ในบรรดาหมุดหมายบนเส้นทางประวัติศาสตร์โลก แน่นอนว่าช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente) กับสหภาพโซเวียต และการหันไปปรับความสัมพันธ์กับจีน (Rapprochement) ช่วงทศวรรษที่สองของสงครามเย็นถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญ ก่อนที่สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงในที่สุด
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามเย็นจะผ่อนลงไม่ได้ หากความคิดของ ‘เฮนรี คิสซินเจอร์’ (Henry Kissinger) ไม่ส่งอิทธิพลในแวดวงนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ และระเบียบโลก
โลกรู้จักคิสซินเจอร์ทั้งในฐานะ ‘ปัญญาชนสาธารณะ’ ‘ผู้ออกนโยบายต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจที่ทรงพลังอำนาจที่สุด’ หรือ ‘เจ้าพ่อ Realpolitik’ ผู้คิดและเดินเกมการเมืองโลกตามสภาพจริงเพื่อมุ่งบรรลุสันติภาพและเสถียรภาพของระเบียบโลกในห้วงเวลาที่ระเบียบโลกระส่ำระสาย ขณะเดียวกันก็ต้องแลกกับชีวิตมนุษย์ที่สูญเสียไปจากสงคราม
กระนั้น ร่องรอยอิทธิพลและมรดกความคิดของคิสซินเจอร์ยังคงปรากฏในโลกการเมืองระหว่างประเทศ
คิสซินเจอร์ ‘คิด’ ต่อความเป็นไปของโลกตลอดเวลาที่ผ่านมาอย่างไร? โจทย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบไหนที่คิสซินเจอร์ตั้งไว้? อะไรคือมรดกทางความคิดที่คิสซินเจอร์ฝากไว้ในโลกการเมืองระหว่างประเทศ? และเราควรทำความเข้าใจคิสซินเจอร์ด้วยหมวกใบไหนกันแน่?
ร่วมถอดรหัสความคิดของคิสซินเจอร์พร้อมกันได้ นับจากบรรทัดด้านล่างนี้
เหรียญสองด้านของคิสซินเจอร์ในฐานะผู้สร้างสันติภาพ – ไชยวัฒน์ ค้ำชู
“แทบจะเรียกได้ว่าคิสซินเจอร์มีอิทธิพลครอบงำการดำเนินนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ในช่วง 2 ทศวรรษแรกของสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการต่างประเทศในรัฐบาลริชาร์ด นิกสัน”
ในทัศนะของ ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากจะเข้าใจบทบาท อิทธิพล และมรดกทางความคิดของคิสซินเจอร์ต่อการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 ว่า เขาเป็นรัฐบุรุษผู้ดำเนินนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่นำพาเสถียรภาพมาสู่ดุลแห่งอำนาจในระเบียบโลก หรือเป็นอาชญากรสงครามผู้คร่าชีวิตมนุษย์ไปอย่างมหาศาล ต้องทำความเข้าใจวิธีคิดของคิสซินเจอร์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การดำเนินนโยบายการต่างประเทศ และระเบียบโลกก่อน
ไชยวัฒน์อธิบายแนวความคิดของคิสซินเจอร์ผ่านหนังสือ A World Restored: Metternich, Castlereagh and the Problems of Peace 1812-1822 (1957) ซึ่งศึกษาและถอดบทเรียนการสร้างสันติภาพผ่านดุลแห่งอำนาจในโครงสร้างระเบียบโลกจาก Congress of Vienna หลังยุโรปเพิ่งผ่านพ้นจากมหาสงครามนโปเลียนมาในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ โดยคิสซินเจอร์มองว่า ‘เสถียรภาพ’ ในโครงสร้างระเบียบโลกคือเงื่อนไขสำคัญที่ขาดไม่ได้เพื่อให้สันติภาพยังคงดำรงอยู่ และนโยบายการต่างประเทศจะต้องเป็นไปเพื่อเสถียรภาพของระเบียบโลก
