fbpx

ตายประชดป่าช้า American Fiction

จนถึงขณะนี้ หนัง 10 เรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เข้าฉายบ้านเราไปแล้วเกือบครบ ยกเว้นเพียง American Fiction ซึ่งมาเผยแพร่ทางสตรีมมิงใน prime video

American Fiction เข้าชิงออสการ์ 5 สาขา คือหนังเยี่ยม, ดารานำชาย (เจฟฟรีย์ ไรท์), ดาราสมทบชาย (สเตอร์ลิง เค. บราวน์), ดนตรีประกอบ และบทภาพยนตร์ดัดแปลง (จากนิยายเรื่อง Eraser ของเพอร์ซิวัล เอฟเวอเร็ตต์)

เทียบกับบรรดาคู่แข่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่แข็งแกร่งและอยู่ในระดับเขี้ยวลากดิน โอกาสเป็นผู้ชนะของ American Fiction ดูจะเป็นไปได้ยาก ประมาณว่าแค่ได้เข้าชิงก็สวยหรูแล้ว

อย่างไรก็ตาม สาขาที่มีลุ้นมากสุด (และได้รับรางวัลไปแล้วเรียบร้อย) คือบทภาพยนตร์ดัดแปลง เขียนโดยคอร์ด เจฟเฟอร์สัน ซึ่งรับหน้าที่ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ด้วย (American Fiction เป็นงานประเดิมกำกับหนังครั้งแรกของเขา)

คอร์ด เจฟเฟอร์สันเติบโตมาในสายคนเขียนบท (ส่วนใหญ่เป็นการเขียนบทซีรีส์) ผลงานเด่นๆ ก็เช่น ซีรีส์เรื่อง Master of None, The Good Place และ Watchmen

ผมไม่มีโอกาสอ่านนิยายที่เป็นต้นฉบับ แต่เท่าที่ดูจากหนัง ซึ่งดัดแปลงเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว เรื่องเดิมจะเป็นเช่นไรไม่อาจหยั่งทราบ แต่ผลรวมที่ปรากฏคือนี่เป็นหนังที่มีการเขียนบทและเล่าเรื่องได้อย่างชาญฉลาด

เรื่องราวทั้งหมดในหนังเล่าผ่านตัวละครจุดศูนย์กลาง เป็นหนุ่มใหญ่วัยกลางคนผิวดำชื่อเทโลเนียส เอลลิสัน แต่ทุกคนสะดวกปากที่จะเรียกเขาในชื่อเล่นว่า ‘มังค์’ มากกว่า (โดยมีเจตนาให้เชื่อมโยงไปถึง เทโลเนียส มังค์ นักเปียโนแจ๊สและนักแต่งเพลงระดับตำนาน)

‘มังค์’ มีอาชีพอาจารย์สอนวิชาวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย (ที่แอล.เอ.) และเป็นนักเขียนนิยายที่มีผลงานตีพิมพ์จำนวนหนึ่ง ทุกเรื่องล้วนได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ แต่ล้มเหลวสนิทในแง่ยอดขาย นิยายของมังค์ มักมีที่มาจากเทพปกรณัมคลาสสิก แต่ดัดแปลงให้เป็นเหตุการณ์ร่วมสมัย ตัวละครเต็มไปด้วยความซับซ้อน จัดอยู่ในข่ายงานเขียนที่ต้องปีนบันไดอ่าน และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผลงานของเขาไม่เป็นที่นิยม คือมันเป็นนิยายที่เขียนโดยคนดำ แต่ไม่ดำพอ

พูดง่ายๆ คือนิยายของมังค์ปลอดพ้นจากขนบคุ้นเคย และสิ่งที่ผู้อ่านคาดหวังเรียกร้องต้องการจากวรรณกรรมแนวแอฟริกัน-อเมริกัน เช่นว่าสภาพชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่เลวร้ายในถิ่นย่านเสื่อมโทรม การพัวพันกับยาเสพติด อาชญากรรม การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ในหนังใช้คำว่า Stereotype ขณะคำบรรยายไทยแปลว่า ‘เหมารวม’ เพื่อใช้อธิบายถึงสูตรสำเร็จทางวรรณกรรมต่างๆ ที่กล่าวมา)

โดยทัศนะส่วนตัว มังค์รังเกียจและไม่มีความสนใจต่อนิยายเกี่ยวกับคนดำที่วนเวียนซ้ำเดิมจนเฝือเหล่านี้ ตัวหนังแสดงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อยู่เป็นระยะว่ามังค์เป็นคนดำที่ทำตัว ‘ขาว’ ไม่ว่าจะเป็นสำเนียงการพูดจา หรือการคบหากับหญิงสาวผิวขาวหลายๆ คน (ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในหนัง แต่เล่าผ่านคำทักทายจากหลายตัวละครรายรอบ)

