fbpx

“ผมมีพรรคอนาคตใหม่เป็นแรงบันดาลใจ”: Syed Saddiq หัวหน้าพรรคคนรุ่นใหม่ ผู้หมายเขย่าการเมืองมาเลเซีย

เลือกตั้งมาเลเซีย 2022 เมื่อคนรุ่นใหม่กุมชะตาอนาคตประเทศ

“คนรุ่นใหม่กำลังจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์มาเลเซีย ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (ปี 2018) คนรุ่นใหม่ (อายุไม่เกิน 40 ปี) มีสัดส่วนคะแนนเสียงประมาณร้อยละ 41 แต่ครั้งที่จะถึงนี้ สัดส่วนจะพุ่งไปเป็นร้อยละ 55 นั่นหมายความว่ากลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่จะเป็น ‘kingmaker’ ผู้ชี้ชะตาว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้”

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนุ่มจากเมืองมัวร์ (Muar) ในรัฐยะโฮร์ (Johor) ผู้มีอายุ 29 ปี นามว่า ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq) เล่าให้เราฟังถึงมุมมองของเขาต่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ที่คนมาเลเซียเรียกติดปากกันว่า GE15 ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ (Ismail Sabri Yaakob) ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจเลือกผู้นำคืนสู่ประชาชนอีกครั้งท่ามกลางความระส่ำระสายไร้เสถียรภาพของการเมืองมาเลเซียตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

สัดส่วนของกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ในการเลือกตั้งครั้งที่นี้พุ่งสูงขึ้นมาอย่างน่าตกใจในระยะเวลาเพียง 4 ปีนับจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 เมื่อปี 2018 เป็นผลมาจากความพยายามของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการเรียกร้องให้แก้กฎหมายปรับลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเดิมที่ 21 ปี มาเป็น 18 ปี ในชื่อขบวนการ UNDI18 (Vote18) ซึ่งต่อสู้มายาวนานนับตั้งแต่ปี 2016 กระทั่งประสบความสำเร็จเมื่อการบังคับใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2021[1] ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่จะถึงนี้คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาเลเซียที่กลุ่มผู้มีอายุ 18-21 ปี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 1.2 ล้านคน จะมีส่วนร่วมชี้ชะตาอนาคตประเทศ และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้ลงคะแนนครั้งแรก (first time voters) สูงถึงราว 5.8 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้นประมาณ 21 ล้านคน

ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ภาพจาก: syedsaddiq.co

“ผมว่านี่คือความก้าวหน้าของการเมืองมาเลเซีย เพราะคนรุ่นใหม่มักจะให้ความสำคัญกับนโยบายและการแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและศาสนา และไม่ได้ชื่นชอบวิถีการเมืองแบบเก่าๆ สิ่งที่พวกเขาอยากได้จากนักการเมืองคือแนวทางแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ หรือหนทางที่จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ละพรรคจำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจกับประเด็นเชิงนโยบายมากขึ้น เพื่อดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่” ซาดีคกล่าว

“คนมาเลเซียรุ่นใหม่ไม่ค่อยยึดติดกับพรรคการเมืองหรือตัวบุคคล ส่งผลให้การเมืองมาเลเซียจะมีไดนามิกสูงมาก วันนี้พวกเขาอาจจะสนับสนุนคนหนึ่งหรือพรรคหนึ่งอยู่ แต่พรุ่งนี้เขาอาจจะไม่สนับสนุนแล้วก็ได้ ซึ่งผมว่ามันเป็นพัฒนาการที่ดีของการเมืองมาเลเซีย” ซาดีคเสริม

การพุ่งทะยานขึ้นของสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ทำให้มาเลเซียเริ่มเห็นหลายพรรคการเมืองขยับมาให้ความสนใจในเสียงคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยบางพรรคเผยว่ามีการเพิ่มบทบาทของปีกเยาวชนในพรรคสูงขึ้น รวมทั้งยังเริ่มคิดออกแบบนโยบายให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ทำกิจกรรมให้ความรู้ทางการเมืองกับกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และยังหันมาใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสารกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ซาดีคมองว่า แม้การให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่มากขึ้นในหลายพรรค รวมถึงการให้ความสำคัญกับปีกเยาวชนของพรรคจะเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับเขา นั่นอาจยังไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่กำลังสูงขึ้นมาก นี่จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ ในชื่อพรรคมูดา (MUDA)