“ถ้าไม่มีเสถียรภาพในระเบียบระหว่างประเทศ ก็ไม่มีทางที่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ พูดง่ายๆ คือ คิสซินเจอร์มองว่าการดำเนินนโยบายการต่างประเทศเพื่อสร้างระเบียบโลกให้มีเสถียรภาพเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจ
“ในการสร้างระเบียบโลกที่มีเสถียรภาพ ประเทศมหาอำนาจต้องมีฉันทมติเห็นพ้องต้องกัน ต้องรู้สึกพอใจกับสถานภาพของตนที่เป็นอยู่ และต้องเป็นกลางทางอุดมการณ์ หลีกเลี่ยงที่จะใช้อุดมการณ์อันเร่าร้อนคิดการณ์ใหญ่เพื่อเปลี่ยนระเบียบโลกที่เป็นอยู่”
เพราะฉะนั้น วิธีการที่จะบรรลุเสถียรภาพและสันติภาพในระเบียบโลกสำหรับคิสซินเจอร์จึงคือการสร้าง ‘ดุลแห่งอำนาจ’ (balance of power) ระหว่างประเทศมหาอำนาจ
“เรามักจะพูดกันเสมอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร มีแต่ผลประโยชน์ที่ถาวร เพราะฉะนั้น มหาอำนาจต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติที่ไม่มากล้นเกินไปจนทำลายเสถียรภาพของระเบียบโลก และต้องนำไปสู่การสร้างดุลแห่งอำนาจ เพราะไม่เช่นนั้น ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติก็จะเกิดสภาวะ war of all against all หรือสภาวะสงครามตะลุมบอนอย่างที่โทมัส ฮอบส์เสนอ”
แน่นอนว่าร่องรอยความคิดของคิสซินเจอร์ปรากฏชัดในนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษที่ 1970 ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามเย็น นั่นคือนโยบายผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente) กับสหภาพโซเวียตและนโยบายปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน (Rapprochement) ถือเป็นการพาสหรัฐฯ ออกจากยุทธศาสตร์การปิดล้อม (Containment)
ในหนังสือ American Foreign Policy: Three Essays (1969) ซึ่งมีการตีพิมพ์ซ้ำช่วงที่คิสซินเจอร์เปลี่ยนผ่านสถานะจากนักวิชาการไปสู่นักปฏิบัติ คิสซินเจอร์เปิดแนวความคิดว่าด้วยนโยบายผ่อนคลายความตึงเครียดไว้ว่า หากจะเปลี่ยนสหภาพโซเวียตจาก ‘รัฐปฏิวัติ’ (revolutionary state) ที่พร้อมจะพลิกระเบียบโลกที่เป็นอยู่แม้จะต้องก่อสงคราม ไปสู่การเป็น ‘รัฐมหาอำนาจที่มีความชอบธรรม’ (legitimate state) ที่หาทางบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติอย่างจำกัด รักษาผลประโยชน์แห่งชาติโดยวิธีทางการทูต และยอมรับการดำรงอยู่ของมหาอำนาจอื่น สหรัฐฯ ต้องดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยทำให้สหภาพโซเวียตรู้สึกว่าสถานภาพของตนได้รับการยอมรับ และทำให้สหภาพโซเวียตสามารถปรับตัวเข้ากับการสร้างเสถียรภาพของระเบียบโลก เพราะฉะนั้น คิสซินเจอร์จึงไม่ให้ความสำคัญว่าระบอบการปกครองหรือการเมืองภายในของสหภาพโซเวียตจะเป็นอย่างไร และต่อมาคิสซินเจอร์ก็ใช้แนวคิดเช่นเดียวกันในการหันกลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน
“คิสซินเจอร์พยายามเอาปัญหาสำคัญทั้งหลายในโลกมาเชื่อมโยงกัน จีนกับสหภาพโซเวียตกังวลอะไรกับสหรัฐฯ สหรัฐฯ ในเวลานั้นก็พร้อมหาทางดำเนินนโยบายต่อมหาอำนาจฝ่ายอื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างเสถียรภาพในระเบียบโลก”
