fbpx
บทบาทของกองกำลังกึ่งทหาร (Paramilitary) กับการสร้างความรุนแรง: กรณีศึกษาเมืองเมะดะยีน ประเทศโคลอมเบีย

บทบาทของกองกำลังกึ่งทหาร (Paramilitary) กับการสร้างความรุนแรง: กรณีศึกษาเมืองเมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย

สองบทความที่ผ่านมา[1] ผมได้พูดถึงความรุนแรงในเมืองเมะเดยีน และบทบาทของเจ้าพ่อค้ายาเสพติดอย่างพาโบล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) อย่างไรก็ตามยังมีอีกกลุ่มคนสำคัญที่มีส่วนทำให้ความรุนแรงในเมืองเมะดะยีนพุ่งสูงขึ้นเป็นลำดับหนึ่งของโลกในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s และ 1990s กลุ่มดังกล่าวได้แก่ ‘กองกำลังกึ่งทหาร’ (Paramilitary)

กองกำลังกึ่งทหารมีประวัติมาอย่างยาวนานในโคลอมเบีย โดยหน้าหลักของกลุ่มนี้คือการรักษา ‘ความปลอดภัย’ และต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายซ้าย แต่ต่อมากองกำลังกึ่งทหารก็ได้มีส่วนข้องเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติดและอาชญากรรมสูงมาก

ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990s กลุ่มนี้เริ่มมีอำนาจในเมืองเมะเดยีน ทั้งนี้แต่เดิมกองกำลังกึ่งทหารมีหน้าที่ปกป้องและรักษาความปลอดภัยเจ้าของที่ดินจากกลุ่มกองกำลังฝ่ายซ้ายในเขตชนบทนับตั้งแต่เหตุการณ์สงครามกลางเมือง La Violencia ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s และ 1990s ที่มีการก่อตั้งกลุ่มกองกำลังกึ่งทหาร MAS (Muertes a Secuestradores – โจรลักพาตัวต้องตาย) และ PePEs (Perseguidos por Pablo Escobar – ผู้ที่ถูกพาโบล เอสโคบาร์ไล่ติดตาม) กองกำลังกึ่งทหารได้เริ่มมีอำนาจในเขตเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองเมะเดยีนช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990s มีการสนับสนุนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนต้องการความปลอดภัย อย่างไรก็ดีกองกำลังกึ่งทหารก็เป็นสาเหตุหลักของความรุนแรงในเมืองเมะเดยีนด้วยเช่นกัน[2]

กองกำลังกึ่งทหารมีบทบาทในการเมืองเมะเดยีนอย่างมากภายหลังจากที่พาโบล เอสโคบาร์เสียชีวิตลง ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ผู้ที่มีบทบาททางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยม มักมองว่ากองกำลังกึ่งทหารมีอำนาจอันชอบธรรม ดังนั้นจึงก่อให้เกิดการแบ่งแยกที่ไม่ชัดเจนระหว่างการเมือง ความชอบธรรม และอาชญากรรม บทบาทของกองกำลังกึ่งทหารด้านความรุนแรงในโคลอมเบียเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในการเมืองร่วมสมัยของประเทศ เพราะฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นที่มาของความรุนแรง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นหนทางแห่งการรักษาความปลอดภัย

รูปภาพที่ 1: กองกำลังกึ่งทหารที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันในประเทศโคลอมเบีย (พื้นที่สีเขียว)

เส้นแบ่งระหว่างการกระทำของกองกึ่งทหารและกองทัพโคลอมเบียยังคงไม่ชัดเจน[3] ในบางกรณีเส้นแบ่งดังกล่าวไม่มีความชัดเจนเป็นอย่างมาก เช่น การให้ความชอบธรรมต่อกองกำลังกึ่งทหารในฐานะที่เป็นกองกำลังรักษาความปลอดภัยส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีการกล่าวว่ารัฐบาลให้กองกำลังกึ่งทหารเป็นผู้ดำเนินการปฏิบัติการรักษาความสงบในบางพื้นที่ของประเทศ สามารถยึดที่ดินมาให้บริษัทข้ามชาติได้ และจัดการกวาดล้างอาชญากรหรือแก๊งอันธพาลได้ตามเห็นสมควรในบริเวณที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม[4] ในปัจจุบันปัญหาความรุนแรงที่กองกำลังกึ่งทหารมีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่การค้ายาเสพติดและแก๊งอาชญากรซึ่งเรียกขานกันในเมะดะยีนว่า ‘บากริมส์’ (Bacrims)[5]

