fbpx

มาเลเซีย 2023 – มหาเธร์ไปแล้ว แต่ ‘มหาเธร์ริซึม’ ไปหรือยัง

Mohd RASFAN / AFP ภาพประกอบ

มาเลเซียต้นปี 2023 ในบรรยากาศที่ความตื่นเต้นของการเลือกตั้งทั่วไปและการลุ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเฉียดฉิวของนายอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ซาลง สิ่งที่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นทีละน้อยคือสงครามการเมืองที่ยังเป็นคลื่นใต้น้ำ กับคำถามว่าวิถีการเมืองแบบใหม่ที่คนอย่างน้อยครึ่งประเทศหวังจะเห็น จะเข้าหลักชัยเป็นวิถีใหม่ของประเทศได้สำเร็จหรือไม่ 

ในระยะเวลา 60 ปีหลังการก่อตั้งประเทศ การเมืองระดับสูงของมาเลเซียถูกครอบงำด้วยเกมชิงอำนาจแบบเตะตัดขา แบล็กเมล แทงข้างหลัง ทรยศซึ่งหน้า พลิกลิ้นฆ่าคน ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร ฯลฯ อันเป็นกระบวนท่าหลักของสำนักอัมโน (United Malays National Organisation – UMNO) พรรคการเมืองเก่าแก่ที่ก่อตั้งในปี 1946 ก่อนการถือกำเนิดอย่างเป็นทางการของประเทศ

เมื่อแรกก่อตั้ง อัมโนเป็นพรรคชาตินิยมที่เสนอตัวเป็นตัวแทนชาวมลายูในการต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ต่อมาเมื่ออังกฤษมีทิศทางสนับสนุนการปกครองโดยกลุ่มชนชั้นนำเชื้อสายมลายู อัมโนค่อยๆ ปรับแนวทางของตนเป็นพรรคที่เรียกร้องสิทธิพิเศษให้ประชากรภูมิบุตร ร่วมมือกับอังกฤษในการต่อต้านพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่สนับสนุนแนวทางมลายูนิยมและต่อต้านอาณานิคม โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (The Malayan Communist Party – MCP) การจับมือประสานผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายประสบผลสำเร็จ พรรคคอมมิวนิสต์มลายากลายเป็นพรรคผิดกฎหมายล่าถอยไปจับปืนสู้ในป่าเขา  ส่วนอัมโนโดดเด่นกลายเป็นพรรคการเมืองผู้กำหนดทิศทางของประเทศนับแต่มาเลเซียประกาศอิสรภาพจากอังกฤษในปี 1957

นับแต่นั้น ประธานพรรคอัมโนคือผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศจากการนำพาแนวร่วมพรรคการเมือง บาริซาน เนชีนแนล (Barisan National – BN) ชนะเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกันมาเป็นเวลา 60 ปี จนกระทั่งพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2018

การครองอำนาจสูงสุดของประเทศติดต่อกันถึง 6 ทศวรรษพิสูจน์ว่าอัมโนไม่ใช่พรรคการเมืองธรรมดา แต่เป็นพรรคแมคเคียเวลเลียน (Machiavellian) ในระดับที่นิกโกเลาะ แมคเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli) ต้องยกนิ้วให้ บรรดาขุนพลหรือ ‘The Prince(s)’ ของสำนักล้วนเชี่ยวชาญสรรพวิชาทำลายล้างทางการเมืองดังที่อธิบายไว้ข้างต้น แต่มีเพียงผู้เดียวที่ทะยานอย่างโดดเด่นเหนือใครเพื่อนจนเป็น ‘King’ นั่นคืออดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ผู้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อครั้งเป็นประธานพรรคอัมโน และเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซียที่อยู่ในตำแหน่งยาวนาน 22 ปีระหว่างปี 1981-2003 กลายเป็นเจ้าของฉายาสถาปนิกแห่งมาเลเซียยุคใหม่ (The Architect of Modern Malaysia) จากการนำพาประเทศจากสังคมเกษตรกรรมสู่ความเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และขยายฐานชนชั้นกลางทั่วประเทศ    

