fbpx

โลกที่ ‘ไม่ขาวก็ดำ-ไม่ศูนย์ก็ร้อย’ ของอินเทอร์เน็ต และการวิจารณ์หนังอาจทำให้คุณถูกแปะป้ายกลายเป็นอะไรสักอย่าง

“ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่เดียวในโลก ที่แม้ข้อความบางอย่างจะเขียนไว้ชัดเจนแล้ว แต่ก็ยังถูกอ่านผิดอยู่ดี เช่น คุณบอกว่า ‘ฉันชอบแพนเค้ก’ แล้วมันต้องมีคนมาบอกว่า ‘อ้าว งี้นายก็เกลียดวาฟเฟิลสินะ’ ไม่เลยเว้ยมึง อันนั้นแม่งเป็นอีกประโยคหนึ่งแล้ว มึงพูดอะไรของมึงวะ”

ข้างต้นคือข้อความที่แอคเคาต์หนึ่งในทวิตเตอร์ (ปัจจุบันคือ X) โพสต์ไว้ตั้งแต่ปี 2017 และดูจะยังเป็นข้อความที่สรุปพฤติกรรมการเสพสื่อบางอย่างได้ดี

หนึ่งในสิ่งที่เป็นปริศนาของผู้เขียนเรื่อยมาคือ ระบบตรรกะกับความมุ่งมั่นจะวิพากษ์วิจารณ์ -หลายครั้งเลยเถิดไปจนถึงการพิพากษา- ของ ‘ผู้เล่นอินเทอร์เน็ต’ หลายๆ คน ที่หากว่าอีกฝั่งหนึ่งไม่ชอบสิ่งนี้ ก็จะด่วนตีความไปว่าเขาจะชอบอีกอย่าง หรือไปไกลกว่านั้นคือแปะป้ายรวดเร็วว่า เป็นคนดี-คนไม่ดี

จะว่าไป สำหรับคนที่ท่องโลกอินเทอร์เน็ตอยู่เรื่อยๆ ปรากฏการณ์โดนแปะป้ายหรือเป็นพยานการตีความ ‘ขาว-ดำ’ หรือ ‘ไม่ศูนย์ก็ร้อย’ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ และคราวนี้มันก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากการวิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์ที่เลยเถิดไปถึงขั้นมีน้ำเสียงตัดสินคนที่ชอบและไม่ชอบหนัง

กล่าวอย่างย่นย่อ Poor Things (2023) ภาพยนตร์ลำดับล่าสุดของ ยอร์กอส ลันธิมอส (Yorgos Lanthimos) คนทำหนังชาวกรีกเพิ่งเข้าฉาย โดยหนังว่าด้วยการเดินทางและการเติบโตของ เบลลา (เอ็มมา สโตน) หญิงสาวที่ถูกผ่าตัดสมองของเด็กทารกเข้าไปอยู่ในตัวผู้ใหญ่ซึ่งตายไปแล้วและถูกปลุกให้คืนชีพมาอีกหน (หรือก็คือ แฟรงค์เกนสไตน์) เธอเรียนรู้ระเบียบปฏิบัติของสังคมรวมทั้งเรื่องเพศ อันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เธอค้นพบว่า แท้จริงแล้วโลกที่เธออาศัยอยู่นั้นล้วนแต่มีเงื่อนไขล่องหนที่ถูกออกแบบโดยผู้ชาย ไม่ว่าจะความสุขสมทางเพศที่ผู้หญิงไม่ควรออกปากชื่นชอบหรือพูดถึง (แต่ผู้ชายทำได้ -ในนาม ‘นักรัก’) ตลอดจนการใช้ชีวิตโดยถูกควบคุมบงการเนื้อตัวผ่านตัวละครชายหลากหลายคน และด้านหนึ่ง หนังก็วิพากษ์วิจารณ์ความอ่อนไหว เปราะบางของความเป็นชายได้ชวนแสบสัน ว่าเมื่อผู้ชายที่ถืออำนาจมาตลอดรู้สึกพ่ายแพ้ขึ้นมานั้น พวกเขาจะลงมือทำสิ่งที่น่าสมเพชได้ถึงเพียงไหนเพื่อให้อำนาจนั้นไม่หลุดลอยไปจากมือ

หนังดัดแปลงมาจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันที่ถูกตีพิมพ์เมื่อปี 1992 ของ อลาสเดียร์ เกรย์ (Alasdair Gray) นักเขียนชาวสก็อตแลนด์ แน่นอนว่าทั้งหนังสือและหนังต่างก็ตั้งประเด็นแหลมคมและเป็นที่ถกเถียงในสังคมเสมอมาอย่างเรื่องทางเพศ, ความเป็นหญิงในสังคมที่เต็มไปด้วยกรอบกรงและระเบียบปฏิบัติ ตลอดจนการใช้เซ็กซ์เป็นหนึ่งในเครื่องมือของการ ‘ตื่นรู้’ ของตัวละคร และด้านหนึ่ง นี่ก็เป็นประเด็นที่ชวนถกเถียงว่าแท้จริงแล้วเบลลาเป็นใคร สถานะของเธอเป็นมนุษย์หรือผีดิบ (เพราะร่างเธอตายไปแล้ว) เราควรพิจารณาเรื่องอายุสมองของเธออย่างไรเพราะเธอเป็นเด็กที่หัดเรียนรู้โลก แม้กระทั่งว่า แท้จริงแล้วเบลลาเป็นเพศใดหรือสิ่งนี้ลื่นไหลเพราะตัวละครถือกำเนิดขึ้นมาในร่างศพที่เป็นผู้หญิง ไปจนถึงเรื่องที่ว่า เราจะพินิจการตัดสินใจของตัวละครที่มีสมองและสำนึกรู้แบบเด็กในร่างของผู้ใหญ่ (ซึ่งเป็นร่างที่ตายไปแล้ว) ว่าอย่างไร การตัดสินใจและเจตจำนงของตัวละครเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในฐานะผู้ใหญ่หนึ่งคนได้หรือไม่ หรือเป็นอื่น ฯลฯ

การถกเถียงและแลกเปลี่ยนเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมการวิจารณ์งอกงาม -ไม่เพียงแต่การวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่หมายรวมถึงประเด็นอื่นๆ ในสังคมด้วย- เบื้องต้นที่สุด มันทำให้เราได้รู้ถึงแง่มุมอื่นๆ ที่เราอาจมองข้ามหรือไม่ทันสังเกตแต่แรก และอย่างง่ายที่สุด สิ่งนี้ทำให้เรามองได้กว้างขวางขึ้น อธิบายต่อมา มันก็ทำให้เราใจกว้างและรับฟังความเห็นต่างอันเป็นสิ่งที่จำเป็นในสังคมสมัยใหม่ได้มากขึ้น

และก็เป็นตรงนี้เองที่เราได้เห็นผู้เล่นอินเทอร์เน็ตบางคนวิพากษ์วิจารณ์หนังด้วยสายตาแตกต่างกันไป -นั่นเป็นเรื่องปกติ สิ่งใดก็ตามย่อมมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ- แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ได้เห็นปรากฏการณ์แปะป้ายคนที่เห็นต่างจากตัวเอง ด้วยการสรุปว่าคนที่คิดเห็นไม่เหมือนฉัน คือคนที่เหยียดผู้หญิงไปถึงการสนับสนุนคนใคร่เด็ก (!!!)

หนังอาจพูดถึงประเด็นดังกล่าวหรืออาจมีท่าทีล่อแหลมต่อเรื่องที่ว่า และนั่นคือส่วนที่เราถกเถียงร่วมกันได้ ทว่า สิ่งหนึ่งที่อาจต้องยึดเป็นธงไว้คือ การที่ใครสักคนออกตัวว่าชอบหนังเรื่องใดก็ไม่เท่ากับว่าพวกเขาสนับสนุน (endorse) สิ่งที่อาจดูเป็นปัญหาหรือแหลมคมต่างๆ ของหนัง การที่ใครสักคนบอกว่าชอบ Poor Things ทำไมจึงต้องถูกแปะป้ายว่าเป็นพวกเหยียดผู้หญิงและอวยชายแท้ ฯลฯ ชวนนึกถึงข้อความ ‘แพนเค้ก-วาฟเฟิล’ ข้างต้นที่สะท้อนตรรกะการตีความวิบัติของโลกอินเตอร์เน็ต

คำถามสำคัญคือ -ทำไมการที่เรา (หรือใครก็ตาม) คิดไม่เหมือนคุณแล้วถึงต้องกลาย หรือถูกแปะป้ายเป็นคนแบบหนึ่งด้วย กรณีนี้คือถูกแปะป้ายเป็นคนดูหนังไร้รสนิยม, เหยียดผู้หญิงไปจนถึงอวยชายแท้ (ขนาดนั้นเลยเหรอ, อีโมจิยิ้มน้ำตารื้น)

หลายอย่างไม่มีสูตรตายตัวสำเร็จ ยิ่งกับงานภาพยนตร์หรืองานศิลปะ มันไม่เคยมีคำตอบตายตัวเหมือนสูตรคณิตศาสตร์ หลายครั้งมันเปิดพื้นที่ราวกับฟลอร์เต้นรำให้คนเข้ามาถกเถียง แลกเปลี่ยน จะด้วยท่าทีเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตรนั้นก็สุดแล้วแต่ เพียงแค่เราไม่ควรยึดมั่นเอาว่าความคิดเห็นของฉันถูกที่สุด และใครที่เห็นต่างจากนี้ไปล้วนเป็นคนไม่ดี เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันไปทำไม

ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ด้วยตรรกะวิธีคิดแบบไม่ผิดก็ถูก, ไม่ศูนย์ก็ร้อย, ไม่ขาวก็ดำเช่นนี้ มันเอื้อให้เกิดระบบการแบนหรือเซ็นเซอร์บางอย่างขึ้นมา -ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม- เพราะว่ากันตามหลักแล้ว การแบนงานหรือเซ็นเซอร์ใดๆ ก็ล้วนถือกำเนิดขึ้นมาจากคนที่ยึดถือเส้นแบ่งว่า ‘ต้องแสดงออกหรือพูดแบบนี้เท่านั้นถึงจะถูกต้อง’ พ้นไปจากนี้เป็นความผิดหรือเป็นสิ่งไม่ควร แน่นอนว่าหลายกรณีอาจไม่สุดโต่งเช่นนั้น แต่การแปะป้ายหรือผลักไสคนที่คิดต่างจากตัวเองก็ย่อมสร้างบรรยากาศของการเซ็นเซอร์ การไม่กล้าแสดงความเห็นเพราะไม่อยากถูกแปะป้ายหรือถูกมองเป็นอื่น เป็นคนชั่วช้าทางศีลธรรม เป็นคนไม่ตื่นรู้ ฯลฯ

และถึงที่สุด พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก็เงียบงัน เหี่ยวเฉาลงไปโดยปริยาย ทั้งมุมมองสองขั้วหรือ binary เช่นนี้ยังมีแนวโน้มจะลดทอนความซับซ้อนของประเด็นต่างๆ ให้เหลือแค่ไม่ถูกก็ผิด ไม่ขาวก็ดำ ทั้งที่ความเป็นจริงนั้นโลกย่อมสลับซับซ้อนมากกว่าจะถูกจำกัดแค่สองอย่างนี้มาก หรือจำกัดวงให้แคบลง การพิจารณาประเด็นต่างๆ โดยวางรากฐานอยู่บนศีลธรรมบางประการที่ผู้พูดถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิอันละเมิดมิได้ (เพราะละเมิดแล้วคุณคือคนชั่วช้า) เช่นนี้ ยิ่งทำให้การวิพากษ์วิจารณ์หดแคบลงอย่างน่าเศร้า -หรือไม่ใช่

น่าสนใจว่าปรากฏการณ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตอยู่เนืองๆ (จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยโดนใครมา ‘แปะป้าย’ จากทัศนคติต่อหน้าเหมือนกัน) แน่แท้ว่านี่ก็เป็นประเด็นเก่าแก่ที่พูดกันมายืดยาวว่า หลายครั้งเราก็เผลอไผลแสดงความเห็นโดยลืมไปว่า อีกฝั่งหนึ่งก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน รู้สึกเป็นเหมือนกัน แต่ก็อีกเช่นกัน คล้ายว่าพอเรากระโจนเข้าไปสู่การแสดงความเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ต ระบบตรรกะหลายคนก็สลับสับเปลี่ยนให้เหลือเพียงสองขั้วเท่านั้น

ผู้เขียนนึกถึงบทความของ เคม-เลาริน ลูบิน (Kem-Laurin Lubin) นักมานุษยวิทยาที่บอกว่าโลกอินเทอร์เน็ตทำให้ความหลากหลายของมนุษย์พร่าเลือนลง โดยเธอยกหนังสือเรื่อง Simians, Cyborgs and Women (1991) เขียนขึ้นโดย ดอนนา เจ ฮาราเวย์ (Donna J. Haraway) ซึ่งสำรวจพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคที่อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเติบโตรุดหน้าว่า “งานของฮาราเวย์ท้าทายให้เราพิจารณานิยามของความเป็นมนุษย์ในโลกที่เส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติกับสิ่งประดิษฐ์ (artificial) พร่าเลือน […] เราค่อยๆ ละมุมมองของเราต่อประเด็นบางเรื่องทิ้งไป ประหนึ่งว่าเราคือไซบอร์กที่ทำงานแบบสองขั้วเท่านั้น ทัศนคติของเราถูกกดดันให้เหลือเพียงไม่เลข 1 ก็เป็นเลข 0 โดยหลงเหลือพื้นที่ให้ความแตกต่างอื่นๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“ฮาราเวย์นำแนวคิดแบบสองขั้วเข้ามาเชื่อมกับโลกดิจิทัลและโลกยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern) ด้วยการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี กล่าวคือโลกตะวันตกนั้นดูมีแนวโน้มจะใช้แนวคิดแบบสองขั้วในฐานะของความแตกต่าง ไม่ขาวก็ดำ ขณะที่ปรัชญาฝั่งตะวันออก เช่น ลัทธิเต๋า เสนอแนวคิดเช่นนี้ด้วยแง่มุมแตกต่างออกไป อันจะเห็นได้จากแนวคิดเรื่องหยิน-หยางที่ให้ความหมายของการเป็นสองขั้วที่เป็นหนึ่งเดียวกันมากกว่าจะเน้นเรื่องความแตกต่าง […] นึกถึงการอ่านบทความที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อน แทนที่เราจะมุ่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของปัญหา, ประเด็นสำคัญของเรื่องและความเห็นต่างๆ ของผู้คนต่อประเด็นนี้ บ่อยครั้งผู้อ่านก็มักครุ่นคิดอยู่กับตัวเลือกเพียงสองข้อที่ว่า ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้เป็นเรื่องจริงหรือข่าวลวงกันนะ’ โดยมองข้ามรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะผลของงานวิจัย, เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยทั้งหมดนั้นถูกลดรูปลงให้เหลือแค่ว่าผู้อ่านจะ ‘เชื่อ’ หรือ ‘ไม่เชื่อ’ เท่านั้น”

