fbpx

ส่องสมรภูมิเลือกตั้งอินเดีย 2024: เส้นทางสู่นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ของโมดี?

เปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดีย ซึ่งเริ่มระยะแรกไปเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา และนับจากนี้ศึกเลือกตั้งของอินเดียก็จะยิ่งร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงวันสิ้นสุด ในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งระยะสุดท้ายของอินเดียที่กินเวลามากกว่า 1 เดือน หลังจากนั้นในวันที่ 4 มิถุนายน ก็จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งในครั้งนี้มีการสู้ศึกชิงชัยตำแหน่งที่นั่งในรัฐสภามากถึง 543 ที่นั่ง โดยเป็นการเลือกตั้งในระดับเขตเลือกตั้งทั้งหมด [1]

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากถึงเกือบ 1,000 ล้านคน ฉะนั้นการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียจึงไม่ต่างจากสมรภูมิรบทางประชาธิปไตยของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ทั่วทั้งประเทศอินเดีย เพื่อชิงชัยสู่การมีที่นั่งในโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย) อันจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการเลือกผู้นำฝ่ายบริหารอย่างตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในลำดับต่อไป  

ที่กล่าวว่าว่าไม่ต่างจากสมรภูมิรบคงไม่เกินจริงนัก เพราะในหลายการเลือกตั้งของอินเดียมีการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองต่างๆ จนเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิต อย่างเมื่อการเลือกตั้งระยะแรกที่ผ่านมาก็มีการรายงานการปะทะกันของผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองในหลายเขตเลือกตั้งเช่นกัน

แน่นอนว่ามีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ออกมากมาย แต่ที่น่าสนใจอย่างมากคือทุกสำนักโพลที่มีการสำรวจจนเมื่อล่าสุดวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา มีผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกันนักว่าพรรคภารติยะชนะตะ หรือ BJP และพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ NDA (National Democratic Alliance) จะมีชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้กระทั่งนักวิชาการทางด้านการเมืองการปกครองของทั้งในและนอกอินเดียเองก็ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ถึงกับมีบางบทความวิชาการตั้งจั่วหัวว่า “คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าโมดีและพรรคบีเจพีจะชนะเลือกตั้งไหม แต่คำถามที่ควรเป็นคือจะชนะจำนวนกี่ที่นั่งต่างหาก” สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียในปี 2024 นี้ มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่พรรคชาตินิยมฮินดูอย่างบีเจพีจะคว้าชัยชนะอีกครั้ง ซึ่งนั่นจะเป็นการปูทางให้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีอยู่ในตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งนอกจากจะสร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเขาเองแล้ว เขายังจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้พรรคบีเจพี รวมถึงประเทศอินเดียด้วย

อย่างไรก็ตาม คำถามย่อมเกิดขึ้นมากมายว่าอะไรเป็นเหตุและปัจจัยสำคัญให้บรรดาผลโพล และนักวิเคราะห์ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่านายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จะสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ได้สำเร็จจากการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ครั้งนี้ผมจึงอย่างชวนวิเคราะห์ให้เห็นมิติด้านพลวัตรทางการเมืองของอินเดียผ่านตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญในปัจจุบันอย่างพรรคบีเจพี พรรคคองเกรสแห่งชาติ และบรรดาพรรคการเมืองระดับภูมิภาค ซึ่งทั้งสามส่วนนี้มีความสำคัญต่อภูมิทัศน์การเมืองอินเดียเสมอมา และตลอด 10 กว่าปีภายใต้การนำของพรรคบีเจพี ตัวแสดงเหล่านี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อันเป็นผลต่อผลการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งในครั้งนี้

ไม่มีคำว่าโชคช่วยในตำราของพรรคบีเจพี ทุกอย่างต้องสร้างขึ้นมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลคะแนนที่พรรคบีเจพีได้รับตลอดหลายปีที่ผ่านมาเกิดจากความนิยมชมชอบของประชาชนที่มีต่อตัวนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งถือเป็นแกนหลักสำคัญของพรรค แต่ความนิยมในตัวโมดีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นสิ่งที่พรรคบีเจพีพยายามสร้างให้เกิดขึ้นเสมอมาผ่านการทำงานของฝ่ายสื่อและฝ่ายไอทีของพรรค โดยเฉพาะการสร้างให้คนรับรู้ว่าโมดีเป็นผู้นำที่ติดดิน เป็นกันเองกับประชาชน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นที่นับหน้าถือตาจากผู้นำทั่วโลก เป็นสัญลักษณ์ของการนำพาอินเดียก้าวสู่การเป็นผู้นำของเวทีโลก นี่คือสิ่งที่พรรคบีเจพีพยายามสร้างให้คนอินเดียเห็นและรับรู้เกี่ยวกับผู้นำคนนี้ของพรรค แน่นอน มันประสบความสำเร็จอย่างมาก จนทำให้โมดีเป็นผู้นำที่คนอินเดียชื่นชอบที่สุด บางสำนักถึงขนาดมองว่าเขาเป็นที่นิยมมากกว่าอินทิรา คานธีเสียอีก