อย่างไรก็ตาม แนวทางแบบ ‘คิสซินเจอเรียน’ ที่ในแง่หนึ่งทำให้คิสซินเจอร์ได้รับการจดจำในฐานะรัฐบุรุษยุคสงครามเย็นก็เต็มไปด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์
ไชยวัฒน์ยกข้อวิจารณ์ของสบีกเนียฟ เบรซซินสกี (Zbigniew Brzezinski) นักคิดสายสภาพจริงนิยม (realism) อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสมัยจิมมี คาร์เตอร์ และคู่ปรับคนสำคัญของคิสซินเจอร์มาว่า แนวทางของคิสซินเจอร์ให้ความสนใจเพียงแต่การบรรลุเป้าหมายเท่านั้น โดยไม่สนว่าจะต้องใช้วิธีการใดก็ตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
“พอคิสซินเจอร์เปลี่ยนบทบาทไปเป็นนักปฏิบัติ เบรซซินสกีวิจารณ์คิสซินเจอร์อย่างหนักเลยว่า คิสซินเจอร์ทำให้นโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ กลายเป็นแบบยุโรป คือดำเนินการทูตการเจรจาแบบลับๆ สร้างความไม่แน่นอนให้แก่ทั้งพันธมิตรและศัตรู และทำให้นโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ กลายเป็นแบบแมคคีอาเวลเลียน (Machiavellian) ไม่สนใจศีลธรรม หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ตราบเท่าที่หนทางนั้นนำไปสู่เสถียรภาพในระเบียบโลก”
กรณีสะท้อนชัดคือการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามเวียดนาม เพราะคิสซินเจอร์สร้างแรงกดดันให้เวียดนามยอมเจรจาสันติภาพบนเงื่อนไขของสหรัฐฯ ด้วยการตัดสินใจให้กองทัพสหรัฐฯ โจมตีกัมพูชาและลาว ซึ่งเป็นฐานในการส่งกำลังบำรุงไปยังเวียดนาม จนส่งผลให้มีคนเสียชีวิตจำนวนหลายแสน หรือในการดำเนินการทูตปิงปองสมัยนิกสันเพื่อปูทางไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนในเวลาต่อมา คิสซินเจอร์ก็ไม่ได้สนใจว่ารัฐบาลจีนสนับสนุนรัฐบาลปากีสถานที่ปราบปรามประชาชนในประเทศ
“แต่คิสซินเจอร์มองว่า การดำเนินนโยบายทางการทูตกับการใช้กำลังอำนาจเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เพราะหากจะต่อรองทางการทูต ก็ต้องมีกองกำลังใช้เพื่อกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าสู่การเจรจาบนเงื่อนไขที่เราต้องการ แต่ที่แยกออกจากกันได้คือศีลธรรมกับการทูต เพราะถ้าคิดแต่เรื่องศีลธรรม การต่อรองทางการทูตก็จะไม่เกิดขึ้น”
“สำหรับคิสซินเจอร์ การเมืองระหว่างประเทศไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว แต่คือการต่อสู้เพื่อให้ระเบียบโลกมีเสถียรภาพ เราไม่มีความสามารถที่จะไปเปลี่ยนอะไรภายในประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิเสรีภาพก็ตามแต่ เพราะในโลกที่ประเทศมหาอำนาจครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้คือการที่มหาอำนาจหันมาใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างกัน นั่นคือหายนะที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับมนุษยชาติแล้ว”
