fbpx
เมืองหด

เมืองหด

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เรื่อง

ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า ภาพประกอบ

เมืองใหญ่กินเมืองเล็ก

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์และชีวสังเคราะห์ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดรูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษนี้คือ กระบวนการกลายเป็นเมือง

ประชากรจำนวนมหาศาลทั่วโลกได้ย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่ชนบทเข้าสู่เมือง ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากสังคมเกษตรกรรมในชุมชนชนบทแต่เดิม ทั้งในด้านการบริโภค การผลิต และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แนวโน้มนี้ไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนทิศทางไปแต่อย่างใด แม้กระทั่งโรคระบาดครั้งใหญ่ดังเช่นโควิด-19 ที่มุ่งทำลายการรวมตัวของมนุษย์ ก็ไม่สามารถต้านทานกระบวนการกลายเป็นเมืองได้

ท่ามกลางแนวโน้มความเป็นเมืองในระดับโลก ปรากฏการณ์สำคัญหนึ่งกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย นั่นคือปรากฏการณ์เมืองหด ซึ่งหมายถึงการลดลงของประชากรในเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยประชากรที่ย้ายเข้าเมืองขนาดใหญ่ไม่ได้มาจากพื้นที่ชนบทตามแนวโน้มเดิมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนที่เกิดและเติบโตในเมืองขนาดรองลงมา

ตัวอย่างของเมืองเล็กเมืองน้อยในประเทศไทยที่กำลังเกิดปรากฏการณ์เมืองหด ได้แก่ เมืองพะเยา ชัยนาท พัทลุง และพื้นที่ตัวอำเภอในหลายจังหวัดทั่วประเทศ แม้แต่เมืองขนาดกลาง เช่น เมืองนครสวรรค์และลำปาง ก็อยู่ในสภาพที่อาจกลายเป็นเมืองหดได้ในไม่ช้านี้

แผนที่แสดงปรากฏการณ์เมืองหดในประเทศไทย พ.ศ. 2562
แผนที่แสดงปรากฏการณ์เมืองหดในประเทศไทย พ.ศ. 2562

สาเหตุสำคัญที่หลายเมืองหดคือ เมืองโตบางเมืองเท่านั้น เมืองใหญ่ในประเทศไทยขยายตัวเรื่อยมาและจะเติบโตต่อไป ตราบใดที่ไม่มีปัจจัยพลิกผันและเหตุไม่คาดฝันใดๆ มาหยุดแนวโน้มดังกล่าว นับตั้งแต่มหานครกรุงเทพที่จะยังคงขยายพื้นที่ออกไปไกลกว่าเขตปริมณฑลจนครอบคลุมถึงนครนายก อยุธยา และชลบุรี รวมไปถึงเมืองหลักในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ โคราช ขอนแก่น และหาดใหญ่ที่มีขนาดและความหลากหลายของผู้คนและกิจกรรมมากพอที่จะเติบโตต่อไปได้ เมืองหลวงและเมืองหลักเหล่านี้จะยิ่งดึงดูดประชากรจนเมืองรองและเมืองเล็กมีขนาดลดลงไปเรื่อยๆ

ยิ่งในระบบเศรษฐกิจที่วางอยู่บนฐานความรู้และนวัตกรรมในปัจจุบัน เมืองใหญ่จะได้เปรียบเมืองขนาดเล็ก เนื่องจากมีทั้งพลวัตและความหลากหลายของผู้คนเป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์แนวคิดและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อีกทั้งการเชื่อมต่อกับระบบเศรษฐกิจโลกก็ดีกว่า โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเดินทางและการสื่อสารที่เอื้อต่อการไหลเข้าออกของผู้คน ทุนและข้อมูล ดังนั้น มองอนาคตไปทางไหน ก็มองไม่เห็นว่าเมืองเล็กจะต่อสู้แข่งขันกับเมืองใหญ่ได้อย่างไร

กล่าวได้ว่า ในบริบทระบบทุนนิยมโลกปัจจุบันที่ขนาด ความเร็ว และความหลากหลายเป็นพื้นฐานของการเติบโตและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่เปรียบเสมือนปลาใหญ่มักกินปลาเล็กไปเรื่อยๆ ฉันใด เมืองใหญ่ก็มักจะกินเมืองเล็กไปเรื่อยๆ ฉันนั้น

