fbpx

อินโดนีเซีย – มาเลเซีย : ความขัดแย้งที่สะท้อนผ่านเกมฟุตบอลในภูมิภาคอาเซียน

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

ฟุตบอลเอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 เพิ่งจบลงไปด้วยคว้าแชมป์สมัยที่ 7 ของทีมชาติไทย จากการเอาชนะเวียดนาม 3-2 จากผลรวมทั้ง 2 นัด ซึ่งสร้างความสุขให้บรรดาแฟนบอลชาวไทยทั้งประเทศ หลังจากที่วงการฟุตบอลไทยต้องพบกับความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องมาหลายรายการ แต่ถึงอย่างนั้นนี่ก็นับเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ หลังสามารถป้องกันความเป็นเจ้าแห่งอาเซียนเอาไว้ได้

แต่เรื่องที่อยากจะเล่าในคราวนี้ ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่หรือการก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์สมัยที่ 7 ของทีมชาติไทยแต่อย่างใด หากแต่เป็นความขัดแย้งของสองชาติในอาเซียน ที่ถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในโลกฟุตบอล นั่นคือความขัดแย้งระหว่าง อินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยที่ทั้งสองชาติเจอกันทีไรก็อดที่จะมีเกมเดือดกว่าการแข่งขันของชาติอื่นๆ ในอาเซียนไม่ได้ และก็มีเรื่องราวเลยเถิดมากกว่าเกมในสนามแทบทุกครั้งไป น่าเสียดายที่ในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนในครั้งนี้ ทั้งสองชาติ ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และไม่ได้เจอกันเลยตลอดทัวร์นาเมนต์ ทำให้เราไม่ได้เห็นเหตุการณ์ดวลกันระหว่างทั้งสองชาติในการแข่งขันคราวนี้

เป็นที่รู้กันว่ากองเชียร์อินโดนีเซียกับมาเลเซีย เป็นสองกองเชียร์ที่ไม่ถูกกันอย่างแรง มักมีการเชียร์ที่จัดจ้านทางวาจาใส่นักเตะและกองเชียร์ฝ่ายตรงข้ามอย่างดุเดือด แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดมาอย่างไร้เหตุและผล แต่เป็นเพราะความขัดแย้งแต่เก่าก่อน ซึ่งต้องย้อนไปกว่า 60 ปี ตั้งแต่สมัยที่มาเลเซียเพิ่งได้รับอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมเดิมอย่างอังกฤษ

ในสมัยนั้นมาเลเซียมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องกับอินโดนีเซียทั้งทางการเมืองและทางการทหารภายใต้ข้อพิพาทเรื่องเขตแดน นอกจากนี้ทั้งสองชาติยังมีข้อพิพาทในแง่ของภาษาและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังปี 2000 ด้วย ซึ่งด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ว่ามา ทำให้หลายครั้งแฟนบอลทั้งสองทีมก็เอาเรื่องของชาติมาสาดใส่กันในสนามกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ทั้งสองชนชาติภาคภูมิใจอย่างฟุตบอล ที่ตกเป็นเป้าหมายในการแสดงออกของแฟนๆ มากที่สุด

แม้ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของทั้งสองชาติจะไม่ยาวนานนับศตวรรษเหมือนหลายๆ ชาติ หรือหลายๆ คู่ปรับใน The Rivalry ตอนก่อนหน้านี้ แต่เรื่องราวความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซียก็มีความน่าสนใจไม่แพ้คู่อริในสนามแข่งขันระหว่างชาติใดๆ เช่นกัน

ดังนั้น The Rivalry ตอนนี้ จึงอยากพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับความขัดแย้งของสองชาติเพื่อนบ้านในอาเซียนให้มากขึ้นอีกสักหน่อย เผื่อจะช่วยตอบคำถามค้างคาใจใครหลายๆ คนเวลาเห็นทัพ ‘การูดา’ ฟาดแข้งกับ ‘เสือเหลือง’ อย่างเอาเป็นเอาตายในสนาม หรือเห็นกองเชียร์อินโดนีเซียกับมาเลเซียตีกันนอกสนาม จะได้ไม่ต้องคาใจว่า ‘ทำไมพวกเขาถึงเอาเป็นเอาตายกันขนาดนั้น?’ อีกต่อไป

ความขัดแย้งทางเขตแดน – บอร์เนียวหรือกาลิมันตัน

เกาะบอร์เนียวหรือเกาะกาลิมันตัน เป็นเกาะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย และยังเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเกาะกรีนแลนด์และเกาะนิวกินี โดยเกาะแห่งนี้เป็นดินแดนที่มีพื้นที่ของสามชาติในเกาะเดียวกัน อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไนดารุสซาลาม

บอร์เนียวเป็นชื่อเรียกที่คนทั้งโลกอาจรู้จักมากกว่ากาลิมันตัน และฝั่งมาเลเซียก็เรียกเกาะแห่งนี้ด้วยชื่อบอร์เนียว โดยสันนิษฐานว่าชื่อบอร์เนียวมาจากชื่อพระพิรุณ (Varuna) เทพแห่งฝนของฮินดูในภาษาสันสกฤต พอมาถูกเรียกโดชนชาวพื้นเมืองก็กลายเป็น Baruna ก่อนเพี้ยนกลายเป็นชื่อเกาะบอร์เนียวไปในที่สุด

สาเหตุที่เกาะแห่งนี้มีชื่อตามเทพแห่งฝนอย่างพระพิรุณ ก็มีสาเหตุมาจากเกาะแห่งนี้มีฝนตกบ่อยและตกหนักถึงราว 4,000 มิลลิเมตรต่อปี หรือประมาณ 220 มิลลิเมตรต่อเดือน (ขณะที่กรุงเทพฯ ฝนตกราว 1,498 มิลลิเมตรต่อปี หรือราว 124.8 มิลลิเมตรต่อเดือนเท่านั้น)

ขณะที่ชื่อกาลิมันตัน เป็นชื่อที่ถูกเรียกจากฝั่งอินโดนีเซีย โดยคำว่ากาลิมันตันเป็นชื่อจากภาษาสันสกฤตเช่นกัน ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า กาลามันธานา (Kalamanthana) ซึ่งแปลว่า เกาะที่มีอากาศเผาไหม้ หรือเกาะที่มีอุณหภูมิร้อนมากในการอธิบายความร้อนและชื้นของสภาพภูมิอากาศ

ความแตกต่างของชื่อเรียกเกาะนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจ หลังยุคทศวรรษที่ 60 (1960-1969) เมื่อมาเลเซียที่ได้รับเอกราช จัดการผนวกดินแดนบริเวณซาราวักและซาบาห์ที่อยู่บนเกาะบอร์เนียวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ท่ามกลางความไม่พอใจของอินโดนีเซียที่ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะหลังได้รับเอกราชมาก่อนหน้านั้น ความขัดแย้งในครั้งนี้นำไปสู่การประกาศการเผชิญหน้าทางทหาร หรือที่รู้จักกันในนาม คอนฟรอนทาซี (konfrontasi) ระหว่างปี 1963-1965

โดยประธานาธิบดีซูการ์โน ซึ่งขณะนั้นมองว่ามาเลเซียเป็นรัฐหุ่นเชิดของอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษต้องการคงอำนาจและอิทธิพลในภูมิภาคนี้ต่อไป และการรวมดินแดนซาราวักและซาบาห์เข้าเป็นของมาเลเซียยังเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาการเมืองภายในของอินโดนีเซีย ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ประธานาธิบดีซูการ์โนต้องแสดงพลังและแสวงหาความชอบธรรมในการใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Demokrasi terpimpin) ทำให้กลายเป็นการปฏิบัติการทางการทหารในพื้นที่ดังกล่าว

แม้ปฏิบัติการทางทหารจะซาลงไปในปี 1965 แต่ข้อพิพาทบนเกาะแห่งนี้ก็ดำเนินต่อไปหลังทั้งสองประเทศต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนซีปาดัน (Sipadan) และ ลีกิตตัน (Ligitan) เรื่องนี้ลากยาวมาถึงทศวรรษที่ 2000 กว่าจะได้ข้อยุติ เมื่อทั้งสองประเทศตกลงที่จะให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศชี้ขาดเรื่องนี้ในปี 1997 ก่อนที่คดีจะยุติในปี 2002 หลังศาลตัดสินว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของมาเลเซีย แต่นั่นก็ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างทั้งสองชาติขึ้นมาอีกครั้ง

การแก่งแย่งทางสังคม – ภาษาและวัฒนธรรมมลายู

นอกจากข้อพิพาทเหนือดินแดนแล้ว ทั้งสองชาติยังมีปัญหาด้านการทับซ้อนของวัฒนธรรม (cultural overlaps) โดยกลายเป็นข้อพิพาทขึ้นมาในปี 2007 หลังข้อพิพาทเหนือดินแดนจบลงไปไม่นาน (แต่ในความรู้สึกของหลายฝ่ายเหมือนจะยังไม่จบดี) ทำให้ความความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติตึงเครียดและร้อนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งในแง่รัฐบาลต่อรัฐบาล รวมไปถึง ประชาชนต่อประชาชนก็ต่างไม่พอใจอีกฝ่ายไม่แพ้กัน

