fbpx

ฉลองครบรอบ 100 ปี BBC กับรอยแผลเก่าที่ยังลืมไม่ลง

วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้ง BBC ซึ่งปัจจุบันเป็นสื่อสาธารณะที่ได้รับเงินบริหารกิจการมาโดยตรงจากประชาชนในสหราชอาณาจักร ไม่มีโฆษณา ไม่ผ่านระบบการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ มีพัฒนาการเติบโตตลอดร้อยปีที่ผ่านมา ทำให้บีบีซีกลายเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร เป็นสื่อมวลชนต้นแบบของสื่อสาธารณะจนเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพทางความคิดเห็น (free speech) ของประชาชนในโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย

ในวาระครบรอบร้อยปีคราวนี้จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะทบทวนเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อันยาวนานขององค์การสื่อมวลชนเก่าแก่ที่สุดของโลก ทั้งในเรื่องร้ายและเรื่องดี แล้วมองไปในอนาคตที่เทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังทำให้อุตสาหกรรมสื่อต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดสื่อที่เติบโตนอกกรอบวารสารศาสตร์และจริยธรรม จรรณาบรรณ ไร้การกำกับดูแล เป็นดาบสองคมทำร้ายสังคม ศีลธรรม และการทำมาหากินเอาเปรียบผู้บริโภค

ความจริงแล้วบีบีซีเป็นผู้บุกเบิกวิจัยและทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตลอดตั้งแต่เริ่มทดลองออกอากาศด้วยสัญญาณวิทยุ (Wireless Broadcasting) โดยมีกลุ่มธุรกิจชาวอังกฤษ-อเมริกัน ร่วมกันก่อตั้งเป็นบริษัทธุรกิจเอกชน (British Broadcasting Company) เพื่อขายเครื่องรับวิทยุ ในปี 1922 

หลังจากนั้น 5 ปีถัดมา จึงมีการตราพระราชบัญญัติ (Royal Charter) ยกเลิกธุรกิจเอกชนโอนทรัพย์สิน ยกสถานะเป็นองค์การมหาชน (British Broadcasting Corporation) กำหนดกรอบเป้าหมายในการให้บริการประชาชน ให้มีการบริหารกิจการเป็นอิสระจากการควบคุมของนักการเมือง และมีอำนาจในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปีจากเจ้าของเครื่องรับวิทยุ (ต่อมาเป็นค่าธรรมเนียมโทรทัศน์) ซึ่งอำนาจนี้กลายเป็นประเด็นการเมืองที่ถูกตั้งคำถามในยุคสมัยนี้ว่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดูทีวี (แบบไม่มีโฆษณา) ยังเหมาะสมอีกหรือไม่ในขณะที่ผู้บริโภคมีทางเลือกรับสื่อแบบฟรีๆ มากมายทั้งแพลตฟอร์ม ออนไลน์ สตรีมมิ่ง และแอปพลิเคชั่นมือถือที่หลากหลาย แม้ว่าต้องทนกับโฆษณาก็ตาม และบางสื่อต้องจ่ายค่าสมาชิก 

ตลอดเวลาร้อยปีที่ผ่านมา บีบีซีอยู่ในแถวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีออกอากาศ ทั้งการเปลี่ยนระบบจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ และสตรีมมิ่ง (BBC iPlayer) และเป็นสื่อรายแรกที่ใช้ podcasting เพื่อถ่ายทอดคอนเทนต์ที่เคยเป็นรายการวิทยุ จนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าบีบีซี ทั้งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ บีบีซีถือว่าเป็นสื่อที่เปิดบริการผลิตคอนเทนต์กว้างขวางหลากหลายมากที่สุดในโลก ในรูปแบบ multi-channels, multi-platforms และเป็นสื่อที่มีคลัง (archive) สะสมภาพ เสียง วิดีโอ มากกว่าสื่อใดๆ ทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะความสามารถใหม่ๆ ผลิตคอนเทนต์คุณภาพสูงสู้กับยักษ์ใหญ่วงการสื่อของโลก เป็นเสาหลักสร้างเอกลักษณ์ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industry) แบบบริทิช (British)  

ผลงานที่ปรากฎหน้าจอทั้งภายในและต่างประเทศตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ได้อย่างดีในการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งในเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสาร (to inform) การส่งเสริมความรู้การศึกษา (to educate) และการให้ความบันเทิง (to entertain) 3 ภารกิจหลักอันเป็นมรดกวิสัยทัศน์จาก Sir John Reith ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกของบีบีซี เมื่อร้อยปีก่อน 