จึงไม่แปลกที่ความพ่ายแพ้ยับเยินของมหาเธร์ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 กลายเป็นข่าวที่เหนือความคาดฝันของทุกคนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตัวเขาเอง มหาเธร์เสียที่นั่งในเขตเลือกตั้งที่เกาะลังกาวีที่ตนเองครองมาเป็นเวลานานให้กับผู้สมัครจากแนวร่วมเปอริกาตัน เนชันแนล (Perikatan Nasional – PN) ในบรรดาผู้สมัคร 369 คนจากพรรคเปอจวง (Pejuang) ของเขาไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งเลย มิหนำซ้ำทั้งมหาเธร์และผู้สมัครทุกคนได้รับคะแนนเสียงไม่ถึง 10% ในพื้นที่ของตน จึงต้องถูกยึดเงินประกันการเลือกตั้งรายละ 10,000 ริงกิตตามกฎหมายเลือกตั้ง ถือเป็นการแพ้เลือกตั้งที่น่าอับอายเป็นอย่างยิ่งตามมาตรฐานการเมืองมาเลเซีย

นักวิเคราะห์ในมาเลเซียพยายามอธิบายสาเหตุของความพ่ายแพ้ครั้งนี้ บ้างชี้ว่าเป็นเพราะแนวทางการเมืองแบบมลายูนิยมที่มหาเธร์ใช้เป็นอาวุธในการหาเสียงไม่สามารถสู้กับกระแสอิสลามนิยมที่ PN จุดขึ้นมาได้ บ้างก็ว่าเพราะความโกรธแค้นของผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่หน่ายกับความเจ้าเล่ห์ทางการเมืองของมหาเธร์ที่เตะสกัดดาวรุ่งอันวาร์ อิบราฮิม ไม่ยอมส่งต่อตำแหน่งนายกฯ ให้ตามสัญญาจนเป็นสาเหตุหนึ่งให้รัฐบาลปากาตันฮาราปัน (Pakatan Harapan – PH) ที่ชนะเลือกตั้งถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าต้องล่มไปก่อนเวลาอันควร และบางคนก็เชื่อว่ามนต์ขลังของมหาเธร์หมดลงแล้วในสายตาของคนรุ่นใหม่ๆ เขากลายเป็นอดีตผู้นำชราที่ท่วงทำนองทางการเมืองไม่โดนใจผู้มีสิทธิออกเสียงยุคปัจจุบันอีกต่อไป 

แม้ว่ามหาเธร์จะกัดฟันยอมรับความพ่ายแพ้ส่งสัญญานอำลาเวทีการเมืองในวัย 97 ปีด้วยการประกาศผ่านเฟสบุ๊กว่า นับแต่นี้ตนจะใช้เวลาที่เหลือเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาเลเซีย แต่ในมาเลเซียรู้กันดีว่าการวางมือทางการเมืองการของเขาไม่ใช่เรื่องสมัครใจ แต่เป็นการถูกพิพากษาโดยประชาชนคนธรรมดาที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง  

สำหรับมหาเธร์ การเมืองคือที่พำนักถาวร แม้แต่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคอัมโนในปี 2003 ก็ไม่ได้ทำให้เขาลดบทบาทลงแม้แต่น้อย ตรงข้ามเขากลับวางตัวเองไว้ในจุดของ kingmaker ใช้กลเม็ดเด็ดพรายและวาทะอันเฉียบคมเขย่าบัลลังก์นายกรัฐมนตรีจากพรรคอัมโนของตนเองได้ถึง 2 คน คือ อับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี (Abdullah Ahmad Badawi) ที่หมดวาระไปอย่างเงียบๆ และนาจิบ ราซัก (Najib Razak) ที่นำพรรคอัมโนลงเหวแพ้เลือกตั้งในปี 2018 เมื่อการทุจริตกรณี 1MDB ถูกเปิดโปง โดยที่ผู้อยู่เบื้องหลังการเผยข้อมูลให้สื่อต่างประเทศก็คือมหาเธร์เอง 

หลังอัมโนแพ้เลือกตั้ง มหาเธร์ในวัย 93 ปีก็ผงาดกลับสู่ตำแหน่งนายกฯ ในเสื้อคลุมตัวใหม่ของแกนนำแนวร่วมของ ‘รัฐบาลแห่งความหวัง’ (Pakatan Harapan – PH) แต่ไม่นานเขาก็เริ่มเตะตัดขาอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำแนวร่วม PH ที่ครั้งหนึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิในยามรุ่งเรืองในพรรคอัมโน จนเกิดเหตุให้รัฐบาลล่มก่อนครบวาระ

