fbpx

เซ็นเซอร์ต้องตาย ภาพยนตร์ไทยต้องรอด เสรีภาพคนดูหนังจงเจริญ

ในฐานะคนดูหนัง ข่าวศาลปกครองสูงสุดยกเลิกคำสั่งห้ามฉายหนังเรื่อง Shakespeare Must Die หรือ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ (2011) ผลงานสร้างและกำกับโดย มานิต ศรีวานิชภูมิ และ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ซึ่งเป็นคดีความที่ต่อสู้กันมายืดเยื้อยาวนานระหว่างผู้สร้างกับคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมถึง 11 ปี อีกทั้งตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ นักแสดงและทีมงานก็เสียชีวิตไปแล้วถึงสี่คน ก่อนที่คำพิพากษาเพิ่งจะถึงที่สุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านพ้นไป อันได้แก่อนุญาตให้ฉายได้ และผู้ถูกฟ้องต้องชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน) ถือเป็นเรื่องน่ายินดีทั้งสำหรับคนทำหนังที่เฝ้าคอยวันนี้มาแสนนาน และแน่นอน รวมถึงคนดูด้วย

สั้นๆง่ายๆ พวกเราจะได้ดูหนังเรื่องนี้สักที หลังจากที่วันเวลาฉายที่เหมาะควรของมันล่วงเลยไปเกินกว่าทศวรรษ อันส่งผลให้เนื้อหาที่มุ่งเหน็บแนม เสียดสี ถากถาง วิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและระบบการเมืองในช่วงเวลาที่หนังถูกสร้าง สูญเสียทั้งรสชาติ ความสดใหม่ และความหมายจำเพาะเจาะจงไปอย่างน่าเสียดาย และในฐานะที่ตัวเองได้ดูหนังเรื่องนี้เมื่อครั้งที่ถูกแบนสดๆ ร้อนๆ และได้เขียนถึงด้วย การสั่งห้ามฉายหนังเรื่องนี้สะท้อนทัศนคติที่ทั้งคับแคบ น่าผิดหวัง และในความคิดเห็นส่วนตัว หนังไม่สมควรถูกปิดกั้นตั้งแต่ต้น

Shakespeare Must Die

ไม่มีข้อสงสัยว่าหนังเรื่อง Shakespeare Must Die นำเสนอประเด็นขัดแย้งทางการเมืองจริงๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเหมือนหัวข้อต้องห้ามของวงการหนังไทยมาช้านาน แต่ก็นั่นแหละ คงต้องเท้าความกันซักนิดว่าหนังเรื่อง Shakespeare Must Die ดัดแปลงจากบทละครเวทีอายุสี่ร้อยปีของ วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare -นักประพันธ์ชาวอังกฤษ) เรื่อง Macbeth ซึ่งบอกเล่าเรื่องของขุนศึกและภรรยาที่เต็มไปด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง และดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองได้ครอบครองอำนาจตราบนานเท่านาน แม้ว่านั่นจะหมายถึงการฆ่า การโกหกหลอกลวง การทรยศหักหลัง และผลลัพธ์สุดท้ายก็หลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมไม่ได้ เนื่องเพราะมีผู้คนต้องจบชีวิตจากความละโมบและกระสันต์ที่ได้ขึ้นเป็นใหญ่ของตัวละครนับไม่ถ้วน ซึ่งผู้ชมละครได้แต่เฝ้ามองเหตุการณ์เบื้องหน้าด้วยความรู้สึกอเนจอนาถและสังเวช

มองในแง่นี้ ก็ต้องยกคุณงามความดีให้กับบทประพันธ์ของเชคสเปียร์ที่สะท้อนถึงความเข้าอกเข้าใจในธาตุแท้ ด้านมืดและสภาวะทางจิตของมนุษย์ได้อย่างปรุโปร่งและลึกซึ้ง และระยะเวลาสี่ร้อยปีที่ผ่านพ้นไปก็ไม่ได้ทำให้ผลงานทรงคุณค่าเรื่องนี้พ้นยุคสมัยแม้แต่นิดเดียว ตรงกันข้าม นอกจากมันไม่ผูกติดอยู่กับเงื่อนไขด้านกาลเวลาแล้ว ยังมีลักษณะที่เป็นสากลมากๆ

