fbpx

5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ Prabowo Subianto ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

ภาพประกอบ: YASUYOSHI CHIBA / AFP

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 ที่จะถึงนี้ 3 ทีมผู้สมัครจาก 3 ขั้วพันธมิตรทางการเมืองของอินโดนีเซีย จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดย 3 ทีมนั้นได้แก่

ทีมผู้สมัครหมายเลข 1 คือทีม Amin ที่ได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมพรรคการเมือง Coalition of Change for Unity และมีอดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาอย่าง Anies Baswedan เป็นตัวเลือกชิงประธานาธิบดี และมี Muhaimin Iskandar รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานพรรคการเมือง National Awakening Party (PKB) ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ทีมหมายเลข 2 โดยพันธมิตรพรรคการเมือง Advanced Indonesia Coalition ซึ่งมีนายพล Prabowo Subianto ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 3 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลปัจจุบัน จับมือกับ Gibran Rakabuming Raka ผู้ว่าการเขต Surakarta (หรือที่นิยมเรียกว่า Solo) ใจกลางเกาะชวา และเป็นบุตรชายคนโตของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Joko Widodo

ทีมผู้สมัครหมายเลข 3 Ganjar Pranowo ผู้ว่าการรัฐชวากลาง ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคู่กับ Mahfud MD ซึ่งปัจจุบันควบสองเก้าอี้รัฐมนตรี ได้แก่ Coordinating Minister for Political, Legal, and Security Affairs of Indonesia และ Minister of Communication and Information Technology เป็น running mate ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยมีแนวร่วมพรรคการเมือง Alliance of Political Parties ที่มีพรรคใหญ่อย่าง Indonesian Democratic Party of Struggle (PDI-P) ซึ่งมีอดีตประธานาธิบดีและบุคคลมากบารมีอย่างนาง Megawati Sukarnoputri เป็นฐานเสียงสนับสนุน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฏว่าทีมหมายเลขสองนำโดยนายพล Prabowo Subianto กำลังมีคะแนนนิยมมาเป็นอันดับที่ 1 ในโพลสำรวจความคิดเห็นด้วยคะแนนสนับสนุนกว่า 52% บทความนี้จึงขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจของ Prabowo ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบ มาเล่าสู่กันฟัง

1. ประเทศอินโดนีเซียเริ่มต้นกระบวนการเข้ายึดครองดินแดนติมอร์ตะวันออกที่เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสในปี 1975 ภายใต้ชื่อ Operation Seroja โดยในขณะนั้นผู้นำของติมอร์คืออดีตนายกรัฐมนตรี Nicolau dos Reis Lobato ที่ผันตัวไปเป็นผู้นำขบวนการปลดปล่อยติมอร์ตะวันออกในนามกลุ่ม Frente Revolucionária de Timor Leste Independente (Fretilin) การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดตลอดปี 1975-1978 จนกระทั่งนายทหารหนุ่มผู้บังคับหมวดในกลุ่ม I/Para Commando นำปฏิบัติการ Nanggala โดยการชี้เป้าของน้องชายผู้ทรยศของ Lobato เองที่เป็นผู้ให้ข้อมูลว่าพี่ชายฝังตัวอยู่ที่เมือง Maubisse เมืองเล็กๆ ทางใต้ประมาณ 50 กิโลเมตรจากกรุงดิลี ในการนำกองกำลังเข้าจับกุมผู้นำฝ่ายต่อต้านในครั้งนั้น นายทหารหนุ่มวัย 26 ปีผู้นำกองกำลังถูกยิงที่ช่องท้องบาดเจ็บสาหัส แต่ก็สามารถยุติการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Fretilin ในรูปแบบติดอาวุธได้อย่างถาวรและนำไปสู่การครอบครองติมอร์ตะวันออกของอินโดนีเซียได้สำเร็จในปี 1983 โดยอินโดนีเซียครอบครองติมอร์ตะวันออกจนถึงปี 1999 และนายทหารหนุ่มผู้นั้นคือ ร้อยโท Prabowo Subianto