เมื่อครั้งความรุ่งเรืองยังอยู่คู่พรรคอัมโน ขุนศึกในพรรคล้วนแต่รู้ดีว่าชัยชนะที่แท้คือการชนะศึกภายในก่อนออกรบศึกภายนอก และในบรรดาผู้นำทั้งหมด มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ทำสิ่งนี้ด้วยฝีมือระดับไร้เทียมทาน 

ในวัยหนุ่มเมื่อเขาสละอาชีพแพทย์เข้าร่วมพรรคอัมโน มหาเธร์เป็นแค่หมอหนุ่มลูกครูโรงเรียนธรรมดาๆ ถือเป็นคนนอกในพรรคที่นักการเมืองลูกท่านหลานเธอเดินกันให้ว่อน เขาก่อเหตุในพรรคเป็นครั้งแรกเมื่อเขียนจดหมายวิจารณ์ตุนกู อับดุล ราห์มาน (Tunku Abdul Rahman) ประธานพรรคและนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียจนเป็นเหตุให้ถูกขับออกจากพรรคในปี 1969 ก่อนที่ 2 ปีถัดมา เขาตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Malay Dilemma แสดงความเห็นว่าประชาชนเชื้อสายมลายูในประเทศมีความอ่อนแอจึงต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองและสิทธิพิเศษเหนือประชาชนเชื้อสายอื่น เขากลับเข้าพรรคอีกครั้งหลังจากตุนกู อับดุล ราห์มาน ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากความขัดแย้งภายในพรรค กระทั่งสามารถไต่เต้าอย่างรวดเร็ว ประสบความสำเร็จในการขจัดคู่แข่ง ชนะการเลือกตั้งภายในอย่างมีเงื่อนงำจนได้เป็นประธานพรรค นำแนวร่วม BN ชนะเลือกตั้งทั่วไปและเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด

เพียง 2 ปีหลังนั่งเก้าอี้นายกฯ มหาเธร์ก็หาญกล้าท้าทายพระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีเรื่องสิทธิในการทรงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของพระองค์ จึงไม่แปลกที่มหาเธร์ไม่ใช่ผู้นำที่เหล่าสุลต่านทรงโปรดปรานนัก แต่เขาไม่ได้เดือดร้อน หันไปใช้เวลาพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจของมาเลเซียจากประเทศเกษตรกรรมรายได้น้อยเป็นประเทศที่เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมหนึ่งในเสือห้าตัวของอาเซียน 

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1980s สร้างความมั่งคั่งให้มาเลเซียและพรรคอัมโนเองอย่างใหญ่หลวง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายนักการเมืองและมหาเศรษฐีที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของเขา เมื่อวิกฤตการเงินอาเซียนกระทบมาเลเซียในปี 1997 มหาเธร์เลือกใช้นโยบายตะกร้าเงินแทนการขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ พร้อมกันนั้นก็กำจัดอันวาร์ อิบราฮิม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ที่เขาชักชวนเข้าพรรคและครั้งหนึ่งถือเป็นศิษย์ ออกจากพรรค ส่งให้อันวาร์ดิ่งเหวทางการเมืองนับแต่นั้น   

การเติบโตทางเศรษฐกิจ มาพร้อมกับการรวบอำนาจทางการเมือง การเน้นสร้างฐานอำนาจแบบเชื้อชาตินิยม การใช้เส้นสายและกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูอย่างรุนแรง การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน การออกนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง จนเป็นที่มาของคำว่า ‘มหาเธร์ริซึม’ (Mahathirism) ซึ่งใช้อธิบายรูปแบบการเมืองของมาเลเซียภายใต้การนำของมหาเธร์-อัมโน 

การประกาศลาโรงของมหาเธร์ใน พ.ศ. นี้ ถือเป็นครั้งแรกนับแต่กลางทศวรรษ 1980s ที่การเมืองมาเลเซียปลอดจากอิทธิพลของเขาอย่างแท้จริง แต่แม้ว่ามหาเธร์จะลาไปเลี้ยงหลาน แต่ก็พูดไม่ได้ว่าความเป็นมหาเธร์ริซึมในวิถีการเมืองมาเลเซียจะโบกมือลาตามผู้เฒ่าไปด้วย

