fbpx

การเปลี่ยนผ่านของสถาบันทางการเมืองในโคลอมเบีย: จากระบบสองพรรคใหญ่ สู่ระบบพหุพรรค

ความเป็นสถาบันทางการเมืองที่มั่นคงประกอบไปด้วย (1) ความมีเสถียรภาพในการแข่งขัน (2) การมีความผันผวนในการเลือกตั้งน้อย และ (3) ความมั่นคงในอุดมการณ์ของพรรคการเมือง แต่เมื่อมองย้อนกลับมาดูประเทศโคลอมเบียกลับพบว่าความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคการเมืองค่อยๆ อ่อนแอลงเรื่อยๆ

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ระบบพรรคการเมืองของโคลอมเบียมีความเป็นสถาบันสูงมาตลอด เห็นได้จากการมีพรรคการเมืองหลักเพียงสองพรรค คือพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยม แต่เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ทั้งสองพรรคต่างก็อ่อนแอลง และขณะเดียวกันก็เกิดพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองหน้าใหม่ๆ เต็มไปหมด ซึ่งสะท้อนความเป็นสถาบันการเมืองที่ไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม

ปรากฏการณ์ความอ่อนแอลงของสถาบันการเมืองในโคลอมเบียนี้เกิดจาก 4 สาเหตุใหญ่ ได้แก่

ผู้นำของสองพรรคการเมืองหลักในโคลอมเบีย Alberto Lleras Cmargo และ Laureano Gomez ลงนามใน The Benindrom Pact เพื่อจัดตังระบบ The National Front เป็นการแบ่งอำนาจสลับกันทุก 4 ปีระหว่างสองพรรคการเมืองหลัก

1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในโคลอมเบียทำให้ประชาชนโยกย้ายจากชนบทเข้าสู่เมืองเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายโดยความสมัครใจหรือการโยกย้ายโดยการถูกบังคับ ขู่เข็ญ (Chaowarit Chaowsangrat, 2011) การอพยพดังกล่าวรวมถึงการเข้าถึงระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้นในยุค The National Front (ระบบสองพรรคการเมืองใหญ่คือพรรคอนุรักษนิยมกับพรรคเสรีนิยมสลับการมีอำนาจทุก 4 ปี เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1958-1974) ทำให้ประชากรมีความคิดอ่านที่ทันสมัย ไม่ผูกติดกับความเชื่อในระบบอุปถัมภ์ที่สองพรรคการเมืองหลักใช้เชื่อมโยงฐานเสียงของพวกตนในอดีต

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวค่อยๆ เห็นได้ชัดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ต่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เมื่อเกิดนักการเมืองหน้าใหม่ที่เสนอแนวนโยบายที่แตกต่างไปจากของสองพรรคการเมืองหลัก รวมถึงการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่จำนวนไม่น้อยที่ต่างก็สร้างฐานเสียงของตนเองขึ้นมา ขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจก็ลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นรายได้หลักของประเทศ หากย้อนไปในช่วงระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ร้อยละ 71 ของประชากรยังอาศัยอยู่ในชนบท แต่เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เกิดภาพสลับ กล่าวคือสัดส่วนของประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทก็ลดลง

การเปลี่ยนแปลงนี้ค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อระบบพรรคการเมือง ประชากรที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองผูกติดกับความเชื่อทางศาสนาลดลง ขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมทางการเมืองแบบสองพรรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 การเลือกตั้งในโคลอมเบียมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นกว่าในยุค The National Front อุดมการณ์ทางการเมืองที่เคยผูกติดกับประชาชนตั้งแต่เกิด ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชนชั้นกลางในเมืองที่ขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 พวกเขาต้องการแสวงหานักการเมืองที่นำเสนอนโยบายใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาของประเทศ ขณะที่สองพรรคการเมืองหลักไม่ว่าจะเป็นพรรคเสรีนิยมหรือพรรคอนุรักษนิยมก้าวตามไม่ทันต่อความต้องการดังกล่าว ก่อให้เกิดช่องว่างที่นักการเมืองหน้าใหม่หรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ จะเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ผู้ชนะล้วนเป็นนักการเมืองจากกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ในทางกลับกันก็สะท้อนให้เห็นความเสื่อมถอยของสองพรรคการเมืองหลักของประเทศ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมืองระหว่าง ค.ศ. 1948-1958 รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเองกับกบฏฝ่ายซ้ายและกองกำลังกึ่งทหารนอกกฎหมายฝ่ายขวา ส่งผลให้คนต้องหนีความรุนแรงในพื้นที่สู้รบในชนบทเข้าสู่เมือง โคลอมเบียถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่ประชาชนต้องหนีสงครามอพยพย้ายจากชนบทเข้าสู่เมือง ตัวเลขในปลายปี 2021 มีคนกว่า 7.5 ล้านคนตกอยู่ในสภาพดังกล่าว (UNHCR, 2022, p.57) ด้วยความที่พวกเขาเหล่านั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสลัม จึงได้ละทิ้งระบบอุปถัมภ์แบบเดิมที่มีอยู่ในชนบท โดยหันมาพึ่งพานักการเมืองหน้าใหม่ที่มีนโยบายสนองต่อความต้องการของเขาที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง (Dávila and Delgado, 2002)