เหตุนี้เอง บทละครของเชคสเปียร์เรื่องนี้จึงยังคงถูกนำไปจัดแสดงและดัดแปลงในรูปแบบต่างๆนับไม่ถ้วน กล่าวเฉพาะภาพยนตร์ คร่าวๆ น่าจะมีจำนวนมากกว่าร้อยเรื่อง และหลายเวอร์ชั่นก็พิเศษและโดดเด่นในแบบฉบับของตัวเอง อาทิ Throne of Blood (1957) ของ อากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa -คนทำหนังชาวญี่ปุ่น) ที่เปลี่ยนฉากหลังจากยุคกลางของสก็อตแลนด์เป็นญี่ปุ่นยุคศักดินา และนำเสนองานด้านภาพที่น่าตื่นตะลึง หรือ Macbeth (1971) ของ โรมัน โปลันสกี (Roman Polanski -คนทำหนังชาวฝรั่งเศส-โปแลนด์) ที่เลือกพูดถึงสัญชาตญาณดิบของตัวละคร จนได้ชื่อว่าเป็นฉบับที่รุนแรงสุดขีดคลั่ง ขณะที่ The Tragedy of Macbeth (2021) ของ โจล โคเอน (Joel Coen -คนทำหนังชาวอเมริกัน) ก็ไม่เพียงขับเน้นความเป็นหนังเขย่าขวัญอย่างน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึง ขุนศึกชาวสก็อตต์ยังสวมบทโดยนักแสดงเจ้าบทบาทผิวสี เดนเซล วอชิงตัน (Denzel Washington) ด้วย

ส่วนที่ทำให้ Shakespeare Must Die ของมานิตและสมานรัชฎ์ผิดแผกจากต้นฉบับดั้งเดิม อาจไล่เรียงคร่าวๆ ได้ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อของตัวละครให้ดูมีความเป็นไทยมากขึ้น แม็คเบ็ธ กลายเป็นเมฆเด็ด, แบงโคว กลายเป็นบางโค ส่วน แม็คดัฟฟ์ ก็มีชื่อว่าเมฆดับ เป็นต้น

อีกส่วนที่มีความหมายกับการสื่อสารและพูดได้ว่าน่าจะเป็นชนวนเหตุที่ทำให้หนังถูกแบน ก็ตรงที่มันมีลักษณะเป็นละครเวทีซ้อนหนัง และผู้สร้างย้ำเตือนผู้ชมเป็นระยะว่าพวกเรากำลังนั่งดูการแสดงละครเวที หรืออีกนัยหนึ่ง มีโลกสองใบดำเนินไปในลักษณะคู่ขนาน โลกบนเวทีละครกับโลกนอกเวทีละคร

ข้อสำคัญ มันไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ และความสะเทือนไหวของสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีก็ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงโลกความเป็นจริงตามท้องเรื่อง อันได้แก่ฉากที่ชายชุดซาฟารีเดินตรงไปหาผู้กำกับละครช่วงพักครึ่งและเอ่ยถามแบบหาเรื่องว่า หน้าตาของนักแสดงคล้าย ‘ท่านผู้นำ’ มาก “นี่คุณตั้งใจหรือเปล่า” คำตอบของผู้กำกับละครเวที สรุปได้ว่าเขาเพียงแค่สร้างงานศิลปะ ใครจะตีความอย่างไรก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม และนับจากตรงนี้เอง สถานการณ์นอกเวทีละครก็คุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ และบานปลายกลายเป็นความรุนแรงที่ทำให้ตอนจบของละครเวทีหันเหไปกันคนละทิศละทางกับสิ่งที่เชคสเปียร์รจนาไว้

เผื่อว่าใครจำไม่ได้หรือโตไม่ทัน เหตุผลของการไม่อนุญาตให้ฉาย Shakespeare Must Die ในโรงภาพยนตร์ ก็เนื่องด้วยคณะกรรมการฯ ตอนนั้นมองเห็นว่าหนัง ‘มีเนื้อหาก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7(3)’ ซึ่งก็คงต้องพูดอีกครั้งว่า นี่เป็นการวินิจฉัยที่น่าผิดหวังและสะท้อนวิสัยทัศน์อย่างคนที่สายตาสั้น จนมองข้ามสถานะที่แท้จริงของหนังอันได้แก่การเป็นอุทาหรณ์ที่ย้ำเตือนให้ผู้ชมได้ตระหนักว่า บ้านเมืองที่ผู้นำทั้งละโมบและมัวเมาลุ่มหลงในอำนาจนั้น ‘ช่างน่าสมเพชเวทนาเพียงใด’ ซึ่งเป็นประโยคที่ถูกเอ่ยถึงในหนังอย่างต่อเนื่อง และว่าไปแล้ว เป็นแก่นสารที่สังคมไทยซึ่งตกอยู่ในหล่มของการเถลิงอำนาจของผู้นำเผด็จการคนแล้วคนเล่า สมควรจะต้องถูกกระตุ้นเตือนอยู่เรื่อยๆ