จุดที่โดดเด่นเป็นอย่างมากของประวัติศาสตร์เมืองเมะเดยีนคือการที่รัฐและกลุ่มกองกำลังต่างๆ ร่วมมือกันต่อสู้ขจัดกองกำลังฝ่ายซ้าย การติดสินบนและอิทธิพลนอกกฎหมายรูปแบบต่างๆ ปรากฏอยู่อย่างกว้างขวาง ดังนั้นตัวแทนอำนาจรัฐ เช่น ตำรวจ จึงขาดความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้คนในเมืองเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การที่กลุ่มที่มีบทบาทในความรุนแรงกลุ่มต่างๆ ซึ่งรวมถึงรัฐ ได้ใช้ระบบอุปถัมภ์และเส้นสาย ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ความไม่ชัดเจนของเส้นแบ่งระหว่างอำนาจในการจัดการปัญหาโดยชอบธรรมกับอำนาจนอกกฎหมายมีเพิ่มขึ้น รัฐจึงต้องเปิดโต๊ะเจรจาและพยายามร่างข้อตกลงสงบศึกกับกลุ่มกองกำลังต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อนเหล่านี้ 

แม้แก๊งค้ายาเสพติดและหัวหน้าแก๊งจะต้องการเข้ามามีบทบาทในระบบการเมือง แต่การจะเป็นพันธมิตรกับแก๊งเหล่านี้เป็นไปได้ยากมากสำหรับรัฐ เพราะเต็มไปด้วยชนชั้นนำ อย่างไรก็ตามการที่แก๊งค้ายาเสพติดมีอิทธิพลและร่ำรวย รัฐจำเป็นต้องยอมประนีประนอมกับแก๊งค้ายาแห่งเมืองเมะเดยีนและพาโบล เอสโคบาร์ เห็นได้จากที่ในรัฐธรรมนูญโคลอมเบียฉบับปี 1991 ที่มีการยกเลิกการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เป็นชาวโคลอมเบีย ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการดำเนินตามข้อเรียกร้องและการขู่ของกลุ่ม ‘The Extraditables’ ซึ่งเอสโคบาร์และผู้ค้ายาเสพติดรายต่างๆ ร่วมกันก่อตั้งขึ้น ในทางกลับกันเอสโคบาร์ก็ยอมถูกจำคุกอยู่ใน ‘ลา กาเตดราล’ (La Catedral) ซึ่งเป็นเรือนจำที่สั่งสร้างขึ้นพิเศษอย่างหรูหราบนที่ดินที่เขาได้ขายให้กับรัฐ 

ในช่วงนี้เอง เอสโคบาร์มีศัตรูจำนวนมาก อาทิ แก๊งค้ายาแห่งเมืองกาลิ และพี่น้องกัสตัญโญ่ ผู้ซึ่งเคยร่วมงานกับเอสโคบาร์มาก่อน และทั้งสองฝ่ายนี้ได้ร่วมมือก่อตั้งกลุ่มกองกำลังกึ่งทหาร PePEs ขึ้น เมื่อเอสโคบาร์ ‘หลบหนี’ ออกจากคุกของตน หลายๆ ฝ่ายได้ร่วมลงทุนตั้งค่าหัวเอสโคบาร์ขึ้น รัฐบาลจากชาติต่างๆ ก็เอื้ออำนวยกำลังและอาวุธในการล่าตัวเขา ดังนั้นในช่วงเดือนธันวาคม 1993 เอสโคบาร์จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารขณะพยายามหลบหนีการจับกุม ทั้งนี้ก็เพราะเอสโคบาร์เองได้สูญเสียพันธมิตรร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่รัฐบาลโคลอมเบียได้แรงสนับสนุนจากนานาชาติ

ในทางกลับกัน กลุ่มกองกำลังกึ่งทหารได้กลายมามีอำนาจและสิทธิความชอบธรรมใน ‘เขตอิทธิพลต่างๆ’ เพราะรัฐได้มอบหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยให้ แม้กระบวนการนี้จะเป็นนโยบายที่ทางการใช้จัดการกับปัญหาความรุนแรง แต่กลับเป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์ความคลุมเครือระหว่างอำนาจโดยชอบธรรมและอำนาจนอกกฎหมายย่ำแย่ลง และยิ่งสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ในปี 1991 เมืองเมะเดยีนตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อหาหนทางสงบศึกกับกลุ่มกองกำลังต่างๆ ภายใต้แรงสนับสนุนจากรัฐบาลกลางภายหลังจากที่นายกเทศมนตรีของเมืองได้ร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐในการจัดการปัญหา ‘คอมมิวนิสต์’ โดยเหล่าอดีตกองกำลังติดอาวุธจะได้รับหน้าที่ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในย่านที่อยู่อาศัยด้วยวิธีที่เป็นทางการมากขึ้น จึงมีการจัดตั้งสมาคมรักษาความปลอดภัยและบริการประจำหมู่บ้าน (Cooperativa de Vigilancia y Servicio – COOSERCOM) โดยมีสมาชิกกว่า 800 คนที่ทำหน้ารักษาความสงบภายในชุมชน อย่างไรก็ดียังเป็นที่กล่าวกันว่าโครงการนี้ล้มเหลวเพราะสมาชิกกองกำลังต่างๆ ไม่เข้าร่วม และหน่วย COOSERCOM เองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมด้วย

