fbpx

สนธิสัญญาเบาว์ริง จุดเริ่มต้นการทำลายป่า

ในอดีตเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ประเทศไทยถูกบันทึกว่ามีป่ามากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันป่าไม้ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ประเทศ

อะไรเป็นต้นเหตุสำคัญในการทำลายป่าบ้านเราในอดีตที่ผ่านมา ในความเห็นของผู้เขียน จุดเริ่มต้นน่าจะเริ่มมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริง

ชาวต่างประเทศผู้เดินทางมาสยามเมื่อร้อยกว่าปีก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้บันทึกไว้ว่าสยาม ‘มีประชากรน้อยมาก’ และ ‘แทบไม่มีผู้คน’ ประมาณว่าอาจมีประชากรเพียงสามล้านคน และครึ่งหนึ่งของประชากรสยามกระจุกตัวอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ชัยนาทถึงอ่าวไทย

สมัยนั้นป่าในธรรมชาติจึงหลงเหลืออยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ การใช้ไม้ส่วนใหญ่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและการดำรงชีพมากกว่าการค้าขาย นอกเสียจากจะมีพระราชพิธีสำคัญ อาทิ การสร้างพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในปี 2352 ที่ต้องการเกณฑ์ไพร่เข้าป่าเพื่อตัดไม้จำนวนมาก เพื่อทำไม้เสา ไม้คาน ไม้กระดาน ฯลฯ

“สิ่งของที่ใช้ในงานนี้มีจำนวนมากอย่างแทบไม่น่าเชื่อ เช่น ต้องใช้เสา 896 ต้น (11-21วา) ไม้นอกจากเสา 5,500 ต้น ไม้ไผ่ 400,000 เศษ ผ้าขาวขนาดสบง 8,000 ผืน จะซื้อก็ไม่มีขาย จะเกณฑ์เอาจากเมืองใดเมืองหนึ่งก็ไม่มีของเพียงพอ รัฐบาลจึงใช้วิธีเฉลี่ยไปตามหัวเมืองต่างๆ รับภาระ” [1]

การทำลายป่าอย่างเป็นระบบในเมืองไทย น่าจะเริ่มต้นเมื่อฝรั่งต่างชาติแห่กันเข้ามาประกอบธุรกิจในสยาม หลังสนธิสัญญาเบาว์ริง

สนธิสัญญาเบาว์ริง เป็นสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน 2398 โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียเพื่อเข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศผ่านการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ 

สนธิสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในอดีตการค้าของชาวตะวันตกได้รับการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก สนธิสัญญาดังกล่าวยังอนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานครและรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (อำนาจอธิปไตยทางศาล) หมายถึง หากชาวต่างชาติทำผิดกฎหมายสามารถไปขึ้นศาลกงสุลของประเทศเขา แทนที่จะขึ้นศาลไทย ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยามได้

ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นของการทำลายสิ่งแวดล้อมและทำลายป่าครั้งใหญ่ทั่วโลกมักเริ่มต้นในยุคล่าอาณานิคมของบรรดาชาติมหาอำนาจในศตวรรษที่ 18 ที่ส่งกองกำลังทางเรือไปยึดอาณานิคมทั่วโลก ตั้งแต่ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกาไปถึงทวีปเอเชีย เพื่อเป็นแหล่งระบายสินค้าที่ผลิตได้มากขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม และยึดครองเอาทรัพยากรธรรมชาติในดินแดนอาณานิคมไปเป็นของตัวเอง

สยามประเทศในเวลานั้น แม้จะไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ แต่หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง และตามมาด้วยสนธิสัญญาที่ทำกับชาติอื่นๆ ได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัว ระบบตลาดจากที่เคยผลิตตามกำลังที่มี กลับขยายตัวเพื่อการส่งออกมากขึ้น 

อุตสาหกรรมการทำไม้สักเริ่มจริงจังขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2415 กัปตันเรือชาวเดนมาร์กชื่อ มร.แอนเดอร์เซนได้นำไม้สักใส่เรือสำเภาไปขายที่เมืองลิเวอร์พูล ปรากฎว่าขายได้หมดและทำกำไรได้หลายเท่าตัว ชื่อเสียงของไม้สักสยามจึงเริ่มเป็นที่รู้จัก

หลังสนธิสัญญาเบาว์ริงอังกฤษได้ขยายการทำไม้สักเข้ามาทางภาคเหนือของสยาม ทรัพยากรป่าที่ก่อนหน้านี้ผู้คนตัดไม้เพื่อใช้ในการสร้างบ้าน ทำรั้ว ทำเสา หรือใช้ในครัวเรือน ก็กลายเป็นการตัดไม้เพื่อการค้าขาย ด้วยการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะไม้สักที่มีความต้องการสูงมาก 

ในอดีต ราษฎรทั่วไปสามารถตัดไม้มาใช้สอยได้อย่างเสรี เว้นแต่ในพื้นที่ป่าภาคเหนือที่เป็นแหล่งไม้สักอันอุดมสมบูรณ์ บรรดาเจ้าเมืองได้ยึดเอาป่าไม้สักในท้องที่ของตัวเองเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ผู้ใดประสงค์จะทำไม้สักต้องเสียเงินภาษีให้ตามจำนวนไม้สัก เรียกว่า ‘ค่าตอไม้’

ไม้สักจัดเป็นไม้ชั้นนำแถวหน้าของบรรดาไม้ราคาแพงจากทั่วโลก เป็นไม้เนื้ออ่อนคุณภาพดี มีความแข็งปานกลาง แต่น้ำหนักค่อนข้างเบา ง่ายต่อการเลื่อยไสตกแต่ง ไม่ทำให้เหล็กเป็นสนิม เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง ลายสวย มีสีเหลืองทองงดงาม

