fbpx
เมืองแพลตฟอร์ม

เมืองแพลตฟอร์ม

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เรื่อง

ณัฐพล อุปฮาด ภาพประกอบ

 

 

ยุคแพลตฟอร์มครองเมือง

 

นับแต่ไหนแต่ไรมา พื้นที่เมืองมีบทบาทเป็นแหล่งการผลิตและแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การสร้างสรรค์และเผยแพร่ความรู้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรม และการต่อสู้ทางการเมือง

ภาพลักษณ์ของเมืองที่มีมาแต่อดีต คือตึกรามบ้านช่อง อาคารศาสนสถาน และโครงสร้างพื้นฐานที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า กล่าวเฉพาะในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ตึกระฟ้าได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของเมือง มีย่านพาณิชยกรรม ตลาดและศูนย์การค้าเป็นแหล่งรวมสินค้าและการบริการ สวมบทบาทเป็นศูนย์กลางของชุมชนและเมืองไปพร้อมกัน ขณะเดียวกัน สวนสาธารณะและพื้นที่โล่งว่างก็เป็นแหล่งพักผ่อนและนันทนาการของคนเมือง รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกทางการเมืองในบางครั้ง

พื้นที่กายภาพทั้งภายในและภายนอกอาคารจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงชีวิตส่วนตัวและชีวิตสาธารณะของคนเมือง รวมทั้งเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการคงอยู่ เติบโต และสะสมความมั่งคั่งของเมืองเรื่อยมา

แต่ในอนาคต การใช้ชีวิตของคนเมืองและความมั่งคั่งของเมืองจะไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นที่กายภาพเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการทดลองรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ทำให้พื้นที่ดิจิทัลโดยเฉพาะแพลตฟอร์มรูปแบบต่างๆ เพิ่มบทบาทและความสำคัญในฐานะพื้นที่ของการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น

ภาพอนาคตที่เป็นไปได้สูงมากคือ แพลตฟอร์มจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของคนเมืองในแทบทุกด้าน ทุกช่วงเวลาของวัน และทุกช่วงชีวิตนับตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน

แพลตฟอร์มที่ว่านี้ หมายถึงพื้นที่ออนไลน์ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาแอปพลิเคชัน กระบวนการ หรือเทคโนโลยีสืบเนื่องอื่นๆ รวมไปถึงรูปแบบธุรกิจที่สร้างมูลค่าจากการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนหรือองค์กร ซึ่งมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นตลาด เช่น Amazon Marketplace, Lazada หรือ Agoda แพลตฟอร์มเทคโนโลยี เช่น Amazon Web Services หรือ Microsoft Azure แพลตฟอร์มที่เน้นอรรถประโยชน์ (utility) เช่น Google Search แพลตฟอร์มที่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน เช่น Facebook, Pantip หรือ Line ไปจนถึงแพลตฟอร์มที่เน้นบริการตามสั่ง (on-demand) เช่น Uber หรือ Grab และแพลตฟอร์มที่ให้คนช่วยกันสร้างเนื้อหา เช่น YouTube หรือ Wongnai

แพลตฟอร์มประกอบไปด้วยเครือข่ายขนาดใหญ่ของผู้ใช้งานและทรัพยากรที่สามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วตามใจปรารถนา แพลตฟอร์มจึงมีบทบาททั้งในฐานะพื้นที่ชุมชนและตลาด และโครงสร้างพื้นฐานขององค์ประกอบอื่นๆ ของเมือง

คุณลักษณะพิเศษที่ทำให้แพลตฟอร์มแตกต่างจากชุมชนและตลาดดั้งเดิมบนพื้นที่กายภาพคือ มีผลกระทบเครือข่าย (network effects) ที่มูลค่าของสินค้าหรือการบริการเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณตามจำนวนผู้ใช้งาน อีกทั้งข้อมูลยังกลายเป็นทรัพยากรสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งของเจ้าของและผู้ใช้แพลตฟอร์ม

แพลตฟอร์มเหล่านี้เพิ่มบทบาทอย่างมากในการตอบโจทย์ความต้องการของคนเมืองในปัจจุบัน และคาดว่าจะขยายขอบเขตของการให้บริการและมีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) จะยิ่งทำให้ขอบเขตของแพลตฟอร์มขยายออกไปได้อย่างแทบไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น ในอนาคต แพลตฟอร์มจะไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือส่งเสริมการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ แต่จะกลายเป็นตัวกำหนดการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ

ชีวิตเมืองในปัจจุบันอยู่ได้ด้วยสาธารณูปโภคสาธารณูปการฉันใด ชีวิตเมืองในอนาคตก็จะอยู่ได้ด้วยแพลตฟอร์มฉันนั้น ดังนั้น อำนาจเหนือแพลตฟอร์มจะกลายเป็นอำนาจเหนือเมืองในอนาคต

 

ระบอบแพลตฟอร์ม

 

การพัฒนาและแพร่หลายของเทคโนโลยีครั้งใหญ่มักเป็นชนวนของการปรับเปลี่ยนสถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงสัญญาประชาคมระหว่างรัฐกับประชาชน

สถาบัน (institutions) ในที่นี้ หมายถึงกฎกติกาที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเพื่อควบคุมกำกับพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม โดยมีทั้งรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น ระเบียบและกฎหมาย และรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น ธรรมเนียมปฏิบัติและประเพณี

อัลกอริทึมในซอฟต์แวร์และมาตรฐานทางเทคโนโลยีที่ฝังตัวอยู่ในแพลตฟอร์มก็ถือเป็นสถาบันแบบหนึ่ง เนื่องจากมีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมของผู้ใช้งานและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ส่วนสัญญาประชาคม (social contract) ตามความหมายดั้งเดิม หมายถึงข้อตกลงระหว่างรัฐกับพลเมืองว่าด้วยการสละสิทธิบางส่วนของพลเมืองเพื่อแลกกับหลักประกันของรัฐในการให้ความคุ้มครอง ความมั่นคง และปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หากขยายนิยามดังกล่าวให้กว้างขึ้น สัญญาประชาคมอาจไม่จำกัดเพียงข้อตกลงระหว่างรัฐกับประชาชน แต่รวมไปถึงความตกลงร่วมกันของรัฐ ประชาชน ภาคเอกชนและกลุ่มผลประโยชน์อื่นในสังคม

การปรับเปลี่ยนสถาบันและสัญญาประชาคมตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในเชิงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและในเชิงความเป็นธรรมทางสังคม โดยเฉพาะในกรณีของเทคโนโลยีระดับแพลตฟอร์มที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีสืบเนื่องและกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์

การพัฒนาและขยายตัวของแพลตฟอร์มในปัจจุบันเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าการปรับตัวของสถาบันและสัญญาประชาคมที่มีมาแต่เดิม ตัวอย่างในเรื่องเมือง ได้แก่  กฎหมายว่าด้วยโรงแรมและข้อตกลงของนิติบุคคลอาคารชุดตามไม่ทันการปล่อยห้องพักรายวันให้นักท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์ม การใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อรับผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันแสดงถึงช่องโหว่ของกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งสาธารณะ ระบบแพลตฟอร์มสำหรับนักท่องเที่ยวจีนทำให้เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวไม่ไหลรินสู่ผู้ประกอบการไทย หรือการระรานทางไซเบอร์กลายเป็นปัญหาสังคม ส่วนหนึ่งเพราะผู้คนยังไม่ได้เรียนรู้มารยาทและจรรยาบรรณในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบนแพลตฟอร์มที่อาจไม่ต้องเปิดเผยตัวตน เป็นต้น

การแพร่ขยายของแพลตฟอร์มไปในทุกส่วนชีวิตจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการก่อร่างของระบอบแพลตฟอร์มที่มีโครงสร้างและตรรกะเฉพาะตัวในการควบคุมและกำกับวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ซึ่งอาจแตกต่างจากระบอบเศรษฐกิจและสังคมดั้งเดิม

พร้อมกันนี้ ความลักลั่นจากความเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีกับการปรับตัวของสถาบันมักนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนบางกลุ่มที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปทางสถาบันอย่างรวดเร็วเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากแพลตฟอร์มกับคนกลุ่มอื่นที่ยื้อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากแพลตฟอร์มอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งในเชิงประสิทธิภาพและความเป็นธรรม

 

แพลตฟอร์มในฐานะทรัพย์สินส่วนรวม

 

