fbpx

ส่อง กกต. อินโดนีเซีย เขาทำงานอย่างไร โดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องไหนบ้าง

จากกรณีพรรค Partai Rakyat Adil Makmur หรือพรรค Prima ยื่นคำร้องต่อศาลจาการ์ตากลางเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (Komisi Pemilihan Umum / KPU) ตัดสิทธิ์พรรค Prima ในการลงสมัครรับเลือกตั้งที่จะมีในปี 2024 เพราะพรรค Prima ไม่สามารถลงทะเบียนได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งศาลจาการ์ตากลางได้มีคำตัดสินให้ กกต. อินโดนีเซียระงับกิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด รวมถึงการจัดการเลือกตั้งและกล่าวว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดคือในปี 2025 คำตัดสินดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคมถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลจาการ์ตากลาง นำไปสู่การที่ กกต. อินโดนีเซียยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงจาการ์ตาให้พิจารณาใหม่ และในที่สุดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2023 ศาลสูงจาการ์ตาได้มีคำตัดสินยกเลิกคำตัดสินเลื่อนการเลือกตั้งโดยศาลจาการ์ตากลาง ซึ่งหมายความว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024   

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยสำคัญในกรณีดังกล่าวมาจากบทบาทและท่าทีของ กกต. อินโดนีเซียโดยเฉพาะประธาน กกต. นาย ฮาชิม อาชารี (Hasyim Asy’ari) ในการไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลจาการ์ตากลาง และยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงจาการ์ตาจนผลการตัดสินออกมาดังกล่าว และการเลือกตั้งเดินหน้าต่อไปได้

ตั้งแต่มีการปฏิรูปประเทศทุกภาคส่วนหลังการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ (ปี 1966-1998) เป็นต้นมา อินโดนีเซียมีการเลือกตั้งทั่วไปทั้งสิ้นรวมห้าครั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังมีอุปสรรคและปัญหาอยู่บ้างแต่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยและดำเนินอย่างปราศจากความรุนแรง กกต. อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการเลือกตั้ง และได้รับเสียงชื่นชมค่อนข้างมากจากประชาชน แต่อย่างไรก็ตามหากว่า กกต. มีการกระทำที่ไม่เข้าหูเข้าตาประชาชน ชาวอินโดนีเซียก็พร้อมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทันที

กกต. อินโดนีเซียเกิดได้อย่างไร

อินโดนีเซียมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 1955 แต่ว่ามีการตั้งหน่วยงานจัดการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 1946 หนึ่งปีหลังจากอินโดนีเซียประกาศเอกราช แต่หลังจากอินโดนีเซียได้เอกราชจริงๆ จากการรับรองโดยเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 1949 จึงมีการตั้งคณะทำงานการเลือกตั้งอินโดนีเซีย (Panitia Pemilihan Indonesia / PPI) ขึ้นเมื่อปี 1953 โดยมีหน้าที่เตรียมการและจัดการเลือกตั้งปี 1955 และต่อมาในปี 1958 มีการประกาศตั้งคณะทำงานการเลือกตั้งอินโดนีเซียชุดที่สอง แต่อย่างไรก็ตามในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โนมีการเลือกตั้งในปี 1955 เพียงครั้งเดียว

ต่อมาในยุคระเบียบใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีซูฮาร์โต มีการตั้งองค์กรการเลือกตั้งทั่วไป (Lembaga Pemilihan Umum / LPU) เมื่อปี 1970 เพื่อให้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยการเลือกตั้งครั้งแรกของยุคระเบียบใหม่มีขึ้นในปี 1971 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในประเทศดำรงตำแหน่งประธานองค์กรการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อยุคระเบียบใหม่ล่มสลายลงในปี 1998 เกิดการปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การปฏิรูปองค์การการเลือกตั้งทั่วไปด้วยเช่นกัน

ยุคปฏิรูปที่เริ่มภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี บี เจ ฮาบีบี (B J Habibie) เปลี่ยน LPU  มาเป็นคณะกรรมการเลือกตั้งทั่วไป (Komisi Pemilihan Umum / KPU) กล่าวได้ว่า กกต. อินโดนีเซียหรือ KPU ในปัจจุบันเป็นผลผลิตของการปฏิรูปทางการเมืองในยุคปฏิรูปของอินโดนีเซีย ผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการตั้งองค์กรจัดการการเลือกตั้งขึ้นโดยต้องเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ ตั้งแต่มีการแต่งตั้ง กกต. ชุดแรกในปี 1999 จนถึงปัจจุบันเป็นชุดที่หก ดังตาราง

