การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลได้ก่อให้เกิดปัญหา … ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการ อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง … จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[1]
แถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข,
19 กันยายน 2549
‘การคอร์รัปชันของนักการเมือง’ ถูกใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหารในไทย 2 ครั้งหลังสุด รัฐบาลทหารได้สถาปนาตนเป็นผู้ปราบปรามการทุจริตของนักการเมือง นับตั้งแต่ปี 2006 [รัฐประหาร 2549] เรื่อยมาจนถึงปี 2014 [รัฐประหาร 2557] กล่าวได้ว่าประเทศไทยวนเวียนอยู่กับการต่อสู้กับคอร์รัปชันมานานเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว
แน่นอนว่าการทุจริตคอร์รัปชันสร้างปัญหาให้กับประเทศ ทำให้งบประมาณรั่วไหลไปไม่ถึงเป้าหมาย เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ และยังเป็นแหล่งบ่มเพาะเศรษฐกิจการเมืองอุปถัมภ์แบบไทยๆ การป่าวประกาศว่าจะขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจังย่อมเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งงบประมาณเพื่อต่อต้านการทุจริตของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา จนใช้เงินกว่า 3 พันล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน ทว่าตัวชี้วัดด้านคอร์รัปชั่นอย่างดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชัน (CPI) ของไทยกลับไม่ดีขึ้นเลย
101 PUB ชวนทุกท่านมาสำรวจการใช้งบประมาณการต่อต้าน ‘ทุจริต’ ‘คอร์รัปชัน’ เพื่อสร้าง ‘คุณธรรม’ ‘ความโปร่งใส’ ว่าถูกใช้สอยอย่างเป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ตรงจุดสำหรับปัญหาเรื้อรังนี้หรือไม่
ทศวรรษแห่งการปราบโกง
ปี 2014 เป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งของการกำจัดการทุจริต รัฐบาลทหารของ คสช. ป่าวประกาศว่าจะถอนรากถอนโคนการทุจริต ท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้รังเกียจการทุจริต มาตรการต่างๆ ได้ถูกระดมสร้างออกมาอย่างต่อเนื่อง คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 226/2557 ให้กำเนิดศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขึ้นมาเพื่อเร่งรัด ติดตามการแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างเร่งด่วน รวมศูนย์ภายใต้บัญชาการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา[2] การปราบปรามดำเนินคดีถูกยกเครื่องใหม่ในปี 2016 มีการก่อตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีกับข้าราชการปฏิบัติการโดยตรง ติดอาวุธด้วยระบบการพิจารณาแบบไต่สวนที่ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติม[3]
องค์กรสำคัญอย่าง ป.ป.ช. เองก็ได้รับการยกระดับจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 อย่างรอบด้าน ทั้ง ‘ติดดาบ’ สามารถขอข้อมูลการเงินจาก ปปง. และจับกุมในกรณีความผิดซึ่งหน้าได้ทันที ‘ลดภาระ’ ให้กรรมการแจกจ่ายความผิดไม่ร้ายแรงให้ตำรวจหรือ ป.ป.ท. ไต่สวน และ ‘เพิ่มโทษ’ เช่นในกรณีขัดขวางการไต่สวนดำเนินคดี อาจถูกจำคุกได้ถึง 10 ปี ปรับถึง 200,000 บาท ทั้งยังได้สร้างกองทุน ป.ป.ช. ขึ้นซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป[4]