เมืองหดเพราะถดถอย

ภาพตรงข้ามของความคึกคักในเมืองใหญ่คือความหงอยเหงาของเมืองเล็ก ตลาดและร้านค้าในห้องแถวตามย่านพาณิชยกรรมที่เคยเป็นศูนย์กลางการค้าและการบริการในพื้นที่ชนบทรอบเมืองจำนวนมากต้องปิดตัวลง เราพบเห็นป้ายประกาศขายหรือให้เช่าอาคารได้อยู่ทั่วไป อีกภาพหนึ่งที่มักพบเห็นเมื่อไปเยี่ยมเยือนหรือขับรถผ่านเมืองเล็กเหล่านี้คือ คนขายของมักมีอายุมาก ผู้คนในเมืองไม่ค่อยมีคนหนุ่มสาว อาจเห็นเด็กนักเรียนอยู่บ้างในย่านการศึกษา แต่ตกเย็น เมืองก็จะเงียบเชียบ

ปรากฏการณ์เมืองหดมักเกิดขึ้นพร้อมกับความถดถอยของฐานเศรษฐกิจของเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานเศรษฐกิจเดิมปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลก หลายเมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้าการเกษตรและเมืองท่าสำคัญ เช่น เมืองปากพนัง นครศรีธรรมราช ไม่สามารถรับมือกับความผันผวนในตลาดโลก ในขณะที่เมืองเหมืองแร่และเมืองเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอื่นๆ ต้องถดถอยไปหลังจากที่ทรัพยากรได้หมดสิ้นลง เมืองหลายแห่งไม่มีฐานเศรษฐกิจใหม่เข้ามาทดแทน หรือบางแห่งอาจมีธุรกิจใหม่เข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การจ้างงานในพื้นที่มากพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองให้เติบโตต่อไปได้

เศรษฐกิจฐานดิจิทัลยิ่งจะทำให้เมืองเล็กเมืองน้อยลดบทบาทในการเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้าและการบริการ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อและทำธุรกรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งร้านค้าและตัวแทนในเมืองเหมือนเมื่อก่อน สาขาธนาคารในเมืองก็จะถูกแทนที่โดยธนาคารออนไลน์ แม้แต่กิจกรรมของภาครัฐและการศึกษาที่อาจยังคงเป็นฐานการจ้างงานของเมืองเล็กหลายแห่ง ในอนาคตก็อาจย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้บทบาทของเมืองเล็กลดลงไปอีก

เมืองเล็กหลายแห่งได้กลายเป็นเมืองบริวารของเมืองหลวงและเมืองหลัก เช่น เมืองลำพูนกลายเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ บางเมืองกลายเป็นเมืองพักผ่อนวันเสาร์อาทิตย์ของคนกรุงเทพ เช่น เมืองหัวหิน ปากช่องและอัมพวา ในขณะที่บางเมืองมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ตามฤดูกาล เช่น เมืองเชียงของและเชียงคาน บางเมืองอาจมีมหาวิทยาลัยที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่และการใช้จ่ายได้บ้าง แต่เมืองเล็กจำนวนมากอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค จึงไม่สามารถพึ่งพาฐานเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ได้  โจทย์สำคัญของเมืองเหล่านี้จึงอยู่ที่การสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่

หดอย่างไรไม่ให้ถดถอย

นโยบายเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมาเน้นการพัฒนาเมืองเพื่อรับมือกับการเติบโตของประชากรและเศรษฐกิจเป็นหลัก  ความแออัดที่เกิดจากการกระจุกตัวเมื่อคนจำนวนมากย้ายถิ่นเข้าเมืองทำให้นักวางแผนนโยบายเกี่ยวกับเมืองมุ่งความสนใจและทรัพยากรไปที่การแก้ไขความแออัดด้านการอยู่อาศัย ด้านการเดินทาง และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ งบประมาณมากมายมหาศาลหมดไปกับการแก้ไขปัญหาสาธารณูปโภคในเมืองใหญ่ แต่ผลลัพธ์อันย้อนแย้งที่เกิดขึ้นคือ ยิ่งนักวางแผนพยายามแก้ไขปัญหาความแออัดของเมืองใหญ่มากเท่าไร และประสบความสำเร็จเท่าไร ก็จะยิ่งดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มากขึ้นเท่านั้น

ความสนใจและการหมกมุ่นกับการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองใหญ่ ในมุมกลับเป็นการยอมรับในชะตากรรมของเมืองเล็กเมืองน้อยที่ค่อยๆ หดและถดถอยไป ความท้าทายแรกในด้านนโยบายด้านการตั้งถิ่นฐานระดับประเทศต่อจากนี้ไป จึงเริ่มจากการตั้งคำถามว่า เราจะปล่อยให้เมืองเล็กเมืองน้อยเหล่านี้หดตัวและถดถอยต่อไปอีกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวนประชากรกว่าสามสิบล้านคนยังอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเหล่านี้ คำถามต่อมาคือ ถ้าไม่ต้องการให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อไป ภาครัฐจะมีทางเลือกเชิงนโยบายอะไรบ้างที่จะยับยั้งการหดตัวและถดถอยของเมืองเหล่านี้ได้

