fbpx

“Barbie (2023) เป็นเฟมินิสต์เกินไป (?)” : สำรวจประเด็นจิกกัดปิตาธิปไตยในโลกสีชมพู

“บาร์บี้เป็นหนังเฟมินิสต์ที่ woke เกลียดผู้ชาย และอยากได้สังคมหญิงเป็นใหญ่” คือเสียงครหาหลังภาพยนตร์ Barbie (2023) เข้าฉายตั้งแต่วันแรก ในขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งเห็นว่า ‘เกรต้า เกอร์วิก’ ผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์ในการทำภาพยนตร์เรื่องผู้หญิง ได้หยิบประเด็นปัญหาแสบเจ็บปวดที่ผู้หญิงต้องเผชิญมาตลอดชีวิตมาถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี ภายใต้แนวคิดเฟมินิสต์อันหมายถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างคนทุกเพศ และโอบรับทุกอัตลักษณ์ความหลากหลายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

101 ชวนสำรวจความเป็นเฟมินิสต์ที่ซุกซ่อนอยู่ในโลกสีชมพู ตามหาความหมายของชีวิตของบาร์บี้กับเคน เพื่อถกเถียงและร่วมหาคำตอบในตอนท้ายว่า Barbie (2023) ยัดเยียดเรื่องสิทธิทางเพศมากเกินไป หรือสะท้อนสังคมชายเป็นใหญ่ได้จริง

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

ความหลากหลายของบาร์บี้

ผมบลอนด์ เอวคอด ขายาว ส้นเท้ายกสูง คือภาพของบาร์บี้พิมพ์นิยมแบบที่ทุกคนนึกถึงเมื่อพูดถึงตุ๊กตาบาร์บี้ ซึ่งถ้าดูผู้หญิงในชีวิตจริงที่มีรูปร่างหน้าตาต่างจากนั้น ก็กล่าวได้ว่าบาร์บี้ห่างไกลจากคำว่าสนับสนุนความหลากหลายเลยทีเดียว ในมุมหนึ่งเธอจึงดูเหมือนจะมีแนวคิดแบบ White Feminist ซึ่งสนใจแต่สิทธิของผู้หญิงผิวขาว รักคนต่างเพศ และอาจไม่ได้สนใจในอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนไปกว่านั้นอย่างหญิงผิวดำ หญิงเอเชีย หญิงข้ามเพศ และอื่นๆ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตุ๊กตาบาร์บี้ได้ถูกพัฒนาไปในหลายรูปแบบ ทั้งการมีสีผมสีอื่นนอกจากสีบลอนด์ สีผิวนอกจากผิวขาว และมีบาร์บี้ในหลากอาชีพ เช่นเดียวกันกับในภาพยนตร์ ที่ใน Barbie Land หรือโลกของบาร์บี้ประกอบไปด้วยบาร์บี้หลายรูปแบบ ทั้งบาร์บี้พิมพ์นิยมที่เป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก (รับบทโดย มาร์โกต์ ร็อบบี้) บาร์บี้ผิวดำ บาร์บี้ผอม บาร์บี้อ้วน

