fbpx
10 วรรณกรรม Coming of Age (แบบไทย)

10 วรรณกรรม Coming of Age (แบบไทย)

หนังสือ Coming of Age ในโลกตะวันตกนั้นมีมากมายเต็มไปหมด แม้หลายเรื่องจะเป็นเรื่องสากล หยิบจับนำมาใช้เป็นประสบการณ์ร่วมกับตัวเราได้ แต่หลายคนก็ยังสงสัยว่า แล้วงานเขียนของไทยล่ะ มีที่เข้าข่าย Coming of Age บ้างหรือเปล่า

คำตอบคือมี และมีเยอะเสียด้วย!

101 ชวนคุณมาดูว่า Coming of Age ในแบบไทย ผ่านภาษาไทย โดยผู้เขียนที่เป็นคนไทยนั้น ถ้าเลือกมาสัก 10 เล่ม น่าจะมีเล่มไหนบ้าง

ไปดูกันเลย

 

บึงหญ้าป่าใหญ่

 

ใครเขียน : เทพศิริ สุขโสภา

ว่าด้วยหนังสือ : ใครๆ ก็รู้ว่า เทพศิริ สุขโสภา เขียนรูปได้พลิ้วไหวและปาดฝีแปรงได้รวดเร็วน่าประทับใจมากแค่ไหน วิธีระบัดระบายฝีแปรงนั้น เหมือนการระบัดระบายตัวอักษรในหนังสือ เล่ม ‘ร่างพระร่วง’ ที่เคยเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ยังติดตรึงในความงามของตัวหนังสือ แม้เขียนมาไม่มากเล่ม ทว่าแต่ละเล่มเป็นตำนาน โดยเฉพาะ ‘บึงหญ้าป่าใหญ่’ ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายสองคน คนหนึ่งอ่อนแอทว่าเป็นเด็กเรียนเก่ง อีกคนเป็นเด็กดื้อที่ครูเกลียด แต่คอยปกป้องคุ้มภัยและพาเพื่อนออกผจญภัยไปในดินแดนแถบถิ่นที่แลดูคล้ายความฝัน โดยมีตัวอักษรแสนงามโอบอุ้มอยู่

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ซึมซับความเป็นเด็กที่จะไม่มีวันหวนคืนกลับมาอีกครั้ง กระทั่งถึงฉากสุดท้ายของเรื่อง ที่เหมือนลากหัวใจไปบิด เมื่อคนคนหนึ่งเติบโตขึ้นในทุกมิติ จากไป ขณะที่อีกคนยังคงอยู่ที่นั่น เดียวดาย และเป็นคนนอกอย่างที่เคยเป็นเสมอมา

 

สร้อยสลับสี

 

ใครเขียน : สุวรรณี สุคนธา

ว่าด้วยหนังสือ : หนังสือว่าด้วยวัยเยาว์อันแสนงามของนักเขียนในตำนานผู้ก่อตั้งนิตยสาร ‘ลลนา’ คือ ‘สวนสัตว์’ เล่มนั้นก็มีเนื้อหาว่าด้วย Coming of Age เช่นกัน แต่เพราะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา หลายคนคงเคยรู้จักแล้ว จึงอยากแนะนำอีกเล่มที่มีโทนใกล้เคียงกัน แต่ไม่ได้พูดถึงสัตว์เลี้ยง ทว่าพูดถึงผู้คนที่รายล้อมอยู่รอบตัวของตัวละคร เล่มนี้เป็นกึ่งอัตชีวประวัติ มีผู้คน แม่น้ำพิษณุโลก ถนนสีแดง ความรัก และปัญหาชีวิตซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ใต้ความงามของชนบท ผู้เขียนให้ตัวละครแต่ละตัวมีชื่อเป็นอัญมณีที่เรียงร้อยกันเหมือนสร้อยที่สลับสีพร่างพรายแสนงาม

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : แรกๆ หนังสือเล่มนี้คล้ายเป็นวรรณกรรมสำหรับเยาวชน แต่เมื่อตัวละครได้พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ และล่วงรู้ลึกซึ้งถึงเบื้องหลังหลากเรื่องราว เช่น ครูสาวที่มีแฟนเป็นผู้หญิงด้วยกันเอง ชีวิตข้าราชการที่มีสถานะเหนือกว่าชาวบ้านทั่วไป ฯลฯ ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น โดยมีภาษาเขียนที่กระจ่างใสหลากสีเหมือนภาพวาดคอยนำทางเราไปทีละน้อย