กลุ่มคนที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่ามาเลเซียจะสามารถปลอดจากมหาเธร์ริซึมได้หรือไม่ คือบรรดาศิษย์เก่าอดีตขุนศึกอัมโนยุคเรืองอำนาจที่เรียนรู้วิถีของสำนักอย่างเชี่ยวชาญก่อนจะแตกฉานซ่านเซ็นไปตั้งสำนักของตนเอง และนาทีนี้กำลังโลดแล่นเป็นตัวเล่นสำคัญทางการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เริ่มต้นจากนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม อดีตขุนพลคู่ใจนายกฯ มหาเธร์ในทศวรรษ 1980s ก่อนเป็นเทวดาตกสวรรค์ด้วยฝีมืออาจารย์ต้องจนต้องใช้เวลาในคุกกว่า 10 ปี ครั้งนั้นอันวาร์กลับใจเปลี่ยนโฉมจากนักการเมืองอนุรักษนิยม-มลายูนิยมเป็นผู้นำแนวคิดปฏิรูปการเมือง แต่ยังมิวายโดนมหาเธร์หักหลังถึงนาทีสุดท้ายกว่าจะเอื้อมถึงดวงดาวยึดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครอง

แนวทางการปฏิรูปการเมืองภายใต้การนำของอันวาร์เป็นความฝันอันสูงสุดของคนมาเลเซียจำนวนมาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะลืมลูกเล่นการเมืองแบบสำนักอัมโนไปแล้ว ตรงข้าม การเจรจาในช่วงสุญญากาศทางการเมืองหลังเลือกตั้งให้อาห์หมัด ซาฮีด ฮามีดี (Ahmad Sahid Hamidi) ประธานพรรคอัมโน นำพรรคเข้าร่วมก่อตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากทั้งผู้สนับสนุนของตนที่โจมตีกรณีทุจริตของซาฮีดและเสียงคัดค้านจากมุ้งการเมืองใหญ่ในพรรคอัมโนเอง  แสดงให้เห็นว่าอันวาร์ยังไม่ทิ้งเส้นสายทางการเมืองเก่าเมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้ากลุ่มอำนาจใหญ่ในอัมโน

ความสัมพันธ์ระหว่างอันวาร์กับซาฮีดย้อนหลังไปไกลถึงทศวรรษ 1970s สมัยที่ทั้งสองเป็น ‘เด็กกิจกรรม‘ ที่มหาวิทยาลัยมลายา ก่อนเริ่มชีวิตนักการเมืองที่พรรคอัมโน เมื่ออันวาร์รับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลมหาเธร์ ซาฮีดได้ตำแหน่งสำคัญคือหัวหน้ากลุ่มเยาวชนอัมโน ว่ากันว่าสมัยนั้นอันวาร์มีส่วนไม่น้อยในการผลักดันให้ซาฮีดเติบโตทางการเมืองภายในพรรค  อันวาร์กับซาฮีดคุยกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงรัฐบาลที่แล้ว ความสัมพันธ์เก่าช่วยหนุนให้อันวาร์ตั้งรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จโดยมีซาฮีดรับตำแหน่งรองนายกฯ  

ถึงแม้แนวร่วม PH จะประกาศว่าไม่มีการพูดถึงคดีความของซาฮีดในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอัมโนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะวางใจได้เสียทีเดียว ในเวลานี้ แม้อันวาร์จะนำรัฐบาลใหม่ฝ่าด่านการรับรองในรัฐสภาฯ ได้เป็นผลสำเร็จ แต่การเมืองมาเลเซียยังคงสั่นคลอนจากการโจมตีของแนวร่วมฝ่ายค้าน PN ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี มูห์ยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) หัวหน้าพรรค Malaysian United Indigenous Party หรือ เบอร์ซาตู (Bersatu) ผู้จับมือกับอูลามา ฮาดี อาหวัง (Hadi Awang) หัวหน้าพรรคพาส (Malaysian Islamic Party – PAS) เดินหน้าใช้แนวทางมลายูนิยม-ศาสนานิยมโจมตีรัฐบาลใหม่อย่างหนัก

มูห์ยีดดีนกับฮาดี อาหวัง พูดในหลายโอกาสว่ารัฐบาลอันวาร์เป็นภัยต่อชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูและศาสนาอิสลาม และบางครั้งโจมตีรุนแรงถึงขั้นว่าเป็นรัฐบาลที่มีพวกยิวอยู่เบื้องหลังและสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้ล่าสุดอันวาร์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ Radio Television Malaysia (RTM) ว่า  รัฐบาลของเขาจะไม่ยอมรับแนวคิดรัฐทางโลก (secular state) คอมมิวนิสต์ และ LGBT คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นการปกป้องรัฐบาลให้พ้นจากการโจมตีข้างต้น แต่ก็เริ่มสร้างความกังวลให้ผู้สนับสนุนบางส่วนว่าการปฏิรูปการเมืองมาเลเซียภายใต้อันวาร์อาจจะยังไม่มาถึงในเร็ววัน

