fbpx

เลือกตั้งอินเดีย 101: ศึกแห่งอำนาจของประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียได้มีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกโลกสภา หรือ สภาผู้เทนราษฎรของอินเดีย ซึ่งสมาชิกชุดปัจจุบันกำลังหมดวาระลงหลังจากทำงานมานานกว่า 5 ปี มหกรรมการเลือกตั้งของประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลก จึงกำลังเป็นที่จับตามองจากสายตาคนทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบัน อินเดียทวีความสำคัญอย่างมากต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะจุดยืนของอินเดียต่อประเด็นความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฉะนั้นความเป็นไปของการเมืองภายในอินเดียย่อมเป็นที่สนใจอย่างมากของประชาคมโลก เพราะผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้จะยังผลสำคัญต่อนโยบายการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้าของอินเดีย

ในโอกาสนี้จึงอยากถือโอกาสชวนคุณผู้อ่านทุกท่านมาทำความเข้าใจระบบการเลือกตั้งของอินเดีย ที่บอกได้คำเดียวเลยว่า ให้ลบความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เราคุ้นเคยกันในบ้านเราออกไปเลย หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งในหลายๆ ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ก็ไม่มีทางที่จะเหมือนกับอินเดีย

ระบบเลือกตั้งอินเดีย แปลกและแหวกทุกสิ่งที่เคยมีมา

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า สำหรับอินเดียนั้น การเลือกตั้งทั่วไปจะจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ซึ่งในประวัติศาสตร์อินเดียนับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐอินเดีย มีการจัดเลือกตั้งขึ้นอย่างสม่ำเสมอ มีเพียงบางครั้งที่เกิดการงดเว้นการเลือกตั้ง (ในยุคสมัยของอินทิรา คานธี) จากการประกาศสภาวะฉุกเฉิน แต่นั่นก็ไม่อาจส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยของอินเดียล้มลง หรือเผชิญกับการหยุดชะงักของการเลือกตั้งเป็นเวลานาน เพราะสำหรับคนอินเดียแล้ว การเลือกตั้งทั่วไปถือเป็นส่วนสำคัญในระบบการเมือง และถือเป็นสิทธิที่พวกเขาทุกคนจะรับรู้ถึงความเสมอภาคกันอย่างถ้วนหน้าไม่ว่าใครจะอยู่ในวรรณะ ชาติพันธุ์ หรือนับถือศาสนาอะไรก็ตามที ฉะนั้นสำหรับคนอินเดียการเลือกตั้งจึงเป็นมากกว่าเรื่องการเลือกผู้แทนราษฎร

น่าสนใจว่า นอกจากการเลือกตั้งของอินเดียจะมีขึ้นทุกๆ 5 ปีแล้ว อินเดียยังเป็นไม่กี่ประเทศบนโลกที่เปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งใหม่จากแต่เดิมที่อินเดียใช้การเลือกตั้งผ่านบัตรเลือกตั้งนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐ จนกระทั่งช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 คณะกรรมการการเลือกตั้งร่วมกับศาลสูงสุดของอินเดียได้มีการเปลี่ยนระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่มาเป็นการใช้เครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting Machines: EVMs) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยรัฐวิสาหกิจของอินเดียนับตั้งช่วงปลายทศวรรษ 1970 ทั้งนี้จุดประสงค์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการเลือกตั้งในหลายครั้งก่อนหน้านี้ ที่เผชิญกับปัญหาการทุจริตบัตรเลือกตั้ง เช่นเกิดปัญหาบัตรเลือกตั้งเกินจำนวนผู้มาใช้สิทธิ หรือเกิดการปลอมแปลงคะแนน

ฉะนั้น การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการเลือกตั้งจึงมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ในขณะเดียวกันยังช่วยย่นระยะเวลาในการนับคะแนนหลังการเลือกตั้งด้วย จากแต่เดิมที่ใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนานเนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอินเดียมีจำนวนหลายร้อยล้านคน ระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้จะช่วยให้การนับคะแนนรวดเร็วขึ้น เพียงนำเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์มาเชื่อมต่อเข้าระบบ คะแนนก็จะถูกส่งไปรวบรวมที่ส่วนกลาง ส่งผลให้การนับคะแนนทำได้รวดเร็วโดยไม่ต้องนั่งนับบัตรเลือกตั้งทีละใบ และหนึ่งคนก็สามารถกดโหวตได้เพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่การเลือกตั้งในอินเดียนั้นมีความแตกต่างจากประเทศไทยในเชิงกายภาพของการลงคะแนนเสียง

