fbpx

‘ฉลอง’ 100 ปี ร้อยเรื่องแห่งสตรี ‘คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร’

จันทนี สันตะบุตร

ในวันคริสต์มาสเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ที่จังหวัดลพบุรี มีเด็กหญิงคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาเป็นน้องคนเล็กสุดของบ้าน จากนั้นเธอก็เติบโตมาเป็นอะไรอีกหลายต่อหลายอย่าง ทั้งคุณครู แม่บ้าน นักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ จนได้เป็น ‘คุณหญิง’

ชีวิตของคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร มีรายละเอียดมากและมีสีสันไม่น้อย ซึ่งทั้งหมดจะแสดงในหนังสือ รำลึกถึง คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ที่กำลังจะเผยแพร่วันที่ 25 ธันวาคม ศกนี้ ในวาระครบ 100 ปีชาตกาล

อย่างไรก็ตาม ณ ที่นี้ขอคัดบางเรื่องมาร้อยเรียงเป็น ‘ความทรงจำ’ เพื่อ ‘รำลึกถึง’ สตรีผู้มีชีวิตโลดแล่นบนแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนานถึง 5 แผ่นดินผู้นี้


คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร
(25 ธันวาคม 2465 – 21 พฤษภาคม 2563)


  • จันทนีเกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2465 ที่จังหวัดลพบุรี โดยเป็นธิดาของสุดท้องของนายผัน ทนายความ กับนางกิมฮวย ชิตสุข ซึ่งเรียกอย่างสมัยนี้ได้ว่า ‘นักธุรกิจ’ เพราะเป็นเจ้าของตลาดบ้านหมี่ ค้าข้าว ให้เช่าที่ ฯลฯ
  • เดิมจันทนีชื่อ ‘ฉลอง’ ซึ่งเป็นน้องคนเล็กสุดของพี่ๆ คือ ชลอ แฉล้ม ชริก เฉลียว เชรือน ส่วนชื่อเล่นของเธอคือ ‘ติ๊ก’


นายผันกับนางกิมฮวย ชิตสุข
ด.ญ.ฉลอง ชิตสุข


  • เธอเติบโตมาในบ้านสวนที่ลพบุรี หลังบ้านของเธอมีเนื้อที่กว้างขวาง คนจีนมาเช่าอยู่เป็นส่วนมาก รวม 50-60 หลังคาเรือน เธอจึงเป็นหัวโจกของเด็กๆ ในบริเวณนั้นที่เป็นเพื่อนเล่นกัน นอกจากนี้ นางกิมฮวย มารดา ยังคอยดูแลทุกข์สุขให้ผู้เช่า ทั้งเรื่องเงินทอง หยูกยา และการยุติข้อพิพาท ทำให้ ด.ญ.ฉลอง คุ้นเคยกับงานสังคมเคราะห์และงานกระบวนการยุติธรรมมาแต่วัยเยาว์
  • ชีวิตวัยเด็กมีผลต่อการสร้างความเป็นตัวตนของเธอเป็นอย่างมาก ดังที่เธอเขียนเอาไว้ว่า “การมีครอบครัวที่อบอุ่นและได้รับความรักจากคนรอบข้างเต็มที่ ทำให้ฉันเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองค่อนข้างสูงมาก จนทำให้ไม่ยอมเชื่อใครง่ายๆ และไม่กลัวใคร