ความน่าเจ็บใจส่วนตัวของคำสั่งแบนหนังของคณะกรรมการฯ ได้แก่การที่มันสื่อความหมายโดยอ้อมทำนองว่า ไม่ว่าพวกเราคนดูจะมีอายุจริงและอายุสมองคนละกี่ขวบปี ก็ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะดูหนังซึ่งมีเนื้อหาที่ต้องใช้วิจารณญาณด้วยตัวเอง และต้องพึ่งพาผู้รอบรู้ช่วยกลั่นกรองให้

ข้อสำคัญ คำสั่งแบนหนังเรื่อง Shakespeare Must Die และจริงๆต้องรวมถึงหนังเรื่องอื่นที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน -อันได้แก่ Insects in the Backyard (2010), ‘อาบัติ’ (2015), ‘ไทบ้าน เดอะซีรี่ส์ 2.2’ (2018) ซึ่งต้องยอมให้ตัดทอนบางฉากเพื่อให้หนังฉายได้ จนถึงหนังที่รอดพ้นการถูกห้ามฉายอย่างเฉียดฉิวเรื่อง ‘เอหิปัสสิโก’ (2019)- ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหนังเรื่องนั้นๆ เพียงลำพัง แต่รวมถึงอุตสาหกรรมในภาพรวมด้วย เพราะในแง่หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ยิ่งเมื่อคำนึงว่ามูลค่าของการสร้างหนังเรื่องหนึ่งไม่ใช่หลักหมื่นหรือหลักแสน แต่เป็นหลักหลายล้านหรือหลายสิบล้าน โดยอัตโนมัติ คงไม่มีเจ้าของเงินคนไหนที่อยากจะหาเรื่องให้ตัวเองความดันขึ้นด้วยการสร้างหนังที่นำเสนอเนื้อหาสุ่มเสี่ยงและล่อแหลมต่อการถูกแบนหรือเซ็นเซอร์ และวิธีง่ายสุดก็คือการทำหนังที่ ‘เพลย์เซฟ’ หรือหนังที่ไม่แตะต้องประเด็นละเอียดอ่อนไหวอย่างเอาเป็นเอาตาย (เพศ ศาสนา การเมือง สถาบันทางสังคม ฯลฯ)

Insects in the Backyard

แต่ก็นั่นแหละ ผลลัพธ์ของการโลดแล่นอยู่แต่เฉพาะในเซฟโซน ก็ทำให้หนังไทยกระแสหลักจำนวนไม่น้อยถูกตัดขาดจากความเกี่ยวข้องกับสังคมและโลกความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ เรื่องกลายเป็นสัตว์เลี้ยงแสนเชื่อง และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะ ‘เหมารวม’ ว่าหนังไทยบอกเล่าเนื้อหาที่จำเจซ้ำซาก หนังผี หนังตลกโปกฮา หนังประโลมโลก วนๆ ไป อันเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่นำพาให้ใครต่อใครพากันหมดศรัทธากับสื่อและศิลปะบันเทิงแขนงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าบางช่วงเวลา หนังหลายเรื่องจะสามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ด้วยความแปลกแหวกแนว ด้วยคุณภาพ ด้วยชั้นเชิงในการบอกเล่า ด้วยการสร้างกระแสทางการตลาดอย่างครึกโครม แต่ทุกครั้งที่มีช่วงขาขึ้น ก็มักจะตามมาด้วยขาลง มันสลับสับเปลี่ยนแบบนี้มานับครั้งไม่ถ้วน จนทำให้สรุปอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบอกว่าทิศทางของหนังไทยมักจะลุ่มๆ ดอนๆ ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนลูกคลื่น