มาตรการต่างๆ ข้างต้นทำให้งบประมาณต่อต้านการทุจริตเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง[5] จาก 1,647 ล้านบาทในปี 2013 เป็น 3,297 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2022 เท่ากับว่าใน 1 ทศวรรษ งบประมาณต้านทุจริตไทยเติบโตขึ้น 1 เท่าตัว รวดเร็วกว่าการเติบโตของงบประมาณรายจ่ายประจำปีในภาพรวมซึ่งขยายตัวเพียง 29% ในช่วงเวลาเดียวกัน
งบประมาณขององค์กรที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตเป็นส่วนที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด โดย ป.ป.ช. โฉมใหม่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 108% และ ป.ป.ท. ซึ่งขณะนี้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 111% ขณะที่งบประมาณป้องกันการทุจริตที่กระจายตามหน่วยงานต่างๆ เติบโตราว 28% เท่านั้น ส่วนงบประมาณของกองทุน ป.ป.ช. เพิ่งริเริ่มขึ้นในปี 2020
การทุ่มงบประมาณให้กับการต่อต้านการทุจริตควรทำให้การทุจริตลดลง ทว่าหากวัดผลจากดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)[6] จะเห็นได้ว่าค่าดัชนีดังกล่าวแทบไม่กระเตื้องขึ้นเลย ในปี 2013 มีคะแนนเริ่มต้นที่ 35 และเคยขยับขึ้นสูงที่สุดที่ 38 คะแนนในปีแรกของรัฐบาลทหาร แต่หลังจากนั้นก็อยู่ที่ระดับ 36 คะแนนโดยตลอด อันดับโลกด้านความโปร่งใสของไทยขยับขึ้นเพียงอันดับเดียว จาก 102 มาเป็น 101 จาก 180 ประเทศ ถูกเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแซงหน้า จากอันดับ 116 ขยับเป็นอันดับที่ 77 ในช่วงเวลาเดียวกัน
งบประมาณ 66: เน้นสร้างตึก-จ้างคน
งบสำหรับต่อต้านการทุจริตปรากฏในกว่า 40 หน่วยงานในปีงบประมาณ 2023 [2566] คิดเป็นมูลค่าถึง 3,803 ล้านบาท[7] เติบโตจากปีงบประมาณก่อนประมาณ 15%
หน่วยงาน | งบประมาณ (ล้านบาท) | หน่วยงาน | งบประมาณ (ล้านบาท) |
---|---|---|---|
สำนักงาน ป.ป.ช. | 2,845 | สำนักงานศาลยุติธรรม | 29 |
สำนักงาน ป.ป.ท. | 512 | สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย | 15 |
กองทุน ป.ป.ช. | 150 | สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน | 14 |
สำนักงานอัยการสูงสุด | 74 | สำนักงานอาชีวศึกษา | 13 |
สพฐ. | 67 | สำนักงานตำรวจแห่งชาติ | 10 |
พิจารณาหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 10 หน่วยงานแรก จะเห็นว่าหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรมากที่สุดคือ สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งรับผิดชอบจัดการกับการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง คิดเป็น 2,845 ล้านบาท (74%) รองลงมาคือสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งรับผิดชอบจัดการกับการทุจริตของข้าราชการระดับกลาง-ล่าง คิดเป็น 512 ล้านบาท (13%) แสดงให้เห็นได้ว่าทรัพยากรส่วนใหญ่ทุ่มไปกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันขนาดใหญ่ มากกว่าต่อต้านการคอร์รัปชันขนาดเล็กที่อาจมีมูลค่าความเสียหายต่อครั้งไม่มาก แต่สามารถเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วไป[8]
หากแบ่งงบประมาณต้านคอร์รัปชันออกตามประเภทการใช้สอย จะพบว่าครึ่งหนึ่งเป็นงบบุคลากร หมวดที่ใหญ่รองลงมาคือการก่อสร้างซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของงบประมาณ งบประมาณส่วนที่อาจเรียกได้ว่างบ ‘โครงการ’[9] ที่สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ และพัฒนาการดำเนินงานทั่วไปให้ดีขึ้น มีมูลค่า 671 ล้านบาท หรือราว 17.6% เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีงบประมาณจักซื้อครุภัณฑ์ 106.95 ล้านบาท (2.8%) ในจำนวนนั้นเป็นครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ 94 ล้านบาท สั่งซื้อรถยนต์ 11.9 ล้านบาท และเป็นงบเสื้อเกาะกันกระสุน 7 แสนบาท และเป็นงบดำเนินการอีกกว่า 391 ล้านบาท (10.6%)