  • ด.ญ.ฉลอง เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนลวะศรี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเทพสตรี) เมื่ออายุ 10 ขวบ เหตุที่เข้าโรงเรียนช้า เพราะพ่อแม่ตามใจ ไม่อยากไปโรงเรียนก็ไม่ต้องไป จนวันหนึ่งญาติชื่อ พัว สุวรรณประกร มาเยี่ยมบ้าน แล้วอ่านหนังสือให้ผู้ใหญ่ฟังได้อย่างคล่องแคล่ว เธอจึงได้แรงบันดาลใจอยากเรียนหนังสือ เพราะตนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
  • เมื่อเรียนหนังสือแล้ว เธอก็ชอบอ่านหนังสือมาก ถึงขนาดว่าทุกครั้งที่รถไฟนำหนังสือพิมพ์มาส่ง เธอจะไปรอรับเอง และอ่านอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยเฉพาะข่าวการศึกษา จนประทับใจกับผลงานของนักเรียนโรงเรียนราชินีบนที่มีความสามารถมาก ซึ่งในปีที่เธอจบชั้น ม.5 นั้น น.ส.สายหยุด เก่งระดมยิง จากราชินีบน สอบชิงทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาได้
  • เมื่อเธอเรียนจบ ม.5 จากลพบุรีแล้ว พ่อของเธอไม่ยอมให้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เพราะเห็นว่าผู้หญิงในยุคนั้นไม่จำเป็นต้องเรียนสูง ความสำคัญอยู่ที่การเป็นแม่บ้านแม่เรือนมากกว่า เธอจึงอาศัยจังหวะที่มีญาติจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมบ้าน ขออนุญาตบิดาตามญาติไปเที่ยวกรุงเทพฯ แต่บอกความจริงกับมารดาว่าตั้งใจจะไปเรียนต่อ นางกิมฮวยจึงมอบเงินและแหวนไว้ให้ไปขายเผื่อขัดสน
  • ที่กรุงเทพฯ เธอมาอาศัยอยู่ที่บ้านขุนอนุสรศุภกิจ (บุญ ทัพพันธุ์) ที่บ้านเชิงสะพานเฉลิมวันชาติ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของบิดา โชคดีที่บริวารของท่านคนหนึ่งเคยทำงานในวังของ ม.จ.วงศ์สุดาทิพย์ เทวกุล อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนราชินีบนมาก่อน จึงพาไปพบท่านหญิงได้ เมื่อท่านทราบความต้องการ จึงให้เขียน essay เป็นภาษาอังกฤษเรื่องหนึ่ง ครั้นอ่านแล้วก็ทรงเมตตารับเธอเข้าเรียนต่อ
  • ภายหลังเธอย้ายไปเรียนที่โรงเรียนราชินีจนจบ เพราะที่นั่นเปิด ม.6 เพิ่มอีก 1 ห้อง และที่นั่งเดิมในโรงเรียนราชินีบนนั้น อยู่หน้าสุดริมห้อง และมองกระดานไม่ค่อยเห็น ที่เธอย้ายไปนั้น เพราะเห็นว่า “ทั้งสองแห่งเปรียบเสมือนโรงเรียนเดียวกัน


“คุณอาเส่ย” (ส้อย ทัพพันธุ์)


  • ขุนอนุสรศุภกิจมีภรรยาชื่อ เส่ย ซึ่งเป็นน้องสาวของ เซาะเช็ง โดยนับเป็นน้าที่สนิทของหลาน ดังที่นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนถึงเส่ยว่า “แรกเมื่อข้าพเจ้าจำความได้ น้าสอยยังไม่มีเรือน ได้เป็นผู้หนึ่งที่อุปการะดูแลพวกข้าพเจ้า – โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบ น้องสาวข้าพเจ้า – แทนมารดาข้าพเจ้า ซึ่งขณะนั้นป่วยต้องนอนรักษาตัวอยู่เป็นเวลานั้น
  • ตอนที่ฉลองอาศัยอยู่ในบ้านขุนอนุสรศุภกิจ นอกจากลูกแท้ๆ ของท่าน คือ ออม ถนอมสิน วราณี และบุตรบุญธรรมอย่างอินและจันแล้ว ยังมีระเบียบ อึ๊งภากรณ์ อยู่รวมกันด้วย  ฉลองเล่าว่า “คุณอาเส่ยรักและเมตตา ปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนเป็นลูกของท่านเอง ให้กินให้อยู่ ซื้ออะไรให้ลูกท่าน ก็ให้พวกเราด้วย เราทุกคนรักกันเหมือนพี่น้องแท้ๆ จนตายจากกัน” ความรู้สึกเช่นนี้เองที่ทำให้เธอตระหนักดีว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับความรัก ต้องได้รับการยอมรับ จึงจะเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองได้ รวมถึงผลักดันให้เธอมาทำงานสังคม อย่างงานที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กและบ้านกาญจนาภิเษกในภายหลัง


กับป๋วย อึ๊งภากรณ์
  • หลังเรียนจบแล้ว เธอศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา ซึ่งมีอาคารที่สวยงาม ต้นไม้ร่มรื่น เพราะเคยเป็นพื้นที่วังและตำหนักในสมัยรัชกาลที่ 5 มาก่อน โดยเธอสามารถสอบชิงทุนฝึกหัดครูประถม


