fbpx

‘Blindness in the red path’ บทเรียนจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแอลเบเนีย

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปประเทศแอลเบเนีย ประเทศเล็กๆ แถบเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ แอลเบเนียมีขนาดพื้นที่เพียง 18 ล้านไร่ ขนาดเล็กกว่าภาคตะวันออกของไทยเสียอีก

คนไทยอาจแทบไม่รู้จักประเทศยุโรปแห่งนี้ แต่บุคคลผู้มีชื่อเสียงระดับโลกคนหนึ่งที่เป็นชาวแอลเบเนียคือ แม่ชีเทเรซา นักบุญผู้ช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อคนยากไร้ตลอดชีวิต ประเทศแห่งนี้เคยได้สมญาว่า ‘เกาหลีเหนือแห่งยุโรป’ จากอดีตที่เคยปิดประเทศมายาวนานและมีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ทำให้แอลเบเนียได้ชื่อว่าเป็นประเทศยากจนที่สุดในยุโรป

จากความยากจน ความว่างงาน การคอรัปชั่น และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และการปกครองแบบเผด็จการอันยาวนาน และจากความคิดของผู้นำประเทศที่สร้างสิ่งก่อสร้างไร้ประโยชน์ทั่วประเทศ จนทำให้ประเทศเกือบล้มละลาย

เชื่อหรือไม่ว่า แม้ประเทศแอลเบเนียจะมีขนาดที่เล็กมาก แต่มีบังเกอร์คอนกรีตหรือหลุมหลบภัยมากที่สุดในโลกถึง 173,371 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1980 ในสมัยของประธานาธิบดี Enver Hoxha อดีตผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศมายาวนาน ตั้งแต่ปี 1944 -1985

ด้วยสาเหตุคือ แม้ว่าแอลเบเนียจะเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตรัสเซียในยุคสมัยของสตาลิน  แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งกันในสมัย นีกีตา ครุชชอฟ ผู้นำรัสเซียคนต่อมา แอลบาเนียจึงไปเชื่อมความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในยุคเหมา เจ๋อ ตง แทน และ Hoxha กลัวว่ากองทัพโซเวียตจะบุกยึดครอง จึงระดมสร้างหลุมหลบภัยทั่วประเทศ ละลายเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์  เพิ่มงบประมาณทางการทหาร เกณฑ์ทหารจำนวนแปดแสนคนจากพลเมืองไม่ถึงสามล้านคน สร้างภาพให้ผู้คนหวาดกลัวว่า ประเทศกำลังจะเกิดสงครามใหญ่ – ไม่ต่างจากประเทศเกาหลีเหนือ ที่มุ่งพัฒนาอำนาจทางการทหาร มีทหารประจำการมากมาย แต่ผู้คนในประเทศอดตาย 

สุดท้ายก็ไม่เกิดสงครามใดๆ บังเกอร์นับแสนถูกปล่อยให้ทิ้งร้างอย่างไร้ค่า ผลที่ตามคือเศรษฐกิจในประเทศย่อยยับ คนยากจน ว่างงาน ประเทศไม่เกิดการพัฒนาใดๆ ส่งผลให้เกิดสภาวะสมองไหลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวพากันอพยพออกนอกประเทศมากขึ้น เพื่อไปแสวงหาโอกาสและชีวิตการทำงานที่ดีกว่าในประเทศอื่น อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส กรีซ อิตาลี ฯลฯ

ไม่แปลกใจว่าทำไมประเทศแอลเบเนียถึงมีประชากรอาศัยอยู่ในประเทศเพียงประมาณ 2.8 ล้านคน แต่อพยพไปอยู่นอกประเทศถึงแปดล้านกว่าคน

ทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ ผู้เขียนมักจะแวะดูพิพิธภัณฑ์เป็นหลัก เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของดินแดนแห่งนั้น เช่นเดียวกับที่เมืองหลวงทิรานา ผู้เขียนมีโอกาสเดินชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ตั้งอยู่จัตุรัสกลางเมือง ด้านหน้าอาคารสถาปัตยกรรมแบบโซเวียตสามชั้นเป็นรูปแกะสลักประชาชนชาวแอลเบเนีย  ก่อนเข้าไปเห็นมีรูปอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่เป็นรูปบุรุษบนหลังม้า ข้างหลังมีธงชาติสีแดงตรงกลางเป็นรูปนกอินทรีสองหัว สัญลักษณ์ของประเทศ