ฉะนั้น ปัจจัยในเชิงผู้นำนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้พรรคบีเจพีได้รับความนิยมเสมอมา เพราะคนอินเดียรู้ว่าเลือกพรรคบีเจพีแล้วใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแน่นอนว่าโมดีมีความนิยมส่วนตัวที่ค่อนข้างมาก หลายคนอาจไม่ได้ชื่นชอบ สส. เขตของตัวเองมากนัก แต่ด้วยความนิยมในตัวโมดี พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะลงคะแนนเสียงให้พรรคบีเจพี เพื่อหวังว่าโมดีจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ปัจจัยผู้นำของพรรคจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำพาความสำเร็จมาให้พรรคบีเจพีในหลายการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งนี้ก็คงไม่แตกต่างกันนัก เพราะพรรคบีเจพีก็ยังคงยืนยันชูโมดีเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3

นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงนโยบายเองก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคบีเจพีได้รับความนิยมเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะบทวิเคราะห์ทางการเมืองจำนวนหนึ่งมองว่าความสำเร็จของบีเจพีเป็นผลสำคัญจากความสำเร็จในการนำนโยบายที่ตัวเองหาเสียงไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะการออกโครงการให้ความช่วยเหลือคนรากหญ้ามากมาย (นโยบายเชิงประชานิยม) รวมไปถึงความพยายามทลายบรรดาทุนผูกขาด (ส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคฝ่ายตรงข้าม) ซึ่งได้รับประโยชน์จากรัฐบาลชุดก่อนๆ มาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเกลี่ยรายได้ไปยังประชาชนกลุ่มอื่นมากขึ้น ส่งผลให้หลายปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของพรรคบีเจพี การเติบโตของชนชั้นกลางอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องยอมรับว่าพรรคบีเจพีเองก็เล่นเกมทางการเมืองอยู่ไม่น้อย (ก็คงไม่ต่างไปจากหลายประเทศทั่วโลก) ในการจัดการกับคู่แข่งทางการเมือง โดยเฉพาะการดำเนินการทางกฎหมายกับบาดแผลที่อาจมีอยู่ในตัวของบรรดานักการเมืองฝ่ายตรงข้าม เห็นได้จากการดำเนินคดีกับราหุล คานธี แกนนำคนสำคัญของพรรคคองเกรสแห่งชาติ จนต้องเข้าไปอยู่ในคุกช่วงหนึ่ง ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรคคองเกรสลดลงอย่างมาก หรือกรณีล่าสุดที่พึ่งเกิดก่อนการเลือกตั้งไม่นานนี้คือการดำเนินคดีกับผู้ว่าการกรุงนิวเดลี จากพรรคอามอาดมี คู่แข่งสำคัญของพรรคบีเจพีในเมืองหลวง การขจัดและดิสเครดิตคู่แข่งทางการเมืองก็ถือเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญของพรรคบีเจพีเช่นเดียวกัน (พรรคบีเจพีไม่เคยยอมรับว่าการกระทำนี้เป็นการมุ่งเป้าทางการเมือง แต่มักบอกว่าเป็นการดำเนินคดีตามปกติของตำรวจ)

เพราะสำหรับพรรคบีเจพีที่แม้จะมีความเชื่ออย่างลึกซึ้งในศาสนาฮินดู แต่พวกเขาก็ไม่ได้เชื่อว่าโชคจะช่วยเสมอไป แต่ทุกอย่างต้องสร้างให้มันเกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์ต่อชัยชนะของพรรค ซึ่งพรรคเองก็พร้อมจะจับมือกับกลุ่มการเมืองต่างๆ แม้ว่าจะเคยห้ำหั่นกันมาก่อนในการเลือกตั้งระดับรัฐก็ตาม การเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้จึงได้เห็นการจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองภูมิภาคหลายแห่งของบีเจพีเพื่อสู้ศึกการเลือกตั้ง เพราะบางพื้นที่พรรคการเมืองระดับชาติอย่างบีเจพีก็ไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะเข้าไปเจาะฐานเสียงในพื้นที่ที่พรรคการเมืองภูมิภาคมีความเข้มแข็ง และนี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมคะแนนนิยมของพรรคบีเจพีด้วยเช่นกัน