 

ใบหน้าอื่น

 

ใครเขียน : นิวัต พุทธประสาท

ว่าด้วยหนังสือ : หากเล่าเพียงว่า นี่คือเรื่องราวของ ‘วัยรุ่นบ้านแตก’ คนหนึ่ง หลายคนอาจไม่รู้สึกอยากอ่านมากนัก แต่พูดได้ว่า นี่เป็น ‘นวัตกรรม’ ทางวรรณกรรม และเป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยที่มักถูกมองข้ามเล่มหนึ่ง ด้วยเรื่องราวที่เริ่มต้นจากความบกพร่องเว้าแหว่ง แล้วเติบโตไปกับความบกพร่องเว้าแหว่งนั้น ทีละนิดๆ ที่เหตุการณ์ต่างๆ ค่อยๆ กัดกินภายในของคนคนหนึ่ง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งคนที่เป็นคล้าย ‘ราก’ ที่หยั่งลึกถือกำเนิด และคนที่เป็นเสมือนดอกไม้แจ่มใสผลิบานในชีวิต ทว่าทั้งหมดก็ไม่อาจถ่วงน้ำหนักกับความผิดพลาดบกพร่องตั้งต้นได้

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : ถ้ายังเด็ก เราอาจไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เราพบเผชิญอยู่นั้นมันเลวร้ายมากเพียงใด แต่การเติบโตทำให้มนุษย์เห็น และพยายามจะต่อสู้กับความบกพร่องเว้าแหว่งนั้น ความพยายามจะวิพากษ์ชีวิต และต่อสู้กับความบกพร่องเว้าแหว่ง คือสนามรบแห่งชีวิตที่ยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยเสี้ยวส่วนเล็กจิ๋วยากมองเห็น บางคนต่อสู้เพื่อผ่านมันไป แต่บางคนก็ผ่านมันไปไม่ได้

 

ลับแล – แก่งคอย

 

ใครเขียน : อุทิศ เหมะมูล

ว่าด้วยหนังสือ : นิยายเล่มโตเล่มนี้ พูดถึงความซับซ้อนภายในตัวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ส่วนตัวของเขา บอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และขยายวงลามไกลไปถึงประวัติศาสตร์ของสังคม และประวัติศาสตร์จิตสำนึกของมนุษยชาติ ด้วยท่าทีในแบบวรรณกรรมที่ซับซ้อนและซ่อนเงื่อนปมต่างๆ เอาไว้ให้ขุดค้น เป็นนิยายรางวัลซีไรต์ปี 2552 ตัวละครทั้งหมดราวกับมีชีวิตจริง และสะท้อนโต้ตอบกันหลายชั้น จนการอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเรื่องที่ทั้งจำเป็นและรื่นรมย์

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : ความสอดคล้องพ้องกันของเรื่องแนว Coming of Age อย่างหนึ่งก็คือ ตัวละครจะมีความรู้สึกแปลกแยกต่อตัวตน ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม ฯลฯ เมื่อตัวเองเติบโตขึ้น ลับแล – แก่งคอย พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ตลอดเล่มในมิติต่างๆ ตั้งแต่สังคม การเมือง เพศ ชนชั้น ความอาวุโส ระบบราชการ ฯลฯ

 

หลังอาน

 

ใครเขียน : บินหลา สันกาลาคีรี

ว่าด้วยหนังสือ : เรื่องเล่าง่ายๆ ของชายคนหนึ่ง ที่ลุกขึ้นปั่นจักรยานคนเดียว จากเชียงใหม่มาสู่กรุงเทพฯ นี่ไม่ใช่เรื่องของการปั่นจักรยานในยุคที่คนเขาฮิตกัน แต่เกิดขึ้นเนิ่นนานก่อนหน้านั้นน่าจะเป็นสิบปี มันคือบันทึกการเดินทางไกลของผู้ชายคนหนึ่ง การันตีด้วยตัวหนังสือของบินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนซีไรต์จาก ‘เจ้าหงิญ’ ที่ตัวหนังสือของเขาไม่เพียงเพลิดเพลินอ่านสนุก แต่ยังเต็มไปด้วยความคิดและความรื่นรมย์ การเดินทางด้วยวิธีแปลกๆ ทำให้เขาได้พบกับเรื่องที่ไม่คาดคิดมากมาย

