เมืองที่เราสัมผัสได้ด้วยตาอาจเป็นตึกรามบ้านช่องและถนนหนทาง แต่เบื้องหลังหน้าต่างหรือผนังอิฐที่จับต้องได้เหล่านั้น เมืองคือที่อยู่ของผู้คนอันหลากหลาย หล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเมืองในชนบทห่างไกลหรือเมืองใหญ่มหานคร และเมืองนี่เองที่เป็นตัวสะท้อนสังคมของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม
เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จากชุมชนจนกลายเป็นเมืองใหญ่ หนึ่งในความฝันร่วมกันของมนุษย์คือการมีเมืองที่ดี ซึ่งแน่นอนว่าเมืองที่ดีของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน แต่หนึ่งในหลักที่เราต่างยึดถือร่วมกันและเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนโลกที่มีทรัพยากรจำกัด คือการมีสังคมที่เท่าเทียม ผู้คนยึดหลักความยุติธรรมและเป็นธรรม ดำเนินสังคมไปอย่างมีอารยะ และนั่นอาจหมายถึงเมืองที่ดีได้ในมุมหนึ่ง
ความฝันที่เรียบง่ายเหล่านี้ เมื่ออยู่ในโลกแห่งความจริงย่อมไม่ง่ายแบบนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถคิดและสร้างมันขึ้นมาได้
101 ชวน รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยว่าด้วยประเด็นการสำรวจความยุติธรรม-ความเป็นธรรมในมุมของเมือง เขาทำวิจัยเรื่องเมืองและอนาคตศึกษาในโครงการ ‘คนไทย 4.0’ ศึกษาอนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย และประเด็นเรื่องความเป็นธรรมในการจัดสรรความเสี่ยงในยุควิกฤตถาวร
บทสนทนาต่อจากนี้ว่าด้วยคำถามที่ว่า เมืองที่ดีคืออะไร เมืองที่ยุติธรรมมีจริงไหม ความยุติธรรมในมุมของเมืองคืออะไร และเราจะจัดสรรทรัพยากรอย่างไรให้ยุติธรรม-เป็นธรรม ทั้งในแง่กระบวนการและผลลัพธ์
อยากให้อาจารย์นิยามความหมายของคำว่า ‘เมือง’ ก่อน คำว่าเมืองที่เรากำลังคุยกัน หมายถึงอะไร
แต่เดิมเวลาพูดถึงเมือง เรามักนึกถึงพวกตึกรามบ้านช่องและมีคนอยู่รวมกันเยอะๆ ใช่ไหม แต่ตอนนี้เราไม่สามารถนิยามเมืองโดยมองเฉพาะเชิงกายภาพอย่างเดียวแล้ว เพราะจากงานวิจัยที่ผมทำในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศไทย เมืองคือวิถีชีวิตแบบหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในพื้นที่เมืองที่มีตึกรามบ้านช่องและมีคนอยู่เยอะมาก และสามารถเกิดในพื้นที่ชนบทป่าเขาลำเนาไพรที่มีคนอยู่ไม่เยอะแต่มีวิธีการบริโภค-การผลิตในวิถีแบบเมือง
วิถีชีวิตแบบเมืองที่พูดถึง มีอยู่สามอย่างที่เป็นตัวหลักคือ วิธีการบริโภค วิธีการผลิต และประสบการณ์ของความหลากหลาย คือแต่เดิมเวลาเราพูดถึงชนบท เรามักนึกถึงเกษตรกรรมใช่ไหม และถ้าพูดถึงเมือง เราก็มักนึกถึงการบริการและการผลิตแบบอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ถ้าเอาวิธีบริโภค-การผลิตเป็นตัวตั้งแล้ว เมืองก็ไม่ได้จำกัดแค่เป็นตึกรามบ้านช่องแต่คือวิถีชีวิตแบบเมือง ส่วนเรื่องความหลากหลายก็สะท้อนผ่านลักษณะของคนเมืองในยุคนี้ที่อย่างน้อยต้องได้รับประสบการณ์ของความหลากหลาย คือความเป็น cosmopolitan นั่นเอง เมืองมาพร้อมกับความหลากหลายในตัวมันเอง นี่คือจุดตั้งต้นนิยามที่ผมใช้เวลาพูดถึงเมือง
อาจารย์เคยเขียนไว้ว่า “คนไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าโดยเฉพาะเด็กที่จะเกิดมาใหม่ จะกลายเป็นคนเมืองทั้งสิ้น หากพูดให้เกินจริงบ้างคือ ชีวิตคนไทยในอนาคตจะไม่มีอะไรที่แน่นอน นอกจากความตาย ภาษี และวิถีชีวิตแบบเมือง” ช่วยขยายความตรงนี้อีกครั้งได้ไหมว่าหมายความว่าอย่างไร
เรื่องความตายและภาษี รู้กันอยู่แล้วว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนเรื่องความเป็นเมืองก็ตามที่บอกว่าผมนิยามจากมุมมองการบริโภคและการผลิต ซึ่งก็คือวิถีชีวิต ถ้าเรามาดูตอนนี้ คนที่อยู่ในเมืองก็คือคนเมืองอยู่แล้วแหละ และก็ยังมีคนที่มีวิถีชีวิตแบบเมืองแต่อยู่ในพื้นที่ชนบท
ทีนี้เรามาดูว่าคนที่มีวิถีชีวิตแบบเมืองแต่อยู่ในพื้นที่ชนบทเป็นอย่างไร ในงานวิจัยที่ผมทำคือไปดูว่าตรงไหนมีร้านสะดวกซื้อ มีเอทีเอ็มบ้าง ร้านสะดวกซื้อคือการซื้อของแบบเมือง ไม่ใช่ซื้อของแบบชนบท ส่วนเอทีเอ็มคือการเงินแบบเมือง เพราะเน้นความสะดวกและรวดเร็ว มีการเชื่อมต่อในระดับประเทศและโลก
ในขณะเดียวกันการดื่มกาแฟก็เป็นการดื่มแบบเมือง เพราะแต่ไหนแต่ไรกาแฟมากับความเป็นเมือง เราจะเห็นว่าการบริโภคไปไกลมาก มีภาพหนึ่งที่คนมักใช้คือร้านกาแฟยี่ห้อหนึ่งอยู่บนยอดเขา หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อยี่ห้อหนึ่งที่อยู่บนยอดเขา จนได้รับการขนานนามว่าเป็นร้านสะดวกซื้อที่สวยที่สุดในประเทศไทย
การบริโภคไปไกลกว่าตัวพื้นที่ที่เรียกว่าเมือง เพราะฉะนั้นถ้าเรามองแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งในเชิงการบริโภค การขนส่งสินค้า การเดินทางของคน รวมไปถึงการใช้อินเทอร์เน็ต ผมคิดว่าความเป็นเมืองนั้นมาพร้อมกับคน อาจมีคนรุ่นก่อนหรือผู้สูงอายุที่โตมากับความชนบทที่อาจยังปรับไปไม่ถึงตรงนั้นยังหลงเหลืออยู่บ้าง แต่คนรุ่นใหม่ที่เกิดมา ไม่ว่าจะเกิดในพื้นที่ชนบทหรือในเมือง ก็เป็นคนเมืองทั้งหมดแหละ ดังนั้นในอนาคตผ่านไป 10-20 ปี ผมจึงตั้งเป็นสมมติฐานว่าเราจะกลายเป็นคนเมืองทั้งหมด ตามความหมายนี้
ความเป็นเมืองที่เราพูดถึง ที่มีร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ จะกลายเป็นการเอาความเป็นเมืองมาตั้งในชนบทเพื่อซัปพอร์ตคนเมืองอีกทีไหม
เป็นคำถามที่ผมถูกถามประจำ เราต้องเข้าใจว่าความเป็นเมืองไปกับคน แต่สิ่งที่เขาบริโภคยังอยู่กับพื้นที่นั้น ดังนั้นต่อให้คนในพื้นที่ไม่บริโภคแบบนั้น แต่สิ่งที่อยู่ในพื้นที่นั้นถูกปรับเปลี่ยนให้ตอบรับกับวิถีการบริโภคของคนเมืองที่ไปอยู่ตรงนั้น ต่อให้เราอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ภูเขา ถ้ามีร้านกาแฟหรือร้านสะดวกซื้อ สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบพื้นที่ตรงนั้นก็ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว เพื่อตอบรับคนที่มาจากเมือง
ถ้าทั้งพื้นที่และการบริโภคของคนอื่นเปลี่ยนไปขนาดนั้น คนที่อยู่พื้นที่นั้นจะไม่เปลี่ยนเลยหรือ แล้วใครคือคนที่มาขายของให้คนเหล่านั้น ก็ต้องเป็นคนในพื้นที่อยู่ดี แล้วโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ ที่เข้าไปในพื้นที่นั้น คนในพื้นที่นั้นจะไม่ใช้เลยหรือ ดังนั้นต่อให้วันนี้ไม่ใช้ ท้ายสุดวันเวลาผ่านไปก็ต้องใช้อยู่ดี
หากตั้งสมมติฐานว่าการบริโภคของมนุษย์มาเป็นการชิ่ง เริ่มต้นมาจากที่หนึ่ง แล้วค่อยๆ แพร่กระจายไปเรื่อยๆ ณ วันหนึ่งคนก็ต้องสงสัยแหละว่าคนกรุงเทพฯ มาดื่มอะไร ขอลองสักครั้งหนึ่งสิ เป็นไปไม่ได้หรอกที่คนจะมองว่าคนข้างนอกมาทำอะไร แล้วตัวเองจะไม่ลองทำตาม ถ้าลองทำตามแล้วใช้ได้ดูดี ก็อาจจะลองทำต่อไปด้วย ดังนั้นโดยตรรกะนี้ วันนี้เขาไม่บริโภคกาแฟ ในอนาคต ลูกหลานเขาก็ต้องบริโภคกาแฟอยู่ดี
เวลาเราพูดถึงเมืองที่ดี คนส่วนมากก็อาจนึกภาพเมืองที่ผังเมืองดี อาคารเป็นบล็อกมีระเบียบ บ้านเมืองสะอาด แต่เมื่อความหมายของเมืองไปไกลกว่าคำว่าตึกรามบ้านช่อง เมืองที่ดีต้องเป็นเมืองแบบไหน
อาจต้องกลับไปเรื่องพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์ต้องการก็คือคุณค่าในระดับต่างๆ เช่น ความปลอดภัยในการมีชีวิต ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไปจนถึงการตอบโจทย์ความเป็นปัจเจก ซึ่งถ้าเมืองปลอดภัยและสะอาดก็ควรเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วถูกไหม แต่บางคนก็อาจไม่ต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก แต่อยากได้ความตื่นเต้นสนุกสนาน เมืองที่สนุกจึงอาจเป็นเมืองที่ดีในความต้องการของบางคน
ดังนั้นถ้าจะนิยามคำว่าเมืองที่ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละสังคมแต่ละยุคมีความต้องการพื้นฐานในระดับไหน เมืองที่มีความสะอาด ปลอดภัย เรียบร้อยอยู่แล้ว ก็อาจต้องการเมืองที่ทำให้คนมีความเป็นตัวตนของตัวเองได้