นอกจากนั้น ยังมีบาร์บี้ที่รับบทโดยนักแสดงหญิงข้ามเพ​ศ (Trans woman) (รับบทโดย ฮารี เนฟ) ที่แม้ในโลกความจริง คนจะยังกีดกันและไม่ยอมรับว่าหญิงข้ามเพศเป็นผู้หญิง แต่ใน Barbie Land มองเห็นเธอเป็นผู้หญิงทั่วไป โดยฮารี เนฟ ยังระบุว่าตอนเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแสดงในบทนี้ ทีมงานไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ หรือขณะโปรโมทภาพยนตร์ ก็ไม่ได้มีการระบุว่าเธอเป็นบาร์บี้หญิงข้ามเพศแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าหญิงข้ามเพศก็คือผู้หญิงคนหนึ่ง ไม่ได้แตกต่างหรือแปลกแยก และสมควรได้รับการเคารพในฐานะมนุษย์เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ใน Barbie Land ที่เหมือนจะเป็นโลกที่ยอมรับทุกความหลากหลายในอุดมคติ ยังมีคนที่ถูกกีดกันออกไปจากสังคม ถูกพูดถึงในด้านที่ไม่ดี และไม่มีใครอยากไปยุ่งด้วย อย่างบาร์บี้เพี้ยน (Weird Barbie) (รับบทโดย เคท แมคคินนอน) ซึ่งเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ที่ถูกเด็กๆ เอาสีแต่งแต้มจนหน้าเลอะเทอะ เอาไปเล่นท่าแปลกๆ อย่างการจับเธอฉีกขาหรือถอดแขนออกไป แต่ในฐานะตัวละครหนึ่งในโลกของบาร์บี้ บาร์บี้เพี้ยนอาจสะท้อนให้เราเห็นว่ายังมีคนที่มีอัตลักษณ์แปลกไปจากค่านิยมของคนในสังคม และยังคงไม่ถูกรวมเป็นพลเมืองที่ได้รับการยอมรับอยู่ดี

ทุกพื้นที่มีแต่บาร์บี้ VS. ทุกพื้นที่มีแต่เคน

คนงานก่อสร้าง หมอ เจ้าของรางวัลโนเบล หรือแม้แต่ประธานาธิบดี เรารู้กันดีว่าสิ่งเหล่านี้มักเป็นพื้นที่ของผู้ชาย แต่ไม่ใช่สำหรับ Barbie Land เพราะ “บาร์บี้คือทุกอย่าง และทุกอย่างคือบาร์บี้!” ทุกบทบาทเป็นของ ‘บาร์บี้’ แต่ละคน (ใช่ แทบทุกตัวละครหญิงในบาร์บี้แลนด์ชื่อบาร์บี้เหมือนกันหมดนั่นแหละ) บาร์บี้จึงเชื่อว่าตนเป็นตัวแทนในการสร้างแรงบันดาลใจและความมั่นใจให้เด็กสาวทั่วโลก ว่าผู้หญิงจะสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็นหากมีความตั้งใจมากพอ

แต่บาร์บี้กลับโดนโลกแห่งความจริงตีแสกหน้า เมื่อเธอพบว่าที่นี่แทบจะตรงข้ามกับ Barbie Land ที่เธอรู้จักมาทั้งชีวิต ทุกอาชีพที่กล่าวไปเป็นของผู้ชาย และบทบาทที่ผู้หญิงเป็นได้ไม่ใช่ตำแหน่งผู้นำ หากแต่ต้องเป็นผู้ตาม และการเป็นแม่ที่เลี้ยงดูลูกเท่านั้น แม้กระทั่งของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงในอดีตก่อนบาร์บี้จะถือกำเนิด ยังต้องเป็นตุ๊กตาเด็กทารกที่ให้เด็กหญิงได้ลองเล่นสวมบทบาทความเป็นแม่

อย่างไรก็ดี โลกความจริงใบนี้กลับทำให้ ‘เคน’ ตาเป็นประกาย จากชีวิตใน Barbie Land ที่เขาไม่มีบทบาทใดเลยนอกจากการเป็นแฟนของบาร์บี้ (ที่จริงๆ แล้วบาร์บี้ก็ไม่ได้สนใจเขาสักเท่าไร) เขาได้รู้จักกับนิยามของโลกใหม่อย่าง ‘ปิตาธิปไตย’ และเมื่อค้นพบความจริงของโลกที่น่าพึงพอใจเช่นนี้ เคนจึงไม่รอช้า รีบมาปฏิวัติ Barbie Land จนกลายเป็น KenDom โดยเปลี่ยนประธานาธิบดีบาร์บี้ บาร์บี้นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล บาร์บี้นักเขียน บาร์บี้นักกีฬา บาร์บี้หมอ และทุกบาร์บี้ให้กลายเป็นแค่สาวข้างกายของเคน บาร์บี้ทุกคนโดนล้างสมองว่าคุณค่าของเธอถูกยึดติดไว้กับเคน และหน้าที่อันสูงสุดคือการอยู่เคียงข้างและคอยปรนนิบัติ คอยหยิบเบียร์ให้เคนอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเพียงเท่านั้น