จากการที่แพลตฟอร์มได้แพร่กระจายไปในแทบทุกอณูชีวิตของคนเมือง โดยเฉพาะด้านบริการพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต แพลตฟอร์มจึงมีบทบาทมากขึ้นในฐานะทรัพย์สินส่วนรวม (commons) คล้ายกับแม่น้ำลำธาร ถนนหนทางและสวนสาธารณะมากกว่ามีคุณลักษณะเป็นสินค้าเอกชนและสินค้าสโมสร (private and club goods) ซึ่งมุ่งตอบรับความต้องการของคนเฉพาะกลุ่มที่สามารถเลือกที่จะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้านั้นก็ได้

ยิ่งการดำรงชีวิตเกิดขึ้นบนพื้นที่แพลตฟอร์มมากขึ้นเท่าใด การปรับปรุงและพัฒนาสถาบันและสัญญาประชาสังคมรูปแบบใหม่ยิ่งมีความจำเป็นและความเร่งด่วนมากขึ้นเท่านั้น

แต่เทคโนโลยีแพลตฟอร์มไม่ได้วันดีคืนดีลอยลงมาจากฟากฟ้าแล้วเปลี่ยนชีวิตคนในทันทีทันใด ดั่งเรื่องราวในนวนิยายกาเหว่าที่บางเพลง แต่เกิดจากการตัดสินใจเลือกอย่างตั้งใจและด้วยเหตุผลของคนบางกลุ่มในสังคม แม้ว่าความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของไทยไม่ได้มีพัฒนาการมากพอที่จะสร้างเทคโนโลยีชั้นนำของโลกได้ แต่การเลือกและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบางอย่างก็ทำได้ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของคนในสังคมนั้นเอง

นัยหนึ่งคือ สังคมเป็นแบบไหน เทคโนโลยีที่ใช้ก็เป็นแบบนั้น

ในกรณีของแพลตฟอร์ม การเลือกใช้เทคโนโลยีประเภทใดประเภทหนึ่งสะท้อนความคิดและการตัดสินใจของบริษัทหรือองค์กรที่คาดหมายว่าเทคโนโลยีนั้นจะได้รับการตอบรับจากตลาดและคนในสังคม ในบางกรณี การตัดสินใจเชิงนโยบายของภาครัฐก็อาจเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีนั้นแพร่กระจายเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น นโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่หลายหน่วยงานพยายามส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะสะท้อนแนวคิดและเหตุผลที่บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มยึดถืออยู่ ซึ่งมักจะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการให้บริการและการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ในขณะที่เรื่องความเป็นธรรมและนัยต่อสังคมวัฒนธรรมเป็นอันดับรอง

แพลตฟอร์มจะกลายเป็นพื้นที่ทรัพยากรส่วนรวมสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และธุรกิจ กระบวนทัศน์ของคนที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มในปัจจุบันจะมีผลอย่างมากต่อวิถีชีวิตคนและสังคมในอนาคต

ความท้าทายในส่วนนี้คือ จะสร้างพื้นที่ดิจิทัลอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยเฉพาะเมื่อแพลตฟอร์มที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบันแทบทั้งหมดริเริ่มและดำเนินการโดยภาคเอกชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์พื้นฐานคือเพื่อสร้างรายได้สูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น

แม้ว่าในปัจจุบันแพลตฟอร์มสำคัญจะครอบครองโดยบริษัทระดับโลกเพียงไม่กี่แห่ง แต่ก็เริ่มเห็นการปรับตัวของกลุ่มทุนในประเทศที่เข้ามีส่วนร่วมบนพื้นที่แพลตฟอร์มมากขึ้น สังเกตได้จากการที่ธนาคารและกลุ่มทุนใหญ่ของไทยเริ่มเข้าไปซื้อหุ้นหรือร่วมลงทุนในแพลตฟอร์มประเภทต่างๆ

แนวโน้มนี้เป็นสัญญาณของภาพหนึ่งในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ กลุ่มทุนใหญ่ในปัจจุบันจะสามารถครอบครองได้ทั้งที่ดินบนโลกกายภาพและพื้นที่แพลตฟอร์มบนโลกดิจิทัลในอนาคต กลุ่มทุนเหล่านี้จะสามารถสร้างความมั่งคั่งต่อไปได้ ไม่เฉพาะจากแรงงานที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการผลิตและสะสมทุนในยุคก่อนแพลตฟอร์ม แต่รวมไปถึงข้อมูลที่เป็นทรัพยากรพื้นฐานของการสร้างและสะสมความมั่งคั่งในอนาคต