คำตอบอยู่ในสายลม

เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรของประเทศไทย โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่น่าจะต่ำมากไปอีกนาน ประกอบกับพลังการดึงดูดทางเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ คงเป็นไปได้ยากมากที่ใช้มาตรการใดๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นได้มากพอที่จะให้ผู้คนจำนวนมากย้ายไปอยู่ในเมืองเล็กเมืองน้อย

ความพยายามของรัฐบาลหลายแห่งในยุโรปและญี่ปุ่น ทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่นไม่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดคนหนุ่มสาวให้ย้ายไปอยู่ในชนบทและเมืองเล็กได้ แนวทางเดิมที่สร้างฐานเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยการลงทุนภาครัฐ เช่นการสร้างมหาวิทยาลัย ก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไปในบริบทของโครงสร้างประชากรที่อัตราการเกิดลดต่ำลง

การพัฒนาการท่องเที่ยวอาจดูเหมือนเป็นทางออกที่พอเหลืออยู่บ้าง เมืองเล็กในยุโรปและญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์จากกระแสความนิยมของนักท่องเที่ยวที่เลือกเมืองขนาดเล็กแทนที่จะกลับไปเมืองใหญ่ เมืองเล็กหลายแห่งในประเทศไทยก็ได้ประโยชน์คล้ายกันจากกระแสการท่องเที่ยวที่แพร่ขยายเข้าไปยังพื้นที่ชนบทและป่าไม้ธรรมชาติ รวมถึงการให้ความสำคัญกับประสบการณ์ ความแท้จริงและดั้งเดิมของวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น การท่องเที่ยวรูปแบบนี้ทำให้เกิดฐานเศรษฐกิจใหม่ที่แตกต่างจากบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าการบริการแต่เดิม

อย่างไรก็ดี ในกรณีของเมืองเล็กในยุโรปและญี่ปุ่น ความสามารถในการรองรับด้านโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอยู่ในระดับสูงมาแต่เดิมอยู่แล้ว ทั้งสาธารณูปโภค สาธารณูปการและการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง จึงทำให้สามารถตอบรับความต้องการของนักท่องเที่ยวและจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

แต่ในกรณีของประเทศไทย เมืองรองเมืองเล็กยังมีความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองเพื่อรองรับการท่องเที่ยวจึงเป็นการลงทุนใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาและมีการวางแผนที่เหมาะสม

นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ปัจจัยบางอย่างอาจดึงดูดให้คนบางกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและเบื่อหน่ายกับการอยู่ในเมืองใหญ่ ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตในเมืองเล็กมากขึ้น อาทิ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานผ่านทางอินเทอร์เน็ตและไม่ผูกติดกับที่ตั้ง ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยที่พอจ่ายได้ รวมถึงโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตที่ใกล้กับธรรมชาติและห่างไกลจากมลพิษ เป็นต้น

เงื่อนไขสำคัญในกรณีนี้คือ เมืองเล็กต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น นับตั้งแต่ถนนสายหลักที่เชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง สนามบิน รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะและสภาพธรรมชาติที่ดี เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดเริ่มต้นของนโยบายเมืองหดแต่ไม่ถดถอยต้องเริ่มจากการยอมรับก่อนว่า เมืองจะไม่เติบโตมากและอาจมีประชากรลดลง เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเมืองจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากร แต่อยู่ที่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนที่อยู่ในเมืองเป็นหลัก

ในโลกอนาคตที่ความไม่แน่นอนเพิ่มสูงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เมืองยิ่งมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเท่านั้น เนื่องจากเมืองใหญ่อาจปรับตัวได้ช้า จึงอาจเหมือนกับปลาใหญ่ที่ว่ายน้ำช้าจนติดอวน ในสถานการณ์นั้น  เมืองเล็กเมืองน้อยอาจเป็นทางเลือกสำคัญของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ยั่งยืนและปลอดภัยกว่าก็เป็นได้

แต่โจทย์ที่ท้าทายมากนี้ยังไม่คำตอบที่แน่ชัด จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและอภิปรายกันต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022