การนิยามจำเป็นต้องให้คนในสังคมมาช่วยกันตัดสินใจว่าต้องการเมืองที่ดีในลักษณะแบบไหน เพราะบางแห่ง เมืองอาจจะสะอาด ไม่มีขยะเลย แต่ประชาชนไม่มีเสรีภาพ อันนี้ถือเป็นเมืองที่ดีหรือเปล่า นี่คือการแลกเปลี่ยนในเชิงคุณค่าว่าเราต้องการเมืองที่ดีแบบไหนในสังคมนั้นๆ
เมืองที่ดีต้องเป็นเมืองที่ยุติธรรมไหม สองอย่างนี้เชื่อมโยงกันไหม
ผมตอบว่าใช่ก่อนแล้วกัน แต่ทั้งคำว่า ‘เมืองที่ดี’ กับ ‘เมืองที่ยุติธรรม’ เป็นคำนามธรรมทั้งคู่
อย่างที่บอกว่าเมืองที่ดีจำเป็นต้องมีคนในเมืองนั้นมาช่วยตัดสิน ในขณะเดียวกันคำว่าความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมนั้นต้องการอะไร ดังนั้นจึงเป็นสมการที่ทั้งสองด้านจำเป็นต้องมีกระบวนการในการตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและสิ่งที่เราต้องการในเชิงความเป็นเมือง และอะไรคือความยุติธรรมและความเป็นธรรม
มันมีความเป็นสัจพจน์นิดหนึ่ง คือถ้าสิ่งนั้นดี เป็นสิ่งที่คนในสังคมนั้นต้องการ มันก็ต้องยุติธรรมและเป็นธรรมอยู่แล้ว คนต้องตัดสินใจด้วยกันทั้งคู่ เพราะบางทีอาจดูว่าเป็นเมืองที่ดีแต่ไม่ยุติธรรม นั่นหมายความว่าความดีที่เราคิดว่าเกิดขึ้นในเมืองดีนั้นน่ะอาจมาจากกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมก็ได้ ซึ่งโดยอัตโนมัติก็จะถือเป็นเมืองที่ไม่ยุติธรรม ดังนั้นสำหรับผม ทั้งเมืองที่ดีและเมืองที่ยุติธรรมเป็นเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ
อาจารย์นิยามเรื่องเมืองที่ดีไปแล้ว แล้วถ้านิยามคำว่า ‘ความยุติธรรม’ ในเรื่องเมือง จะนิยามว่าอะไร
ผมขอจำกัดการสนทนาไว้เพียงแค่ความความยุติธรรม (justice) ที่เกี่ยวกับเมืองในสองด้านแล้วกัน คือ หนึ่ง-ความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร (distributive justice) และสอง-ความยุติธรรมในเชิงกระบวนการเพื่อตัดสินใจบางอย่าง
ประเด็นเรื่องความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร อยู่ที่ว่าสังคมนั้นยอมรับได้มากน้อยขนาดไหนกับการจัดสรรปริมาณ-สัดส่วนของทรัพยากร และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละเมือง คนมองว่าเป็นธรรม (fair) หรือไม่ นี่คือจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร
จากนั้นเราค่อยไปยึดทฤษฎีว่าเวลาเราจัดสรรสิ่งเหล่านี้แล้ว ทำไมบางคนถึงคิดว่ารูปแบบและผลลัพธ์ในการจัดสรรเป็นสิ่งที่รับได้ แต่ทำไมบางคนถึงรับไม่ได้ ยกตัวอย่างเรื่องเมืองที่มีการถกเถียงกันเยอะ เช่น การใช้ทางเท้า คนกลุ่มหนึ่งบอกว่า เมื่อถูกกำหนดมาให้เป็นทางเดินเท้า ก็ควรจะให้คนเดินเท้าเป็นหลัก ไม่สามารถขายของบนทางเท้าได้ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็บอกว่าไม่เป็นธรรม ทางเท้าควรเป็นพื้นที่ที่สามารถให้คนใช้ร่วมกันหรือใช้ในการอื่นได้
ดังนั้นความยากของการคุยเรื่องความยุติธรรมและความเป็นธรรมในการจัดสรรก็คือเรามีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด แต่เรามีคนอยู่เยอะ เราต้องแบ่ง-แย่งกันใช้ ซึ่งแต่ละคนก็มีแนวคิดและทฤษฎีที่ใช้เป็นฐานในการตัดสินไม่เหมือนกัน จึงเกิดความขัดแย้งของแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมที่ไม่เหมือนกัน
ตอนนี้เราดูจากแค่มุมมองของ ‘ผลลัพธ์’ ในการจัดสรรก่อนนะ แต่ยังไม่ได้ดู ‘กระบวนการ’ ในการจัดสรร ซึ่งพอดูเฉพาะผลลัพธ์ในการจัดสรร ก็มักหนีไม่พ้นว่า ทรัพยากรมีอยู่แค่นี้ ที่ดิน อากาศ น้ำ ทางเท้า มีอยู่แค่นี้ แล้วเราจะจัดสรรอย่างไรในสภาพที่ไม่ได้มีทรัพยากรอยู่เยอะมากนัก
เวลาที่ผมสอนเรื่องนี้ ผมมักชวนนิสิตคุยเล่นๆ ว่าความรักเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไหม แล้วเราต้องแย่งความรักกันไหม หรือความรักเป็นทรัพยากรที่ให้ได้เยอะโดยไม่ต้องมาแย่งกัน เพราะเมื่อไหร่ที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดก็ย่อมมีคนได้มากและได้น้อย หรือต่อให้เราจัดสรรเท่ากันก็อาจถูกมองว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากแต่ละคนมีความต้องการ เงื่อนไข และความจำเป็นไม่เท่ากัน ในขณะที่บางกรณีอาจไม่ได้ให้เท่ากันแต่เกิดสภาพที่ยอมรับได้ว่าเป็นธรรม กลายเป็นปัญหาโลกแตก เพราะขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมนั้นจะนิยามและยอมรับปริมาณและสัดส่วนของการจัดสรรอย่างไร
พอพูดเรื่องเมืองแล้วก็เอามาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และคิดเรื่องนโยบายได้เยอะ เป็นสิ่งที่เราต้องมานั่งคิดกันว่าสังคมไทยต้องใช้หลักการไหนในเรื่องความเป็นธรรมและยุติธรรมที่จะมากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากอีก เพราะแน่นอนว่าคนเห็นต่างกัน บางคนมองว่าทุกคนต้องได้เท่ากันเป๊ะๆ แต่ในความจริงเราอาจแบ่งให้เท่ากันอย่างนั้นไม่ได้ เราจะแบ่งอากาศและที่ดินให้เท่ากันอย่างไร นั่นหมายความว่าเราอาจต้องยอมรับก่อนไหมว่าในบางกรณีการได้เท่ากันนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เราจะทำอย่างไรให้การได้เท่ากันที่เป็นไปไม่ได้นั้นถือเป็นความยุติธรรมและเกิดความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร
นี่คือจุดที่เราต้องคิดกัน ไม่ใช่แค่กำปั้นทุบดินว่าทุกคนต้องได้เท่ากัน ในเชิงกระบวนการคิดต้องค่อยๆ เคลียร์ไปทีละเปลาะ เช่น ทฤษฎีความเป็นธรรมหรือยุติธรรมที่มองว่าทุกคนต้องได้เท่ากัน ผมขอเรียกว่า ‘เสมอภาคนิยม’ (egalitarianism) แล้วกัน ถ้าเอาแค่เรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่จับต้องได้ ใช้ทฤษฎีเสมอภาคค่อนข้างยาก แทบจะเป็นไปไม่ได้ในเชิงนโยบายสาธารณะและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจริง ผมไม่ได้พูดถึงความยุติธรรมในเชิงโอกาสหรือความยุติธรรมในเชิงสิทธิในการเข้าถึงนะ อันนั้นอยากได้อยู่แล้ว แต่ผมพูดในเชิงผลลัพธ์ทางกายภาพที่ทุกคนต้องได้เท่ากัน การจัดสรรทรัพยากรที่ได้เท่ากันเป๊ะเป็นไปไม่ได้ในเชิงวัตถุ ยากมาก
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น เป็นไปไม่ได้ที่คนจะได้บ้านพื้นที่ 60 ตารางวาเท่ากันทุกคน?
ทุกคนอาจไม่ได้ต้องการแบบนั้นด้วย โดยธรรมชาติของมนุษย์ เราไม่ได้ต้องการเหมือนกันเป๊ะๆ อยู่แล้ว ตัวอย่างบางส่วนที่ผิดพลาดของระบอบที่บังคับให้ทุกคนต้องเหมือนกัน ต้องอยู่บ้านเหมือนกัน ใส่เสื้อเหมือนกัน ทุกอย่างมีเหมือนกันเป๊ะๆ คือสิ่งเหล่านี้ค้านความเป็นมนุษย์มาก
ประเด็นของผมคือถ้าเราไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรเชิงกายภาพได้เท่ากัน แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดความยุติธรรมและเป็นธรรม มีทฤษฎีไหนบ้างที่เราเอามาใช้ได้ในการออกแบบและพัฒนาเมือง ถ้าเป็นแนวพวกอิสรนิยม (libertarianism) ก็จะกลับไปพูดเรื่องที่ว่าปัจเจกมีเสรีภาพในการจัดการกับทรัพย์สินของตนเองนับตั้งแต่ตัวตน ร่างกาย ไปจนถึงทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน นี่คือกรณีที่จะไม่ให้รัฐเข้ามาจัดสรรทรัพยากรใดๆ เลย เพราะปัจเจกสำคัญที่สุด แต่ผมยังเชื่อว่ามีสินค้าสาธารณะหลายอย่างที่จำเป็นต้องมีรัฐเข้ามาช่วยจัดสรร เพราะไม่มีตัวแทนอื่นมาช่วยจัดสรร ต่อให้ตลาดเห็นว่ามีประสิทธิภาพขนาดไหนก็ยังมีความล้มเหลวของตลาดอยู่เต็มไปหมด
กลับมาที่ความเชื่อของผม ผมค่อนข้างคิดแบบแนวคิดของจอห์น รอลส์ (John Rawls) รอลส์เขียนไว้ยาวมาก แต่ผมคัดเอาเฉพาะประเด็นในเชิงการจัดสรรทรัพยากรมาประยุกต์ใช้ในเรื่องการพัฒนาเมืองนะ คือข้อเสนอของรอลส์บอกว่า เมื่อเราไม่รู้ว่าเราจะเกิดมาเป็นใครในสังคมนี้ และหากเราต้องการให้สังคมนี้เป็นแบบไหน เราก็ควรต้องการสังคมที่เอื้อให้คนที่ด้อยโอกาสที่สุดก่อน ติ๊ต่างว่าชีวิตเป็นล็อตเตอรี เราไม่รู้หรอกว่าเราจะเกิดมาเป็นใคร จนหรือรวย เดินเหินปกติหรือมีความพิการทางร่างกาย ดังนั้นเราก็ต้องการให้สังคมมีอะไรรองรับเรา เผื่อว่าเราจะเกิดเป็นคนด้อยโอกาสที่สุดในสังคม นี่คือหลักความคิดของผมเวลาพูดเรื่องการออกแบบเมือง
การให้โอกาสของคนที่ด้อยโอกาส หมายถึงความเท่าเทียมหรือหมายถึงความยุติธรรม?
