fbpx

ขบวนการคนหนุ่มสาวมาเลเซีย เมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่งอก

พ.ศ. 2563 บทบาทของคนหนุ่มสาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คึกคักขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่สลบไสลไปนาน โดยมีสองประเทศที่ล้ำหน้าจุดประเด็น คือประเทศไทยบ้านเรา ตามมาด้วยมาเลเซียบ้านใกล้เรือนเคียง ที่คนหนุ่มสาวหน้าใสสร้างแรงกระเพื่อมในการเมืองระดับชาติ

ในขณะที่โลกจับตามองข่าวการยุบพรรคอนาคตใหม่ในประเทศไทย ในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้นก็มีข่าวการเมืองฮือฮาที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อมีการจดทะเบียนตั้งพรรคของคนรุ่นใหม่ที่รู้จักกันในนาม MUDA (Malaysian United Democratic Alliance) อันมีความหมายในภาษามลายูว่า ‘เยาว์วัย’ หรือ ‘สดใหม่’ พรรค MUDA ประกาศตัวเป็นตัวแทนในการนำพาเสียงของคนรุ่นใหม่เข้าสู่รัฐสภาเพื่อสร้างการเมืองที่สะอาดยุติธรรมให้คนมาเลเซียทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียมกัน

หนึ่งเดือนก่อนจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ไซด์ ซาดีค บิน ไซด์ อับดุล ราห์มาน (Syed Saddiq bin Syed Abdul Rahman) หัวหน้าพรรค MUDA ให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า “หากประเทศไทยสามารถตั้งพรรคก้าวไกล ฝรั่งเศสมีพรรค En Marche ภายใต้การนำของเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ผมก็คิดว่าถึงเวลาที่มาเลเซียจะต้องเริ่มขบวนการของคนหนุ่มสาวได้แล้ว”

แรงบันดาลใจจากขบวนการคนหนุ่มสาวในต่างประเทศประกอบกับบทบาทการเมืองที่โดดเด่นของเขาไม่นานก่อนหน้าอาจเป็นเหตุผลของความมั่นใจในครั้งนั้น 

ซาดีคเกิดในปี 2535 มีอายุเต็ม 31 ปีในปีนี้ เขาจบนิติศาสตร์จาก International Islamic University Malaysia เริ่มงานเป็นอาจารย์พิเศษ สร้างชื่อจากการเป็นคอลัมนิสต์การเมืองนักโต้วาทีผู้ได้รับรางวัลระดับภูมิภาค เขาอาจจะยังเป็นแค่คนหนุ่มที่กระตือรือร้นทางการเมืองธรรมดาๆ ถ้าไม่บังเอิญไปแตะตาอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) จนได้รับเกียรติให้เป็นเด็กปั้นคนสุดท้ายของมหาเธร์ตามหลังรุ่นพี่อย่าง อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim)

ก่อนการเลือกตั้ง 2561 มหาเธร์ชวนเขาเข้าพรรคเบอร์ซาตู (Parti Pribumi Bersatu Malaysia) ของตน โดยให้ตำแหน่งหัวหน้าปีกยุวชนพรรค ซาดีคทิ้งงานทั้งหมดตอบรับคำชวนของผู้อาวุโส เบอร์ซาตูจับมือเป็นพันธมิตรกับแนวร่วมฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) และชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ซาดีคได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬาในวัยเพียง 25 ปี

แต่อนิจจารัฐบาลปากาตันอยู่ได้เพียง 22 เดือนก่อนจะล้มเพราะปรากฏการณ์งูเห่าย้ายมุ้ง มหาเธร์และแนวร่วมปากาตันแยกวง ซาดีคแยกตัวเป็นอิสระจับมือกับคนวัยเดียวกันประกาศตั้งพรรค MUDA หลังจากนั้นไม่นาน เขาใฝ่ผันจะให้พรรคนี้เป็นพรรคที่รวมเอาเทคโนแครต มืออาชีพ และนักการเมืองรุ่นใหม่จากภูมิหลังที่หลากหลายเข้าด้วยกันเพื่อผลักดันให้เสียงขอเยาวชนยึดครองพื้นที่ทั้งในและนอกสภาฯ ไม่ถูกมองข้ามอีกต่อไป