หนังเริ่มต้นด้วยพฤติกรรมของมังค์ในชั้นเรียน ซึ่งมักจะหงุดหงิดและระบายอารมณ์ใส่ลูกศิษย์ พูดจาแบบไม่สมควร (เช่น ถามลูกศิษย์คนหนึ่งที่เป็นชาวเยอรมัน ว่าในครอบครัวของเขามีใครเคยเป็นนาซีมาก่อนหรือเปล่า) ผลคือมังค์ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยจึงมีคำสั่งให้ลาพักหยุดสอนชั่วคราว ประกอบกับในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มังค์ได้รับเชิญไปร่วมเสวนาในเทศกาลหนังสือที่บอสตัน (ซึ่งมังค์ประกาศโพล่งออกมาทันทีว่า “ผมเกลียดบอสตัน ครอบครัวของผมอยู่ที่นั่น”)

การขึ้นเวทีเสวนาของมังค์จบลงอย่างเหงาหงอย ท่ามกลางผู้ฟังจำนวนโหรงเหรง ตรงข้ามกับอีกเวทีในเวลาใกล้เคียงกัน นักเขียนสาวหน้าใหม่ชื่อซินทารา โกลเดน เพิ่งมีผลงานเรื่องแรกที่ฮิตระดับขายดีถล่มทลายชื่อ We’s Lives in Da Ghetto ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านอย่างอบอุ่นเนืองแน่น และสิ่งที่ทำให้มังค์ยิ่งเจ็บปวดมากขึ้น คือนิยายเรื่อง We’s Lives in Da Ghetto เป็นงานเขียนที่มีองค์ประกอบทุกอย่างเข้าข่ายที่มังค์ปรามาสว่าเป็น ‘ขยะวรรณกรรม’

หลังงานเสวนาผ่านพ้น มังค์กลับไปพบปะสมาชิกครอบครัว ได้รับรู้ข่าวใหม่ (ที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว) ว่าลิซา ผู้เป็นพี่สาว หย่าร้างกับสามี ส่งผลให้การเงินฝืดเคือง ซ้ำยังมีภาระต้องดูแลแม่ที่เริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ (และไม่นานต่อมาก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าแม่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์)

บทสนทนาสั้นๆ ระหว่างมังค์กับลิซา ขณะเดินทางกลับบ้าน ทำให้ผู้ชมทราบว่ามังค์เหินห่างกับทุกคนในครอบครัว (ยกเว้นพ่อผู้ล่วงลับไปแล้ว) ปิดกั้นตนเองไม่ให้ทุกคนเข้าถึง และด้านที่ไม่น่ารักอย่างยิ่งของเขาก็คือความรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น ทั้งสติปัญญา ความสามารถ และรสนิยม มังค์จึงมักจะพูดจาข่มเหยียดคู่สนทนา ทั้งโดยเจตนาและอีกบ่อยครั้งที่พูดออกไปโดยไม่รู้ตัว

เรื่องขยับเคลื่อนสู่จุดพลิกผัน จู่ๆ ลิซาเกิดอาการหัวใจวายและเสียชีวิตอย่างกระทันหัน อาการป่วยของแม่ทรุดลง หนักหนาเกินกว่าคนในครอบครัวจะช่วยดูแล จำเป็นต้องส่งตัวไปอยู่สถานบำบัดพยาบาลเป็นการถาวร ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ ภาระหนักทั้งหมดโถมเข้าใส่มังค์ ขณะที่คลิฟฟ์น้องชายของเขา ซึ่งเดินทางมาร่วมงานศพพี่สาว ก็กำลังเผชิญวิกฤตหนักหลังจากเปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์ กระทั่งเลิกรากับภรรยา โดนลูกๆ โกรธและเกลียดชัง จมดิ่งกับการหันหน้าเข้าหายาเสพติด และฐานะการเงินย่ำแย่ยิ่งกว่าพี่ชาย