พูดอย่างรวบรัด ปัญหาที่รุมเร้าหนังไทยมีมากมายมหาศาลจริงๆ และสั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง และการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ (ในความหมายถึงการตัดทอน ปิดกั้น สั่งห้าม) ก็เป็นทั้งไม้เบื่อไม้เมา และหนึ่งในเงื่อนไขปัจจัยที่ขัดขวางความเจริญงอกงามของหนังไทยมาตั้งแต่ปีมะโว้

น่าสังเกตว่า ความคิดเห็นเมื่อเนิ่นนานมาแล้วของอาจารย์ บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา นักวิชาการสื่อสารมวลชน ซึ่งกล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดตั้งระบบตรวจพิจารณาภาพยนตร์หรือกองเซ็นเซอร์ (ในยุคสมัยที่ยังไม่มีการจัดเรตติ้งแบ่งอายุคนดู) เอาไว้ในหนังสารคดีโลกสลับสี ชุด ‘หนังไทย 9 ทศวรรษ’ ยังคงเป็นสุ้มเสียงที่ก้องกังวาลมาถึงปัจจุบัน ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

อาจารย์บุญรักษ์บอกว่า กองเซ็นเซอร์ (ชื่อเรียกขณะนั้น) ไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อกลั่นกรองกระแสวัฒนธรรมภาพยนตร์จากต่างประเทศ แต่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำให้ภาพยนตร์ไทย ‘อยู่ในร่องอยู่ในรอย’ ซึ่งหมายความว่า หนังไทยต้อง อย่าทำ อย่าพูด อย่าคิด ในสิ่งที่อย่าคิด อย่าทำ อย่าพูด อีกทั้งอาจารย์ยังตั้งคำถามอีกด้วยว่า กองเซ็นเซอร์ซึ่งประกอบไปด้วยใครก็ไม่รู้ ได้มองเห็นหรือไม่ว่า หนังไทยก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง จำเป็นต้องขยับขยาย แต่ถ้าหากไม่มีเสรีภาพในการทำงาน ก็ไม่มีเสรีภาพในการพัฒนาผลงาน โอกาสในการเติบโตก้าวหน้าก็เป็นไปไม่ได้

ขณะที่ ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญสะท้อนความคิดเห็นในหนังสารคดีชุดเดียวกันเกี่ยวกับปัญหาการเซ็นเซอร์หนังไทยด้วยน้ำเสียงเข้มข้น ทำนองว่า การอยู่ในสังคมเสรีประชาธิปไตย ต้องไม่มีการเซ็นเซอร์ “แต่ที่ (ยัง) มีก็เพราะเราบอกว่าประชาชนยังโง่อยู่ เราถึงต้องลิมิตอะไรบางอย่างบ้าง แต่ (กองเซ็นเซอร์) ต้องอย่านึกว่า (ประชาชน) โง่มาก”

แต่ก็นั่นแหละ เป็นใครก็คงอดคิดไม่ได้ว่ากองเซ็นเซอร์ตั้งแต่เมื่อครั้งโบราณกาล ‘ทรีต’ ผู้ชมเหมือนเด็กทารก หรือคนที่อ่อนด้อยทางสติปัญญาจริงๆ (ทั้งที่ในมุมของคนดู เรากลับรู้สึกว่ากรรมการเซ็นเซอร์นั่นแหละที่เป็นแบบนั้น) ตัวอย่างมีให้ยกมาสนับสนุนสมมติฐานดังกล่าวไม่หวาดไม่ไหวจริงๆ

ไล่เรียงได้ตั้งแต่กรณีที่หนังเรื่อง ‘เทพธิดาบาร์ 21’ (1978) ถูกสั่งให้ตัดภาพชุมชนแออัดออกไป เพราะภาพยนตร์จะถูกส่งไปประกวดในต่างประเทศ ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับประเทศไทย หนังเรื่อง ‘กลิ้งไว้ก่อน พ่อสอนไว้’ (1991) ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาครั้งแรก เพราะมีฉากตัวละครเขียนข้อความที่ระลึกบนเสื้อนักเรียนในวันสุดท้ายของชีวิตนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ด้วยเหตุผลว่า ฉากดังกล่าวจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน หรือกรณีที่ครึกโครมก็คือหนังเรื่อง ‘แสงศตวรรษ’ (2006) ที่กรรมการเซ็นเซอร์สั่งให้ตัดหกฉาก เช่น ฉากพระเล่นกีตาร์ ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาล ฉากพระเล่นเครื่องร่อน ฯลฯ ด้วยเหตุผลว่ากระทบภาพลักษณ์ของศาสนาและบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่หนังเรื่อง ‘เชือดก่อนชิม’ (2009) ซึ่งต้องเปลี่ยนชื่อจาก ‘ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคน’ ต้องเผชิญวิบากกรรมเหลือเชื่อ เมื่อประธานคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตอนนั้น บอกว่าหนังมีผลกระทบต่อความมั่นคง เพราะจะทำให้คนไม่ยอมกินก๋วยเตี๋ยว “ดูแล้วภาพมันติดตา ออกไปเดี๋ยวก๋วยเตี๋ยวจะขายไม่ได้”