นอกจากนี้ ธุรกิจการค้ายาเสพติดก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการแข่งขันกันของพรรคการเมือง (Gutiérrez, 2006; López, 2010) องค์กรผิดกฎหมายดังกล่าวทุ่มเงินซื้อตัวนักการเมืองทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เงินจากการค้ายาเสพติดกลายเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญให้กับนักการเมืองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะนักการเมืองหน้าใหม่ สามารถเอาชนะนักการเมืองจากสองพรรคการเมืองหลักได้ เป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองดังกล่าวสามารถสร้างองค์กรทางการเมืองของตัวเองเป็นเอกเทศ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติได้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการบั่นเซาะและลดการยึดติดกับระบบพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมได้

2) การเปลี่ยนแปลงทางสถาบัน

งานศึกษาส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองที่ล่มสลาย มักมองข้ามความสำคัญของกติกาทางเมือง อย่างไรก็ตามความเข้าใจในการล่มสลายของความเป็นสถาบันทางการเมืองของโคลอมเบียอย่างเฉียบพลันนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงกติกาทางการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ในช่วงปลายๆ คริสต์ศตวรรษที่ 20 โคลอมเบียเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสถาบันไม่น้อย มีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้ง ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบอุปถัมภ์เดิม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งเสริมให้เกิดนักการเมืองที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับพรรคการเมือง เป็นการซ้ำเติมระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอลงไปอีก

คำอธิบายส่วนมากที่พูดถึงการการสั่นคลอนของระบบพรรคการเมือง รวมถึงความผันผวนของการเลือกตั้งในโคลอมเบีย มักอ้างถึงกติกาทางการเมืองที่กำกับการเลือกตั้งในโคลอมเบียระหว่างปี 1991-2003 การปฏิรูปทางการเมืองในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ต่อไปถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เช่นการขยายพื้นที่การเลือกตั้งต่อจำนวนวุฒิสมาชิก การให้รายชื่อของนักการเมืองในระบบปาร์ตี้ลิสต์สามารถขึ้นมาแทนสมาชิกสภาทั้งสองได้ตลอดเวลาเมื่อเกิดการถอดถอนขึ้น รวมทั้งการลดบรรทัดฐานการก่อตัวเป็นพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดกลุ่มการเมืองย่อยๆ มากมายที่อาศัยบารมีส่วนบุคคล เท่ากับเป็นดาบทิ่มแทงระบบพรรคการเมืองให้แย่ลงไปอีก (Pízarro Leongómez, 2002) เมื่อนักการเมืองไม่จำเป็นต้องอาศัยการหนุนหลักจากพรรคเสรีนิยมหรือพรรคอนุรักษนิยมอีกต่อไป ก็ส่งผลให้นักการเมืองละทิ้งทั้งสองพรรคไปก่อตั้งกลุ่มหรือพรรคการเมืองเล็กๆ จนทำให้ให้ระบบสองพรรคการเมืองตกต่ำไปมากขึ้น รวมถึงเกิดความผันผวนทางการเมืองเพิ่มขี้นไม่น้อย