กำเนิดพรรคคนรุ่นใหม่พรรคแรกในมาเลเซีย

“คนมาเลเซียส่วนมากเชื่อว่าประเทศเรากำลังถดถอยครั้งใหญ่ในสายตานานาชาติ แรงงานหนุ่มสาวมากกว่า 1.8 ล้านคนได้พากันย้ายออกไปทำงานต่างประเทศ ขณะที่นักการเมืองมาเลเซียก็ยังชอบเล่นเกมการเมืองกันแบบเดิมๆ ชอบเอาการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือ แต่ไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง และยังไม่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับประเด็นปัญหารูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มาเลเซียเองก็ได้รับผลกระทบมาก เพราะอย่างนี้ ประเทศมาเลเซียถึงจำเป็นต้องมีพลังทางการเมืองใหม่ๆ ที่นำการขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ เพื่อพาประเทศไปสู่จุดที่ดีกว่า” ซาดีคเล่าถึงแนวคิดของเขาในการตั้งพรรคมูดา

ชื่อเต็มของ MUDA คือ Malaysian United Democratic Alliance ขณะที่ตัวย่อ MUDA เองก็มีความหมายในตัว โดยเป็นคำในภาษามลายูที่แปลว่า ‘เยาวชน’ จึงบ่งบอกถึงตัวตนของพรรคชัดเจนว่าเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่

มาเลเซียนับว่าเป็นประเทศที่อาจจะไม่ค่อยให้ที่ยืนทางการเมืองสำหรับคนรุ่นใหม่มากนัก ด้วยมีข้อกฎหมายหลายฉบับที่กดไม่ให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมหรือออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง นำไปสู่มโนสำนึกที่ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก และคนรุ่นใหม่ก็มักถูกมองเป็นสิ่งแปลกปลอมบนพื้นที่การเมืองของมาเลเซีย

เช่นเดียวกับซาดีคที่ได้เข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่อายุ 25 ปี หลังได้รับเลือกตั้งเมื่อปี 2018 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีด้านเยาวชนและการกีฬา ภายใต้สมัยรัฐบาลยุคแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan, 2018-2020) นำโดยอดีตนายกฯ มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ซึ่งทำให้ซาดีคกลายเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซียนับตั้งแต่ได้รับเอกราช ด้วยความอ่อนเยาว์นี้ ทำให้เขามักถูกสบประมาทจากนักการเมืองรุ่นใหญ่   

“ผมเคยถูกเรียกว่าไอ้ลูกแมวบ้าง ไอ้เด็กน้อยบ้าง” ซาดีคเล่า

“แต่ผมก็ไม่ได้ใส่ใจคำพูดพวกนั้น ผมใส่ใจกับงานของผมมากกว่า และผมก็พยายามแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ต่อให้ผมจะมีอายุแค่นี้ แต่ก็สามารถทำหลายอย่างประสบความสำเร็จได้ เช่น ผมพิสูจน์ให้เห็นว่าผมสามารถผลักดันให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงมาเป็น 18 ปี (UNDI 18) ได้สำเร็จ ด้วยความเห็นชอบจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภา ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนเคยทำได้มาก่อน” ซาดีคกล่าว

ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ภาพจาก: syedsaddiq.co

อย่างไรก็ตาม บทบาทรัฐมนตรีของซาดีคเป็นอันต้องสิ้นสุดก่อนเวลา เมื่อนายกฯ มหาเธร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ก่อนที่จะเกิดดีลลับทางการเมืองที่รู้จักในชื่อ ‘เชอราตันมูฟ’ (Sheraton Move) โดยมูยีดดิน ยาซซิน (Muhyiddin Yassin) หัวหน้าพรรคเบอร์ซาตู (Bersatu) ที่มหาเธร์เป็นผู้ก่อตั้ง หันไปจับมือกับฝ่ายค้านตั้งรัฐบาลใหม่ ในชื่อแนวร่วมเปอริกาตัน เนชันแนล (Perikatan Nasional) โดยมียาซซินเป็นนายกฯ ก่อนที่พรรคเบอร์ซาตู จะทำการลงมติขับไล่มหาเธร์ และ ส.ส.ในปีกของเขา ซึ่งรวมถึงซาดีคที่ต้องออกจากพรรค

