fbpx

ภาวะ ‘เขาควาย’ (dilemma) ของโจ ไบเดน: ความอับจนของมหาอำนาจต่อหน้าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ผมได้ยินคนเปรียบเปรยปัญหาการเมืองไทยขณะนี้ โดยเฉพาะกรณีที่พรรคก้าวไกลกำลังเป็นเป้าการทำลายล้างจากอำนาจเก่าว่า เป็นเพราะก้าวไกลมองเห็น ‘ช้าง’ ในห้องแล้วบอกว่าจะทำให้ช้างไม่เป็นปัญหาของทุกคนในห้อง อาจด้วยการทำให้มันเล็กลงหรือเอามันออกไปจากห้อง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไรก็ตาม แต่อำนาจเก่าเขาไม่ต้องการ เพราะเขามองไม่เห็นช้างหรือเห็นแต่ก็พอใจที่จะอยู่กับมันได้ (เพราะได้กินขี้ช้างตามภาษิตโบราณกระมัง)

ในบทความนี้ผมจึงลองเปรียบเปรยปัญหาใหญ่สองเรื่องที่อเมริกาต้องเผชิญในเวลาและบริบทโลกเดียวกัน แต่ธรรมชาติและจุดหมายของสองวิกฤตนี้แตกต่างและตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง สหรัฐฯ จะทำอย่างไรกับสอง ‘ช้างศึก’ นี้ คือวิกฤตยูเครนและฉนวนกาซากับอิสราเอล


ทำไมอเมริกาจึงต้องไปยุ่งกับสองวิกฤตการเมืองโลก?

นี่เป็นคำถามที่พวกเราได้ยินและถามเองด้วยนับตั้งแต่เริ่มเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในยุคใกล้คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ไม่มีปัญหาและวิกฤตการเมืองที่มีผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกที่สหรัฐอเมริกาไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำไมถึงต้องไปเกี่ยวกับประเทศอื่นทั่วโลกด้วยเล่า พื้นเพก็ไม่ใช่จักรวรรดินิยมเหมือนรุ่นพี่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีเป็นอาทิ

การก่อเกิดและเติบโตของประเทศสหรัฐฯ จากยุคแรกมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 มองในภาพรวมผมคิดว่าเป็นผลพวงของการเสื่อมสลายและเปลี่ยนรูปแบบของประเทศจักรวรรดิเดิมมาสู่การเป็นรัฐชาติ แกนกลางของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาจากพัฒนาการของระบบทุนนิยมโลกที่เป็นพลังทางวัตถุในการขับเคลื่อนประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ สหรัฐฯ เป็นอาณานิคมโพ้นทะเลที่ได้ดิบได้ดีจากยุโรป เป็นเสมือน ‘การโคลนนิ่ง’ ยุโรปไปไว้ในทวีปอเมริกา เป็นอาณานิคมยุโรปแห่งเดียวที่ประสบความสำเร็จในการก่อสร้างและพัฒนาประเทศในทุกด้านเหมือนในยุโรป เมื่อถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐฯ ก็เป็นหนุ่มใหญ่พร้อมจะเข้ารับภารกิจจากยุโรปที่กำลังอยู่ในขาลง คำขวัญของอเมริกาในการประกาศเข้าร่วมสงครามต่อต้านเยอรมนีคือ ‘เราจะรักษาโลกนี้ให้ปลอดภัยเพื่อประชาธิปไตย‘ (making the world safe for democracy) นับจากนั้นเป็นต้นมา สหรัฐฯ เริ่มทำหน้าที่เป็น ‘แสงสว่างของประชาธิปไตย’