ไชยวัฒน์ยังวิพากษ์แนวคิดของคิสซินเจอร์เพิ่มอีกว่า วิธีคิดแบบสภาพจริงนิยมที่ให้ความสำคัญเพียงแค่ดุลแห่งอำนาจระหว่างมหาอำนาจในระเบียบโลกทำให้คิสซินเจอร์ไม่มองว่าประเทศขนาดเล็กหรือประเทศที่มีอำนาจจำกัดจะมีความสามารถในการตัดสินใจหรือกำหนดอนาคตตนเอง (agency) อย่างช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย คิสซินเจอร์ก็ไม่เห็นด้วยที่กอร์บาชอฟปล่อยให้ประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต เพราะจะนำมาสู่ความร่ำระส่ายในดุลแห่งอำนาจระเบียบโลก รวมถึงมองว่ายูเครนไม่ควรเข้าเป็นสมาชิกนาโต แต่ในความเป็นจริง แม้กระทั่งยุคที่ยูเครนมีผู้นำสายนิยมรัสเซียก็ยังต้องการรักษาความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม แม้ความคิดของคิสซินเจอร์จะมีความคงเส้นคงวาตลอดมา แต่ก็สามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ตราบเท่าที่ยังเป็นไปเพื่อเสถียรภาพของระเบียบโลก เพราะฉะนั้น หากมองสถานการณ์โลกในปัจจุบัน คิสซินเจอร์มองว่า การที่รัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครนส่งผลให้เสถียรภาพของระเบียบโลกสั่นคลอน เพราะฉะนั้น การที่ยูเครนจะเข้าร่วมนาโตจึงกลายเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลเพื่อรักษาระเบียบความมั่นคงในยุโรป กระนั้น ก็ยังมองว่าโลกตะวันตกยังควรเปิดพื้นที่รัสเซียยังสามารถรักษาสถานภาพในระดับระหว่างประเทศไว้ เพื่อให้รัสเซียไม่รู้สึกถูกบีบคั้นและตัดสินใจกระทำการบางอย่างที่จะบั่นทอนเสถียรภาพโลก
“กล่าวให้ถึงที่สุด แนวทางของคิสซินเจอร์ต่อการเมืองโลกตั้งอยู่บนแนวความคิดแบบอนุรักษ์นิยม คือมุ่งเป้าไปที่การรักษาเสถียรภาพในระเบียบโลกให้รักษาดุลแห่งอำนาจระหว่างมหาอำนาจได้ ไม่ว่าจะด้วยหนทางไหนก็ตาม” ไชยวัฒน์กล่าว
คิสซินเจอร์แบบ Idealist Realist? – ศิวพล ชมพูพันธุ์
หากมองคิสซินเจอร์ในฐานะนักคิด ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของคิสซินเจอร์จะต้องปรากฏในหมวดนักคิดและนักปฏิบัติสายสภาพจริงนิยม บ้างอาจมองว่าคิสซินเจอร์เป็นอาชญากรสงครามผู้ออกนโยบายที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเพื่อนมนุษย์จำนวนมาก เป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศที่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ หรือในขณะเดียวกันก็เป็นผู้มีบทบาทในการพลิกยุทธศาสตร์การปิดล้อมของสหรัฐฯ และเปลี่ยนไปดึงสหภาพโซเวียตและจีนเพื่อสร้างดุลแห่งอำนาจในระเบียบโลกที่มีการถ่วงดุลระหว่างมหาอำนาจมากกว่า 2 ขั้ว
แต่ ศิวพล ชมพูพันธุ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เสนอข้อสังเกตในการมองความคิดของคิสซินเจอร์ผ่านหนังสือ Diplomacy (1995) ว่า ที่จริงแล้ว ความคิดของคิสซินเจอร์มีส่วนผสมระหว่างสภาพจริงนิยม (realism) และอุดมคตินิยม (idealism) มากกว่าที่จะเป็นนักคิดสายสภาพจริงนิยมล้วนๆ โดยทั้งหมดนี้เป็นผลจากการก่อร่างจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์และรัฐบุรุษในอดีต
นอกจากความคิดที่ต้องการเห็นโลกที่มีเสถียรภาพภายใต้ระบบดุลและคานอำนาจหลายขั้วจะมีต้นเค้ามาจากแนวคิดว่าด้วยสถาปัตยกรรมอำนาจของเมตเตอนิช (Klement von Metternich) รัฐบุรุษผู้ก่อร่างสร้างระบบดุลแห่งอำนาจในยุโรปศตวรรษที่ 19 คิสซินเจอร์มักอ้างอิงความคิดของ ธีโอดอร์ โรสเวลต์ (Theodore Roosevelt) และวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นสองประธานาธิบดีที่พาสหรัฐฯ ออกจากการหันหลังให้กับโลกภายใต้หลักการมอนโร (Monroe) แล้วริเริ่มมุ่งสู่การเป็นมหาอำนาจ
