fbpx

ควบรวม AIS + 3BB ระยะสั้นมาตรการยังรับมือได้แต่ระยะยาวจะไหวหรือไม่?

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เสียงข้างมากมีมติอนุญาตให้ บริษัท​ แอดวานซ์​​ เน็ตเวิร์ค​ อินโฟร์ เซอร์วิส​ จำกัด​ หรือ AWN บริษัทลูกของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เข้าซื้อหุ้นบริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ทำให้ AIS มีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการ 3BB

ท่ามกลางข้อกังวลที่ต่อเนื่องจากการควบรวมกิจการในตลาดผู้ให้บริการมือถือ กสทช. ได้ประกาศมาตรการทั้งหมด 22 ข้อ เพื่อกำกับดูแลการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมและคุ้มครองผู้บริโภค ครอบคลุมทั้งเรื่องค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ การสนับสนุนผู้ให้บริการรายย่อย และการติดตามผลการดำเนินธุรกิจ[1]

คำถามต่อมาคือมาตรการทั้ง 22 ข้อของ กสทช. พร้อมรับมือกับผลกระทบของการควบรวม AIS กับ 3BB หรือไม่? 101 PUB เชิญผู้อ่านสำรวจผลกระทบของการควบรวม AIS กับ 3BB ต่อสภาพการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้าน ความเสี่ยงของตลาดโทรคมนาคมในอนาคต และประเมินมาตรการกำกับดูแลของ กสทช.

ผู้ให้บริการเน็ตบ้านเหลือ 3 รายหลักหลังควบรวม

ก่อนการควบรวม ผู้ให้บริการหลักในอินเทอร์เน็ตบ้านมีทั้งหมด 4 รายคือ บริษัท บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TICC บริษัทลูกของ TRUE (ต่อไปนี้เรียกว่า TRUE) มีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 37.6%, บริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB (ต่อไปนี้เรียกว่า 3BB) มีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 28.0%, บริษัท​ แอดวานซ์​​ เน็ตเวิร์ค​ อินโฟร์ เซอร์วิส​ จำกัด​ หรือ AWN (ต่อไปนี้เรียกว่า AIS) มีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 16.4% และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT มีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 15.5%[2] ทั้งนี้พื้นที่ให้บริการของ 3BB ครอบคลุมทั้งพื้นที่ชนบทและเมือง ส่วน AIS มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมเขตเมืองเป็นหลัก จึงต้องการขยายพื้นที่ให้บริการไปชนบทด้วย

หลังควบรวม ส่วนแบ่งตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านของ AIS เพิ่มขึ้นเป็น 44.4% ทำให้ AIS กลายเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านรายใหญ่ที่สุดตามจำนวนผู้ใช้งาน (ภาพที่ 1) และสามารถให้บริการในพื้นที่ชนบทได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การกระจุกตัวของตลาด (HHI: Herfindahl–Hirschman index) เพิ่มขึ้นจาก 2,712 หน่วย เป็น 3,629 หน่วย (เพิ่ม 917 หน่วย หรือ 33.8%) ซึ่งถือเป็นตลาดที่กระจุกตัวสูง

ภาพที่ 1

ผลกระทบต่อผู้บริโภคขึ้นกับการแข่งขันในพื้นที่

เมื่อตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านมีการการแข่งขันน้อยลง ผู้ให้บริการหลักในตลาดจะมี “อำนาจเหนือตลาด” เพิ่มมากขึ้น งานศึกษาของ กสทช.[3] ประเมินผลกระทบด้วยการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้บริการต่างๆ ในตลาดโทรคมนาคมจำนวน 6,484 ราย โดยควบคุมปัจจัยเชิงประชากร รายได้เฉลี่ยแต่ละจังหวัด จำนวนครัวเรือน สัดส่วนสินค้าต่อสินค้าภายในกลุ่มเดียวกัน และความเร็วดาวน์โหลดเฉลี่ย พบว่าหากผู้ให้บริการไม่ฮั้วกันเลยทั้งก่อนควบรวมและหลังควบรวม จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5% หากผู้ให้บริการมีความร่วมมือกันกำหนดราคาอยู่บ้าง[4] จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5% และกรณีที่ผู้ให้บริการฮั้วกันทั้งก่อน/หลังควบรวม แต่เปลี่ยนจากการร่วมมือกันกำหนดราคาแบบซ่อนเร้น เป็นการวางแผนการให้ปริมาณและค่าบริการร่วมกันจนเสมือนเป็นผู้ให้บริการรายเดียวกัน หรือ Cartel จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.5%

