fbpx

เมียสาวชาวอีสานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ตราบจนบัดนี้ คนส่วนใหญ่ยังมิวายเชื่อแม่นมั่นว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีภริยาเพียงแค่หนึ่งเดียวเท่านั้น คือ ‘ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม’ หากสำหรับผู้ศึกษาเรื่องราวของท่านจอมพลแบบลึกซึ้งแล้ว ย่อมพอจะทราบว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของไทยได้มีสัมพันธ์สวาทกับสตรีอีกหลายราย ผมคงไม่แจกแจงจาระไนถึงผู้หญิงของท่านจอมพลตามที่ปรากฏข้อมูลหลักฐานทุกคนหรอก แต่จะแนะนำให้คุณผู้อ่านทำความรู้จักภรรยาที่นอกเหนือไปจาก ‘มาดามละเอียด’ อีกเพียงแค่หนึ่งราย ซึ่ง จอมพล ป. เองก็ยินดียอมรับอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเธอเป็นเมีย พร้อมทั้งมีบุตรชายด้วยกัน

ภาพลักษณ์ของจอมพล ป. มักยึดโยงแนบแน่นอยู่กับอุดมการณ์ผัวเดียวเมียเดียว สืบเนื่องจากช่วงกลางทศวรรษ 2480 ท่านจอมพลในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ยกระดับให้ชุดความคิดและค่านิยมการมีเมียคนเดียวกลายเป็นนโยบายเชิงวัฒนธรรมของชาติ ทว่าพอช่วงปลายทศวรรษเดียวกัน กลับยินเสียงซุบซิบจนเซ็งแซ่ทำนองจอมพล ป. เผชิญเรื่องชู้สาว พูดง่ายๆ คือแอบมีเมียน้อย ทั้งที่เป็นนักร้องและนักแสดง

มิหนำซ้ำ กรณีความเกี่ยวพันกับนักร้องสาวเสียงเสน่ห์ยังเป็นชนวนไปสู่เหตุอาชญากรรมรุนแรง เพราะถึงกับมีผู้จ้างมือปืนไปสังหารเธอเมื่อราวเดือนเมษายน ปี 2486 โชคดีเธอรอดชีวิต ท่ามกลางเสียงกล่าวขวัญอึงคะนึง แต่หามีผู้ใดหาญกล้ากำเริบตั้งคำถามหรือพูดตรงไปตรงมา กระทั่งจอมพล ป. หลุดพ้นอำนาจหลังตกเป็นอาชญากรสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2488  หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ จึงหยิบยกเอาเรื่องราวนี้มาตีแผ่และวิพากษ์วิจารณ์กันดุเดือด รวมถึงจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่เบื้องหลังการพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาล

ผมขออนุญาตรวบรัด และจะไม่ชวนคุณผู้อ่านดำดิ่งท้องทะเลแสนลึกลงไปเพลิดเพลินหมู่ปะการังว่าด้วยรายละเอียดของคดีความ แต่ใคร่ยกถ้อยพรรณนาของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์’ ที่กล่าวถึงฉากมือปืนลอบยิงนักร้องสาวมาแสดงไว้พอหอมปากหอมคอ

“แต่ฝนตกหนักอากาศเลวร้ายในสีสันลางเลือนของกลางคืน

กระสุนพลาดเป้าหมายการเด็ดชีวิต”

จอมพล ป. หวนกลับมาเรืองโรจน์อีกหนภายหลังการรัฐประหาร 2490 ซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน คราวนี้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานตลอดทศวรรษ 2490 จวบจนถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน ปี 2500 ส่งผลให้ จอมพล ป. ต้องลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ แล้วต่อมาตัดสินใจพำนัก ณ ประเทศญี่ปุ่น

ในปี พ.ศ. 2502 มีหนังสือเรื่อง ชีวิตรักของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา ผลงานของจรูญ กุวานนท์ นักหนังสือพิมพ์ระบือนามแห่งยุค เปิดเผยข้อมูลชีวิตรักและผู้หญิงที่ถูกกล่าวขานในฐานะมีสัมพันธ์สวาทกับท่านจอมพล โดยระบุนามผู้หญิงคนอื่นๆนอกเหนือจากท่านผู้หญิงละเอียด ได้แก่ รุจี อุทัยกร, พิศมัย วิไลศักดิ์ และ คำนึงนิตย์ วงศ์วัฒนะ

จอมพล ป. ได้อ่านสิ่งที่จรูญเขียนถึงตนเอง และยอมรับว่าสตรีที่เป็นภริยาจริงๆ อีกคนหนึ่งคือ ‘คำนึงนิตย์ วงศ์วัฒนะ’

กาลเวลาล่วงเลยมาจนคืนวันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 จอมพล ป. หมดสิ้นลมหายใจ ณ บ้านพักไม่ห่างไกลกรุงโตเกียว จากนั้นมินาน งานเขียนของหม่อมราชวงศ์ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุท ซึ่งอวดคำโปรย

“เป็นหนังสือเล่มแรกและเล่มเดียวที่เขียนขึ้นในทันทีที่ข่าวอสัญกรรมของจอมพล ป. พิบูลสงครามแพร่สะพัดมาถึงเมืองไทย เขียนโดยผู้ที่ได้เข้าพบและสัมภาษณ์พันเอกอนันต์ – พลเรือตรีประสงค์ พิบูลสงคราม และคุณจีรวัสส์ ปันยารชุน เป็นคนแรก ณ บ้านซอยชิดลม”  