ในสวนสุนันทา


  • เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เธอมารับราชการที่โรงเรียนปานขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยสอนเกือบทุกวิชาในชั้น ม.1 และสอนภาษาอังกฤษ วิชาขับร้องสำหรับทุกชั้น สถานที่สอนขับร้องของเธอคือศาลาวัด ซึ่งอยู่ริมทางที่ตัดตรงไปที่ว่าการอำเภอ หลายครั้งคุณครูสาวจึงเห็นนายอำเภอบ้านหมี่มายืนฟังเพลงอยู่ใต้ต้นไม้ริมทาง
  • หลังจากนั้นเธอย้ายไปสอนที่โรงเรียนเทพสตรี ต่อมาได้ทุนไปเรียนประโยคครูมัธยม ที่โรงเรียนฝึกหัดครูจันทรเกษม กรุงเทพฯ แต่พอเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลต้องประกาศปิดโรงเรียน เธอจึงกลับบ้านที่ลพบุรี
  • ในสมัยรัฐนิยมของรัฐบาลพิบูลสงคราม ‘ฉลอง’ เป็นชื่อที่บ่งความเป็นชาย เธอจึงจำต้องเปลี่ยนให้เป็นหญิง มีคนแนะนำให้ใช้ ‘ฉลองลักษณ์’ แต่เธอไม่นึกอยากจะเก็บชื่อเดิมไว้ จึงเลือกชื่อ ‘จันทนี’ เพราะประทับใจในความหมายที่ว่า ‘ผู้ลูบไล้ด้วยจุลจันทน์ คือ พระศิวะ’


“นายอำเภอพาไปทัศนศึกษา”


  • ที่ลพบุรี บ้านเธออยู่ใกล้สถานีรถไฟ ซึ่งมีทหารมาขอตั้งค่ายเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ ครอบครัวของเธอจึงอพยพไปอยู่อำเภอบ้านหมี่ ที่มีบ้านเพื่อนของพ่อเธอให้พำนัก ที่นี่เองนายอำเภอซึ่งคุ้นเคยกับบ้านนั้นมาแต่เดิม คอยมาดูแลช่วยเหลือเรื่องต่างๆ จนคุ้นเคยกับบิดามารดาของเธอ ฝ่ายพ่อแม่และพี่ของเธอก็เห็นว่าเขาเป็นคนดี
  • คุณครูจันทนีสมรสกับนายอำเภอ ศิริ สันตะบุตร ขณะเป็นนายอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
  • เมื่อแต่งงานกันแล้ว จันทนีลาออกเพื่อมาเป็นแม่บ้าน ดูแลสามีและลูกๆ แต่เพียงเงินเดือนข้าราชการของศิรินั้นไม่พอใช้ในครอบครัว ตอนที่เขาเป็นนายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด เธอจึงต้องทำฟืนขาย จนภายหลังย้ายมากรุงเทพฯ แล้วจึงได้เงินเดือนมากขึ้น กระนั้นก็มีบางช่วงที่เธอเปิดร้านเสริมสวย แต่สิ่งที่ทำให้ครอบครัวฐานะดีขึ้น คือการรวมหุ้นกับญาติพี่น้องซื้อขายที่ดิน 
  • จันทนี (ติ๊ก) กับศิริ มีบุตรธิดารวม 4 คน โดยใช้อักษร ศ นำชื่อลูกสาว และ จ นำหน้าชื่อลูกชาย อย่างไพเราะ ดังนี้ ศิรินี (ตุ๊ก) ศุทธินี (ตั๊ก) จิรวุฒิ (ต๊อก) และจริย์วัฒน์ (แต๊ก)
  • แต๊กเคยให้สัมภาษณ์ ในวัย 39 ปี ขณะเป็นเลขานุการเอก กองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศแล้วว่า “มันก็ตลกน่ะนะ เราอยู่ข้างนอกเราเหมือนกับผู้ใหญ่ มีเพื่อนร่วมงาน มีนาย มีลูกน้อง แต่พอกลับเข้าบ้านก็หมดแล้ว ไม่มีแล้ว ก็กลายเป็นเด็กเล็กคนนึง ทานนั่นมั้ย อ้าว! ทานเผ็ดไม่ได้ แต่ต้องเตรียมนี่ไว้ให้…แม่ก็ยังเป็นแม่อยู่จนทุกวันนี้ ไม่ว่าผมจะเป็นยังไง…แม่ก็ยังคงห่วงอยู่อย่างนี้” 