ศิวพลเสนอว่า ความคิดของคิสซินเจอร์มีส่วนผสมระหว่างความคิดของทั้งโรสเวลต์และวิลสัน แม้ว่าทั้งสองจะมีกระบวนการคิดเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตาม
คิสซินเจอร์พยายามจะชี้ให้เห็นว่า แนวทางของโรสเวลต์ที่ให้ความสำคัญต่อระบบดุลแห่งอำนาจในยุโรปเพื่อให้สหรัฐฯ สามารถก้าวไปเป็นมหาอำนาจโลกได้ โดยที่สหรัฐฯ ต้องใช้กำลังเพื่อทำสงครามที่เกิดขึ้นในยุโรปในเวลานั้นสุดโต่งเกินไป ขณะเดียวกันก็มองนโยบายการต่างประเทศแบบวิลสันที่มีความอุดมคตินิยมสูง เชื่อว่าสันติภาพบังเกิดจาก self-determination และการสร้างความร่วมมือผ่านองค์กรระหว่างประเทศว่ามีพลังอำนาจไม่เพียงพอที่จะกระทำการอะไรบางอย่าง เพราะศีลธรรมที่ปราศจากกำลังนั้นทำงานได้ลำบาก และสหรัฐฯ เองก็ไม่ควรส่งออกศีลธรรม อุดมการณ์หรือคุณค่าแบบอเมริกัน อย่างเสรีนิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การค้าเสรี ฯลฯ ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในโลก
“หลายคนอาจจะมองว่าคิสซินเจอร์เป็นแมคคีอาเวลเลียน แต่ผมคิดว่าคิสซินเจอร์ผสมผสานหลายอย่างเข้าด้วยกัน เอาแนวคิดโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางอำนาจจากประวัติศาสตร์ยุโรป แนวคิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นในการต่างประเทศสหรัฐฯ สมัยวิลสัน สมัยโรสเวลต์มากำหนดแบบแผนบางอย่าง พยายามทำให้นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ใช่สายสภาพจริงนิยมอย่างเดียว แล้วก็พยายามจะดีไซน์โลกอย่างที่ตัวเองต้องการจะเห็น” ซึ่งนั่นก็คือโลกที่เสถียรจากระบบดุลแห่งอำนาจระหว่างมหาอำนาจ
“แน่นอน เหตุการณ์เชิงประจักษ์ต่างๆ ที่สะท้อนว่าสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติและอำนาจของสหรัฐฯ เป็นตัวทำให้คิสซินเจอร์ถูกตีตราว่าเป็นนักคิดสายสภาพจริงนิยม แต่ขณะเดียวกันคิสซินเจอร์ก็พยายามที่จะสร้างระเบียบโลกที่จัดวางตามสิ่งที่สหรัฐฯ มองว่าถูกต้องชอบธรรม ขยายสิ่งที่สหรัฐฯ คิดไปยังระดับโลก”
ในวันที่ระเบียบโลกเริ่มเปลี่ยนผันจากการผงาดขึ้นมาของพญามังกร – ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายปรับความสัมพันธ์กับจีนที่คิสซินเจอร์เป็นผู้ริเริ่ม และในวันที่พญาอินทรีเริ่มมีท่าทีว่าจะอ่อนแรงกว่าที่เคยเป็นมา ศิวพลมองว่าความคิดของคิสซินเจอร์ก็ยังคงเส้นคงวาเหมือนเดิมตลอดหลายทศวรรษ เพียงแต่ว่าอาจมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรับไปตามยุคสมัย
“ความคงเส้นคงวาในการมองโลกของคิสซินเจอร์ไม่ใช่แต่การยึดถือดุลแห่งอำนาจเท่านั้น แต่ผมคิดว่าสิ่งที่คิสซินเจอร์พยายามเสนอมาตลอดขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาคือ ระเบียบโลกยังคงอยู่บนฐานของระบบเวสฟาเลียเมื่อปี 1648 คือ รัฐยังคงเป็นตัวแสดงหลักอยู่ หลักอธิปไตย บูรณภาพทางดินแดน หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกันยังเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าโลกจะเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ หรือยุคเทคโนโลยี AI รุ่งเรือง มีตัวแสดงอื่นๆ ที่ทวีความสำคัญในการเมืองโลกขึ้นมา หรือมีบรรทัดฐานใหม่เกิดขึ้นมาก็ตาม