นอกจากคอนเทนต์รายการต่างๆ ที่ออกอากาศในประเทศสนองตอบความนิยมหลากหลายของเจ้าของเงินค่าธรรมเนียม และยังขายไปต่างประเทศ ผลงานโดดเด่นที่ทั่วโลกยกย่องคือรายการถ่ายทอดสด ทั้งรายการถ่ายทอดกีฬาขนาดใหญ่อย่างโอลิมปิก หรือ World Cup การถ่ายทอดสดงานสำคัญระดับชาติ เช่นงานฉลอง The Queen Platinum Jubilee เมื่อปีที่แล้ว และงานรัฐพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด 

WASHINGTON, DC – SEPTEMBER 8: Patrons at The Queen Vic, an English-style pub, watch BBC News coverage about the death of Queen Elizabeth II on September 08, 2022 in Washington, DC. President Joe Biden ordered U.S. flags flown at half staff to mark the occasion. The queen was 96. Drew Angerer/Getty Images/AFP (Photo by Drew Angerer / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)

สำหรับองค์การสื่อขนาดใหญ่ที่มีอายุยืนยาวอย่างบีบีซี เมื่อมีอายุครบรอบร้อยปีได้มีการนำเอาผลงานออกมาอวดโชว์ ตามแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งใครที่สนใจก็สามารถค้นหาดูได้ บางส่วนก็อาจจะได้ฟรีในต่างประเทศ บางส่วนก็ถูกจำกัดไว้เฉพาะผู้ชำระเงินค่าธรรมเนียมรายปี (TV Licence fee) ในประเทศเท่านั้น  

ด้วยประวัติศาสตร์การนำเสนอข่าวที่ยาวนานของบีบีซีย่อมมีบาดแผลเกิดขึ้นมากมายทั้งโดยตั้งใจและโดยพลั้งเผลอ มีตัวอย่างเรื่องร้ายแรงที่บีบีซีต้องประกาศขอขมาต่อสมาชิกราชวงศ์และต่อสาธารณะ อย่างเช่น การใช้วิธีการแบบไม่สุจริตในการชักจูงให้เจ้าหญิงไดอานา มาให้สัมภาษณ์ออกรายการ BBC Panorama (1995) ที่กลายเป็นเรื่องสร้างความร้าวฉานในหมู่สมาชิกราชวงศ์ และกรณีอื้อฉาวทางเพศของพิธีกรดังจิมมี แซวิลล์ (Jimmy Savile) ซึ่งมีข่าวว่าชอบลวนลามเด็กสาวๆ ที่มาออกรายการโด่งดังของเขาในยุคนั้น แม้ผู้บริหารบีบีซีจะระแคะระคายกับเรื่องนี้ แต่ไม่ดำเนินการลงโทษ กรณีข่าวอื้อฉาวจิมมี แซวิลล์ (Jimmy Saville Scandal) ยังมีการสอบสวนไม่จบจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2011 ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา บีบีซีได้พยายามพิสูจน์ตนเองว่าเป็นสื่อสาธารณะ มิได้อยู่ในอำนาจการชี้นำจากรัฐบาลโดยเฉพาะในภารกิจว่าด้วยการให้ข้อมูลข่าวสาร (to inform) แม้ว่าจะถูกกดบังคับ การคุกคามจากผู้มีอำนาจรัฐที่มักจะเอ่ยอ้างประเด็นความมั่นคงของชาติ แต่ผู้บริหารบีบีซีก็พร้อมที่จะปกป้องแบรนด์ความน่าเชื่อถือของบีบีซี และย่อมจะแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นผลประโยชน์สาธาณะระยะยาว อะไรเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองระยะสั้นๆ ของรัฐบาลที่มีอำนาจแค่ในยุคนั้นๆ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการรายงานข่าวความขัดแย้งคลองสุเอซ (1956) สงครามฟอล์กแลนด์ (1982) การก่อการร้ายของขบวนการไออาร์เอ ในยุคทศวรรษ 70-90 แม้ว่าจะถูกกดดันอย่างหนัก แต่ผลงานที่ออกมาก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าบีบีซี ไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจการบงการของรัฐบาลในขณะนั้น แต่ก็ทำให้บีบีซีกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลมาแทบทุกสมัย และเหตุการณ์ล่าสุดกลายเป็นแผลลึกที่ยังคาใจมาจนถึงทุกวันนี้ คือกรณี ดร. เคลลี่ (Dr. David Kelly 1944-2003) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธของกระทรวงกลาโหมที่เคยทำงานให้สหประชาชาติ เป็นแหล่งข่าวของบีบีซี ผู้ที่มีความกล้าหาญทางวิชาชีพ แสดงความกังขาต่อข่าวกรองของรัฐบาลโทนี แบลร์ (Tony Blair) ที่บ่งชี้ว่าซัดดัม ฮุสเซน สะสมอาวุธร้ายแรงที่สามารถสั่งยิ่งเป้าหมายของอังกฤษได้ภายใน 45 นาที   