จ้างคน
งบต้านทุจริตครึ่งหนึ่งเป็นงบจ้างบุคลากร เป็นมูลค่า 1,907 ล้านบาทในปีงบ 2023 ขณะที่งบส่วนนี้ในปี 2014 อยู่ที่ 999 ล้านบาท เติบโตถึง 90.8% ในหนึ่งทศวรรษ
แน่นอนว่าบุคลากรผู้ที่ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามทุจริตจริงนั้นเป็นส่วนสำคัญ จากข้อมูลในปี 2021 สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. มีบุคลากรรวมกันถึง 3,349 คน เพิ่มขึ้น 70% จาก 1,970 คนในปี 2012 หากเปรียบเทียบกับหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศติดอันดับความโปร่งใสระดับโลก หรือประเทศอินโดนีเซียที่มีพัฒนาการก้าวกระโดด จะพบว่าจำนวนบุคลากรไทยไม่ได้ด้อยกว่าเลย โดยเจ้าหน้าที่ 1 คนรับหน้าสอดส่องดูแลประชากร 21,342 คน ขณะที่สัดส่วนของสิงคโปร์อยู่ที่ 1:24,090 คน หรือ ของอินโดนีเซียอยู่ที่ 1:170,087 คน
สร้างตึก
712 ล้านบาทถูกใช้ไปกับการก่อสร้างตึกอาคารต่างๆ คิดเป็น 18% ของงบประมาณทั้งหมด จากแต่เดิมในปี 2013 งบประมาณส่วนนี้อยู่ที่ 43.9 ล้านบาทเท่านั้น สาเหตุที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วคือ การก่อสร้างอาคารสำนักงาน ป.ป.ช. ในระดับจังหวัด ซึ่งริเริ่มในปีงบประมาณ 2017 เพิ่มเติมจากสำนักงานภาค และการก่อสร้างอาคารศาลอาญาคดีทุจริตตามที่มีการก่อตั้งใหม่ ในปีงบประมาณ 2023 งบประมาณ 568 ล้านบาทใช้ไปกับการสร้างสำนักงาน ป.ป.ช. ใน 32 พื้นที่ ใช้ 39 ล้านบาทสำหรับการสร้างสำนักงาน ป.ป.ท. อีก 29 ล้านบาทสำหรับการสร้างศาลอาญาคดีทุจริต และ 74 ล้านบาทในการสร้างสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 5 คู่กับสำนักงานอัยการ

“โครงการต้านโกง” มุ่งเน้นสร้าง ‘คนดี’
โครงการ/กิจกรรมการต่อต้านทุจริตตั้งอยู่บน 3 เสาหลัก คือ (1) แนวทางการปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสำนึก ให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต (2) แนวทางป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ (3) แนวทางปราบปรามทุจริต[10] ซึ่งมีต้นแบบจากองค์กรปราบปรามคอร์รัปชันฮ่องกง
เมื่อจำแนกงบประมาณโครงการต้านทุจริต 2023 มูลค่า 671 ล้านบาท[11] จะพบว่างบประมาณกว่า 60% ถูกนำไปให้กับการปลูกฝัง-สร้างเสริมจิตสำนึก คิดเป็นเงินกว่า 405 ล้านบาท เป็นงบประมาณโครงการปราบปราม 131 ล้านบาท (19%) และเป็นงบประมาณในการป้องกัน 116 ล้านบาท (17%) ขณะที่ส่วนที่เหลือราว 18 ล้านบาทนั้นไม่สามารถระบุหมวดหมู่ได้ เช่น เงินราชการลับของสำนักงาน ป.ป.ท. เป็นต้น

มีโครงการรัฐจำนวนมากที่อยูในหมวดการสร้างเสริมจิตสำนึก งบประมาณกว่า 69 ล้านบาทถูกใช้ไปเพื่อประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี และกว่า 57 ล้านบาทก็ใช้ไปกับการอบรมสร้างเสริมจริยธรรมข้าราชการเพื่อเตรียมพร้อมกับการประเมินที่ว่า นอกจากนี้ รัฐยังให้ความสำคัญกับการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ แบ่งเป็นสื่อมหาชน อย่างเช่นละคร-ภาพยนตร์-โฆษณากว่า 85.2 ล้านบาท และเป็นสื่อการเรียนการสอน 61.6 ล้านบาท ท้ายที่สุด งบอีกราว 128 ล้านบาทได้ถูกใช้ไปกับกิจกรรมสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม
ในหมวดการปราบปรามมีโครงการที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนากฎหมาย Anti-SLAPP 2.9 ล้านบาท และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลการดำเนินการทางวินัยระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับสำนักงาน ป.ป.ท. 1 แสนบาท ส่วนที่เหลือกว่า 121 ล้านบาทเป็นโครงการปราบปรามทุจริตทั่วไปที่ไม่ปรากฏรายละเอียด แม้ว่าจะเคยวางแผนไว้ก็ตาม[12] โครงการเหล่านี้มีศักยภาพที่จะกำจัดจุดอ่อนในการต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้ง ‘ความช้า’ ซึ่ง CDC ถูกออกแบบมาให้ทำงานในเชิงรุก ทำการมอนิเตอร์ปัญหาการทุจริตโดยไม่ต้องรอการร้องเรียนจากประชาชน และ ‘ความซ้ำซ้อน’ ผ่านการบูรณาการฐานข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตและการดำเนินคดีทางวินัย ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ OECD แนะนำให้แก้ไข[13] แต่ดูเหมือนจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น
ในหมวดการป้องกัน 62.8 ล้านบาทถูกใช้พัฒนากลไกป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนา Corruption Deterrence Center (CDC) 3.63 ล้านบาท เป็นต้น รองลงมาเป็นการพัฒนาบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. 12.3 ล้านบาท และมีโครงการที่น่าสนใจ เช่น การบูรณาการฐานข้อมูลการทุจริต จังหวัดชายแดนใต้ 1.2 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าการจัดสรรงบประมาณที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการ ‘สร้างเสริม’ แต่ไม่ค่อยทำงานเชิงระบบข้อมูลที่ช่วยให้ปราบปรามคอร์รัปชันจริงมากนัก
นอกจากนี้วิธีการดำเนินงานยังตอบวัตถุประสงค์ของการสร้างเสริมได้ยากด้วย งานวิจัยในต่างประเทศชี้ว่าโครงการประเภทสื่อมหาชนที่รัฐนิยมมักไม่ส่งผลต่อการตระหนักรู้ตามที่คาดหวัง กระทั่งอาจส่งผลที่คาดไม่ถึงทำให้การคอร์รัปชันสูงขึ้นได้โดยทำให้ประชาชนหมดหวังในการแก้ปัญหา และอยากมีส่วนร่วมน้อยลง[14] ในไทยเองเคยเกิดกรณีแคมเปญ ‘พูดหยุดโกง’ ที่สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียของดาราศิลปินจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อความประดิดประดอย ไม่จริงใจ[15] กระแสเช่นนี้ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการตระหนักรู้ ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน

สื่อการเรียนการสอนมีศักยภาพในการเจาะกลุ่มเป้าหมายมากกว่า แต่แบบเรียนต้านทุจริตศึกษาของไทยยังไม่มีผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากหลักสูตรขาดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและการมีส่วนร่วม[16]
อีกด้านหนึ่ง รัฐเลือกใช้เครื่องมือที่อิงพุทธศาสนาผ่าน “คณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตโดยใช้กลไกทางพระพุทธศาสนา” เกิดเป็นผลผลิต เช่น โครงการผลิตเอกสารคัมภีร์เทศน์ต้านทุจริตของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร 6 กัณฑ์ มูลค่า 6.9 ล้านบาท แจกจ่ายแก่พระสงฆ์ทั่วประเทศ
ความสำเร็จของการต่อต้านการทุจริตในฮ่องกงแสดงให้เห็นว่าการปราบปรามที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน และในทางกลับกัน ประชาชนจะมีส่วนร่วมก็ต่อเมื่อพวกเขาไว้วางใจองค์กรว่าปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและคุ้มครองความปลอดภัยแก่พวกเขาได้[17] การทุ่มความสนใจไปที่โครงการสร้างเสริมวัฒนธรรมสุจริตอาจไม่ประสบความสำเร็จ หากประชาชนไม่เชื่อใจในประสิทธิภาพขององค์กรปราบปรามการทุจริต