มูห์ยีดดีน ยาซซีน ผู้นำคนสำคัญของแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านที่หาญกล้าปฏิเสธพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชาธิบดีให้เข้าร่วมรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (unity government) กับอันวาร์ อิบราฮิม หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็เป็นศิษย์เก่าสำนักอัมโนอีกผู้หนึ่ง ครั้งนี้การจับมือกันของอันวาร์-ซาฮีดทำให้เขาอกหักทางการเมือง ตกที่นั่งผู้นำฝ่ายค้านทั้งๆ ที่เห็นเก้าอี้นายกฯ อยู่แค่เอื้อม 

ในอดีตมูห์ยีดดีนลาออกจากพรรคอัมโนเพื่อติดตามมหาเธร์มาตั้งพรรคเบอร์ซาตูแล้วเข้าร่วมรัฐบาล PH ในปี 2018 แต่ไม่ถึง 2 ปีหลังจากนั้น เขากลับลำถอนพรรคเบอร์ซาตูออกจากรัฐบาลตามคำชักชวนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ อัสมิน อาลี (Azmin Ali) อดีตคนสนิทของอันวาร์เพื่อไปจับมือกับอัมโนภายใต้การนำของซาฮีดตั้งรัฐบาลใหม่โดยทิ้งมหาเธร์ไว้เบื้องหลัง มูห์ยีดดีนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2020 ก่อนจะถูกอัมโนกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้อิสมาอิล ซาบรี ยาโคป (Ismail Sabri Yaacob) จากอัมโนรับหน้าที่แทนจนถึงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

อันวาร์ อิบราฮิม, อาห์หมัด ซาอีด ฮามีดี, มูห์ยีดดีน ยาซซีน, อิสมาอิล ซาบรี ยาโคป และแม้กระทั่งนักการเมืองชั้นรองลงมาอย่างอัสมิน อาลี ไม่ใช่นักการเมืองรุ่นใหม่ แต่เป็นนักการเมืองรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ที่คุ้นเคยกับเล่ห์กลของแบบมหาเธร์ริซึมเป็นอันดี สำหรับคนทั่วไป นักการเมืองเหล่านี้อยู่ห่างกันคนละขั้ว แต่อันที่จริง พวกเขาล้วนเป็นอดีตคนกันเองที่ครั้งหนึ่งล่มหัวจมท้ายในพรรคอัมโนกันมานับสิบปี

มาบัดนี้การเมืองมาเลเซียมีแนวคิดสองขั้วที่ฟาดฟันกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน นั่นคือแนวคิดแบบปฏิรูปและลดระดับความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่มีอันวาร์เป็นตัวแทน กับแนวคิดเชิงอนุรักษนิยม เน้นเชื้อชาติศาสนานิยม นำโดยมูห์ยีดดีน และฮาดี อาหวัง 

แนวคิดสองขั้วแบ่งคนประเทศออกเป็นสองส่วน และกลายเป็นความท้าทายของนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ว่าจะใช้ฝีมือประสานรอบทิศเพื่อบรรเทาความขัดแย้งนี้ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไรโดยไม่เผลอใช้วิธีแบบมหาเธร์ริซึมที่อาจย้อนกลับมาทำร้ายขบวนการปฏิรูปการเมืองที่เขาเป็นตัวแทนเสียเอง 

ส่วนนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ไม่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิมหาเธร์ริซึม ที่แม้บางคนเริ่มก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ คงต้องใช้เวลาบ่มเพาะตัวเอง รอให้การประลองยุทธรอบสุดท้ายของอดีตขุนศึกสำนักอัมโนจบลงก่อน ซึ่งขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าผลของมันจะนำพามาเลเซียไปในทิศทางใด  


อ้างอิง

Malaysia: 50 years of independence – Colonialism at the root of the national question

Leaders with Many Traits but a Singular Purpose: Lee Kuan Yew and Mahathir Mohamad

Behind the Anwar-Zahid relationship

PM: LGBT, secularism, communism will never be recognised by my govt

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save