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การขยายอำนาจของสหภาพโซเวียตนำไปสู่การสร้างนโยบายต่างประเทศใหม่แก่สหรัฐฯ ที่เน้นไปที่การสร้างกำลังทหารอเมริกันเพื่อ ‘ควบคุม’ ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ให้เป็นอันตรายแก่สหรัฐฯ และโลก นั่นเป็นก้าวแรกของการเกิด ‘สงครามเย็น’ ที่ดำเนินไปอีกหลายทศวรรษจนกระทั่งถึงวาระสลายตัวของสหภาพโซเวียตในปี 1989 ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยวไป ก่อนที่จะเผชิญการท้าทายจากการก่อรูปขึ้นของบรรดาประเทศเล็กและกลางในระบบโลกาภิวัตน์ ที่สั่นคลอนฐานะนำของสหรัฐฯ ระบบการเมืองโลกเริ่มแปรเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหาร แทนที่สหภาพโซเวียตที่กลายมาเป็นรัฐชาติรัสเซียที่เริ่มรวมพลังใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีหัวเห็ดปูติน ที่วาดภาพรัสเซียในอนาคตที่จะเป็นมหาอำนาจเหมือนสมัยจักรวรรดิอีกวาระ ทั้งหมดนี้เป็นบริบทและโครงสร้างอำนาจระหว่างประเทศในปัจจุบัน


วิกฤตยูเครนและกาซา

ตอนที่รัสเซียบุกยึดยูเครน การเมืองอเมริกันเพิ่งเปลี่ยนผ่านผู้กุมอำนาจนำจากโดนัลด์ ทรัมป์มาสู่โจ ไบเดน พร้อมกับการครองเสียงข้างมากในรัฐสภาคองเกรสทั้งสองสภา ช่วงแรกของการบุกโจมตีอย่างสายฟ้าแลบของรัสเซียจนยึดเมืองชายแดนไปได้หลายแห่ง ยูเครนก็สู้รบตอบโต้อย่างทรหด แต่ขาดแคลนอาวุธทันสมัยและที่มีประสิทธิภาพสูง จนอเมริกาและอียูประกาศร่วมมือกันให้การสนับสนุนอาวุธและการเงินอย่างเต็มที่ ทำให้คนคิดว่ารัสเซียคงไม่สามารถยึดยูเครนได้แน่ ผนวกเข้ากับการบอยคอตเศรษฐกิจรัสเซีย ก็คาดกันว่ารัสเซียน่าจะไม่สมหวังในการยึดครองยูเครนแน่ ทั้งหมดนี้ทำให้นโยบายหนุนช่วยยูเครนในการต่อสู้อย่างดุเดือดกับรัสเซียสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและอบอุ่นยิ่ง ประธานาธิบดีเซเลนสกีเดินทางมาแสดงปาฐากถาในรัฐสภาคองเกรสอเมริกันหลายครั้ง อย่างไม่เคยมีผู้นำประเทศใดเคยได้รับมิตรไมตรีอบอุ่นระดับนี้

แต่เมื่อการเลือกตั้งกลางปีทำให้พรรครีพับลิกันขึ้นมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก๊กขวาสุดขั้วซึ่งเป็นสาวกของโดนัลด์ ทรัมป์ก็ออกมาคัดค้านการให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนอย่างไม่มีเงื่อนไข นำไปสู่การขู่ว่าจะตัดความช่วยเหลือที่รัฐบาลไบเดนต้องการส่งไปให้ยูเครน สร้างความลำบากแก่ประธานาธิบดีไบเดน เพราะเดโมแครตยึดเสียงข้างมากในวุฒิสภาเพียงนิดเดียว นำไปสู่การต่อต้านนโยบายยูเครนของไบเดนมากขึ้น จนถึงไม่ยอมผ่านกฎหมายให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนในขณะนี้

ท่ามกลางความตึงเครียดที่กำลังขมึงเกลียวมากขึ้นทุกวันในประเทศ ปัญหาวิกฤตยูเครนเริ่มดิ่งลงสู่ด้านรับ เมื่อถึงปีที่สองของการรบ กำลังทางทหารของรัสเซียไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงไปตามความคาดหมาย หากยังรุกระดมยิงจรวดเข้าใส่เมืองหลวงยูเครนอย่างไม่ลดละ ส่วนทหารราบก็ยังยึดพื้นที่สำคัญแนวชายแดนได้ดังเดิม ความหวังของยูเครนอยู่ที่การสนับสนุนช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เป็นหลัก