 

การพัฒนาเมืองในยุคแพลตฟอร์ม

 

ในประวัติศาสตร์การพัฒนาเมืองของไทยมาจนถึงปัจจุบัน ที่ดินเป็นรากฐานของความมั่งคั่งและความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุด คนบางกลุ่มได้รับประโยชน์เป็นลาภลอยจากมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนลงแรง อันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐโดยเฉพาะการสร้างถนน อีกสาเหตุหนึ่งคือต้นทุนในการถือครองที่ดินต่ำ เนื่องจากระบบภาษีทรัพย์สินไม่มีประสิทธิภาพ

ในอนาคตที่แพลตฟอร์มและข้อมูลจะเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตและความมั่งคั่งมากยิ่งขึ้นนั้น หากกลุ่มทุนดั้งเดิมสามารถครอบครองและควบคุมได้ทั้งพื้นที่กายภาพและพื้นที่ดิจิทัล และไม่มีสถาบันและสัญญาประชาคมรูปแบบใหม่มากำกับ ปัญหาด้านประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและด้านความเป็นธรรมทางสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ไม่น่าจะคลี่คลายลงได้

วงการวิชาการและนโยบายด้านการพัฒนาเมืองที่ผ่านมามักเน้นเรื่องพื้นที่กายภาพเป็นหลัก ทั้งอาคาร การใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่สาธารณะ แต่ถ้าหากพื้นที่สำคัญของการใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น บทบาทของแพลตฟอร์มในฐานะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเมืองจะต้องได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

แน่นอนว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องพึ่งประสาทสัมผัสทั้งห้าในการดำรงชีวิต ความแพร่หลายของแพลตฟอร์มไม่ได้หมายความว่าพื้นที่กายภาพของเมืองจะไม่สำคัญอีกต่อไป ในทางกลับกัน  การวางแผนและออกแบบด้านกายภาพจะยิ่งสำคัญมากขึ้น

คำถามและความท้าทายใหญ่จึงอยู่ตรงที่ว่า การออกแบบและพัฒนาเมืองต่อจากนี้ไปจะสร้างความสมดุลระหว่างข้อดีและข้อเสีย รวมถึงโอกาสและข้อจำกัดของแพลตฟอร์มรูปแบบต่างๆ ได้อย่างไร นโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการพัฒนาเมืองฐานแพลตฟอร์ม เช่น นโยบายเมืองอัจฉริยะที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จะยิ่งทำให้กลุ่มคนเพียงบางกลุ่มสามารถครอบครองและมีอำนาจเหนือพื้นที่ดิจิทัลได้มากขึ้นหรือไม่ รัฐจะเป็นตัวแทนของประชาชนในการต่อรองและกระจายผลประโยชน์ให้เป็นธรรมมากขึ้นได้อย่างไร เครื่องมือในการวางแผนและบริหารจัดการเมืองที่เคยใช้กันมาจะต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในยุคแพลตฟอร์มครองเมือง เป็นต้น

ด้วยแพลตฟอร์มสำหรับการใช้ชีวิตเมืองยังเป็นสิ่งใหม่ คำถามข้างต้นจึงยังไม่มีคำตอบตายตัว การสนทนาและเจรจาต่อรองเกี่ยวกับรูปแบบของแพลตฟอร์ม รวมถึงบทบาทของรัฐ เอกชนและประชาชนในการพัฒนา ควบคุมและกำกับแพลตฟอร์ม จึงเป็นวาระสำคัญทั้งในเชิงวิชาการและเชิงนโยบาย

หากละเลยเรื่องนี้แล้ว ภาพอนาคตของเมืองในประเทศไทยก็คงจะไม่ต่างมากนักจากภาพปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มคนเพียงไม่กี่นามสกุลอาจร่วมมือกับทุนต่างชาติ ในการครอบครองทั้งพื้นที่กายภาพและพื้นที่ดิจิทัล ทั้งสาธารณูปโภคสาธารณูปการและแพลตฟอร์ม เพื่อตักตวงผลประโยชน์จากปัจจัยการผลิตหลัก คือแรงงานและข้อมูล

ทั้งนี้ การครอบครองดังกล่าวจะไม่จำกัดอยู่เพียงเฉพาะด้านการสร้างความเป็นอยู่และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมและการต่อรองทางการเมืองอีกด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save