กกต. อินโดนีเซีย ค.ศ. 1999-2023

ชุดที่ช่วงเวลาดำรงตำแหน่งลงนามแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีจำนวนสมาชิกประธานกกต.หมายเหตุ
11999-2001บี เจ ฮาบีบี53รูดีนี (Rudini) 
22001-2005อับดูร์ระห์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid)11นาซารุดดิน ชัมซุดดิน (Nazaruddin Sjamsuddin)ถูกดำเนินคดีและตัดสินจำคุกข้อหาคอรัปชั่น
 2005-2007  รัมลัน ซูร์บัคตี (Ramlan Surbakti) 
32007-2012ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน(Susilo Bambang Yudhoyono)7อับดุล ฮาฟิซ อันชารี (Abdul Hafiz Anshari) 
42012-2016ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน7ฮุสนี คามิล มานิค(Husni Kamil Manik)เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง
 2016  ฮาดาร์ นาฟิส กูมาย (Hadar Nafis Gumay)รักษาการแทน
 2016-2017  จูรี อาร์เดียนโต (Juri Ardianto)ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกกต.แทน
52017-2021โจโก วีโดโด (Joko Widodo)7อารีฟ บูดีมัน (Arief Budiman) 
 2021-2022  อิลฮัม ซาปุตรา (Ilham Saputra) 
62022-2027โจโก วีโดโด7ฮาชิม อาชารี 

          สมาชิก กกต. ชุดแรกมาจากตัวแทนรัฐบาล พรรคการเมืองต่างๆ และผู้นำชุมชน รวมทั้งสิ้น 53 คน ในช่วงปี 2000 มีการอภิปรายกันในรัฐบาลและสภานิติบัญญัติว่า กกต. ต้องเป็นอิสระและไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆ กกต. ชุดที่สองจึงประกอบไปด้วยนักวิชาการและนักกิจกรรมจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จำนวนรวม 11 คน ชุดที่สามมาจากกกต.ส่วนจังหวัดต่างๆ นักวิชาการ นักวิจัย และข้าราชการ ตั้งแต่ชุดที่สามเป็นต้นไป จำนวนกกต.เหลือแค่เจ็ดคน

บทบาทในการจัดการเลือกตั้ง

ในเว็บไซต์ของ กกต. อินโดนีเซียระบุวิสัยทัศน์ของ กกต. ว่า เป็นองค์กรจัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ เป็นมืออาชีพ และมีความซื่อสัตย์ เพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งที่มีลักษณะเป็นการเลือกตั้งโดยตรง สาธารณะ เสรี เป็นความลับ ซื่อสัตย์ และยุติธรรม

          ส่วนหน้าที่ของ กกต. ตามที่ระบุในเว็บไซต์ได้แก่

  1. พัฒนาคุณภาพการจัดการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเข้าถึงได้
  2. เพิ่มความซื่อสัตย์ ความเป็นอิสระ ความสามารถ และความเป็นมืออาชีพของผู้จัดการเลือกตั้งโดยการเสริมสร้างจรรยาบรรณของผู้จัดการเลือกตั้ง
  3. การร่างระเบียบการเลือกตั้งที่ให้ความแน่นอนทางกฎหมาย มีความก้าวหน้า และมีส่วนร่วม
  4. ปรับปรุงคุณภาพบริการเลือกตั้งสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
  5. เพิ่มการมีส่วนร่วมและคุณภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนเสียงเป็นเจ้าของอธิปไตยของรัฐที่เข้มแข็ง
  6. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเลือกตั้ง

การทำงานของ กกต. อินโดนีเซียโดยรวมค่อนข้างได้รับการยอมรับจากประชาชน การทำงานของ กกต. ชุดแรกในการเลือกตั้งปี 1999 ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนตลอดจนจากนานาชาติว่าสามารถจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใส ปราศจากความรุนแรง และเป็นประชาธิปไตย นอกจากการจัดการการเลือกตั้งแล้ว กกต. อินโดนีเซียพยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับชาติ ผ่านโครงสร้าง กกต. ระดับจังหวัด อำเภอหรือเขตเมือง ตลอดจนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าก็อยู่ภายใต้การควบคุมจาก กกต. มีงานศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับบทบาทของ กกต. ตามจังหวัดต่างๆ ที่ชี้ว่า กกต. มีบทบาทที่สำคัญในการยกระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เช่น การรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจนทำให้เปอร์เซ็นต์ผู้นอนหลับทับสิทธิ์ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญในบางพื้นที่ หรือการให้ความรู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งแก่ประชาชนและการขัดเกลาทางสังคมเพื่อต่อต้านการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง

ความอื้อฉาวของ กกต. อินโดนีเซีย: กรณีการคอรัปชันและไปดูงานต่างประเทศ

แม้ว่าจะเป็นองค์กรที่ทำงานอย่างแข็งขันในการจัดการการเลือกตั้ง แต่ก็มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า กกต. อินโดนีเซียพัวพันคดีคอรัปชันอยู่หลายคน เมื่อปี 2005 คณะกรรมการปราบปรามการคอรัปชัน (Komisi Pemberantasan Korupsi / KPK) ได้ตรวจสอบหัวหน้าฝ่ายการเงินของ กกต. นาย ฮัมดานี อามิน (Hamdani Amin) และตั้งข้อหารับสินบนจากพันธมิตรของ กกต. จำนวน 20,000 ล้านรูเปียห์ และในที่สุดหัวหน้าฝ่ายการเงินคนดังกล่าวถูกตัดสินจำคุกสี่ปี ต่อมาปี 2006 นาย นาซารุดดิน ชัมซุดดิน ประธาน กกต. ช่วงปี 2001-2005 ถูกตัดสินจำคุกข้อหาคอรัปชั่นเป็นเวลาเจ็ดปีและปรับ 300 ล้านรูเปียห์ และจ่ายเงินชดเชยให้รัฐห้าพันล้านรูเปียห์ จากพยานหลักฐานที่ชี้ว่ากระทำผิดในการจัดซื้อประกันให้กับเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้งปี 2004 และในการใช้งบประมาณของ กกต. ซึ่งทำให้ประเทศเสียหายราว 14,100 ล้านรูเปียห์ ในปีเดียวกัน นาย มุลยานา วีรา กูซูมา (Mulyana Wira Kusuma) หนึ่งใน กกต. วาระเดียวกับนาซารุดดิน ถูกตัดสินจำคุกสองปีเจ็ดเดือน ข้อหาติดสินบนผู้ตรวจการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (Badan Pemeriksa Keuangan) และข้อหาคอรัปชั่นในการจัดหาหีบบัตรเลือกตั้งปี 2004

นอกจากนี้ยังมีนาย ดาอัน ดีมารา (Daan Dimara) ถูกศาลตัดสินจำคุกสี่ปีข้อหาคอรัปชันที่ปิดผนึกบัตรเลือกตั้งปี 2004 และนาย รูซาดี กันตาปราวีรา (Rusadi Kantaprawira) กกต. อีกคนในชุดเดียวกันถูกตัดสินจำคุกสี่ปีและปรับ 200 ล้านรูเปียห์ ข้อหาคอรัปชันจัดซื้อหมึกพิมพ์ในการเลือกตั้งปี 2004 และยังมีเจ้าหน้าที่ กกต. คนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งถูกตัดสินจำคุกด้วยข้อหาคอรัปชันเช่นเดียวกัน ในขณะที่ กกต. ส่วนภูมิภาคระดับอำเภอและจังหวัดที่เคยถูกตัดสินจำคุกจากข้อหาคอรัปชันมีมากกว่านี้หลายเท่า โดยมากเป็นการคอรัปชันในการจัดซื้อวัสดุที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง

การดำเนินคดีกับบรรดา กกต. อินโดนีเซียที่พัวพันกับการคอรัปชันสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการปราบปรามการคอรัปชันของอินโดนีเซียซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่เป็นผลผลิตของยุคปฏิรูปเช่นเดียวกัน นอกจากกรณีการคอรัปชันแล้ว ประเด็นที่ กกต. อินโดนีเซียถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนักหลายวาระคือเรื่องการไปดูงานที่ต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 2-10 ตุลาคม 2022 กกต. และคณะกรรมการเฝ้าระวังการเลือกตั้งไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้ไปเข้าร่วมเวิร์คช็อปเรื่อง “Leadership Management and Elections Training Program” ที่จัดโดย Center for Southeast Asian Studies and the College of Business มหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นอิลลินอยส์ (Northern Illinois University) โดยบรรดา กกต. ที่ไปในทริปดังกล่าวให้เหตุผลว่าเหตุที่ต้องไป มหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นอิลลินอยส์ เนื่องจากว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งในอินโดนีเซียหลายคนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นอิลลินอยส์ และเวิร์คช็อปดังกล่าวจะช่วยเพิ่มพูนความรู้เรื่องการจัดการการเลือกตั้งในบริบทโลกและการเปรียบเทียบ โดยได้สำทับว่าการเลือกตั้งที่อินโดนีเซียค่อนข้างซับซ้อนและสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาการเติบโตของประชาธิปไตยในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าการไปดูงานของกกต.และคณะกรรมการเฝ้าระวังการเลือกตั้งเป็นการใช้งบประมาณมากเกินไป และการไปดังกล่าวไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการเลือกตั้งในปี 2024 ที่จะมาถึงเลย

