fbpx

AIS ซื้อ 3BB: เคราะห์กรรมซ้ำซากของผู้บริโภค?

นับตั้งแต่ TRUE และ DTAC ประกาศควบรวมกิจการ ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า หากเกิดการควบรวมจริงใครคือผู้ได้ประโยชน์ ใครคือผู้เสียประโยชน์ ฝั่งผู้ให้บริการที่ควบรวม อ้างว่าการควบรวมนั้นเป็นการปรับตัวเพื่อให้บริการดียิ่งขึ้นในโลกยุคใหม่ แต่ฝ่ายผู้บริโภคกลับแสดงความกังวลว่าการควบรวมจะทำให้การแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการเกี่ยวกับมือถือลดลง ส่งผลให้ค่าบริการแพงขึ้น แต่คุณภาพแย่ลงในระยะยาว

กรณีควบรวมครั้งนั้น 101 PUB ประเมินว่าในกรณีที่เลวร้ายน้อยที่สุด ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 7% – 10% หรือในกรณีที่เลวร้ายมากที่สุดอาจเพิ่มถึง 66% – 120% [1] การควบรวมเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรงอย่างคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าในท้ายที่สุดผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

เคราะห์กรรมของผู้บริโภคยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2022 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ประกาศซื้อกิจการของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ซึ่งจะทำให้บริษัท AIS กลายเป็นผู้เล่นใหญ่ที่สุดในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านทันที

บางฝ่ายมองว่าเป็นการโต้กลับของ AIS ต่อกรณีการควบรวม TRUE กับ DTAC เนื่องจากการควบรวมนั้นจะเป็นการเขย่าตำแหน่งอันดับหนึ่งในตลาดโครงข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ หรือหากมองภาพใหญ่กว่านั้น อาจเป็นเกมระหว่างกลุ่มทุนใหญ่คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่ต้องเจอกับกลุ่มทุนใหม่ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันอย่าง กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) แต่ไม่ว่าสงครามระหว่างทุนใหญ่จะเป็นอย่างไร แต่ผู้บริโภคต้องมาลุ้นกันว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

หลังควบรวมตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจะกระจุกตัวสูงมาก

ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านมีผู้ให้บริการหลัก 4 ราย บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TICC เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดและเป็นบริษัทลูกของกลุ่ม TRUE มีส่วนแบ่งตลาดตามจำนวนผู้ใช้บริการ 35.6% รองลงมาคือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ให้บริการในชื่อ 3BB มีส่วนแบ่งตลาด 28.3% อันดับที่ 3 คือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มีส่วนแบ่งตลาด 19.9% และอันดับ 4 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN เป็นบริษัทลูกของ AIS มีส่วนแบ่งตลาด 13.1%[2]

การที่ AIS เข้าซื้อกิจการของ 3BB คือการที่ผู้เล่นอันดับ 4 ในตลาดเข้าซื้อกิจการของอันดับ 2 จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากถึง 41.4% หากซื้อครั้งนี้สำเร็จจะทำให้ AIS กลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้าน

เมื่อนำตัวเลขส่วนแบ่งตลาดหลังการซื้อกิจการมาคำนวณดัชนีการกระจุกตัวหรือ HHI พบว่าดัชนี HHI เพิ่มขึ้นจาก 2,664 จุด เป็น 3,385 จุด ซึ่งเดิมตลาดมีการกระจุกตัวที่สูงอยู่แล้ว เพราะเกณฑ์ของ กสทช. กำหนดว่าตลาดที่มีค่า HHI สูงเกิน 2,500 ถือเป็นตลาดที่กระจุกตัว แต่เมื่อ AIS ซื้อ 3BB จะทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวมากกว่าเดิม

การซื้อกิจการเสี่ยงทำให้การแข่งขันน้อยลง ราคาเพิ่มขึ้น คุณภาพลดลง

101 PUB คำนวณค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านเฉลี่ยรายเดือน[3] ต้นทุนส่วนเพิ่มการให้บริการเฉลี่ยต่อหัว[4] และนำเลขดัชนีการกระจุกตัว HHI ของ กสทช. มาพิจารณา พบว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านเฉลี่ย (เส้นสีน้ำเงิน) ลดลงจาก 660 บาท/เดือนเหลือ 518 บาท/เดือน ต้นทุนส่วนเพิ่มการให้บริการเฉลี่ยต่อหัว (เส้นสีเขียว) ลดลงจาก 526 บาท/เดือนเหลือ 286 บาท/เดือน โดยมีผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ให้บริการ ภายใต้ค่าบริการและต้นทุนที่ลดลงนั้น ดัชนีการกระจุกตัว HHI (เส้นสีส้ม) ลดลงจาก 3,072 เหลือ 2,644 สะท้อนการแข่งขันที่มากขึ้น

หากเกิดการซื้อกิจการ การกระจุกตัวในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจะสูงขึ้น ซึ่งสูงเป็นระดับเดียวกับเมื่อปี 2007 หรือ 15 ปีก่อน ซึ่ง ณ ขณะนั้นมี TRUE เป็นผู้นำตลาดโดยมีส่วนแบ่งมากกว่า 50% โดยทีโอทีเป็นอันดับที่ 2 มีส่วนแบ่งตลาด 21.8% ตามด้วย 3BB มีส่วนแบ่งตลาด 17.4%[5]