ในกรณีของไทย องค์กรหลักอย่าง ป.ป.ช.ยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจปราบปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการประเมินปี 2021 มีกระบวนการดำเนินคดีที่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาเกินกว่ากรอบที่กฎหมาเวลาปกติที่กฎหมายกำหนดถึง 73%[18] ความล่าช้าเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมของพลเมืองดีในการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือต้านทุจริตอย่างจริงจัง
กองทุน ป.ป.ช. กับการให้รางวัลจูงใจ
การสร้างวัฒนธรรมสุจริตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อประชาชนตระหนักถึงความเลวร้ายของการคอร์รัปชันเท่านั้น แต่จำต้องเสริมด้วยการขับเคลื่อนพลเมืองเหล่านี้ให้มีบทบาทต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง วิธีการที่สำคัญของพวกเขาคือ ‘การเป่านกหวีด’ (Whistleblower) หรือ การแจ้งเบาะแสที่เป็นประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่ในปราบปรามดำเนินคดี กระนั้นประชาชนคนหนึ่งอาจต้องเผชิญต้นทุนไม่น้อยในการให้ข้อมูล โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะถูก ‘เอาคืน’ จากผู้กระทำผิด ฉะนั้นนอกจากหน่วยงานรัฐจะต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้แจ้งเบาะแสแล้ว การให้รางวัลเป็นตัวเงินก็เป็นแรงจูงใจที่อาจเอาชนะต้นทุนด้านความเสี่ยงได้ จากการศึกษาในสหรัฐฯทั้งในภาคการเงินและภาครัฐ การให้รางวัลเป็นตัวเงินช่วยให้มีการแจ้งเบาะแสการทุจริตมากขึ้น เพิ่มข้อมูลหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน และลดโอกาสในการคอร์รัปชัน[19]

กลไกการให้รางวัลผู้แจ้งเบาะแสของไทยปรากฏในกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ[20] กองทุนนี้กำเนิดขึ้นจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตปี 2018 และเริ่มรับงบประมาณจากรัฐในปี 2020 นอกจากวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองและให้เงินรางวัล กองทุนยังมีจุดประสงค์อีก 3 ข้อคือ หนึ่งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วม และภาคเอกชนในการประชาสัมพันธ์ สองเป็นค่าใช้จ่ายคุ้มครองการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่หากจำเป็นต้องสู้คดี และสามเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์อื่นของหน่วยงานรัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะต้องผ่านการพิจารณาและอนุมัติโดยคณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช.[21]
ในปี 2021[22] กองทุน ป.ป.ช. มีเงินอยู่ 102.93 ล้านบาท และได้อนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการต่างๆ ไปทั้งสิ้น 96 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม/การประชาสัมพันธ์ 67 ล้านบาท หรือ 65%, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการป้องกันปราบปรามของหน่วยงานรัฐ 23 ล้านบาท (22%) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ซ้อนทับกับงบประมาณที่จัดสรรแก่หน่วยงาน แต่สำหรับการคุ้มครองและให้รางวัลผู้แจ้งเบาะแสมีการอนุมัติเพียง 1 ราย เป็นเงิน 5.8 ล้านบาท (5.6%) เท่านั้น เหตุใดการคุ้มครอง/ให้รางวัลจึงได้รับการให้ความสำคัญน้อยเพียงนี้?