ก็ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา มีส่วนเนื้อหาที่เสนอชีวิตรักของท่านจอมพล คุณชายชนม์สวัสดิ์กล่าวว่า “จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยมีเรื่องเกี่ยวกับความเป็นคนเจ้าชู้ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นปกติธรรมดาของผู้ชายทั่วๆไปอยู่สองสามครั้ง แต่ก็ไม่อื้อฉาวเสียหาย หรือได้เอาเงินทองไปหว่านซื้อร่างกายผู้หญิงไม่เลือกหน้าอย่างคนบางคน (จงใจกระทบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่เพิ่งสูญสิ้นชีวิตขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2506 – อาชญาสิทธิ์) และเอ่ยอีกว่า “คนสุดท้ายที่จอมพล ป. รับเลี้ยงดูเป็นภรรยาและเกิดบุตรด้วยกัน ก็คือคุณคำนึงนิตย์ พิบูลสงคราม มีบุตรชายสองคนคือเด็กชายธนาพิบูล อายุ 7 ขวบ และเด็กชายธนิตพิบูล อายุ 6 ขวบ”

ความน่าสนใจยิ่งนักของหญิงสาวชื่อ ‘คำนึงนิตย์’  คือเธอหาใช่เพียงแค่เป็นอนุภรรยาของจอมพล ป. หากดูเหมือนจะมีความเกี่ยวข้องกับอำนาจและเชื่อมโยงกับความเป็นไปทางการเมืองด้วย

คำนึงนิตย์ วงศ์วัฒนะ

งานศึกษาของ คัทยา รังสิเวค (Katja Rangsivek) มุ่งใคร่ครวญประเด็นความเป็นผัวเมียอันส่งทอดอิทธิพลต่อบทบาททางการเมือง โดยเสนอถึงการมี ‘เมียน้อย’ (minor wives) กับอำนาจและเสถียรภาพของ ‘ท่านผู้นำ’ ผ่านบทความวิชาการเรื่อง Between Polygyny and Monogamy: Marriages of the Political Elite and the Thai Regime of Images  คัทยา มองว่าการที่นักการเมืองมีเมียน้อยถือเป็นลักษณะเดียวกันกับการที่ชนชั้นสูงในยุคศักดินามีเมียหลายคนเพื่อสร้างเครือข่ายและสัมพันธภาพกับกลุ่มขุนนางและคหบดี ซึ่งเป็นผู้เสนอผู้หญิงมาปรนเปรอ อีกทั้งเพื่อรักษาฐานอำนาจเอาไว้ให้มั่นคง ขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่ยอมตกเป็นเมียน้อยจะได้เลื่อนสถานะทางสังคมดีขึ้น ตราบใดความเป็นผัวเป็นเมียยังไม่สิ้นสุด ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ ที่เป็นฐานอำนาจให้นักการเมืองก็ย่อมดำเนินไปอย่างสวัสดิภาพ

คัทยายกตัวอย่างกรณีคำนึงนิตย์ วงศ์วัฒนะ (Kamningnit Wongwatthana) ที่เธอกลายเป็นเมียน้อยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (Field Marshal Po Phibunsongkhram) นั่นเพราะหญิงสาวชาวอีสานอดีตพนักงานธนาคารศรีอยุธยา สาขาอุดรธานี ได้เจอกับกรรมการอำนวยการธนาคารศรีอยุธยาผู้มีความแน่นแฟ้นกับกลุ่มทหารและนักการเมืองแห่งซอยราชครู ซึ่งตอนนั้นเดินทางไปตรวจธนาคารแล้วพบเธอกำลังนั่งทำงาน จึงชักชวนให้เข้าประกวดนางสาวไทยประจำปี 2497 แม้ท้ายสุดเธอพลาดตำแหน่ง แต่ชีวิตกลับผกผันให้ไปทำความรู้จักกับจอมพล ป. กระทั่งเลื่อนชั้นมาเป็นภรรยาอีกคน แน่นอนว่าคัทยา อาศัยข้อมูลหลักฐานมาจากหนังสือของจรูญ กุวานนท์ ผมเองเห็นพ้องกับข้อเสนอของคัทยาไม่น้อย หากในใจลึกๆ ก็รู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้ช่างมีอะไรบางอย่างให้น่าค้นหาเพิ่มเติม

ได้กล่าวแล้วว่า คำนึงนิตย์คือสาวสวยนัยน์ตาโศกที่จอมพล ป. ยอมรับและยืนยันตัวตนในฐานะ ‘เมีย’ อย่างเปิดเผยต่อสังคม ดังคราวหนึ่งหลังเสื่อมคลายอำนาจ อดีตท่านผู้นำอุตส่าห์เขียนจดหมายลงวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 ส่งจากกรุงโตเกียวมายังหนังสือพิมพ์ บางกอกไทม์ ซึ่งจรูญ กุวานนท์รั้งตำแหน่งบรรณาธิการ ความว่า “ขอขอบใจที่ลงข่าวผม แต่ชื่อคุณคำนึงนิตย์ พิบูลสงคราม ยังเขียนผิด  ผมช่วยบอกแก้มาให้ ชื่อไม่ใช่ คนึงนิจ แต่เปนชื่อคำนึงนิตย์ จึงจะถูกต้อง คราวหลังคุณจะเขียน ช่วยเขียนให้ถูกด้วย จะขอบคุณมาก เข้าใจว่า คนึงนิจ จะเป็นคนละคนกับคำนึงนิตย์”