มันจะไปสู่ความเป็นธรรมและความยุติธรรม แต่ไม่เท่าเทียม ในความหมายที่ว่าเท่าเทียมคือทุกคนได้เท่ากัน
คนอยากรู้สึกว่าตัวเองเท่าเทียมกับคนอื่น แต่คนไม่อยากได้ทรัพยากรเหมือนกันเป๊ะกับคนอื่น เพราะบางคนอาจอยากขับรถ บางคนอยากเดิน บางคนขี่มอเตอร์ไซค์ บางคนปั่นจักรยาน เราไม่ได้อยากให้ทุกคนขับรถหรือปั่นจักรยานเหมือนกันหมด เพราะเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นผมจะเคลียร์ว่าความเท่าเทียมในความหมายนี้คือคนรู้สึกว่าตัวเองเท่าเทียม แต่ในเชิงการจัดสรรทรัพยากรนั้นอาจจะไม่เท่าเทียมก็ได้
อีกประเด็นคือความเป็นธรรมแบบชุมชนนิยม (communitarianism) ปัญหาของการมองแบบรอลส์เรื่องหนึ่งคือเป็นการมองการจัดสรรแบบ ‘ฉันกับเธอ ใครได้มากกว่ากัน’ แต่ในบางกรณีเรามองแค่นั้นไม่ได้ ในการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นกายภาพนั้นทำง่ายนิดหนึ่ง เพราะเรารู้ว่ามีอยู่เท่านี้ เราต้องจัดสรรอย่างไร แต่มีหลายกรณีที่บางทีเราไม่รู้ว่ากำลังจะจัดสรรอะไร เช่น ความเสี่ยง เราอาจใช้วิธีคิดแบบ ‘เพราะเธอจน เธอต้องเสี่ยงน้อยกว่าฉัน’ ได้ แต่อธิบายยาก บางกรณีต้องเอาไม้มาค้ำไปด้วยกัน ซึ่งมีเซนส์ของแนวคิดแบบชุมชนนิยมอยู่
ยกตัวอย่างเรื่องทางเท้า บางคนก็บอกว่าต้องใช้สำหรับการเดินเท่านั้น แต่ความยากอยู่ตรงที่ความเป็นธรรมและความยุติธรรมมีบริบทเสมอ ใช้เกณฑ์เดียวในการตัดสินไม่ได้ เพราะความจริงเรามีทางเท้าที่กว้าง 4-5 เมตร บางทีกว้างครึ่งเมตร หรือสมมติทางเท้ากว้าง 3 เมตรแต่อยู่ติดบีทีเอส กับกว้าง 3 เมตรแต่อยู่ชานเมือง ก็ไม่เหมือนกันแล้ว
ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เราบังคับให้ต้องใช้เกณฑ์เดียวในการตัดสินความเป็นธรรม ผมว่าไม่ถูกต้อง และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้บริบทที่ต่างกันตัดสินสถานการณ์ เช่น ต่อให้ความกว้างของทางเท้าเท่ากัน แต่คนหนึ่งขายข้าวต้มมัด อีกคนหนึ่งขายหมูทอด อีกคนขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศร สามเรื่องนี้เราใช้เกณฑ์เดียวกันในการตัดสินไม่ได้ เพราะบางทีเราอาจใช้หลักการของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับคนอื่นมาตัดสิน อันนี้เป็นในเชิงอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) คนหนึ่งได้ประโยชน์แต่ทำให้คนอื่นต้องเสียประโยชน์เยอะมาก ซึ่งสำหรับผมในกรณีนี้ การขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า รับไม่ได้เลย มันเร็ว อันตราย บนทางเท้าอาจมีเด็ก คนแก่ หรือคนพิการอยู่ด้วยก็ได้
ถ้าคนขับมอเตอร์ไซค์อ้างว่าเป็นสิทธิในการทำมาหากิน ต้องรีบทำมาหากินล่ะ
ไม่ได้ ผมถือว่าสิทธินี้เกิน แต่ผมรับได้กับการขายของในพื้นที่ที่เหมาะสม
ผมไม่ได้บอกให้ทุกคนคิดเหมือนผม แต่คนเรามีจุดที่รู้สึกว่าสบายใจในเชิงคุณค่าส่วนตัวที่รับได้กับรับไม่ได้ คือบางสถานที่ผมก็ไม่คิดว่าควรมีการขายของบนทางเท้า เพราะเป็นปัญหาความเสี่ยงกับคนจำนวนมาก เช่น หน้าบันไดทางออกรถไฟฟ้าที่คนเดินหลายหมื่นคนในตอนเช้า เป็นต้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าที่อื่นจะขายไม่ได้ ผมไม่ใช่แนวที่ว่า ทางเท้าต้องสำหรับคนเดินเท่านั้น อย่างอื่นไม่ได้ และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่ามีสิทธิขายของได้ทุกที่
ดังนั้นการจัดสรรที่เป็นธรรมต้องมีทั้งความเป็นธรรมของการจัดสรรทรัพยากรที่จำกัด กับความยุติธรรมที่มีต่อบุคคลอื่นในสังคม ทฤษฎีเรื่องความเป็นธรรมและยุติธรรมมีเยอะ เราใช้ทฤษฎีหรือหลักการเดียวไม่ได้เสมอในทุกๆ ด้าน ยิ่งกับผู้คนที่มีความต้องการและความจำเป็นที่หลากหลาย และมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปเสมอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเรื่องกาลเทศะเข้ามา คือผมก็ไม่ได้อนุรักษนิยมนะ แต่มันมีสถานการณ์ พื้นที่ และเวลาที่เราควรใช้หลักการที่แตกต่างกันในการตัดสิน นั่นหมายความว่าจำเป็นต้องมีความยุติธรรมในเชิงกระบวนการด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่สองที่ผมพูดไว้ตอนต้น คือต้องมีกระบวนการให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งนั้น สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการคุยวิเคราะห์และตัดสินใจในเรื่องนั้นได้
บางคนก็อาจบอกว่า เรื่องขายของบนทางเท้าง่ายนิดเดียว ก็ใช้หลักกฎหมายในการตัดสินสิ คุณผิดกฎหมายเพราะขายของบนทางเท้า
เราได้ยินเป็นประจำ แต่บางทีเขาอาจไม่ทราบว่าคำว่ากฎหมายหมายถึงอะไร เรื่องนี้เถียงได้หลายระดับ เช่น บางพื้นที่ออกข้อบัญญัติยกเว้นไว้ให้ นั่นหมายความว่าบางที่การขายของบนทางเท้าถูกต้องตามกฎหมาย
แต่ถ้าเถียงไปในระดับที่ลึกกว่านั้นอีกก็คือกฎหมายก็มาจากการตัดสินใจของคนนั่นแหละ กฎหมายที่บอกว่าตรงนี้ต้องเป็นอะไร อาจกำหนดโดยคนบางกลุ่ม หรือด้วยเหตุผลบางอย่างที่อาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ กฎหมายเปลี่ยนได้เสมอถ้าคนในสังคมนั้นคิดว่าสิ่งนี้คือความเป็นธรรมสำหรับบริบทที่เปลี่ยนไป อย่างในยุคสมัยหนึ่งที่คนโสดต้องจ่ายภาษีคนโสด ถ้ากฎหมายยังเหมือนเดิม ตอนนี้รัฐก็สบายเลยสิ เพราะคนโสดเยอะแยะ ดังนั้นกฎหมายก็เปลี่ยนได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมนั้นต้องการอะไรและยอมรับได้หรือเปล่า
อยากชวนถอยมามองภาพใหญ่ขึ้นต่อจากประเด็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากร มีคำพูดกันว่าหากอยากเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น ต้องปรับผังเมืองหรือออกแบบเมืองให้คนรู้สึกดีที่จะได้ใช้ชีวิตในเมืองนั้น อยากถามว่าผังเมืองที่ยุติธรรมมีจริงไหม มีหลักการอย่างไรที่จะทำให้เกิดเมืองที่ยุติธรรมและเป็นธรรมได้จริงๆ
เราใช้คำว่าผังเมืองในหลายความหมาย ตามแต่ความคิดของแต่ละคน มีทั้งเรื่องตัวผังในเชิงกายภาพ ผังในเชิงกฎหมาย รวมถึงผังในการออกแบบและพัฒนาเมือง มีความละเอียดพอสมควร
สำหรับผม โครงสร้างกับกระบวนการมาด้วยกัน เมื่อโครงสร้างเชิงอำนาจในเมืองกับกระบวนการพัฒนาระบบออกแบบเมืองเป็นแบบไหน ผลลัพธ์ในเชิงกายภาพก็จะออกมาแบบนั้น สมมติเราเห็นเมืองในต่างประเทศดูสะอาด ซึ่งความสะอาดเป็นพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วล่ะ แต่คำถามคือความสะอาดนั้นได้มาด้วยกระบวนการแบบไหน ผมเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า สังคมหนึ่งเป็นประชาธิปไตยแต่เมืองไม่สะอาดเลย กับสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลยแต่เมืองสะอาดมาก เราก็ต้องมาดูที่กระบวนการ แน่นอนว่าอันนี้เป็นตุ๊กตาสองฝั่ง ในความเป็นจริงเมืองคงจะอยู่กลางๆ แหละ โลกไม่ได้ขาวกับดำขนาดนั้น คนที่ทำเรื่องการพัฒนาเมืองก็คงพยายามให้มาด้วยกันทั้งคู่ เราคงไม่ได้ต้องการเมืองที่สะอาดแต่คนในเมืองไม่มีเสรีภาพเลย หรือคงไม่อยากได้เมืองที่มีเสรีภาพมากจนไม่มีความสะอาดใดๆ เลย ต้องพยายามสร้างกระบวนการให้ทั้งสองด้านมาบรรจบกัน
ผมต้องการจะบอกว่าที่สุดแล้ว เมืองที่เป็นธรรมคือเมืองที่มีกระบวนการที่เป็นธรรม แล้วเมื่อไหร่ที่กระบวนการเป็นธรรม ก็จะนำไปสู่สิ่งที่คนในชุมชนหรือเมืองนั้นยอมรับได้ว่าเป็นเมืองที่ดี ซึ่งพูดน่ะง่าย แต่เราจะออกแบบกระบวนการอย่างไร อันนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญมากกว่า แทนที่จะให้นักผังเมืองที่เป็นนักเทคนิคจากไหนไม่รู้มาบอกว่าเมืองที่ดีเป็นแบบนี้ แต่เราควรสร้างเมืองที่เปิดโอกาสให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นั้นมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจได้
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องออกแบบให้ดีๆ ว่ามีส่วนร่วมในระดับไหน ไม่ใช่ทุกคนต้องตัดสินใจในระดับประเทศทั้งหมด เป็นแบบประชาธิปไตยแบบโดยตรง อันนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ตอนนี้ประเทศไทยยังขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมในระดับย่านและชุมชนที่จะทำให้เกิดเมืองเป็นธรรมและเมืองที่ดีขึ้นได้
ถ้าเจาะจงเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเฉพาะของเมืองหลายอย่าง เช่น มีประชากรแฝงเยอะ คนต่างถิ่นมาทำงานและใช้ทรัพยากรแล้วก็จากเมืองนี้ไป หรือเป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำมาก เป็นต้น เราควรมองความแตกต่างหลากหลายของคนอย่างไร และมีวิธีจัดสรรทรัพยากรอย่างไร
ประชากรแฝงก็ให้อะไรเยอะกับเมืองนี้ มัน give and take ไม่มีใครมาใช้ทรัพยากรอย่างเดียวหรอก ถึงเขาใช้ทรัพยากรแต่ก็จ่ายภาษีและสร้างทรัพยากรให้พื้นที่ด้วย เราไม่สามารถตัดสินได้หรอกว่าคนหนึ่งคนให้มากหรือน้อย แต่คำถามคือการให้มากหรือให้น้อยที่ว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ไหมในสังคมนั้น
ประเด็นที่สองของคำถามก็คือ แล้วถ้าในเมื่อคนหนึ่งให้น้อย คนหนึ่งให้มาก แต่ทำไมบางเรื่องเรารับได้ บางเรื่องเรารับไม่ได้ ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นประเด็นและมิติไหน ถ้าเรามาดูในเชิงปริมาณ เศรษฐีจ่ายภาษีมากกว่าคนจนอยู่แล้วแหละ แต่ถ้าดูเชิงสัดส่วนของรายได้ คนรวยจ่ายน้อยกว่าคนจน แล้วคนในสังคมนี้ยอมรับได้มากน้อยขนาดไหนกับความแตกต่างนี้ การจะบอกว่ายุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมก็ขึ้นอยู่กับเรานี่แหละว่ายอมรับได้หรือเปล่า หรือถ้ามามองในระดับชนชั้นกลาง ที่ยังมีบางส่วนมองว่าฉันเป็นหนึ่งในคนที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่คนจำนวนมากในประเทศไม่ได้จ่ายภาษี จึงอาจรู้สึกว่าตัวเองจ่ายมากกว่า ประเด็นก็คือระบบภาษีในไทยตอนนี้ส่งผลกับคนจนมากกว่า
สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ในกรณีหนึ่งเรายอมรับไม่ได้กับปริมาณแต่ยอมรับได้กับสัดส่วน หรือยอมรับได้กับปริมาณแต่ยอมรับไม่ได้กับสัดส่วน คนอาจบอกว่าการที่คนรวยและชนชั้นกลางจ่ายภาษีมากกว่าคนจนก็เป็นคือความเป็นธรรมแล้ว แต่บางคนก็อาจบอกว่าถ้าเทียบสัดส่วนรายได้แล้ว คนรวยและชนชั้นกลางจ่ายภาษีน้อยมากเมื่อเทียบกับคนจน นี่คือดีเบตที่ต้องมีกระบวนการในการถกเถียงและหาข้อตกลง
ในเรื่องเมืองก็เช่นกัน เรายอมรับได้ที่จะมีโมโนเรล บีทีเอส หรือรถไฟใต้ดิน แต่เงินหลายแสนล้านลงไปกับการสร้างรถไฟให้กับผู้ใช้งานแค่ไม่กี่คนที่มีโอกาสขึ้นรถไฟฟ้าเป็นประจำ แต่คนจำนวนมากต้องขึ้นรถเมล์ รถสองแถว หรือเดิน ดังนั้นเวลาเราจะบอกว่าเรื่องไหนไม่เป็นธรรม เราก็ต้องถามตัวเองเหมือนกันนะว่าเรามองความเป็นธรรมจากมุมมองชนชั้นกลางหรือเปล่า ถ้าย้อนกลับไปที่แนวคิดของจอห์น รอลส์ เราอาจตั้งคำถามได้ว่า จริงๆ แล้วชนชั้นกลางกำลังใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองไหม เมื่อเทียบกับคนจนในสังคมไทย เราอาจเป็นคนตอกย้ำความไม่เป็นธรรมของการจัดสรรทรัพยากรในเมืองอยู่หรือเปล่า
ชนชั้นกลางก็อาจรู้สึกว่าตัวเองให้มาก แต่ได้น้อยมากกว่าที่ตัวเองให้หรือเปล่า
เป็นปกติ คนในโลกนี้คงมีอยู่น้อยมากที่บอกว่าตัวเองได้มากกว่าที่ตัวเองให้ เป็นความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่ปกติอยู่แล้ว ยกเว้นว่าคนนั้นบรรลุอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วมานั่งคิดว่ารู้สึกผิดจังเลย วันนี้ฉันขับรถออกไปข้างนอก ไปทำให้รถติดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคัน มีใครคิดแบบนั้นบ้าง น้อยมาก ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่ว่าชนชั้นกลาง คนรวย หรือคนจน จะคิดว่าตัวเองได้น้อยกว่าที่ตัวเองให้ไป ซึ่งอันนี้คือเรื่องพื้นฐานของการนำไปสู่คอนเซปต์ชุมชนนิยม คือจะทำอย่างไรให้มีทรัพย์สินส่วนรวม (commons) บางอย่าง ที่แม้คนอาจจะได้ใช้ไม่เท่ากัน แต่คนรู้สึกว่ามีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะได้ใช้สิ่งนั้น
เหมือนที่ผมยกตัวอย่างรถไฟฟ้า บางคนก็บอกว่า นี่ไง ทุกคนสามารถใช้รถไฟฟ้าได้ ไม่มีใครห้าม เท่าเทียมแล้ว แต่นี่คือการห้ามหรือไม่ห้ามในเชิงกฎหมาย แต่ความสามารถในการจ่ายนั้นไม่เท่ากันอยู่แล้ว ดังนั้นในกรณีนี้ รถไฟฟ้าไม่ใช่คอมมอนส์แน่นอน หรือถ้ามามองที่รถเมล์ ก็อาจใกล้เคียงการเป็นคอมมอนส์ แต่ก็อาจไม่ใช่คอมมอนส์สำหรับคนพิการ เพราะคนพิการเข้าถึงรถเมล์ไม่ได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้อ เราต้องค่อยๆ ไล่ดูไปเรื่อยๆ
ดังนั้นเวลาเราพูดถึงความเป็นธรรมในเชิงการจัดสรร เราควรให้ความสำคัญกับคนที่ด้อยโอกาสที่สุดก่อน และนี่ก็ไม่ใช่การให้ในลักษณะเมตตา ไม่ใช่การกุศล แต่คือหลักความเป็นธรรมเบื้องต้น แต่จบที่แนวคิดแบบจอห์น รอลส์ สำหรับผมไม่พอ เพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ต่อจากนี้ไปเราต้องสร้างสิ่งที่เป็นคอมมอนส์มากขึ้น หาพื้นที่ ทรัพย์สิน และความรู้ส่วนรวม แต่คำว่าส่วนรวมก็ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวด้วยนะ ต้องมีความหลากหลายอยู่ในส่วนรวมนั้น
อย่างเป็นรูปธรรม คอมมอนส์พวกนี้คืออะไร เราต้องสร้างหรือมีอะไรขึ้นมาในเมือง
พื้นฐานที่สุดคือเมืองต้องมีอากาศต้องสะอาด เพราะอากาศไปทุกที่ คนรวยคนจนโดนเหมือนกันหมด ดังนั้นอากาศคือสิ่งที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้และมีคุณภาพเท่ากัน ไม่ใช่ใครมีตังค์ก็ไปซื้อเครื่องกรองอากาศ หรือสามารถหลบอยู่ในห้องในรถยนต์ได้ หลังจากนั้นก็มาดูที่ทรัพยากรพื้นฐานทั้งหมดเลย เช่น น้ำ คนควรมีน้ำที่ดีใช้ คนไม่ควรต้องมีชีวิตอยู่ติดน้ำเสีย หรือถ้าเชื่อมไปเรื่องที่อยู่อาศัย คนไม่ควรต้องรับความเสี่ยงจากน้ำท่วมมากกว่าคนอื่น หรือถ้าเขาต้องรับความเสี่ยงจากน้ำท่วมมากกว่าคนอื่น ก็ต้องมีกระบวนการที่ชดเชยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการรับความเสี่ยง
หรือขยับไปถึงเรื่องทางเท้า เราต้องมาเคลียร์ที่รายละเอียด ถ้ากฎหมายบอกว่าเป็นทางเท้า ดังนั้นต้องใช้เดินเท้าเท่านั้นไหม แล้ววิ่งได้ไหม จักรยานล่ะ ปั่นได้ไหม หรือกลับกัน ถ้าเราสร้างถนนมาแล้วบอกว่าใช้เฉพาะสำหรับรถวิ่ง แล้วถ้าคนปั่นจักรยานอยากใช้ถนนด้วย เขาทำได้ไหม รายละเอียดพวกนี้คือเรื่องที่เราต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรกับคอมมอนส์แบบนี้
บางทีมนุษย์เราก็มีความอิหลักอิเหลื่อ ถ้าเถียงกันไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มเห็นว่าบางกรณีเรารับได้ แต่ในบางกรณีเรารับไม่ได้ ทุกคนอาจต้องกลับไปสะท้อนตัวเองนะว่าคิดอย่างไร และทำไมเราถึงคิดแบบนี้
ตอนนี้สังคมเห็นตรงกันว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีปัญหาหลายเรื่อง เช่น แออัด รถติด เหลื่อมล้ำ ไม่โอบรับคนหลากหลาย ฯลฯ ถ้ามองย้อนไปที่รากการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ เราผิดพลาดตรงไหน และอะไรที่พาเมืองเดินทางมาถึงจุดที่เป็นอยู่
ถ้าจะย้อนกลับไปดูว่าเราบริหารจัดการเมืองอย่างไร ผลถึงออกมาเป็นแบบนี้ ผมก็ไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บแล้วบอกว่าเพราะคนยุคก่อนทำมาไม่ดี เพราะเราไม่รู้หรอกว่าคนในแต่ละยุคมีทรัพยากรที่จำกัดหรือมีความรู้มากน้อยแค่ไหน ผมว่าเราได้ประโยชน์จากการมาทีหลังนะ
แต่ถ้าถามว่าความคิดแบบไหนที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นปัญหามาถึงตอนนี้ ผมคิดว่ามีสองเรื่องหลัก ประเด็นแรกคือ การทุ่มกับการเป็นเมืองฐานรถยนต์ เพราะตอนนั้นเราคิดว่ารถยนต์คืออนาคต แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วละว่ารถยนต์คือปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะในไทย แต่เป็นปัญหาของการพัฒนาเมืองทั่วโลก
ถ้าย้อนกลับไปในอดีตเมื่อสักร้อยปีที่แล้ว เช่น ที่นิวยอร์ก เขามีบทความและหนังสือออกมาชื่นชมรถยนต์มากมาย เพราะรถยนต์สะอาดกว่ารถม้า ตอนนั้นมีม้าอยู่เต็มไปหมดในนิวยอร์ก และมีมูลม้าเต็มไปหมด เหม็นสกปรกทั้งเมือง เลยเกิดความคิดว่ารถยนต์เป็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นความผิดพลาดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองคือเมืองที่พึ่งรถยนต์ เราเคยมีรถราง แต่เราทิ้งรถรางไปหมด ในขณะที่ตอนนี้ต้องกลับมาสร้างขนส่งทางรางกัน
ประเด็นที่สอง คือการขาดกลไกในเชิงภาษี คือไม่มีการเก็บภาษีทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนาที่ดินจากเจ้าของที่ดิน นี่คือเหตุผลที่ผมเคยเขียนว่าปัญหาของความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในเมืองของไทย ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนบางกลุ่มได้ลาภลอยจากการมีที่ดิน คนในสังคมใช้ภาษีอื่นๆ มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจนทำให้ที่ดินตรงนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเจ้าของก็อยู่บนกองที่ดิน ไม่ต้องทำอะไรก็รวยขึ้นๆ อันนี้คือจุดผิดพลาดของการบริหารรัฐกิจและการบริหารเมืองของไทยที่ไม่สะท้อนมูลค่าที่เพิ่มขึ้น จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่เราเห็นในปัจจุบัน
จริงๆ กรุงเทพฯ มีข้อผิดพลาดเยอะ แต่สองอย่างนี้คือจุดสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเมืองไปพร้อมกับความเหลื่อมล้ำ คือตัดถนนเพื่อรถ และไม่เก็บภาษีทรัพย์สินจากเจ้าของที่ดินที่ได้ประโยชน์จากการตัดถนนนั้น
ถ้าเอาแค่เฉพาะเรื่องรถยนต์ก่อน ตอนนี้เราก็กลับไปแก้ไขยากแล้วไหม
ยาก แต่ไม่ใช่ไม่มีทางออก
ชนชั้นกลางที่จ่ายได้จำนวนหนึ่ง มีชีวิตที่ดีขึ้นในกรุงเทพฯ จากการที่มีขนส่งทางราง คือมีทางเลือกมากขึ้น นี่คือจุดที่ทำให้เริ่มเห็นข้อแตกต่าง ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่มีทางเลือกนี้เลย ทั้งคุณและผม ทุกคนไม่มีรถไฟฟ้าให้เลือก แล้วถามว่าสเต็ปต่อไปคืออะไร แน่นอนว่าหนีไม่พ้นรถเมล์ ผมยังเชื่อว่ารถเมล์มีโอกาสและเป็นจุดสำคัญสำหรับการให้คนหลุดออกจากการใช้รถยนต์ได้มากที่สุด ใครอยากรถติด ก็ติดไป แต่ใครที่ไม่อยากรถติด ต้องกลับมาดูว่าเรามีทางเลือกให้เขามากน้อยขนาดไหน
ต่อจากนี้ไปรัฐจะต้องลงทุนกับขนส่งสาธารณะมากขึ้น ตอนนี้เราลงทุนในรถราง รถไฟ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างรถไฟให้ครอบคลุมกรุงเทพฯ ทุกพื้นที่โดยไม่มีรถเมล์มาซัปพอร์ต ภายใน 25 ปีที่ผ่านมา เราทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าเร็วมากแล้วในเชิงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งโจทย์ต่อไปก็คือจะทำอย่างไรให้คนสามารถเข้าถึงได้จริงๆ ในความหมายของการจ่ายได้ ตอนนี้คนอาจเข้าถึงได้ในเชิงระยะทาง แต่ยังเข้าถึงไม่ได้ในเชิงระยะเงิน
เชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องการเดินทางในกรุงเทพฯ ตอนนี้มีปัญหาว่าแรงงานในเมืองไม่สามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้ แต่ต้องไปหาที่อยู่อาศัยตรงชานเมือง เพราะที่พักอาศัยในเมืองราคาแพงมาก จนคนต้องเลือกการเดินทางไกลเพื่อเข้ามาทำงานแทน ขณะเดียวกันก็มีที่ดินของรัฐที่อยู่ในเมืองจำนวนมาก ซึ่งการใช้งานพื้นที่อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมือง อาจารย์มองประเด็นเรื่องการจัดสรรที่ดินในเมืองและการเดินทางของคนในเมืองอย่างไร
ต้องอธิบายก่อนว่าปัญหาที่อยู่อาศัยของของกรุงเทพมหานครเป็นอย่างไร แต่เดิมเรามีรัฐที่ลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนเป็นเจ้าของและคนเช่าอย่างแฟลตดินแดง แต่ยุคหลัง บทบาทของรัฐน้อยลงในด้านการจัดการที่อยู่อาศัยในเมือง คือไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำ แต่ยังทำไม่พอ เพราะความต้องการมีมากกว่าที่เป็นอยู่
ทีนี้มีหลายเหตุผลที่ทำให้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ราคาแพง พอคนมากขึ้น อุปสงค์มากขึ้น ที่ดินก็ต้องแพงขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว อันนี้เราแทบทำอะไรมากไม่ได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่อยู่ที่ว่ารัฐจะเข้าไปแทรกแซงในตลาดที่ดินและที่อยู่อาศัยมากน้อยแค่ไหน ที่จะทำให้คนอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้กับที่ทำงานได้ คำตอบก็คือรัฐไทยไม่ค่อยได้ทำหรือทำไม่พอ
ตลาดที่ดินและที่อยู่อาศัยของไทยเป็นตลาดในระดับโลกที่เปิดกว้างให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อและอยู่อาศัยได้ ไม่จำกัดเฉพาะคนไทยเท่านั้น ในช่วงหลังจึงทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในพื้นที่กลางเมืองสูงขึ้นไปด้วย และการท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกและโรงแรม รวมถึงการพัฒนาด้านพาณิชยกรรมที่ผลักให้ที่อยู่อาศัยต้องออกไปไกลมากขึ้น
ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าการที่คนต่างชาติสามารถซื้อคอนโดฯ ได้ในประเทศไทยทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจที่โตขึ้นจากบางธุรกิจอย่าง เช่น โรงแรม เขาก็สามารถแย่งที่ดินกลางเมืองได้ ดังนั้นเป็นปกติของการพัฒนาเมืองใหญ่ที่ที่อยู่อาศัยจะถูกผลักออกไปไกล แต่เราก็ไม่ได้บอกว่านี่คือสิ่งที่ควรต้องยอมรับสภาพแล้วก็จบ แต่เราต้องกลับไปถามว่าแล้วรัฐทำอะไรได้บ้าง และเราก็ควรถามด้วยว่าจำเป็นไหมที่คนต้องมีที่อยู่อาศัยกลางเมือง
ในอดีต ญี่ปุ่นที่เราชื่นชมกันก็ไม่ได้คิดว่าต้องให้คนมีที่อยู่อาศัยกลางเมือง ญี่ปุ่นบอกว่าจะปรับกลางเมืองให้เป็นการพัฒนา สร้างอาคารพาณิชยกรรมและสำนักงานไปเลย แต่สร้างระบบขนส่งมวลชนที่ดีให้คนสามารถอยู่ชานเมืองได้ใน new town แล้วเข้ามาทำงานในเมืองได้ ดังนั้นการอยู่กลางเมืองไม่ได้หมายความถึงแค่เรื่องระยะทาง เพราะคนอาจให้ความสำคัญกับ ‘ระยะเวลา’ ในการเดินทางมากกว่า ‘ระยะทาง’ ในบางเมืองอย่างญี่ปุ่น เขาโอเคที่จะให้คนอยู่ไกลในเชิงระยะทาง แต่ระยะเวลาเดินทางนั้นอยู่ในระดับที่รับได้
จริงๆ แล้วรัฐไทยก็พยายามบางส่วน แต่ยังไม่สุด ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าทั้งระยะทางและระยะเวลาทำให้คนต้องอยู่อาศัยในที่ตั้งที่ไกลจากที่ทำงาน ซึ่งแย่ทั้งคู่ ตอนนี้จึงเกิดทางเลือก เช่น ให้คนไปอยู่บ้านที่บางใหญ่ แล้วมีรถไฟสายสีม่วงไปถึง แต่ราคาสายสีม่วงก็แพงอีก ก็ต้องมาดูว่าถ้าราคาของสายสีม่วงเหลือ 10 บาท คนจะยอมรับได้ไหม บางคนอาจยอมรับได้ที่จะอยู่ไกลออกไปหนึ่งชั่วโมง แต่ไม่ต้องแออัดอยู่กลางเมือง
ผมคิดว่ามีทางเลือกอยู่พอสมควรที่เราต้องมาช่วยกันคิด เพราะมีความละเอียดของทางเลือกอยู่ ผมพูดมาถึงตรงนี้เพื่อต้องการตอบคำถามว่า แล้วสุดท้ายเหลืออะไรให้รัฐทำได้ตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่าที่ดินในเมืองตอนนี้แพงเกินกว่าที่รัฐไทยจะซื้อได้แล้วล่ะ และการใช้เครื่องมือทางผังเมืองในเชิงกฎหมายก็มีข้อจำกัดอยู่เยอะมากที่จะนำไปสู่การสร้างที่อาศัยในเมืองที่คนพอจ่ายได้
สำหรับประเทศไทยและกรุงเทพฯ ตอนนี้มีการกระจุกตัวของงานที่อยู่กลางเมืองเยอะมาก แม้เราอยากให้มีการกระจายของแหล่งงานไปอยู่ชานเมือง แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นไปได้ยากที่กลไกตลาดจะทำให้เกิดการกระจายของแรงงานไปอยู่ชานเมืองในระดับที่มากพอ
ดังนั้นถ้าเราตั้งต้นก่อนว่าอย่างไรแหล่งงานก็คงหนีไม่พ้นพื้นที่กลางเมือง เราก็ต้องตั้งคำถามแล้วว่าจะให้คนเดินทางเข้ามาทำงานได้เร็วที่สุดจากชานเมืองอย่างไร และจะทำให้บางคนมีโอกาสจ่ายเพื่อมาอยู่กลางเมืองได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งประเด็นหลังมีอยู่สองทางเลือก ทางเลือกแรกคือตลาดเช่า ตอนนี้เรามีนโยบายที่สนับสนุนการเช่าไม่มาก สิ่งที่รัฐไทยต้องทำต่อจากนี้คือนโยบายการเช่าที่อยู่อาศัยในทุกระดับ ตั้งแต่คนจนที่สุดไปจนถึงระดับปานกลาง นี่คือสิ่งที่รัฐยังทำได้และมีตัวอย่างในต่างประเทศที่เอามาวิเคราะห์และทดลองทำได้
ทางเลือกที่สองคือ กลับไปประเด็นที่ดินของรัฐซึ่งมีอยู่เยอะมากในพื้นที่กลางเมือง รัฐไทยทั้งในระดับรัฐบาลกลางและท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี ควรเข้ามาคิดมากขึ้นว่าจะทำอะไรได้บ้างกับพื้นที่ของรัฐที่อยู่กลางเมือง รัฐไทยมีที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการอยู่ และที่ดินที่มีประโยชน์อื่นๆ ให้คนในเมืองใช้ประโยชน์ได้ มีตั้งแต่พื้นที่ทหาร สำนักงานเขต ที่ราชพัสดุ ฯลฯ หรือจำเป็นไหมที่ศูนย์ราชการต้องใหญ่มหึมาขนาดนั้น แล้วพนักงานที่ทำงานที่นั่นต้องรถติด 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ทำไมไม่มีที่อยู่อาศัยสำหรับคนทำงานที่นั่น เป็นแบบเช่าก็ได้
ในมุมมองของนักออกแบบและพัฒนาเมือง นี่คือการสร้างโปรแกรม ไม่ขาวไม่ดำ พื้นที่ตรงนั้นต้องการอะไรก็ออกแบบโปรแกรมให้เหมาะสม นี่คือสิ่งที่จำเป็นที่เราต้องทำต่อ
เราสามารถใช้หลักการเรื่องความยุติธรรมมาจัดการการใช้ที่ดินในเมืองให้เหมาะสมได้ไหม
อย่างแรกต้องกลับมาที่คำถามว่า ทำไมรัฐต้องเอาเงินภาษีของสังคมไปสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนที่มีรายได้น้อยกว่า ทำไมเราไม่เอาพื้นที่ตรงนั้นไปสร้างสวนให้คนรวยใช้ นี่คือมองจากมุมมองการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสกว่า ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่คนจนที่สุดที่อยู่ในชุมชนแออัด แต่อาจหมายรวมถึงเด็กเรียนจบใหม่จากมัธยม-มหาวิทยาลัย หรือไปไกลจนถึงแรงงานต่างชาติที่ไม่มีสัญชาติไทย การตอบคำถามนี้ได้ทำให้เห็นว่าสังคมเรามีหลักในเชิงความยุติธรรม-ความเป็นธรรมที่เอื้อประโยชน์ให้คนด้อยโอกาสก่อน
คนจำนวนมากฝันอยากเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่รู้สึกว่าตัวเองจะสามารถเป็นเจ้าของบ้านหรือที่ดินได้เลย หรือถึงกู้ซื้อบ้านได้ก็ต้องผ่อนไปอีก 30 ปี กว่าจะได้เป็นเจ้าของจริงๆ ก็ตอนที่แก่แล้ว ต่อประเด็นเรื่องความสามารถในการเป็นเจ้าของบ้านหรือที่ดินนี้ อาจารย์มองอย่างไร
โดยพื้นฐานของมนุษย์ก็อยากจะเป็นเจ้าของทุกๆ อย่างนั่นแหละ ไม่ใช่แค่ทรัพย์สินเงินทองหรือบ้าน แต่ยังรวมไปถึงการเป็นเจ้าของคนอื่นด้วย
ถ้าพูดเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย แต่เดิมเราคิดว่าการเป็นเจ้าของเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการสะสมความมั่งคั่งของเราไปเรื่อยๆ หรือบางทีเป็นเรื่องของจิตใจ เช่น ถ้าเช่าเขาอยู่ เราก็ตอกตะปูบนผนังไม่ได้ เดี๋ยวเจ้าของจะมาว่า เป็นต้น นี่คือเซนส์ความละเอียดของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดต่างๆ ที่เราเริ่มมองเห็นแล้วว่าวิธีคิดแบบเป็นเจ้าของชั่วกัลปาวสานนั้นใช่หรือเปล่า เพราะมนุษย์ก็จะมีวิธีคิดอีกว่าเราเป็นเจ้าของตอนที่ตัวเองมีชีวิตยังไม่พอ แต่ต้องให้ลูกหลานเป็นเจ้าของต่อด้วย คือทรัพยสิทธิ (property rights) ไม่ใช่แค่ของฉัน แต่ต้องเป็นของลูกหลานฉันด้วย
เรื่องนี้ก็เริ่มมีประเด็นที่สังคมต้องมาพูดคุยกันแล้วว่าจะยังยอมรับเรื่องนี้ไหม เพราะในบางสังคม เช่น ในยุโรป หรือที่ที่มีความเป็นสังคมนิยมมากกว่า เขามองว่าที่อยู่อาศัยไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพยสิทธิที่คนถือครองกรรมสิทธิ์ (freehold) ไปตลอดชั่วชีวิต ถ้าพูดกันง่ายๆ คือตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ แล้วทำไมจะต้องยึดติดไว้อีก นี่ก็เป็นอีกคอนเซปต์หนึ่ง
ดังนั้นความเป็นเจ้าของมีทั้งมิติของพื้นที่และเวลาด้วย ขึ้นอยู่กับสังคมว่าอยากให้เป็นแบบไหน ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังอยากให้เป็นทรัพยสิทธิแบบให้ลูกให้หลาน เราก็ต้องมาถามตัวเองด้วยว่าที่เราอยากเป็นเจ้าของนั้น เป็นแค่ของตัวเองแล้วจบไหม ถ้ามีหลายคนเริ่มโอเคว่าเอาแค่ชั่วชีวิตของเราก็พอ ไม่ต้องถึงลูกถึงหลาน ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการคิดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของแล้ว ท้ายที่สุดนโยบายรัฐหรือกฎหมายก็จะสะท้อนความคิดของคนในสังคม