ขณะที่มหาเธร์ออกไปตั้งพรรคใหม่ในชื่อเปอจวง (Pejuang) ซาดีคกลับตัดสินใจไม่เข้าร่วม แต่เลือกแยกตัวออกมาตั้งพรรคมูดา โดยเปิดตัวในเดือนกันยายน 2020 แต่กว่าจะได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยให้เป็นพรรคที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็คือเดือนธันวาคม 2021 เพราะพรรคถูกปฏิเสธการขึ้นทะเบียนมาหลายครั้งโดยไม่มีการแจ้งเหตุผล ทำให้มีการคาดเดาต่างๆ นานาว่าอาจเป็นความต้องการกลั่นแกล้งทางการเมืองของผู้กุมอำนาจในตอนนั้น ซึ่งหากมูดาไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ก็จะไม่สามารถส่งตัวแทนลงแข่งในการเลือกตั้งได้ แต่หลังจากดำเนินการต่อสู้ทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง พรรคมูดาก็สามารถจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการได้ในที่สุด และได้ชื่อว่าเป็นพรรคสำหรับคนรุ่นใหม่พรรคแรกในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย

“ผมก็ไม่รู้เหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมเขาถึงปฏิเสธการจดทะเบียนตั้งพรรคของเรา ตอนนั้นผมมีความคิดว่า ถ้าถึงที่สุดแล้วต่อให้เราไม่อาจเป็นพรรคการเมืองได้จริง พรรคมูดาก็จะยังคงทำงานบางอย่างได้ เช่น ทำกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ หรือทำกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือสังคมต่างๆ แต่ในที่สุดพรรคเราก็ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ” ซาดีคเล่า

ซาดีคตั้งใจใช้พรรคมูดาเป็นตัวแทนผลักดันเสียงคนรุ่นใหม่ให้ดังขึ้น ท่ามกลางสภาวะการเมืองมาเลเซียในปัจจุบันที่ยังคงมีสมาชิกสภาที่เป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 40 ปี เพียงประมาณร้อยละ 10 ทั้งที่สัดส่วนประชากรกลุ่มนี้มีมากเกินกว่าร้อยละ 50 ของทั้งประเทศ

“ประสบการณ์การทำงานในสภาที่ผ่านมาทำให้ผมเห็นว่าคนรุ่นใหม่ยังมีพื้นที่ในการเมืองน้อย เรายังมีสัดส่วน ส.ส. ที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสภาน้อยมาก ทั้งที่ประเทศเรามีประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่อยู่เยอะ นี่เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมเลือกที่จะก่อตั้งพรรคนี้ขึ้นมา เรามีเป้าหมายจะผลักดันให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ทำให้พวกเขาเข้าสู่สภามากขึ้น เพราะผมไม่อยากให้รัฐสภามาเลเซียเมินเสียงของคนรุ่นใหม่ในประเทศได้อีกต่อไป” ซาดีคกล่าว

การตัดสินใจตั้งพรรคมูดาของซาดีค ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากต่างประเทศที่มีการตั้งพรรคโดยคนรุ่นใหม่ อย่างพรรค La République En Marche! ในฝรั่งเศส ซาดีคยังเผยด้วยว่า ‘พรรคอนาคตใหม่’[2] ของประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งต้นแบบในการตั้งพรรคมูดา

“ตอนตั้งพรรคมูดา โมเดลหนึ่งที่ผมมองก็คือพรรคอนาคตใหม่ของไทยที่ถือได้ว่าเป็นพรรคที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่และทำเพื่อคนรุ่นใหม่ ซึ่งผมมองว่าคนรุ่นใหม่ของมาเลเซียก็คล้ายกับคนรุ่นใหม่ของไทย คือกำลังต่อสู้กับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน” ซาดีคกล่าว

เขาเล่าต่อว่า “ปัญหาสำคัญที่คนมาเลเซียเผชิญกันมานานก็คือการเมืองสกปรก นักการเมืองสนใจแต่เล่นเกมการเมือง คอร์รัปชันกันเละเทะ โดยที่ไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน และยังขาดความรับผิดรับชอบในทางการเมือง ขณะที่สถาบันการเมืองของเราก็มีข้อบกพร่องอยู่มาก มีการแทรกแซงอำนาจจากภายนอกมากมาย ผมถึงอยากเข้ามาแก้ปัญหาพวกนี้ สร้างสรรค์การเมืองแบบใหม่ที่มีธรรมาภิบาลและเห็นแก่ประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ นี่คือภารกิจสำคัญของมูดา ซึ่งผมมองว่ามันคล้ายกับสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่พยายามต่อสู้เหมือนกัน”

ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ภาพจาก: Facebook – Syed Saddiq Syed Abdul Rahman