ท่ามกลางปัญหารุมเร้า ทั้งเหตุยุ่งยากส่วนตัว (ถูกพักงาน นิยายเล่มใหม่ที่เพิ่งเขียนเสร็จ โดนสำนักพิมพ์ตอบปฏิเสธ) และปัญหาครอบครัว (อาการป่วยของแม่ การเสียชีวิตของพี่สาว ชีวิตวายป่วงพังพินาศของน้องชาย รวมถึงการเริ่มต้นคบหากับแฟนสาวชื่อโครอลไลน์) ในค่ำคืนหนึ่ง มังค์ก็ลงมือเขียนนิยายเรื่อง My Pafology โดยใช้นามปากกาว่า สแต็กก์ อาร์. ลี (ชื่อนี้พาดพิงไปถึงเพลงพื้นบ้านที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆาตกรรมที่เมืองเซนต์หลุยส์ในปี 1895)

My Pafology เป็นงานที่ประกอบด้วยทุกสิ่งที่มังค์รังเกียจ ไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่องเมโลดรามา ความรุนแรงระหว่างแก๊งมิจฉาชีพ ความสัมพันธ์บาดหมางระหว่างลูกชายกับพ่อผู้ชั่วร้าย การใช้และค้ายาเสพติด โดยมีเจตนาตั้งใจจะเสียดสีประชดประชัน

มังค์ส่งนิยายเรื่อง My Pafology ไปให้อาร์เธอร์ เอเยนต์ของเขาอ่านโดยไม่ได้คาดหวังอะไร แต่ผลกลับตรงกันข้าม เมื่อตัวแทนของเขาลองส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์สองสามแห่ง และเกิดมีคนสนใจ ยื่นข้อเสนอขอซื้อลิขสิทธิ์ด้วยจำนวนเงินมหาศาล เป็นตัวเลขสูงชนิดที่มังค์ไม่เคยเจอะเจอมาก่อนในชีวิต

แรกเริ่มมังค์ปฏิเสธไม่ยอมขาย แต่ด้วยการหว่านล้อมหยิบยกเหตุผลต่างๆ นานาจากเอเยนต์ขึ้นมาโน้มน้าว บวกกับความจริงว่าตัวเขากำลังร้อนเงิน มีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมายรุมเร้า จึงกล้ำกลืนจำยอม พร้อมทั้งอุปโลกน์หาข้ออ้าง เพื่อปกปิดไม่ให้ใครล่วงรู้ว่าเขาเป็นคนเขียน ด้วยการกระจายข่าวว่า สแต็กก์ อาร์. ลี ผู้เขียนนิยายเรื่อง My Pafology เป็นนักโทษหนีคดี กำลังถูกตำรวจไล่ล่า จึงต้องใช้ชื่อปลอม และไม่อาจเปิดเผยตัวต่อสาธารณชน (ข้อมูลโกหกนี้ ยิ่งทำให้ทางฝ่ายสำนักพิมพ์ชอบอกชอบใจ เพราะสามารถใช้เป็น ‘จุดขาย’)

เท่านั้นยังไม่พอ ขณะกำลังตระเตรียมตีพิมพ์ ข่าวเกิดเล็ดลอดรั่วไหล ว่ากำลังจะมีนิยายเกี่ยวกับคนดำเขียนโดยนักโทษหนีคุก ส่อเค้าว่าจะเป็นงานฮิตระดับเบสต์เซลเลอร์ ผู้สร้างหนังรายหนึ่งก็รีบมาเจรจาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ (ด้วยมูลค่าราคาที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก)

เรื่องที่จะเล่าเกี่ยวกับ American Fiction สมควรหยุดแค่ตรงนี้นะครับ เหตุการณ์ที่เหลือคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกี่ยวข้องกับการเลยเถิดบานปลายไปไกลจนเกินควบคุม แต่เปิดเผยได้อีกอย่างว่าบทสรุปท้ายสุดของหนัง ‘เหนือชั้น’ ชนิดผู้ชมไม่มีทางเดาถูก

จุดเด่นแรกสุดของหนัง คือการเล่าเรื่องอันลื่นไหลชวนติดตาม ใช้บทสนทนาและสถานการณ์ง่ายๆ บอกกล่าวต่อผู้ชมแบบ ‘เล่าน้อย ได้ใจความเยอะ’ และที่โดดเด่นมากๆ คือ การรักษาโทน-อารมณ์โดยรวมของหนัง ซึ่งผสมผสานระหว่างอารมณ์ขัน ดรามา และรสขมขื่นเจ็บปวด เข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะ

อารมณ์โดยรวมของหนัง ควรต้องเปรียบกับอาหาร รสอ่อนนุ่มนวล ไม่จัดจ้านเข้มข้น ทั้งที่ตัวเรื่องเหตุการณ์นั้นเอื้อต่อการระดมสรรพเครื่องปรุงต่างๆ ชนิดจัดหนัก แต่หนังก็เลือกมาอีกทาง เพื่อเลี่ยงสิ่งที่เรียกกันว่าความ cliché ได้อย่างชาญฉลาด และเกิดผลในแง่ความลึกมีมิติ