มาที่เรื่องระยะเวลาการเช่า ไม่ว่าจะให้เช่า 99 ปี 30 ปี 10 ปี หรือ 1 ปี อันนี้ถือเป็นเฉดของการเช่า ในหลายๆ ประเทศเช่าได้จนชั่วชีวิต หลังจากนั้นก็คืนเจ้าของซึ่งคือสังคม ถามว่าวิธีไหนดีกว่ากัน ผมไม่ตอบแล้วกัน เพราะสังคมต้องตอบเองว่าอยากได้แบบไหน
บางคนอาจคิดว่าเช่า 50 ปี แต่มีความมั่นคงในการเช่า 50 ปี ดีกว่าการเป็นเจ้าของบ้านที่ต้องผ่อนกับธนาคาร 30 ปี เพราะถ้าซื้อบ้าน คุณย้ายที่อยู่อาศัยไม่ได้ ต้องอยู่กับที่ แล้วเดินทางไปทำงานไกล จะขายก็ลำบาก เพราะบ้านเป็นสินทรัพย์ที่สภาพคล่องต่ำ แต่สมมติว่าคนมีความมั่นคงในการเช่า สามารถเปลี่ยนที่เช่าไปได้เรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป คนอาจจะเลือกการเช่ามากกว่าก็ได้ สุดท้ายก็กลับไปที่เรื่องความมั่นคงในชีวิต เมื่อก่อนคนคิดว่าการเป็นเจ้าของคือความมั่นคง แต่ในอนาคตความมั่นคงอาจมาจากการเช่าก็ได้ ถ้ารัฐสร้างกลไกมาซัปพอร์ต
คำถามคือแล้วรัฐต้องสนับสนุนเรื่องการเช่ามากน้อยขนาดไหน เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดที่อยู่อาศัยแบบเป็นเจ้าของ ส่วนตัวผมคิดว่ารัฐต้องเพิ่มความพยายามในด้านการเช่ามากขึ้น ตอนนี้รัฐเราลงทุนน้อยมากกับตลาดเช่า ปล่อยให้เป็นกลไกตลาด ซึ่งไม่มีปัญหาในตัวมันเอง แต่ถ้ามาดูว่าตอนนี้คนเช่ามีสิทธิมากน้อยขนาดไหน ก็ยังมีหลักบางอย่างที่รัฐควรเข้าไปดูแล
ถ้าขยายมาที่ภาพใหญ่อย่างการจัดสรรทรัพยากรระหว่างรุ่น สังคมจะมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างไรให้มนุษย์รุ่นถัดไปที่จะเกิดขึ้นมีทรัพยากรให้ใช้อย่างเหมาะสม
อันนี้เป็นเรื่องความยั่งยืนและความเป็นธรรมข้ามรุ่น ซึ่งเราจะคุยกันเรื่องความเป็นธรรมข้ามรุ่นไม่ได้ ถ้าไม่พูดเรื่องความเป็นธรรมในรุ่นเดียวกัน สองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน คอนเซปต์ที่ใช้ตอนนี้คือการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในเชิงความยั่งยืน
เราไม่ควรมุ่งสู่สังคมที่ยั่งยืนในการใช้ทรัพยากร โดยคนที่ลำบากอยู่แล้วไม่สามารถมีความกินอยู่ที่ดีขึ้นได้ บางทีเรามุ่งสู่การใช้พลังงานทดแทน หรืออะไรที่ดูดีในเชิงความยั่งยืน ในบางกรณีเรื่องเหล่านี้อาจมาพร้อมกับความลำบากของคนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรปฏิเสธการพัฒนาไปข้างหน้าเรื่องการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนมากกว่านะ เพียงแต่เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าเรามีมาตรการที่เกื้อกูลและเยียวยาคนที่เสียโอกาสจากการที่เรามุ่งหาความยั่งยืนอย่างไรบ้าง เช่น สมมติว่าคนในอนาคตที่มีฐานะสามารถอยู่ในพื้นที่ที่ยั่งยืนมากกว่า เขียวมากกว่า ใช้อีวีได้ เดินไปทำงานได้ แต่คนจำนวนมากถูกผลักออกจากพื้นที่เหล่านั้น อันนี้คือปัญหา
หรือตัวอย่างเรื่อง ‘เมือง 15 นาที’ ที่คนสามารถเข้าถึงที่ทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันได้ใน 15 นาที คือโดยตัวมันเองเป็นคอนเซปต์ที่ดี เห็นด้วย แต่เมื่อไหร่ที่เราใช้แนวคิดนั้นในการพัฒนาเมือง เราต้องมองเห็นว่าคนจำนวนมากไม่สามารถอยู่ในที่อยู่อาศัยที่เข้าใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกภายในเวลา 15 นาทีได้ การที่เรามุ่งสร้างผลประโยชน์ให้กับคนที่สามารถเดินหรือปั่นจักรยาน 15 นาทีได้นั้น เรากำลังละเลยคนจำนวนมากไปหรือเปล่า เราทุ่มทรัพยากรให้กับคนที่อยู่สุขุมวิทอยู่แล้ว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องซัปพอร์ตเขามากอยู่แล้วหรือเปล่า นี่คือแก่นของความยุติธรรมและความเป็นธรรมเลย
ดังนั้นถ้าเรามาเปรียบเทียบงบประมาณในการจัดสรร แล้วถ้าเห็นว่าบางอย่างที่เราทำ แม้ว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนในบางบริบทก็ตาม แต่สิ่งนั้นทำให้เราละเลยคนที่ด้อยโอกาสกว่าในพื้นที่อื่นหรือกลุ่มอื่น ในความคิดของผม โครงการนั้น แนวคิดนั้น ถือว่าไม่เป็นธรรม ดังนั้นก็จะไม่นำไปสู่เมืองที่ดี
เรื่องความเป็นธรรมข้ามรุ่นและความยั่งยืนเป็นเรื่องที่เราพูดกันมา 30-40 ปีแล้ว แต่ตอนนี้เราผ่านมาถึงจุดที่ควรลงรายละเอียดกันมากขึ้น เราต้องรู้ว่าในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นธรรม-ความยุติธรรมข้ามรุ่น จะมีคนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากตรงนั้นระหว่างทางเสมอ นี่ต่างหากคือสิ่งที่เราต้องแคร์มากที่สุด
นอกจากการจัดสรรทรัพยากรในเมืองใหญ่แล้ว ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะเมืองหด คือมีเมืองอยู่ชายขอบซึ่งเป็นเมืองที่ใกล้จะตาย หากไปดูคนที่อาศัยอยู่ ถ้าไม่ใช่คนแก่ก็คนรุ่นเด็กๆ ส่วนวัยทำงานก็ต้องไปอยู่ที่อื่น ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะก็ดูจะไม่ได้ดีพอเหมือนในเมือง ประเด็นนี้อาจารย์มองว่าเป็นปัญหาไหม ถ้าออกแบบนโยบายได้ เราควรจะทำอย่างไร
ถามว่าเป็นปัญหาไหม เป็นปัญหาอยู่แล้วแหละ คนแก่จะไปโรงพยาบาล ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ไป หรือเช่ารถไป 300-400 บาท จะไม่ใช่ปัญหาได้อย่างไร แต่เราสามารถวิเคราะห์เพิ่มได้ว่าเป็นความไม่ยุติธรรม-ไม่เป็นธรรมในมุมมองไหน
อย่างแรกก่อน ต้องกลับไปที่เรื่องการกระจายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกัน คือได้ไม่เท่ากัน อันนี้ตัวเลขก็ชัด
สอง ถามว่ายุติธรรมหรือเป็นธรรมในเชิงการจัดสรรไหม ก็ต้องไปดูว่าในอดีตเราคิดอย่างไร ในอดีตเราใช้วิธีแบบไหลริน คิดว่าถ้ากรุงเทพฯ ดีขึ้น เมืองใหญ่ดีขึ้น ความเจริญก็จะไหลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ด้วย เรามองความยุติธรรมแบบอรรถประโยชน์นิยม สร้างพายให้ใหญ่ไว้ ท้ายที่สุดคนก็ได้ประโยชน์เอง เราใช้วาทกรรมของประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งการลงทุนในกรุงเทพฯ ดีอยู่แล้วแหละ ในเชิงผลิตภาพก็ต้องสูงกว่าที่อื่นอยู่แล้ว เราเลยทุ่มทุนไปให้เมืองใหญ่เป็นหลัก เพราะฉะนั้นหากมองจากมุมมองแบบอรรถประโยชน์นิยม การจัดสรรแบบนี้เป็นธรรม ผมไม่ปฏิเสธในความหมายนั้น
ทีนี้ถ้าเราใช้ทฤษฎีอื่นในการอธิบายความเป็นธรรม เช่น แนวคิดแบบรอลส์ ถามว่าพื้นที่ที่ด้อยโอกาสที่สุดได้รับการลงทุนมากที่สุดหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ แต่สมมติว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่คนรวยอยู่ เช่น เขาใหญ่ คือไกลและชนบท แต่การลงทุนจากรัฐน้อย เราจะโอเคกับพื้นที่แบบนั้นไหม นี่คือสิ่งที่เราต้องค่อยๆ แคะกันไป
ผมไม่มีปัญหากับความคิดเรื่องการไหลรินที่ลงทุนกับเมืองใหญ่เพื่อกระจายไปชนบท แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพอเราทุ่มกับเมืองใหญ่ไปแล้ว เราละเลยส่วนอื่นมากเกินไปหรือเปล่า ความแตกต่างระหว่างเมืองที่โตกับเมืองที่หด คือเมืองที่โต ทุกคนจะมีโอกาสและทางเลือกของชีวิต แต่เมืองที่หดก็จะมีความหงอยเหงา มีแต่คนแก่ ไม่มีโอกาสในการเติบโตในด้านหน้าที่การงาน คุณภาพชีวิต กลายเป็นสองโลกในประเทศไทย
สิ่งนี้ไม่ใช่ว่าไม่เกิดในประเทศอื่น ประเทศที่เราคิดว่ามีความเสมอภาคและความเป็นธรรมมากกว่าอย่างญี่ปุ่น ก็เกิดปัญหาเมืองหด-ชนบทตาย ในชนบทญี่ปุ่นมีโรงเรียนดี โครงสร้างพื้นฐานดี รถไฟไปถึง แต่ก็ยังไม่มีคนอยู่เลยตอนนี้ เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าถ้าเราลงทุนแล้วจะกลับมาได้เหมือนเดิม นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เราต้องตระหนักไว้
ในเชิงยุทธศาสตร์ก็ต้องกลับมาถามว่าแล้วเงินควรจะไปลงที่ไหนล่ะ ถ้าจ่ายแบบกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกไปหมด แล้วไม่ทำให้คนกลับไปอยู่พื้นที่นั้น ไม่มีเศรษฐกิจเกิดขึ้น ก็ไร้ประโยชน์หรือเปล่า การพูดว่าต้องให้ทุกที่เท่าเทียมกัน ต้องมาดูว่าเอาเงินลงไปแล้วจะเกิดอะไรต่อและจะทำอย่างไร นี่จึงกลายเป็นความยากลำบากของการตัดสินใจในเชิงนโยบายว่าจุดไหนคือจุดที่สมดุล ระหว่างการทุ่มทุกอย่างไปที่กรุงเทพฯ แล้วละเลยที่อื่นหมด กับการที่กระจายไปหมดแล้วแทบจะไม่ได้อะไรเกิดขึ้นมา
นักออกแบบนโยบายสาธารณะของประเทศไทยต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้แตก สำหรับผมมองว่าโครงสร้างที่จำเป็นในการใช้ชีวิตควรต้องไปให้ทั่วถึง แต่ถ้าเป็นสิ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตในเชิงเศรษฐกิจ อันนี้ควรต้องเลือกพื้นที่ให้ถูกต้อง เช่น ควรมีแค่บางเมืองหรือบางพื้นที่ไหม
การกระจายอำนาจเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาไหม
การกระจายอำนาจสำคัญอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ต้องคุยเรื่องรายละเอียด ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่ต้องได้รับเงินเท่ากัน แล้วทำเหมือนกัน ทุกที่ต้องรู้อยู่แล้วว่าตรงไหนบ้างที่จำเป็นจริงๆ สำหรับการดำรงชีวิตของคนที่อยู่ตรงนั้น ส่วนนี้การกระจายอำนาจไปที่ท้องถิ่นน่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะที่ผ่านมารัฐส่วนกลางไปครอบงำมากเกินไป คิดทึกทักเอาเองว่าเขาต้องการอะไร