ทันใดนั้นในฉนวนกาซาซึ่งมีการประท้วงต่อต้านปะทะกันระหว่างชาวปาเลสไตน์กับกองกำลังอิสราเอลมาหลายสิบปี ก็เกิดกรณีสังหารโหดวันที่ 7 ตุลาคมจากการลงมือจู่โจมฉับพลันของฮามาส จากวันนั้นก็เปิดเวทีสงครามและวิกฤตการเมืองการทหารที่ยกระดับความรุนแรงและการทำลายล้างที่กดทับให้ยูเครนดูหดเล็กลงถนัดตา นั่นคือคำกล่าวหาและร้องเรียนจากองค์กรในสหประชาชาติที่ทำงานในพื้นที่นั้นเรียกว่า ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (genocide)

ปัญหาและความขัดแย้งในกาซาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งรุนแรงที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมากว่าเจ็ดทศวรรษ มูลเหตุของมันคือการอ้างสิทธิในการตั้งรกรากในดินแดนตะวันออกกลางที่อยู่ระหว่างอียิปต์และจอร์แดนภายใต้การจัดการของจักรภพอังกฤษหลังการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องการตอบแทนคนยิวที่ถูก ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ โดยระบอบนาซีเยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ด้วยการมอบที่ดินบริเวณนั้นซึ่งคนปาเลสไตน์ตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว นั่นคือการเริ่มต้นของความขัดแย้งที่กลายมาเป็นวิกฤตระหว่างชาวยิวอพยพที่ประสบความสำเร็จในการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในนามประเทศอิสราเอล ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ค่อยๆ กลายเป็นคนไร้รัฐและนานวันเข้าไร้ที่ทำกินและพักอาศัยจนกลายมาเป็น ‘ผู้อพยพ’ ในดินแดนของพวกเขาเอง เพราะชาวอิสราเอลและชาวยิวจากยุโรปพากันอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนฉนวนกาซานี้ พวกนี้ใช้กำลังข่มขู่ทำร้ายเพื่อขับไล่ชาวปาเลสไตน์ให้ออกไปจากดินแดนกาซาและฝั่งตะวันตก

การลุกขึ้นตอบโต้ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมด้วยการใช้กำลังเข้าโจมตีคิบบุตซ์และชาวอิสราเอลอย่างโหดเหี้ยม เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตความรุนแรงระลอกใหม่ ที่สร้างความตกตะลึงแก่คนทั่วโลกเพราะคาดไม่ถึงต่อวิธีการที่กองทัพอิสราเอลใช้ปราบกองกำลังฮามาสอย่างไม่ปราณีปราศรัยไม่เว้นแม้แต่เด็ก คนชรา ผู้หญิง รวมทั้งสถานที่ยกเว้น เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศาสนสถานล้วนตกเป็นเป้าของการโจมตีทั้งสิ้น

ประเทศที่แรกเริ่มไม่คิดว่าจะต้องมารับหน้าเสื่อในศึกใหญ่นี้คือสหรัฐอเมริกา แต่แรกคนนึกว่าอเมริกาจะทำตัวเป็นผู้ใหญ่เข้ามาไกล่เกลี่ยคลี่คลายปัญหาไม่ให้ลุกลามเป็นวิกฤตระดับโลก ตรงกันข้ามยิ่งการรบกันดำเนินต่อไปนานเข้า และขยายความเหี้ยมโหดออกไปจนมากกว่าปกติ ปรากฏว่าอเมริกากลายเป็นหนังหน้าไฟที่ปกป้องอิสราเอลแทนที่จะไปควบคุมหรือกดดันรัฐบาลเอียงขวาของอิสราเอลให้ดำเนินการรบตามกติกาสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งหมดไม่เป็นผล กระทั่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติต้องเสนอญัตติด่วนเพื่อให้มีการหยุดยิงในกาซา หรือให้อิสราเอลปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรม การเคลื่อนไหวของนานาชาติที่นำโดยแอฟริกาใต้ในการฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ล้วนถูกวีโต้โดยสหรัฐฯ สร้างความไม่พอใจแก่คนอเมริกันที่รักความเป็นธรรมและประชาคมทั่วโลกที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อเมริกาเป็นการใหญ่