ความยอดเยี่ยมถัดมา คือการตั้งคำถามอันแหลมคมต่อวรรณกรรมเกี่ยวกับคนดำที่เขียนโดยคนดำ ว่ากำลังเผชิญกำแพงข้อจำกัดเช่นไร และสิ่งใดคือหนทางคลี่คลายที่เหมาะสมสำหรับงานเขียนประเภทนี้ (หนังไม่ได้ให้คำตอบเด่นชัด แต่ปล่อยให้ตัวละครถกเถียงกัน โดยต่างก็มีเหตุผลที่น่ารับฟังทั้งสองฝ่าย ปล่อยให้ผู้ชมเลือกพิจารณาครุ่นคิดต่อตามอัธยาศัย)

และที่ครื้นเครงมากก็คือ ถ้อยสำเนียงเสียดสีเย้ยหยันกันอย่างเจ็บแสบ ทั้งรสนิยมของผู้อ่านวงกว้าง ซึ่งพึงใจต่องานเน้นดรามาอันตื้นเขิน, นักเขียนที่เน้นขาย ทำทุกอย่างตามกระแสนิยมอย่างไม่ลืมหูล้มตา โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าในทางศิลปะ, ภาวะอิหลักอิเหลื่อของศิลปิน (ซึ่งทำตัวอยู่บนหอคอยงาช้าง) เมื่อต้องกลืนเลือดกระทำในสิ่งที่ตนเองดูแคลน ความสนใจของผู้อ่านผิวขาวที่แห่แหนมาอ่านนิยายเกี่ยวกับคนดำ เพื่อชดเชยความรู้สึกผิด ฯลฯ

แง่มุมเสียดสีใน American Fiction น่าจะมีอีกเยอะ เท่าที่ไล่เรียงหยิบยกมาข้างต้น เป็นการจับสังเกตได้เพียงผิวเผิน จากการดูแค่ 2 รอบนะครับ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งซึ่งผมชอบมากเป็นพิเศษ นั่นคือความจริงและความสมจริง

พูดอีกแบบคือความโหลและดาษดื่นในนิยายคนดำที่มังค์ชิงชังรังเกียจ และรู้สึกว่าถูกนำเสนออย่างจอมปลอม ก็มีอีกตัวละครโต้แย้งว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในสังคมอเมริกัน (แม้กระทั่งในสมาชิกครอบครัวของมังค์ ก็มีแง่มุมทำนองนี้อยู่พอสมควร) หนังได้ทิ้งการบ้านให้ผู้ชมต้องคิดต่อ ว่าถ้าเช่นนั้นอะไรคือสิ่งแยกแยะวรรณกรรมคนดำบนพล็อตคุ้นเคยที่สะท้อนปัญหาสังคมอย่างความสมจริงออกจากงานตีกินฉาบฉวย

ที่สำคัญคือ American Fiction เป็นหนังที่บอกเล่านำเสนอดีและฉลาดมาเกือบตลอดทั้งเรื่อง แต่ราวๆ สิบห้านาทีสุดท้าย วิธีเล่าสรุปของหนัง ทำให้งานที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ยกระดับกลายเป็นล้ำเลิศ

เป็นวิธีจบเรื่องระดับหมัดน็อกนะครับ

อย่างแรกคือ จบเรื่องได้อย่างเด็ดขาด พาเรื่องราวที่มีโทนอารมณ์สม่ำเสมอเป็นทิศทางเดียวกัน ไปสู่ไคลแมกซ์ที่เข้มข้นได้อย่างแนบเนียน

ถัดมาคือ เกิดความลึก ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม รูปธรรมคือเหตุการณ์เกิดขึ้นและลงเอยเช่นไร ส่วนนามธรรมคือ อธิบายถึงความปรารถนาเบื้องลึกในใจหลายๆ อย่างของมังค์

ยิ่งไปกว่านั้น วิธีจบเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้หนังเรื่องนี้เข้าลักษณะของเรื่องเล่าหรือวรรณกรรมในแบบที่เรียกกันว่า meta fiction หรือเรื่องราวที่เล่าแสดงถึงเบื้องหลังและการก่อรูปเกิดร่างของตัวมันเอง