ความขัดแย้งและเรื่องโต้เถียงที่เผ็ดร้อนระหว่างบีบีซีกับรัฐบาลแบลร์ คือ กรณีรายงานข่าววิทยุตอนเช้าวันหนึ่งของบีบีซีในเดือนพฤษภาคม 2003 ที่อ้างอิงแหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่านายกรัฐมนตรีแบลร์ใช้ข่าวกรองที่ตอนนั้นเรียกว่า September Dossier โดยแต้มสีสัน (sexed up) ตั้งใจพาให้หลงผิด (misleading) ในรัฐสภาเพื่อขอมติเข้าไปร่วมกับสหรัฐฯ ทำสงครามกับอิรักหรือเปล่า เพราะโดยธรรมเนียมทางการเมืองและข้อบังคับของรัฐสภาสหราชอาณาจักร การโกหก หรือ ชักจูงให้หลงผิดในสภา ถือเป็นข้อหาร้ายแรง นักการเมืองใดถูกจับได้ว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวจะต้องลาออก 

เมื่อบีบีซีรายงานเรื่องนี้ก็มีการตั้งข้อกังขาแหล่งข่าวที่บีบีซียืนยันว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธของรัฐบาลเอง รัฐบาลเดือดดาลจึงบีบเค้นให้บีบีซีเปิดเผยชื่อแหล่งข่าวผู้นั้น แถมมีเสียงขู่ว่าข้าราชการประจำผู้ใดให้ข่าว ‘ที่ไม่จริง’ กับบีบีซี ถือว่าผิดวินัยข้าราชการจะต้องถูกปลดแบบไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ 

ทีมงานที่ทำเนียบรัฐบาลกับบีบีซีตั้งป้อมปะทะกันโต้เถียงผ่านสื่อกันอย่างร้อนแรง โดยบีบีซียังคงยืนยันความถูกต้องของรายงานข่าวและไม่ยอมเปิดเผยแหล่งข่าว ส่วนรัฐบาลตั้งทีมงานสอบสวนหาตัวผู้เป็นแหล่งข่าวของบีบีซี จนกระทั่งมีสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่งชี้เป็นนัยๆ ว่า แหล่งข่าวของบีบีซีคือ ดร. เคลลี่ ซึ่งต่อมาถูกเรียกตัวใปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการความมั่นคงและข่าวกรองของรัฐสภา

ทว่ายังมิทันที่ ดร. เคลลี่ จะเปิดเผยข้อมูลความคิดความเชื่อของตนต่อคณะกรรมาธิการในรัฐสภาและสาธารณะ ก็มีคนพบศพของเขาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2003 ในป่าละเมาะใกล้ๆ บ้านของเขาที่เมืองอ็อกซฟอร์ด โดยมีสื่อรายงานข้อสันนิษฐานว่าฆ่าตัวตาย แต่ญาติพี่น้องของ ดร. เคลลี่ ยังไม่ปักใจเชี่อนัก   

รัฐบาลแบลร์ฉวยใช้กรณีการเสียชีวิตของ ดร. เคลลี่ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้ ดร. เคลลี่ต้องจบชีวิตลง โดยมีอดีตผู้พิพากษาลอร์ด ฮัทตัน (Lord Hutton 1931-2020) เป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีอำนาจเรียกขอดูหลักฐานทางเอกสาร และเปิดการไต่สวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งฝ่ายบีบีซีและฝ่ายรัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง ประธานบอร์ด ผู้อำนวยการ นักข่าวบีบีซี ผู้ร่วมงานของดร. เคลลี่ 