แต่พอเป็นเรื่องบางอย่างที่ต้องขับเคลื่อนด้วยองคาพยพที่ใหญ่กว่าความจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน สมมติมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบรับกับเศรษฐกิจนวัตกรรม ต้องลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เพื่อมาซัปพอร์ตโอท็อป เช่น จะทำอย่างไรให้พัฒนาอาหารจากแมลงไปสู่ precision food หรือ functional food นั่นหมายความว่าเราต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม อันนี้จำเป็นต้องไปมากกว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะเริ่มมีการลงทุนที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ รัฐบาลกลางต้องมาช่วยดู มาช่วยคุยกัน ว่าตรงไหนคือจุดที่ถูกต้อง
และไม่ใช่ว่าทุกที่ต้องมีรถไฟฟ้า หลายคนก็อาจบ่นว่า ทำไมเมืองเราไม่มีรถไฟฟ้าเหมือนกรุงเทพฯ สักที ผมอยากเสริมเรื่องนี้ แต่ไม่ใช้คำว่ารถไฟฟ้า เช่น ทำไมเมืองเราไม่มีขนส่งมวลชนที่จ่ายได้ คือไม่ใช่ว่าทุกที่ต้องมีรถไฟฟ้า ไม่อย่างนั้นทุกเมืองก็ต้องไปสร้างรถไฟฟ้าที่ขาดทุน อาจจะเปลี่ยนเป็นรถสองแถวที่อัปเกรด มีแอร์ ไวไฟ รถเมล์ที่เป็น on demand รถราง หรืออะไรที่คนตรงนั้นต้องการและจ่ายได้ นี่คือความละเอียดของการกระจายการลงทุนที่เราต้องคุยกัน
นอกจากประเด็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ประเด็นเรื่องคุณภาพการศึกษาก็ถูกพูดถึงอยู่มาก ถึงความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท หรือการอยู่กลางเมือง–ชานเมืองในเมืองใหญ่
คุณภาพการศึกษาสำคัญอยู่แล้ว แต่ปัญหาของการที่เราไม่สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้เท่ากันทุกที่ นอกเหนือจากสิ่งต่างๆ ที่นักการศึกษาได้พูดกันไปแล้ว คือตำแหน่งที่ตั้งของที่อยู่อาศัย ตอนนี้โรงเรียนที่ดีคือโรงเรียนที่มีมาแต่เดิม มีประวัติศาสตร์ มีชื่อเสียงที่ดี มีทุนมาแต่เดิม ซึ่งโดยมากจะอยู่กลางเมือง แต่คนที่เป็นชนชั้นกลางหรือคนที่ไม่มีโอกาสก็ต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่ไกลออกไป คนชั้นกลางก็มีกับดักชนชั้นกลางอยู่ ถ้าคนรวยไปเลยก็ส่งลูกไปเรียนนานาชาติที่มีรถมารับส่ง หรือตัวเองไปส่งลูก ถ้าจนก็ give up ไปเลย ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนใกล้บ้านที่สุด ยอมรับในชะตาของตนเอง
ชนชั้นกลางอิหลักอิเหลื่อ อยากให้ลูกไปโรงเรียนที่ดี แต่ก็ไม่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียนนานาชาติ ก็เลยต้องไปหาโรงเรียนของรัฐหรือเอกชนที่มีชื่อเสียงที่อยู่กลางเมือง กลายเป็นความลำบากของชนชั้นกลางไป แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพการศึกษาและที่อยู่อาศัย เพราะถ้าเขารวยมากพอที่จะอยู่กลางเมือง เขาก็จะไม่มีปัญหานั้น แต่ถ้ารัฐลงทุนในการศึกษาไว้ดี ไปอยู่ชานเมือง คนรวยก็จะไปอยู่ชานเมืองเหมือนอเมริกา เพราะทุกอย่างมาจากภาษีของคนในเมือง เพราะฉะนั้นที่อยู่อาศัยกับคุณภาพโรงเรียนจึงไปด้วยกัน
เด็กในชนบทยิ่งหนักนะแบบนี้
ยิ่งหนักเลย ผมไม่ได้เป็นนักการศึกษา แต่บอกได้ว่าปัญหาใหญ่มากของไทยคือการศึกษานี่แหละ หวังว่าเครื่องมือดิจิทัลจะช่วยอะไรได้บ้าง เพราะดิจิทัลช่วยลดความเหลื่อมล้ำในเชิงระยะทาง แต่ก็ไม่ได้แก้ทั้งหมด ก็ไม่รู้จะช่วยได้ขนาดไหน เคยมีความพยายามให้เด็กเรียนผ่านดาวเทียม แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่เวิร์ก เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มากเกินความสามารถที่ผมจะวิเคราะห์ แต่ผมคิดว่าเรื่องการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยด้วย
กลับมาที่เรื่องหลักการ หากเรามีสังคมที่ความยุติธรรมวางรากฐานมั่นคงแล้ว สิ่งนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทได้ไหม
ยาก ถ้าเอาแค่เรื่องความเป็นธรรมก็จะจบได้ที่กระบวนการที่เป็นธรรม แต่พอเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำมันมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ ทุนนิยมโลก ข้อจำกัดของทรัพยากร และมนุษย์ที่อยากอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้กับคนอื่น
คือมันมีพลังอยู่อันหนึ่งเรียกว่า ‘พลังของการกระจุกตัว’ พลังนี้ดูดให้คนไปอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งร่วมกัน นี่เป็นทั้งปัญหาและโอกาสของมนุษย์ คืออารยธรรมมนุษย์เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคที่มนุษย์ทั้ง ‘สามารถ’ และ ‘อยาก’ อยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก บทแรกของหนังสือผมเขียนไว้ว่านี่คือระดับอารยธรรมมนุษย์เลย คือเรากำลังเปลี่ยนจากโฮโมเซเปียนส์เป็นโฮโมเออร์เบินนิสต์ เราเป็นมนุษย์เมือง ซึ่งความเป็นมนุษย์เมืองมาพร้อมการกระจุกตัว แต่การกระจุกตัวนั้นมีได้หลายแบบ กระจุกตัวแบบมหานคร เช่น กรุงเทพฯ หรือกระจุกตัวแบบหาดใหญ่ ขอนแก่น ฯลฯ
กลับมาที่ความเหลื่อมล้ำ ตอนนี้คำว่าความเหลื่อมล้ำมีทั้งในความหมายว่า เหลื่อมล้ำเพราะได้ไม่เท่ากัน กับเหลื่อมล้ำในความหมายของความไม่เป็นธรรม เช่น ไม่มีทางที่ทุกที่จะมีบีทีเอส อันนี้ก็คือความเหลื่อมล้ำในความหมายของการได้ไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าตอบคำถามก็คือความเหลื่อมล้ำเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการกับความเหลื่อมล้ำแล้วทำให้เกิดความเป็นธรรมได้ด้วยนโยบายบางอย่าง
ฟังถึงตรงนี้ก็พยายามจินตนาการถึงเมืองที่ดีแบบนั้น ณ ตอนนี้มีเมืองที่ใกล้เคียงแบบที่เราคุยกันมาไหม เมืองที่จัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และมีความยุติธรรม–เป็นธรรม
เป็นคำถามที่ยาก เพราะเป็นคำถามยูโทเปีย สำหรับผมไม่มียูโทเปีย เพราะถ้าเมื่อไหร่มียูโทเปียแสดงว่ามันหยุดนิ่ง เราคุยกันไปแล้วว่าความเป็นธรรม-ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มีพลวัต ขึ้นอยู่กับบริบท ดังนั้นในการตีความนิยามก็ผิดกันตั้งแต่ต้น เพราะยูโทเปียจะหยุดอยู่แค่นั้น แต่ความเป็นธรรม-ความยุติธรรมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่เมื่อคุณถามยูโทเปียในลักษณะเปรียบเทียบของปัจจุบันว่าตรงไหนดีกว่ากัน ดังนั้นผมจะตอบว่าไม่มีเมืองที่เป็นธรรม ‘ที่สุด’ แต่เปรียบเทียบได้ว่าเมืองนี้น่าจะเป็นธรรม ‘มากกว่า’
ถามว่ามีเมืองไหนที่ดีกว่าเมืองในประเทศไทย ก็ต้องมีอยู่แล้วแหละ ผมขอตอบโดยใช้ประสบการณ์ตัวเองก่อนแล้วกัน ถ้าเมืองไหนที่คนในชุมชนหรือย่านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับชุมชนได้ ผมว่าอันนั้นคือเมืองที่เป็นธรรมกว่าเรา ยกตัวอย่างเมืองในญี่ปุ่น เขามีองค์กรในระดับชุมชนที่เรียกว่า ‘โชไนไค’ เป็นองค์กรที่มีมาตั้งแต่ช่วงก่อนสมัยสงคราม และช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็ยิ่งพัฒนามากยิ่งขึ้น แม้ว่าตอนนี้คุยกับหลายคนเขาจะบอกว่าองค์กรเริ่มอ่อนแอลงก็ตาม แต่ก็ยังมีการสร้างสถาบันและกระบวนการในระดับชุมชนที่ให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจในระดับชุมชนได้ เมืองในญี่ปุ่นมีอยู่องค์กรแบบนี้แทบทุกที่ ส่วนเมืองในยุโรปหรืออเมริกาก็มีบ้าง ไม่มีบ้าง แล้วแต่ที่ ดังนั้นทุกที่ที่มีเงื่อนไขนี้ ผมก็บอกได้ว่าดีกว่าเมืองไทยทั้งนั้นแหละ
ฟังดูเมืองไทยห่างไกลจากเรื่องนี้เหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าเมืองไทยไม่มีนะ ก็มีบ้าง เช่น ที่เชียงใหม่มีชุมชนวัดเกต หรือในกรุงเทพฯ ก็มีชุมชนผู้มีรายได้น้อย เริ่มมีความสามารถในการตัดสินใจได้มากขึ้น แต่ยังไม่ดีพอ เพราะในเชิงโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ดี เช่น ชุมชนมีการพูดคุยกันแต่น้ำในชุมชนยังเสียอยู่ เป็นต้น แล้วเรื่องพวกนี้ไปด้วยกัน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการที่ดี เมืองไทยมีบ้างที่ถือว่าเป็นชุมชนที่ดี เช่น หมู่บ้านจัดสรรล้อมรั้ว มีนิติบุคคลที่ดี แต่พอออกจากหมู่บ้านจัดสรรก็ไม่ดีแล้ว ดังนั้นเมืองที่ดีควรจะขยายทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการที่ให้ได้ทั้งเมือง
ตอนนี้เราไม่มีสถาบันในระดับชุมชนเพื่อจัดการปัญหาที่ใกล้ตัวที่สุด โอเค ตอนนี้ที่กรุงเทพฯ มี Traffy Fondue มันใช่ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สุด สิ่งที่เราขาดคือประชาธิปไตยทางตรงในระดับชุมชน ถ้าไม่มีจุดนี้ เราสร้างเมืองที่ดีไม่ได้ เราจะไม่มีเมืองที่เป็นธรรม-ยุติธรรม
สมมติคอนโดฯ หนึ่ง จะสร้างศาลพระภูมิใหม่ แล้วเอาแบบมาให้ลูกบ้านดูว่าจะเลือกแบบไหน อันนี้ถือเป็นประชาธิปไตยทางตรงไหม
ใช่ อันนี้ประชาธิปไตยทางตรง มีนิติบุคคลเป็นสถาบันในระดับชุมชน ในประเทศอื่นมีการขยายชุมชนนอกเหนือจากสิ่งที่ถูกกำหนดมาโดยกฎหมาย เช่น สมมติของเรา สองคอนโดฯ อยู่ละแวกเดียวกัน พอสองคอนโดฯ ทะเลาะกัน ไม่มีวิธีการที่จะสร้างประชาธิปไตยทางตรงระหว่างสองคอนโดฯ ยังไม่ต้องรวมถึงชุมชนอื่นๆ อย่างบ้านเดี่ยวที่อยู่ในบริเวณรอบข้าง แต่ในประเทศอื่นๆ มีการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมคนในระดับชุมชนขึ้นมาทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ต้องย่อยไปถึงจุดที่เล็กที่สุดเพื่อขยายมาสู่ภาพใหญ่เชิงโครงสร้าง
ใช่ คนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ดี แน่นอนโครงสร้างสำคัญ แต่ในชีวิตประจำวันคนไม่ได้พูดเรื่องโครงสร้าง คนดูแค่ว่าหน้าบ้านมีขยะหรือเปล่า กลิ่นเป็นอย่างไร ถนนในซอยมีคนขับรถสวนเลนไหม ทุกคนอยู่ด้วยชีวิตประจำวันทั้งนั้น แต่พวกนี้เป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้ส่วนหนึ่งด้วยกระบวนการและสถาบันในระดับชุมชน ขยะจะทิ้งตรงไหน คนในชุมชนก็ตกลงกันเอง ในญี่ปุ่นหรือหลายที่เป็นแบบนั้น ไม่ใช่ให้ผู้ว่าฯ กทม. มาบอกว่าทิ้งขยะตรงไหน