ส่วนงานศึกษาของ 101 PUB[5] ใช้ข้อมูลระดับตลาดที่ประกอบด้วย ดัชนี HHI ต้นทุนส่วนเพิ่มในการให้บริการ รายได้ต่อหัวของประเทศไทย จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้าน และอัตราการใช้เทคโนโลยีไฟเบอร์ของประเทศไทย ทั้งหมด 23 ไตรมาส (ต้นปี 2016 ถึงไตรมาส 3 ปี 2021)[6] โดยประเมินว่าในพื้นที่ที่ AIS และ 3BB ให้บริการ และมีคู่แข่งน้อยหรือไม่มีเลยจะรับผลกระทบมากที่สุด เพราะพื้นที่นั้นจะมีการแข่งขันลดลงโดยรายอื่นไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ทัน ส่งผลให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นประมาณ 9.5 – 22.9% ส่วนพื้นที่อื่นที่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายราย กับพื้นที่ที่ AIS หรือ 3BB ให้บริการเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง การควบรวมอาจไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

แม้ว่างานศึกษาของทั้ง 2 หน่วยงานจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเนื่องจากข้อมูลและวิธีวิจัยที่ต่างกัน แต่จุดร่วมของทั้ง 2 งานศึกษาคือ การควบรวมส่งผลต่อผู้บริโภคจริงในบางกรณี/บางพื้นที่เท่านั้น

อนาคตตลาดโทรคมนาคมน่าเป็นห่วง
เพราะรายเล็กจะแข่งขันได้ยาก

เนื่องจาก TRUE และ AIS เป็นผู้ให้บริการหลักในตลาดมือถือ ทำให้สามารถขายแพ็กเกจพ่วงมือถือกับอินเทอร์เน็ตบ้านได้ ส่งผลให้ทั้งคู่มีข้อได้เปรียบในการให้บริการเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น โดยเฉพาะผู้ให้บริการหลักอย่าง NT ที่มีส่วนแบ่งในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านลดลงอย่างรวดเร็วจาก 34.8% ในปี 2011 เหลือ 15.5% ในปี 2022 (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2: ส่วนแบ่งตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านของ NT ปี 2011 – 2022
ที่มา: รายงานการรวมธุรกิจและสภาพตลาดโทรคมนาคม, รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม, และรายงานดัชนีชี้วัดใน กิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย ประจำปี 2563 – 2564 กสทช. รวบรวมโดย 101 PUB

หลังการควบรวมในระยะสั้น ตลาดอาจมีการแข่งขันกันรุนแรงขึ้นในการพ่วงบริการ โดย TRUE และ AIS อาจแข่งกันลดราคาแพ็กเกจพ่วงมือถือกับอินเทอร์เน็ตบ้าน เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้บริการต่างๆ ในตลาดโทรคมนาคม เข้าสู่ระบบนิเวศธุรกิจของตน (Ecosystem) ซึ่งนัยหนึ่งก็คือการทำให้ต้นทุนการย้ายค่าย (switching cost) ของผู้บริโภคสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยลดการแข่งขันในตลาดที่มีผู้ให้บริการน้อยรายที่สำคัญ ในอีกนัยหนึ่ง ผู้ให้บริการรายอื่นในตลาดโทรคมนาคม อาทิ NT ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายย่อย ตลอดจน MVNO (Mobile Virtual Network Operators: การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน) ที่ กสทช. ต้องการให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในตลาดบริการโทรศัพท์มือถือ จะเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น ทำให้ในระยะยาวผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลักอาจเหลือเพียง 2 รายหลักเช่นเดียวกันกับตลาดบริการโทรศัพท์มือถือ[7]

ความเสี่ยงดังกล่าวตรวจจับโดยแบบจำลองทางสถิติและเศรษฐมิติได้ยาก เนื่องจากในการคำนวณมักจะมองแต่ละตลาดแยกจากกันและการเติมปัจจัยเชื่อมโยงเช่นนี้ต้องอาศัยสมมติฐานค่อนข้างมาก ดังนั้นหากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านระยะยาวเหลือเพียง 2 รายใหญ่จริง ผลกระทบต่อผู้บริโภคจะสูงกว่าที่ กสทช. และ 101 PUB ประเมินไว้

มาตรการ กสทช. ยังเข้มข้นได้มากขึ้น
เพื่อลดความกังวลของสังคม

มาตรการทั้ง 22 ข้อของ กสทช. มีความเหมาะสมในการกำกับดูแลตลาดอินเทอร์เน็ตในระยะสั้น แต่ในระยะยาว กสทช. ควรใช้มาตรการที่เข้มข้นมากกว่านี้ ดังนั้น 101 PUB จึงมีข้อเสนอในการยกระดับการกำกับดูแลของ กสทช. ดังต่อไปนี้

