fbpx

100 ปี นิตยสาร TIME​: ว่าด้วยปกหรือเปลือกที่ทำให้เราเลือกหยิบนิตยสารสักเล่ม

1

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2542 เป็นปีที่ผมเริ่มทำงานในแวดวงนิตยสารกับบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง ถือเป็นการลงสนามในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน การเป็นกองบรรณาธิการในนิตยสารไลฟ์สไตล์ผู้หญิงเหมือนเป็นมิติคู่ขนาน ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจงานนิตยสารผู้หญิงเลย แต่สนใจงานเขียนและสถาปัตยกรรมมากกว่า คิดว่าหาทางเข้ามาก่อนแล้วค่อยขยับขยาย

สมัยนั้นการทำงานนิตยสารต้องพึ่งพานิตยสารและหนังสือเล่มจากต่างประเทศเป็นหลัก อินเทอร์เน็ตยังเข้าถึงได้จำกัดมาก การทำงานในกองบรรณาธิการยุคนั้นจำได้ว่ามีคอมพิวเตอร์เพียงไม่กี่เครื่องที่สามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้ (ความเร็วนั้นไม่ต้องพูดถึง) และต้องเวียนกันใช้งาน ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็นับว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ฉะนั้น ทนิตยสารจากต่างประเทศถือเป็นองค์ความรู้ทุติยภูมิที่เราใช้กันนอกเหนือจากการสัมภาษณ์ผู้รู้

ผมเองเริ่มรู้จักคุ้นเคยกับนิตยสารต่างประเทศก็ตอนเริ่มทำงานนิตยสาร ต้องขอบคุณคุณระริน อุทกภัณฑ์ บรรณาธิการบริหารในขณะนั้นที่ลงมาดูงานนิตยสารในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน คุณระรินไม่เคยเหนียมงบกับการซื้อนิตยสารของเหล่ากองบรรณาธิการที่ต้องหาประเด็น หาไอเดียใหม่ๆ สำหรับการทำงานรายปักษ์ เรียกว่าต่อให้อ่านภาษาอังกฤษกันยังไม่ค่อยแตกก็ให้ซื้อ เพื่อที่ว่าจะได้พัฒนาทั้งการจับประเด็น การใช้ภาษาและค้นหาสไตล์ของงานเขียนไปในตัวพร้อมๆ กัน อีกอย่างหนึ่งสมัยนั้น นิตยสาร TIME มีเล่มพิเศษ ‘Time Style’ เป็นหนึ่งในฉบับที่ผู้อ่านรอคอย เนื่องจากมีการตีความไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่แตกต่างไปจากต่างเนื้อหาไลฟ์สไตล์ที่มีกลุ่มผู้อ่านเป็นผู้หญิงเป็นหลัก

ในยุคนั้นถือว่าเป็นยุคทองของนิตยสารทางเลือกหัวก้าวหน้าในต่างประเทศเช่นกัน ไม่แตกต่างจากยุคของวงดนตรีอย่าง The Manic Street Preachers, Oasis, Blur วงการนิตยสารก็มี i-D มี The Face มี Wallpaper ที่เรียกว่าเป็นกบฏของนิตยสารไลฟ์สไตล์ยุคนั้น แต่นอกเหนือจตากนิตยสารเหล่านี้แล้ว เล่มที่ผมต้องซื้อเลยก็คือ นิตยสารไทม์ (TIME Magazine) นิตยสารสรุปข่าวและไลฟ์สไตล์ ยุคนั้นนิตยสารไทม์ก็มีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นนิตยสารที่ต้องหยิบทุกครั้งเมื่อเดินผ่านแผง

หลายคนอาจคิดว่านิตยสารไทม์ดูไม่เข้ากับคนทำงานนิตยสารไลฟ์สไตล์เลย แต่จริงๆ แล้วนิตยสารไทม์เป็นนิตยสารที่จับประเด็นการเล่าเรื่องได้ดีมากที่สุดเล่มหนึ่งในโลกของสื่อ คิดเอาว่านิตยสารหลายเล่มที่ว่าเจ๋งก็ปิดตัวไปหมดแล้ว แต่นิตยสารไทม์ยังอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน ถึงตอนนี้ผมยังเป็นแฟนของนิตยสารไทม์

