ล่ะ เพราะไม่อย่างนั้นเขาต้องรอกันอีกนานกว่าจะทำได้ (หัวเราะ)


หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save