fbpx

1 ปีหลังมีกฎหมายยาเสพติดใหม่ การบังคับใช้บรรลุเจตนารมณ์แล้วหรือยัง? สนทนากับ เลขาธิการ ป.ป.ส.

เป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้วหลังประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ เป็นหมุดหมายการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทย มุ่งแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยมุมมองที่ว่า ‘ผู้เสพคือผู้ป่วย’ จึงต้องแก้ด้วยการบำบัดรักษามากกว่าการลงโทษทางอาญา และปรับแนวทางการลงโทษให้สมเหตุสมผลกับพฤติการณ์การกระทำผิด หลังจากหลายสิบปีผ่านมาเผยให้เห็นแล้วว่าการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยกฎหมายที่มีโทษทางอาญารุนแรงและการปฏิบัติอันแข็งกร้าวไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้ยั่งยืนเท่าใดนัก อีกทั้งนำไปสู่ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ เมื่อ 80% ของนักโทษเหล่านี้มาจากคดียาเสพติด

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวบทกฎหมายจะถูกออกแบบมาดีเพียงใด แต่ความท้าทายใหญ่ที่รออยู่คือการนำข้อกฎหมายนี้ไปปฏิบัติใช้จริง 8 เดือนหลังจากกฎหมายยาเสพติดนี้ถูกบังคับใช้ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ยังขาดกฎหมายลูกมารองรับหลักเกณฑ์การปฏิบัติ เราพบว่ามีความสับสนในหมู่ผู้บังคับใช้กฎหมายว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในคดียาเสพติด ทั้งในด้านการตั้งสมมติฐานความผิด การริบทรัพย์สิน และการส่งผู้เสพไปบำบัดฟื้นฟู ขณะเดียวกันในระยะเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมาก็เกิดเหตุอาชญากรรมที่เป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อหลายเหตุการณ์ ซึ่งมักจะถูกนำเสนอว่าผู้ก่อเหตุเสพยาบ้า อีกทั้งสถานการณ์ที่ยาบ้ามีราคาถูกลง ทำให้เกิดความกังขาในหมู่สาธารณชนที่ว่ากฎหมายใหม่ ‘อ่อนเกินไป‘ ในการจัดการปัญหายาเสพติด จนเกิดการตั้งคำถามว่ารัฐไทยเดินมาถูกทางแล้วหรือ?

101 สนทนากับ วิชัย ไชยมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ฟังเสียงจากผู้ปฏิบัติหลังผ่านพ้นไป 1 ปีกว่าที่มีการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดใหม่และมีอนุบัญญัติรองรับการบังคับใช้เกือบครบแล้ว ปัญหาที่ประมวลกฎหมายนี้หวังจะแก้ไขคืบหน้าไปถึงไหน ช่องว่างในระยะเปลี่ยนผ่านที่ยังปราศจากกฎหมายลูกรองรับถูกอุดแล้วหรือยัง ในวันที่สังคมไทยยังกังขาว่ากฎหมายยาเสพติดใหม่ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดหรือซ้ำเติม หน่วยงานที่เป็นอีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ตอบสนองต่อความท้าทายนี้อย่างไรบ้าง

เป็นเวลา 1 ปีกว่าๆ แล้วหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมาย สถานการณ์ยาเสพติดในไทยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง มีแนวโน้มลดลงบ้างไหม

ถ้าดูสถิติผลการปราบปรามยาเสพติดของ ป.ป.ส. ตั้งแต่ปี 2562-2565 ก็พอจะพูดได้ในเบื้องต้นว่ากฎหมายยาเสพติดมีแนวโน้มทำให้คดียาเสพติดลดลง ในปี 2564 ซึ่งยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายยาเสพติดใหม่ มีผู้ต้องหาคดียาเสพติดมากถึง 350,000 ราย ขณะที่ในปี 2565 หลังมีการบังคับใช้แล้ว จำนวนผู้ต้องหาลดลงเหลือราว 200,000 คน ด้านจำนวนคดีก็ลดลงใกล้เคียงกัน แต่เรากลับพบว่าจำนวนยาเสพติดเพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนคดีและผู้ถูกจับกุม เนื่องจากในแต่ละคดียาเสพติดที่มีการจับกุม มีจำนวนยาเสพติดมากขึ้น หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือเจอล็อตใหญ่ขึ้น