พรรค MUDA ตั้งขึ้นในภาวะที่การเมืองมาเลเซียสั่นคลอนจากการแตกแยก ประชาชนเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาโควิด-19 แต่สำหรับ MUDA มันคือจังหวะสำคัญเพื่อเตรียมพร้อมในการดึงดูดเสียงของคนหนุ่มสาวมาเลเซียในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่ากำลังจะมาถึงใน พ.ศ. 2565   

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ใน พ.ศ. 2565 มาพร้อมกับความพิเศษประการหนึ่ง นั่นคือจะมีผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นมาราว 7.5 ล้านคน จากการแก้รัฐธรรมนูญลดอายุผู้มีสิทธิหย่อนบัตรจาก 21 ปี ลงมาเป็น 18 ปี และให้มีการลงทะเบียนแสดงฐานะผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งให้ประชาชนโดยอัตโนมัติ จากการที่ต้องไปลงทะเบียนด้วยตัวเอง กลุ่มคน 7.8 ล้านคนที่เพิ่มขึ้นมาส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรกออกเสียงคือ 18-20 กว่าๆ สถิติการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ใน พ.ศ. 2561 ชี้ว่าร้อยละ 80 ของเยาวชนผู้มีสิทธิออกเสียงตบเท้ากันไปลงคะแนน โดยส่วนใหญ่ลงคะแนนให้ปากาตัน ซึ่งซาดีคเป็นแนวร่วมด้วยในเวลานั้น ทำให้หลายคนเชื่อว่า MUDA กำลังจะเป็นพรรคดาวรุ่งพุ่งแรงของมาเลเซียในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

การเลือกตั้งมาเลเซียครั้งล่าสุดผ่านไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ MUDA ไม่อาจคว้าดวงดาวตามที่หวังเอาไว้ ผลที่ได้น่าผิดหวังกว่าที่คิด เพราะมีเพียงซาดีคได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพียงคนเดียวของพรรค ในขณะที่ผู้สมัครรายอื่นไม่อาจช่วงชิงที่นั่งมาได้ MUDA กลายเป็นพรรคแนวร่วมแบบห่างๆ ของรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) และไม่ได้รับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีใดๆ

MUDA พลาดตรงไหน เหตุใดเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไปกลับไม่มีแววว่าจะงอกขึ้นมาเหนือดิน หรือว่าคนหนุ่มสาวมาเลเซียเลิกใส่ใจการเมืองเสียแล้ว?

คำถามนี้ไม่อาจตอบได้เลยถ้าไม่ย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศที่ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่คนหนุ่มสาวมาเลเซียจำนวนมากถูกกีดกันออกจากการเมือง ก็มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากพอกันที่ถูกจัดให้เข้าอยู่ในกรอบการจัดตั้งทางการเมืองที่เริ่มมากว่า 60 ปีที่แล้ว

บทบาททางการเมืองของคนหนุ่มสาวมาเลเซียย้อนกลับไปในอดีตได้ถึงต้นทศวรรษ 1930 ในยุคมลายาภายใต้อังกฤษ คนหนุ่มสาวมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เรียกร้องเอกราชต่อต้านเจ้าอาณานิคมจนมาเลเซียประกาศเอกราชตั้งประเทศใน พ.ศ. 2500 นับแต่นั้นจนถึงก่อน พ.ศ. 2514  ขบวนการนักศึกษามาเลเซียค่อยๆ พัฒนาขึ้นโดยมีอุดมการณ์สังคมนิยมเป็นตัวนำ โดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยมลายาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวในเวลานั้น บทบาทนักศึกษาพุ่งสูงสุดใน พ.ศ. 2510 เมื่อมีการระดมรณรงค์สนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้านยากจนไร้ที่อยู่อาศัยในเขต Teluk Gong ในรัฐสลังงอร์ และขยายตัวเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิของเกษตรกรไร้ที่ดินในมาเลเซีย