ตรงนี้ทำให้หนังโยงกลับไปสู่คำถามเกี่ยวกับเรื่องความจริงและความสมจริงอีกชั้นหนึ่ง ด้วยลีลาอันยอกย้อนและเหนือชั้น

ประการสุดท้าย วิธีจบเช่นนี้ยังทำให้หนังลงเอยแบบเปิดกว้างเกี่ยวกับความเป็นไปในชีวิตของมังค์ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ป่วยไข้ของแม่, ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับน้องชาย (ซึ่งตลอดเวลาในหนัง ดูเหมือนว่าทั้งคู่ต่างเริ่มทำความรู้จักอีกและพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายอย่างแท้จริง) จะคลี่คลายไปในทิศทางใด รวมถึงรอยร้าวบาดหมางระหว่างมังค์กับแฟนสาวโครอลไลน์จะคืบเคลื่อนไปสู่ทิศทางใด

ความฉลาดในการเขียนบทของ American Fiction นอกจากจะเล่าเรื่องที่ผมคิดว่า ‘ยาก’ เต็มไปด้วยประเด็นอันลึกและซับซ้อน ให้ดูง่าย เข้าใจง่าย และรื่นรมย์มีเสน่ห์เอามากๆ แล้ว ความน่าทึ่งอีกอย่างคือเหมือนเป็นหนัง 1 เรื่องที่มี 2 พล็อต เหตุการณ์แรกว่าด้วยศิลปินกับการทำงานศิลปะ อีกเหตุการณ์ เป็นหนังดรามาว่าด้วยชีวิตครอบครัว นั่นคือ ปัญหาความสัมพันธ์ของมังค์กับพ่อ แม่ พี่สาว น้องชาย และคนรัก

ขณะที่พล็อตแรก ว่าด้วยนักเขียนที่ผลิตผลงานบนพื้นฐานของการโกหกหลอกลวง จนเรื่องราวเฉไฉอยู่นอกเหนือการควบคุม และถลำลึกเกินกว่าจะถอนตัว จำต้องเล่นตามน้ำไปเรื่อยๆ และพบเจอความยุ่งเหยิงยากใจมากขึ้นตามลำดับ พล็อตตรงนี้เหมือนเหตุการณ์ภายนอก เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏสู่สายตา

เรื่องของมังค์กับปัญหาครอบครัว คือส่วนที่อยู่ใต้น้ำ เต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีต ซึ่งผู้ชมไม่ได้พบเห็นเหตุการณ์ แต่หนังก็เล่าเก่งมาก ผ่านบทสนทนาและรายละเอียดปลีกย่อยที่แทรกปนมากับพล็อตในย่อหน้าข้างต้น จนสามารถปะติดปะต่อเกิดเป็นภาพรวม (ซึ่งโดดเด่นและดีงามไม่แพ้พล็อตนักเขียนโกหก)

ความสัมพันธ์ของมังค์กับใครๆ หลายคนนั้น ถ้าพูดอย่างรวบรัดห้วนสั้น จุดเด่นสูงสุดอยู่ที่ว่าแสดงปัญหา ความล้มเหลวในอดีต การปรับตัวเข้าหากันในปัจจุบัน การเรียนรู้และเติบโตของตัวละคร (ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว มังค์เรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกจริง แต่ก็นิดเดียวเท่านั้นนะครับ) ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างสมจริงน่าเชื่อถือเอามากๆ

มีรายละเอียดหนึ่งที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษ นั่นคือการสร้างคู่ตัวละครพี่ชายกับน้องชาย มังค์กับคลิฟฟ์ ด้วยบุคลิกนิสัยที่แตกต่างกันมาก (เจฟฟรีย์ ไรท์ และสเตอร์ลิง เค. บราวน์ เล่นได้น่าประทับใจทั้งคู่) ปัญหาชีวิตของทั้งสองหนักหนาสาหัสไปคนละแบบ แต่ต้นตอสาเหตุกลับตรงกันข้าม

มังค์มีปัญหาเพราะทำตัวเป็นคนที่ใครต่อใครยากจะเข้าใจ มีโลกส่วนตัว ปิดกั้นความรักจากผู้อื่น คลิฟฟ์ผู้เป็นน้องชาย กลับมีปัญหาเมื่อพยายามเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง จนทำให้เขาเผชิญกับ ‘การยอมรับ’ และแสวงหาความเข้าอกเข้าใจจากคนรอบข้าง

ฉากน้องชายพูดเปิดใจ เพื่อให้พี่ชายทำสิ่งเดียวกันบ้าง สำหรับผม นับเป็นฉากหนึ่งที่น่าประทับใจมาก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save