fbpx
คนไทยในอนาคตล้วนเป็นคนเมือง

คนไทยในอนาคตล้วนเป็นคนเมือง

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถหยั่งรู้อนาคตได้ โดยเฉพาะอนาคตระยะยาว ทำได้อย่างมากก็เพียงคาดการณ์ฉากทัศน์ของภาพอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าโดยเฉพาะเด็กที่จะเกิดมาใหม่ จะกลายเป็นคนเมืองทั้งสิ้น หากพูดให้เกินจริงบ้างก็คือ ชีวิตคนไทยในอนาคตจะไม่มีอะไรที่แน่นอน นอกจากความตาย ภาษี และวิถีชีวิตแบบเมือง

แต่จะมีความเป็นเมืองเข้มข้นเท่าใด แบบไหน และตรงไหน ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของนโยบายสาธารณะในปัจจุบัน

คำว่าคนเมืองที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองหรือเทศบาลตามนิยามของทางการดังที่ใช้กันอยู่ แต่หมายถึงคนที่มีวิถีชีวิตแบบเมือง กล่าวคือ มีกิจกรรมในการดำรงชีวิตที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เดินทางเคลื่อนย้ายไปมาอยู่ตลอดเวลา มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่มากหน้าหลายตา หลายเชื้อชาติ หลายค่านิยมและความเชื่อ แม้อาจเป็นปฏิสัมพันธ์แบบชั่วครั้งชั่วคราว ฉาบฉวย และมักไม่รู้ชื่อรู้ตัวตน อีกทั้งแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกสูง และมีบทบาทหน้าที่เฉพาะทางของแต่ละคน

อันที่จริง คนไทยจำนวนมากก็เป็นคนเมืองอยู่แล้ว ตามตัวเลขของทางราชการ ประชากรไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดอาศัยอยู่ในเขตเมืองในปี 2562 ตามความเข้าใจและพื้นฐานความคิดแต่เดิมของหมู่นักวิจัยและนักวางแผนนโยบายเกี่ยวกับเมือง กระบวนการเป็นเมืองช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเกิดจากการย้ายถิ่นของคนชนบทเข้าสู่พื้นที่เมือง เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมและการบริการได้ดึงดูดคนชนบทเข้าสู่พื้นที่การผลิตในเมือง รวมถึงปัญหาด้านการเกษตรที่ผลักให้คนออกจากพื้นที่ชนบท ปัจจัยเหล่านี้ส่งเสริมให้กระบวนการเป็นเมืองในประเทศไทยดำเนินเรื่อยมาอย่างไม่หยุดยั้ง จำนวนประชากรไทยในเมืองใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผู้คนในชนบทและเมืองขนาดเล็กยังคงย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่มากยิ่งขึ้น

ภาพอนาคตตามแนวโน้มนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้าคือ ผู้คนที่ใช้ชีวิตในมหานครกรุงเทพและเมืองใหญ่ในภูมิภาคจะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการขนส่ง คนเมืองเหล่านี้ก็จะมีวิถีชีวิตผูกโยงกับเมืองอื่นๆ ในโลกมากขึ้น ในขณะที่ชุมชนชนบทและเมืองเล็กตามอำเภอและตำบลห่างไกล ซึ่งมีประชากรโดยมากเป็นคนแก่ ก็จะยิ่งถดถอยและหงอยเหงาลงไปอีก

แต่กระบวนการเป็นเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเพียงทิศทางเดียว ปัจจัยด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจหลายประการเอื้อให้ผู้คนในชนบทสามารถใช้ชีวิตแบบเมืองได้ง่ายขึ้น และผลักดันขอบเขตของความเป็นเมืองให้กว้างไกลออกไปเรื่อยๆ เทคโนโลยีการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการพัฒนาระบบโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่ครอบคลุม สะดวก และราคาถูกลง ทำให้วิถีชีวิตแบบเมืองแพร่ขยายไปทั่วทุกพื้นที่  การผลิต การกระจาย และการบริโภคสินค้าและการบริการได้ก้าวข้ามพรมแดนธุรกิจและการปกครองที่มีมาแต่เดิม ขยายตัวไปในทุกชุมชนที่ทุนและเทคโนโลยีไปถึง แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่เมืองเอง ก็สามารถใช้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เหมือนคนชนบทแต่ดั้งเดิม ทั้งในด้านการบริโภคสินค้าและการบริการ การทำงาน การเดินทาง การใช้เทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร รวมถึงรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

ปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงถึงวิถีเมืองที่ขยายไปทั่วคือการค้าปลีกแบบโมเดิร์นเทรด นับตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงร้านสะดวกซื้อจำนวนประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันสาขาที่กระจายสาขาไปทั่วทุกชุมชนในประเทศไทย แนวโน้มดังกล่าวสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตของคนจำนวนมากทั่วประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่า ร้านค้าเหล่านี้ทำให้วิถีชีวิตคนชนบทกลายเป็นวิถีเมือง และในขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทเข้ามาแทนที่ตลาดสดและวัดซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางชุมชนมาก่อน

