fbpx

ยามเมื่อลมพัดหวนที่ปักกิ่ง

บรรยากาศใน Pop Land ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะ Sun Park City ปักกิ่งพยายามปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปักกิ่งเผชิญอยู่อย่างหนักหน่วงในช่วงก่อน โอลิมปิก 2008

ผมไปเมืองจีนค่อนข้างบ่อย

แต่ส่วนมากก็จะวนเวียนอยู่กับจีนตอนใต้อย่างกวางโจว (เพราะอย่างที่คนจีนเขาพูดกัน “คนใต้ค้าขายเก่งกว่าคนทางเหนือ” นั่นเป็นสาเหตุ) สูงกว่านั้นก็จะมีเซี่ยงไฮ้บ้าง หนิงโปบ้าง การขึ้นเหนือไปถึงปักกิ่งครั้งสุดท้ายน่าจะประมาณปี 2010 หลังจากการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ​ กับโอลิมปิกครั้งประวัติศาสตร์ของโลกที่จีนเมื่อปี 2008 ได้แค่สองปี

หากใครเกิดทัน ก็จะรู้ว่าในครั้งนั้นถือเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของจีนต่อสายตาคนทั่วโลกแบบยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถหาผลประโยชน์จากการจัดโอลิมปิกได้อย่างที่จีนทำสำเร็จ สิ่งสำคัญที่สุดคือผมคิดว่ามันสร้างความภาคภูมิใจให้คนในชาติ โดยเฉพาะคนปักกิ่งเองก็รู้สึกถึงการเป็นเจ้าบ้านมากกว่าเมืองอื่นๆ และมันทำให้เมืองที่แสนเย็นชาแห่งนี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง  

ปักกิ่งมีความพิเศษอยู่หลายอย่าง สมัยก่อนคนมณฑลอื่นมักพูดถึงปักกิ่งในทำนองว่าเป็นเมืองเชยๆ คนเย็นชา อากาศหนาว เต็มไปด้วยมลพิษไม่น่าอยู่ ผมจำได้ว่าตอนที่ผมไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ปักกิ่งเจอทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งพายุทรายจากทะเลทรายโกบี ซึ่งห่างจากปักกิ่งเพียง 750 กิโลเมตร พัดโจมตีปักกิ่งเป็นระยะๆ ปักกิ่งรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ดีและพยายามแก้ปัญหาตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ปักกิ่งยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยจักรยานจอดระเกะระกะ ขยะตามแหล่งชุมชน ไม่แตกต่างจากภาพที่เราเห็นในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ แม้แต่ต้นไม้ก็ไม่ได้ตัดแต่งสวยงามและมีปริมาณน้อยกว่านี้มากอย่างเห็นได้ชัด 

แต่ปัจจุบันข้อมูลอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลจีนระบุว่าปักกิ่งมีต้นไม้ประมาณ 1,050 ล้านต้น มีพื้นที่สีเขียวทั้งหมดเกือบ 2,625,000 ไร่ คิดเป็น 37% ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่สีเขียวของต้นไม้คิดเป็น 53% ของพื้นที่สีเขียวทั้งหมดโดยเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 50 ตารางเมตร จำนวนต้นไม้ที่เพิ่มขึ้นในปักกิ่งจนได้หลายพันล้านต้น มาจากนโยบายของจีนในปี 2011 ประกาศแผนเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในกรุงปักกิ่งเป็น 40% ภายในปี 2020 ซึ่งก็ทำได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในปักกิ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศได้ดีทีเดียว เพื่อนปักกิ่งของผมบอกว่าหากวัดจากการที่โดนพายุทรายถล่มหนักๆ มานาน ตอนนี้ถือว่าความรุนแรงลดลงอย่างมาก เพราะมีต้นไม้กรองฝุ่นได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งนโยบายการส่งเสริมให้ทำการเกษตรในพื้นที่ทะเลทรายโกบี โดยเฉพาะการปลูกแตงโม (ซึ่งคนจีนชอบกินและปลูกแข่งกันเรื่องความหวานมาก จนเรียกว่าเป็นความคลั่งไคล้ก็ว่าได้) ทำให้ปัญหาพายุทรายลดลง ส่วนเรื่องฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 ก็ลดลงอย่างมากทีเดียว