สู้ด้วยนโยบาย โอบรับความหลากหลาย
ผลักดันการเมืองแบบใหม่ให้ประชาชน

ย้อนไปเมื่อปี 2018 ชัยชนะของแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน เหนือแนวร่วมบาริซาน เนชันแนล (Barisan Nasional) ที่นำโดยพรรคอัมโน (UMNO) ซึ่งครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘รุ่งอรุณแห่งความหวังใหม่’ (The Dawn of New Hope) ท่ามกลางความคาดหวังจะนำพาการเมืองมาเลเซียหลุดพ้นจากวังวนการเมืองเดิมๆ แต่การเกิดขึ้นของเชอราตันมูฟเพียง 2 ปีให้หลัง ซึ่งตามมาด้วยการกลับสู่อำนาจของพรรคอัมโนและความวุ่นวายทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย ก็เป็นเครื่องยืนยันว่ามาเลเซียยังไม่อาจหลุดพ้นจากการเมืองสกปรกได้

“เหตุการณ์เชอราตันมูฟเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่านักการเมืองหลายๆ คนยังคงเลือกทำเพื่อตัวเอง มากกว่าจะเห็นแก่ประชาชน การเล่นเกมการเมืองยังเกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 มันเลยจุดไฟความโกรธเกรี้ยวและความต้องการการเปลี่ยนแปลงของประชาชนมาเลเซียให้กลับมาลุกอีกครั้งหนึ่ง” ซาดีคกล่าว

“ผมมองว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จะถึงนี้จะไม่ใช่การเลือกตั้งธรรมดาๆ แต่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะกำหนดดีเอ็นเอของประเทศเราไปอีก 20 ปีเลยทีเดียว เพราะเบื้องลึกเบื้องหลังของการยุบสภาจัดการเลือกตั้งท่ามกลางฤดูมรสุมที่ประชาชนกำลังจะเดือดร้อนจากอุทกภัยและพายุ เกิดขึ้นจากความสิ้นหวังของพรรคอัมโนเองที่คีย์แมนของพรรคกำลังต่อสู้กับคดีความต่างๆ อย่างล่าสุด อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคอัมโน นาจิบ ราซัก (Najib Razak) ก็เพิ่งถูกพิพากษาจำคุกไป พวกเขาถึงได้รีบจัดการเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อที่ว่าถ้าเขาชนะแล้ว เขาจะรีบเข้ามาแทรกแซงระบบยุติธรรมได้ เราอาจได้เห็นเขาใช้อำนาจถอดถอนผู้พิพากษาสูงสุดและอัยการสูงสุด แล้วแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปแทน เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคดีของตัวเอง เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนมาเลเซียกับนักการเมืองที่โกงกิน” ซาดีคให้ความเห็น[3]

เขาพูดต่อว่า “การเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่เรา (ปากาตัน ฮาราปัน) สามารถคว้าชัยชนะได้ เป็นเพราะประชาชนคนมาเลเซียทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่นักการเมืองและไม่ได้สังกัดพรรคไหน พากันออกมาจุดกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับก่อนหน้านั้นมีคดีทุจริตอื้อฉาว 1MDB ที่กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ความสำเร็จในตอนนั้นจึงเกิดจากการลงมือของประชาชนคนธรรมดาอย่างแท้จริง ไม่ใช่โดยนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด มันคือการเลือกตั้งที่ประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องประเทศของตัวเอง และเป็นการประกาศตัวว่าประชาชนต่างหากที่เป็นผู้มีอำนาจกำหนดทิศทางประเทศ เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ เราต้องเดินตามความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนั้นอีกครั้ง”

ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ภาพจาก: Facebook – Syed Saddiq Syed Abdul Rahman

ท่ามกลางกระแสความต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พรรคมูดาจึงวางตัวเองเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนมาเลเซียที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

“ผมมองว่าการเมืองมาเลเซียต้องหลุดพ้นจากการมีเพียงตัวเลือกที่แย่เพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคที่แย่น้อยกว่าพรรคอื่น (lesser evil) มาเป็นการให้ประชาชนเลือกพรรคที่ดีที่สุดจากการมีตัวเลือกที่ดีที่สุดหลายๆ ตัวเลือก (the best among the best) นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมมูดาถึงตัดสินใจลงสู่สนาม” ซาดีคกล่าว

“คนมาเลเซียส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับการเมืองน้ำเน่าแบบเดิมๆ ที่ยึดติดกับระบบอุปถัมป์และตัวบุคคล มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นมูดาจึงเป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับนโยบาย” เขาพูดต่อ ก่อนจะแจกแจงให้ฟังถึงนโยบายที่มูดาใช้เป็นเรือธงในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้