อาจเพราะยังมีผู้วิจารณ์จอมพล ป. ทำนองที่ว่า เคยเป็นนายกรัฐมนตรีผู้เสนออุดมการณ์ผัวเดียวเมียเดียวให้ประชาชนปฏิบัติตาม แต่ตนเองกลับมีภรรยาหลายคนมาตลอด ดังนั้น ในจดหมายลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2501 ส่งถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ บางกอกไทม์ ท่านจอมพลจึงกล่าวตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าไม่ได้มีภรรยาหลายคน ข้าพเจ้ามีภรรยาคือท่านผู้หญิงคนเดียว นอกนั้นก็มีผู้ที่รู้จักกันฐานเพื่อนอีกคนหนึ่ง คือ คุณคำนึงนิตย์ ได้มาอยู่เป็นเพื่อนที่โตเกียวและมีบุตรกัน นอกนั้นก็ไม่มีและไม่ได้ติดต่อเลี้ยงดูใครด้วย หมดเพียงเท่านี้”

แต่คำตอบของท่านจอมพลคงจะไม่เป็นที่เชื่อถือในหมู่ใครอีกไม่น้อยคน

จดหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามถึงหนังสือพิมพ์บางกอกไทย ชี้แจงเรื่องชื่ออนุภรรยา

จรูญ อยากเขียนถึงความเป็นผัวเมียของจอมพล ป. และคำนึงนิตย์ แต่เขาระมัดระวังถึงกับต้องออกตัว

“แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะได้บรรยายชีวิตรักอันหวานฉ่ำระหว่างนายกรัฐมนตรีวัย 60 กับสาววัยรุ่นรายนี้ ผู้เขียนจำต้องขอเรียนปรับความเข้าใจกับท่านผู้อ่านสักเล็กน้อย เพราะการนำเรื่องเช่นนี้มาเขียน อาจจะทำให้มีผู้คิดค้นว่าเป็น ‘ยุ่มย่าม’ ก้าวเข้าไปยุ่งเรื่องในครอบครัวของบุคคลอื่น อันเป็นการผิดมารยาท ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนขอยอมรับว่า หากมีการกล่าวเช่นนี้ก็นับว่าเป็นการกล่าวที่มีเหตุผลเหมือนกัน ถ้าหากว่าเรื่องรักที่นำมาเสนอนี้เป็นเรื่องของประชาชนทั่วๆ ไป แต่ในเมื่อเรื่องรักที่เรานำมาเสนอให้ท่านผู้อ่านทราบขณะนี้ เป็นเรื่องของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ครองตำแหน่งยืนยาวและเป็นนักการเมืองอาวุโสของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาทั่วๆ ไป แม้ในต่างประเทศเองเรื่องราวของบุคคลสำคัญเช่นนี้ก็จะต้องมีผู้บันทึกเอาไว้ ไม่ว่าทั้งด้านการงานหรือส่วนตัว ในเมื่อบุคคลเหล่านี้ ครั้งหนึ่งเขาคือคนของประชาชนมาแล้ว และด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ ท่านผู้อ่านและท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการถูกนำมากล่าวเขียนย่อมจะเข้าใจในเจตนาของผู้เขียนบ้าง ไม่มากก็น้อย

คุณผู้อ่านน่าจะสงสัยแล้วสิ ‘คำนึงนิตย์’ เป็นใคร มาจากไหนกัน

เดิมทีเธอชื่อคำนึง เป็นบุตรสาวของนายค้น มุสิกบุญเลิศ คหบดีชาวอุดรธานี ครั้นบิดามารดาถึงแก่กรรมขณะเธอเยาว์วัย จึงมาอยู่ในความอุปการะของผู้เป็นพี่เขยคือนายสุพัฒน์ วงศ์วัฒนะ โดยนายสุพัฒน์เลี้ยงดูเธอแบบบุตรบุญธรรม พร้อมให้ใช้นามสกุล

คำนึงนิตย์เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดอุดรธานี จบชั้นมัธยมบริบูรณ์ก็เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครมาศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา หญิงสาวมีอุปนิสัยรักเด็กๆ ย่อมจะใฝ่ฝันเป็นครูสอนนักเรียน แต่แล้วมิทันร่ำเรียนตลอดรอดฝั่ง เกิดเหตุบางประการให้ต้องลาออกเสียกลางคัน อำลาเมืองหลวงย้อนคืนถิ่นเกิด และเข้าทำงานที่ธนาคารศรีอยุธยา สาขาอุดรธานี

ราวชะตาลิขิตไว้ให้หญิงสาวชาวอีสานผู้นี้หาได้มีชีวิตธรรมดาสามัญ เธอจึงประสบพบเจอนายเลื่อน บัวสุวรรณ กรรมการอำนวยการธนาคารศรีอยุธยาผู้เคยไต่เต้าจากอดีตจับกังโรงสีขึ้นมาเป็นบุคคลคอยดูแลด้านเศรษฐกิจของคณะทหารแห่งซอยราชครู นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ อีกทั้งยังคุ้นเคยกับท่านนายกรัฐมนตรีเยี่ยงจอมพล ป. พิบูลสงคราม

กล่าวคือ วันหนึ่งนายเลื่อนเดินทางมาตรวจงานธนาคารศรีอยุธยา สาขาอุดรธานี พลันสะดุดตาเข้ากับความงามเพริศพริ้งจนหลงเสน่ห์แม่สาวเรือนร่างสูงโปร่งและผิวขาวผุดผ่องนามว่าคำนึงนิตย์ ขณะเธอกำลังตั้งหน้าตั้งตาทำงานอยู่ ประกอบกับห้วงเวลานั้นใกล้ถึงวาระงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี พ.ศ. 2497 ทางราชการจะจัดให้มีการประกวดนางสาวไทยขึ้น นายเลื่อน เลยบังเกิดความคิดที่จะส่งพนักงานสาวสวยของธนาคารไปเข้าร่วม เขาทาบทามต่อคำนึงนิตย์ ซึ่งเธอยินดีอย่างไม่ขัดข้อง พอวันถัดมาพนักงานสาวอุดรจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครา และถูกนำตัวไปฝึกฝนเตรียมความพร้อมขึ้นเวทีประกวดช่วงวันที่ 8-18 ธันวาคม   

บรรยากาศการประกวดนางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2497 ช่างครึกครื้น มีผู้เข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมากถึง 241 ราย เพราะเป็นปีที่มีของรางวัลล่อใจอย่างรถเบนซ์ราคาเรือนแสน เวทีสำหรับอวดรูปโฉมของบรรดาสาวๆ ตั้งอยู่ในสวนลุมพินี จัดเก็บค่าเข้าชมตั้งแต่คนละห้าบาทสิบบาทไปจนถึงหนึ่งร้อยบาท เสียงโห่ร้องกึกก้องและเสียงปรบมือเกรียวกราวของผู้เข้าชมตอนที่สาวงามทั้งหลายออกมาเดินเฉิดฉายและหว่านโปรยรอยยิ้มพิมพ์ใจ ค่ำคืนนั้น พระมนูญเวทย์วิมลนาท ประธานศาลฎีกา นั่งเป็นประธานกรรมการตัดสิน ผลการประกวดได้รับการประกาศออกมาว่า ‘สุชีลา ศรีสมบูรณ์’ คือผู้ชนะเลิศได้เป็นนางสาวไทย โดยมีรองนางงามอีก 4 คนคือ จงดี วิเศษฤทธิ์, อุทัยวรรณ เทพจินดา, ระเบียบ อาชนะโยธิน และ วาสนา รอดศิริ จากนั้น พระยารามราชภักดีกลาวเชิญท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาท่านนายกรัฐมนตรีขึ้นสวมมงกุฎให้กับนางสาวไทย พร้อมมอบของรางวัลต่างๆ น่าเสียดายที่คำนึงนิตย์ มิได้รับตำแหน่งใดใดเลย

ควรบอกอีกว่า ถัดมาจากปีนั้น เมืองไทยได้ว่างเว้นการจัดประกวดนางสาวไทยไปเนิ่นนานถึงสิบปี กว่าจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาจัดประกวดอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2507

คำนึงนิตย์ วงศ์วัฒนะ เมื่อครั้งเข้าประกวดนางสาวไทย

สุชีลา หรือสมบูรณ์ ศรีบุรี  นับเป็นหญิงสาวจากภาคเหนือ หรือริมฝีปากคนยุคนั้นมักเรียกขานว่า ‘ดอกเอื้องเหนือ’ คนที่ 2 ซึ่งได้ครองตำแหน่งนางสาวไทย ส่วนคนแรกสุดคืออัมพร บุรารักษ์  สาวงามจากเชียงรายผู้สวมมงกุฎนางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2493 สุชีลาเป็นแม่สาวชาวลำพูนอายุเพียง 17 ปี เธอเริ่มก้าวสู่แวดวงประชันความงามด้วยการเข้าประกวดนางสาวถิ่นไทยงามประจำปี พ.ศ. 2496 แม้จะพ่ายแพ้แบบฉิวเฉียดให้แก่พรรณี ภัคดี แต่เธอก็คว้าตำแหน่งรองอันดับหนึ่ง ด้วยดวงหน้าหวานหยดย้อย และรูปร่างสมส่วน ปีถัดมาจึงมีผู้ติดต่อชักชวนให้สุชีลาไปเข้าร่วมประกวดนางสาวไทย โดยทางธนาคารออมสินสาขาเชียงใหม่จะสนับสนุน พร้อมเรียกตัวอดีตรองนางสาวไทยรุ่นเดียวกับอัมพร มาเป็นพี่เลี้ยงช่วยฝึกฝนเต็มที่ จนกระทั่งเธอได้สวมมงกุฎเป็นหญิงงามแห่งชาติสมดั่งจินตนา

ถึงจะมิได้เป็นนางสาวไทย หากนายเลื่อนไม่ยอมละทิ้งแม่สาวชาวอุดร หมายมั่นจะส่งเสริมให้มีอนาคตแจ่มใส เขาพาเธอไปฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมของจอมพลผิน ชุณหะวัณ แห่งซอยราชครู ทั้งยังจัดหาบ้านพักที่ตบแต่งทันสมัยและมอบรถยนต์ราคาแพงให้แก่เธอ ช่วงนี้เอง นายเลื่อนพยายามชักนำให้เธอได้ทำความรู้จักกับจอมพล ป. และคอยประพฤติตนประหนึ่งกามเทพแผลงศรพิศวาส  

จวบจนวันหนึ่ง นายเลื่อนได้มาบอกกับคำนึงนิตย์ว่าจอมพล ป. หลงรักเธอ และปรารถนาจะได้เธอไว้เป็นคู่ครองอีกคน แม่สาวชาวอุดรรับฟังครั้งแรกก็ตกใจเป็นอันมาก แต่เมื่อใช้เวลานั่งคิดนอนคิดอยู่สองสามคืน เธอก็มาให้คำตอบแก่นายเลื่อนว่าเธอคงไม่ปฏิเสธและยินดีพลีกายมอบใจไปเป็นอนุภรรยาของท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งจอมพล ป. ก็เลี้ยงดูคำนึงนิตย์อย่างดี จนมีเสียงครหาว่าท่านจอมพลเอาเงินหลวงไปปลูกบ้านให้อนุภรรยา และเอารถยนต์หลวงไปให้เมียสาวใช้สอย ท่านนายกฯ ที่ถูกพาดพิงจึงตอบกลับว่า ทั้งบ้านที่คำนึงนิตย์อยู่อาศัยและรถยนต์ที่เธอขับล้วนแต่ซื้อด้วยเงินของเธอเอง