ในมุมมองคนที่ทำงานด้านการปราบปราม ข้อกฎหมายหรือแนวปฏิบัติใดจากกฎหมายยาเสพติดใหม่ที่ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว ที่จำนวนคดีและผู้ถูกจับกุมลดลง แต่ยึดยาได้ล็อตใหญ่ขึ้น

ปัจจัยสำคัญเลยคือเรื่องการปราบปรามที่เปลี่ยนแปลงไป ในกฎหมายใหม่เราร่างกฎหมายจากฐานคิดที่ว่าคนที่เข้าสู่วงจรค้ายาเสพติดเขาหวังจะยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจ ต้องการมีฐานะร่ำรวย ฉะนั้นสิ่งที่พ่อค้ายาเสพติดกลัวที่สุดคือการยึดทรัพย์สิน เขากลัวว่าสิ่งที่หามาได้จะถูกยึดไป เราก็เลยเกิดแนวคิดที่จะริบทรัพย์สิน ตัดตอนความมั่งคั่ง ซึ่งการริบทรัพย์สินตามกฎหมายเก่าจะผูกอยู่กับคดีอาญา สมมติเขาถูกจับในคดีอาญา จากนั้นเราทำการยึดทรัพย์มาแล้ว แต่ถ้าคดีอาญาเขาหลุดเราก็จะต้องคืนทรัพย์สินให้เขาไป

แต่กฎหมายใหม่มีการแยกคดีอาญากับคดีทรัพย์สินออกจากกัน ต่อให้ผู้ต้องหาต่อสู้จนหลุดคดีอาญา แต่ไม่สามารถชี้แจงในคดีทรัพย์สินได้ เราก็ดำเนินการยึดทรัพย์อยู่ดี ไม่ได้คืนเขาไปเหมือนกฎหมายเก่า นี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญ

นอกจากนี้การยึดทรัพย์สินตามกฎหมายเก่าที่ผูกพันอยู่กับคดีอาญา ยังทำให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้า สมมติ คดีอาญาใช้เวลาต่อสู้กัน 7-8 ปี โดยศาลยังไม่ตัดสิน ในส่วนคดีทรัพย์สินที่ ป.ป.ส. ทำอยู่จะต้องรอศาลพิพากษาคดีอาญาก่อน จึงจะมาพิพากษาคดีทรัพย์สินได้ แต่ในกฎหมายใหม่ สามารถดำเนินคดีไปพร้อมกันได้ ด้านคดีอาญาก็เป็นหน้าที่ตำรวจทำไป ส่วนคดีทรัพย์สินเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ส. ฝั่งไหนทำเสร็จก่อนก็ส่งฟ้องศาลได้ ศาลก็สามารถพิพากษาได้เลย เพราะฉะนั้นกระบวนการในคดีทรัพย์สินจะถูกดำเนินการภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี เมื่อคดีเสร็จ ผู้ต้องหาก็จะถูกยึดทรัพย์ จนเขาไม่เหลือเงินไปต่อสู้ในคดีอาญา

หมายความว่าจุดแข็งของกฎหมายใหม่คือสามารถยึดทรัพย์ได้อย่างรวดเร็ว และจะนำไปสู่การตัดวงจรการค้าใช่ไหม แล้วในกรณีที่ผู้ค้ายานำรายได้จากการค้ายาไปฟอกจนยากจะตามเจอ ข้อกฎหมายนี้ก็ไม่น่าจะส่งแรงสั่นสะเทือนขนาดนั้นหรือเปล่า

พูดแบบนั้นก็ได้ คนเข้าสู่วงการค้ายาเพราะอยากรวย เราต้องจับให้ได้ไล่ให้ทัน ปิดช่องโหว่ที่ทำให้การยึดทรัพย์ล่าช้าเพื่อไม่ให้ใครอยากเข้ามาอีก เพราะถ้าถูกจับได้ยังไงก็ถูกยึดหมด