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากตัวกฎหมายเอง ตั้งแต่ในขั้นการคุ้มครอง ตัวบทกำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญามาปรับใช้ ซึ่งอาจเกิดปัญหาจากการนิยาม ‘ผู้แจ้งเบาะแส’ และ ‘พยาน’ หากผู้แจ้งเบาะแสไม่ได้การยินยอมให้เป็นพยานในคดีอาญา พวกเขาจะไม่สามารถรับความคุ้มครองได้[23] แต่ที่สำคัญที่สุดคือเกณฑ์ในการให้รางวัลตอบแทนที่มีความคับแคบ จำกัดอยู่ในกรณีให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของเจ้าพนักงานของรัฐที่ร่ำรวยผิดปกติเท่านั้น โดยมีการจ่ายเงินรางวัลในอัตรา 15% ของทรัพย์สินที่ยึดได้[24]
กฎหมายที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมักระบุหลักเกณฑ์ไว้ครอบคลุมกว่า อาทิ False Claims Act ของสหรัฐฯ มีจุดประสงค์ในการจำกัดการทุจริตที่มีผลต่องบประมาณรัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจงใจฉ้อโกง สมรู้ร่วมคิด หรือการได้ไปซึ่งทรัพย์สินของรัฐโดยมิชอบ ทั้งยังกำหนดอัตรารางวัลไว้สูงสุดถึง 30% ของทรัพย์สินที่ยึดคืนได้[25] ความสำเร็จของกฎหมายนี้สะท้อนออกมาผ่านปริมาณทรัพย์สินที่รัฐกู้คืนสำเร็จซึ่งสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้ค่าตอบแทนแก่ผู้แจ้งเบาะแสถึง 271 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[26]
ปรับวิธีใช้งบ และสร้างรากฐานที่มั่นคงให้วัฒนธรรมสุจริต
งบประมาณต้านคอร์รัปชันเป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กของการขจัดการทุจริตในประเทศไทย และยังดูเหมือนเป็นชิ้นส่วนที่ยังไม่ลงตัว เสี้ยวหนึ่งของงบประมาณที่ตกถึงโครงการถูกนำไปใช้การสร้างวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ แม้จะสำคัญ แต่การขจัดคอขวดในการป้องกันและปราบปรามจริงก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะความไม่เชื่อมั่นในกลไกก็เป็นการทำลายความมุ่งมั่นและความต้องการมีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ปลอดคอร์รัปชันของพลเมืองได้
101 PUB เสนอให้ปรับลำดับความสำคัญในรายการงบประมาณ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดอ่อนในการป้องกันและปราบปรามเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการมีส่วนร่วมของประชาชน ทบทวนและหมั่นประเมินผลการใช้จ่าย โดยเฉพาะในโครงการประเภทสร้างเสริมจิตสำนึก และเสริมกลไกคุ้มครอง/ให้รางวัลที่เป็นตัวเงินแก่ผู้แจ้งเบาะแส
นอกจากนี้ จิ๊กซอว์ชิ้นนี้ไม่สามารถประกอบเป็นภาพใหญ่ได้หากรัฐยังมุ่งทำลายจิ๊กซอว์ส่วนอื่นๆ กล่าวคือ เสรีภาพสื่อ และหลักนิติธรรม ซึ่งต่างเป็นหลักการที่สำคัญต่อการขจัดคอร์รัปชันและเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในประเทศไทย
↑1 | “19 กันยายน 2549 รัฐประหารไทยในรอบ 15 ปี.”, SILPA-MAG, กันยายน 19, 2018. เน้นคำโดยผู้เขียน |
---|---|
↑2 | “ยุค คสช. แก้กฎหมาย ป.ป.ช. 3 รอบ ก่อนรื้อใหม่ทั้งฉบับ ย้อนกลับไปกลับมา,” iLaw, พฤษภาคม 15, 2018. |
↑3 | เพิ่งอ้าง. |
↑4 | “กฎหมาย ป.ป.ช. ยุคใหม่ #2 “ติดดาบ” ให้อำนาจเพิ่ม พร้อมเร่งรัดเวลาทำงาน,” iLaw, กันยายน 14, 2018. |
↑5 | ตัวเลขงบประมาณระหว่างปีงบประมาณ 2010 – 2020 มาจากการรวบรวมเอกสารงบประมาณประจำปี. |
↑6 | รวบรวมจากรายงานของ Transparency International ซึ่งวัดความเชื่อมั่นด้านการทุจริตโดยการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ. |