แต่อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่จะส่งและนำพาให้พรรคบีเจพีมีชัยชนะในรอบนี้คงหนีไม่พ้นความอ่อนแอของพรรคคู่แข่ง ที่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่า ‘พันธมิตรเพื่อการพัฒนาแห่งชาติอินเดีย’ (Indian National Developmental Inclusive Alliance: I.N.D.I.A.) ชูใครเป็นแกนนำ และในหลายพื้นที่ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคต่างๆ ในการส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ในขณะที่บางพื้นที่กลุ่มของพรรคบีเจพีมีผู้สมัครเพียงคนเดียว แต่กลุ่มพันธมิตรอินเดียกลับมีผู้ลงแข่งขันมากกว่า 3 พรรค ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีการตัดคะแนนกันเอง และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำไมบางพื้นที่พรรคบีเจพีอาจไม่ได้รับคะแนนโหวตเกินครึ่งแต่กลับชนะการเลือกตั้งในระดับเขต

แนวร่วม I.N.D.I.A การรวมตัวของฝ่ายค้านแบบจำใจ

มีคนรักย่อมมีคนไม่ชอบ ยิ่งเป็นที่นิยมยิ่งมีคนจ้องจะล้ม และนี่ก็กลายเป็นที่มาที่ไปของการรวมตัวกันอย่างเฉพาะกิจเพื่อต่อสู้ในสมรภูมิเลือกตั้งทั่วไปปี 2024 ของบรรดาพรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล (ที่ผมเขียนแบบนี้เพราะบางพรรคก็เคยญาติดีกับบีเจพีมาก่อน และหลายพรรคก็สู้กับคองเกรสในการเลือกตั้งระดับรัฐ) ภายใต้ชื่อ ‘อินเดีย’ เป้าหมายสำคัญของการรวมตัวของบรรดาพรรคเหล่านี้ที่มีมากกว่า 20 พรรค โดยมีพรรคคองเกรสเป็นแกนกลาง (มีความพยายามจะใช้คำว่าแกนหลัก แต่หลายพรรคไม่เห็นด้วย) ประสานความร่วมมือกับบรรดาพรรคการเมืองภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งในระดับรัฐของตัวเอง เพื่อสกัดอิทธิพลของพรรคบีเจพีที่นับวันจะเป็นภัยมากขึ้นต่ออำนาจของพรรคการเมืองเหล่านี้ในเขตรัฐของตัวเอง

ฉะนั้นเป้าหมายของพันธมิตรเฉพาะกิจนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะมันมีเพียงหนึ่งเดียวคือการกำชัยชนะเหนือพรรคบีเจพีในเขตเลือกตั้งของตัวเอง เป็นการทำงานแบบร่วมกันตี แต่แยกกันเดิน ดูแลพื้นที่ใครพื้นที่มัน เอาจริงๆ แทบจะไม่มีนโยบายการทำงานในภาพรวมที่ชัดเจนมากนัก เพราะนโยบายส่วนใหญ่จะเน้นให้ผลประโยชน์ในระดับพื้นที่ของตัวเองเสียมากกว่า ยกเว้นเพียงพรรคคองเกรสแห่งชาติซึ่งเป็นพรรคการเมืองระดับชาติที่พยายามสื่อสารนโยบายในภาพรวมระดับประเทศ โดยเฉพาะความพยายามโจมตีจุดอ่อนการดำเนินงานของพรรคบีเจพีในการแก้ไขปัญหาการว่างงานที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความพยายามในการขยายรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น และการสกัดกั้นไม่ให้อินเดียถลำเข้าสู่ยุคอำนาจนิยมแบบเต็มตัว

แนวนโยบายแห่งชาติเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่หลายพรรคการเมืองภายใต้ร่มพันธมิตรอินเดียพยายามชูร่วมกันเพื่อเป็นคำตอบให้กับผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหากกลุ่มพันธมิตรอินเดียได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขาพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของพรรคบีเจพีที่สังคมอินเดียมีความแตกแยกมากยิ่งขึ้น ชนกลุ่มน้อยในประเทศถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กระแสชาตินิยมฮินดูส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาพรวมสังคมพหุวัฒนธรรมของอินเดีย การต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ของกลุ่มพันธมิตรอินเดียจึงเป็นการมุ่งเน้นเป้าหมายกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายของพรรคบีเจพี รวมถึงบรรดาฐานเสียงจากกลุ่มชาตินิยมภูมิภาคเป็นสำคัญ