ใน พ.ศ. 2512 เกิดการจลาจลในกรุงกัวลาลัมเปอร์โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธชาวมลายูไล่สังหารชาวจีนในกรุงกัวลาลัมเปอร์หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปประกาศว่าพรรค DAP (Democratic Action Party) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีฐานเสียงเป็นชาวจีนชนะเลือกตั้งในเมืองหลวง การจราจลทำให้ชาวจีนนับร้อยถูกสังหาร ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา แต่ขบวนการนักศึกษาที่มักออกเดินขบวนประท้วงทางการเมืองถูกจับตามองว่าสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ก่อนที่ใน พ.ศ. 2514 รัฐบาลพรรคอัมโนออกกฎหมาย Universities and University Colleges Act 1971 ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า AUKU 1971 เพื่อควบคุมความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาได้สำเร็จ

บทบาทของขบวนการนักศึกษาที่ต่อสู้ด้วยแนวคิดสังคมนิยมจบลงใน พ.ศ. 2518 เมื่อรัฐบาลแก้กฎหมาย AUKU 1971 สั่งห้ามไม่ให้องค์การหรือกลุ่มนักศึกษาใดๆ ข้องเกี่ยวกับพรรคการเมืองหรือสหภาพแรงงาน ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยมลายาที่เคยเป็นศูนย์กลางของขบวนการนักศึกษา กิจกรรมเช่น มุมอภิปราย (Speakers’ Corner) ถูกสั่งแบน รายชื่อของผู้นำนักศึกษาช่วงปี 2515–2518 ที่ติดแสดงอยู่ในอาคารสหภาพนักศึกษาถูกลบทิ้ง หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยถูกตรวจสอบ ท้ายที่สุดตามมาด้วยการยุบองค์กรนักศึกษาหัวก้าวหน้าทั้งหมด

AUKU สร้างความหวาดกลัวการลงโทษในหมู่นักศึกษา นักศึกษาบางรายพยายามทำกิจกรรมแบบหลบๆ ซ่อนๆ แต่เมื่อถูกจับได้ก็ถูกลงโทษอย่างหนัก

ระหว่าง พ.ศ. 2518-2541 รัฐบาลมหาเธร์ควบคุมฝ่ายค้านและนักศึกษาอย่างหนัก โดยใน พ.ศ. 2530 รัฐบาลใช้ ‘แผนปฏิบัติการลาลัง‘ (Operation Lalang) ใช้กฎหมายความมั่นคงภายในหรือ ISA (International Security Act) กวาดจับนักกิจกรรมการเมือง ปัญญาชน และนักการเมืองฝ่ายค้านกว่า 100 คนในเวลาเพียงหนึ่งเดือน หนังสือพิมพ์บางฉบับถูกเพิกถอนใบอนุญาตการพิมพ์ กิจกรรมในมหาวิทยาลัยยุติลงแทบทั้งหมด เหลือเพียงกิจกรรมนักศึกษาอิสลามที่มุ่งไปที่ดะวะห์หรือการเผยแพร่ศาสนา

หลังจากแผนปฏิบัติการลาลัง มหาวิทยาลัยไม่ใช่จุดเริ่มต้นของกิจกรรมทางปัญญา การจัดองค์กร และการขบคิดทางการเมืองของคนหนุ่มสาวอีกต่อไป จึงไม่แปลกที่ MUDA จะไม่สามารถหาจุดเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันในปัจจุบัน แม้แต่ขบวนการปฏิรูปการเมือง Reformasi ก่อตัวขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1990 จนกลายเป็นขบวนการใหญ่ของประเทศ นักศึกษาบางกลุ่มที่เข้าร่วมก็เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ที่แทบไม่มีบทบาทใดๆ