ย้อนไปในอดีตเมื่อปี 2008 กกต. อินโดนีเซียเคยมีแพลนจะไปดูงานต่างประเทศ 14 ประเทศแต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเนื่องจากใช้งบประมาณประเทศมากเกินไป ทำให้ กกต. ต้องเลื่อนการเดินทางไปดูงานออกไป โดย กกต. ให้เหตุผลว่าที่ต้องไปดูงานก็เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร กกต. ในการจัดการเลือกตั้งในปี 2009 ทุกครั้งที่มีการไปดูงานต่างประเทศของ กกต. อินโดนีเซีย จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆ ถึงความไม่เหมาะสม ไม่คุ้มค่า และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็นเสมอ

ตั้งแต่มีการปฏิรูปประเทศหลังจากอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมมาสามทศวรรษ กกต. อินโดนีเซียถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และตรวจสอบได้ และได้ประสบความสำเร็จในการจัดการเลือกมาแล้วห้าครั้ง คือการเลือกตั้งในปี 1999, 2004, 2009, 2014 และ 2019 สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้นในปี 2024 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ชาวอินโดนีเซียให้ความสนใจและตื่นตัวเป็นอย่างมาก การทำงานของ กกต. อินโดนีเซียและการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายสำหรับ กกต. ที่กระทำผิดไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรอิสระนี้เท่านั้น หากยังสะท้อนถึงการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซียและสังคมอินโดนีเซียที่ก้าวข้ามผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แม้จะยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ประชาธิปไตยก็เป็นรูปแบบการปกครองและกติกาเดียวที่คนส่วนใหญ่ยึดถือและยอมรับร่วมกันในปัจจุบัน


ข้อมูลประกอบการเขียน

Awlia, Tasya, “Komisi Pemilihan Umum: Fungsi, Tugas hingga Daftar Ketua KPU,” DetikNews, 6 January 2020, https://news.detik.com/berita/d-4848695/komisi-pemilihan-umum-fungsi-tugas-hingga-daftar-ketua-kpu/1

Basyari, Iqbal, “Anggota KPU-Bawaslu ke Luar Negeri, KIPP: Hanya Habiskan Anggaran,” Kompas, 9 October 2022, https://www.kompas.id/baca/polhuk/2022/10/09/tunda-perjalanan-dinas-luar-negeri-saat-tahapan-pemilu

Febryan, “Putusan Tunda Pemilu 2024 Dibatalkan, Ketua KPU: Alhamdulillah, Pemilu Jalan Terus,” Republika, 11 April 2023, https://news.republika.co.id/berita/rsy1ko436/putusan-tunda-pemilu-2024-dibatalkan-ketua-kpu-alhamdulillah-pemilu-jalan-terus

Irawan, Oktino Setyo and Widiastuti, “Analisis Kedudukan Komisi Pemilihan Umum (KPU) sebagai Lembaga Independen dalam Sistem Ketatanegaraan Indonesia,” Dinamika Hukum, Volume I, No. 2, Feb 2011: 75-87.

“Kepala Biro Keuangan KPU Ditahan,” DetikNews, 5 May 2005, https://news.detik.com/berita/d-355501/kepala-biro-keuangan-kpu-ditahan

Komisi Pemilihan Umum Republik Indonesia, “Visi and Misi,” https://www.kpu.go.id/page/read/4/visi-dan-misi

“KPU Tunda Perjalanan Dinas ke Luar Negeri,” Liputan6, 9 September 2008, https://www.liputan6.com/news/read/165009/kpu-tunda-perjalanan-dinas-ke-luar-negeri

Nugroho, Dian Ade and Sukmariningsih, Retno Mawarini, “Peranan Komisi Pemilihan Umum dalam Mewujudkan Pemilu yang Demokratis,” Jurnal Juristic, Vol. 01, No. 01, April 2020: 22-32.

Prabowo, Dani, “Wahyu Setiawan, Komisioner KPU Kelima yang Jadi Tersangka KPK,” Kompas, 10 January 2020, https://nasional.kompas.com/read/2020/01/10/06470011/wahyu-setiawan-komisioner-kpu-kelima-yang-jadi-tersangka-kpk

Putri, Arum Sutrini, “KPU: Sejarah Singkat, Visi, Misi, Tugas and Wewenang,” Kompas, 13 January 2020, https://www.kompas.com/skola/read/2020/01/13/070000869/kpu–sejarah-singkat-visi-misi-tugas-dan-wewenang?page=all

“Riwayat Kasus Korupsi Komisioner KPU,” CNN Indonesia, 8 January 2020, https://www.cnnindonesia.com/nasional/20200108185533-20-463596/riwayat-kasus-korupsi-komisioner-kpu

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save