ตั๊ก ต๊อก แต๊ก ตุ๊ก


  • หลังจากย้ายตามศิริไปเป็นนายอำเภอเมืองนครราชสีมา และปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว จันทนีก็ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ถาวร โดยอาศัยอยู่บ้านที่ถนนข้าวสาร รวมกับมารดาและน้องๆ ของศิริ ภายหลังจึงค่อยไปอยู่ที่ซอยเจริญพร ถนนประดิพัทธ์
  • ชีวิตครอบครัวในห้วงหลังสงครามโลกขาดแคลนสิ่งของต่างๆ อะไรก็ไม่มี การใช้ชีวิตอย่างประหยัดจึงเป็นสิ่งเจนตาของลูกๆ เช่น จันทนีไปขอเศษผ้าจากร้านตัดเสื้อมาตัดเสื้อผ้าให้ลูก ดังที่เธอเล่าว่า “ลูกๆ ที่เป็นด๊อกเตอร์ทั้งหลายนี่เมื่อก่อนใช้เศษผ้าร้านตัดเสื้อมาตัดกระโปรง เลาะกระโปรงมาตัดเสื้อ เอามาต่อทำเสื้อผ้าใส่ เพราะมันไม่มีขายด้วย
  • เมื่อศิริย้ายเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ แล้ว จันทนีได้เข้าเป็นสมาชิกสโมสรวัฒนธรรมหญิง ซึ่งมีภริยานายกรัฐมนตรี ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณหญิงอารี สุนาวินวิวัฒน์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ที่นี่เองเธอได้เริ่มทำงานสังคมสงเคราะห์ ไปช่วยเหลือที่โรงพยาบาลเด็กและโรงพยาบาลหญิง เป็นต้น



  • เมื่อแต๊กเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว จันทนีพอจะมีเวลาเป็นของตัวเอง จึงหวนกลับไปเรียนต่ออีกครั้ง จนสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ขณะนั้นเป็นมหาวิทยาลัยเปิด) ในปี พ.ศ. 2500 เมื่ออายุ 35 ปี
  • หลังจากเรียนจบกฎหมายแล้ว เธอได้ใช้ความรู้ทำงานเพื่อสังคมในองค์กรต่างๆ เช่น นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย 2 สมัย ผู้พิพากษาสมทบศาลเด็กและเยาวชน 17 ปี และงานในมูลนิธิหลายแห่ง อาทิ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ฯลฯ รวมถึงมีบทบาทในการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ
  • นอกจากสนับสนุนเรื่องการศึกษาเล่าเรียนของภรรยาแล้ว นักเรียนเก่าจากโรงเรียนกฎหมายอย่างศิริก็เตรียมข้อมูลให้จันทนีในการทำงานทางสังคม การแก้ไขกฎหมายต่างๆ เป็นอย่างดี ดังที่เธอเขียนไว้ว่า “ถ้าไม่มีพ่อเป็นกำลังสำคัญสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเช่นนี้ แม่ไม่มีทางที่จะทำงานสำเร็จได้เลย
  • ศิริเป็น ‘แฟน’ ตลอดกาลของจันทนี เขาตัดข่าวหนังสือพิมพ์ บทความในนิตยสารที่ลงข่าวของเธอไว้เสมอ จัดใส่อัลบั้มไว้ หลายเล่มวางไว้ข้างเตียง เมื่อจันทนีไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เขามักจะเปิดอ่าน เปิดดูทุกคืน จนเป็นภาพชินตาของคนในบ้าน



  • หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เธอได้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับ มีบทบาทผลักดันสิทธิสตรีให้เท่าเทียมบุรุษ แก้ไขกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายครอบครัว กฎหมายแรงงานหญิงและเด็ก กฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เป็นต้น