กิจกรรมการเมืองอิสระของนักศึกษามหาวิทยาลัยตายลงอย่างไม่มีวี่แววจะฟื้นคืนชีพในเร็ววัน แต่เยาวชนกลับอยู่สายตาของพรรคการเมืองแทบทุกพรรค ในฐานะที่เป็นทั้งฐานเสียงและเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญของพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่ก่อตั้งมายาวนาน เป็นวิถีปฏิบัติที่ทุกพรรคจะมีปีกยุวชนที่เติบโตคู่กับพรรคมาตั้งแต่ก่อตั้ง นอกจากปีกยุวชนจะเป็นช่องทางในการคัดคนรุ่นใหม่ที่มีแววเข้าพรรคแล้ว ยังเป็นการใช้พลังของคนหนุ่มสาวในการสร้างฐานการเมือง การรณรงค์ และแม้แต่การทำงานบู๊ๆ บางลักษณะที่ผู้อาวุโสในพรรคทำไม่ได้เพราะกลัวจะเสียผู้ใหญ่

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดตัวอย่างหนึ่งคือพรรคอัมโนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ก่อนมาเลเซียประกาศเอกราช และรับช่วงอำนาจทางการเมืองต่อจากเจ้าอาณานิคมเก่า อัมโนจัดตั้งปีกยุวชนพรรคโดยให้ชื่อว่าแนวร่วมยุวชนอัมโน (Perikatan Pemuda UMNO) ตั้งแต่ปี 2492 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการ ‘ปลดปล่อยประเทศ’ โดยมีคำขวัญว่า “Hidup Melayu” (แปลคร่าวๆ ว่า “มลายูยืนยง” หรือ “มลายูจงเจริญ” ) เป็นคำขวัญแรกของกลุ่ม 

ยุวชนอัมโนเป็นกลุ่มที่ไม่ธรรมดา เพราะใครก็ตามที่เข้ารับตำแหน่งประธานกลุ่มก็เท่ากับว่ากำลังเตรียมตัวพุ่งขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงของพรรครวมทั้งของประเทศ อดีตประธานกลุ่มยุวชนพรรคบางคนคว้าตำแหน่งประธานพรรคและนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ หลายคนนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องแลกกับการแสดงฝีมือในตำแหน่งยุวชนพรรค 

ใน พ.ศ. 2530 ระหว่างการกวาดจับฝ่ายค้านตามแผนปฏิบัติการลาลัง มีรายงานว่านาจิบ ราซัก (Najib Razak) ประธานกลุ่มยุวชนอัมโนในขณะนั้นชักกริชซึ่งเป็นอาวุธของมลายูและเป็นสัญลักษณ์ของพรรคอัมโน ขึ้นมากวัดแกว่งระหว่างการปราศรัยครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งขู่ว่า “กริชนี้จะชุ่มไปด้วยเลือดของคนจีน” ถึงแม้อัมโนจะออกมาปฏิเสธ แต่คำพูดนี้ยังอยู่ในความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบมาจนปัจจุบัน หลายปีให้หลังการกวัดแกว่งกริชยังไม่วายถูกเลียนแบบโดยรุ่นน้องบางคนจนเป็นข่าวฮือฮาและต้องออกมาขอโทษขอโพยกัน