“ในโลกที่คิสซินเจอร์มอง พลังอำนาจกับพลังความคิดต้องไปด้วยกัน แต่ในโลกที่สหรัฐฯ กำลังอยู่ในสภาวะ in decline ไม่ได้มีอำนาจมากเหมือนเดิมที่จะเป็นเจ้าภาพหลักที่จะเอาอุดมการณ์ยัดใส่กล่องไปมอบให้แก่ประเทศเล็กๆ และในวันที่มหาอำนาจอย่างจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจระดับสูสี สหรัฐฯ ควรต้องจัดการความชอบธรรมของอำนาจเพื่อให้โลกยอมรับ” ศิวพลกล่าว
รัฐบุรุษและประกาศกในวังวน ‘ห้วงเวลาแบบคิสซินเจอร์’ – ศุภมิตร ปิติพัฒน์
“คำถามคือเราจะเลือกคิสซินเจอร์ไหนมาพิจารณา คิสซินเจอร์มีหลายโฉมหน้าที่จะพิจารณาได้ว่า คิสซินเจอร์คือใคร ตั้งแต่คนนอกที่หลบลี้หนีภัยจากความตกต่ำดำมืดของยุโรปมาที่โลกใหม่ แล้วก็พาตัวเองจากความเป็นคนนอกเข้าสู่ในใจกลางของโลกวิชาการ เข้าไปสู่แดนกลางของโลกผู้ทรงอิทธิพลในการกำหนดนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ แล้วก็อยู่ในกระแสยุทธศาสตร์โลกมาตลอด แต่ผมตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า เราจะพิจารณาความคิดของคิสซินเจอร์ในฐานะผู้เสนอ ‘ปัญหา’ อย่างหนึ่งให้โลกยุทธศาสตร์”
ในการทำความเข้าใจตัวตนของคิสซินเจอร์ ศุภมิตร ปิติพัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้มองคิสซินเจอร์ผ่านข้อปัญหาที่เขาเสนอ นั่นคือ ‘ห้วงเวลาแบบคิสซินเจอร์’ หรือ Kissingerian Moment กล่าวคือ ภาวะที่ระเบียบโลกเดิมซึ่งเคยทรงพลังเริ่มสั่นคลอนถูกท้าทายจากฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและรื้อโครงสร้างอำนาจโลกได้นำไปสู่โจทย์ที่ทำให้รัฐบุรุษต้องหาทางเลือกที่เป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด เพื่อการประคับประคองระเบียบให้ดำรงต่อไปได้ กลับคืนสู่เวลาของเสถียรภาพและความสงบเรียบร้อยตามเดิม
รากฐานความคิดของ ‘ห้วงเวลาแบบคิสซินเจอร์’ เริ่มต้นจากจุดที่คิสซินเจอร์กำลังเริ่มต้นชีวิตวิชาการ และหาทางเข้าใจโลก ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นวิธีมองโลกต่อไปในอนาคตด้วย ศุภมิตรเสนอให้พิจารณาความคิดของคิสซินเจอร์ในช่วงก่อร่างสร้างตัวจากหนังสือ The Meaning of History: Reflections on Spengler, Toynbee, and Kant (1950) ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาตรี โดยคิสซินเจอร์เปิดประเด็นโต้เถียงเชิงปรัชญาประวัติศาสตร์ไว้ว่า “เมื่อผ่านมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต สิ่งที่เราผ่านมาแล้วในอดีตจะกลายเป็นเงื่อนไขที่ส่งเราไปยังอนาคตที่ยากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับคืน คำถามคือ ในโลกซึ่งเรามีความตั้งใจ แล้วเราก็กระทำไปตามความตั้งใจ แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่เคยเป็นไปตามความแน่นอน ไม่สามารถแก้กลับคืนมาได้ มีแต่ต้องไปข้างหน้าเท่านั้น และผลที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อเราและคนอื่น แล้วเรามีเสรีภาพที่จะเลือก ตัดสินใจหรือตอบสนองต่อไปในอนาคตอย่างไร”