ส่วนประเด็นที่ว่าถ้าเอาเงินไปฟอกแล้วผู้ค้ายาก็ไม่กลัวการยึดทรัพย์ ต้องกล่าวก่อนว่าการยึดทรัพย์ตามกฎหมายเก่า หากผู้ค้ายาเสพติดเอาเงินไปฟอกหรือโยกย้ายจนหาแทบไม่เจอ หรือทำอะไรที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบสวนได้ ต่อให้เราจะรู้ว่าคนนี้ค้ายามาเป็น 10 ปี มีทรัพย์สินมหาศาล แต่เราก็ยึดได้เท่าที่มี

แต่ในกฎหมายใหม่ การยึดทรัพย์จะคิดตามมูลค่า (value-based) เช่น ตัวอย่างที่ยกไปก่อนหน้านี้ว่าเจ้าหน้าที่รู้ว่าผู้ค้าคนนี้ค้ายามาแล้ว 10 ปี หากสามารถสืบสวนหาหลักฐานมาได้ว่าผู้ค้ารายนี้ทำกำไรได้เท่าไหร่ โดยดูจากหลายหลักฐานประกอบกัน เช่น รายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคาร หรือข้อมูลจากการสืบสวน เมื่อสืบทราบได้ว่าเขามีรายได้จากยาเสพติดอยู่ 100 ล้านบาท เราก็สามารถนำหลักฐานเหล่านี้ส่งศาล จนศาลพิพากษาสั่งให้ผู้ค้ายารายนี้ชดใช้เงินให้กับ ป.ป.ส. 100 ล้าน

ขยายความเพิ่มว่าสมมติ ป.ป.ส. ยึดบ้าน 1 หลังกับรถยนต์ 1 คันรวมกันได้มูลค่า 5 ล้านบาท หมายความว่าเขาติดหนี้ ป.ป.ส. อยู่ 95 ล้านบาท เราจะต้องไปยึดทรัพย์สินอื่นที่เขามีอยู่โดยสุจริต หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากมรดกหรือทรัพย์สินจากทางอื่นที่ไม่ได้มาจากการค้ายาเสพติด โดยสามารถยึดมาขายทอดตลาดเพื่อเอามาชดใช้หนี้ 95 ล้านนี้ได้ ฉะนั้นในกฎหมายใหม่ แม้ผู้ค้ายาจะมีการซุกซ่อนเงินไว้ที่ไหนก็ตาม หากเราพบหลักฐานหรือร่องรอยแหล่งรายได้ ก็สามารถฟ้องศาลได้ทันที

การเปลี่ยนแปลงของมาตรการริบทรัพย์สินนี่แหละคือความแรงของกฎหมายใหม่ เพราะเรารู้ดีว่าผู้ค้ายากลัวการยึดทรัพย์สินที่สุด และเราถอดบทเรียนก่อนจะมีกฎหมายใหม่ว่าแม้จะมีมาตรการยึดทรัพย์อยู่แล้ว แต่ผู้ต้องหาก็หาทางเลี่ยง เอาเงินไปฟอก จึงนำมาสู่กฎหมายใหม่ที่ออกแบบให้หลบอย่างไรก็หนีไม่พ้น และเมื่อศาลพิพากษาแล้วจะมีอายุความ 10 ปีที่ ป.ป.ส. จะตามหาทรัพย์สินผู้ค้ามาชดใช้ให้ได้

จากที่คุณตอบมา สรุปให้เข้าใจง่ายได้ว่าการมุ่งไปที่การยึดทรัพย์ทำให้ผู้ค้ายากลัวทรัพย์สินที่หามาได้จะถูกยึดไปจนหมด คนจึงเข้าสู่วงการค้ายาน้อยลง แต่สถานการณ์ที่ยังไม่มีคำอธิบายคือทำไมถึงยึดยาเสพติดได้ล็อตใหญ่ขึ้น