“เรื่องหนึ่งที่พรรคให้ความสำคัญก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราพูดมาเสมอว่าเรื่องนี้ควรจะขึ้นมาเป็นประเด็นที่ประเทศเราต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะมาเลเซียได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ไม่น้อย โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกปีจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ที่ผ่านมาปัญหานี้กลับไม่ค่อยได้รับความสำคัญเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น พรรคเราจึงต้องการผลักดันเรื่องนี้ เช่น การหาแนวทางป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม รวมถึงการหาทางเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจคาร์บอนสู่เศรษฐกิจสีเขียว” ซาดีคอธิบาย

นอกจากการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พรรคมูดายังมีเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันมาเลเซียให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก สามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยซาดีคมองว่ากุญแจสำคัญคือการปฏิรูปการศึกษา ซาดีคย้ำว่าเขาต้องการให้ระบบการศึกษาของมาเลเซียเป็นระบบที่สร้างโอกาสให้คนมาเลเซียทุกคนได้อย่างเท่าเทียม หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาของประเทศให้เข้าสู่ดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โดยเขาเสนอนโยบายแจกแล็ปท็อปและแท็บเล็ตให้กับเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงดิจิทัลสำหรับการศึกษา หลังจากที่ได้เห็นปัญหาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน

และที่สำคัญ ซาดีคมองว่าระบบการศึกษาของมาเลเซียกำลังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับโครงสร้าง เพราะโครงสร้างที่เป็นอยู่ยังไม่อาจเอื้อให้แรงงานในประเทศมีโอกาสและมีศักยภาพการแข่งขันที่มากพอ

“คุณรู้ไหมว่าตอนที่มีการไปเดินสำรวจกลุ่มนักเรียนมาเลเซียว่าพวกเขาต้องการเรียนต่อหรือเปล่า 71% ตอบว่า ‘ไม่’ แต่พวกเขาอยากรีบเข้าสู่ตลาดแรงงานทันที เพราะปัญหาการเรียนในระดับอุดมศึกษาของมาเลเซียต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยถึงประมาณ 6 ปีกว่าจะจบ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ใช้เวลาเพียง 3-4 ปี ซึ่งทำให้แรงงานเราเสียโอกาสไปเยอะเมื่อเทียบกับแรงงานประเทศอื่น นอกจากนี้ค่าแรงของแรงงานที่จบมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ก็แทบไม่ได้ต่างจากแรงงานที่ไม่ได้จบปริญญาเท่าไหร่แล้ว ทำให้หลายคนมองว่าไม่คุ้มที่จะเรียนต่อ แต่ก็จะเจอปัญหาอีกแบบว่าเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพไม่ชัดเจนเท่ากับคนมีปริญญา เพราะฉะนั้นผมเลยมีแนวคิดผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหลักสูตรให้ระยะเวลาเรียนกระชับลง โดยโฟกัสวิชาหลักๆ และลดทอนบางวิชาที่ไม่ค่อยจำเป็นลงไป จะช่วยจูงใจให้คนมาเลเซียอยากเรียนสูงขึ้น และเข้าสู่ตลาดแรงงานทักษะสูงมากขึ้น” ซาดีคอธิบาย

“และถ้าหากเป็นการศึกษาในสายวิชาชีพ ผมก็เสนอว่าควรจะเริ่มเรียนได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยใช้เวลาเรียน 2 ปี ก่อนจะเรียนจบแล้วเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันทีตอนอายุ 18 ปี เพราะทุกวันนี้คนมาเลเซียเริ่มเรียนการศึกษาสายอาชีพได้ก็ตอนที่อายุ 18 เข้าไปแล้ว” เขาอธิบายเสริม

เขาเสนอเพิ่มเติมว่า “พรรคเรายังเสนอให้มีการลงทุนใน micro credential (ระบบการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะแบบเฉพาะเจาะจง) มากขึ้น โดยการให้เงินอุดหนุนคอร์สพัฒนาทักษะระยะสั้นต่างๆ เช่น สมมติว่าคุณอยากเป็นช่างภาพ คุณก็สามารถเรียนคอร์สระยะสั้นพวกนี้จบแล้วได้ใบรับรองการศึกษาในระยะเวลาเพียง 6 เดือน แทนที่จะต้องทุ่มเวลาไปกับการเรียนในมหาวิทยาลัยถึง 6-7 ปี”