ในทัศนะของผม การที่จอมพล ป. มีเมียอีกคนเป็นหญิงสาวชาวอีสาน ไม่เพียงแต่เพื่อมุ่งกระชับความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับคณะทหารแห่งซอยราชครูหรือการผูกไมตรีเพื่อหวังผลประโยชน์กับกลุ่มนายทุนอย่างนายเลื่อนเท่านั้น (ซึ่งนายเลื่อนเองก็อยากพึ่งพาอาศัยอำนาจของท่านจอมพลมาเอื้ออำนวยในการดำเนินธุรกิจของเขา) หากน่าจะยังเป็นความพยายามแสวงหาฐานเสียงจากชาวอีสานหรือประชากรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มาสนับสนุนการเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของตนด้วย

ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2490 คงจะทราบดีว่า จอมพล ป. ไม่ค่อยมีฐานเสียงและแรงสนับสนุนมาจากทางภาคอีสานสักเท่าใด นั่นเพราะเป็นรัฐบาลมีความขัดแย้งกับทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวของชาวอีสานเรื่อยมา มิหนำซ้ำ ยังใช้ความรุนแรงในการกำราบปราบปราม ฉะนั้นการมีเมียเป็นสาวงามชาวอุดรธานี จึงอาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้ จอมพล ป. เข้าไปช่วงชิงฐานเสียงมาจากชาวอีสานให้สนับสนุนรัฐบาลของตนก็เป็นได้

ร่วมเรียงเคียงหมอนกับคำนึงนิตย์มาราวสามปี ล่วงเข้าปี พ.ศ. 2500 จอมพล ป. ก็มีบุตรชายกับเธอ ท่านผู้นำตั้งชื่อให้โดยนำเอาชื่อของผู้เป็นพ่อและแม่มาผสานเข้ากัน นั่นคือ ‘คณาพิบูล’ (แตกต่างจากในงานเขียนของหม่อมราชวงศ์ชนม์สวัสดิ์ ที่ระบุว่าชื่อ ‘ธนาพิบูล’)

ช่วงที่จอมพล ป. อยู่กินฉันท์ผัวเมียกับคำนึงนิตย์ ท่านผู้หญิงละเอียดหาได้เคยมาขัดขวางหรือแสดงความหึงหวง แม่สาวชาวอุดรเองก็ให้ความเคารพนับถือต่อท่านผู้หญิงภริยาหลวง

ความที่ครอบครองอำนาจล้นพ้น จอมพล ป. มีหรือจะคาดการณ์ว่าจอมพลสฤษดิ์ จะทำรัฐประหารยึดอำนาจในวันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จนเป็นเหตุให้อดีตท่านผู้นำต้องระหกระเหินลี้ภัยไปต่างประเทศ ตอนนั้น คำนึงนิตย์อกสั่นขวัญแขวนไม่เป็นอันได้หลับได้นอน เพราะเอาแต่ห่วงใยต่อท่านสามีว่าจะประสบเคราะห์กรรมอันใดบ้าง จวบจนทราบข่าวคราวเรื่องที่ จอมพล ป. ปลอดภัยแล้ว และได้เดินทางไปพำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เธอจึงรีบเขียนจดหมายติดต่อไปและเรียนว่าเธอปรารถนาที่จะไปพำนักอยู่ด้วยคอยปรนนิบัติและช่วยแบ่งเบาภาระ ท่านจอมพลตอบว่ายินดีให้ไปพบได้ เพราะตอนนั้น ท่านผู้หญิงละเอียด ซึ่งไปคอยดูแล จำเป็นจะต้องกลับคืนเมืองไทยเพื่อจัดการเรื่องทรัพย์สินต่างๆ ของท่านจอมพลให้เรียบร้อย

ครั้นตัดสินใจแน่แน่ว คำนึงนิตย์จัดแจงส่งบุตรชายไปอยู่ที่อุดรธานี ส่วนเธอโดยสารเครื่องบินเหินฟ้าสู่กรุงโตเกียว ครั้นไปถึงบ้านพักของท่านจอมพลในดินแดนแห่งดอกซากุระ ก็ได้เผชิญหน้ากับท่านผู้หญิงละเอียดที่กำลังจะเดินทางกลับเมืองไทยพอดี ภริยาหลวงเอ่ยปากว่า “เธอมาก็ดีแล้วจะได้ช่วยปรนนิบัติท่านจอมพล เพราะฉันจะต้องกลับไปจัดการธุระทางเมืองไทย แต่เมื่อเธอมา ฉันกลับเมืองไทย คงมีคนกล่าวหาว่าฉันหึงหวงเธออะไรทำนองนี้ แต่ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้

หนังสือพิมพ์หลายฉบับช่วงเวลานั้นลงข่าวเชิงล้อเลียนทำนองว่า ขนาดจอมพล ป. ลี้ภัยอยู่ต่างแดน เมียแต่ละคนก็ยังอุตส่าห์สับเปลี่ยนไปหาและไปดูแลปรนนิบัติ พอคำนึงนิตย์ไปญี่ปุ่น ละเอียดก็กลับมาเมืองไทย