กระนั้นต้องยอมรับว่าการรวมตัวกันของพันธมิตรนี้เกิดขึ้นอย่างเฉพาะกิจและเป็นความจำใจในการรวมตัวกันเพราะหากยังคงยืนยันที่จะลงแข่งขันกันเองในระดับเขตเลือกตั้งก็มีแต่จะพากันแพ้และยกชัยชนะให้กับพรรคบีเจพีไปแบบง่ายๆ การเกิดพันธมิตรส่วนหนึ่งก็เพื่อเกลี่ยทรัพยากรและสรรพกำลังให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพยายามไม่ลงแข่งขันกันเองในเขตเลือกตั้งที่พรรคในกลุ่มพันธมิตรมีความเข้มแข็ง แล้วโยกทรัพยากรที่เคยใช้ในจุดนั้นไปสนับสนุนพื้นที่อื่นที่พรรคได้รับสิทธิในการส่งผู้สมัครลงแข่งขัน การกระทำเช่นนี้ช่วยให้การบริหารการเมืองของทุกพรรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีทรัพยากรและงบประมาณในการหาเสียงเลือกตั้งมากขึ้น และที่สำคัญ ไม่เกิดการตัดคะแนนกันเอง อันจะส่งผลให้พรรคบีเจพีมีโอกาสได้รับชัยชนะลดลง

ทั้งนี้สถานการณ์เชิงบวกนี้อาจเกิดขึ้นได้ในหลายเขตเลือกตั้ง แต่บางเขตเลือกตั้งที่ทุกพรรคมองว่าคนของตัวเองมีโอกาสชนะมากกว่าย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง และการแข่งขันกันเองของพรรคภายใต้ร่มพันธมิตรอินเดีย ส่งผลให้ในหลายเขตเลือกตั้งเกิดการส่งผู้สมัครแข่งขันกันเองระหว่างพรรคระดับชาติอย่างคองเกรส กับบรรดาพรรคระดับภูมิภาคที่ความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการส่งผู้สมัคร กลายเป็นความขัดแย้งเล็กๆ ภายในกลุ่มพันธมิตรในบางพื้นที่ นี่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีเอกภาพใดๆ ของกลุ่มพันธมิตรนี้เลย จุดนี้เองกลายเป็นโอกาสสำคัญของพรรคบีเจพีที่ใช้โจมตีกลุ่มพันธมิตรนี้เสมอมาว่าสุดท้ายแล้วไม่ได้มีนโยบายระดับชาติที่จะส่งผ่านความมั่งคั่งให้ประชาชน

ไม่ต่างกันกับในสายตาของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เวลามองเข้าไปในกลุ่มพันธมิตรอินเดียแล้วเห็นความขัดแย้งภายใน ก็ย่อมวิตกกังวลต่อความเป็นไปภายหลังกลุ่มพันธมิตรนี้ได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง เพราะคนอินเดียเคยผ่านประสบการณ์ที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพมาหลายครั้งจากความพยายามเล่นการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล และจำนวนมากเกิดขึ้นในยุคที่พรรคคองเกรสเป็นรัฐบาล ซึ่งจุดนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายในระดับประเทศ ความกังวลเหล่านี้แตกต่างออกไปเมื่อมองไปที่บีเจพี ที่ตลอด 10 ปี รัฐบาลมีเอกภาพและเสถียรภาพ เพราะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว

คำถามต่อประชาธิปไตยอินเดียภายหลังการเลือกตั้ง 2024

เมื่อผลโพลและบทวิเคราะห์การเมืองหลายชิ้นชี้เห็นตรงกันว่าพรรคบีเจพีจะมีชัยในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้ จากปัจจัยหลายอย่างที่กล่าวมาข้างต้น คำถามที่สื่อและนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศต่างมีร่วมกันคือประชาธิปไตยของอินเดียจะเป็นเช่นไรภายใต้การนำของพรรคชาตินิยมฮินดูสมัยที่ 3 เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาดัชนีประชาธิปไตยของอินเดียมีการปรับลดลงหลายครั้งภายใต้รัฐบาลโมดี ถึงขนาดมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการบริหารงานของพรรคบีเจพีนั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นอำนาจนิยม แม้หลายครั้งรัฐบาลบีเจพีจะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ในเชิงข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่าความขัดแย้งภายในอินเดียโดยเฉพาะชนกลุ่มใหญ่กับชนกลุ่มน้อยมีความถี่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีระหว่างคนฮินดูกับมุสลิม ปัญหาความขัดแย้งในแคชเมียร์  หรือแม้กระทั่งการปะทะกันอย่างรุนแรงในรัฐมณีปูร์ เป็นต้น