ซาดีคย้ำด้วยว่าเขาตั้งเป้าที่จะพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษามาเลเซียให้เทียบเท่ามาตรฐานโลก และอีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไปพร้อมกันก็คือตลาดแรงงาน โดยซาดีคจะผลักดันให้มีการปรับขั้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดรับกับค่าครองชีพที่กำลังสูงขึ้นและให้สอดคล้องกับระดับทักษะมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังมีแนวคิดผลักดันให้ออกแผนลงทุนกระตุ้นการจ้างงาน (job stimulus package) ครั้งใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสงานเพิ่มเติมให้กับคนมาเลเซีย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก

นโยบายเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พรรคมูดาจะนำเสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้งที่จะมาถึงเท่านั้น โดยซาดีคสรุปว่าหัวใจสำคัญของนโยบายทั้งหมดทั้งมวลของพรรคคือการให้ความช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้ประชาชนมาเลเซียทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการแบ่งแยก เพราะที่ผ่านมานโยบายของรัฐมาเลเซียมักวางอยู่บนฐานการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ โดยมีคนในบางเชื้อชาติที่ได้รับโอกาสและสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งซาดีคมองว่าเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยและนำไปสู่การขยายช่องว่างทางสังคมในมาเลเซีย

ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ภาพจาก: Facebook – Syed Saddiq Syed Abdul Rahman

“ประเทศนี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยคนมาเลเซียทุกเชื้อชาติทุกศาสนา ความหลากหลายนี้ควรเป็นจุดแข็งของชาติเรา ไม่ใช่จุดอ่อน เป็นสิ่งที่เราควรยกย่อง เพราะฉะนั้นเราต้องปฏิบัติต่อคนทุกเชื้อชาติทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น มันก็จะเป็นผลเสียต่อคนมาเลเซียทุกคน” ซาดีคกล่าว พร้อมย้ำว่านี่คือเหตุผลที่มูดาจำกัดความพรรคตัวเองว่าเป็นพรรคที่โอบรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ (multiracial party) ซึ่งแตกต่างจากหลายๆ พรรคการเมืองที่มักยืนบนฐานเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง ท่ามกลางภูมิทัศน์การเมืองมาเลเซียที่การแบ่งแยกทางเชื้อชาติฝังรากลึกมาหลายทศวรรษ

ไม่เพียงแต่ความหลากหลายทางเชื้อชาติ พรรคมูดายังให้ความสำคัญกับความหลากหลายในมิติอื่นๆ ทั้งด้านวัยและด้านเพศ โดยตั้งใจส่งเสริมให้สภามาเลเซียที่มักถูกครอบครองด้วยชายวัย 40 ปีขึ้นไป ให้มีสัดส่วนที่นั่งสำหรับผู้หญิงและคนรุ่นใหม่มากขึ้น และก่อนที่จะไปถึงขั้นของการผลักดันความหลากหลายบนเวทีการเมืองระดับชาติได้นั้น มูดาก็ต้องเริ่มต้นที่พรรคตัวเองด้วย

“หลายพรรคยังมีแนวคิดอยู่บนฐานของอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเรื่องความเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือเพศ ต่อให้คุณจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เก่งมาก แต่ถ้าไม่ได้มีอัตลักษณ์ตามแนวทางของพรรค คุณก็ไม่อาจก้าวขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นถึงต้องมีพรรคอย่างมูดาที่โอบรับความหลากหลาย ไม่ว่าคุณจะมีเชื้อชาติหรือเพศอะไรก็ตาม ถ้าคุณมีความสามารถ คุณก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้อย่างเท่าเทียมกัน สมมติว่าคุณเป็นผู้หญิง หรือเป็นคนที่ไม่ได้มีเชื้อสายมาเลย์ แต่ถ้าคุณพิสูจน์ได้ว่าคุณมีศักยภาพมากกว่าผม คุณก็มีสิทธิถูกเลือกขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแทนผมได้เลย” ซาดีคกล่าว

เส้นทางที่ไม่ง่ายของ Syed Saddiq และ MUDA
ในการเลือกตั้ง 2022

ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ พรรคมูดาลงสู่สนามโดยจับมือกับแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน ซึ่งเสนอชื่ออันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคพีเคอาร์ (PKR) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลังจากการเจรจาจัดสรรเขตพื้นที่กับปากาตัน ฮาราปัน พรรค MUDA ก็ตัดสินใจส่งผู้แทนลงชิงเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 6 เขต จากเขตเลือกตั้ง 222 เขตทั่วประเทศ และ 1 ใน 6 เขตที่พรรคลงชิงชัยนั้นก็คือเขตมัวร์ ซึ่งซาดีคลงป้องกันตำแหน่งตัวเอง