ห้วงยามที่คำนึงนิตย์พำนักอยู่กับจอมพล ป. ในกรุงโตเกียว ถือเป็นช่วงเวลาอันแสนสุข ที่บ้านพักนั้นหาได้มีเพียงแค่สองผัวเมีย หากยังมีสิบตำรวจเอกนอบ ที่ติดตามท่านจอมพลไปจากเมืองไทย รวมถึงมีคนใช้ชาวญี่ปุ่นและมีกุ๊กที่ทำกับข้าวฝรั่งได้ อีกทั้งก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นมาคอยให้ความอารักขาอีกหนึ่งนาย

คำนึงนิตย์บอกเล่าให้จรูญ กุวานนท์  ฟังถึงความเป็นอยู่ของจอมพล ป. ว่า

“จอมพลสุขสบายดี มีสุขภาพสมบูรณ์กว่าเดิมมาก ตื่น 9 โมงเช้า รับประทานอาหาร 10 น. เสร็จแล้วดูหนังสือบ้าง ดูหนัง ดูละคร เล่นกอล์ฟบ้าง นอกจากนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนแรกๆ มีคนไทย ข้าราชการสถานทูต นักเรียนไทยไปเยี่ยมเสมอ ต่อมาจอมพลห้ามไม่ให้เยี่ยม เกรงจะเดือดร้อน ค่าใช้จ่ายได้จากเงินยศจอมพลและลูกๆ ส่งไปให้ แต่บางคราวจอมพลก็บ่นคิดถึงเมืองไทย และคราวใดที่เกิดอารมณ์คิดถึงบ้าน จอมพลมักจะปรารภว่าท่านเสียทีลูกน้องจึงไม่ขอกลับเมืองไทย ขณะนี้ จะไปเที่ยวต่างประเทศอีกหลายแห่ง ในตอนสุดท้ายจะไปบวชที่ประเทศอินเดีย”

สามีชราและภรรยาสาวมักจะขับรถออกไปเที่ยวกันเนืองๆ บางทีก็ไปรับประทานอาหารที่ร้านของคนไทย ท่านจอมพลมักจะชอบอ่านหนังสือพิมพ์ไทยทุกๆ ฉบับ

จอมพล ป. ใช้ชีวิตในโตเกียวโดยหลีกเลี่ยงการติดต่อคนไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ข้อครหาที่ว่าท่านจอมพลจะส่งสาวกมาปฏิบัติการใต้ดินในเมืองไทยนั้นน่าหัวเราะ เพราะไม่มีมูลความจริงเลยสักนิด ท่านจอมพลแทบจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ถึงบุคคลทางการเมืองไทย นอกจากนานๆ สักทีจะเอ่ยขึ้นมาบ้าง เฉกเช่นเคยพูดถึงจอมพลสฤษดิ์ ตอนที่ไปทำการผ่าตัดม้ามในสหรัฐอเมริกาด้วยความรู้สึกเป็นห่วงและเสียดายที่อายุยังไม่มาก แต่ต้องมาเผชิญโรคร้าย ก็เพราะจอมพลสฤษดิ์ดื่มเหล้ามาก จอมพล ป. เคยห้ามปรามเสมอๆ แต่จอมพลสฤษดิ์ไม่เชื่อ ส่วนที่มีข่าวจากนายจารุบุตร์ เรืองสุวรรณทำนองว่า พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ กับภรรยา ด่าทอจอมพล ป. เสียๆ หายๆ คำนึงนิตย์บอก “ดิฉันไม่เชื่อว่าจะเป็นไปตามนั้น คุณเผ่าและภรรยา คงไม่คิดประณามท่านแบบนี้เป็นแน่ เรื่องนี้อาจเป็นแผนการของใครสักคนหนึ่งก็ได้ โดยต้องการจะทำลายความนิยมที่พรรคพวกของคุณเผ่ามีต่อจอมพล” สำหรับท่านจอมพลแล้วยังคงชื่นชม พล.ต.อ. เผ่า ในฐานะผู้กตัญญูรู้คุณคนอยู่ตลอด

เมียสาวชาวอุดรของจอมพล ป. ส่งเสียงเล่าอีกว่า

“นอกจากอ่านหนังสือแล้ว จอมพลยังเป็นกสิกรรมจำเป็น คือชอบทำสวนครัวปลูกผักเป็นการแก้กลุ้มอีกด้วย และนอกจากนั้น จอมพลยังพยายามจะทำงานทุกอย่างเพื่อให้ลืมความว้าวุ่นในเมืองไทย บางครั้งเช่นเมื่อกลับจากดูภาพยนตร์แล้ว จอมพลยังพูดเสมอๆ ว่า เวลานี้ทางเมืองไทยเขาคิดว่าท่านจะกลับไปเล่นการเมืองอีก ทั้งๆ ที่ปฏิเสธเท่าใดก็ไม่มีใครเชื่อ ฉะนั้นเพื่อตัดปัญหาหวาดระแวงนี้ ท่านจึงคิดอยากจะเป็นดาราภาพยนตร์ดูบ้าง ท่านพูดว่าเล่นการเมืองมานานแล้ว ลองเล่นหนังดูบ้างก็จะดี”

จอมพล ป. มีปณิธานว่าถ้ารู้สึกเบื่อญี่ปุ่น อาจจะเดินทางไปพำนักในสหรัฐอเมริกา เพราะมีชาวอเมริกันซึ่งเคยชอบพอกันมาชักชวนให้ไปอยู่ด้วย ส่วนข่าวที่ว่าท่านจอมพลจะไปพำนักอยู่ในฝรั่งเศสนั้น เป็นไปไม่ได้