เพราะมาตรการยึดทรัพย์ตามกฎหมายใหม่ที่กล่าวไปข้างต้นส่งผลต่อผู้รับจ้างขนยาด้วย สมัยที่ยังไม่มีกฎหมายยาเสพติดใหม่ สมมติรับจ้างขนยาได้รอบละประมาณ 200,000-300,000 บาท ถ้าขนมา 10 ครั้ง ก็มีรายได้ราว 3 ล้านบาท แต่ถ้าเงินที่ได้รับจากการขนยาถูกนำไปใช้จ่ายหมดแล้ว เราก็ไม่สามารถยึดอะไรได้ เพราะทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่พอให้ยึด

แต่ในกฎหมายใหม่ สมมตินายแดงรับจ้างขนมา 10 ครั้ง แล้วมาถูกจับในครั้งที่ 10 หากเจ้าหน้าที่มีหลักฐานการสืบสวนว่านายแดงทำมาแล้ว 10 ครั้ง ได้รับจ้างครั้งละ 300,000 บาท ก็จะมีรายได้จากการรับจ้างขนยาทั้งสิ้น 3 ล้านบาท ในเมื่อนายแดงไม่มีเงินเหลืออยู่ เราก็จะมองไปที่มรดกของนายแดง ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่ดิน ป.ป.ส.จะยึดหมด เพื่อนำมาชดเชยให้ได้จำนวน 3 ล้านบาท

นี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้กระบวนการรับจ้างขนยาเสพติดหาคนได้น้อยลง เมื่อหาคนได้น้อยลง ผู้ค้าก็จะจ้างด้วยค่าจ้างที่สูงขึ้น เมื่อค่าจ้างสูงขึ้น ก็ต้องบรรทุกยาให้ได้จำนวนมากขึ้นเพื่อให้คุ้มกับค่าจ้าง จากเคยขน 20 ตัน ก็ต้องบรรทุกให้ได้ 30-40 ตัน ฉะนั้นจึงอธิบายได้ว่าทำไมในระยะหลังมานี้ตำรวจสามารถจับยึดยาบ้าได้ล็อตใหญ่ขึ้น

ดูเหมือนคุณจะพูดถึงผู้ค้ารายใหญ่เสียมาก สถานการณ์ผู้ค้ารายย่อยหรือผู้เสพเป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าให้ไล่ระดับลงมาดูผู้ค้ารายย่อยและผู้เสพ ก่อนอื่นเราต้องมาดูปัจจัยด้านราคาก่อน ที่คนพูดกันว่ายาเสพติดราคาถูกลง ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้นเป็นความคิดที่ตรงกันข้ามกับผู้ปฏิบัติ ตอนที่ยายังขายได้เม็ดละ 200-300 บาท เกิดพฤติกรรมที่คนเสพแบ่งยามาขายเพื่อกินกำไรจากส่วนต่าง โดยจะบรรจุใส่หลอดกาแฟ 5-10 เม็ด  ฉะนั้นตอนที่ยาบ้าราคาแพง ทำให้มีผู้ค้ารายย่อยเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนผู้เสพที่ไม่มีหัวการค้า ก็ไปลักขโมยของไปขายเพื่อหาเงินมาซื้อยาไปเสพ ข่าวอาชญากรรมที่กระทำโดยผู้เสพยาจึงมีให้เห็นรายวัน

ขณะที่ราคายาบ้าในปัจจุบันถูกลงจนเหลือเม็ดละ 10-20 บาท ซึ่งคนมักจะพูดกันว่าราคาเท่านี้ใครก็ซื้อหาได้ ยาบ้าเลยระบาดเยอะ แต่อยากให้มองลึกกว่านั้นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้ โดยหลักแล้ว การกระทำสิ่งผิดกฎหมาย ถ้าเราไม่ได้อยู่ในแวดวงก็ยากที่จะรู้ได้ว่าต้องเข้าสู่วงจรนี้ได้จากที่ไหน ยาบ้าก็เช่นกัน ถ้าไม่ใช่กลุ่มของเขาแล้วก็ไม่รู้หรอกต้องไปซื้อที่ไหน คำว่าเข้าถึงง่ายที่คนพูดกัน ก็คือเข้าถึงได้ง่ายเฉพาะกลุ่มของเขา

แต่ทุกวันนี้มีการขายยาเสพติดตามโซเชียลมีเดีย?

