fbpx
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

‘บัตรคนจน’ ที่คนจนจริงครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึง: 5 ปี นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือที่เรียกชื่อเล่นกันว่า ‘บัตรคนจน’ หรือ ‘บัตรประชารัฐ’ เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การออกแบบเครื่องมือนี้ ถือเป็นนวัตกรรมสวัสดิการของประเทศไทย ที่พยายามโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย โอนเงินอุดหนุนตรงแก่ผู้ที่ผ่านการคัดกรอง และสามารถติดตามดูพัฒนาการได้

นับตั้งแต่การโอนเงินเข้าบัตรครั้งแรกเดือนตุลาคม 2017 โครงการดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 5 ปี ใช้งบประมาณไป 2.8 แสนล้านบาทแล้ว ทว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ยังไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้มากนัก แม้จะมีการให้บัตรไปมากกว่า 14 ล้านใบ แต่มีผู้ยากจนได้รับบัตรราว 3 ล้านคนเท่านั้น ส่วนผู้ยากจนอีกราว 2.7 ล้านคนไม่ได้รับ ถือเป็นการตกหล่นราวครึ่งต่อครึ่ง ทั้งยังมีการรั่วไหลสู่มือของผู้ที่ไม่ได้เข้าเกณฑ์ ซึ่งรวมกระทั่งครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 20% แรกของครัวเรือนทั้งหมด

ในวันที่พรรคการเมืองเสนอให้มีการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยที่ไม่พูดถึงการปรับปรุงระบบดังกล่าว 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) จึงขอชวนย้อนดูนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เทียบความตั้งใจเป็นนวัตกรรมสวัสดิการกับการปฏิบัติจริง

ฝันใหญ่ถึง ‘นวัตกรรม’ การบริหารข้อมูลผู้มีรายได้น้อย

ก่อนที่จะมาเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลได้เริ่มเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและยากจนในปี 2016 ซึ่งเป็นความพยายามระบุตัวตนผู้มีรายได้น้อยโดยตรงเป็นครั้งแรก ในปีนั้น รัฐบาลได้โอนเงินก้อนจำนวน 3,000 บาท ให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/คน/ปี (ซึ่งอิงจากเส้นความยากจน) และ 1,500 บาท สำหรับผู้มีรายได้ 30,001-100,000 บาท/คน/ปี (เกณฑ์ที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้น) ณ เวลานั้นมีผู้ได้รับเงินจำนวน 7.7 ล้านคน

ในปีถัดมา รัฐบาลจัดทำ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเปลี่ยนจากการให้เงินโอนก้อนเดียว เป็นการให้เงินรายเดือน โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยให้เงินช่วยเหลือค่าอุปโภคบริโภค 300 บาท/เดือนแก่ผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/คน/ปี และให้เงินช่วยเหลือ 200 บาท/เดือนแก่ผู้มีรายได้ 30,001-100,000 บาท/คน/ปี นอกจากนี้ ผู้ถือบัตรทุกรายยังได้รับวงเงินอุดหนุนค่าก๊าซหุงต้ม 15 บาท/เดือน และค่าเดินทาง 500 บาท/เดือน เงินช่วยเหลือดังกล่าวเริ่มใช้จ่ายได้จริงเมื่อเดือนตุลาคม 2017

นอกจากการโอนเงินตรงแล้ว การทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังมีเป้าหมายในการสร้างฐานข้อมูลที่สามารถระบุและติดตามตัวผู้มีรายได้น้อย ถือเป็นนวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลสำหรับภาครัฐ ด้วยการกลั่นกรองข้อมูลร่วมกับหน่วยงานอื่น:

  • เกณฑ์รายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี ซึ่งพยายามตรวจสอบร่วมกับกรมสรรพากร และกระทรวงแรงงาน
  • เกณฑ์ทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 100,000 บาท/คน ซึ่งพยายามตรวจสอบร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ
  • เกณฑ์อสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 1 ไร่ ถ้าเป็นที่อยู่อาศัย และไม่เกิน 10 ไร่หากทำการเกษตร ซึ่งทำการตรวจสอบร่วมกับกรมที่ดิน

ในทีแรก รัฐบาลยังตั้งเป้าให้โครงการมีลักษณะเป็นเงินโอนอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer) โดยผสมผสานเงินช่วยเหลือดังกล่าวเข้ากับการช่วยจัดหางานให้ทำ ฝึกอบรมทักษะอาชีพ (เช่น หลักสูตรช่างชุมชน) การจัดหาพื้นที่ค้าขาย ตลอดจนการจูงใจภาคเอกชนให้รับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าทำงาน ผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี

ด้วยลักษณะความเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้ถือบัตร ซึ่งนำไปประเมินผลกระทบด้านสวัสดิภาพได้ และยังสามารถสอบทานรายได้ เมื่อพวกเขาทำงานกับบริษัทเอกชนและมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ถือบัตร[1]

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 มาตรการเฟส 1 และ 2
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ในการเปิดลงทะเบียนของปี 2022 รัฐบาลยังเพิ่มเกณฑ์คัดกรองจากตอนแรก อาทิ วงเงินกู้บ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท วงเงินกู้ยานพาหนะไม่เกิน 1 ล้านบาท และต้องเป็นผู้ไม่มีบัตรเครดิต นอกจากนี้ยังเพิ่มข้อกำหนดด้านอาชีพ ที่ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่เป็นพระหรือนักบวช ผู้ต้องขัง บุคคลในสถานสงเคราะห์ กำลังคนภาครัฐ ผู้รับบำเหน็จ/บำนาญข้าราชการ ตลอดจนข้าราชการการเมือง สุดท้าย การตรวจสอบเกณฑ์รายได้และทรัพย์สินจะเริ่มตรวจสอบทั้งข้อมูลของผู้ลงทะเบียนและครอบครัวเป็นครั้งแรกด้วย

แม้ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีหน้าที่และศักยภาพในหลายด้าน แต่หน้าที่หลักในทางปฏิบัติคือการเป็นเครื่องมือระบุตัวผู้ที่รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขในการจ้างงานหรือพัฒนาทักษะอาชีพ รวมถึงขีดความสามารถในการเชื่อมโยงตรวจสอบกับฐานข้อมูลอื่นมากนัก

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านใบ มากกว่าคนจน 3 เท่า

สถานการณ์ความยากจนของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในช่วง 34 ปีที่มีการเก็บข้อมูล สัดส่วนผู้มีรายจ่ายต่อหัวน้อยกว่าเส้นความยากจน ลดจาก 65.2% ของประชากรเมื่อปี 1988 เหลือเพียง 6.3% ในปี 2021 โดยเป็นการลดลงเร็วในช่วง 2 ทศวรรษแรก แต่ในช่วงหลังสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าเดิม และยังคงมีผู้ยากจนเหลืออยู่ประมาณ 4.4 ล้านคน[2]

เส้นความยากจน สัดส่วนคนจน และจำนวนคนจน
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีผู้ลงทะเบียนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราว 14 ล้านคนในปี 2017 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านคนในการลงทะเบียนรอบล่าสุด แต่หลังจากขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว ผู้ได้รับบัตรยังค่อนข้างคงที่ในระดับ 13-14 ล้านคนมาโดยตลอด มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2023 ได้รายงานว่ามีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐล่าสุด 14,596,820 ราย[3]

ยอดผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่คิดเป็น 3 เท่าของจำนวนผู้ยากจน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเกณฑ์การรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่ได้ต้องการช่วยเฉพาะกลุ่มคนยากจน แต่ต้องการช่วยกลุ่มคน ‘เกือบจน’ ด้วย เพราะตั้งเพดานรายได้ไว้ที่ 100,000 บาท/คน/ปี ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของเกณฑ์ความยากจน หากคิดจากฐานรายได้ดังกล่าวถือว่าตั้งเป้าช่วยเหลือผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปถึง 30% ของสังคม

จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือการตั้งเป้าหมายของรัฐบาลที่มีตัวชี้วัดในการเพิ่มจำนวนผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2022 คณะรัฐมนตรีกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งรายเดิมและรายใหม่ รวมกันถึง 20 ล้านคน[4]

นอกจากนี้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังตั้งคำถามถึงการตัดสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนจำนวนมาก โดยมองว่าระบบมีความโปร่งใสเกินไป

ผมว่า ระบบมันโปร่งใสเกินไปนะ โปร่งใสเสียจนตัดคนไปมากขนาดนี้ เราต้องอธิบายผู้ถูกตัดสิทธิให้ได้ ว่าโดนตัดสิทธิเพราะอะไร

สันติ พร้อมพัฒน์, รายงานใน Thai PBS[5]

5 ปี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จ่ายเงินไปแล้ว 281,704 ล้านบาท