นอกจากนี้ไม้สักยังเป็นหนึ่งในไม้ไม่กี่ชนิดในโลกที่ทนต่อการผุพัง ปลวกราไม่ขึ้น ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ดีทั้งร้อนจัดหรือหิมะตก แม้กระทั่งเรือบรรทุกเครื่องบินยังนิยมเอาไม้สักมาปูชั้นดาดฟ้า ด้วยคุณสมบัติความคงทนต่อทุกภูมิอากาศและน้ำทะเล

บอร์เนียว เป็นบริษัทอังกฤษบริษัทแรกที่ได้รับสัมปทานตัดไม้สักในป่าทางภาคเหนือ และติดตามมาด้วยอีกหลายบริษัท อาทิ บริษัทอีสต์เอเชียติก บริษัทหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ ซึ่งกิจการการทำไม้ตกอยู่ในมือของชาติฝรั่ง และผู้ได้ผลประโยชน์จากการทำไม้ นอกจากบริษัทฝรั่งแล้วยังมีบรรดาเจ้าเมืองในภาคเหนือที่ถือว่าไม้ในป่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง จึงสามารถเก็บภาษีหรือเงินกินเปล่าได้เอง

อย่างไรก็ตาม ความรู้ในการทำไม้ล้วนเป็นความรู้ของต่างชาติทั้งสิ้น คนไทยไม่เข้าใจกิจการตัดไม้สักขนาดใหญ่ได้เลย นอกจากนั้นยังปรากฎว่าการเก็บเงินค่าตอไม้ได้กระทำกันอย่างหละหลวม รัฐบาลจึงพิจารณาเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดการควบคุมการทำไม้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น

ดังนั้น ในปี 2436 รัฐบาลจึงยืมตัวนายเอช เสลด ชาวอังกฤษ ผู้ชำนาญการป่าไม้ของพม่า เพื่อให้ช่วยวางแผนการจัดการป่าไม้ของไทย ซึ่งนายเสลดได้สำรวจและชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องอันเนื่องมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก การทำป่าไม้ทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของเจ้านายเจ้าของพื้นที่ ทำให้เกิดการเรียกเงินกินเปล่าตามอำเภอใจ และประการที่สอง การทำป่าไม้เท่าที่เป็นอยู่ยังไม่อยู่ในระเบียบอันถูกต้อง กล่าวคือขาดหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองรักษาป่าเพื่อที่ป่าไม้จะสามารถอำนวยผลได้อย่างถาวร เนื่องจากมีการทำไม้ในป่าไม้สักจนเกินกำลังของป่าไม้มาก ซึ่งเป็นการผิดหลักการของวิชาการป่าไม้

นายเสลดได้ทำรายงานเรื่องการทำไม้เขียนบันทึกถึงกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

“ป่าไม้ทั้งหลายนั้นควรต้องถือว่าเป็นทุนทรัพย์ของหลวงที่ได้ลงทุนไว้แล้วในกาลก่อนช้านาน เพื่อให้เป็นผลประโยชน์แก่คนที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานป่าไม้จะต้องระวังรักษาทุนทรัพย์ของเดิมนี้ไว้ให้ดี จัดให้ได้ผลประโยชน์เป็นกำไรให้ได้มากตามแต่จะจัดให้ เก็บกินแต่กำไรไปเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะจับต้องทุนทรัพย์ของเดิมนั้นได้เลย…”

ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในปี 2439 นายเสลดเป็นอธิบดีป่าไม้คนแรก โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการป่าไม้อย่างถูกวิธี และที่สำคัญคือประกาศว่า รัฐบาลเป็นเจ้าของป่าไม้ทั้งหมดแทนเจ้าเมือง และรัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บภาษีเอง โดยแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับเจ้าเมือง

การจัดการทำไม้สักกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดไม้ทำลายป่าอย่างเป็นระบบ ต่อมารัฐบาลยังอนุญาตให้มีการทำตัดไม้ชนิดอื่นในป่าทั่วประเทศ จนเมื่อปี 2496 ก็เริ่มมีการวางแผนการทำสัมปทานป่าไม้ครั้งแรกขึ้นในเมืองไทย จากยุคสมัยที่ตัดไม้เพื่อการดำรงชีพหรือการค้าขายเล็กๆ น้อยๆในท้องถิ่น กลายเป็นการตัดไม้ในป่าเพื่อเศรษฐกิจ จนไม้สักติดอันดับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของสยามมาตลอดและมีการเปิดป่าเพื่อตัดไม้กันอย่างกว้างขวาง

ช่วงเวลาร่วมร้อยปี ป่าไม้หายไปกว่าครึ่ง

พื้นที่ป่าไม้เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ผ่านมา

 ปี พื้นที่ป่า (ล้านไร่)ร้อยละจากพื้นที่ประเทศประชากร(ล้านคน)
2453224      708
2504                   1715325
2528932950
2538822560
25651023166



ประวัติศาสตร์การทำลายป่าในประเทศ แม้จะเริ่มต้นด้วยสนธิสัญญาเบาว์ริงที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติมาลงทุนตัดไม้ในป่าครั้งใหญ่ ไม้สักกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ การเปิดป่าให้สัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากร บุกรุกป่าเพื่อขยายที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการเกษตรจากความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น

จนในเวลาต่อมาในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างเป็นระบบ การสร้างเขื่อน การตัดถนน สงคราม การปฏิวัติเขียว การเกษตรเพื่อส่งออก ความเจริญด้านอุตสาหกรรม ก็ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการทำลายป่ามากขึ้นตามลำดับ


หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร

References
1 ชัย เรืองศิลป์.(2527).  ประวัติศาสตร์ไทยสมัยพ.ศ. 2352-2453. หน้า 61.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save