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1991 ยังลดจำนวนคนขั้นต่ำในการขอก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อเป็นการเพิ่มพรรคการเมืองใหม่ๆ ในเวทีการเลือกตั้ง และเป็นการกระจายอำนาจประชาธิปไตยในระบบพรรคการเมือง โดยในช่วงระหว่างปี 1991-2003 นั้น การมีรายชื่อจำนวนคนเพียง 50,000 รายชื่อก็สามารถตั้งพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองได้ รวมทั้งยังได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลอีกด้วย ทำให้การตั้งพรรคการเมืองใหม่มีต้นทุนที่ต่ำลง

ในขณะเดียวกัน ต้นทุนของการเป็นพรรคการเมืองใหญ่ไม่ได้ลดลง ขณะที่ผลประโยชน์ของการเป็นสมาชิกพรรคใหญ่กลับลดลง เนื่องจากต้องมีการแข่งขันภายในพรรคกันเองเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคลงแข่งในสนามการเลือกตั้ง กติกาการเลือกตั้งดังกล่าวส่งผลลบต่อพรรคการเมืองใหญ่เป็นอันมาก ในทางกลับกันเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยที่อาศัยบารมีส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้นักการเมืองที่สังกัดพรรคเสรีนิยมหรือพรรคอนุรักษนิยม แยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองเล็กๆ จนนำไปสู่ความผันผวนของระบบพรรคการเมืองในโคลอมเบีย (Moreno, 2005; Pízarro Leongómez, 2002)

กล่าวโดยสรุป กติกาทางสถาบันนับตั้งแต่ปี 1991 ส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง เกิดความแตกแยกในพรรคการเมืองหลัก มีพรรคการเมืองเล็กๆ ที่อาศัยบารมีส่วนบุคคลและขาดอุดมการณ์ทางการเมืองในระยะยาวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแต่ส่งผลลบต่อพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

3) การกระจายอำนาจ

เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาได้เกิดการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง การคลัง และการบริหารระบบราชการ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระบบพรรคการเมืองในโคลอมเบีย การกระจายอำนาจทางการเมืองส่งผลให้เกิดการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นทั่วประเทศในปี 1992 ส่วนในระดับท้องถิ่นก็มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีขึ้นทั่วประเทศในปี 1988 การกระจายอำนาจทางด้านการคลังและการบริหารระบบราชการ ส่งผลให้ทั้งส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนกลางที่สามารถนำไปตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่และมีความคล่องตัวในการบริหารงานเพิ่มมากขึ้น (Eaton, 2004; Falleti, 2005)

การกระจายอำนาจดังกล่าวได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยให้กับโคลอมเบีย โดยการเพิ่มผู้เล่นทางการเมือง ในอดีตตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีกรุงโบโกตาถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ส่วนนายกเทศมนตรีเมืองอื่นๆ นั้น แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด การกระจายอำนาจทางการเมืองส่งเสริมให้มีนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ลงแข่งขันในสนามการเลือกตั้งที่เดิมถูกผูกขาดโดยพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยม การเลือกตั้งส่วนภูมิภาคและการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดใหม่ให้กับประชาชนที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครอิสระเป็นจำนวนไม่น้อยได้รับการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นนายกเทศมนตรีกรุงโบโกตาหรือเมืองใหญ่อื่นๆ (Gilbert, 2006)

ยิ่งไปกว่านั้น การสูญเสียเงินของส่วนกลางที่เดิมคอยช่วยสนับสนุนระบบอุปถัมภ์ของสองพรรคใหญ่ ส่งผลให้นักการเมืองไม่ว่าจะสังกัดพรรคเสรีนิยมหรือพรรคอนุรักษนิยมหันมาพึ่งพาตัวเองหรือแหล่งรายได้อื่นๆ นอกพรรคมากขึ้น ทำให้อำนาจการสั่งการของพรรคที่มีต่อนักการเมืองมีน้ำหนักน้อยลง (Dargent and Muñoz, 2011; Leal Buitrago and Dávila, 1990) การกระจายอำนาจทางการเมืองก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบอุปถัมภ์ ส่วนราชการทั้งในท้องถิ่นและในภูมิภาคได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางเพิ่มมากขึ้น การมีทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นทำให้นักการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับภูมิภาคมีอำนาจในการสั่งการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อระบบพรรคการเมืองเดิมที่นับวันจะอ่อนแอลง

