fbpx

ทำไมเราถึงสนใจชีวิตของคนในราชวงศ์ (อังกฤษ) กันนักนะ


แคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เพิ่งแถลงการณ์ผ่านวิดีโอว่าทรงประชวรด้วยโรคมะเร็ง และเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ไม่อาจกลับไปปฏิบัติภารกิจของราชวงศ์ใดๆ ได้

ก่อนหน้านี้ พระองค์ไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะใดๆ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2023 ทำให้สาธารณชนคาดการณ์ไปต่างๆ นานาถึงสาเหตุที่แคเธอรีนเงียบหายไป แม้จะมีแถลงการณ์ออกมาเมื่อเดือนมกราคมว่าทรงเข้ารับการผ่าตัดช่องท้อง -อันเป็นเหตุให้ตรวจเจอมะเร็ง- แต่หลายคนก็คาดเดาเหตุการณ์สารพัดรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องสุขภาพพลานามัย ไปจนถึงความสั่นคลอนในครอบครัว ระดับที่ว่า #KateMiddleton ติดอันดับแฮชแท็กที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในหลายๆ ประเทศ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกดูจะพุ่งความสนใจไปยังราชวงศ์วินด์เซอร์ ในระยะร่วมยุคร่วมสมัย พิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียม กับแคเธอรีนเมื่อปี 2011 ประมาณการว่ามีผู้เข้าชมการถ่ายทอดสดงานสมรสสูงสุดถึง 36.7 ล้านคน ไม่นับยอดคนดูจากการสตรีมมิงผ่านเว็บไซต์ยูทูบ ที่บันทึกสถิติโลกกินเนสส์ระบุว่าเป็น ‘เหตุการณ์ที่มีผู้เข้าชมผ่านสตรีมมิงมากที่สุด’ (Most Live Streams for a Single Event), พิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายแฮร์รี ผู้เป็นน้องชายของวิลเลียม กับเมแกน มาร์เกิล เมื่อปี 2018 ประมาณการว่ามีผู้เข้าชมการถ่ายทอดสดในสหราชอาณาจักร 27.7 ล้านคนและในสหรัฐอเมริกา 29 ล้านคน ตลอดจนพิธีฝังพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2022 มีผู้เข้าชมการถ่ายทอดสด 29 ล้านคนในสหราชอาณาจักร ถือเป็นรายการในศตวรรษที่ 21 ที่มีผู้ชมมากเป็นอันดับสอง (อันดับหนึ่งคือแถลงการณ์เรื่องการระบาดใหญ่ของไวรัส โดย บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อปี 2020) และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กับ สมเด็จพระราชินีคามิลลา ในเดือนพฤษภาคม 2023 ประมาณการว่ามีผู้ชมการถ่ายทอดสดที่ 20.4 ล้านคน

หากถอยย้อนกลับไปในปี 1981 พิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (ยศในเวลานั้น) กับเลดี้ ไดอานา สเปนเซอร์ มีผู้เข้าชมสูงถึง 750 ล้านคนจากการถ่ายทอดสดใน 74 ประเทศทั่วโลก และถูกนับให้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่มีผู้เข้าชมการถ่ายทอดมากที่สุดในประวัติศาสตร์

อะไรทำให้ผู้คนสนใจ ใส่ใจ อยากรับรู้ความเคลื่อนไหวและเป็นไปของราชวงศ์อังกฤษมากขนาดนี้

ภาพจาก AFP

สถานะของราชวงศ์อังกฤษเอง

ตลอดระยะเวลาการดำรงอยู่ของสหราชอาณาจักร ประมาณการกันว่าผ่านการปกครองของราชวงศ์ราวๆ 63 ราชวงศ์ในระยะเวลา 1,200 ปี ตั้งแต่ยุคเก่าแก่อย่างราชวงศ์นอร์มัน (House of Normandy), ราชวงศ์แพลนแทเจอนิต (House of Plantagenet), ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ (Haus Hannover) ซึ่งมีผู้ปกครองตามลำดับคนสุดท้ายคือ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แล้วจึงเป็นพระโอรสของพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา หลังพระองค์เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ในราชวงศ์วินด์เซอร์ซึ่งเป็นพระโอรสของพระองค์จึงขึ้นครองราชย์ โดยพระองค์มีศักดิ์เป็นพระอัยกาของ พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ด้วยระบอบกษัตริย์ที่ดำรงอยู่มานานหลายศตวรรษ สหราชอาณาจักรจึงมีระบอบกษัตริย์ที่แข็งแรงและยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยุคสมัยแห่งการออกเดินทางเพื่อหาและล่าอาณานิคมยังนำพาเอาระบอบกษัตริย์และอำนาจจากตะวันตกไปยังพื้นที่แห่งอื่นด้วย หรือแม้แต่ในรัชสมัยของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เครือจักรภพก็ขยับขยายจนมีประเทศเป็นสมาชิก 54 ประเทศ เท่ากับว่าประเทศสมาชิกเหล่านี้อยู่ภายใต้การรับข่าวสารเรื่องการมีอยู่ของตัวราชวงศ์ไปโดยปริยาย