อีกหนึ่งประเด็นที่ส่วนตัวคิดว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือร ะยะเวลาการเลือกตั้งในอินเดียค่อนข้างแตกต่างจากประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก ที่ส่วนใหญ่วันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะมีเพียงวันเดียว แต่สำหรับอินเดียนั้น การเลือกตั้งไม่เคยเสร็จสิ้นภายในหนึ่งวัน ซ้ำยังมีการแบ่งซอยการเลือกตั้งทั่วไปออกเป็นหลายระยะ โดยการเลือกตั้งประจำปี 2024 ที่กำลังจะถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียแบ่งการเลือกตั้งออกเป็นทั้งสิ้น 7 ระยะด้วยกัน โดยการเลือกตั้งในระยะที่ 1 จะจัดขึ้นในวันที่ 19 เมษายน, ระยะที่ 2 ในวันที่ 26 เมษายน, ระยะที่ 3 ในวันที่ 7 พฤษภาคม, ระยะที่ 4 ในวันที่ 13 พฤษภาคม, ระยะที่ 5 ในวันที่ 20 พฤษภาคม, ระยะที่ 6 ในวันที่ 25 พฤษภาคม และระยะที่ 7 ในวันที่ 1 มิถุนายน กล่าวคือการเลือกตั้งของอินเดียจะกินเวลามากกว่า 1 เดือน โดยเริ่มในวันที่ 19 เมษายน และสิ้นสุดในวันที่ 1 มิถุนายน ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียได้มีการระบุว่าจะเริ่มประกาศการนับคะแนนในวันที่ 4 มิถุนายน

จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งของอินเดียไม่ได้จบในวันเดียว ที่สำคัญไปกว่านั้น ในการเลือกตั้งทั้ง 7 ระยะ ในแต่ละระยะจะมีการเลือกตั้งในทุกรัฐ ไม่ใช่การกำหนดเพียงว่าระยะนี้ เลือกในรัฐนี้ ไล่เรียงไปจนครบทุกรัฐ เพราะในบางรัฐของอินเดีย อาจมีการเลือกตั้งในทั้ง 7 ระยะเลยก็เป็นได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้การเลือกตั้งของอินเดียกินระยะเวลายาวนาน อาจประกอบด้วยหลายปัจจัย ประการหนึ่งต้องยอมรับว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของอินเดียมีจำนวนค่อนข้างมาก โดยในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของอินเดีย ซึ่งมีมากกว่า 970 ล้านคน ด้วยจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีจำนวนมากขนาดนี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีการจัดการเลือกตั้งแบบวันเดียว

นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ของอินเดียยังมีความหลากหลายและสลับซับซ้อนแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ หน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งคือการให้ทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้ง ฉะนั้นไม่ว่าผู้มีสิทธิจะอยู่ในหุบเขา หรือยอดเขา หน่วยเลือกตั้งก็ต้องไปให้ถึง ในการเลือกตั้งเมื่อครั้งก่อน จึงเกิดภาพการตั้งหน่วยเลือกตั้งของอินเดียกลางหุบเขาอันไกลโพ้นที่มีผู้ใช้สิทธิเพียงไม่กี่คน ฉะนั้นปัจจัยนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ส่งผลให้การจัดเลือกตั้งของอินเดียต้องดำเนินการในหลายระยะ สำคัญที่สุดคือจำนวนบุคลากรประจำหน่วยเลือกตั้งเองก็มีอยู่อย่างจำกัด ฉะนั้นการจัดให้มีหน่วยเลือกตั้งภายในหนึ่งวันสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 970 ล้านคนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยากสำหรับประเทศที่มีทรัพยากรอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด

เมื่อพิจารณาหลากหลายปัจจัยประกอบกัน นี่จึงเป็นเหตุผลให้อินเดียเป็นประเทศที่ไม่ได้ยึดถือกับแนวทางการจัดเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งวันนัก และลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น แต่แม้กระทั่งการเลือกตั้งในระดับรัฐเองก็มีการเลือกตั้งหลายระยะเช่นเดียวกัน แน่นอนครับว่าการเลือกตั้งหลายระยะแบบนี้อาจทำให้คนเปลี่ยนการตัดสินใจ แต่อาจารย์ที่สอนวิชาการเมืองอินเดียเคยบอกกับผมครับว่า “ถ้าเราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิคิด ตัดสินใจ และลงคะแนนอย่างเสมอภาคกัน คุณจะไม่มานั่งถามหรอกว่าเขาอาจเปลี่ยนแปลงการลงคะแนนเสียงได้ เพราะสุดท้ายมันคือการตัดสินใจของเขา เขาผู้ซึ่งมีสิทธิในการเลือกตั้งเท่ากับคุณ ไม่ว่าเขาจะเลือกผิด ถูก ดีหรือไม่ดี มันก็คือสิทธิของเขา ฉะนั้นความต่างของเวลาไม่สามารถมาลดทอนคุณค่าตรงนี้ได้” และผมก็คิดว่านี่ก็คือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการทำความเข้าใจการเลือกตั้งของอินเดียที่กินระยะเวลามากกว่า 1 เดือน