ในปี 1994 กองกำลังกึ่งทหารได้การรับรองจากรัฐ โดยอาศัยบทบัญญัติกฎหมายช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960s ที่มีใจความว่าประชาชนสามารถใช้อาวุธและฝึกฝนฝีมือกับกองทัพเพื่อป้องกันตนเองได้[6] กลุ่มกองกำลังกึ่งทหารมีชื่อทางการว่า ‘บริการเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยส่วนตัว’ (Servicios Especiales de Vigilancia y Seguridad Privada) และได้รับฉายาว่า ‘ลาส กอนบิบีร์’ (Las Convivir – อยู่ร่วมกัน) โดยกลุ่มดังกล่าวมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างถูกต้องผ่านการว่าจ้างจากชุมชน ธุรกิจต่างๆ หรือเจ้าของที่ดิน และแม้องค์กรสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลกและกลุ่มเสรีนิยมในเมืองเมะเดยีนจะวิพากษ์วิจารณ์กองกำลังกึ่งทหารอย่างรุนแรง แต่แรงสนับสนุนจากผู้คนทั่วไปใน ‘เขตอิทธิพลต่างๆ’ ก็ยังคงท่วมท้น พร้อมๆ กับความรุนแรงที่พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด 

อย่างไรก็ตามในปี 1997 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษากลับว่ากองกำลังกึ่งทหารขัดต่อรัฐธรรมนูญและต้องถูกยกเลิก แต่ลาส กอนบิบีร์ในเมืองเมะเดยีนและเมืองอื่นๆ ในโคลอมเบียก็ยังคงดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก[7]

กรณีศึกษาสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ารัฐหรืออำนาจการเมืองในระบบของเมืองเมะเดยีนเป็นผู้ที่มีบทบาทกับความรุนแรงโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่ม FARC เพราะรัฐมีความลำเอียงในการจัดการความรุนแรงกับกลุ่มแก๊งนอกกฎหมายต่างๆ คือในช่วงสมัยของรัฐบาลอัลบาโร อูริเบ ระหว่างปี 2002 -2010 อูริเบนั้นเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเมะเดยีนและผู้ว่าราชการจังหวัดแอนทิโอเกีย เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่าเขามีนโยบายต่อต้าน FARC อย่างเข้มข้น ด้วย เพราะพ่อของอูริเบถูก FARC ลักพาตัวและฆาตกรรม ดังนั้นในปี 2002 เมื่ออูริเบชนะการเลือกตั้งและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จึงมีการส่งกำลังทหารเข้าโจมตีในหลายๆ บริเวณที่อยู่ของพลเรือน

ปฏิบัติการมาริสกัลและปฏิบัติการโอริออนเป็นยุทธการที่อูริเบได้สั่งดำเนินการในเขตซาน ฆาเบียร์ เมืองเมะเดยีน โดยมีจุดมุ่งหมายกำจัดกองกำลังฝ่ายซ้ายที่ตั้งมั่นอยู่ในเขตดังกล่าว แต่ปฏิบัติการทั้งสองครั้งได้ถูกกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนจากนานาชาติประณามเพราะเป็นการโจมตีพื้นที่อาศัยของพลเรือน รวมทั้งมีการกล่าวว่ากองกำลังกึ่งทหารมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย[8] ผู้ที่สนับสนุนการกระทำของอูริเบ กล่าวว่าช่วงดังกล่าวเป็นเวลาที่รัฐบาลโคลอมเบียได้ดึงอำนาจการควบคุมเมืองเมะเดยีนกลับมาได้[9] ในขณะที่ผู้คัดค้านมองว่าปฏิบัติการทั้งสองที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างกองทัพและกองกำลังกึ่งทหารได้กระทำการสังหารหมู่ ขับไล่และลักพาตัวผู้คนกว่า 130–300 ราย[10]