และต่อมา รากฐานความคิดเช่นนี้ก็ปรากฏในโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ของคิสซินเจอร์ ทั้งโจทย์ปัญหาที่ตั้งจากประวัติศาสตร์ในยุค Congress of Vienna ว่า เมตเตอนิชประคับประคองโครงสร้างระเบียบอำนาจในยุโรปภาคพื้นทวีปที่ถูกนโปเลียนท้าทายด้วยพลังชาตินิยมและเสรีนิยมอย่างไร วางวิสัยทัศน์ไปสู่เป้าหมายท่ามกลางเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและทำให้ยากที่จะมุ่งสู่เป้าหมายได้อย่างไร หรือในโจทย์ปัญหาในยุคสมัยของคิสซินเจอร์เองว่า จะตัดสินใจอย่างไรเพื่อให้บรรลุเสถียรภาพอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในภาวะสงครามเย็นที่สองขั้วมหาอำนาจเผชิญหน้ากัน และมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นอาภรณ์ประดับกาย
กระทั่งผ่านพ้นยุคสมัยของคิสซินเจอร์ไปแล้ว ‘ห้วงเวลาของคิสซินเจอร์’ ก็ยังปรากฏในโจทย์ปัญหาระหว่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซียในปัจจุบัน แม้ว่าอาจจะไม่ใช่คู่เทียบที่ทาบกันได้สนิทก็ตาม
“ในขณะนี้เอง รัสเซีย จีน สหรัฐก็อยู่ในยุคที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำระเบียบโลก ระเบียบที่รัสเซียและจีนปรารถนากำลังสั่นคลอนและบีบเข้ามาเผชิญกัน ทั้งหมดจึงตกอยู่ใน ‘ห้วงเวลาของคิสซินเจอร์’ และยังไม่มีคำตอบด้วยว่าใครจะเป็นคนกอบกู้สถาปนาระเบียบอันชอบธรรม เพราะสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจจับจิตใจเหมือนเก่าแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ศุภมิตรอธิบายว่า ความคิดที่คิสซินเจอร์ถอดออกมาจากเมตเตอนิชเป็นเพียงหลักหรือวิธีที่วิเคราะห์ด้วยมุมมองแบบ Bird’s-eye view คือมองเห็นและวิเคราะห์ทุกอย่างได้อย่างทะลุปรุโปร่ง โดยไม่ต้องเผชิญต่อข้อจำกัดใดๆ
แต่เมื่อคิสซินเจอร์ต้องสวมบทบาท ‘รัฐบุรุษ’ ผู้ต้องลงมือปฏิบัติ เมื่อนั้นก็จะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของเงื่อนไขจากอดีตที่ถูกวางไว้แล้วส่งผลมายังปัจจุบัน (necessity) และจะถูกเงื่อนไขชักนำเมื่อต้องตัดสินใจต่อไปข้างหน้า หรือตกอยู่ในคำถามว่า จะจัดการกับเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้นด้วยวิธีการใดเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะใช้ทั้งการทูต ใช้ทั้งกำลัง ใช้ทั้งการคานอำนาจ หรือหลายๆ อย่างประกอบกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณางานเขียนรุ่นแรกๆ ของคิสซินเจอร์ที่เขียนขึ้นในยุคสงครามเย็น ศุภมิตรมองว่าความน่าสนใจอยู่ที่ ‘หลักคิด’ หรือ ‘ข้อสังเกต’ อันแหลมคมที่คิสซินเจอร์สอดแทรกไว้ ได้แก่
ประการแรก ในเมื่อทุกประเทศไม่ได้มุ่งสร้างสันติภาพ แต่มุ่งรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ สันติภาพจึงเป็นผลทางอ้อมจากการที่ระเบียบโลกมีเสถียรภาพ โดยเสถียรภาพมีที่มาจากการยอมรับความชอบธรรมของรัฐแต่ละรัฐที่จะจัดอำนาจการปกครองภายในประเทศ และความชอบธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับด้วยความตระหนักว่าจะยอมไม่มั่นคงในเชิงสัมพัทธ์เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นคงพอที่จะมั่นใจในระเบียบโลกตามกันได้