การส่งเสริมผู้หญิง เพียงลมปากของผู้ชาย หาใช่การกระทำ

ระหว่างที่เคนกำลังเพลิดเพลินกับการเปลี่ยนให้โลกทั้งใบเป็นของเขา บาร์บี้ได้ไปเยือนบริษัท Mattel หรือที่เธอเรียกว่า ‘ยานแม่’ ด้วยเป็นบริษัทที่สร้างบาร์บี้ขึ้นมา ทำให้เริ่มมีความหวังว่าคงจะมีคนช่วยเธอเข้าใจความจริงของโลกใบนี้ได้ แต่ก็โดนทำร้ายจิตใจซ้ำอีก เมื่อพบว่าผู้บริหารสูงสุดทุกคนของบริษัทที่สร้างตุ๊กตาที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิง ล้วนเป็นผู้ชายทั้งสิ้น แม้ดูเผินๆ จะไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดบริษัทที่มีปรัชญาการสร้างตุ๊กตาให้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น กลับไม่ให้ผู้หญิงได้มีอำนาจในการบริหาร

“ผมรักผู้หญิงนะ ผมก็เป็นลูกชายของแม่ เป็นหลานของป้า ผู้หญิงนั้นสำคัญ” คือคำกล่าวของ CEO ของ Mattel ในเรื่องหลังถูกตั้งคำถามจากบาร์บี้ ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะนึกถึงโลกความจริง กับประโยคยอดฮิต “ผมก็มีเพื่อนเป็น LGBTQ+” ที่มักได้ยินหลังชายคนนั้นโดนกล่าวหาว่าไม่ยอมรับผู้หญิงและเพศหลากหลาย หรืออย่างช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนไพรด์ เดือนแห่งการเฉลิมฉลองและเรียกร้องความหลากหลายทางเพศ หลายบริษัทต่างตกแต่งด้วยสีรุ้ง แต่กลับยังมีนโยบายหรือวัฒนธรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อเพศหลากหลายและผู้หญิง

การฉาบหน้าบริษัทด้วยสีรุ้ง สีชมพู หรือด้วยคำพูดสวยหรู จึงไม่ได้สะท้อนถึงการยอมรับในเพศอื่นๆ นอกจากผู้ชายได้เท่ากับการกระทำ การไม่ให้โอกาสและพื้นที่ในที่ทำงานและพื้นที่ในสังคมต่อผู้หญิงและเพศหลากหลายของผู้ชาย อย่างที่ CEO ของ Mattel ในภาพยนตร์ยอมรับว่าเคยไล่ผู้บริหารหญิงออกไปก่อนหน้านี้ ได้สะท้อนว่านี่คือโลกที่คนจะมีอำนาจได้ต้องเป็นผู้ชายต่างหาก

ผู้ชายเกลียดผู้หญิง และผู้หญิงก็เกลียดผู้หญิงด้วยกัน นั่นแหละความจริงของโลก

แม้การกีดกันผู้หญิงจากโอกาสต่างๆ จะดูเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากแล้ว แต่ผู้หญิงก็ยังไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยอีกด้วย “ฉันรู้สึกไม่ปลอดภัยเลย” คือคำกล่าวของบาร์บี้ตั้งแต่ก้าวเข้ามาในโลกความจริงได้ไม่กี่นาที เธอโดนสายตาจากผู้ชายที่ทั้งจับจ้องและโลมเลีย แซวรูปร่างของเธอจากชุดที่รัดรูป และเดินเข้ามาจับก้นของเธอ