ตอนนี้ความเสี่ยงในอนาคตของเมืองในประเทศไทยคืออะไร ชวนมองทั้งเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และการพัฒนาเมืองในชนบทด้วย
ความเสี่ยงของเมืองในประเทศไทยมาจากสามสาเหตุ และสามสาเหตุนี้จะพันกัน
1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น พื้นที่เมืองทั้งหมดตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปจนถึงประจวบฯ ระยอง พัทยา จะเจอการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ ส่วนอีสานก็จะแล้งมากขึ้น
2. ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ
3. การพลิกผันของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น AI ดิจิทัล ไปจนถึงชีวสังเคราะห์ การพลิกผันของเทคโนโลยีจะทำให้เราต้องเจอความเสี่ยงหลายอย่าง
ทีนี้ในเชิงการพัฒนาเมือง ถามว่าช่วยอะไรได้บ้าง ในด้านแรกคือเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานไปสู่แบบที่ใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าใช้คำให้เท่หน่อยก็คือ green transition คือการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เมืองที่ยั่งยืน ยั่งยืนในความหมายของการใช้ทรัพยากร แต่ถ้าการเปลี่ยนผ่านนั้นไม่มาพร้อมกับความกับความเป็นธรรมในการจัดสรรต้นทุนและประโยชน์ เราก็จะไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงได้
ผมมองทั้งสองอย่างเป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกัน แน่นอนต้องเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ถ้าเปลี่ยนแล้วไม่แคร์เรื่องความเป็นธรรมเลย ก็จะเสี่ยงอยู่ดี เพราะจะมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถลดเลี่ยงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศได้ เช่น คนรวยก็ย้ายไปอยู่เพชรบูรณ์ได้ ในขณะที่คนจนยังติดอยู่กับกรุงเทพฯ ที่น้ำท่วมทุกปี ดังนั้นในหลักการของการออกแบบและพัฒนาเมืองต่อจากนี้ไป ถ้าเราไม่แคร์เรื่องความเป็นธรรม เราก็จะแก้ไขปัญหาแค่จุดเล็กๆ บางจุดเท่านั้นแหละ แล้วท้ายที่สุดเราก็ต้องย้อนกลับมาแก้ปัญหานี้อย่างไม่จบสิ้นอยู่ดี
ใครคือ actor หลักในการสร้างความเป็นธรรมในสังคมของเรา
ถ้าตอบแบบคนดีหน่อย ก็จะตอบว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วม ผมพูดแบบแซวไปอย่างนั้นนะ แต่จริงๆ ผมก็เชื่อว่าทุกคน เราต้องถามตัวเองตลอดว่ามีสติขนาดไหนเวลาใช้ทรัพยากร และเราไม่ควรผลักภาระไปหาคนอื่นในการแก้ไขปัญหา
แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้บอกว่ารัฐไม่สำคัญ ผมเชื่อในบทบาทของรัฐอยู่แล้ว ถามว่ารัฐคือใคร รัฐคือคนนั่นแหละ ดังนั้นถ้าจะให้พูดเจาะจงไปที่ actor เลย ผมคิดว่าข้าราชการสำคัญมาก คนที่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรม คุณต้องตระหนักถึงเรื่องความเป็นธรรม
ถ้าเป็นเรื่องผังเมือง อีกกลุ่มบุคคลที่สำคัญคืออาจารย์ที่สอนผังเมือง อาจารย์ผังเมืองควรเอาเรื่องความเป็นธรรมของสังคมไทยมาเป็นโจทย์ในการสอนเรื่องการออกแบบและพัฒนาเมือง ไม่ควรจะเอา object มาเป็นแก่นของการสอนเรื่องการพัฒนาเมือง
สังคมไทยที่เดินมาถึงจุดนี้ จะสามารถเดินไปถึงจุดที่ความยุติธรรมทำงานได้จริงไหม
ความยุติธรรมและความเป็นธรรมที่เราคุยกันตั้งแต่ต้นขึ้นอยู่กับการตีความและการตัดสินใจของคนในสังคม ดังนั้นถ้าเรามองว่าสังคมไทยตอนนี้เปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งความคิดและการแสดงออก
แต่เดิมเราอาจเคยตั้งคำถามว่าคนไทยคือใคร ผมโตมากับคำถามที่ว่าวิถีไทยคือ… แล้วให้เติมคำในช่องว่าง แต่ตอนนี้ไม่ใช่คำถามแบบนั้นแล้ว กลายเป็นคำถามว่าเราจะมีเมืองไทยแบบไหนที่คนหลากหลายสามารถอยู่ด้วยกันได้ ดังนั้นความพหุนิยม ความหลากหลาย เป็นพื้นฐานของประเทศไทยต่อจากนี้ เลี่ยงไม่ได้แล้วในสังคมไทย
ดังนั้นถ้าความหลากหลายคือสังคมไทยต่อจากนี้ไป ความหมายของคำว่ายุติธรรม-ความเป็นธรรม ก็ต้องปรับไปตามคนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สิ่งที่หนีไม่พ้นคือต้องสร้างกระบวนการที่ให้ความหลากหลายของความคิดที่นิยามว่าความเป็นธรรม-ความยุติธรรมคืออะไร ถกเถียง คุยกัน และตัดสินใจได้ นี่คือเงื่อนไขของประเทศไทยในอนาคต
ที่บอกว่าอนาคตคนไทยจะเป็นคนเมืองทั้งหมด ก็เป็นทั้งในความหมายของการบริโภค การผลิต และความหลากหลายของความคิดคน นั่นหมายความว่าความยุติธรรมก็ต้องมีคอนเซปต์ที่หลากหลายไปด้วย ตอนนี้เราคิดว่าเราก้าวหน้าแล้ว แต่เดี๋ยวเราก็อาจจะกลายเป็นมนุษย์อนุรักษนิยม เพราะคงจะมีอะไรเกิดขึ้นในสังคมนี้ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน เช่น อนาคตอาจมีการรณรงค์สิทธิของหุ่นยนต์ เป็นต้น
ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้คือคอนเซปต์และกระบวนการที่พูดถึงเรื่องความยุติธรรม-ความเป็นธรรม ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นความลักลั่นของสปีดระหว่างสองสิ่งนี้
มีฉากทัศน์ไหนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสังคม ที่เราต้องเตรียมรับมือบ้าง
ในระดับเมือง มีแนวโน้มต่างๆ ที่ค่อนข้างชัดเจนที่เราหนีไม่พ้น เช่น เรื่องดิจิทัลภิวัตน์ ทุกอย่างจะกลายเป็นดิจิทัลหมด คนที่ทำเรื่องเมืองทั้งในระดับการออกแบบและกระบวนการการขับเคลื่อน ต้องเข้าใจว่าดิจิทัลทำให้กระบวนการในเมืองเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วเราจะรับมือกับตรงไหนได้อย่างไร
เมืองต่อจากนี้ไปถูกบริหารโดยแพลตฟอร์ม สิ่งที่ควบคุมโดยแพลตฟอร์มก็ถ่ายออกมาอยู่ในเมืองนั่นแหละ เช่น ตรงไหนเรียกรถได้ เรียกรถไม่ได้ บางคนอยู่บางซื่ออาจจะเรียกแกร็บง่าย แต่อยู่บางใหญ่เรียกแกร็บยาก ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน ดังนั้นต่อให้เป็นแพลตฟอร์ม แต่ความเหลื่อมล้ำในพื้นที่เมืองเดียวกันก็ยังมีอยู่ ตราบใดที่รัฐไม่เข้าไปซัปพอร์ตในส่วนที่รัฐคิดว่าควรจะต้องมี การมีแพลตฟอร์มไม่ได้แปลว่าเราจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ เป็นแค่วิธีการบริหารจัดการทรัพยากรที่เปลี่ยนไปแค่นั้นเอง นอกจากความเหลื่อมล้ำในโลกจริงแล้ว เรายังมีความเหลื่อมล้ำในโลกแพลตฟอร์มด้วย
อีกประเด็นคือเรื่องประชากร คนพูดกันเยอะมาก คนในเมืองจะเป็นครอบครัวที่อยู่คนเดียวมากขึ้น หรือเป็นครอบครัวอยู่สองคนที่ไม่มีลูก รวมถึงประเด็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ตอนนี้เรายังไม่ได้ออกแบบเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประชากรแบบนี้ แน่นอนในภาคเอกชนอาจมีการปรับตัว เช่น คอนโดฯ ที่มีคนอยู่คนเดียวมากขึ้น แต่ภาครัฐเอง ในเชิงนโยบายสาธารณะก็ต้องคิดดีๆ ว่าจะรับมือกับแนวโน้มแบบนี้อย่างไร
อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงในเชิงแนวโน้มทั่วไปที่เราเห็นอยู่ ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย แต่บางอย่างคิดว่าต้องผลักดันให้เกิด เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานให้มีความยั่งยืนในเรื่องการใช้ทรัพยากรมากยิ่งขึ้น องคาพยพต้องเปลี่ยนเยอะมาก ไม่ใช่แค่เปลี่ยนถนนให้คนเดินได้มากขึ้น หรือเปลี่ยนรถยนต์ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนทั้งเมือง เรื่องใหญ่มาก 10-20 ปีจะเปลี่ยนได้ไหม หรือต้องลงทุนมากกว่านั้น แต่ก็หนีไม่พ้นและต้องทำ สุดท้ายก็กลับไปเรื่องเดิมว่าแล้วจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เป็นธรรม
เมื่อกี้พูดถึงเรื่องที่ ‘คาดว่า’ จะเกิด แล้วถ้า ‘หวังว่า’ จะเกิดล่ะ อาจารย์อยากให้สังคมเรามีอะไร
เอาความหวังที่เป็นรูปธรรมแล้วกัน หนึ่ง-อยากให้มีการจัดตั้งสถาบันและองค์กรที่คนในชุมชนหรือในระดับย่านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ และสอง-รัฐโดยเฉพาะรัฐท้องถิ่นมีบทบาทในเชิงรุกมากขึ้นในการพัฒนาที่อยู่อาศัย
ที่สุดแล้ว เมืองที่ยุติธรรมหรือเป็นธรรมจะส่งผลอย่างไรบ้างกับสังคมในภาพใหญ่ให้เป็นสังคมที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี
พื้นฐานของการอยู่ดีมีสุขไปจนถึงความสุขแบบ self-actualization มาจากสองส่วน ส่วนแรกคือการที่ตัวเองเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานบางอย่างที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอย่างอยู่ดีมีสุข ส่วนที่สองคือการที่ตัวเองมีอิสรภาพ เสรีภาพ และความสามารถในการตัดสินใจได้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือเปล่า ซึ่งย่อมมาพร้อมกับกระบวนการที่เปิดให้เขาร่วมตัดสินใจชะตาชีวิตตรงนั้น
สองอย่างนี้คือเงื่อนไขของเมืองที่ดี ทุกคนต้องการบริการพื้นฐานที่ทำให้เขาอยู่ดีมีสุขในเชิงผลลัพธ์ แต่ในขณะเดียวกันในเชิงกระบวนการก็ต้องการมีปากมีเสียงกับการตัดสินใจนั้น เพราะฉะนั้นเมืองที่ดีก็คือเมืองที่มีความเป็นธรรมทั้งในเชิงการจัดสรรผลลัพธ์และความยุติธรรมในเชิงกระบวนการที่ให้คนเข้าไปร่วมตัดสินใจ
ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world