2. 28 มีนาคม 1981 สายการบิน Garuda Airlines เที่ยวบิน 206 พร้อมลูกเรือ 5 คนและผู้โดยสาร 48 คนบินขึ้นจากกรุงจาการ์ตา ในเวลา 8.00 น. โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองเมดานทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา แต่ในระหว่างทางชายฉกรรจ์ 5 คนพร้อมปืนพกจี้เครื่องบินลำดังกล่าว โดยต้องการให้นักบินมุ่งหน้าไปยังกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา แน่นอนว่าเครื่องบิน McDonnell Douglas DC-9-32 ชื่อ Woyla ไม่มีเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะเดินทางไปถึงประเทศศรีลังกา ดังนั้นเครื่องบินต้องหยุดเติมน้ำมันที่เกาะปีนังของประเทศมาเลเซีย ก่อนที่จะลงจอดอีกครั้ง ณ สนามบินดอนเมือง ประเทศไทย และที่ดอนเมือง ชายฉกรรจ์ทั้ง 5 ได้ประกาศข้อเรียกร้องของพวกเขาในการจี้เครื่องบินครั้งนี้ นั่นคือ 1) ต้องการให้รัฐบาลอินโดนีเซียปล่อยตัวนักโทษกลุ่มก่อการร้าย Jamaah Imran จำนวน 80 คนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น 2) เรียกร้องเงินสดอีกจำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) ขอให้ Adam Malik ไม่ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งในเวลานั้น และ 4) ขอให้ชาวอิสราเอลทุกคนที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซียต้องถูกเนรเทศ

ต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม 1981 กองทัพอากาศไทย และกองกำลังพิเศษ Kopassus แห่งอินโดนีเซีย สนธิกำลังกัน โดยมีการสนับสนุนทางเทคนิคจาก CIA เริ่มต้นปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน ผลของการต่อสู้คือ Hijacker 3 จาก 5 นายถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการปะทะ นักบินถูกลูกหลงบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในขณะที่กองกำลังพิเศษ Kopassus 1 นายถูกยิงเสียชีวิต ตัวประกันทั้งหมดและลูกเรือที่เหลือปลอดภัย โดย Hijacker ที่รอดชีวิต 2 นายขอมอบตัวกับทีมช่วยตัวประกันของฝ่ายไทย หากแต่ทั้งสองก็ไม่รอดชีวิตเมื่อฝ่ายไทยส่งตัวกลับไปยังอินโดนีเซียตามการขอร้องของรัฐบาลอินโดนีเซีย และทั้งสองถูกยิงทิ้งในระหว่างบินกลับประเทศ โดยหัวหน้าทีม Sat-81/Gultor แห่งกองกำลังพิเศษ Kopassus ที่มาร่วมปฏิบัติการในภารกิจครั้งนี้ คือ Prabowo Subianto ซึ่งในอนาคต คือปี 1995 เขาจะได้มาเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังพิเศษ Kopassus แห่งนี้

3. ในปี 1983 นายทหารหนุ่ม Profile ดี Prabowo เข้าพิธีมงคลสมรสกับบัณฑิตสาวแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ Universitas Indonesia เธอมีนามว่า Siti Hediati Hariyadi แต่ทุกคนเรียกเธอว่า Titiek Soeharto เนื่องจากคุณพ่อของเธอคือบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซียในเวลานั้น นั่นคือประธานาธิบดี Soeharto โดย Titiek เป็นลูกสาวคนที่ 4 ของอดีตประธานาธิบดี/เผด็จการผู้ล่วงลับ แม้ว่า Probowo และ Titiek จะประกาศแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 1998 โดยไม่ได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าทั้งสองหย่าขาดจากกันหรือไม่ แต่เสียงซุบซิบในอินโดนีเซียก็มักจะเป็นไปในทำนองที่ว่า แท้จริงแล้วการแยกกันอยู่ก็เป็นเพียงการแสดงออกทางการเมือง เพื่อลดผลกระทบจากความเกลียดชังของประชาชนต่อตัว Prabowo ที่กำลังจะเริ่มเข้าสู่ภาคธุรกิจหลังจากจบชีวิตการทำงานในกองทัพเท่านั้น เพราะต้องอย่าลืมว่าปี 1998 คือปีแห่งมรสุมชีวิตสำหรับครอบครัว Soeharto ภายหลังจากที่อดีตประธานาธิบดี/เผด็จการผู้นี้ต้องยอมลงจากอำนาจในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 หลังการกดดันอย่างหนักจากประชาชน