  • จันทนียังเป็น ‘ผู้กล้าหาญ’ แห่งยุคด้านการแต่งตัว ตามคำของ ‘โรมิโอ-จูเลียต’ แห่งคอลัมน์ เอ็กซ์คลูซีฟ วันอาทิตย์ เพราะเธอกล้าที่จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าซ้ำๆ อย่างไม่อายใคร เธอไม่เคยฟุ่มเฟือยเรื่องเสื้อผ้า และแต่งตัวได้เหมาะกับกาลเทศะและบุคลิกของเธออยู่เสมอ
  • ในยุคที่เธอดำรงตำแหน่งนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย (2518-2522) ได้ระดมทุนจัดสร้างอาคารที่ทำการของสมาคม บริเวณบ้านพระกรุณานิวาสน์ ทั้งการจัดแสดงบัลเลต์บอลชอยและการรับบริจาคจากบุคคลต่างๆ
  • จันทนียังเป็นกรรมการมูลนิธิพิบูลสงเคราะห์ตั้งแต่ชุดแรกในปี 2516 ที่กรมราชทัณฑ์ตั้งขึ้นเพื่อสงเคราะห์ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ รวมถึงครอบครัวในด้านต่างๆ เช่น การสร้าง ‘บ้านบุญญาทร’ รับเลี้ยงเด็กติดผู้ต้องขังภายนอกเรือนจำ การจัดทุนการศึกษาให้บุตรของผู้ต้องขัง ให้มีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างต่อเนื่องจนถึงปริญญาตรี เป็นต้น
  • เธอเคยซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงเมื่อ 50 กว่าปีมาแล้วให้ลูกฟัง วันหนึ่ง เธอยกเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้กับเด็กบ้านปรานี เพราะเห็นว่าลูกฟังแค่ 4 คน ได้ประโยชน์แค่ 4 คนเท่านั้น แต่ยกให้บ้านปรานี เด็กหลาย ๆ คนได้ประโยชน์ และดนตรีคงจะช่วยให้เด็กที่ไม่ได้ออกไปไหนมีความสุข อารมณ์ดีด้วย
  • 5 พฤษภาคม 2521 จันทนีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า จึงมีคำนำหน้าชื่อเป็น ‘คุณหญิง’ นับแต่นั้นมา
  • ในปี 2522-2524 จันทนีได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาสตรีแห่งชาติ จากคำสัมภาษณ์ของเธอในยุคนั้นพบว่า สิ่งที่เธอให้สัมภาษณ์ว่าอยากทำมากที่สุดในห้วงเวลานั้น คือ “อยากลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยค่ะ” สภาสตรีฯ จึงจัดโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้หญิงทั้งในชนบทและในสลัม “เราต้องเปลี่ยนค่านิยม ต้องไม่ให้มีช่องว่างระหว่างคนในสังคม จะจัดงานอะไรต้องให้คนธรรมดาเขารู้สึกอยากเข้าร่วมกิจกรรมด้วย
  • 11-24 เมษายน 2524 จันทนีเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ โดยเป็นแขกของสหพันธ์สตรีจีน และกลับมาเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ ไมตรีจิต มิตรสัมพันธ์ ไทย-จีน


วันที่ 2 สิงหาคม 2522 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานงานนิทรรศการเทิดพระเกียรติฯ ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูิปถัมภ์ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรส ณ บ้านมนังคศิลา ถนนหลานหลวง
  • จันทนียังมีบทบาทในการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค โดยเป็นประธานอนุกรรมการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในปี 2522-2542 ทำงานผลักดันให้สอนในหลักสูตรการศึกษาและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั่วประเทศ