นับตั้งแต่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นต้นมา รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการแห่งรัฐรวม 281,704 ล้านบาท ตามรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยมีรายจ่ายเฉลี่ย 56,340 ล้านบาทต่อปีงบประมาณ

ในปีงบประมาณ 2019 กองทุนฯ มีค่าใช้จ่าย 93,155 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการดำเนินการ และในปีงบประมาณ 2023 กองทุนฯ ก็ตั้งประมาณการค่าใช้จ่ายสวัสดิการสูงอีกรอบหนึ่ง ที่ 98,762 ล้านบาท น่าสังเกตว่าปีที่ค่าใช้จ่ายสวัสดิการสูงจะตรงกับวัฏจักรการเลือกตั้งระดับชาติพอดี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแก่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐน้อยกว่าค่าใช้จ่าย เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ 222,104 ล้านบาท น้อยกว่าค่าใช้จ่ายจริงเกือบ 6 หมื่นล้านบาท งบประมาณที่จัดสรรให้นี้มักจะมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลง สวนทางกับการใช้จ่าย โดยเฉพาะในปี 2019 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มกว่าเดิมอย่างก้าวกระโดด และในปี 2022 ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างคงที่ แต่ให้งบประมาณน้อยลงกว่าเดิมอย่างมาก

ที่จริงแล้ว หากนำตัวเลขผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.2 ล้านคนมาคำนวณค่าใช้จ่ายสวัสดิการ ‘ขั้นต่ำ’ จะพบว่าต้องใช้งบประมาณประจำปีอย่างน้อย 40,000 ล้านบาท สูงกว่างบประมาณที่ให้ไว้เพียง 30,000 ล้านบาท

เพื่อปิดช่องว่างทางรายได้ คณะรัฐมนตรีใช้วิธีอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐออกจากงบกลาง ซึ่งถือเป็นการรวบอำนาจการบริหารงบประมาณไว้กับคณะรัฐมนตรี เนื่องจากไม่พยายามจัดสรรงบประมาณตามปกติที่มีส่วนร่วมจากสภามากกว่า ทั้งที่เป็นงบประมาณที่คาดการณ์ได้

ในปี 2023 รัฐบาลยังตั้งงบประมาณไว้เพียง 35,515 ล้านบาท น้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่ประมาณการไว้ถึง 6 หมื่นล้านบาทในปีเดียว กองทุนฯ รายงานว่า หากไม่มีการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม จะทำให้สถานะกองทุนจากที่เคยเป็นบวกอยู่ 15,479 ล้านบาท จะพลิกมาขาดทุน 47,876 ล้านบาทในปีเดียว

นอกจากนี้ ในช่วงการเลือกตั้งนี้ได้เริ่มมีพรรคการเมืองเสนอนโยบายเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม พรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้หาเสียงว่าจะเพิ่มวงเงินเป็น 700 บาท/เดือน[6] และพรรครวมไทยสร้างชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอว่าจะเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเป็น 1,000 บาท/เดือน[7] ถ้าหากทำตามนโยบายดังกล่าวจริง ค่าใช้จ่ายสวัสดิการแห่งรัฐจะเพิ่มขึ้นเป็น 130,000 – 180,000 ล้านบาท/ปี

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังรั่วไหล + ไม่เข้าเป้า คนจนจริงราวครึ่งหนึ่งไม่ได้รับ

หากการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนมากถึง 14.6 ล้านใบสามารถโอบอุ้มครอบคลุมกลุ่มผู้ยากจนทั้งหมดของสังคมได้ ก็ยังถือว่านโยบายมีความสามารถในการช่วยเหลือผู้ยากจน อย่างไรก็ตาม การระบุตัวตนและมุ่งเป้า (targeting) เป็นความท้าทายทางเทคนิคขนานใหญ่ของการดำเนินนโยบายสวัสดิการทุกประเภท

แม้จะมีความพยายามเก็บข้อมูลและคัดกรองคุณสมบัติมาตลอด 5 ปี แต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังมีปัญหาการรั่วไหล และไม่เข้าเป้าอยู่มาก หากพูดในภาษาอย่างง่ายคือ ‘คนจนไม่จด คนจดไม่จน’[8]