ความเข้าใจในเรื่องของการกระจายอำนาจในโคลอมเบียช่วยสร้างความเข้าใจว่า เพราะเหตุใดนักการเมืองที่สังกัดสอง พรรคการเมืองใหญ่ต้องเผชิญกับสภาวะกดดันเมื่อการกระจายอำนาจเริ่มมีผลในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังช่วยเฉลยว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมืองขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก พร้อมยังฉายภาพการกระจายอำนาจทางการเมืองของระบบพรรคการเมืองในโคลอมเบียให้เห็นอีกด้วย อีกทั้งยังช่วยอธิบายว่า แม้จะมีการปฏิรูปการเลือกตั้งในปี 2003 ที่ส่งเสริมการมีพรรคขนาดใหญ่ แต่ทำไมถึงยังไม่สามารถชะลอระบบการเลือกตั้งที่ถูกสั่นคลอน รวมถึงอำนาจของส่วนกลางที่นับวันจะลดลงเรื่อยๆ ไปได้

4) การเปลี่ยนแปลงของระบอบอุปถัมภ์

ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบอบอุปถัมภ์ก่อให้เกิดความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนระบบพรรคการเมือง ถึงแม้ว่าระบอบอุปถัมภ์ทางการเมืองซึ่งก็คือการจัดหาสิ่งของหรือการแจกเงินให้ประชาชนของผู้สมัครทางการเมืองเพื่อแลกกับคะแนนเสียง (Stokes, 2007) จะเป็นที่ปฏิบัติกันมานานนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของระบบสองพรรคการเมืองในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ก็มีการเปลี่ยนวิธีการมาเรื่อยๆ

ในตอนแรกระบอบอุปถัมภ์เกิดขึ้นในชนบทระหว่างเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ที่มอบสิ่งของให้กับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายข้างต้นกินระยะเวลาที่ยาวนานและยังรวมการช่วยเหลือกันในเรื่องอื่นๆ ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางสังคมระหว่างกัน ถึงแม้จะมีการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยม นักการเมืองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งก็เป็นฐานเสียงให้กับนักการเมืองระดับชาติอีกต่อหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในพื้นที่ของตนเอง ลักษณะของระบอบอุปถัมภ์ดังกล่าวก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองระดับภูมิภาค และนักการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักการเมืองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นไม่สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้แต่เพียงลำพัง อย่างน้อยจะต้องมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (Archer, 1990; Leal Buitrago and Dávila, 1990)

การขยายตัวใหญ่ขึ้นของรัฐในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 รวมถึงความรุนแรงทางการเมืองที่ลดลงในช่วง The National Front ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของระบอบอุปถัมภ์เดิม นักการเมืองอาชีพเข้ามาแทนที่นักการเมืองที่อาศัยสายสัมพันธ์ในระบอบอุปถัมภ์แบบเดิม เงินของรัฐที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมือง รวมถึงเงินจากการค้ายาเสพติด กลายเป็นตัวเชื่อมโยงนักการเมืองในระบอบอุปถัมภ์แบบใหม่ ในช่วงระยะเวลาของ The National Front การที่สองพรรคการเมืองหลักไม่ต้องแข่งขันกัน เพราะได้ตกลงแบ่งอำนาจกันไว้เรียบร้อยแล้ว แต่กลับกัน การแข่งขันกันเองในพรรคกับเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดความร้าวฉานในพรรคการเมืองทั้งสอง

การเพิ่มขึ้นของเงินจากการค้ายาเสพติด รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ยังส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในระบอบอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมืองระดับภูมิภาค นักการเมืองระดับท้องถิ่น กับนักการเมืองระดับชาติ การกระจายอำนาจส่งผลให้นักการเมืองระดับชาติไม่สามารถควบคุมการเมืองการบริหารภูมิภาคหรือท้องถิ่นได้ นักการเมืองรุ่นใหม่ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาตัวเองไปผูกติดกับพรรคเสรีนิยมหรือพรรคอนุรักษนิยมอีกต่อไปในการที่จะแสวงหาระบอบอุปถัมภ์แบบเดิม (Dargent and Muñoz, 2011) ยิ่งไปกว่านั้น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด ได้กลายเป็นแหล่งเงินทุนทางการเมืองใหม่ให้กับนักการเมืองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากนักการเมืองในโบโกตา แสดงให้เห็นว่าระบอบอุปถัมภ์ทางการเมืองก็มีการกระจายตัวลงสู่พื้นที่ย่อยๆ ในท้องถิ่นกันเอง ไม่จำเป็นจะต้องมาจากส่วนกลางอีกต่อไป การเพิ่มขึ้นของนักการเมืองหน้าใหม่ที่ลงสมัครในนามอิสระหรือพรรคการเมืองใหม่ ก่อให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำลายระบอบความสัมพันธ์ที่มีอยู่มาอย่างยาวนานในระบบสองพรรคการเมืองหลัก การซื้อเสียงในช่วงการเลือกตั้งเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสองพรรคการเมืองหลักที่มีอยู่เดิมจนถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1970