ปีนี้นิตยสารไทม์อยู่มาครบ 100 ปี นับเป็นนิตยสารที่มียอดสมาชิกและแฟนๆ ติดตามกันทั่วโลกอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ปัจจุบันเป็นอันดับ 2 ของนิตยสารายปักษ์ในสหรัฐอเมริกาที่มีผู้สมัครสมาชิกมากที่สุด (อันดับ 1 เป็นของนิตยสาร People) สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ท่ามกลางกระแสของการแข่งขันด้านข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตที่ซัดกันเรื่องความเร็ว แต่นิตยสารไทม์ยังคงมีสไตล์เป็นของตัวเองและมีจุดขายที่แตกต่างจากแบรนด์สื่ออื่น

2

เท่าที่เป็นแฟนติดตามมาอย่างยาวนาน ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยของนิตยสารไทม์ สมัยที่ผมเริ่มอ่านในยุคแรก ข้อเขียนส่วนใหญ่ คอลัมนิสต์จะเน้นประเด็นหนักๆ เน้นฉายภาพของความเป็นสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน มีจุดยืนทางการเมืองแบบเสรีนิยม การวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ใช่แค่แสบๆ คันๆ แต่ยังสร้างเอกลักษณ์ของงานเขียนที่เรียกว่า ‘ไทม์สไตล์’ (Timestyle) ขึ้นมาด้วย กล่าวคือบรรณาธิการมักให้ความสำคัญในการตั้งหัวเรื่องเชิงก้าวร้าวรุกราน ไม่แยแสกับสังคม (Irrevent) อย่างชัดเจน ลักษณะงานเขียนแบบนี้ถูกปลูกฝังมากตั้งแต่สมัยหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ไบรตัน แฮดเดน (Briton Hadden) ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมักใช้รูปแบบการเขียนประโยคโดยให้กรรมมาก่อนประธาน ให้ดูยอกย้อนและชวนอึดอัดนิดๆ  

วอลคอต กิปส์ (Wolcott Gibbs) บรรณาธิการผู้โด่งดังของนิตยสารเดอะนิวยอร์เกอร์ (The New Yorker) เคยจิกกัดสไตล์การเขียนของนิตยสารไทม์ไว้ว่า “ยอกย้อนไปมาจนปั่นป่วน คงมีแต่พระเจ้าที่รู้ว่ามันจะจบอย่างไร” (“Backward ran sentences until reeled the mind … Where it all will end, knows God!”) แต่อย่างไรก็ดี นิตยสารไทม์ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างแสลงคำใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ คำว่า ‘ไทคูน’ (Tycoon) นี่ก็เริ่มต้นมาจากนิตยสารไทม์เช่นกัน สำนวนการเขียนแบบใช้วลีเพื่อชักจูงความสนใจและใช้ในการโปรยปก ก็ถือว่าเริ่มโดยนิตยสารไทม์ ซึ่งก็ถือเป็นคุณาประการที่เกิดกับแวดวงคนทำนิตยสาร ทำให้นิตยสารไทม์ต่างจากนิตยสารข่าวรายสัปดาห์เล่มอื่น

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของนิตยสารไทม์ก็คือหน้าปกที่ทรงพลังเหลือเกิน  

หากพูดกันตามภาษาของคนทำสื่อนิตยสาร ต้องบอกว่าหน้าปกของนิตยสารไทม์มีแรงดึงดูดต่อคนที่ได้เห็น ซึ่งผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้นิตยสารสามารถอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ จะเรีกยว่าเป็นรูปแบบการทำงานของสื่อในสหรัฐอเมริกาก็ว่าได้ ที่ว่า ‘ปกคือแบรนด์’ และเราควรให้ความสำคัญกับการสร้างการจดจำด้วยรูปปกที่ทรงพลัง ซึ่งแน่นอนมันก็ต้องมาพร้อมกับปรับปรุงเนื้อหาด้านในให้หนักเบาตามยุคสมัย