ปัญหาข้อพิพาททางวัฒนธรรมระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย เป็นปัญหาที่ทั้งสองชาติพยายามแย่งชิงมรดกทางวัฒนธรรมเหนือวัฒนธรรมที่ทับซ้อนกันหลายอย่าง โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเพลง ‘ราซา ซายัง-ซายังเงอ’ (Rasa Sayang-Sayange) หลังมาเลเซียใช้เพลงดังกล่าวในการโปรโมตการท่องเที่ยว ทว่าทางฝั่งอินโดนีเซียอ้างว่าเพลงนี้เป็นเพลงพื้นบ้านที่แสดงถึงวัฒนธรรมของมาลูกูซึ่งเป็นดินแดนในอินโดนีเซีย

หลังจากนั้นก็มีการอ้างความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมอื่นๆ ตามมาอย่าง ผ้าบาติก (Batik), หนังตะลุง (Wayang kulit), อาวุธกริช (Keris), การรำทารี (Tari), เครื่องดนตรีอังกะลุง (Angklung), และเรินดัง (Rendang) ที่เป็นอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นวัฒนธรรมร่วมของคนในย่านนี้

จนสุดท้ายเรื่องนี้ร้อนไปถึงองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) เข้ามาตัดสินไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตัดสินให้ผ้าบาติก หนังตะลุง และอาวุธกริช เป็นวัฒนธรรมของประเทศอินโดนีเซีย

หลังจากนั้นในปี 2012 ทั้งสองประเทศยังคงขัดแย้งกันด้วยข้อพิพาทเรื่องการซ้อนทับกันของวัฒนธรรมอีกครั้ง หลังกลอง กอร์ดัง ซาบิลัน (Gordang Sembilan) ซึ่งเป็นกลอง 9 ชิ้นที่ใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณีท้องถิ่นของชาวชนเผ่าบาตัก (Batak) ชนเผ่าท้องถิ่นในเขตแมนไดลิง (Mandailing) บนเกาะสุมาตรา กับระบำตอร์ตอร์ (Tor-Tor) ถูกทางการมาเลเซีย พยายามจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม

เรื่องดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับชาวอินโดนีเซีย โดยรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซียแสดงความไม่พอใจเรียกร้องให้ทางการมาเลเซียอธิบายในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการรวมตัวกันประท้วงของชาวอินโดนีเซียระดมขว้างก้อนหินและไข่เข้าใส่สถานทูตมาเลเซียอย่างโกรธแค้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งระบำตอร์ตอร์ กับกลองกอร์ดัง ซาบิลัน เป็นประเพณีที่มีมาก่อนที่อินโดนีเซียและมาเลเซียจะก่อตั้งเป็นประเทศในโลกสมัยใหม่ ดังนั้นต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีวัฒนธรรมใดที่อยู่ได้โดยอิสระหรือเกิดมาโดยไม่มีที่มา เพราะทุกวัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอื่นและมีอิทธิพลกับพื้นที่โดยรอบเสมอ

การแข่งขันทางเศรษฐกิจ – น้ำมันปาล์มกับสิ่งทอ

ขณะที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศก็เป็นประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน แม้จะไม่มีการนำมาเชื่อมโยงกับข้อพิพาทด้านบนที่กล่าวไปแล้ว แต่ทั้งสองชาติก็เป็นคู่แข่งขันอย่างชัดเจนในแง่ของสินค้าส่งออก อันเนื่องมาจากการที่มีอาณาเขตติดกัน ทำให้อยู่ในสภาวะแวดล้อมและภูมิอากาศคล้ายๆ กัน ส่งผลให้สินค้าส่งออกของทั้งสองชาติก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันด้วย