ตัวเต็ง ตัวตึง และการรณรงค์หาเสียง

สำหรับการเลือกตั้งปี 2024 นี้ ถือได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มากมายในการหาเสียงเลือกตั้ง และอาจเรียกได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของการเมืองอินเดีย ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงกว่า 10 ปีที่พรรคบีเจพีขึ้นมามีอำนาจบริหารประเทศอินเดีย การเมืองของอินเดียก็เผชิญกับพลวัตรมากมาย โดยเฉพาะความอ่อนแอของคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคคองเกรสที่ในอดีตถือเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทสูงในการเมืองอินเดีย ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ ที่สำคัญ ในสายธารประวัติศาสตร์สาธารณรัฐอินเดีย พรรคคองเกรสก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอินเดียให้เข้ามาบริหารประเทศหลายครั้ง

น่าสนใจว่าในห่วงเวลาที่ผ่านมา บทบาทของพรรคคองเกรสซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองใหญ่ในการเมืองอินเดียกลับเผชิญกับความผันผวนและพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเลือกตั้งในระดับประเทศ ขยายไปยังการเลือกตั้งในระดับรัฐ ซึ่งหลายรัฐถือเป็นฐานที่มั่นของพรรคคองเกรสมาอย่างยาวนาน บางพื้นที่แพ้ให้กับพรรคบีเจพี ในขณะที่บางพื้นที่ก็พ่ายแพ้ให้กับพรรคการเมืองระดับท้องถิ่น แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา พรรคคองเกรสจะพยายามปฏิรูปการเมืองภายในเพื่อสลัดภาพพรรคการเมืองแบบอำนาจเก่า มีเจ้าของเป็นคนตระกูลคานธี หรือพยายามส่งเสริมการสร้างพันธมิตรกับพรรคอื่นเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคคองเกรสได้ร่วมมือกับหลายพรรคการเมืองฝ่ายค้านภายใต้ชื่อ ‘พันธมิตรเพื่อการพัฒนาแห่งชาติอินเดีย’ (Indian National Developmental Inclusive Alliance: I.N.D.I.A.) หรือเรียกย่อๆ ว่าอินเดีย แต่ดูเหมือนว่าไม่ทันจะเลือกตั้งใหญ่ กลุ่มพันธมิตรนี้ก็เริ่มไม่ลงรอยกันในการจัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งเสียแล้ว เพราะทุกพรรคก็ต่างบอกว่าคนของตัวเองมีโอกาสชนะพรรคบีเจพีและพันธมิตรพรรครัฐบาลทั้งสิ้น

ในทางตรงกันข้าม การทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคบีเจพีในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะถูกวิจารณ์เกี่ยวกับการใช้อำนาจนิยม หรือการใช้หลักคิดแบบชาตินิยมฮินดูที่มากเกินในการบริหารประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในความรู้สึกของคนอินเดีย พวกเขาเห็นความก้าวหน้าของประเทศตัวเองในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้พรรคบีเจพีได้รับความไว้วางใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้น ในขณะที่ภายในพรรคเองก็มีเอกภาพ มีการชูผู้นำที่ชัดเจนอย่าง นเรนทรา โมดี ฉะนั้นพรรคบีเจพีในฐานะแกนนำ ‘พันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ’ (National Democratic Alliance: NDA) จึงค่อนข้างมีแต้มต่ออย่างมากในการสู้ศึกครั้งนี้

อีกหนึ่งประเด็นที่เราเห็นได้ชัดในการเลือกตั้งของอินเดียและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือการประกาศตัวจับมือกันเป็นพันธมิตรของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นค่านิยมที่ทำกันมาแต่อดีต โดยเฉพาะก่อนการเลือกตั้งปี 2014 ที่อินเดียมีการขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 กลุ่มพันธมิตร ซึ่งกลุ่มหนึ่งนำโดยพรรคคองเกรส อีกกลุ่มนำโดยพรรคบีเจพี การประกาศตัวเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่และชัดเจนกับประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในแง่ที่ว่าหากเขาเลือกพรรคนี้แล้วจะเห็นหน้าตารัฐบาลและนโยบายการบริหารประเทศในอนาคตแบบใด ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าเป็นสิ่งที่บ้านเราควรมี เพื่อป้องกันปัญหาการย้ายขั้ว สลับข้าง และไม่หลอกลวงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