หลายๆ เสียงลือยังคงเชื่อว่า ทั้งสองยังคงกินอยู่ด้วยกัน และสิ่งที่ช่วยยืนยันข่าวลือเรื่องนี้ก็คือ การที่ Titiek เองก็เป็นผู้ออกมาเป็นหัวคะแนนสำคัญในการช่วยหาเสียงให้ Prabowo ในครั้งที่เขาชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2014 และในปี 2024 นี้ เธอเองก็ลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้พรรค Great Indonesia Movement หรือ Gerindra ที่ Prabowo ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรค

Prabowo และ Titiek มีบุตรชายเพียง 1 คน ชื่อ Didit Hediprasetyo Djohohadikusumo หรือที่คนอินโดนีเซียจะเรียกชื่อด้วยชื่อเล่นว่า Didit Prabowo โดย Didit เติบโตและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสด้านการออกแบบ โดยสนใจเป็นพิเศษในการออกแบบแฟชั่นและการออกแบบยานยนต์ โดยผลงานสำคัญของ Didit คือการออกแบบตกแต่งภายในและภายนอกให้กับ BMW 7 Series รุ่นพิเศษ และถือเป็นนักออกแบบเอเชียเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เคยทำหน้าที่นี้

4. เช่นเดียวกันกับลูกชายของเขา Prabowo เองก็ใช้เวลาอยู่ในต่างประเทศเกือบจะตลอดช่วงวัยเด็ก ทั้งนี้เพราะคุณพ่อของ Prabowo คือนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองชื่อดังนาม Sumitro Djojohadikusumo ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์, กระทรวงการคลัง และกระทรวงการวิจัย รวมทั้งยังเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ Universitas Indonesia หากแต่ในภายหลัง Sumitro กลับมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงและต่อต้านการนำของประธานาธิบดี Sukarno นั่นจึงทำให้เขาต้องส่งลูกชาย Prabowo ไปอยู่ต่างประเทศเพื่อความปลอดภัย

Prabowo จบชั้นมัธยมต้นจาก Victoria Institution กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก่อนที่จะไปเรียนต่อมัธยมปลายที่ Zurich International School ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ American School in London ประเทศอังกฤษ นั่นจึงทำให้ Prabowo สามารถสื่อสารได้ถึง 5 ภาษา นั่นคือ ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาดัตช์ และเมื่อรัฐบาลของ Sukarno หมดอำนาจจากการปฏิวัติ Prabowo ก็กลับมาเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยอินโดนีเซียที่ Magelang ในเขตชวากลาง

5. หลังจบการทำงานในกองทัพที่พังทลายไปพร้อมกับรัฐบาล Soeharto แล้ว Prabowo ก็เดินทางไปใช้ชีวิตในตะวันออกกลาง โดยพำนักที่ประเทศจอร์แดน และเดินทางไปทั่วยุโรป ก่อนที่จะกลับมาเริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย โดยเขาเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักธุรกิจโดยเข้าซื้อกิจการโรงงานกระดาษ Kiani Kertas ที่ตั้งอยู่ในเมือง Mangkajang เขตกาลิมันตันตะวันออก จากนั้นก็ขยายธุรกิจไปลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเป็นประธานและ CEO ของ 3 บริษัทสำคัญ ได้แก่ PT Tidar Kerinci Agung ผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม, PT Nusantara Energy ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน เหมือง และอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่  และ PT Jaladri Nusantara ซึ่งดำเนินธุรกิจประมง

จากข้อมูลของหน่วยงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศอินโดนีเซียพบว่า Prabowo คือหนึ่งในรัฐมนตรีที่มีความมั่งคั่งมากที่สุด โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2022 ที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม Probowo สินทรัพย์รวม ตลอดปี 2021 มูลค่า 2.03 ล้านล้านรูเปียห์ (4,574 ล้านบาท) มีสินทรัพย์ในรูปแบบของที่ดินและอาคาร 10 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วจาการ์ตาตอนใต้ไปจนถึงจังหวัดโบกอร์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 2.73 แสนล้านรูเปียห์ (615 ล้านบาท)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save