↑7 | รวบรวมข้อมูลจากเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 โดยเลือกจากรายการที่มีคำสำคัญเกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชัน ความสุจริตและการสร้างความโปร่งใส. |
↑8 | การศึกษาแยกประเภทคอร์รัปชัน (Unbundled Corruption) ของ Yuen Yuen Ang ชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทย ‘การคอร์รัปชันเล็กๆ’ เป็นปัญหาที่แพร่หลายและเร่งด่วน อ่านเพิ่มได้ที่ Unbundling Corruption: Why it matters and how to do it |
↑9 | รวบรวมจากเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 แผนปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงาน ป.ป.ช. และแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกองทุน ป.ป.ช. |
↑10 | แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. |
↑11 | การจำแนกประเภทโครงการเป็นไปตามความหมายสากลของ ‘Education’ ‘Prevention’ และ ‘Law enforcement’ ซึ่งทำให้สามารถจัดหมวดหมู่โครงการที่ไม่ได้อยู่ในแผนบูรณาการฯ ได้. |
↑12 | แผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (2566 – 2570) วางแผนโครงการในแนวทางการปราบปรามโดยละเอียดไว้ที่ 84 ล้านบาท. |
↑13 | OECD, OECD Integrity Review of Thailand 2021 : Achieving Effective Integrity Policies and Sustained Reform (2021). |
↑14 | Nic Cheeseman and Caryn Peiffer, “The Curse of Good Intentions: Why Anticorruption Messaging Can Encourage Bribery,” American Political Science Review, 2021. |
↑15 | วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส, “#พูดหยุดโกง ต้องหยุด ‘กลวง’ ก่อนพูด!…แคมเปญรณรงค์ให้พูดในวันที่ประชาชนรอให้คนทำ,” The Standard, สิงหาคม 20, 2021. |
↑16 | Supawatanakorn Wongthanavasu, Charles Ruangthamsing, Jatuphum Ketchatturat, and Wachirawut Thamviset, “An Evaluation of the Implementation of the Anti-Corruption Education for the Basic Education and the Higher Education Levels in Thailand,” Journal of Modern Learning Development, 2021. |
↑17 | Michael Johnstone, “It takes a whole society: why Hong Kong’s ICAC cannot succeed alone,” Public Administration and Policy: An Asia-Pacific Journal, 2022. |
↑18 | เอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ผลการดำเนินงานของปีงบประมาณ 2564 |
↑19 | Theo Nyreröd and Giancarlo Spagnolo, “Myth and Numbers on Whistleblower Rewards,” Regulation & Governance, 2021. |
↑20 | พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561. |
↑21 | เพิ่งอ้าง. |
↑22 | รายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นรายงานปีล่าสุดที่มีการเผยแพร่ |
↑23 | ณัฐรดา ชัยพัฒน์, “ปัญหาการชี้เบาะแสการทุจริตโดยภาคประชาชน” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 149. |
↑24 | ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัล พ.ศ. 2566. |
↑25 | “A Guide To The Federal False Claims Act,” Whistleblower Law Collaborative, accessed September 11, 2023, https://www.whistleblowerllc.com/resources/whistleblower-laws/the-federal-false-claims-act/. |
↑26 | รายงานสถิติการฉ้อโกงของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ประจำปี 2019. |