fbpx

อยากดังบนโลกออนไลน์ไม่จำเป็นต้อง ‘จริง’ เสมอไป ตราบใดที่ ‘สมจริง’ มากพอ

เมื่อประมาณเดือนก่อนมีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับไบเกอร์สาวชาวญี่ปุ่นหน้าตาน่ารัก ‘อาโออิ โซยะ’ เธอมีผู้ติดตามสามหมื่นกว่าคนบนทวิตเตอร์ โดยข่าวที่ออกมาบอกว่าแท้จริงแล้วเธอไม่ได้เป็นเหมือนอย่างในภาพ ตัวตนที่แท้จริงไม่ได้เป็นผู้หญิงจริงๆ ด้วยซ้ำ เพราะเบื้องหลังภาพถ่ายนั้นเป็นชายวัย 50 ปีที่ใช้แอปพลิเคชันแต่งรูปเพื่อให้ตัวเองกลายเป็นผู้หญิงหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพราเหมือนอย่างที่เราเห็นกันบนโซเชียลมีเดีย

จากรายงานของ BBC ที่ไปพูดคุยกับเขาเล่าว่า ชายผู้นี้ที่ชื่อโซยะบอกว่า “คงไม่มีใครมาอ่านเรื่องชายวัยกลางคนกำลังซ่อมมอเตอร์ไซค์ถ่ายรูปไปทั่ว และเอาลงโซเชียลมีเดียหรอก”

การใช้แอปพลิเคชันเพื่อแปลงโฉมตัวเองให้เป็นผู้หญิงหน้าตาดึงดูดนั้นได้รับความนิยมมากกว่า

“ผมได้มากกว่า 1,000 ไลก์ตอนนี้ จากเมื่อก่อนที่ไม่ถึง 10 ไลก์ด้วยซ้ำ”

เรื่องมันมาแดงตอนที่มีแฟนคลับตาดีไปเห็นเงาสะท้อนในกระจกและหลังจากนั้นก็มีรายการวาไรตี้เริ่มตามหาความจริงว่าคนคนนี้เป็นใครกันแน่ เรื่องที่น่าสนใจก็คือว่าแม้ความจริงจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว เขาก็ยังคงใช้แอปพลิเคชันแปลงโฉมตัวเองอยู่จนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญแฟนคลับของเขา (หรือเธอ) ก็ยังคุยกับผู้หญิงคนนี้ที่เป็นเหมือนตัวตนอีกคนของโซยะบนโลกออนไลน์

ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ?

อยากให้ลองจินตนาการแบบนี้ครับ หลายคนน่าอาจจะเคย ‘พยายามเป็นคนอื่น’ ที่อาจจะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเราเพื่อดึงดูดความสนใจของคนอื่น อาจจะจากเพื่อนหรือเพศตรงข้าม อย่างการพยายามเล่นเกมแข่งฟุตบอลเพียงเพื่อจะคุยกับเพื่อนได้ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ชอบกีฬานี้เลยด้วยซ้ำ หรือออกไปปาร์ตี้กับเพื่อน ดื่มเบียร์ราคาถูก ทั้งที่ใจอยากนอนอยู่บ้าน อ่านหนังสือในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งตัวตนอีกคนหนึ่งแบบนี้มักได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากกลุ่มสังคมที่เราอยู่ ซึ่งก็คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับโซยะนั่นเอง เราบอกว่าอยากได้ความจริง อยากรู้จักตัวตนที่แท้จริง แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เราต้องการอาจจะแค่อะไรบางอย่างที่ดู ‘สมจริง’ ก็เพียงพอแล้ว

เราบนโลกออนไลน์ คนที่ติดตามนั้นอาจจะไม่ได้สนใจหรอกว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นนั้นจริงแท้ขนาดไหน โซยะในร่างผู้หญิงนั้นได้รับเสียงตอบรับที่ดี โด่งดัง และมีคนให้ความสนใจตลอดเวลามากกว่าตัวจริงของชายวัย 50 ไม่ว่ามันจะปลอม จะตัดต่อ ดัดแปลง ตราบใดที่ภาพลักษณ์ภายนอกดูสมจริง ก็จะยังมีคนมาติดตามและชื่นชอบอยู่ดี

คนที่ติดตามโซยะก็ยังเข้ามาคุยมาคอมเมนต์คอนเทนต์ที่เขาสร้างขึ้นมา หรือแม้แต่โมเดลที่เป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิกอย่าง Miquela บนอินสตราแกรมก็ไม่ต่างกัน เรื่องราวของพวกเขาถูกเขียนขึ้นมาให้น่าดึงดูดและก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแฟนคลับ ขนาดแบรนด์ดังๆ หลายแบรนด์ยังมาจ้างไปเป็นนายแบบนางแบบ เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบนโลกออนไลน์นั้นผู้บริโภคแทบไม่ได้สนใจเลยว่าคุณจะ ‘ปลอม’ มากขนาดไหน