ปรากฏการณ์นี้ท้าทายแนวคิดดั้งเดิมในการวางแผนพัฒนาชุมชนที่ยึดหลัก “บ-ว-ร” (บ้าน วัด โรงเรียน) เนื่องจากสภาพการณ์จริงของการใช้ชีวิตวิถีเมืองในปัจจุบันอาจกลายเป็น “บ-7-ร” (บ้าน 7-11 โรงเรียน) ไปแล้วก็ได้  พร้อมกันนี้ เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ  ก็เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นแบบเมืองได้ง่ายขึ้น ทั้งการผลิต การซื้อขาย และการมีปฏิสัมพันธ์ด้านสังคมกับผู้คนอื่นๆ ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ฉากทัศน์หนึ่งของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าก็คือ ภาพของเมืองเล็กและชุมชนห่างไกลที่ผู้คนยังใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองใหญ่ เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ประสบความแออัดในการอยู่อาศัยและการเดินทาง แม้ว่าพื้นที่นั้นอาจมีภูมิทัศน์ที่ดูเป็นธรรมชาติและเหมือนชนบท แต่ผู้คนที่อยู่ตรงนั้นไม่ได้เป็นคนชนบทเช่นในปัจจุบัน แต่มีวิถีการดำรงชีวิตไม่ต่างจากคนเมืองมากนัก

อย่างไรก็ดี ฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคนเมืองในพื้นที่ชนบทเหล่านี้มีงานและโอกาสสร้างรายได้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างดีพอ โจทย์ที่ท้าทายมากในด้านนโยบายสาธารณะคือ ฐานเศรษฐกิจและงานในอนาคตสำหรับคนที่มีวิถีชีวิตเมืองแต่อยู่ในเมืองเล็กและพื้นที่ชนบทจะเป็นอย่างไร เกษตรกรรมระดับครัวเรือนแบบดั้งเดิมก็น่าจะเหลือโอกาสอยู่น้อยมากในอนาคต และคงจะมีแต่อุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ อุตสาหกรรมการผลิตแบบเดิมก็ไม่น่าจะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในเมืองเล็กและชุมชนห่างไกล ส่วนเศรษฐกิจและงานฐานความรู้และความสร้างสรรค์ก็หนีไม่พ้นต้องอยู่ในพื้นที่เมืองใหญ่ ที่มีการกระจุกตัวของความรู้และทักษะที่ทันสมัย การซื้อของขายของก็อยู่ในโลกออนไลน์ไปหมด ไม่ต้องไปย่านพาณิชย์แบบเดิมๆ เมืองเล็กบางแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองใหญ่อาจกลายเป็นเมืองบริวารไป เพราะผู้คนยังคงเดินทางไปกลับจากเมืองใหญ่ด้วยโครงข่ายถนนที่สะดวกและทั่วถึง แต่แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงคือเมืองเล็กและชุมชนชนบทที่ห่างไกลจากอิทธิพลของเมืองใหญ่ ภาพอนาคตของวิถีชีวิตแบบเมืองที่มีชีวิตชีวาน่าจะเกิดขึ้นยาก

ตัวแปรที่กำหนดอนาคตของวิถีเมืองในเมืองเล็กและชนบทไทยอาจเป็นการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวได้ผลักดันให้เกิดความเป็นเมืองในแทบทุกพื้นที่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การสร้างโรงแรมที่พัก สถานบันเทิง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มุ่งตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ล้วนทำให้กายภาพของพื้นที่เปลี่ยนไปเป็นเมืองมากขึ้น แม้ว่าในช่วงหลัง นักท่องเที่ยวเริ่มนิยมการท่องเที่ยวแบบประสบการณ์จริง โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดวาอารามหรือพิพิธภัณฑ์แบบเดิม แต่เน้นการเข้าไปสัมผัสการใช้ชีวิตประจำวันจริงของคนในพื้นที่ แม้กระทั่งในป่าเขาลำเนาไพร และชุมชนชนบท นักท่องเที่ยวก็ดำเนินกิจกรรมประหนึ่งว่ายังคงอยู่ในเมือง เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือและการกินอาหาร

การขยายพื้นที่การท่องเที่ยวไปทุกพื้นที่นี้ นอกจากปรับเปลี่ยนสภาพกายภาพของธรรมชาติและชุมชนแล้ว ยังทำให้ชีวิตการท่องเที่ยวยังทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีอยู่แต่เดิมเปลี่ยนไปเป็นแบบเมืองมากขึ้น หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป คงไม่มีพื้นที่ไหนในประเทศนี้ที่ไม่มีความเป็นเมือง การท่องเที่ยวจึงอาจทำให้เมืองเล็กและพื้นที่ชนบทมีโครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมที่เอื้อต่อคนที่ต้องการใช้วิถีชีวิตแบบเมือง แม้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะมีทั้งดีและไม่ดีในด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรม

ในภาพอนาคตที่คนไทยกลายเป็นคนเมืองแทบทั้งหมดนั้น เราจะปล่อยให้เมืองเล็กและชุมชนชนบทห่างไกลค่อยๆ ถดถอยและหายไป หรือเราจะทำอะไรบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเหล่านั้นมีความเป็นเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น ไม่ว่าจะต้องใช้ทรัพยากรและความพยายามเท่าไหร่ก็ตาม และถึงแม้ว่าวิถีชีวิตเมืองที่ว่านี้จะไม่ได้หมายถึงชีวิตที่ดีกว่าเสมอไป แต่คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นทางแพร่งเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องถกเถียงและตัดสินใจเพื่อดำเนินนโยบายสาธารณะกันต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save