ฉะนั้นจึงมีการพยากรณ์กันว่าหากพรรคบีเจพีชนะเลือกตั้งในปีนี้อีกสมัย หนึ่งในกฎหมายสำคัญที่อาจจะถูกดันอย่างสุดตัวอีกครั้งคงหนีไม่พ้นกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ที่เคยเป็นปัญหามาก่อนหน้านี้ จนเกิดเป็นการลุกขึ้นประท้วงเกือบทั่วประเทศ เพราะกฏหมายฉบับนี้ถูกมองว่าตั้งใจเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยหลักของประเทศอินเดีย (อินเดียมีประชากรชาวมุสลิมมากถึง 200 ล้านคน) ยิ่งไปกว่านั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการขจัดคู่แข่งทางการเมืองโดยอาศัยเครื่องมือทางกฏหมาย ซึ่งในช่วงรัฐบาลโมดีสมัยที่ 2 มีการดำเนินการทางคดีกับหลากหลายผู้นำทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้นักวิเคราะห์และสื่อต่างประเทศบางส่วนมองว่าอินเดียกำลังเดินทางสู่ระบอบอำนาจนิยมภายใต้การนำของพรรคชาตินิยมฮินดู

ยิ่งเมื่อช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมามีการสุนทรพจน์บางส่วนของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เกี่ยวกับชาวมุสลิมที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะการกล่าวว่ากลุ่มคนมุสลิมคือ ‘ผู้บุกรุก’ โดยความตอนหนึ่งในช่วงหาเสียงที่รัฐราชาสถาน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า

“เมื่อพวกเขาอยู่ในอำนาจ (หมายถึงพรรคคองเกรส) พวกเขากล่าวว่าชาวมุสลิมมีสิทธิเหนือทรัพยากรเป็นอันดับแรก พวกเขาจะรวบรวมความมั่งคั่งทั้งหมดของคุณและแจกจ่ายให้กับผู้ที่มีลูกมากกว่า… คุณคิดว่าเงินที่ได้มาอย่างยากลำบากควรมอบให้กับผู้บุกรุกหรือไม่? คุณจะยอมรับสิ่งนี้หรือไม่”

แน่นอนว่าข้อความนี้ส่งผลให้เกิดการล่ารายชื่อหลายหมื่นคนเพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียลงดาบนายกรัฐมนตรีโมดี กระนั้นจนกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อถ้อยคำหาเสียงที่ถูกมองว่าสร้างความแตกแยกภายในอินเดีย และสร้างความเกลียดชังระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนักที่หลายฝ่ายจะมองว่าหากพรรคบีเจพีสามารถคว้าชัยครั้งที่ 3 อินเดียจะมีความแบ่งแยกมากยิ่งขึ้นภายในสังคม

แต่กระนั้น โดยส่วนตัวผมยังมีความเชื่อว่าสังคมอินเดียจะพยายามแสวงหาแนวทางเพื่อจำกัดอำนาจของพรรคบีเจพีไม่ให้เลยเถิดจนเกิดเป็นระบอบอำนาจนิยมเต็มรูปแบบ เพราะสังคมอินเดียเคยเผชิญลักษณะเช่นนี้มาแล้วในช่วงที่นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธีประกาศสภาวะฉุกเฉิน และผมเองก็คิดว่าพรรคบีเจพี ที่เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงเวลานั้น คงไม่ดำเนินนโยบายที่สุดโต่งเช่นเดียวกับในเวลานั้น เพราะภายหลังจากนั้นพรรคคองเกรสก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้อย่างหนัก ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว ในขณะเดียวกันอินเดียก็มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ ซึ่งอำนาจในการบริหารระดับรัฐยังมีอยู่มาก การกระจายการบริหารในลักษณะนี้จะมีส่วนในการถ่วงดุลไม่ให้รัฐบาลสหภาพ (Union Government) ใช้อำนาจเกินขอบเขต

สุดท้ายแล้วการเลือกตั้งของอินเดียยังไม่ได้จบเสียเพียงทีเดียว ฉะนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้เพราะยังเหลือการเลือกตั้งอีกหลายระยะ ที่ระหว่างนี้พรรคบีเจพีอาจสะดุดขาตัวเองล้มลงได้เสมอเช่นเดียวกัน ‘เพราะแพ้อะไรก็ยังไม่เท่าแพ้ภัยตัวเอง’

References
1 สามารถอ่านเพิ่มเติ่มเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งอินเดียได้ที่ https://www.the101.world/india-election-101/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save