ผู้ทำหน้าที่วางวิสัยทัศน์คนสำคัญก็คือผู้ก่อตั้งทั้ง 2 คน เฮนรี ลูซ (Henry Luce) และไบรตัน แฮดเดน (Briton Hadden) ที่ก่อตั้งนิตยสารไทม์เมื่อปี 1923 โดยต้องการจะเป็นนิตยสารสรุปข่าวที่แตกต่างจากคู่แข่งหัวสำคัญ ขณะนั้นคือนิตยสารลิตเทอร์ลารี ไดเจส (The Literary Digest – ก่อตั้งเมื่อปี 1890 ปิดกิจการไปเมื่อปี 1938) และเดอะนิวยอร์กไทม์ส (The New York Times ก่อตั้งเมื่อปี 1851 ปัจจุบันยังคงดำเนินกิจการอยู่) แฮดเดนเห็นว่าขณะนั้น ทั้งสองหัวมีเนื้อหาแน่นเกินไป ผู้อ่านอ่านไม่ทัน นิตยสารไทม์จึงพยายามสรุปเนื้อหาให้ย่อยง่าย อ่านจบได้เร็ว มีเรื่องของความคิดเห็นมากขึ้น รวมถึงตารางการแสดงละครเวที บทวิจารณ์และบทความด้านสุขภาพเข้ามาในเล่มด้วย รวมถึงการนำดารา นักแสดง รูปเด็กมาขึ้นปกสลับกับปกผู้ชาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากในสมัยนั้น

การใส่กรอบสีแดงลงบนหน้าปกในฉบับประจำวันที่ 3 มกราคมปี 1927 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของแบรนด์ เพิ่มความโดดเด่นให้กับนิตยสาร เป็นไอเดียของแฮดเดนเองและถูกใช้จนถึงทุกวันนี้ (ช่วงปี 2007 มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย โดยลดขอบปกสีแดงเพื่อโปรโมตเรื่องเด่น ขยายชื่อคอลัมน์ ลดจำนวนเรื่องเด่นบนหน้าปกลง เพิ่มพื้นที่สีขาวรอบๆ ในบทความมีการโชว์รูปถ่ายของนักเขียนประจำลงไปด้วย) น่าเสียดายที่แฮดเดนอายุสั้น เขาเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 31 ปีเท่านั้น แต่วิสัยทัศน์ของเขาก็เป็นรากฐานของการกำหนดทิศทางของนิตยสารไทม์และยังส่งอิทธิพลมาถึงการทำงานในทุกวันนี้

การเล่าเรื่องด้วยรูปเป็นสิ่งสำคัญที่นิตยสารไทม์ให้น้ำหนักมาก “Strong Impact with Deep Caption” มักเป็นคำพูดที่ใช้อธิบายรูปหน้าปกของนิตยสารไทม์ได้ดีที่สุด รูปต้องจับใจคนเห็น คำบรรยายต้องกระทบใจคนอ่าน เมื่อรวมกับการโปรยปก แต่งานเขียนแบบ ไทม์สไตล์ก็กลายเป็นความสำเร็จให้หลายๆ หัวนิตยสารทำตาม 

ประเด็นเรื่ององค์ความรู้แบบนี้ เราเคยคุยกันในหมู่ของคนทำงานนิตยสารในเมืองไทยว่าน่าเสียดายที่ในยุคนิตยสารเฟื่องฟู องค์ความรู้ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในการเรียนการสอนในการเรียนการสอน ธุรกิจการศึกษาตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสื่อ ทุกวันนี้ความรู้ความเข้าใจของนักศึกษาสื่อสารมวลชน ผมคิดว่าว่ามาจากประสบการณ์ในการใช้งานของพวกเขา มากกว่าที่จะได้จากการเรียนการสอนในระบบ สิ่งที่ผู้ประกอบการสื่อได้มาก็คือแรงงานที่เข้าใจเรื่องแพลตฟอร์ม แต่ไม่เข้าใจเรื่องการจับประเด็น การเขียนงานเชิงสร้างสรรค์และการสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์ (สื่อ) อย่างสอดคล้องกัน ไม่แปลกที่เราจะเห็นคนรุ่นใหม่เป็นยูทูปเบอร์ มากกว่าเป็นนักข่าวฝีมือดี

3

ที่ปกของนิตยสารไทม์ได้รับการพูดถึงเสมอ ไม่ได้มีปัจจัยเพียงแค่ภาพถ่ายหรือคำโปรยปกเท่านั้น แต่งานด้านกราฟฟิกดีไซน์และตัวพิมพ์ (typographic) ก็พัฒนาขึ้นอย่างมาก หลายอย่างล้วนเป็นมรดกตกทอดทิ้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสรรค์ปก ซึ่งต้องทำกัน 4 ปกต่อสัปดาห์ สำหรับช่างภาพและนักวาดภาพประกอบถือว่าเป็นงานหนักที่ต้องหาภาพที่แข็งแรงพอจะแบกรับความคาดหวังของบรรณาธิการและผู้อ่านในเวลาเดียวกัน