ถึงบาร์บี้จะเป็น ‘ตุ๊กตา’ แต่เธอก็ไม่เคยถูกทำให้กลายเป็น ‘วัตถุ’ ทางเพศ​ (sex object) ของใครเช่นนี้มาก่อน เมื่อโดนคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ เธอจึงทนไม่ไหวที่จะสวนหมัดออกไปใส่คนที่มาจับก้นของเธอก่อน แต่น่าตลกร้ายที่ฉากหลังจากนั้น บาร์บี้ต้องขึ้นโรงพักในข้อหาทำร้ายร่างกาย ทั้งที่เธอถูกคุกคามทางเพศก่อนด้วยซ้ำ

สิ่งที่บาร์บี้ได้รับ สะท้อนถึงโลกความเป็นจริงที่เหยื่อจากการคุกคามทางเพศมักไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งจากการไม่สามารถหาหลักฐานได้ หรือการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ใส่ใจมากพอ อย่างในประเทศไทยมักปรากฏผู้ที่มาเล่าประสบการณ์การแจ้งความเรื่องการโดนคุกคามทางเพศ ว่าตำรวจไม่รับเรื่องเพราะเห็นว่ายังไม่เกิดอะไรอันตรายถึงชีวิต บ้างอ้างว่าเป็นเรื่องในครอบครัว หรือแม้กระทั่งมองว่าเป็นเรื่องตลกไปเสียอย่างนั้น

ไม่เพียงแต่การถูกทำร้ายจากผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงเองก็เกลียดชังผู้หญิงเหมือนกัน (internalised misogyny) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงอย่างบาร์บี้ที่ ‘มีความเป็นหญิง’ (feminine) สูง ทั้งทรงผม เสื้อผ้า การแต่งหน้า และการแสดงออก ทำให้เธอดู ‘เป็นผู้หญิงจนเกินไป’ ผู้หญิงในโลกนี้จึงไม่ต้อนรับเธอ ทั้งการใส่ชุดสีนีออนรัดรูปที่ทำให้ผู้หญิงชี้มองมาที่เธอแล้วหัวเราะ หรือการถูกตราหน้าว่าเป็นแค่คนสวยแต่ไม่มีสมอง เหมือนที่ในโลกความจริงเรามักจะเห็นคนที่มีความเป็นหญิงมากถูกเกลียดชังอยู่บ่อยครั้ง ผ่านวลีอย่าง “ผู้หญิงทำตัวเรียบร้อยแบบนี้มักจะแรดเงียบ” หรือ “ผู้หญิงด้วยกันดูออก”

เพราะ ‘เฟมินิสต์’ ไม่ได้เกลียดผู้ชาย แต่เกลียดระบอบปิตาธิปไตยที่ทำร้ายทุกคน รวมถึงทำร้ายผู้ชายด้วย

ตัดภาพกลับมาที่โลกของบาร์บี้ที่กลายเป็น KenDom ระหว่างที่เคนเสวยสุขกับอาณาจักรที่เขาสร้างขึ้นจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ แต่ความเป็นชายเริ่มชักจะเป็นพิษ (toxic masculinity) เพราะเคนไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงความอ่อนแอ เคนทุกคนต้องการมีอำนาจเหนือเคนคนอื่น อยากแข็งแกร่งเหนือเคนคนอื่น จนนำมาสู่การแบ่งแยกและต่อสู้กัน