เราเข้าใจว่าคนที่เป็นดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ดังๆ ในออนไลน์นั้นมีแฟนคลับไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับคนที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างโซยะ หรือโมเดลคอมพิวเตอร์กราฟฟิกล่ะ? ทำไมถึงมีคนติดตามมากขนาดนี้ ขนาดที่ว่าหลังจากที่โซยะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกไป อาทิตย์นั้นเขามีคนติดตามเพิ่มขึ้นกว่า 12,000 คนเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นจริงหรือปลอม แต่ประเด็นอาจจะอยู่ที่ว่ามัน ‘สมจริง’ มากพอไหมมากกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ภาพถ่ายของดาราที่ถูกโฟโต้ช็อปเป็นเรื่องปกติ ให้ร่างกายดูสมส่วนหรือผอมสวยอย่างที่เราคาดหวังว่าดาราควรจะเป็น (ยกตัวอย่างคิม คาร์เดเชียน) และลึกๆ เราก็พอจะรู้ว่ามันเป็นแบบนั้นก็ตาม แต่เราจะไม่รู้สึกอะไรตราบใดที่มันไม่แย่จนเห็นได้ชัดเจนเกินไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตราบใดที่มันดูสมจริงตามที่เราคาดหวัง เราก็จะไม่รู้สึกพอใจกับมันแล้ว ซึ่งนั้นก็คือสิ่งที่โซยะทำนั่นเอง

แต่สำหรับคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าการที่ตัวเอง ‘พยายาม’ เป็นคนอื่นบนโลกออนไลน์นั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะถึงแม้จะใช้แอปพลิเคชันเพื่อลบรอยเหี่ยวย่นหรือทำให้ขายาวตัวผอมเรียว เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่จริงอยู่ดี และการทำแบบนี้ก็มีผลเสียที่ตามมากับสภาวะจิตใจด้วยเช่นเดียวกัน ในรายงานของเว็บไซต์ Nature โดย Erica Bailey นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Columbia University บอกว่า

“พฤติกรรมที่ทำให้ตัวเองสมบูรณ์แบบนั้นมีผลกระทบทางจิตวิทยาที่ตามมาเยอะมาก การที่แสดงเป็นคนอื่นจะทำให้เกิดการขัดแย้งภายในตัวเอง ไม่สะดวกใจ และการตอบสนองของความรู้สึกที่รุนแรงด้วย”

แต่สำหรับโซยะหรือ Miquela นั้นแตกต่างออกไป เพราะตัวตนออนไลน์ของพวกเขาถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดตั้งแต่แรก พวกเขาจะเป็นใครก็ได้โดยไม่ได้รู้สึกว่าต้องเสแสร้งแกล้งเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง Miquela สามารถกินเบอร์เกอร์ได้ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่อ้วน สามารถทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง และอายุก็ยังเท่าเดิมไม่แก่เหมือนคนทั่วไป โซยะหรือ Miquela ต่างก็สามารถทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะรู้สึกแย่ที่แกล้งเป็นคนอื่น

สิ่งที่ชัดเจนก็คือว่าบนโลกออนไลน์ คนที่ติดตามเสพคอนเทนต์นั้นไม่ได้สนใจหรอกว่าคุณจะจริงหรือปลอมยังไง ไม่มีใครมาลงโทษและห้ามให้คุณทำ ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างใช้แอปฯ ลดพุง ตัดเหนียง ไปจนถึงสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาทั้งหมด ตราบใดที่มันสมจริงมากพอ แต่สิ่งที่เราต้องจำไว้เสมอก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่เราพยายามจะเป็นคนอื่น พยายามดึงดูดความสนใจของคนรอบข้างโดยที่ไม่ได้เป็นตัวเราจริงๆ สิ่งที่อาจจะตามมาคือความรู้สึกแย่กับตัวเราเอง ที่เราจะต้องเป็นคนรับไป ไม่ใช่คนที่มากดไลก์รูปของเรา

=====

อ้างอิง

Miquela (@lilmiquela) • Instagram photos and videos

https://onezero.medium.com/you-dont-need-to-be-real-to-be-popular-9c805a3a6e5f

宗谷の蒼氷’s Twitter Monthly Stats (Social Blade Twitter Statistics)

Authentic self-expression on social media is associated with greater subjective well-being | Nature Communications

Face editing: Japanese biker tricks internet into thinking he is a young woman – BBC News

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save