วิกฤตระหว่างประเทศในกรณีปาเลสไตน์กับอิสราเอล แต่แรกคิดว่าคงจะนำไปสู่การเจรจาสองฝ่ายภายใต้การดำเนินการของสหรัฐฯ เพราะเป็นผู้ใหญ่สุดในดินแดนนี้ แต่หลังจากการสู้รบดำเนินมาได้หกเดือน สังหารคนปาเลสไตน์ไปกว่า 3 หมื่นคน ทำลายสถาบันทุกอย่างในกาซาราบเป็นหน้ากลอง เป็นโศกนาฏกรรมกลางแปลงที่ถ่ายทอดสดทุกนาทีไปทั่วโลกถึงในห้องนอนของคนทั่วโลก ทำให้ความรับรู้และอารมณ์ของคนทั่วโลกมีปฏิกิริยาต่อท่าทีและจุดยืนของสหรัฐฯ อย่างยิ่ง


ที่น่าเป็นห่วงคือ ในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างโจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแม้ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าจะต้องเป็นการสู้กันระหว่างสองผู้นำเฒ่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมาคะแนนโพลให้ทรัมป์นำไบเดนมานับหลายเดือน แม้ไม่ทิ้งห่างมาก แต่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่เป็นผลดีต่อผลคะแนนเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

ในหลายการหยั่งเสียงไพรมารีของพรรคเดโมแครต มีเสียงประท้วงต่อประธานาธิบดีไบเดนในหลายมลรัฐ ทำนองส่งเสียงให้รู้ว่าหากเขาไม่ยุติการโจมตีของอิสราเอลในกาซา พวกเขาอาจจะไม่ลงคะแนนเสียงให้ไบเดนก็ได้ ไม่น่าเชื่อว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ถูกยึดโยงกับนโยบายต่างประเทศในจุดเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ในภูมิภาคอันกว้างใหญ่ในโลกแต่ประการใด และก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมา คือยุติการสู้รบ ไม่ต้องใช้ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาหลายเรื่องไปช่วยแก้ปัญหาประเทศอื่น คราวนี้ทำง่ายมากเพียงแค่ไบเดนสั่งให้นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูยุติการโจมตีชาวปาเลสไตน์และหยุดขับไล่พวกเขาออกไป แต่ในความเป็นจริง ข้อเรียกร้องแค่นี้เป็นเรื่องใหญ่โตมากต่อรัฐบาลอิสราเอลที่ต้องการโจมตีทำลายล้างกองกำลังฮามาสและคนปาเลสไตน์ให้หมดสิ้นไปจากผืนดินนี้อย่างไม่ให้ผุดให้เกิดอีกเลย ว่าไปแล้วก็ตรงกับคำกล่าวหาที่ว่านี่เป็นการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

ล่าสุดคือคนเริ่มตระหนักและมองเห็นอย่างชัดแจ้งว่า นโยบายและยุทธศาสตร์ที่อิสราเอลมุ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวอย่างถาวร นั่นคือการทำลายล้างชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่อย่างถาวร ยุทธวิธีสุดท้ายที่ใช้คือการทำลาย(ฆ่า)ด้วยการทำให้ ‘อดตาย’ (starvation) เริ่มจากการปิดล้อมตัดน้ำตัดไฟและอาหารรวมถึงอุปกรณ์ทั้งหลายทั้งปวง ท้ายสุดคือการสังหารเจ้าหน้าที่ภายนอก ทั้งขององค์กรความช่วยเหลือแห่งสหประชาชาติและเอกชนอื่นๆ จากทั่วโลก ทำให้ไม่สามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์เหยื่อสงครามนี้ได้ นี่จึงเป็นการฆ่าอย่างเลือดเย็นโดยอิสราเอล อดีตเหยื่อของการ ‘ล้างเผ่าพันธุ์’ มาก่อน

นี่เป็น ‘เขาควาย’ ที่ผู้นำสหรัฐฯ ประสบอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ยากกว่าตอนที่ประธานาธิบดีวิลสันประกาศเข้าร่วมสงครามโลกต่อต้านเยอรมนี และต่อมาทรูแมน ‘จำกัดควบคุม’ สหภาพโซเวียต แต่ไบเดนกลับไม่อาจทำอะไรกับเนทันยาฮูได้เลย เป็นปริศนาแห่งยุคที่มหาอำนาจโลกติดกับจนแต้มต่อรัฐชาติเล็กแต่เหนียวแน่นทางเชื้อชาติและอุดมการณ์ ‘ไซออนิสม์’ ของตนอย่างไม่อาจประนีประนอมกับคนอื่นได้เลย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save