ประการที่สอง เมื่อระเบียบโลกสั่นคลอนอย่างไม่มีทางหวนกลับ นักยุทธศาสตร์ที่จะจัดการกับ ‘ห้วงเวลาแบบคิสซินเจอร์’ มีทั้งในระดับที่คิดหาวิธีการที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย (instrumental) อย่างเมตเตอนิชที่ใช้ทั้งวิธีทางการทูตและกำลัง และระดับที่ไม่เพียงแต่หาทางบรรลุเป้าหมาย แต่ยังมุ่งหาทางเผชิญหน้าต่อ ‘พลังความเปลี่ยนแปลง’ ที่นำมาสู่ห้วงเวลาแบบคิสซินเจอร์ มีวิสัยทัศน์และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตตามวิสัยทัศน์นั้น
“หลักคิดของคิสซินเจอร์เป็นแบบรัฐบุรุษอย่างแท้จริง เพราะใช้การเจรจา การต่อรอง การไกล่เกลี่ยประสานผลประโยชน์ ใช้ดุลแห่งอำนาจที่คำนึงผลประโยชน์แห่งชาติ ใช้ความยับยั้งชั่งใจ แต่ประกาศก (prophet) จะไม่ชอบ เพราะความจริงในสายตาประกาศกคือความจริงสมบูรณ์ ทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปจากหลักการที่วางไว้ ดังนั้นเมื่อลงมาสู่สนามการเมือง คุณไม่สามารถจะเป็นประกาศกได้ คุณจำเป็นต้องเข้าใจวิธีคิด ใช้หลักคิด และวิธีการของรัฐบุรุษ เพราะรัฐบุรุษย่อมต้องเผชิญต่อการบีบคั้นจากเงื่อนไขที่จำกัดตลอดเวลา”
“สิ่งที่คิสซินเจอร์ตั้งคำถามให้แก่เราคือ เมื่อไหร่ที่รัฐบุรุษพยายามจะดำเนินในทางของประกาศก ที่น่าสนใจคือมันจะจบลงแบบไหน”
นอกจากนี้ ศุภมิตรยังตั้งข้อสังเกตและเปิดประเด็นชวนคิดต่อจากมรดกของคิสซินเจอร์
ประการแรก เมื่อคิสซินเจอร์ได้โอกาสทดสอบ นำความคิดที่ตนเองถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์ยุโรปในการสร้างเสถียรภาพในระเบียบโลกมาปฏิบัติในจังหวะที่สหรัฐฯ กำลังค่อยๆ ระส่ำระสายในการกุมอำนาจในระเบียบโลกจากสงครามเวียดนาม ผู้ที่จะตัดสินว่าคิสซินเจอร์ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร ควรรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามอย่างไรไม่ใช่ตัวคิสซินเจอร์เอง แต่คือผู้คนในลาว กัมพูชา เวียดนาม ปากีสถาน หรืออาร์เจนตินา และในปัจจุบันที่ความสั่นคลอนมาเยือนทั้งระเบียบที่สหรัฐฯ วางไว้และสถานะนำของสหรัฐฯ ในโลกเอง อีกทั้งเงื่อนไขต่างๆ ในการเมืองโลกก็เปลี่ยนและวิวัฒน์ไปมาก ระเบียบที่คิสซินเจอร์เสนอว่า สหรัฐฯ คือใจกลางของระเบียบอาจไม่ใช่คำตอบเดียวอีกต่อไป
ประการที่สอง โจทย์คำถามที่คิสซินเจอร์ตั้งไว้ว่าด้วยการรักษาเสถียรภาพของระเบียบโลกจะดำรงอยู่ต่อไป แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลา ประเด็นคือ พลังที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง สั่นคลอน ตั้งคำถามต่อระเบียบเดิมจะเป็นพลังแบบไหน และรัฐบุรุษที่รับผิดชอบจะเลือกตีโจทย์อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อนำหลักคิดในการดำเนินการมาปฏิบัติจริง รัฐบุรุษย่อมต้องเผชิญเงื่อนไขจำนวนมากจากโครงสร้าง วันเวลา และสถานการณ์ภายนอกอย่างที่คิสซินเจอร์เสนอไว้
“เพราะฉะนั้น เราควรจะเห็นใจทั้งรัฐบุรุษ เข้าใจทั้งประกาศก แล้วก็หวังในสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” ศุภมิตรกล่าว
หมายเหตุ – เรียบเรียงบางส่วนจากงานเสวนา “100 ปี Henry Kissinger” จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00-15.00