แสงศตวรรษ

จำได้ว่าความใฝ่ฝัน (หรือจะเรียกความเพ้อฝัน) อันสูงสุดของทั้งคนในอุตสาหกรรมและรวมถึงคนดูในช่วงก่อนทศวรรษ 2550 ก็คือการยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ และเปลี่ยนเป็นการจัดแบ่งภาพยนตร์ตามระดับอายุของคนดู หรือที่เรียกว่าเรตติ้ง ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันในสากลโลก เพราะทุกคนเชื่อว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการถูกสั่งให้แก้ไข ดัดแปลง ตัดทอนหนังเรื่องนั้นๆ ได้ แต่เมื่อมีระบบเรตติ้งเกิดขึ้นจริงๆ (อันเป็นผลจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 และยกเลิกฉบับเก่าซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2473) ความหวังเรืองรองนั้นก็ค่อยๆ แฟบลง เพราะถึงที่สุดแล้ว ภาครัฐก็ยังคงเป็นโต้โผใหญ่ในการจัดการ และสัดส่วนของกรรมการตรวจพิจารณาฯจากภาคเอกชนในตอนนั้นก็ยังเป็นชนกลุ่มน้อย

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเท่ากับการที่ระบบดังกล่าวยังหมกเม็ดด้วย เรต ห.หีบ หรือห้ามฉาย ซึ่งเท่ากับโทษประหารชีวิต อันเป็นกรณีที่เกิดกับหนังหลายๆ เรื่องที่เอ่ยถึงข้างต้น รวมถึง Insects in the Backyard และ Shakespeare Must Die ซึ่งตอกย้ำว่าภาครัฐยังหวงแหนอำนาจในการควบคุม หรือสุดท้ายแล้ว ภูตผีตัวที่เรียกว่า ‘เซ็นเซอร์ชิพ’ ก็ยังคงตามหลอกตามหลอนไม่เลิกรา แม้ว่าสถานการณ์ล่าสุด (ปี 2024) จะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ใช้ชื่อว่า THACCA (Thailand Creative Content Agency) ซึ่งภารกิจหนึ่งได้แก่การผลักดันเรื่องเสรีภาพในความคิดสร้างสรรค์ และคนทำหนังไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแบนด้วยเหตุผลไม่เข้าท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องเฝ้าติดตามต่อไป

แต่พูดแล้วก็พูดอีก ระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่ไม่สมประกอบก็เรื่องหนึ่ง ทัศนคติที่คับแคบ ล้าหลัง ก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยของคนที่เป็นกรรมการฯ ก็เป็นอีกเรื่องด้วยประการทั้งปวง และพูดได้โดยไม่ขัดเขินว่านี่เป็นหนึ่งในตัวถ่วงความเจริญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์แทบทุกยุคสมัยและอย่างน่าเสียดาย ส่วนที่ยิ่งนำพาให้การพยายาม ‘เซ็นเซอร์หนัง’ ในลักษณะต่างๆ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน กลายเป็น ‘ตลกคาเฟ่’ มากขึ้นก็ตรงที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี (สื่อสังคมออนไลน์, สตรีมมิ่ง ฯลฯ) ทำให้การพยายามปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศของภาครัฐกลายเป็นเหมือนคนที่กางร่มในท่ามกลางพายุเฮอร์ริเคน   

ในฐานะ ‘คนดูหนัง’ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเซ็นเซอร์มาต่อเนื่อง นี่เป็นความรู้สึกอัดอั้นและคับข้องที่หมักหมมมายาวนาน ไม่พูดถึงไม่ได้ แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นก็ไม่ได้ เพราะมันคือช้างตัวเบ้อเริ่มในห้อง แต่เมื่อยิ่งพูด ของก็ยิ่งขึ้น  