คำนึงนิตย์หวนกลับคืนสู่เมืองไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2501 แจ้งเหตุผลว่าบุตรสาวของจอมพล ป. คือจีรวัสส์และรัชนิบูล จะไปพำนักอยู่แทน อีกประมาณสองเดือน เธอจะตั้งใจเดินทางไปหาท่านจอมพลอีก โดยจะรวบรวมเงินจากการให้คนมาเช่าบ้านและขายรถยนต์เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายตอนอยู่ที่โตเกียว

ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2501 เมียสาวชาวอุดรก็ให้กำเนิดบุตรชายของจอมพล ป. อีกคนหนึ่ง

จอมพล ป. ถึงแก่อสัญกรรมกลางปี พ.ศ. 2507 ครองรักกับคำนึงนิตย์ มาได้ราวๆ สิบปี เป็นอันว่าความรักระหว่างอดีตท่านนายกรัฐมนตรีกับแม่สาวชาวอีสานต้องปิดฉากลง

คงมิพึงละเลยที่จะต้องเอ่ยถึงเรื่องราวชีวิตของ ‘นายเลื่อน บัวสุวรรณ’ เขาเป็นชาวสระบุรี ลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อปี พ.ศ. 2455 บุตรชายของนายซีตึ้งและนางบัว ช่วงวัยเยาว์เขาถูกส่งตัวไปเรียนหนังสือที่ประเทศจีน ณ ตำบลคูตึ้ง อำเภอโพ้งเส็ง มณฑลกวางตุ้งอันเป็นภูมิลำเนาเดิมของบิดา จวบจนเติบโตเป็นหนุ่มอายุ 18 ปี เกิดสงครามกลางเมืองในจีน นายเลื่อนจึงตัดสินใจหลีกภัยเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทย ไปขอพักอาศัยกับน้องชายคนที่ 2 ของบิดาซึ่งเปิดร้านค้าขายในจังหวัดนครราชสีมา ที่นั่นเขาสู้ชีวิตอย่างยากแค้นลำเค็ญ ทำงานสารพัด มิเว้นกระทั่งเป็นกุลีขนฟืนได้ค่าแรงเลี้ยงชีพเพียงวันละไม่กี่สตางค์ ขยันขันแข็งอยู่ 2 ปีก็ย้ายไปทำงานส่งข้าวของโรงสีกิมฮง ทำได้ไม่นานนักลาออกไปรับตำแหน่งผู้จัดการของโรงสีเม่งยู่เฮง และด้วยอัธยาศัยใจคอกว้างขวาง แม้จะอายุยังน้อยเพียง 24 ปี แต่ก็กลายเป็นที่รักของใครต่อใครในเมืองโคราช

นายเลื่อน บัวสุวรรณ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น นายเลื่อนย้ายตัวเองจากโรงสีเม่งยู่เฮงไปเป็นผู้จัดการประจำโรงสีเว่งเฮง สบโอกาสได้ประกอบภารกิจหลายประการ หลังสงครามโลกยุติลง นายเลื่อนก็ย้ายเข้ามาดำเนินธุรกิจในกรุงเทพมหานคร ค่อยๆ มีชื่อเสียงเลื่องลือในฐานะที่เป็นผู้เริ่มก่อตั้งสมาคมโรงสีไฟอิสาณ และตั้งบริษัทอีกหลายแห่ง ช่วงปี 2497 เขาได้ดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการธนาคารศรีอยุธยา อีกทั้งยังไปสนิทสนมกับคณะทหารแห่งซอยราชครู สามารถติดต่อกับจอมพลผิน ได้แบบเป็นกันเอง รวมถึงสามารถติดต่อใกล้ชิดกับจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีได้

ช่วงปลายปี 2498 นายเลื่อนยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการส่งคณะทูตใต้ดินเดินทางเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ เพื่อพบปะเจรจากับผู้นำของจีนตามความประสงค์ของจอมพล ป. สืบเนื่องจากในการประชุมที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผู้แทนรัฐบาลไทยคือ ‘พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์’ ได้สนทนากับ ‘โจวเอินไหล’ นายกรัฐมนตรีของจีน โดยทางจีนแสดงท่าทีอยากจะเป็นมิตรกับไทย ตอนนั้น รัฐบาลจอมพล ป. ที่เคยบริหารประเทศอยู่ภายใต้ร่มเงาของสหรัฐอเมริกาเรื่อยมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2490 เริ่มต้องการจะปรับเปลี่ยนท่าทีมามีสัมพันธไมตรีกับทางจีนบ้าง จอมพล ป. จึงตกลงใจที่จะส่งคณะผู้แทนของไทยเข้าไปในเมืองจีน แต่ก็เกรงว่าทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาจะขัดเคือง จึงต้องส่งคณะทูตไปอย่างลับๆ ขนาดที่ว่าทางครอบครับของผู้เป็นคณะทูตเองก็จะล่วงรู้ถึงภารกิจนี้มิได้

กล่าวกันว่า รัฐบาลจอมพล ป. จะดำเนินการอะไรก็ตาม จอมพลผินจะต้องรับทราบด้วย เมื่อจะส่งคณะทูตใต้ดินไปเมืองจีนก็จะต้องมีคนของจอมพลผินร่วมไปด้วย โดยคณะทูตที่จะเดินทางไปคราวนั้นมีจำนวน 4 คน เป็นคนของจอมพลผิน 2 คน คือ นายอัมพร สุวรรณบล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด และนายสอิ้ง มารังกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนคนของทางจอมพล ป. นั้น นายสังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษาคนสนิทของท่านจอมพลได้จัดหามาคือนายอารี ภิรมย์ ผู้เคยถูกรัฐบาลไทยจับกุมในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์เพราะมีความสัมพันธ์กับชาวจีนและมีความคิดไปทางฝ่ายซ้าย และนาย กรุณา กุศลาสัย หัวหน้าฝ่ายข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ เสถียรภาพ ซึ่งมีมิตรภาพกับชาวจีน