ขณะนั้นเองจึงเป็นจังหวะที่ทำให้เหล่าบาร์บี้นำอำนาจคืนมาสู่ผู้หญิงได้​ โดยมาจากทั้งเหล่าบาร์บี้ที่ช่วยเหลือกัน รวมถึง ‘อัลลัน’ (รับบทโดย ไมเคิล เซรา) ตัวละครชายที่ตั้งแต่เป็นตุ๊กตาเขาก็อยู่ในเงาของเคน และในภาพยนตร์เองก็ไม่ถูกรวมกลุ่มกับเคนเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับระบบปิตาธิปไตยที่เคนใช้ปกครอง เขาจึงเป็นอีกกำลังสำคัญของเหล่าบาร์บี้ที่ช่วยนำ Barbie Land กลับมาได้ อัลลันจึงเป็นตัวแทนของผู้ชายที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ แต่ตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียม และเห็นด้วยกับการที่สังคมควรมีความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งในโลกความจริง ผู้ชายหลายคนที่สนับสนุนเฟมินิสต์ก็มักจะโดนกีดกันเหมือนอัลลัน ทั้งการแปะป้ายว่า “ทำเพื่อเอาใจผู้หญิง” หรือมองว่า “ป๊อด” ที่ไม่แสดงความเป็นชายที่มีอำนาจเหนือออกมา

หลังจากบาร์บี้ได้ Barbie Land คืนมา เธอทบทวนอยู่ครู่หนึ่งว่านี่คือสิ่งที่เธอต้องการจริงหรือ เมื่อได้สัมผัสแล้วว่าโลกที่เป็นแค่ของเพศใดเพศหนึ่งนั้นสร้างความเจ็บปวดให้กับทั้งตัวเองและคนอื่นๆ เพียงไหน เธอจึงเปิดใจกับเคน เพื่อสื่อให้เขารับรู้ว่าเขาเป็นคนที่มีความหมาย และเป็นใครสักคนใน Barbie Land เช่นกัน โดยเคนไม่จำเป็นต้องนำตัวเองมาผูกไว้กับบาร์บี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนของบาร์บี้ แต่เขาคือ ‘เคน’ ที่สมบูรณ์ในตัวเอง และจะเป็นอะไรก็ได้อย่างที่เขาต้องการ

เหล่าบาร์บี้ได้เปิดพื้นที่ในหลากหลายอาชีพ หลายบทบาทที่เดิมทีผูกขาดไว้กับแค่บาร์บี้ด้วยกัน ให้เคนได้เข้ามามีส่วนร่วม และมองเห็นเขาเป็นใครสักคนในโลกใบนี้จริงๆ แม้เคนจะยังขึ้นมารับบทบาทที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้ แต่ก็เริ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมบ้างแล้ว ก็คงเหมือนกับในโลกความจริงที่การเปลี่ยนแปลงสู่ภาพอุดมคติที่ผู้หญิงและเพศหลากหลายทัดเทียมกับผู้ชายอย่างแท้จริงอาจไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่ายหรือโดยทันที แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะยังคงภาพฝันนั้นไว้ เพราะไม่มีใครสมควรกับความรู้สึกไร้ค่าและไม่มีตัวตน เหมือนที่ผู้หญิงและเพศหลากหลายในโลกความจริงยังเผชิญอยู่ทุกวันนี้

ในวันนี้คุณอาจเป็นเหมือนบาร์บี้ เคน อัลลัน แต่ถึงตรงนี้เราคงเห็นตรงกันได้เรื่องหนึ่งคือ Barbie (2023) ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการเกลียดชังผู้ชายอย่างที่เขาหลอกลวง หากแต่เป็นการฉายภาพให้เห็นว่าปิตาธิปไตยทำร้ายทุกคน แม้กระทั่งกับผู้ชายด้วยกันเอง เพราะปิตาธิปไตยไม่อนุญาตให้เราเป็นตัวเอง และต้องแสดงไปตามบทบาทที่สังคมวางไว้

ดังนั้นหากความเท่าเทียมทางเพศมีจริง เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบาร์บี้ เคน หรืออัลลัน แต่แค่ได้เป็นใครสักคนในโลกที่อนุญาตให้เราเป็นตัวเองได้ก็เพียงพอ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save