ขณะที่ยุวชนพรรคอัมโนมีบุคลิกเฉพาะตัวที่เน้นผลักดันอุดมการณ์มลายูเป็นใหญ่ พรรคพาส (PAS: Parti Islam Se-Malaysia) พรรคการเมืองเก่าแก่และพรรคอิสลามหนึ่งเดียวของประเทศที่ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2494 ก็มีปีกยุวชนที่ตั้งขึ้นสามปีหลังการตั้งพรรค พรรคพาสเป็นพรรคการเมืองที่มีข้อได้เปรียบพรรคอื่นเพราะมีเครือข่ายโรงเรียนสอนศาสนาของตนอยู่ทั่วประเทศ ในเวลานั้นฝ่ายยุวชนพรรคพาสได้ตั้งสมาคมนักศึกษามุสลิมแห่งมาเลเซีย (Muslim Student Association of Malaysia: KEPAS) เพื่อใช้เป็นองค์กรในการจัดตั้งนักเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาเหล่านั้น ที่ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ห่างไกลและมีความคิดแบบอนุรักษนิยม 

เมื่อเวลาผ่านไป พาสได้จัดตั้งเครือข่ายนักศึกษามุสลิมที่ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมัชชาเยาวชนมาเลเซีย หรือ ‘ABIM’ (Angkatan Belia Islam Malaysia/ Assembly of Malaysian Youth) ที่อยู่รอดแม้ว่าจะตั้งขึ้นในช่วงที่รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมการทำกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในปี 2514 

ABIM เป็นแหล่งชุมนุมเยาวชนนักกิจกรรมศาสนาและการเมืองในทศวรรษ 1970 คนเหล่านั้นหันเข้าหาการเมืองและเติบโตในพรรคการเมืองหลายพรรคจนมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในปัจจุบัน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม และ ฮาดี อาหวัง (Hadi Awang) หัวหน้าพรรคพาสคนปัจจุบัน การจัดตั้งเยาวชนอิสลามของพรรคพาสยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพาสมีอิทธิพลต่อองค์กร GAMIS หรือขบวนการนักศึกษามุสลิมมาเลเซีย (Gerakan Mahasiswa Islam Malaysia/Malaysian Muslim Undergraduate Movement) ที่เป็นตัวผ่านทางอุดมการณ์สู่เยาวชนมุสลิมในมาเลเซียที่ย้อนกลับมาเป็นฐานเสียงที่เข้มแข็งของพรรคในการเลือกตั้ง

ในบรรดาเยาวชนจำนวน 7.8 ล้านคน ไม่มีใครรู้ว่ามีสักกี่ล้านคนที่มาจากเครือข่ายโรงเรียนสอนศาสนาของพรรคพาส กี่คนมาจากฐานของพรรคอัมโน และกี่คนหย่อนบัตรให้แนวร่วมปากาตัน อุดมการณ์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในมาเลเซียไม่ได้กำหนดโดยอายุหรือรุ่นคน แต่มาจากพื้นฐานทางสังคม ครอบครัว และเชื้อชาติ อันเป็นองค์ประกอบที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงของการเมืองมาเลเซีย

ความใฝ่ฝันของ MUDA ในการใช้พลังของคนรุ่นใหม่ไล่ความมืดดำของการเมืองแบบเก่าอาจเป็นไปได้ แต่แน่นอนที่สุดมันเป็นภารกิจที่ไม่มีใครทำได้ในเวลาอันสั้น        


อ้างอิง

https://www.eastasiaforum.org/2020/11/28/is-muda-a-new-hope-for-malaysian-politics/#more-315285

https://www.malaysiakini.com/news/541178

https://www.malaymail.com/news/malaysia/2020/10/07/syed-saddiqs-muda-launches-pausemalaysia-campaign-urging-political-parties/1910449

https://www.eastasiaforum.org/2020/07/16/youth-insecurity-in-malaysia/

https://www.nst.com.my/news/nation/2019/09/525882/more-200-foodpanda-riders-protest-over-new-payment-scheme

https://rakyatandrights.my/wp-content/uploads/2021/09/Imagined-Malaysia_Chapter-1_Research-Introduction.pdf

https://umno.org.my/en/sejarah-pemuda-umno/

https://www.sophielemiere.com/wp-content/uploads/2021/09/Misplaced-Democracy_Ebook.pdf#page=156

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save