ที่ชัดเจนคือเรื่องของน้ำมันพืชและปาล์มน้ำมัน โดยทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียครองตลาดเป็นเจ้าของปาล์มน้ำมันของโลกมาหลายปี โดยข้อมูลจากปี 2021 ระบุว่าอินโดนีเซียเป็นชาติที่ส่งออกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก โดยมีรายได้จากการส่งออกปาล์มน้ำมัน 26,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านมาเลเซียตามมาเป็นชาติอันดับ 2 ที่ทำรายได้ราว 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทั้ง 2 ชาติทิ้งอันดับที่ 3 อย่างไม่เห็นฝุ่น เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ที่ครองอันดับ 3 ทำรายได้จากการส่งออกสินค้าชนิดนี้ไปเพียง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ส่วนไทยก็ติดอยู่ในอันดับ 5 จากการส่งออกสินค้าชนิดนี้ที่รายได้ราว 713.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แน่นอนว่าเมื่อมองจากพื้นที่ของประเทศ ไม่น่าแปลกใจที่การส่งออกปาล์มน้ำมันของอินโดนีเซียจะมากกว่ามาเลเซีย แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น อินโดนีเซียมีพื้นที่เกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตรซึ่งเยอะกว่ามาเลเซียที่มีพื้นที่ประเทศราว 330,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 6 เท่า แต่การส่งออกปาล์มน้ำมันของพวกเขาซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศมากกว่ามาเลเซียแค่เพียงราวเท่าตัว และมาเลเซียก็มีแนวโน้มเพิ่มการส่งออกสินค้าชนิดนี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากอินโดนีเซีย ทั้งที่ปาล์มน้ำมันไม่ใช่สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของชาติด้วยซ้ำ

นอกจากการแข่งขันในการส่งออกปาล์มน้ำมันแล้ว อุตสาหกรรมสิ่งทอก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าสำคัญในการส่งออกของทั้งสองชาติไม่ต่างกัน โดยอินโดนีเซียครองตลาดใหญ่กว่าที่มูลค่าการส่งออกสิ่งทอราว 13.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี โดยพวกเขารั้งอันดับ 5 ของโลก ในการเป็นชาติที่ส่งออกสิ่งทอมากที่สุด ขณะที่มาเลเซียก็ไต่อันดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน พวกเขาส่งออกสิ่งทอทำรายได้ปีละ 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ รั้งอันดับ 11 ของโลก

ที่ว่ามาแม้จะเป็นการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่ทั้งสองชาติผลิตได้คล้ายๆ กัน และส่งออกเหมือนกัน อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเลียม เป็นต้น

แต่ด้วยการที่มาเลเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า ทำให้ดึงดูดแรงงานอพยพชาวอินโดนีเซียมาทำงานที่นี่จำนวนไม่น้อย เนื่องจากค่าแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แต่ถึงอย่างนั้นข้อขัดแย้งทั้งในแง่ของดินแดนและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดการข่มเหงรังแกรวมถึงการกดขี่ทางเพศ ลามไปถึงการทำร้ายร่างกายแรงงานอพยพชาวอินโดนีเซียโดยนายจ้างชาวมาเลเซียบ่อยครั้งมากขึ้นด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายต่างพยายามหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ไขกันอยู่

การแข่งขันในสนาม – มาลายัน ไทเกอร์ vs การูดา

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนำไปสู่การแสดงออกที่รุนแรงในสนามแข่งขัน โดยเฉพาะในสนามฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่ทั้งสองชาติภาคภูมิใจในทีมชาติของตัวเอง ดังนั้นเมื่อทัพ ‘เสือเหลือง’ เผชิญหน้ากับทัพ ‘การูดา’ ไม่ว่าจะเป็นที่สนามบูกิต จาลิล ที่มาเลเซีย หรือเสนายันที่อินโดนีเซีย มักมีปัญหาความรุนแรงที่เลยเถิดเหนือการแข่งขันขึ้นมาให้เห็นเสมอๆ

นับตั้งแต่เกิดปัญหาข้อพิพาทจากการซ้อนทับกันของวัฒนธรรมระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซียในปี 2007 และ 2012 หนึ่งในเสียงตะโดนโจมตีใส่นักเตะและกองเชียร์มาเลเซียของแฟนบอลกลุ่มอัลตรา การูดา ที่มักจะได้ยินกันจนคุ้นหู (และคุ้นตา ในโลกโซเซียลฯ) คือคำว่า ‘มาลิงเซีย’ (Malingsia) ซึ่งคำว่า ‘มาลิง’ เป็นคำในภาษามลายู แปลว่า ขโมย ซึ่งแฟนบอลฝั่งอินโดนีเซียพยายามสื่อถึงการขโมยวัฒนธรรมของพวกเขาไปใช้เป็นของตัวเอง และคำคำนี้มักจะถูกตะโกนในจังหวะที่การตัดสินหรือเกมไม่เป็นไปดังใจขอพวกเขาด้วย เพื่อสื่อถึงว่ามาเลเซียขโมยชัยชนะของพวกเขาไปนั่นเอง

