fbpx

ในสังคมที่กำหนดว่าอะไรคือความ ‘ปกติ’ ผิดไปจากนั้นจึง ‘ไม่ใช่’ สำรวจโลกของคนที่ต้องทนเป็นอื่นกับ โยชิยูกิ คิชิ

นัตสึกิ (ยูอิ อรางากิ) พนักงานห้างสรรพสินค้าที่ดูไม่ค่อยสนิทชิดเชื้อกับใครนัก เธอไม่สุงสิงกับใคร และมักใช้เวลาส่วนใหญ่นอกเหนือจากการทำงานอยู่กับตัวเองเพียงลำพังเสมอ ความปรารถนาลึกๆ ของเธอคือหลบหายไปจากโลกซึ่งดูเหมือนจะไม่มีสิ่งใดยึดโยงเธอไว้แล้ว อีกด้านหนึ่ง ฮิโรกิ (โกโระ อินางากิ) เป็นอัยการที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ความกังวลประการเดียวของเขาคือลูกชายวัยประถมเริ่มไม่อยากไปโรงเรียน และมักใช้เวลาส่วนใหญ่ให้ความสนใจไปกับการสตรีมมิงชีวิตตัวเองลงโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันนั้น โยชิมิจิ (ฮายาโตะ อิโซมูระ) นักเต้นหนุ่มหน้าตาดีก็เริ่มผลักไสตัวเองออกจากแวดล้อมคนอื่นๆ เมื่อเขารู้สึกว่าตัวตนของตัวเองกำลังถูกรุกล้ำขึ้นทุกที

(Ab)normal Desire (2023) เป็นผลงานการกำกับล่าสุดของ โยชิยูกิ คิชิ ดัดแปลงมาจากนิยายปี 2021 เรื่อง Seiyoku ของ อะราอิจิ เรียว โดยก่อนหน้านี้ โยชิยูกิเคยทำหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายมาแล้วคือทวิภาค Wilderness (2014) ว่าด้วยเด็กหนุ่มสองคนที่ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเอาชีวิตรอดในสังคมที่ทุบทำร้ายพวกเขา หรือใครก็ตามที่อ่อนแอกว่า 

ดังนั้นแล้ว ในภาพรวม หนังของโยชิยูกิจึงมักว่าด้วยคนที่ ‘เป็นอื่น’ ในสังคมเสมอ รวมทั้ง (Ab)normal Desire เองก็เช่นกัน เมื่อตัวละครหลักล้วนรู้สึกว่าพวกเขาไม่อาจกลืนกลายหรือเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมได้ ทั้งเด็กชายที่ต่อต้านการไปโรงเรียน, หญิงสาวที่ไม่รู้สึกสนิทชิดเชื้อกับใครแม้แต่นิด -และไม่ปรารถนาจะสนิทด้วยซ้ำ รวมทั้งเด็กหนุ่มที่อยู่ในโลกนักเต้นซึ่งแบ่งพื้นที่ของความเป็นชาย-หญิงชัดเจนเสียจนเขารู้สึกหาตำแหน่งแห่งที่ตัวเองไม่เจอ

ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 36 ที่ผ่านมานี้ 101 ได้รับโอกาสได้สนทนากับ โยชิยูกิ คิชิ ชวนสำรวจประเด็นซึ่งเป็นหัวใจของหนังอย่าง ชีวิต ‘ปกติ’ คือชีวิตแบบไหน, หากเราไม่เป็นไปตามครรลองที่สังคมกำหนดนั้น ถือเป็นความ ‘ผิดปกติ’ หรือไม่ และถึงที่สุด ความปกติหรือไม่ปกตินี้ ใครแน่คือผู้กำหนด

“ตอนผมได้ยินคำว่า ‘ชีวิตที่เป็นชีวิตปกติ’ ผมคิดว่ามันมีสองความหมายนะ” โยชิยูกิรำพึง “ความหมายแรกคือคุณใช้ชีวิตตามบรรทัดฐานของสังคมไปเรื่อยๆ และความหมายที่สองคือการเป็นตัวของคุณเองอย่างเต็มที่”

นั่นเองคือคำถามสำคัญของ (Ab)normal Desire ว่าหากเราอยากมีชีวิตที่ปกติอันเป็นความหมายที่สอง แต่ขัดกับความหมายแรกซึ่งเป็นไปตามที่สังคมกำหนด -ถามว่าอย่างนั้นแล้ว เราจะยังเรียกภาวะนี้ว่าเป็นความปกติได้อยู่หรือไม่

“ผมมักนึกถึงสังคมของเรา สิ่งที่เราเข้าใจเกี่ยวกับสังคม” โยชิยูกิบอก “ในฐานะผู้กำกับ ผมใช้จินตนาการเพื่อทำหนัง แต่หลายครั้งทีเดียวที่ผมพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงอยู่นอกเหนือจากจินตนาการที่ผมจะนึกฝันได้เสียอีก ผมจึงอยากจับจ้องไปยังชีวิตซึ่งถูกมองว่า ‘ปกติ’ ในสังคม อันเป็นความปกติที่ยากจะเอื้อมถึงเหลือเกิน ยากเย็นเหลือเกินที่เราจะเป็นในสิ่งที่สังคมมองว่าปกติได้”