ปฏิบัติการมาริสกัลป์และปฏิบัติการโอริออนเกิดขึ้นในปี 2002 หนึ่งปีก่อนที่เซร์ฆิโอ ฟาฆาร์โดจะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเมะเดยีน ภายหลังจากที่เขตซาน ฆาเบียร์ได้ถูกทำให้ ‘สงบ’ ก็มีการวางแผนก่อสร้างรถกระเช้า (metrocable) ขึ้นเป็นที่แรกในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมระหว่างเขตที่มีความรุนแรงเข้ากับใจกลางเมือง ซึ่งจะส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ผนวกรวมผู้คนจากเขตดังกล่าวเข้าสู่สังคม และสามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงในชุมชนนั้นๆ ได้ ดังนั้นเมื่อความรุนแรงเริ่มบรรเทาลง การก่อสร้างรถกระเช้าเชื่อมกลางเมืองกับเขตที่เป็นปัญหาจึงสำเร็จลุล่วง ดังที่มีนักธุรกิจผู้หนึ่งได้กล่าวไว้ว่าอูริเบได้ทำสิ่งที่จำเป็น หากอูริเบไม่จัดการกับกลุ่มต่างๆ เสียก่อน เส้นทางคมนาคมที่เชื่อมสลัมที่ขึ้นชื่อว่าอันตรายที่สุดคงสร้างไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดีกระบวนการปรับปรุงเมืองครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการกลับมามีอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำในเมืองเมะเดยีนผ่านการใช้กองทัพของรัฐและกองกำลังกึ่งทหาร 

รูปภาพที่ 2: โครงการรถกระเช้าเมโทรเคเบิ้ลในเมืองเมะดะยีน

เห็นได้ว่ากองกำลังกึ่งทหารในโคลอมเบียที่เติบโตขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจาก ‘รัฐ’ ส่งผลให้ความรุนแรงในเมืองเมะดะยีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากมองย้อนกลับมายังประเทศไทย กองกำลังกึ่งทหารในโคลอมเบีย ก็ไม่ต่างจาก ‘กลุ่มนวพล’ หรือ ‘กลุ่มกระทิงแดง’ ในช่วง พ.ศ. 2516–2519 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐไทย อันนำพาไปสู่ ‘การฆาตกรรมหมู่’ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งยังคงเป็น ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ที่หลายฝ่ายพยายามหลีกเลี่ยงถึงการกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวจวบจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

References
1 https://www.the101.world/medellin-capital-of-murder/ และ https://www.the101.world/pablo-escobar/
2 Adam Isacson, Ending 50 years of conflict: The challenges ahead and the U.S. role in Colombia (Washington D.C.: Washington Office on Latin America, 2014).
3 Robert R. Filippone, “The Medellín Cartel: why we can’t win the drug war,”; Francisco Gutiérrez Sanín and Ana María Jaramillo, “Crime, (counter-)insurgency and the privatization of security: The case of Medellín, Colombia,” และ BBC, “Colombia’s armed groups,” (2013), accessed January 5, 2022, http://www.bbc.co.uk/news/World-latin-america-27567604.
4 Amnesty International, Colombia: Justice and peace law will guarantee impunity for human rights abusers (London: Amnesty International, 2005), accessed June 16, 2016, http://www.amnesty.org/en/library/info/ARM23/012/2005; William Avilés, “Paramilitarism and Colombia’s low-intensity democracy,” Journal of Latin American Studies 38, no. 2 (2006): 379-408 และ Michael Taussig, Law in a lawless land: Diary of a limpieza in Colombia.
5 BBC, Colombia’s armed groups.
6 Amnesty International, Colombia: Justice and peace law will guarantee impunity for human rights abusers.
7 Ramiro Ceballos Melguizo and Francine Cronshaw, “The evolution of armed conflict in Medellín: An analysis of the major actors,” และ Daniel Tubb, “Narratives of citizenship in Medellín, Colombia,”.
8 Amnesty International, Colombia: Justice and peace law will guarantee impunity for human rights abusers; Ralph Rozema, “Urban DDR-Processes: Paramilitaries and criminal networks in Medellín, Colombia,”Journal of Latin American Studies 40, no. 3 (2008): 423-452; Liliana Bernal Franco and Claudia Navas Caputo, Urban violence and humanitarian action in Medellín; Forrest Hylton, “Medellín’s makeover,” และ Daniel Tubb, “Narratives of citizenship in Medellín, Colombia,”.
9 Holli Drummond, John Dizgun, and David J. Keeling, “Medellín: A City Reborn?,” Focus on Geography 55, no. 4 (2012): 146-154.
10 Liliana Bernal Franco and Claudia Navas Caputo, Urban violence and humanitarian action in Medellín: 7.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save