ข้อมูลจาก Climate Action Tracker ซึ่งเป็นองค์กรที่ประเมินเรื่องนโยบายของรัฐที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รายงานว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในปักกิ่งมีแนวโน้มลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ยังคงอยู่ในระดับที่ ‘ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ’ อ้างอิงตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก(WHO) ที่กำหนดว่าค่า PM2.5 ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ถึงอย่างนั้น เรามาดูสิ่งที่ปักกิ่งทำได้กัน ปี 2013 ปริมาณ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 58.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัยอยู่พอสมควร แต่อีกสิบปีถัดมา ปี 2021 ปริมาณ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีลดลงเหลือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นั่นหมายถึงลดลงได้มากถึง 40% ส่วนข้อมูลในปี 2023 ณ วันที่ 25 เมษายน ปริมาณ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าก็ทำได้น่าประทับใจ

ไม่เพียงแต่การเพิ่มต้นไม้ให้มากขึ้น การทำงานของกรุงปักกิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังมีทั้งเรื่องลดการใช้พลังงานฟอสซิลลง การปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมรอบๆ กรุงปักกิ่ง (และทั่วประเทศก็ดำเนินรอยตามเมืองหลวงเช่นกัน) การเติบโตของปริมาณการใช้รถไฟฟ้าในปักกิ่งอย่างมหาศาล ซึ่งไม่ใช่แค่รถยนต์ส่วนบุคคล แต่รวมถึงรถจักรยานยนต์ รถบรรทุกและขนส่งมวลชน ทั้งหมดทยอยเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานแบตเตอรี่กันมากพอสมควร

ข้อดีของการใช้พลังงานทางเลือกเหล่านี้นอกเหนือจากลดมลพิษทางอากาศอย่างมากแล้ว ผลพลอยได้คือมลพิษทางเสียงก็ลดลงตามไปด้วย ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ปักกิ่งมีมลพิษทางเสียงลดลง 8% เมื่อเทียบจากปี 2013-2023 กระนั้นก็ยังเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่ดี (ปัจจุบันมลพิษทางเสียงไม่ควรเกิน 55 เดซิเบล แต่ปักกิ่งอยู่ที่ 65 เดซิเบล)

ตัวเลขพวกนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ความพยายามในการทำงานของกรุงปักกิ่ง รวมเข้ากับการทุ่มเททั้งงบประมาณและมาตรการทางสังคม (โดยเฉพาะการตัดแต้มคนดีผ่านข้อมูลบิ๊กดาต้าของประชาชน) จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่มลพิษก็ยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่ดีนะครับ ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย ต้นไม้เขียวขจีไปทั้งเมือง ปักกิ่งก็ยังไม่ใช่เมืองสะอาด ไปปักกิ่งทริปนี้กลับมาผมยังโดนลูกหลงจากมลพิษทางอากาศ มีอาการเจ็บคอรุนแรง ติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึงอาการจมูกตันน้ำมูกเขียว

พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ อาการผมยิ่งแย่ลงไปอีก ซึ่งไม่ได้แย่เพียงแค่กายภาพ แต่ยังแย่ไปถึงสภาพจิตใจ

เพราะหากมองย้อนไปที่นโยบายของรัฐบาลต่อการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม เอาเฉพาะฝุ่น PM2.5 เรื่องเดียว เราก็ยังไม่เห็นอะไรที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน

หากประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรและอำนาจทางการเมืองเบ็ดเสร็จอย่างจีนยังใช้เวลากว่าทศวรรษในการแก้ปัญหามลพิษ ซึ่งก็ยังไม่ใช่ว่าจะทำสำเร็จ แล้วประเทศของเรา ที่ยังไม่เริ่มเอาจริงเอาจังกัน เมื่อไหร่จะแก้ปัญหานี้ได้

ปัจจุบันจีนยังมีปัญหาเรื่องผู้ป่วยที่เกิดจากโรคทางเดินหายใจจากมลพิษทางอากาศจำนวนไม่น้อย กลุ่มกรีนพีซประมาณการว่ามีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวอยู่ที่ปีละประมาณ 4 ล้านคน คิดเป็น 8% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในแต่ละปีของประเทศจีน สำหรับประเทศไทย ข้อมูลของกรีนพีซในปี 2566 ประเมินว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ประมาณ 20 ล้านคน คิดเป็น 29% ของประชากรไทย น่าเสียดายที่เรายังไม่มีการเก็บสถิติผู้เสียชีวิต ซึ่งนั่นก็เป็นตัวสะท้อนอย่างหนึ่งว่า รัฐบาลไม่ได้มองว่าปัญหานี้เร่งด่วน

เท่ากับการหาแหล่งเงินมาแจกประชาชน 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save