อย่างไรก็ดี กลับมาที่เรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความเห็น สิ่งที่เป็นปริศนาอีกประการหนึ่งที่ควบคู่มากับการแปะป้ายคือการตัดสินว่า คนที่คิดไม่เหมือนฉันนั้นเป็นคนแบบไหน รู้สึกนึกคิดอย่างไร หรือท่าทีของการ ‘ผลักไส’ อีกฝ่ายให้เป็นคนไร้ศีลธรรมแค่เพราะความคิดเห็นบางอย่าง ก็ชวนให้สงสัยเรื่องพื้นที่ของความหลากหลายทางความคิด

น่าสนใจเหลือเกินกว่าครั้งหนึ่ง เราต่างก็เคยอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแปะป้ายว่าเป็น ‘คนดี’ – ‘ไม่ดี’ มาแล้วอย่างเข้มข้น สังคมที่บอกว่าเราเป็นใครและผ่องแผ้วแค่ไหนผ่านการแสดงออกไม่กี่อย่าง และเราต่างได้เป็นประจักษ์พยานของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากแนวคิดและสายตาแบบนี้มาแล้ว ก่อให้เกิดการตั้งคำถาม การรื้อโครงสร้างสถาบันอันที่เคยถูกสถาปนาว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือสถาบันอื่นใดที่ครอบงำสังคมอยู่ จนดูเหมือนเรื่องที่ว่า ‘การนับถือศาสนาไม่ได้แปลว่าคุณเป็นคนดี’ หรือ ‘การจงรักภักดีต่อสถาบันต่างๆ ประเทศไม่ได้หมายความว่าคุณผ่องแผ้วเหนือคนอื่น’ คล้ายเป็นสิ่งที่สังคมยุคนี้เข้าใจร่วมกัน กระนั้น ก็น่าสนใจแนวคิดแบบผลักไสคนที่ไม่คิดและไม่ได้เป็นเหมือนตัวเองจะถือกำเนิดขึ้น แต่เกิดขึ้นในมุมกลับ และมันไม่ได้มาในรูปลักษณ์หรือในนามของศาสนา ศีลธรรม แต่มาในใบหน้าแบบอื่น ชื่อเรียกแบบอื่น สิ่งที่มีเหมือนกันคือมันมาพร้อมบรรทัดของความถูกต้องดีงาม หรือความเชื่อว่าความจริงบางอย่างนั้นมีเพียงคำตอบเดียว -คือคำตอบที่พวกเขาเชื่อ พ้นไปจากนี้คือความผิด คือความไม่ถูกต้อง

แน่แท้ว่าความคิดหรือข้อคิดเห็นบางอย่างก็เป็นพื้นที่สีเทาซึ่งควรค่าแก่การแลกเปลี่ยนหรือโต้เถียงกัน -โดยที่ตระหนักรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสีเทา ไม่ใช่ขาวหรือดำสนิท- แต่หากเรายังเชื่อมั่นเรื่องความดีงาม ถูกต้องหนึ่งเดียว ใครเห็นต่างล้วนผิดไปจากนี้ เราจะเหมือนหรือต่างอะไรจากสังคมที่หมกมุ่นอยู่กับความดีงามถูกต้องโดยไม่เหลือพื้นที่ให้ความหลากหลาย หรือน่าเศร้ากว่านั้น เราจะต่างอะไรกับหุ่นยนต์หรือไซบอร์ก ที่คิดและวางทุกอย่างไว้เพียงแค่เลข 0 กับเลข 1 กันเล่า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save