ลอร์ด ฮัทตัน ตีพิมผลการสอบสวน Hutton Report ความยาว 740 หน้าเมื่อเดือนมกราคม 2004 โดยสรุปในประเด็นสำคัญว่า รัฐบาลโทนี่ แบลร์ มิได้แต้มสีสันข้อมูลข่าวกรองเพื่อชี้นำรัฐสภาให้ลงมติสนับสนุนการส่งทหารไปรบอิรัก แต่สื่อมวลชนโดยเฉพาะบีบีซีละเมิดจริยธรรมในการรายงานข่าวสำคัญที่ขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเมื่อรัฐบาลส่งเรื่องร้องเรียนฝ่ายบริหารของบีบีซี ก็มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการที่กำหนด ทั้งนี้เพราะมีข้อบกพร่องในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน

Hutton Report ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบีบีซี ประธานบอร์ดและผู้อำนวยการในขณะนั้นลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ พนักงานระส่ำระสาย เกิดการโต้เถียงกันเองภายในหมู่พนักงาน บางคนลาออกตามผู้อำนวยการ เพราะไม่ยอมรับคำวินิจฉัย ขวัญกำลังใจตกต่ำ ผู้บริหารชุดใหม่สั่งปรับกระบวนการรับเรื่องราวร้องเรียน และมีการจัดหลักสูตรอบรมงานข่าว โดยเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบสถานะของแหล่งข่าว และขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ป้อนข้อกล่าวหาร้ายแรงก่อนนำออกอากาศ 

แต่ประเด็นที่สาธารณชนคลางแคลงใจ อยู่ที่คำว่า ‘แต้มสีสัน (sexed up)’ ที่ลอร์ดฮัทตันวินิจฉัยว่า บีบีซีผิดพลาด เพราะบีบีซีไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครในทีมงานแบลร์จงใจแต้มสีสันข้อมูล September Dossier ดังนั้น ลอร์ดฮัทตันสรุปว่า รายงานข่าวของบีบีซีชิ้นนั้นจึงไม่น่าเชื่อถือ

Pedestrians walk past the BBC Headquarters at the Broadcasting House in central London on October 6, 2022. – On November 14, 1922, the clipped tones of the BBC’s director of programmes, Arthur Burrows, crackled across the airwaves. “This is 2LO, Marconi House, London calling,” he announced and with that, public service broadcasting in Britain was born. One hundred years on, the British Broadcasting Corporation is a global media giant. But its centenary comes at a time of drastic budget cuts that have raised questions about its future. (Photo by Justin TALLIS / AFP)

มีการสำรวจประชามติโดยสำนักงาน NOP (National Opinion Polls) ที่ตีพิมพ์รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อรายงานลอร์ด ฮัทตัน ประมาณ 56% เชื่อว่าข้อตำหนินั้นไม่ยุติธรรมต่อบีบีซี โดยคนบอกว่าอ่านแล้วทะแม่งๆ เหมือนตั้งธงไว้แล้วค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุน ส่วนสำนักข่าว Sky News ก็รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากอีกสำนักหนึ่ง ที่ตั้งคำถามว่า ผลการสอบสวนของลอร์ด ฮัทตัน ได้เปิดเผยความจริงทั้งหมดหรือไม่ ปรากฎว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึง 67% ตอบว่า ไม่  

เมื่อสงครามอิรักสงบลงและข้อมูลต่างๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงทยอยกันออกมาสู่สาธารณะ ประชาชนก็เชื่ออว่ารายงานข่าวของบีบีซีเป็นข่าวที่สอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้น แต่ความบอบช้ำเกิดขึ้นแล้ว 

ความขัดแย้งระหว่างบีบีซีและรัฐบาลกรณี ดร. เคลลี่ มีความร้อนแรงและถือว่าเป็นแผลเป็นที่คาใจคนทำงานสื่อจำนวนมาก มาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่ประธานบอร์ดและผู้อำนวยการบีบีซีจำใจต้องลาออกไปพร้อมๆ กัน หลังจากการตีพิมพ์ผลการสอบสวน Hutton Report แล้วพบว่าบีบีซีเป็นฝ่ายผิดและรัฐบาลเป็นฝ่ายถูก  ส่วนสาธารณชนก็แตกแยกออกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลแบลร์ และฝ่ายที่สนับสนุนให้สื่อมีความกล้าหาญในการเปิดโปงนักการเมืองที่มีอำนาจในเวลานั้น 

ก็เป็นที่คาดหวังกันว่า เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็อาจจะถึงเวลาที่จะต้องสะกิดแผลเก่า หยิบเอาประวัติศาสตร์ส่วนนี้ออกมาชำระ เพื่อถอดบทเรียนการทำงานของสื่อที่ทำงานตรวจสอบผู้มีอำนาจว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไร ไม่ให้โดนหนามตำ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save