แน่นอนว่มูดาย่อมคาดหวังคะแนนเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยิ่งเมื่อสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุไม่เกิน 40 ปีกำลังจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ยิ่งทำให้มูดามีความหวัง ขณะเดียวกันซาดีคก็ยังเชื่อว่าจุดแข็งของมูดาในการดึงดูดฐานเสียงคนรุ่นใหม่จะเป็นส่วนเติมเต็มสำคัญให้กับแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน

“ทุกวันนี้ คนมาเลเซียรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น หลายคนอยากมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และหลายคนก็กระตือรือร้นที่จะออกไปเลือกตั้ง เป็นเพราะมีความรู้มากขึ้น พวกเขารู้ว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียง รู้ว่าเสียงของตัวเองมีพลังมากขนาดไหน รู้ว่าการไปออกเสียงเลือกตั้งสำคัญขนาดไหน ซึ่งถ้าเทียบกับสมัยก่อน เราไม่ค่อยเห็นคนรุ่นใหม่พูดคุยอภิปรายเรื่องการเมืองกันเท่าไหร่นัก แต่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นหัวข้อหนึ่งในบทสนทนาในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีมาก” ซาดีคกล่าว พร้อมย้ำว่าความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขามั่นใจว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นผู้ชี้ชะตาการเลือกตั้งครั้งนี้ที่แท้จริง

ตัวแทนของพรรค MUDA ผู้ลงชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 6 เขต
ภาพจาก Facebook – Parti Muda

แม้ซาดีคจะมีความมั่นใจในพลังสำคัญของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่นักวิเคราะห์ก็ยังคงเสียงแตก โดยบางส่วนมองว่าคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้ตื่นตัวที่จะออกไปเลือกตั้งมากอย่างที่คิด

หรือแม้คนรุ่นใหม่จะตื่นตัวออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันมาก ก็ใช่ว่าคะแนนเสียงของกลุ่มนี้จะเทไปให้แนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน และพรรคมูดา เพราะหากดูจากผลสำรวจแนวโน้มการลงคะแนนเสียงของประชากรกลุ่มอายุ 18-24 ปี โดยนักวิชาการจากสถาบันวิจัย ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งทำการสำรวจในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าเสียงของเยาวชนยังค่อนข้างแตก โดยประมาณร้อยละ 9 ชี้ว่าจะเลือกพรรคมูดา และอีกประมาณร้อยละ 11 จะเลือกพรรคในแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน ซึ่งเมื่อนำคะแนนสองส่วนนี้มาร่วมกันได้จะเป็นราวร้อยละ 21 ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ตัดสินใจเลือกแนวร่วมบาริซาน เนชันแนล คิดเป็นร้อยละ 19 สะท้อนว่ากลุ่มการเมืองดั้งเดิมยังคงทรงอิทธิพลอยู่ไม่น้อยในกลุ่มคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้เมื่อย้อนดูการเลือกตั้งระดับสภาแห่งรัฐยะโฮร์ (Johor State Election) ทั้งสิ้น 56 ที่นั่ง เมื่อ 12 มีนาคม 2022 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาเลเซียที่ประชากรอายุ 18-21 ปีมีสิทธิเลือกตั้ง หลังการผลักดัน UNDI18 สำเร็จ และยังเป็นครั้งแรกที่พรรคมูดาลงแข่งขัน โดยพรรคมูดาสามารถชนะได้เพียง 1 ที่นั่ง จาก 7 ที่นั่งที่พรรคส่งตัวแทนลงสมัคร ขณะที่แนวร่วมปากาตัน ฮาราปันได้ 12 ที่นั่ง แต่ทางฝั่งแนวร่วมบาริซาน เนชันแนลได้ที่นั่งมากถึง 40 ที่นั่ง