จนถึง ณ เวลานี้ ก็ต้องบอกว่าตัวเต็งและตัวตึงในการเมืองอินเดียได้เปลี่ยนข้างอย่างชัดเจน จากคองเกรส สู่บีเจพี เราจึงได้เห็นแนวทางการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสองทางที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้ เพราะขณะที่พรรคบีเจพีกำลังเอาผลงานตลอด 10 ปีมาโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง พรรคคองเกรสและพันธมิตรก็กำลังวางเกม เดินหมากเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางการเมืองและการลิดรอนสิทธิเสรีภาพภายใต้การปกครองของบีเจพี ถึงขนาดที่ราหุล คานธี อดีตหัวหน้าพรรคคองเกรส กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศอินเดียไม่ได้เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกแล้ว”

นี่เป็นเพียงปฐมบทการเปิดศึกแห่งอำนาจ ที่ตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมาทุกฝ่ายได้เตรียมสรรพกำลังเอาไว้เพื่อศึกษาการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งก็คงต้องมาตามกันดูต่อไปว่าสุดท้ายแล้วใครเป็นเป็นผู้ชนะในศึกการเลือกตั้งโลกสภาครั้งนี้ เพราะเส้นทางสู่รัฐสภาของอินเดีย คือเส้นทางสู่อำนาจบริหาร ซึ่งแน่นอนว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต่างๆ เอง ก็ต้องสู้ศึกในการเลือกตั้งระดับเขตด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันอินเดียไม่มีระบบบัญชีรายชื่อ ฉะนั้นการเลือกตั้งทั้ง 543 เขตในอินเดียจึงมีความสำคัญอย่างมาก และนี่ก็เป็นอีกความแตกต่างจากประเทศไทย เพราะคนอินเดียจำนวนมากยังเชื่อว่า ผู้แทนควรมาจากพื้นที่ ถ้าคุณทำงานในพื้นที่ไม่ดี ทำไมถึงมีหน้าไปเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งคนอินเดียเคยสั่งสอนอินทิรา คานธีด้วยการเลือกพรรคฝ่ายตรงข้าม ส่งผลให้เธอไม่มีที่นั่งในรัฐสภา และไม่สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

อีก 5 ปี เจอกันใหม่ เคารพการตัดสินใจของประชาชน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเช่นไร หรือจะมีปัญหามากน้อยเพียงใด ก็ต้องยอมรับประการหนึ่งว่าคนอินเดียไม่เคยเรียกร้องให้มีการเล่นนอกกติกาประชาธิปไตยหรือพยายามเรียกร้องให้มีการใช้อำนาจพิเศษ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็ยังเชื่อในระบอบประชาธิปไตย และอย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่ามีครั้งหนึ่งที่อินเดียเคยงดเว้นการเลือกตั้งจากการประกาศสภาวะฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี สิ่งที่เกิดขึ้นคือในการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นในปี 1977 พรรคคองเกรสแพ้การเลือกตั้ง แม้กระทั่งอินทิรา คานธีเองก็แพ้เลือกตั้งในเขตของตัวเอง ปรากฎการณ์ในอดีตนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความมั่นคงของคนอินเดียที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นแฟ้น ส่งผลให้ แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นตามคาดหวังแค่ไหน คนอินเดียอาจเสียใจบ้าง ออกมาประท้วงบ้าง แต่นั่นไม่ทำให้พวกเขาพยายามที่จะปฏิเสธผลการเลือกตั้ง หรือไม่ยอมรับการมีอยู่ของการเลือกตั้ง และเลือกใช้วิธีอื่นๆ แต่คนอินเดียเลือกที่จะรอเพื่อการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือจนกว่าจะมีการยุบสภา

ยิ่งไปกว่านั้นไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่มีใครออกมาบอกว่าประชาชนเลือกผิด เลือกไม่ถูก ตรงกันข้าม ทุกฝ่ายต่างเคารพในการตัดสินใจของประชาชน ไม่ว่าจะฝ่ายแพ้หรือฝ่ายชนะก็ตาม เพราะสุดท้ายนี่คือสิทธิของผู้ลงคะแนนเสียง ที่มีเหตุผลร้อยแปดในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนหนึ่ง ไม่มีใครไปตัดสินได้ว่าคนหนึ่งคนที่มีหนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียงเท่ากัน ตัดสินใจผิดหรือถูก และนี่คือหลักการพื้นฐานสำคัญที่คนอินเดียส่วนใหญ่นับถือไม่ว่าจะต่างกันแค่ไหนก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นเครื่องค้ำยันสำคัญให้กับเสาหลักที่เรียกว่าประชาธิปไตยของอินเดีย ที่คอยทำหน้าที่คัดสรรผู้คนมากหน้าหลายตาให้หมุนเวียนกันมาบริหารประเทศตามความประสงค์ของประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

เพราะความสวยงามของระบอบประชาธิปไตยก็คือการได้ลองผิดลองถูก แต่ยังไงมันก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะต้องรอ 4 หรือ 5 ปี ก็ตามที

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save