ที่ผ่านมา การแข่งขันช่วยผลักดันให้ผู้บริโภคได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และมีค่าบริการเฉลี่ยถูกลง การย้อนกลับไปอยู่ในยุคที่การกระจุกตัวสูง โดยผู้เล่นหายไปหนึ่งราย พร้อมกับที่มีรายใหญ่ขนาดสูสีกัน 2 ราย ซึ่งมีแรงจูงใจให้แข่งขันกันน้อยลงเช่นนี้ อาจสุ่มเสี่ยงให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น ลดคุณภาพการให้บริการ หรือในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนถูกลง ก็อาจไม่มีการส่งต่อผลประโยชน์เหล่านั้นสู่ผู้บริโภคเท่าที่ควร

กสทช.มีอำนาจเต็มเหมือนกรณีควบรวม TRUE + DTAC

กสทช. มีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลการซื้อกิจการครั้งนี้ เช่นเดียวกับกรณีที่ TRUE ควบรวมกับ DTAC เพราะ กสทช. มีอำนาจให้อนุญาตหรือไม่อนุญาตการซื้อกิจการครั้งนี้[6] หรืออาจกำหนดเงื่อนไขเฉพาะเมื่อมีการอนุญาต เนื่องจากหลังการซื้อกิจการของ AIS ทำให้ดัชนีการกระจุกตัว HHI มากกว่า 2,500 จุด (AIS ซื้อ 3BB สำเร็จจะทำให้ดัชนีการกระจุกตัว HHI เท่ากับ 3,385 จุด) และเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 จุด (ดัชนีการกระจุกตัว HHI เพิ่มขึ้น 741 จุด) ซึ่งเข้าเกณฑ์ให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขเฉพาะในการควบรวมหรือซื้อกิจการได้[7]

การเข้าซื้อกิจการ 3BB โดย AIS ซึ่งเป็นการที่ผู้เล่นเบอร์ 4 เข้าซื้อกิจการของผู้เล่นเบอร์ 2 ทำให้เห็นว่าตลาดโทรคมนาคมทั้งโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านแยกกันไม่ขาดทั้งหมด กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลจะต้องพิจารณาอำนาจตลาดอย่างรอบคอบระมัดระวัง ทั้งในดีลซื้อกิจการครั้งนี้และในดีลการควบรวมระหว่าง TRUE กับ DTAC อีกด้วย

พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 ข้อ 6 ระบุว่า กสทช. ต้องกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม และข้อ 11 ระบุว่าจะต้องกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือก่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

การประเมินผลกระทบจากการซื้อกิจการเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง เพราะเป็นธุรกิจประเภทโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเม็ดเงินลงทุนสูง มีลักษณะการผูกขาดตามธรรมชาติ และยังมีความซับซ้อนจากปัจจัยด้านเทคโนโลยี จึงอาจมีประเด็นหลากหลายให้ กสทช. ต้องพิจารณาถ่วงน้ำหนัก แต่ กสทช. ต้องพึงระลึกว่าการตัดสินใจนั้น ควรคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลักตามหน้าที่ของตน และตั้งคำถามให้มากต่อผู้ขอซื้อกิจการถึงความเป็นไปได้จริงในภาพวาดแห่งอนาคตอันสวยหรูที่มักนำมากล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้หลงไปกับคำพูดในเรื่องอนาคตจนลืมแก่นของการทำงานไป

References
1 5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช.
2 101 PUB คำนวณข้อมูลจากรายงานการรวมธุรกิจและสภาพตลาดโทรคมนาคม ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2564 กสทช. ซึ่งเป็นรายงานสภาพตลาดที่ กสทช. เผยแพร่ล่าสุด
3 ในรายงานของ กสทช. กำหนดให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านของแต่ละเจ้าเท่ากับรายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายหรือ ARPU โดยไม่ถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้งาน ทำให้ในระยะหลัง ผู้ให้บริการรายเล็กที่มีค่าบริการต่อรายถูกกว่าทำให้ตัวเลขค่าบริการเฉลี่ยของ กสทช. ต่ำเกินจริง 101 PUB จึงได้นำค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านแต่ละเจ้าคือ TRUE 3BB NT และ AIS มาหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนตลาดของบริษัทนั้นๆ
4 101 PUB คำนวณค่าดังกล่าวจากการนำ EBITDA Margin ในงบการเงินของบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มาคำนวณต้นทุนส่วนเพิ่มการให้บริการต่อหัวของแต่ละบริษัท หลังจากนั้นนำต้นทุนส่วนเพิ่มการให้บริการต่อหัวของแต่ละบริษัทที่ได้ มาหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านของบริษัทนั้นๆ
5 กสทช. รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ไตรมาส 2 ปี 2550
6 ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 8
7 ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (2561) ข้อ 12

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save