แม้การเลือกตั้งรัฐยะโฮร์อาจพอชี้ให้เห็นแนวโน้มของการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงได้ แต่ก็ยังไม่อาจบอกได้ทั้งหมด เพราะนี่เป็นเพียงการเลือกตั้งของรัฐเพียงรัฐเดียว และสัดส่วนของผู้ออกมาใช้สิทธิก็อยู่เพียงแค่ราวร้อยละ 50 นอกจากนั้น การมองศักยภาพของพรรคมูดาในตอนนั้นเพื่อมาประเมินศักยภาพในการเลือกตั้งทั่วไปในเวลาอันใกล้นี้ก็อาจยังบอกไม่ได้มากนัก โดยซาดีคชี้ว่าในตอนนั้น พรรคมูดายังคงเป็นพรรคเพิ่งจดทะเบียนใหม่อายุเพียงไม่กี่เดือน แต่ตัดสินใจลงสู่สนามเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันหลังการยุบสภาแห่งรัฐ เขาจึงมองว่า แม้จะชนะได้เพียง 1 ที่นั่งในตอนนั้น ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นผลที่น่าพอใจแล้ว

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงเป็นการยากที่จะคาดเดาใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่าจะออกมาเลือกตั้งกันมากขนาดไหน และจะเลือกพรรคหรือแนวร่วมใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่เป็น first-time voters ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนอายุ 18-21 ปีที่มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่ผลสำรวจโดยนักวิชาการจาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ก็ชี้ว่ายังมีคนอายุ 18-24 ปีที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกพรรคใดมากถึง 43% โดยซาดีคเองก็ยอมรับว่าลุ้นกับคะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้มาก

ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq)
ภาพจาก: Facebook – Syed Saddiq Syed Abdul Rahman

แม้มูดาและแนวร่วมปากาตัน ฮาราปันจะชู ‘การเปลี่ยนแปลง’ ขึ้นมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่และคนมาเลเซียที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ทว่ามนต์ขลังของมันอาจไม่ได้ทรงพลังมากเมื่อเทียบกับตอนที่ปากาตัน ฮาราปันชูขึ้นมาในการเลือกตั้งปี 2018 ซึ่งได้รับแรงเสริมจากความโกรธเกรี้ยวของประชาชนต่อเหตุทุจริต 1MDB จนทำให้ปากาตัน ฮาราปัน สามารถล้มรัฐบาลบาริซาน เนชันแนลในตอนนั้นได้ และชัยชนะของปากาตัน ฮาราปันในวันนั้นที่ไม่อาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง ทั้งยังตามมาด้วยภาวะความวุ่นวายทางการเมืองอย่างที่ประเทศไม่เคยเห็นมาก่อน ก็ยิ่งยากที่จะโน้มน้าวให้คนมาเลเซียมองปากาตัน ฮาราปัน เป็น ‘ความหวัง’ ตามความหมายของชื่อแนวร่วมได้ดังเดิม

อย่างไรก็ตาม สำหรับซาดีค การที่คนรุ่นใหม่จะเลือกหรือไม่เลือกพรรคมูดาและปากาตัน ฮาราปันนั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่าคนรุ่นใหม่จะออกมาใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองกันมากน้อยขนาดไหน

“ภัยคุกคามที่สำคัญของประชาธิปไตยมาเลเซียก็คือ ‘ความไม่สนใจการเมือง’ เพราะฉะนั้นผมเลยย้ำต่อคนรุ่นใหม่ในมาเลเซียเสมอว่า คุณอาจจะเมินเฉยต่อการเมืองได้นะ แต่การเมืองจะไม่มีวันเมินเฉยต่อคุณ ถ้าคุณอยากได้ระบบขนส่งสาธารณะที่ดี คุณก็ต้องออกไปเลือกตั้ง ถ้าคุณอยากให้รัฐสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่านี้ คุณก็ต้องออกไปเลือกตั้ง หรือคุณต้องการให้ประเทศมีโอกาสงาน มีค่าแรงที่ดีกว่านี้ คุณก็ต้องออกไปเลือกตั้ง ทุกความเป็นไปในประเทศขึ้นอยู่กับประชาชนอย่างเราเป็นผู้กำหนดว่าจะให้มันออกมาในทางไหน และอาวุธเดียวที่จะทำให้เราทำเช่นนั้นได้ก็คือ ‘การเลือกตั้ง’”

References
1 อ่านรายละเอียดประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ที่บทความ ‘Undi 18 (Vote 18) มาเลเซีย – เมื่อคนรุ่นใหม่เปิดประตูการเมืองให้ตนเอง‘ โดย ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง
2 พรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินยุบพรรคในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2020 ก่อนที่สมาชิกส่วนใหญ่จะย้ายไปสังกัด ‘พรรคก้าวไกล’
3 อ่านรายละเอียดประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ที่บทความ ‘ชะตากรรมของ นาจิบ ราซัก – ชะตากรรมของพรรคอัมโน‘ โดย ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save