ที่เอาไปขายในโซเชียลมีเดียก็มีจริง แต่การเข้าไปในกลุ่มเขาต้องมีการเข้ารหัส ไม่ใช่ว่าเป็นใครก็ปล่อยผ่านเข้าไปหมด ดังนั้นถูกแล้วที่บอกว่าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่มันคือการเปรียบเทียบอยู่ในกลุ่มเขา คนธรรมดาอย่างเราจะเข้าสู่แวดวงนี้ก็ไม่ง่ายอยู่ดี

ในระยะแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมาย ยังมีข้อกังวลว่าไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับหลักเกณฑ์ปฏิบัติได้ทันท่วงที ในปัจจุบันที่อนุบัญญัติออกมาเกือบครบแล้ว มีสถานการณ์การบังคับใช้เป็นไปในทิศทางใดบ้าง

ตอบในส่วนของกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีการออกกฎกระทรวงหรือออกกฎหมายลูกเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับหน้าที่ออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสถานบำบัด การคัดกรอง และขั้นตอนต่างๆ เหลือเพียง 3 ฉบับอยู่ระหว่างดำเนินการ

เพราะฉะนั้นในส่วนเรื่องกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย เราดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เรื่องทรัพย์สินไม่พบปัญหา แต่ส่วนการบำบัดฟื้นฟูตอบได้ในเบื้องต้นว่าอาจจะขลุกขลักในชั้นต้นเล็กน้อย แต่ในปีนี้น่าจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น รายละเอียดที่มากกว่านี้จะต้องถามจากคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ของกระทรวงสาธารณสุข

ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา พบช่องว่างการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่บ้างหรือไม่ เพราะมีเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ห่างไกลว่าตำรวจไม่แจ้งให้ทราบว่าผู้ต้องหาสามารถเข้าสู่กระบวนการการบำบัดได้

ส่วนนี้เป็นปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ยังมีอยู่บ้าง แม้จะบังคับใช้เป็นปีแต่ก็ยังถือว่าเป็นกฎหมายใหม่ เป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่เองก็อาจจะยังไม่เข้าใจรายละเอียด การทำความเข้าใจต้องใช้เวลา และขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่เองด้วยว่าจะให้ความสนใจ ติดตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ฉะนั้นสิ่งสำคัญเลยคือเจ้าหน้าที่ก็ต้องให้หมั่นติดตามข้อมูล

สำหรับคนเป็นเจ้าหน้าที่ต้องไม่ใช่แค่รู้ว่ากฎหมายมีการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องรู้ให้ลึก รู้ให้ละเอียดเพื่อที่จะนำไปปฏิบัติได้ เช่น กรณีการกำหนดจำนวนเม็ดยา ‘กฎหมายเก่า ภาระการพิสูจน์เป็นของจำเลย กฎหมายใหม่ ภาระการพิสูจน์เป็นของเจ้าหน้าที่’ พูดให้เข้าใจง่ายคือกฎหมายใหม่ไม่ได้สันนิษฐานตามจำนวนเม็ดแล้ว แต่ดูจากพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ว่าใครเป็นผู้ค้า ใครเป็นผู้เสพ ต่อให้มีเม็ดเดียวแต่ถ้ามีพฤติการณ์เป็นผู้ขาย ก็ต้องดำเนินข้อหาในการขายและจำหน่ายไปเลย

แต่กฎหมายเก่ากำหนดไว้ว่ามียาบ้า 15 เม็ด ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถ้าเกิน 15 เม็ดก็ต้องไปต่อสู้กันในศาล ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายจำเลยหรือฝ่ายที่ถูกจับไปในการหาหลักฐานมาหักล้างว่าเขามีไว้เพื่อเสพ อันนี้เป็นภาระของจำเลยที่จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ เจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นผู้พิสูจน์ ถ้าจำเลยมีข้อพิสูจน์ได้ก็กลายเป็นผู้เสพ