นิตยสารไทม์ร่วมงานกับช่างภาพและนักวาดภาพประกอบมากมาย ในหลายปกที่น่าจดจำน่าสนใจ ยกตัวอย่าง เช่น ปกนิตยสารไทม์ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 เป็นปกรูปอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กับกากบาทสีแดง ออกแบบโดย บอริส อาซบาเชฟ (Boris Artzybasheff) ถือเป็นปกที่เป็นที่จดจำของนิตยสาร เพราะต่อมากากบาทสีแดงนี้ถูกนำมาใช้ใหม่ในหลายวาระ เช่น หน้าปกซัดดัม ฮุศเซน (ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2003) หน้าปก ซาคาวี (ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2006) และโอซามา บินลาเดน (ฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม 2011) กากบาทสีแดงถูกใช้เป็นเครื่องหมายของกำจัดศัตรูสำคัญของสหรัฐในแต่ละยุคสมัย ทิม โอไบรอัน (Tim O’Brian) ถือเป็นกราฟิก ดีไซเนอร์ที่นำกากบาทสีแดงกลับมาใช้ใหม่ แม้ว่าจะห่างกันเกือบ 6 ทศวรรษ ก็ยังคงสื่อความได้ชัดเจนและเชื่อมโยงกับนิตยสาร

นิตยสาร TIME ปกวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 ปกแรกที่ใช้สัญลักษณ์กากบาทสีแดง | ที่มา invalueable.com

ภาพปกภาพหนึ่งที่ถือว่าสะเทือนใจผมมากคือภาพถ่ายของ บิบิ ไอชา (Bibi Aisha) ผู้หญิงชางอัฟกัน ที่โดนครอบครัวของสามีของเธอทำร้ายด้วยการตัดจมูกและหู เธอถูกทิ้งไว้หลังจากเหตุการณ์นั้น และเกือบเอาชีวิตไม่รอด (ไปหาอ่านจุดพลิกผันของเธอได้ในอินเทอร์เน็ตครับ) ซึ่งถ่ายโดย โจดี บีเบอร์ (Jodi Bieber)

หน้าปกของนิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2010 โดยปกเป็นภาพถ่ายของไอชา หญิงชาวอัฟกานิสถานวัย 18 ปีที่มีจมูกขาดวิ่น | ที่มา TIME Magazine

นอกเหนือจากความสะเทือนใจที่ได้เห็น มันยังสร้างผลกระทบกับผู้อ่านอย่างมาก ฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งฉบับที่หลังจากการตีพิมพ์ นิตยสารไทม์แจ้งว่ามีการเขียน จดหมายและอีเมลเข้ามาถามถึงความเหมาะสมเยอะมาก จนนิตยสารไทม์ต้องออกมาเปิดเผยขั้นตอนการทำงานว่ากว่าที่รูปนี้จะออกมา นอกเหนือจากความยินยอมของไอชาเอง ทางกองบรรณาธิการยังต้องปรึกษากับจิตแพทย์ถึงความเป็นไปได้ที่รูปนี้จะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจมากเพียงใดก่อนจะตัดสินใจตีพิมพ์ และเจ้าของภาพออกมายืนยันเองว่าเธอต้องการให้ตีพิมพ์เนื่องจากเธอต้องการให้โลกรับรู้ถึงการกดขี่ผู้หญิงในอัฟกาสินถานว่ามันรุนแรงแค่ไหน

ยังมีอีกหลายปกที่ถูกพูดถึงนะครับ เช่น ปก Change ในช่วงการหาเสียงของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ปกซีรีส์ของเหตุการณ์ 9/11 ก็ถูกพูดถึงอย่างมาก เช่นรูป The Falling Man ของริชาร์ด ดรูว์ (Richard Drew) หรือรูปตึกเวิลด์เทรด เซนเตอร์ที่กำลังระเบิดโดย ไลล์ โอเวอร์โก (Lyle Owerko) ซึ่งฉบับนี้เป็นฉบับที่กรอบสีแดงถูกเปลี่ยนเป็นกรอบสีดำเพื่อไว้อาลัย   

นิตยสาร TIME ฉบับที่เปลี่ยนกรอบจากสีแดงเป็นสีดำ เพื่อไว้อาลัยเหตุการณ์ 9/11 ภาพถ่ายโดย Lyle Owerko | ที่มา TIME Magazine