นายสังข์ วางแผนการจัดส่งคณะทูตใต้ดินไว้อย่างแนบเนียน โดยดึงตัวนายเลื่อน เข้ามาช่วยจัดการด้วยในด้านการติดต่อกับชาวจีนและการสนับสนุนเงินทุน ฉวยจังหวะตอนจอมพล ป. เดินทางไปเยือนพม่าตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีอูนุ ทำทีเป็นสร้างภาพตบตาว่านายสังข์ติดตามท่านจอมพลไปกรุงย่างกุ้ง แต่จริงๆ ได้ส่งตัวนายอารี และนายกรุณา ออกนอกเมืองไทยไปแบบเงียบๆ โดยจะต้องเดินทางไปฮ่องกงแล้วผ่านไปยังมาเก๊าที่ยังภายใต้การปกครองของรัฐบาลโปรตุเกส ก่อนจะนั่งรถยนต์เข้าเขตชายแดนทางมณฑลกวางตุ้งไปอีกครึ่งวันเพื่อไปสมทบกับคณะของนายอัมพรและนายสะอิ้งที่นครกวางโจว จากนั้นก็โดยสารเครื่องบินต่อไปยังกรุงปักกิ่ง

ต่อมา นายเลื่อนก่อตั้งบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ จำกัด ด้วยวัตถุประสงค์จะประกอบกิจการอุตสาหกรรม และดำรงตำแหน่งกรรมการและหัวหน้าคณะผู้อำนวยการบริษัท ในวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2499 นายเลื่อนไปปฏิบัติงานที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกบริเวณสนามบินช่วงเวลาราว 21.00 น. เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 45 ปี

ยังมีเรื่องเล่าอีกทำนองว่า ภายหลังนายเลื่อนเสียชีวิต คนผู้เคยมีหน้าที่เบิกเงินให้เขา ซึ่งบางทีได้เซ็นชื่อตนเองแทนเพื่อรับเงิน ต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้จากเงินที่นายเลื่อนเบิกไปใช้จ่ายแล้วจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

ความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับหญิงสาวชาวอุดรธานีนามคำนึงนิตย์ นับเป็นเรื่องราวสะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยไว้อย่างชวนขบคิด ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์เพศสภาพในสังคมไทย การที่ท่านจอมพลยอมเปิดเผยว่าตนเองมีอนุภรรยาหรือเมียน้อย (แม้บางครั้งจะใช้คำว่า “ผู้ที่รู้จักกันฐานเพื่อน” แต่มีลูกด้วย) ช่วงปลายทศวรรษ 2490 และต้นทศวรรษ 2500 นั้น อาจเป็นเพราะได้รับบทเรียนมาก่อนในช่วงทศวรรษ 2480 ซึ่งเคยพยายามปกปิดเรื่องสัมพันธ์สวาทกับผู้หญิงอื่นนอกจากภริยาหลวงให้เป็นเรื่องเร้นลับ เพราะเกรงจะถูกวิจารณ์ว่าเชิดชูนโยบายผัวเดียวเมียเดียวแต่กลับมีหลายเมียเสียเอง

ปัจจุบันเมื่อเอ่ยนามคำนึงนิตย์ ขึ้นมาเคียงคู่กับจอมพล ป. ผู้ฟังส่วนใหญ่น่าจะยังรู้สึกฉงนฉงาย หวังใจว่าข้อเขียนของผมคงจะชี้ชวนให้คุณผู้อ่านลิ้มลองอรรถรสอันไม่เคยคุ้นแต่ก็ค่อนข้างปริ่มเปรม

เอกสารอ้างอิง

กรุณา กุศลาสัย. คณะทูตใต้ดินสู่ปักกิ่ง เสี้ยวหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย-จีน. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2545.

แก็งกุลี, เอ. เอ็น.. รายงานการสำรวจแนวทางเพื่อส่งเสริมการปลูกปอในประเทศไทย. พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเลื่อน บัวสุวรรณ และนายชื้น อยู่ถาวร ณ  ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 23 พฤษภาคม 2499. พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐศิริ (แผนกการพิมพ์), 2499

จรุง ตุลยานนท์. การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมประเทศให้ก้าวไปสู่กิจการอุตสาหกรรม. พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเลื่อน บัวสุวรรณ และนายชื้น อยู่ถาวร ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 23 พฤษภาคม 2499. พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐศิริ, 2499

จรูญ กุวานนท์. ชีวิตรักของจอมพล ป. พิบูลสงคราม. พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐอักษร, 2502

ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุท, ม.ร.ว. ชีวประวัติและการต่อสู้ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม. พระนคร: ประมวลสาส์น, 2507

’รงค์ วงษ์สวรรค์. บูชาครูนักเลง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2538

อรสม สุทธิสาคร. ดอกไม้ของชาติ จากเวทีความงามสู่เวทีชีวิต อัลบั้มชีวิต 13 นางสาวไทยยุคแรก. กรุงเทพฯ : รวมทรรศน์, 2533

Rangsivek, Katja. “Between Polygyny and Monogamy: Marriages of the Political Elite and the Thai Regime of Images.” SOJOURN: Journal of Social Issues in Southeast Asia. 33,1 (March 2018), pp. 116–146. 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save