  • ในปี 2528-2531 และ 2536-2539 จันทนีเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าสวนสุนันทา ซึ่งมีผลงานสำคัญ คือ การสร้างอาคารศรีจุฑาภา เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาและส่วนหนึ่งเป็นที่ทำการของสมาคม
  • เมื่อมีโอกาสทำงานด้านสตรีแล้ว เธอก็สนใจงานด้านเด็กตามไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลคดีเด็กและเยาวชน เธอเห็นว่า “ดิฉันเคยคลุกคลีกับเด็กๆ ที่ยากไร้ในชนบท เมื่อครั้งที่ดิฉันยังเด็ก และยังได้มาสัมผัสกับความว้าเหว่และด้อยโอกาสของเด็กที่ศาลเด็ก…จึงทำให้ดิฉันเห็นชัดปัญหาของเด็กเหล่านี้เลยว่าเป็นเรื่องที่จะต้องหาทางช่วยเหลือและแก้ไขโดยเร็วที่สุด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้ ไม่ใช่เกิดจากความผิดของเขาเลย เขาบริสุทธิ์นะคะ สังคมและสิ่งแวดล้อมต่างหากที่ทำให้เขาเป็นไปได้ต่างๆ นานา
  • ในห้วงระยะเวลาหลายปี เธอเป็นทั้งประธานมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กและมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม เธอเล่าว่า “มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ จะเน้นที่การแก้ไขและป้องกันปัญหาพื้นฐานของเด็กในด้านต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ ให้มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กจะเน้นที่การช่วยเหลือและแก้ปัญหาในเด็กเร่ร่อน และเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง



  • ความรักความอบอุ่นที่จันทนีเคยได้รับจากบ้านขุนอนุสรศุภกิจ เพื่อนของบิดา ขณะที่เธอมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ มีสิทธิ์เหมือนลูกคนหนึ่ง ทำให้เธอมีความสุข อยากทำอะไรดีๆ ให้คนอื่น ฉะนั้น เธอจึงเชื่อมั่นว่า เด็กที่เธอพิจารณาคดีอยู่ในศาลคดีเด็กฯ ถ้านำมาเข้าในสถานพินิจ และได้รับความรักความอบอุ่น ตระหนักในคุณค่าของตัวเองแล้ว จะตระหนักในสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง เด็กพวกนี้เปลี่ยนแปลงได้ จึงเริ่มโครงการสร้างบ้านที่เป็นสถานฝึกอบรม ไม่ใช่สถานที่กักกัน กลายเป็นโครงการสร้างบ้านกาญจนาภิเษกขึ้นมาในวาระมหามงคลที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระเมตตาต่อโครงการบ้านกาญจนาภิเษกเป็นอย่างมาก นอกจากประทานเงิน 5 ล้านบาทตามที่รับสั่งว่า “ขาดเท่าไหร่” แล้ว ยังเสด็จฯ มาเปิดบ้านกาญจนาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2547 อีกด้วย


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เสด็จฯ เปิดบ้านกาญจนาภิเษก เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547


  • ปี 2544-2549 จันทนีได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรก ดูแลงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กับงานด้านราชทัณฑ์และสถานพินิจ
  • นอกจากผลงานต่างๆ ข้างต้นแล้ว เธอยังเคยทำงานในองค์กรอื่นๆ อีก เช่น กรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ประธานมูลนิธิช่วยการศึกษาเยาวชนสยาม ประธานมูลนิธิเพื่อความก้าวหน้าสตรีแห่งประเทศไทย นายกสมาคมเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม รองประธานมูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการสมาคม Y.W.C.A. กรรมการสโมสรซอนต้าแห่งประเทศไทย และกรรมการก่อตั้งสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน เป็นต้น