นิตยสารไทม์ยังเป็นหนึ่งในสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้รูปแบบตัวอักษรหลากหลายมากที่สุด เพื่อลองผิดลองถูกในการสื่อสารกับผู้อ่านและสร้างความน่าสนใจของปก ช่วงที่การเติบโตของสิ่งพิมพ์นิตยสารอยู่ในช่วงสูงสุดในทศวรรษ 1980-1990 ปกเหล่านี้ทำให้วงการออกแบบตัวอักษรและนักวาดภาพระกอบเติบโตอย่างมากและสร้างความเคลื่อนไหวในการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างสิ่งพิมพ์ นักออกแบบและช่างภาพ

หลังปี 2000 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่นิตยสารไทม์กล้าลองอะไรใหม่ๆ มากขึ้นไปอีก เพื่อเอาตัวรอดจากการเติบโตของสื่ออินเตอร์เน็ต การมาถึงของ Kindle และไอแพดในปีช่วงหลังสหัศวรรษใหม่ แวดวงนิตยสารต้องปรับตัวและถามถึงอนาคตของตัวเองอย่างหนักหน่วง นิตยสารไทม์มีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นและเจ้าของหลายครั้ง จากบริษัทไทม์ อิงค์ ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม จนถึงปี 1990 ก็เปลี่ยนมือมาเป็นของบริษัทไทม์วอร์นเนอร์ (Time Warner) ก่อนเมอริดิธ คอร์เปอเรชั่น (Meridith Corperation) เข้ามาถือหุ้นส่วนมากในปี 2018 ถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งลดขนาดของบริษัท มีการปลดพนักงานออก 20% ของจำนวนพนักงานเดิม มีการวมพนักงานขายและให้เป็นทีมเดียวกันกับเดอะฟอร์จูน (The Fortune) มันนี่ (Money) และสปอร์ตอิลลัทสเตรท (Sport Illustrated) ซึ่งเป็นหัวนิตยสารที่เมอริดิธกรุ๊ป เป็นเจ้าของ

ปัจจุบันเมอริดิธ คอร์เปอเรชั่น ขายนิตยสารไทม์ให้กับมาร์ค เบนอฟ (Marc Benioff) เจ้าของบริษัทผู้ให้บริการคลาวด์เทคโนโลยีให้กับภาคธุรกิจรายใหญ่ของโลก ‘เซลฟอร์ซ’ (Salesforce) ในราคา 190 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 6,200 ล้านบาท) การย้ายเข้ามาอยู่ภายใต้ CEO คนใหม่ที่ไม่เคยทำธุรกิจสื่อมาก่อน ทำให้ทุกคนก็จับตามองทิศทางการบริหารของมาร์ค

มาร์คเองก็น่าสนใจ ปี 2019 Harvard Business School ยกย่องให้เขาเป็นหนึ่งใน 10 ของ CEO ของสหรัฐอเมริกาที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดของประเทศ การเปลี่ยนแปลงมาสู่บ้านหลังใหม่ของนิตยสารไทม์จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

สิ่งที่มาร์คทำต่อจากเมอริดิธคือ การควบคุมต้นทุนให้ดีและขยายฐานผู้อ่านไปสู่ตลาดใหม่ๆ เขาลดความถี่ของการพิมพ์นิตยสารลงจากรายสัปดาห์มาเป็นรายปักษ์ และให้ความสำคัญกับการอัพเดทข่าวสารบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่ยังคงให้ความสำคัญกับปก โดยให้มีหลายเวอร์ชัน ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และทำให้เหมาะกับตลาดแต่ละภูมิภาคมากขึ้น เพื่อเผชิญกับความท้าทายและความจริงแท้ของวงการนิตยสารก็คือ ยอดการขายนิตยสารเล่มที่ลดลง

นิตยสารไทม์เคยมียอดจำหน่ายได้สูงสุดถึง 3.3 ล้านเล่มต่อฉบับในปี 2012 เป็นนิตยสารประเภทสรุปข่าวรายสัปดาห์ที่มียอดขายสูงสุดในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันยอดจำหน่ายเป็นเล่มลดลง ข้อมูลล่าสุดก่อนที่จะเกิดโควิด ไทม์ประมาณการยอดจำหน่ายเหลือไม่ถึงสองล้านเล่มต่อฉบับและในอนาคต ไม่ช้าก็เร็ว ด้วยปัจจัยเรื่องต้นทุนและสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าการอ่านนิตยสารเป็นเล่มจะต้องค่อยๆ หมดไป สิ่งที่นิตยสารไทม์วางหมากไว้ก็คือ เพิ่มยอดสมาชิกทางออนไลน์ให้มากขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้     