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : นี่ไม่ใช่แค่การเดินทางจากเชียงใหม่สู่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่คือการเดินทางหวนย้อนสู่การเติบโตอีกครั้ง เมื่อผู้ชายคนหนึ่งเลือกใช้วิธีเดินทางที่ทำให้ตัวเองเปราะบาง เขาได้ออกผจญภัยอีกครั้ง เป็นการหวนรำลึกถึงวัยเยาว์ พร้อมกันนั้นก็เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ขับดันให้เขายิ่งเติบโตครั้งใหญ่ กระทั่งกลั่นกลายมาเป็นหนังสือระดับตำนานเล่มนี้

 

ความเลิศลอยอันจอมปลอม

 

ใครเขียน : ชาติวุฒิ บุณยรักษ์

ว่าด้วยหนังสือ : รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหนุ่มผู้จากเราไปเมื่อหลายปีก่อนด้วยการเลือกของตัวเอง หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ทรงพลัง แม้เป็นงานเขียนแบบเรื่องแต่งหรือ Fiction แต่ทว่าเต็มไปด้วยเลือดเนื้อและความรู้สึกนึกคิดที่แรงกล้า ตัวงานและชีวิตของผู้เขียนนั้น แทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกันก็ใช้กลวิธีการเขียนที่อ่านง่าย ตรงไปตรงมา หนังสือเล่มนี้จึงสั่นสะเทือนกับผู้อ่านในระดับสูง

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนแสดงให้เราเห็นถึงการต่อสู้กับ Coming of Age ที่ทำให้เขามองเห็นทั้งกว้างและลึก ทั้งมองเข้าไปในตัวตน ความรัก ความสัมพันธ์ และมองออกไปสู่โลกและสังคมที่ทั้งทำให้เขาดำรงอยู่และในเวลาเดียวกันก็โบยตีเขากระหน่ำหนัก มีการต่อสู้อยู่เสมอ มีความห่วยแตกของชีวิตอยู่เสมอ แต่ชีวิตก็อยู่ตรงนี้ให้เราดำเนินต่อไปอยู่เสมอด้วยเช่นกัน

 

เกิดวังปารุสก์

 

โดย : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ว่าด้วยหนังสือ : เกิดวังปารุสก์ มี 3 ภาค (แต่มีด้วยกัน 4 เล่ม เพราะเล่มที่ 4 เป็นภาคผนวก) คือ ‘สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์’, ‘สมัยประชาธิปไตย’ และ ‘สมัยยุทธภัย’ ที่น่าจะหาอ่านได้ง่ายคือ 2 ภาคแรก เพราะมีการนำมารวมพิมพ์สองภาคแรกเป็น ‘เกิดวังปารุสก์ ฉบับสมบูรณ์’ ซึ่งเล่าเรื่องขององค์ผู้นิพนธ์อย่างละเอียด ทั้งชีวิตในวังสมัยนั้น ขนธรรมเนียม และกระทั่งความขัดแย้งต่างๆ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : หลายเรื่องราวใน ‘เกิดวังปารุสก์’ ทำให้เราเห็นว่า องค์ผู้นิพนธ์ทรงค่อยๆ ทำความเข้าใจกับสถานการณ์แวดล้อม ความขัดแย้ง ชาติกำเนิด และทรงรับมือกับการเติบโตทั้งภายในและภายนอกอย่างไร แม้ทั้งหมดนี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลยก็ตาม

 

ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน

 