(Ab)normal Desire (2023) (ที่มาภาพ)

กล่าวสำหรับโยชิยูกิ เขาแจ้งเกิดจาก Double Life (2016) หนังยาวที่พูดถึงประเด็นตัวตนหลายด้านของมนุษย์ในสังคม ผ่านเรื่องราวของหญิงสาวที่เรียนจบด้านปรัชญา เธอออกสะกดรอยตามเพื่อนบ้านหนุ่มที่เธอให้ความสนใจ -โดยอ้างว่าเป็นกิจกรรมทางปรัชญา- หากเธอดันไปล่วงรู้ความลับอันไม่อาจเปิดเผยของอีกฝ่ายเข้า แล้วจึงตามมาด้วย Wilderness ที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นหนังที่ ‘ติดกลิ่น’ พลังบวกและวัยหนุ่มผ่านเส้นเรื่องที่เหล่าเด็กหนุ่มทุ่มเทซ้อมมวยเพื่อเอาชนะตัวเอง กระนั้น ใจความของมันก็ยังพูดถึงความเป็นอื่นในสังคมอยู่ดี และ Prior Convictions (2022) ที่เขาหวนกลับมาเล่าเรื่องหนักหน่วงผ่านชีวิตผู้ควบคุมความประพฤติในญี่ปุ่น กับอดีตฆาตกรที่หายตัวไปในช่วงเวลาที่เกิดการฆาตกรรมขึ้นในย่านที่พวกเขาอยู่อาศัย

เราชวนโยชิยูกิคุยถึงเส้นทางการมาเป็นผู้กำกับ และวิธีที่เขามักจับจ้องไปยังพื้นที่เล็กๆ ของคนชายขอบหรือคนที่ถูกสังคมผลักออกให้เป็นอื่น “สมัยยังเด็ก ผมเป็นเด็กประเภทที่สนใจสงสัยว่าเราจะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกได้ยังไงบ้าง” เขาเล่า “เหมือนผมมีก้อนความคิดลึกๆ บางอย่างในหัวที่อยากระบาย กระนั้น ก็รู้สึกอีกเหมือนกันว่าหากพูดอะไรออกมา ก็คงไม่มีคนเข้าใจมันมากขนาดนั้น และคิดว่าสมัยก่อน ตัวเองก็ไม่ได้มีโอกาสในการแสดงความรู้สึกมากมายนักด้วย”

“ฉะนั้น ผมจึงเริ่มเขียนสคริปต์หนังตั้งแต่ยังเด็กเลยล่ะ แต่ก็ติดๆ ขัดๆ นะ ทำไม่ค่อยเป็น อีกอย่างคือผมรู้สึกว่าบางครั้งผมก็เขียนในสิ่งที่คนอื่นๆ คงไม่ค่อยคิดหรือไม่ค่อยรู้สึกกัน เลยไม่รู้จะถ่ายทอดออกมาอย่างไร คล้ายว่าตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนตัวเองคิดเห็นอะไรไม่เหมือนคนกลุ่มใหญ่มากกว่า”

เป้าหมายหลักของโยชิยูกิคือการแสดงความรู้สึกและความคิดผ่านออกมาเป็นงาน และหลังจากมะงุมมะงาหราหาหนทางอยู่พักใหญ่ เขาก็พบว่าการทำหนังดูจะเป็นคำตอบที่ไม่เลวของโจทย์นี้ “อันที่จริง ผมเริ่มจากการทำสารคดีด้วยซ้ำ และว่าไปผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะเริ่มทำหนังแต่แรกด้วยนะ” เขาหัวเราะ “แต่แค่ว่ามีคนเห็นว่าผมพอจะมีแววและเข้าใจผมดี เลยให้โอกาสผมได้ลองมาทำงานด้านนี้ จากนั้น ผมเลยเป็นผู้กำกับเรื่อยมา แต่เป้าหมายจริงๆ ของผมคือการเล่าเรื่องผ่านงานภาพ และแสดงตัวตนผ่านงานของเราเท่านั้นเอง”