101 PUB นำข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน 2021 มาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการคัดครองหากพิจารณาตามเกณฑ์การรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ[9] พบว่ามีผู้เข้าข่ายและได้รับบัตรราว 11.3 ล้านคน ขณะที่มีผู้ที่เข้าข่ายแต่ไม่ได้รับบัตรราว 15.2 ล้านคน ในอีกทางหนึ่ง มีผู้ที่ไม่เข้าข่ายแต่ได้รับบัตรราว 2.8 ล้านคน และมีผู้ที่ไม่เข้าข่ายและไม่ได้รับบัตร 17.8 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวหมายความว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีการรั่วไหลไปสู่ผู้ไม่เข้าข่ายราว 20% และมี 57% ของผู้เข้าข่ายที่ไม่ได้รับบัตร

นอกจากนี้ 101 PUB ยังประเมินผลการจัดสรรเทียบกับเกณฑ์ความยากจน[10] เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนโยบาย พบว่า มีผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปและยากจน (ซึ่งไม่นับรายได้จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) อยู่ราว 5.8 ล้านคน โดย 3.1 ล้านคนได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ขณะที่ผู้ยากจนอีก 2.7 ล้านบาทไม่ได้รับบัตร ในอีกด้านหนึ่ง มีผู้ไม่ยากจน 11.1 ล้านคนได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีผู้ที่ไม่ยากจนและไม่ได้รับบัตร 30.4 ล้านคน

ข้อมูลข้างต้นหมายความว่า 78% ของผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่ผู้ยากจน และ 46% ของผู้ยากจนยังไม่ได้รับบัตร ซึ่งถือเป็นการรั่วไหลและไม่เข้าเป้าอย่างมากสำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก นอกจากนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านใบนี้ช่วยให้มีผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป พ้นจากเส้นความยากจนได้ราว 2.5 ล้านคน และยังคงยากจนอยู่อีกราว 3.3 ล้านคน

ตัวเลขดังกล่าวมีทิศทางสอดคล้องกับข้อมูลการประเมินของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งพบสัดส่วนคนจนเพียง 49.7% ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ[11] ขณะที่วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม ซึ่งประเมินตามเกณฑ์ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่ามีการตกหล่น 57% และมีการรั่วไหล 11% (ใช้ฐานคำนวณจากคนไทยทั้งหมด)[12]

งานวิจัยของวีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร ยังได้ชี้ให้เห็นว่าการรั่วไหลมากถึง 70.7% เกิดขึ้นจากผู้มีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก เพราะผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวมากถึง 43.4% และเป็นผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างอีก 21.5% ตามรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ด้วยเหตุนี้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจึงมีอยู่ในทุกระดับชั้นรายได้ของสังคม แม้ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่อหัวต่ำสุด 40% ล่าง แต่ก็ยังมีบัตรราว 4.2 แสนใบในกลุ่มครัวเรือนรายได้มากที่สุด 20% บน และอีก 1.1 ล้านใบในกลุ่มครัวเรือน 20% ถัดมา

การกระจายตัวของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามระดับชั้นครัวเรือนจำแนกตามรายได้ต่อหัว
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน 2021

จำกัดกลุ่มเป้าหมาย ให้กลายเป็นตัวช่วยกลุ่มยากจนที่แท้จริง

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในระบบสวัสดิการของไทย การให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐแก่คน 30% ของสังคมจึงอาจมีผู้ได้รับผลประโยชน์และรูปแบบความช่วยเหลือทับซ้อนกับสวัสดิการรูปแบบอื่นอยู่บ้าง ดังนั้น จึงควรกลับมาทบทวนว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะเล่นบทบาทใดในระบบสวัสดิการของไทย

101 PUB เสนอให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำงานเป็นส่วนเสริมทางการเงิน เพื่อการตั้งตัวสำหรับกลุ่มคนจน ซึ่งจะต้องมุ่งเป้าสู่กลุ่มผู้ยากจนของสังคมให้ได้มากยิ่งขึ้น เช่น การลดเพดานรายได้สำหรับผู้มีสิทธิรับบัตรเหลือ 50,000 บาท/คน/ปี ซึ่งยังสูงกว่าเส้นความยากจนอยู่เล็กน้อย เพื่อป้องกันการตกหล่นเพราะเกณฑ์ดังกล่าวมากจนเกินไป แต่รัฐบาลจะต้องเข้มงวดกับการตรวจสอบรายได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการรั่วไหล โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบและผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว

ด้วยเกณฑ์เช่นนี้ จำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะลดลงได้กว่าครึ่งหนึ่ง ช่วยให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิผลมากขึ้น หากต้องการช่วยเหลือในจำนวนเงินเท่าเดิม ก็จะใช้เงินน้อยลงราวครึ่งหนึ่ง แต่หากตั้งงบประมาณเท่าเดิม ก็สามารถเพิ่มความช่วยเหลือต่อคนได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ทำให้ความช่วยเหลือได้น้ำได้เนื้อ ซึ่งจะมีผลให้พวกเขาหลุดจากเส้นความยากจนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดจำนวนคนตกหล่น โดยเฉพาะผู้ยากจนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ ผู้ที่ไม่มีเทคโนโลยี ผู้มีปัญหาเอกสารราชการ ตลอดจนกลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพ เช่น ผู้ติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ รัฐบาลสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาผู้ยากจนที่ยังตกหล่นเหล่านี้ด้วยการร่วมมือกับกลไกชุมชน ตลอดจนภาคประชาสังคมที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มคนเป้าหมาย ให้เป็นผู้ค้นหา เชิญชวน และช่วยเหลือในการสมัคร รวมถึงอาจมีระบบการรับรอง เป็นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์หน้างาน

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นเริ่มต้นมาด้วยเจตนารมณ์ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน รัฐจึงควรทลายข้อจำกัดในการเชื่อมต่อฐานข้อมูลที่รัฐเก็บไว้อย่างกระจัดกระจาย เพื่อให้เกิดการค้นหาและคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลผู้ติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ครัวเรือนนักเรียนยากจน (ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ทะเบียนเกษตรกร เป็นต้น

สุดท้าย รัฐจะต้องกลับมาทบทวนว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะเป็นเงินโอนอย่างมีเงื่อนไขดังที่ตั้งใจไว้ตอนแรก หรือจะดำเนินงานเป็นเงินโอนโดยไม่มีเงื่อนไขดังที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ ซึ่งหากต้องการให้มีความช่วยเหลือหรือบริการอื่นประกอบ ก็จะต้องทำการเชื่อมโยงบริการ ไม่ว่าจะมาจากหน่วยงาน กรม หรือกระทรวงใด ก็เข้าไปช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างเป็นเอกภาพ ตรงจุด และได้ประโยชน์จริง โดยมองกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของการทำงาน

References
1 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. ไทยคู่ฟ้า: วารสารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฉบับเดือนเมษายน – มิถุนายน 2561. 2018.
2 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย. 2018 – 2021.
3 สำนักข่าวอิศรา. งบฯปี 64 เพิ่มเงินบัตรคนจน 4.95 หมื่นล้าน! – 3 ปี รบ.แจกผู้มีรายได้น้อย 1.9 แสนล. 27 มิถุนายน 2020.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย. 2018-2021.   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 28 กุมภาพันธ์ 2566. 2023.

4 สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 1 กุมภาพันธ์ 2565. 2022.
5 Thai PBS. เคาะประกาศผู้ผ่านเกณฑ์ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” 1 มี.ค.นี้ 14 ล้านคน. 21 กุมภาพันธ์ 2023. https://www.thaipbs.or.th/news/content/324814
6 BBC News ไทย. บัตรประชารัฐ : 5 ปี “บัตรคนจน” ในวันที่ พปชร. หาเสียงเพิ่มเงินเป็น 700 บาท. 19 มกราคม 2023.
7 ไทยโพสต์. ‘ลุงตู่’ ทำต่อ! ปชช.ขานรับ ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ 1 พันบาท. 27 กุมภาพันธ์ 2023.
8 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. ‘จนไม่จด คนจดกลับไม่จน’ ช่องโหว่นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สู่ข้อเสนอปรับปรุงช่วยเหลือคนจน: ดร.สมชัย จิตสุชน. 2017.
9 เกณฑ์เข้าข่ายได้รับสิทธิประเมินจากอายุ, อาชีพ, รายได้ต่อคน, สินทรัพย์, มูลหนี้บ้าน และมูลหนี้ยานพาหนะ ที่สามารถประเมินได้จากชุดข้อมูล โดยรายได้ที่นำมาคำนวณหักเงินรับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว และนับเฉพาะผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
10 เกณฑ์ความยากจนประเมินจากรายจ่ายอุปโภคบริโภคเฉลี่ยในครัวเรือน ไม่เกิน 33,634 บาท/คน/ปี ตามเส้นความยากจนปีล่าสุด 2021 โดยรายได้ที่นำมาคำนวณหักเงินรับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว และนับเฉพาะผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
11 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย. 2021.
12 วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร. การวิเคราะห์การกระจายผลกระโยชน์ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ. โครงการ Social Monitoring สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย โดย ธร ปีติดล และคณะ. สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.). 2022.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save