แล้วหน่วยงานไหนควรจะ ‘ทำงานหนักกว่านี้’ เพื่อขจัดอุปสรรคจากความไม่รู้ของเจ้าหน้าที่

ก็ต้องเป็น ป.ป.ส. นี่แหละ ที่จริงเราทำทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์และอบรมให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ทั้งหมดนี้ ผลลัพธ์ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่สนใจไหม เราเริ่มอบรมให้ตั้งแต่กฎหมายยังไม่ออก ฉะนั้นถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่ มีหน้าที่ผดุงความยุติธรรม คุณก็ต้องใส่ใจที่จะทำความเข้าใจถึงเจตนารมณ์กฎหมายใหม่อย่างถ่องแท้ด้วย ไม่ใช่รอให้หน่วยงานข้างบนพยายามอยู่ฝ่ายเดียว

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ ว่าด้วยการกำหนดจำนวนยาบ้า ซึ่งผู้ครอบครองเกิน 1 เม็ด ต้องถูกจัดให้เป็นผู้ค้า เข้าใจว่ากระบวนการต่อจากนี้คือเตรียมส่งให้ ครม. พิจารณาต่อไป ถ้าปรับเกณฑ์ผู้ครอบครองยาบ้าใหม่เป็นเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หลายคนกังวลปัญหาเรื่องคุกล้น

ถ้ากระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เกิน 1 เม็ดถือว่าเป็นผู้ขาย แต่ในหลักประมวลกฎหมายยาเสพติด ถ้ามีจำนวนเล็กน้อย ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพมีไว้ในครอบครอง ซึ่งจะต้องนำไปบำบัด ไม่ต้องมาดำเนินคดี ต่อให้เปลี่ยนเกณฑ์ แต่ถ้าเจอเกิน 1 เม็ด ก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนในชั้นจับกุมว่าเขามีไว้เพื่อครอบครองอยู่ดี ยังไม่ใช่ผู้ขาย แน่นอนว่าจะอย่างไรก็มีโทษทางอาญา เพราะถ้าเกิน 1 เม็ดปุ๊บ ชุดจับกุมนำส่งพนักงานสอบสวน และจะต้องถูกดำเนินคดีทุกรายไป อันนี้ก็จะทำให้มีจำนวนคดีมากขึ้นเท่านั้นเอง

แต่ในส่วนที่จะสันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อขายหรือไม่ พนักงานก็ต้องไปพิสูจน์ ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะต้องหาหลักฐานว่าเขามีไว้ 2-3 เม็ดนี่ไม่ได้มีไว้ในครอบครอง แต่มีไว้เพื่อขาย ถึงที่สุดแล้วภาระการพิสูจน์ก็เป็นของเจ้าหน้าที่อยู่ดี

สืบเนื่องจากในปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่น่าสลดและข่าวการก่ออาชญากรรมที่กระทำโดยผู้ใช้สารเสพติดปรากฏบนหน้าสื่อบ่อยครั้ง กระแสสังคมมักจะกล่าวโทษว่าเป็นเพราะกฎหมายยาเสพติดใหม่หย่อนยานต่อการปราบปราม เมื่อเดือนตุลาคม 2565 นิด้าโพลมีการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ผลที่ได้พบว่า 50.15% ของผู้ให้ความเห็น ไม่เห็นด้วยกับประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ยึดหลักว่าผู้เสพคือผู้ป่วย คุณมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไรบ้าง

การมองว่าผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว นานาชาติก็เห็นตรงกันว่าเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่าในการแก้ปัญหายาเสพติด แน่นอนว่าคนที่อยู่ในขบวนการค้ายา เราถือว่าเป็นอาชญากรอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่เป็นผู้เสพ เขาคือเหยื่อของขบวนการค้ายาเสพติด หลายคนทำไปโดยที่ไม่รู้เรื่อง ในเมื่อเขาเป็นเหยื่อ ก็ต้องให้โอกาสเขาในการรักษา แต่คนที่เป็นผู้ค้า เราลงโทษเต็มที่อยู่แล้ว