ใครเขียน : พิบูลศักดิ์ ละครพล

ว่าด้วยหนังสือ : เรื่องของเด็กน้อยและผองเพื่อนที่อยู่ในชนบทแห่งภาคเหนือ ในอ้อมกอดของสายลม ฤดูกาล และสีสันของดอกไม้ใบไม้ กับเด็กเล็กๆ คนหนึ่งที่ ‘เป็นตัวแทนของปีกอิสระแห่งเหยี่ยวรุ้ง และหัวใจโบยบินสูงถึงฟากฟ้า’ (คำของผู้เขียน) ซึ่งในตอนจบ ก็จะเกี่ยวเอาหัวใจของเราไปด้วย ที่สำคัญก็คือ ภาษาของผู้เขียนนั้นละมุนละไมและเต็มไปด้วยสีสันสดใส…เหมือนชีวิตวัยเยาว์

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : ไม่มีตัวละครเด็กที่ไหนไม่เติบโต และทุกการเติบโตล้วนเต็มไปด้วยการตัดสินใจ ตัวละครใน ‘ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน’ ก็เช่นกัน สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ในเรื่องบอกกับเด็กชายตัวน้อยคนนั้นก็คือ เขาต้องรู้จักตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะ ‘เลือก’ เส้นทางแบบไหน อ่านแล้วหัวใจของคุณจะกลับมาเต้นอย่างมีชีวิตอีกครั้ง แม้เป็นชีวิตที่ตระหนักถึงความเศร้าแห่งการเติบโตก็ตามที

 

ในนรกฝนตกเป็นความรัก

 

ใครเขียน : มันดา เอช

ว่าด้วยหนังสือ : อาจพูดได้ว่า นี่เป็นหนังสือ ‘ไซคีเดลิก’ คือพกพาความ ‘เพี้ยน’ ไว้ในนั้นหลายมิติ แต่เป็นความเพี้ยนที่นำเราไปสู่ความจริง ไม่ใช่ความจริงที่เป็นสัจธรรมสูงสุด แต่คือความจริงว่าด้วยความรัก ความกลัว และความบ้า การต่อสู้กับภายในของตัวเองด้วยวิธีที่หม่นหมอง บ่มเพาะควันคลุ้งแห่งการระเบิด ผิดเพี้ยน และคลุ้มคลั่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็ ‘เมามัน’ และ ‘เผ็ช’ อย่างที่สุด อ่านแล้วเหมือนไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติ แต่ถูกเขย่าโยนออกไปนอกห้วงอวกาศ

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : นี่เป็นหนังสือที่ตีแผ่ด้านในของมนุษย์ออกมาอย่างถึงแก่น เป็นการตีแผ่ด้วยลีลาเฉพาะตัว มีการเล่าเรื่องที่หฤหรรษ์และ (ขออภัย) กวนตีนอย่างที่สุดเล่มหนึ่ง การดึงด้านในออกมาพูดถึงด้วยวิธีการแบบนี้ ทำให้ได้รสชาติการเติบโตอีกแบบที่ไม่เหมือนเล่มอื่นเลย

 

น้ำป่า : บันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด

 

ใครเขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ว่าด้วยหนังสือ : เป็นเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ในยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อผู้เขียนได้ ‘เข้าป่า’ ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคใต้ (คือบนเทือกเขาบรรทัด) ถือได้ว่า ผู้เขียนเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้น ที่มีความหวังในการสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นผ่านอุดมการณ์ของตัวเอง หนังสือเล่มนี้เล่าเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเอียด ทั้งความหวัง ความขัดแย้ง การพังทลายของความฝัน ชัยชนะ และความพ่ายแพ้ ผู้เขียนเขียนไว้ครึ่งหนึ่ง และหวนกลับมาเขียนอีกครั้งจนจบในอีกราวยี่สิบปีถัดมา

 

แล้ว Coming of Age ยังไง : นอกจากจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สังคมที่สำคัญมากแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเล่าถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ภายใน ผู้เขียนยอมรับถึงความอ่อนเยาว์ ความอ่อนหัด และความจำกัดในบางเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะกับตัวผู้เขียนเอง แต่รวมถึงคนหนุ่มสาวอื่นๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งและวิธีแก้ปัญหาบางแบบ หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ Coming of Age ของปัจเจก แต่ยังเป็น Coming of Age ของสังคมไทยในยุคสมัยหนึ่งด้วย


ชวนอ่านบทความเพิ่มเติมจากโครงการ ‘ความน่าจะอ่าน’ กันได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022