ไม่ว่าจะยังไง สิ่งที่ต้องบอกกล่าวและไม่ใช่เรื่องความลับแต่อย่างใด ก็คือสถานการณ์ส่วนตัวตอนนี้ไม่ได้เป็นเพียงคนดูหนังเท่านั้น เพราะช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมได้รับชวนให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หรือพูดง่ายๆ ย้ายข้างมาอยู่ในฟากที่ผมตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีมาตั้งแต่ต้น และได้ปฏิบัติหน้าที่มาสักระยะแล้ว

ในฐานะจำเลย ไม่มีอะไรจะชี้แจงมากไปกว่าการบอกว่า ผมตั้งใจจะไม่ทำและไม่เป็นในสิ่งที่ตัวเองตั้งหน้าตั้งตาตำหนิติเตียนมาตั้งแต่เริ่มต้น (และเชื่อว่ากรรมการท่านอื่นๆ ของแต่ละคณะก็คงคิดเห็นคล้ายกัน) และในขณะที่ระบบยังเหมือนเดิม ส่วนตัวก็ยังเชื่อว่าหลักการพื้นฐานเรื่องจัดเรตหนังตามอายุของผู้ชม คือวิธีการกลั่นกรองที่ไม่กระทบความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ส่วนใครจะพอใจกับเรตที่ได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่อภิปรายถกเถียงกันได้

แต่ที่แน่ๆ ผมไม่เชื่อเรื่องการสั่งให้แก้ไขหรือตัดทอนด้วยเหตุผลที่ฟังดูเหวี่ยงแหมากๆ ประเภท ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ เพราะจนแล้วจนรอด มันเป็นเรื่องของการตีความ และภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องนำเสนอแต่สิ่งดีงามและเป็นแบบอย่างให้กับผู้ชมเสมอไป มันอาจจะเป็นกระจกสะท้อนด้านที่อัปลักษณ์ก็ได้ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เหน็บแนมหรือเสียดสีเพื่อให้คนดูได้ฉุกคิด หรือแม้กระทั่งมอมเมาคนดูด้วยสิ่งสมมติที่ไม่มีอยู่จริง เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปหมกมุ่นกับการขัดหรือไม่ขัดต่อ ‘ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ การเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมได้ใช้วิจารณญาณตามวุฒิภาวะที่ระบบเรตติ้งแนะนำ (ท., น.13+, น.15+, ฯลฯ) ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

กล่าวสำหรับเรต ห.หีบ ที่เปรียบได้เครื่องประหารหัวสุนัข ถึงแม้ว่าเราจะเสกให้มันหายวับไปกับตาไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้มันได้สำแดงพิษสงอีกแล้ว (เชื่อว่านี่ก็เป็นอีกเรื่องที่กรรมการท่านอื่นๆ คงเห็นพ้อง) จุดยืนส่วนตัวง่ายๆ สั้นๆ ในเรื่องนี้ก็คือ ถ้าหากมันถูกใช้ในองค์คณะที่ตัวเองเกี่ยวข้องด้วยเมื่อไหร่ ก็ขออนุญาต ‘สวัสดี ลาก่อน’ เมื่อนั้น

ครับ สิ่งที่จำเลยอยากจะสารภาพในชั้นศาลเบื้องต้นก็มีเพียงเท่านี้


ข้อมูลประกอบการเขียน

1.หนังสารคดีโลกสลับสี ชุด “หนังไทย 9 ทศวรรษ” ตอน “หนังต้องห้าม” จัดทำโดยแปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น ปี พ.ศ.2537 หอภาพยนตร์แห่งชาติ (ชื่อขณะนั้น) ร่วมดำเนินการผลิต

2. https://th.wikipedia.org/wiki/แสงศตวรรษ

3. บทความ “บุกกระทรวงวัฒนธรรม! กับคำถามถึงทิศทางการเซ็นเซอร์หนัง” เรื่องโดย ‘กัลปพฤกษ์’ และ ดรสะรณ นิตยสาร FILMAX ปีที่ 2 ฉบับที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552

‘เซ็นเซอร์ต้องตาย’ (2012) เป็นชื่อหนังสารคดีของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ มานิต ศรีวานิชภูมิ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save