มติชน 15 กันยายน 2546


  • จันทนีเป็นคนกล้าเสี่ยงเพื่อช่วยเหลือคนอื่น สุกัญญา หาญตระกูล เล่าว่า คราวหนึ่งจันทนีมอบโฉนดที่ดินให้ไปประกันตัวสาวโรงงานคนหนึ่งที่ถูกจับ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงโสเภณี เพียงเพราะไปอยู่ผิดที่ผิดเวลา และไม่มีความรู้ทางกฎหมายป้องกันตัว
  • นอกจากการเป็นแม่ของลูก 4 คนแล้ว จันทนียังมีลูกๆ อีกเป็นจำนวนมากที่เคารพนับถือเธอจากความอบอุ่น เมตตาปรานีที่เธอมอบแก่เพื่อนร่วมงานในหน่วยงานต่างๆ จนกลายเป็น ‘คุณหญิงแม่’ ของใครหลายๆ คน
  • หลักที่เธอใช้อบรมสั่งสอนลูกๆ นั้น คือ “ให้รู้จักใจเค้าใจเรา…สอนให้เค้าเผชิญความจริง สอนให้เค้าเห็นใจคน…ใครมาช่วยเราไม่ได้หรอก นอกจากคุณความดี และความสามารถ
  • เธอเป็นคน ‘โรแมนติก’ ในจดหมายที่เขียนถึงตาต้า หลานสาวคนเดียวของเธอ (นอกจากหลานชาย 2 คน คือ เตเต้กับโตโต้) ก็ใช้ถ้อยคำกินใจ เช่น “เต้+โต้ต้องผลัดกันมานอนเฝ้าย่า เวลาป้าตั๊กไปต่างจังหวัด ย่าอยากตื่นมาแล้วพบตาต้าอยู่หน้าเตียง…รักมากที่สุด ย่า
  • แม้จันทนีจะมีงานราษฎร์งานหลวงไม่เคยขาด แต่เธอก็มีความสุขกับงาน ดังที่เคยเล่าไว้ว่า “ดิฉันมีความสุขอยู่กับงานที่ทำอยู่มาก คือ การจะทำงานให้สำเร็จได้นั้น จะต้องมีใจชอบในงานที่ทำอยู่เสียก่อน หากเราต้องฝืนใจทำอะไรสักอย่างแล้ว จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย
  • ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับจันทนีหลายคนต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า เธอมักจะสอนวิชาการรับฟังให้ “ฟังเขาก่อน” อย่าไปแสดงความเห็นคัดค้านทันทีที่มีผู้เสนอขึ้นมาในที่ประชุม เพื่อจะได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย ก่อนจะชี้แจงไปตามเหตุผลและข้อมูลทางวิชาการที่ศึกษามา
  • จันทนีครองรักกับศิริถึง 56 ปี ตราบจนเขาตายจากไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 แต่กระนั้นความรักของทั้งคู่มิได้จืดจางลง เพราะเมื่อสามีตายไปแล้วนั้น ทุกคืนก่อนนอน แม้ไปต่างจังหวัด เธอจะหยิบจดหมายรักมาอ่านก่อนนอน เธอเอาเทปแปะแล้วแปะอีก เพราะกระดาษกรอบไปตามสภาพ และเรียกจดหมายเหล่านี้ว่า ‘กำลังใจ’ โดยเฉพาะเวลาต้องเตรียมประชุมเรื่องเครียดๆ  


จดหมายรัก จันทนี-ศิริ


  • ช่วงท้ายของชีวิต เมื่อเธอลืมอะไรต่างๆ ไปแล้ว สิ่งที่เธอเล่าได้ กลับเป็นเรื่องบางเรื่องที่ลูกๆ คาดไม่ถึง เช่น เล่าว่าต๊อกไปซื้อขนมซึ่งไม่อร่อยมาหลายวันติดกัน แล้วเคี่ยวเข็ญให้คนอื่นกิน จนเธอต้องถาม ต๊อกซึ่งเป็นคนไม่ค่อยพูด จึงตอบว่า “สงสารคนแก่ที่นั่งขาย ไม่มีคนซื้อ” เป็นต้น
  • ช่วง 13 ปีสุดท้ายของชีวิต จันทนีเริ่มลืม แต่ก็มีความสุขตามวัย จนชีวิตถึงที่สุดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เมื่อผู้ดูแลมาปลุก เธอไม่ตื่น และไปถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ 97 ปี
  • กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ฉายภาพของจันทนีได้อย่างมีชีวิตชีวาว่า “คุณป้าจันทนีเป็นบุคคลผู้ที่มุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมตลอดเวลา มีพลังบวกและมีเมตตาสูงมาก เวลาได้อยู่ใกล้ท่านจะรู้สึกอบอุ่น ได้รับพลังจากท่าน ทำให้มีกำลังใจ อยากไปผลักดันงานที่ทำต่อให้สำเร็จ
  • ส. ศิวรักษ์ บรรยายสรุปชีวิตของสตรีผู้นี้ไว้อย่างกระชับว่า “คุณหญิงจันทนีเป็นสุภาพสตรีแบบไทยแท้ มีความนิ่มนวลและอ่อนโยน แต่ก็แม่นในหลักการ หากไม่ต้องการสู้รบตบมือกับพวกแสวงหาอำนาจซึ่งมักหาทางแทงข้างหลังอีกด้วย แม้ท่านจะรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่มีผู้มุ่งร้ายต่อตัวท่าน แต่ท่านก็ให้อภัยอย่างน่าทึ่ง



จันทนี สันตะบุตร

จันทนี สันตะบุตร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save