พอเข้าไปดูเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอาคารพิพิธภัณฑ์สามชั้น จึงรู้ว่าในอดีตแอลเบเนียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิไบแซนไทน์ จากนั้นจึงถูกยึดครองโดยจักรวรรดิออตโตมัน และบุรุษบนหลังม้าคือบิดาแห่งชาวแอลเบเนียตลอดกาลชื่อ ‘skanderbeg’ (1405-1468) เป็นนักรบผู้สามารถรวบรวมทหารต่อสู้เอาชนะกองทัพของจักรวรรดิออตโตมันที่มีกำลังเยอะกว่า ปลดปล่อยแอลเบเนียจากการยึดครองได้สำเร็จ แต่สุดท้ายเมื่อเขาตาย แอลเบเนียก็ตกอยู่ภายใต้จักรวรรดิออตโตมันเป็นเวลาห้าร้อยปี และเมื่อจักรวรรดิมุสลิมนี้เสื่อมอำนาจ แอลเบเนียได้ประกาศเอกราชในปี 1912  

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศอิตาลีภายใต้การนำของเบนิโต มุสโสลินี เคลื่อนกองทัพเข้ายึดครองแอลเบเนียเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลี และเผชิญกับการต่อสู้อย่างดุเดือดของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำสงครามใต้ดินสู้รบแบบกองโจรกับกองทหารอิตาลีและเยอรมนีจนมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก

หลังสงครามโลกสงบลง แอลเบเนียได้เป็นเอกราชอีกครั้ง พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และประเทศอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตเป็นเวลานาน แต่ก็ประสบความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพทางการเมือง เกิดการชุมนุมประท้วงของกรรมกรที่ต้องการค่าแรงเพิ่ม รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปราม ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไปทั้งประเทศ จนถึงปี 1991 ผู้นำประเทศยอมถ่ายเทอำนาจและมีการปฏิรูปการเมือง ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นแบบเสรี มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐแอลเบเนีย

ที่น่าสังเกตคือ พื้นที่ของอาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินี้ เกือบครึ่งหนึ่งอุทิศให้กับการต่อสู้ลุกฮือของประชาชน ที่ต่อสู้กับผู้รุกรานจากภายนอก เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และการต่อสู้กับเผด็จการที่ปกครองประเทศมายาวนาน เพื่อตั้งใจเล่าให้คนรุ่นหลังรับทราบว่า ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้สร้างจากเลือดเนื้อของประชาชนมาโดยตลอด

มีนิทรรศการ ภาพถ่าย หลักฐานเชิงประจักษ์ มีด ดาบ ปืน ปืนใหญ่ อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยต่าง ๆ  เล่าเรื่องประชาชนที่ลุกขึ้นมาจับอาวุธสู้กับผู้รุกราน ตั้งแต่จักรวรรดิออตโตมัน กองทัพของนาซีและมุสโสลินีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ยึดครองแอลเบเนีย อาทิจดหมายฉบับสุดท้ายของวีรสตรีสาวที่โดนประหารชีวิตในเยาว์วัย ภาพการประหารชีวิตหมู่นักรบหนุ่มสาวที่ถูกทหารนาซีจับเป็นเชลย และเรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์เมื่อประชาชนมือเปล่าลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลเผด็จการ จนล้มตายมากมาย (ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2535) ก่อนที่มีการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ทำให้ประเทศก้าวสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมไม่กี่สิบปี

ผู้เขียนเดินผ่านรูปปั้นแห่งหนึ่งชื่อ ‘Blindness in the red path’

ศิลปินปั้นรูปคนไม่มีหัว ไม่มีตา อันเปรียบเสมือนประชาชนบางกลุ่มที่ถูกเผด็จการและชนชั้นปกครองล้างสมองด้วยค่านิยม และอุดมการณ์บางอย่างจนเชื่อสนิทใจ โดยไม่คิดและไม่ตั้งคำถาม เหมือนเป็นเครื่องจักรที่พร้อมจะออกมาทำร้ายคนที่เห็นต่างกันทางความคิด

คนเหล่านี้จึงไม่มีหัว มืดบอดทางปัญญา แต่เดินเฉิดฉายบนพรมแดง

ไม่ต่างอะไรกับบางกลุ่มในสังคมไทย ที่ถูกบ่มให้เชื่ออุดมการณ์บางอย่างอย่างงมงาย โดยไม่เคยตั้งคำถาม 

ชาวแอลเบเนียที่เข้าไปชมเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์จึงซึมซับว่า เสรีภาพที่พวกเขาได้มาในปัจจุบัน แผ่นดินที่พวกเขาอยู่ได้อย่างอิสระ แลกมากับชีวิตของประชาชนธรรมดาหลายหมื่นคนในอดีตอันยาวนานอย่างไร

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของแอลเบเนีย จึงเป็นพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประชาชนชาวแอลเบเนีย ทุกระดับ ทุกชนชั้น ขณะที่อีกประเทศหนึ่ง ประวัติศาสตร์ของประชาชนแทบจะไม่เคยถูกบันทึกไว้เลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save