ในประเด็นนี้ถ้าจะทำความเข้าใจก็อยากให้ลองมองว่ามีลูก หลาน หรือคนในครอบครัวมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างให้ต้องเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด เช่น นักเรียน ม.6 เพิ่งเรียนจบ เลยไปฉลองกันที่ผับ แม้ที่ผ่านมาจะไม่เคยใช้ยามาก่อน แต่วันนั้นเกิดเจอตำรวจเข้าไปตรวจปัสสาวะ เด็กเองก็ไม่รู้ว่าเพื่อนเอาอะไรใส่ให้กิน หรืออาจจะเผลอใช้ด้วยความสนุกสนาน จนไม่ได้ระแวดระวัง คนที่เป็นพ่อแม่ไม่เจ็บแย่เลยนะ ลูกกำลังเรียนจบแต่อนาคตดันจบทันทีเมื่อถูกดำเนินคดี กรณีแบบนี้เด็กไม่ได้เสพติด แต่เป็นการเจอแบบเพิ่งลองครั้งแรกเพราะเพื่อนให้ลอง พอตรวจปัสสาวะเจอก็ผลักเขาให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ

ในเรือนจำไม่ได้แยกว่าเป็นผู้เสพครั้งแรก ครั้งที่สอง หรือเสพประจำ เพราะในแต่ละแดนของเรือนจำมีการเอาคนที่กระทำผิดจากหลายคดีอาชญากรรมมารวมกัน แล้วไม่คิดเลยหรอว่าเขาเข้าไปแล้วจะถูกหล่อหลอมให้ก่ออาชญากรรม ฉะนั้นสิ่งที่อยากจะสื่อคือเราควรให้โอกาสผู้เสพเหล่านี้ให้ยังอยู่ในสังคมได้

ส่วนกระแสสังคมที่ค่อนข้างต่อต้าน เหมือนที่คุณยกเรื่องโพลมา ผมมองว่าเป็นเพราะการนำเสนอของสื่อ พอมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นก็จั่วไปแล้วว่าคนเมายา อยากให้นำเสนอให้ลึกขึ้นถึงข้อเท็จจริงว่าปัจจัยแวดล้อมมีอะไรบ้าง เขาใช้ชีวิตในสังคมแบบไหนทำไมถึงต้องพึ่งยา และทำไมถึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น อยากให้มองทะลุถึงตรงนี้ด้วย

ประเทศไทยกำลังย่างเข้าสู่ปีที่สองของการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด คุณมีความคาดหวังอย่างไรต่อไป หรือมีอะไรที่ ป.ป.ส. ถอดบทเรียนจากปีที่ผ่านมาแล้วเห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยน หรือว่ามองว่าอะไรคือโจทย์ใหญ่และความท้าทายที่ต้องให้ความสนใจในการแก้ต่อไป

ในส่วนกฎหมาย ผมคิดว่าตอนนี้การบังคับใช้ราบรื่นดี เรื่องการยึดทรัพย์ที่เราดูแลอยู่ไม่มีปัญหาอะไร แต่เจ้าหน้าที่ในระดับท้องที่น่าจะต้องทำความเข้าใจกับตัวบทกฎหมายใหม่ได้มากกว่านี้ เพื่อจะได้อำนวยความยุติธรรมได้ตามเจตนารมณ์

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากเห็นคือความร่วมมือจากสังคม โดยเฉพาะในระดับชุมชน ชาวบ้านเป็นคนที่รู้ดีที่สุดถึงสถานการณ์ในชุมชนว่าใครค้า ใครเสพ ในส่วนนี้ควรต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาและแจ้งเบาะแส ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันสอดส่อง ดูแลคนในครอบครัวด้วย ผมเชื่อว่าการแก้ปัญหายาเสพติดให้บรรลุผลต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save