  1. หลังควบรวม แต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงที่ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจะผูกขาดแตกต่างกัน มาตรการกำกับดูแลแบบเหมารวมทุกพื้นที่จึงไม่เหมาะสม แม้ กสทช. จะตระหนักว่าแต่ละพื้นที่มีระดับการแข่งขันที่แตกต่างกัน แต่ก็มีเพียงมาตรการที่คุ้มครองรายย่อยให้สามารถเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานของผู้ให้บริการหลักโดยไม่ถูกกีดกันเท่านั้น แม้ผู้ให้บริการรายย่อยจะสามารถเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานได้ ก็ไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่นั้นจะมีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ ดังนั้น กสทช. ควรรวบรวมข้อมูลและทำแผนที่การให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน เพื่อช่วยให้ กสทช. สามารถประเมินสถานการณ์การแข่งขันแต่ละพื้นที่ และออกมาตรการรายพื้นที่ได้แม่นยำมากขึ้น ตัวอย่าง เช่น ผู้กำกับดูแลตลาดโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกาอย่าง Federal Communications Commission (FCC) ที่จัดทำ FCC National Broadband Map (ภาพที่ 3)
  2. กสทช. ติดตามผลกระทบของการควบรวมเฉพาะ 5 ปีแรกเท่านั้น ด้วยการให้ผู้ให้บริการรายงานผลประกอบธุรกิจภายใต้มาตรการที่ได้รับจาก กสทช. หลังจากนั้นผู้ให้บริการจะรายงานผลประกอบธุรกิจหรือไม่ ขึ้นกับการตัดสินใจของ กสทช. ในชุดถัดไป เพราะ กสทช. ชุดปัจจุบันเริ่มหมดวาระในอีกประมาณ 4 ปีครึ่ง[8] แต่จากแนวโน้มตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านหลังควบรวมน่าเป็นห่วงในระยะยาวโดยเฉพาะผลกระทบจากการขายพ่วงบริการมือถือกับอินเทอร์เน็ตบ้าน กสทช. จึงควรติดตามผลกระทบการควบรวมระยะยาวด้วย
  3. แม้ กสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีบริการแยก และต้องแสดงค่าบริการทั้งแบบแพ็กเกจพ่วงบริการมือถือกับอินเทอร์เน็ตบ้านกับบริการแยกให้ชัดเจน แต่หาก กสทช. หยุดกำกับดูแลอัตราค่าบริการ ผู้ให้บริการอาจเพิ่มราคาบริการแยกในภายหลัง เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภครายใหม่หรือรายเดิมซื้อแพ็กเกจพ่วง แม้การซื้อแพ็กเกจพ่วงจะไม่ใช่ทางเลือกที่ผู้บริโภคพึงพอใจที่สุดก็ตาม
ภาพที่ 3: FCC National Broadband Map
ที่มา: Federal Communications Commission

References
1 “ห้ามขึ้นราคา-ลดคุณภาพ! มติ 4:1 กสทช.อนุญาตรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AIS-3BB กำหนด 22 มาตรการเฉพาะ”, สำนักข่าวอิศรา. พฤศจิกายน 10, 2023.
2 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, (2023), รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ประจำปี 2565.
3 อ้างแล้ว. เชิงอรรถที่ 1.
4 Tacit Collusion: ผู้ให้บริการไม่ได้ฮั้วกันอย่างเปิดเผยแต่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อขึ้นราคาจากระดับที่มีการแข่งขันแล้วทุกคนต้องการรักษาระดับราคานั้นไว้
5 ฉัตร คำแสง และกษิดิ์เดช คำพุช, (2023), ประเมินการควบรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB: ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านอาจผูกขาด เพราะการควบรวมในตลาดมือถือ. หน้า 5 – 7.
6 ข้อมูลในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านมีค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับตลาดโทรคมนาคม โดยเฉพาะการที่ผู้ให้บริการไม่ได้แยกรายงานการเงินเฉพาะของบริการอินเทอร์เน็ตบ้าน ทำให้ประมาณการต้นทุนการดำเนินงานได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
7 อ้างแล้ว, หน้า 10 – 11.
8 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

MOST READ

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

101PUB

2 Mar 2023

‘บัตรคนจน’ ที่คนจนจริงครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึง: 5 ปี นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

101 PUB สำรวจ 5 ปี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่าเข้าไม่ถึงคนจนราวครึ่งหนึ่ง แถมรั่วไหลสู่ผู้ไม่เข้าเกณฑ์ งบที่ใช้ไป 2.8 แสนล้านบาทจึงไม่เข้าเป้า

ฉัตร คำแสง

2 Mar 2023

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save