ทางด้านฝ่ายอัลตรา มาลายา แฟนบอลของมาเลเซียก็ไม่ยอมโดนดูถูกอยู่ฝ่ายเดียว พวกเขาตอบโต้ด้วยคำว่า ‘อินโดนีเซีย อิตู อันจิง’ (Indonesia itu anjing) ที่แปลว่า ‘พวกอินโดนีเซียเป็นหมา’ ซึ่งเป็นคำเหยียดที่คอนข้างรุนแรงโดยเฉพาะในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนมาก

แน่นอนว่าหลายครั้ง การตอบโต้กันไปมาแบบนี้ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้อีกฝ่าย จนกลายมาเป็นการปะทะกันของแฟนบอลทั้งสองฝ่ายทั้งในและนอกสนาม โดยย้อนไปครั้งล่าสุดที่แฟนบอลทั้งสองทีมก่อเรื่องทะเลาะกันรุนแรงจนเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ก็ไม่นานเลย เพราะเพิ่งเกิดขึ้นในเกมคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 โซนเอเชีย ในรอบ 2 ที่สนามเกโลรา บัง การ์โน หรือที่ชาวไทยคุ้นเคยในชื่อสนามเสนายันในกรุงจากาตาร์ ก็มีการปะทะกันของแฟนบอลทั้งสองชาติเกิดขึ้นในสนาม

เหตุการณ์ดังกล่าว ตามข่าวระบุว่าแฟนบอลอินโดนีเซียเป็นฝ่ายเริ่มก่อนโดยปาขวดน้ำใส่แฟนบอลมาเลเซีย ก่อนที่จะกลายเป็นเหตุในการเข้าปะทะกันในเวลาต่อมา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาควบคุมความสงบในสนามส่งผลให้เกมต้องหยุดชะงักไปในช่วงกลางครึ่งหลัง แม้สุดท้ายเกมจะกลับมาแข่งขันกันต่อได้จนจบ แต่นักฟุตบอลของมาเลเซียต้องนั่งรถหุ้มเกราะออกจากสนาม หลังเกมจบเลยทีเดียว

นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่แฟนบอลทั้งสองฝ่ายปะทะกันแบบนี้ แต่ทั้ง ‘อัลตรา มาลายา’ กับ ‘อัลตรา การูดา’ ก็ปะทะกันนอกสนามเป็นระยะในช่วงเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา หลังทั้งสองชาติเกิดปัญหาข้อพิพาททางวัฒนธรรม และไม่มีวี่แววว่าเรื่องนี้จะจบลงง่ายๆ เลย

ปัจจุบันของความขัดแย้ง – ความเหมือนที่แตกต่าง

อันที่จริงแล้ว หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาติ ล้วนแต่เคยมีรากเหง้าเดียวกันมาตั้งแต่อาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya) ในยุคศตวรรษที่ 7 นั่นหมายความว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งสองชาติจะมีวัฒนธรรมและภาษาร่วมกัน หากแต่ในปัจจุบันเมื่ออินโดนีเซียและมาเลเซียกลายเป็นรัฐชาติในโลกสมัยใหม่ การแก่งแย่งทางวัฒนธรรมที่เกิดมาจากรากเหง้าเดียวกันจึงเกิดขึ้น และยิ่งเป็นชาติที่มีพรมแดนติดกัน ความเหมือนทางวัฒนธรรมบางอย่างจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดายิ่ง ไม่ต่างจากไทยและกัมพูชาที่มีวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายกัน หรือไทยกับลาวที่มีภาษาใกล้เคียงกัน

แม้ฝ่ายบริหารของทั้งสองประเทศพยายามหาทางออกร่วมกันในการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมา แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้ความร่วมมือร่วมใจในภูมิภาคเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญก็ตาม ตราบใดที่เรื่องราวในอดีตยังถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และความขัดแย้งยังปะทุขึ้นมาเรื่อยๆ

สงครามในสนามหญ้าของกีฬาฟุตบอล จึงยังคงกลายเป็นตัวแทนในการต่อสู้ระหว่างความขัดแย้งของชาติทั้งสองต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่กาลเวลาช่วยลบเลือนเรื่องบาดหมางที่เกิดขึ้น ภายใต้เงื่อนไขสำคัญที่ว่า ‘ต้องไม่มีความขัดแย้งใหม่ๆ ในหัวข้ออื่นๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save