กล่าวโดยรวม การเข้าถึงทรัพยากรของนักการเมืองระดับท้องถิ่นและนักการเมืองระดับภูมิภาคภายหลังจากการกระจายอำนาจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบอุปถัมภ์ทางเมืองเดิมของโคลอมเบีย ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างนักการเมืองระดับชาติกับนักการเมืองในระดับที่รองลงไปมีแนวโน้มถดถอยลงเป็นอย่างมาก (Dávila and Delgado, 2002) นักการเมืองไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่แบบเดิมอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงของระบอบอุปถัมภ์ทางการเมืองดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่มีต่อระบบสองพรรคการเมืองเดิมของโคลอมเบียไม่มากก็น้อย


เอกสารอ้างอิง

Archer, Ronald P. (1990). The Transition from Traditional to Broker Clientelism in Colombia: Political Stability and Social Unrest. Notre Dame, IN: University of Notre Dame, Helen Kellogg Institute for International Studies. 

Chaowarit Chaowsangrat. (2011). Violence and Forced Internal Migrants with Special Reference to the Metropolitan Area of Bogotá, Colombia (1990-2002) [Doctoral dissertation, University College London]. https://discovery.ucl.ac.uk/id/eprint/1331874/ (accessed 1 May 2024).

Dargent, Eduardo, and Paula Muñoz. (2011). Democracy against Parties? Party System Deinstitutionalization in Colombia. Journal of Politics in Latin America, 3(2). 43-71.

Dávila, Andrés, and Natalia Delgado. (2002). La metamorfosis del sistema político colombiano: ¿Clientelismo de mercado o nueva forma de intermediación? In Francisco Gutiérrez (Ed.), Degradación o cambio: evolución del sistema político colombiano (pp. 321-55). Bogotá: Grupo Editorial Norma.

Eaton, Kent. (2004). Politics beyond the Capital: The Design of Subnational Institutions in South America. Stanford, CA: Stanford University Press.

Falleti, Tulia G. (2005). A Sequential Theory of Decentralization: Latin American Cases in Comparative Perspective. The American Political Science Review, 99(3). 327-46.

Gilbert, Alan. (2006). Good Urban Governance: Evidence from a Model City? Bulletin of Latin American Research, 25(3). 392-419.

Gutiérrez, Francisco. (2006). Estrenado sistema de partidos. Análisis Político, 57. 106-25.

Leal Buitrago, Francisco, and Andrés Dávila. (1990). Clientelismo: el sistema político y su expresión regional. Bogotá: Instituto de Estudios Políticos y Relaciones Internacionales.

López, Claudia. (2010). ‘La refundación de la patria’, de la teoría a la evidencia. In Claudia López (Ed.), Y refundaron la patria … De cómo mafiosos y políticos reconfiguraron el estado colombiano (pp. 29-79). Bogotá: Corporación Nuevo Arco Iris.  

Moreno, Erika. (2005). Whither the Colombian Two-Party System? An Assessment of Political Reforms and their Limits. Electoral Studies, 24(3). 485-509.

Pizarro Leongómez, Eduardo. (2002). La atomización partidista en Colombia: el fenómeno de las microempresas electorales. In Francisco Gutiérrez (Ed.), Degradación o cambio: evolución del sistema político colombiano (pp. 359-90). Bogotá: Grupo Editorial Norma.

Stokes, Susan C. (2007). Political Clientelism. In Carles Boix and Susan Stokes (Eds.), The Oxford Handbook of Comparative Politics (pp. 604-27). Oxford and New York: Oxford University Press.

United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR). (2022). Global Trends, Forced Displacement in 2021. Geneva: UNHCR.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save