(Ab)normal Desire สำรวจภาวะที่สังคมนิยามความเป็นปกติซึ่งยังผลให้เกิดความเป็นอื่นตามขึ้นมาได้โดยง่าย ยังผลให้คนจำนวนไม่ต้องต้องเก็บงำซ่อนเร้นความเป็นตัวเองเพื่อกันไม่ให้ถูกผลักกลายเป็นอื่นของสังคม และตัวละครที่บอกเล่าสถานะนี้ได้ดีที่สุดของเรื่องคือโยชิมิจิ นักเต้นที่ใช้ชีวิตในโลกซึ่งแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน ตลอดทั้งเรื่อง คนดูจะพบว่ามีเสียงตะโกนบอกความแตกต่างเรื่องท่าเต้นหญิงและชายแวดล้อมตัวเขาอยู่ตลอดเวลา คู่ขนานไปกับกรอบกรงเรื่องเพศสภาพอันแน่นหนาของสังคมญี่ปุ่น “ในแง่ของการโอบรับความหลากหลาย ผมคิดว่าเวลานี้ญี่ปุ่นคงอยู่ในจุดที่กำลังเริ่มต้นอยู่” โยชิยูกิบอกเรา “และสำหรับผมที่เป็นคนทำหนัง ผมก็รู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำหนังและตั้งถามว่า สำหรับสังคมญี่ปุ่นแล้ว ความหลากหลายนั้นหมายความว่าอย่างไรแน่”

“ผมคิดว่าเมื่อสังคมโอบรับความหลากหลายได้จริง ผู้คนก็จะเผยความรู้สึกและความเป็นตัวเองของพวกเขาออกมาเอง แต่ผมว่าเวลานี้ หลายคนที่ใช้ชีวิตในสังคมญี่ปุ่นยังต้องเร้นงำตัวตนและความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาไว้ เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่าเรายังไปไม่ถึงจุดที่จะพูดได้ว่าเรารับความหลากหลายได้กว้างขวางนัก” เขาว่า “อย่างที่เห็นในหนัง อย่างเวลาเราบอกว่าเราพูดถึงความหลากหลาย เรารู้จักคำนี้แน่ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราเข้าใจความหมายของมันโดยถ่องแท้เลย”

ความเป็นอื่นยังถูกบอกเล่าผ่านเส้นเรื่องของเด็กชายที่ไม่อาจเป็นหนึ่งเดียวกับระบบกฎเกณฑ์ในโรงเรียนประถมได้ เขาจึงหาทางออกที่ทำให้ตัวเองมีตัวตนและมีสังคมจากการสตรีมมิง เล่าเรื่องชีวิตตัวเองจนเขตแดนเรื่องความเป็นส่วนตัวพังทลายลง “สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจคือเรื่องราวนี้เกิดขึ้นในครอบครัวของพ่อที่หมกมุ่นอยู่กับการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ พูดกับลูกของตัวเองตลอดว่าอะไรคือสิ่งที่ปกติและอะไรที่ไม่ปกติสำหรับเขา” โยชิยูกิบอก และขยายความว่า ในญี่ปุ่นนั้น การที่เด็กเลือกไม่เข้ารับการศึกษาในระบบมักถูกคนในสังคมพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปกติอย่างรุนแรง ขณะที่ตัวเลขของเยาวชนที่เลือกไม่เข้าเรียนในโรงเรียนก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สำนักข่าว Mainichi สัญชาติญี่ปุ่นรายงานว่า จำนวนเด็กที่หยุดเข้าเรียนเพิ่มขึ้นจากปี 1992 ซึ่งอยู่ที่ 7,424 มาเป็น 20,346 ในปี 2019 “ผมเองให้คำตอบไม่ได้ชัดนักหรอกว่าทำไมคนถึงเลือกจะไม่เข้ารับการศึกษา แต่ถ้าให้เดา คงเพราะว่าหลายคนเข้ากับระบบไม่ได้ กระนั้น ผมว่าประเด็นนี้ก็มองได้สองแบบ กล่าวคือคนที่รู้สึกว่าเข้ากับระบบไม่ได้ก็เลือกที่จะไม่ไปเลย และอาจจะหาประสบการณ์ หาความรู้ด้วยวิธีการอื่นๆ เอา นั่นก็เรื่องหนึ่ง กับอีกแบบคือการไปโรงเรียนก็อาจทำให้คุณได้ฝึกทักษะการเข้าสังคมซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นในภายภาคหน้า 

“แต่ว่า ในโรงเรียน ประเด็นเรื่องตัวตน เรื่องอัตลักษณ์สำคัญมาก หลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นคนนอก เข้ากับใครไม่ได้ ทำให้พวกเขาเลือกหยุดการศึกษาในระบบ อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าตอนนี้ หลายๆ คนก็รู้สึกว่าการไม่เข้าเรียนในระบบเป็นเรื่องที่รับได้มากขึ้นแล้ว” 

หวนกลับมาที่หนัง (Ab)normal Desire อีกหน ตลอดจนหนังเรื่องก่อนๆ ที่ผ่านมาของโยชิยูกิซึ่งจับจ้องไปยังผู้คนซึ่งถูกผลักไสออกจากสังคม “ผมพยายามทำหนังที่ทำให้คนหลายๆ กลุ่มรู้สึกว่ามีคนมองเห็นเขา สนับสนุนพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาเป็น อยากให้พวกเขารู้ว่า มันก็มีทางเป็นไปได้นะ โลกที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ เป็นตัวของตัวเองอย่างที่พวกเขาอยากเป็นน่ะ” เขาปิดท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save