ปัจจุบันนิตยสารไทม์ก็ยังทำตลาดทั่วโลก มีหลายเวอร์ชั่นเพื่อให้เหมาะกับผู้อ่านในแต่ละทวีปรวมถึง ฉบับพิเศษอย่าง Time for Kids ที่เน้นการจำหน่ายแบบบอกรับสมาชิกกับโรงเรียน เพื่อเป็นสื่อส่งเสริมการเรียนการสอนให้กับครู บรรณาธิการคนปัจจุบัน คือ เอ็ดเวิร์ด เฟลเซนทัล (Edward Felsenthal) เขาเติบโตมาจากการเป็น Digital Managing Editor ของนิตยสารไทม์ ก่อนขึ้นมาเป็นบรรณธิการบริหาร จากนี้เราน่าจะเห็นความเคลื่อนไหวใหม่ๆ หลังจากนี้อีกเป็นแน่  โดยเฉพาะต่อยอด ‘สินค้า’ ที่เป็นเอกลักษณ์ของนิตยสารอย่าง โครงการ Person of the year หรือ Time 100 หรือ Woman of The Year หรือการจัดอันดับนวัตกรรมที่มีผลต่อสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งนิตยสารไทม์ทำได้น่าสนใจมากและจุดประกายประเด็นเพื่อให้สังคมได้คิดต่อ

4

หากมองไปที่แก่นของต้นกำเนิดของนิตยสารในประเทศที่พัฒนาแล้ว นิตยสารมีบทบาทและที่ทางในสังคมในฐานะสื่อของชนชั้นกลางที่นำเสนอความสนใจใหม่ๆ ของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยในสังคม และการมี ‘เวลาว่าง’ มีงานอดิเรก รวมถึงบทบาทของผู้หญิงในสังคมที่มีมากขึ้นเป็นตัวผลักดันให้เกิดสื่อใหม่ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงการนำเสนอข่าว แต่เป็นการนำเสนอวิถีชีวิตแบบชาวเรา-คนที่คิดเหมือนเรา

นิตยสารจึงเข้าถึงเรื่องราวที่เจาะจงมากกว่า ซึ่งก็รวมไปถึงโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจที่ดีกว่าของเจ้าของหัวนิตยสาร ปัจจัยนี้เองนั่นทำให้ธุรกิจนิตยสารหลายๆ หัวยังสามารถยืดหยัดอยู่ได้ เพราะมีฐานของแฟนๆ ยังมีอยู่ และหากยังมี original content ที่สร้างขึ้นเพื่อแฟนๆ โดยเฉพาะนิตยสารเหล่านี้ก็ยังไปต่อได้

เมื่อเทียบกับสื่อนิตยสารในบ้านเราที่อยู่ในช่วงขาลง นอกเหนือจากภาวะฟองสบู่ของแวดวงนิตยสาร แล้วประการสำคัญอีกอย่างที่ทำให้นิตยสารในไทยไปไม่ถึงไหน เพราะลึกๆ ชนชั้นกลางของไทยยังวุ่นวายกับการทำมาหากินมากกว่าการมีเวลาว่างจริงๆ หรือความสนใจของผู้คนสมัยใหม่หันไปรับสื่อโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงองค์ความรู้หลายๆ อย่างที่เรามีอาจยังไม่สามารถย่อยออกมาได้น่าสนใจ โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจเรื่องของงานออกแบบ งานกราฟิกดีไซน์ เพื่อยกระดับการเล่าเรื่องใหม่ๆ ยังอยู่ในวงจำกัด มาก ความเข้าใจของการทำนิตยสารของไทยอาจวนเวียนเพียงแค่ความสวยงามของปกและภาพลักษณ์ มากกว่าจะมองถึงเรื่องการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนและมั่นคง

นิตยสารที่ยังสามารถยืนระยะอยู่ได้ในบ้านเรา หากไม่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่มีแฟนตามสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น ก็จะเป็นนิตยสารที่เน้นขายสินค้าตั้งแต่หน้าปกจนถึงเนื้อใน ซึ่งก็ไม่ผิดนะครับเพราะในแง่ของการทำธุรกิจทุกคนย่อมไม่อยากเจ๊ง

แต่มันก็สะท้อนให้เราเห็นว่าประเทศนี้สภาพสังคมของเราเป็นอย่างไรและเราให้ความสำคัญกับเรื่องไหนมากกว่ากัน 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save