สิ่งสำคัญที่จะไม่กล่าวถึงเสียมิได้ คือการ ‘อยู่เป็น’ ของสมาชิกราชวงศ์ที่ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมาหลายสิบปี เช่น การดำรงอยู่ของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่อยู่กับการปรับเปลี่ยนกฎเรื่อยมา ในยุคร่วมสมัย เราเห็นพระองค์ปรากฏตัวในวิดีโอโอลิมปิกที่ลอนดอนปี 2012 ด้วยการกระโดดร่ม (!!) มาพร้อม เจมส์ บอนด์ หรือคือนักแสดงที่รับบทเป็นบอนด์ในเวลานั้นอย่างแดเนียล เคร็ก และในปี 2022 พระองค์ยังร่วมดื่มชากับหมีแพดดิงตัน -ตัวละครที่พูดถึงที่มาของการเป็นผู้อพยพซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในอังกฤษจากนิทานเด็กและแอนิเมชัน

ถึงที่สุด เราอาจจะกล่าวได้ว่า ตัวราชวงศ์อังกฤษเองแนบเนื้อตัวเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างที่หลายๆ ราชวงศ์ทำไม่ได้

เจ้าชาย เจ้าหญิง ราชาและราชินี ในนิทานและเรื่องเล่าปรัมปรา

หลายคนโตมากับนิทานและเรื่องเล่าที่มีแนวคิดว่าด้วยราชากับราชินีในอาณาจักรสมมติ ซึ่งสมาทานแนวคิดเรื่องการปกครองและความผาสุกของชาวเมือง กระทั่งสื่อในวัฒนธรรมกระแสหลักจากค่ายใหญ่อย่างดิสนีย์ ก็งอกเงยจากการสร้างแอนิเมชันที่หยิบเอาเทพนิยาย -ที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเจ้าหญิงกับเจ้าชาย- มาเป็นธงหลักในการทำการตลาด ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็รักเรื่องเล่าอันชวนตื่นตาตื่นใจในดินแดนที่พวกเราไม่รู้จัก กับตอนจบชวนฝันด้วยกันทั้งสิ้น (แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นผลจากการดัดแปลงตอนจบของเทพนิยายต้นทางที่มักเต็มไปด้วยความรุนแรงหรือตอนจบแสนหฤโหด) ไล่เรื่อยมาตั้งแต่หัวเรืออย่าง Snow White and the Seven Dwarfs (1937), Cinderella (1950) และยุคที่เรื่องเล่าของเจ้าชายเจ้าหญิงเฟื่องฟูสุดๆ อย่างยุค 90s ที่มีทั้ง The Little Mermaid (1989), Beauty and the Beast (1991), Aladdin (1992) และ The Lion King (1994)

ราชา ราชินี เจ้าหญิงและจ้าชายจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากจะทำความเข้าใจหรือหลุดไปไกลจากสามัญสำนึกเราเท่าไรนัก

ภาพจาก AFP

เว็บไซต์ The New York Times ชี้ประเด็นนี้ไว้น่าสนใจว่า แท้จริงแล้วมนุษย์คุ้นเคยและเข้าใจกับการมีอยู่ของระบอบกษัตริย์อยู่แล้วแม้เกิดและโตในประเทศที่ไม่ได้ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ เรารู้จักการปกครองเหล่านี้ผ่านนิทาน ผ่านประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ฟาโรห์แห่งอียิปต์, กษัตริย์ในกรุงโรมโบราณ, ราชาจากอาณาจักรมายา และแม้แต่คัมภีร์ทางศาสนาทั้งในไบเบิล -ไม่ว่าจะในพันธสัญญาเดิมหรือพันธสัญญาใหม่- ในอัลกุรอาน และแม้แต่พระไตรปิฎกเองก็ล้วนเอ่ยอ้างถึงการมีอยู่ของกษัตริย์หรือระบบการปกครองโดยเชื้อพระวงศ์ทั้งสิ้น (หรือจะว่าไป ตัวสิทธัตถะเองก็เป็นเจ้าชายก่อนมาออกบวชเสียด้วยซ้ำ)

ถึงที่สุด แนวคิดที่ว่าพระเจ้า เบื้องบน สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาใดๆ ตามแต่จะเรียกและศรัทธา ส่งคนกลุ่มหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์และมีความชอบธรรมโดยสมบูรณ์ในการปกครองผู้อื่น ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมโลกมานานกว่า 7,000 ปี

แนวคิดเรื่องการดำรงอยู่ของเหล่า ‘เจ้าชาย-เจ้าหญิง’ นั้นแนบเป็นเนื้อเดียวกันกับความเพ้อฝันแฟนตาซีบางประการ ด้านหนึ่ง มีประชากรไม่กี่คนบนโลกเท่านั้นที่มีสถานะเป็นราชวงศ์ เท่ากับว่าประชากรส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นหรือเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตแบบไหน แต่ละวันทำอะไร หรือแม้แต่ ‘พูดจา’ ด้วยคำศัพท์แบบไหน พวกเขาใช้คำสามัญเหมือนเราหรือเปล่า ตลอดจนความคิดที่ว่า การที่ใครสักคนเติบโตมาโดยมีแต่คนห้อมล้อม พินอบพิเทา จะทำให้เขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหนนะ

จอห์น โจสต์ ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า “ผมเดาว่าบางคนคงหลงใหลไปกับความหรูหราของราชวงศ์ และความเพ้อฝันที่ว่าคนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มพิเศษ ใช้ชีวิตอู้ฟู่และยากจะจินตนาการถึง ก็อาจเป็นวิธีที่พวกเขาใช้หลบหนีออกจากชีวิตอันแสนจำเจของตัวเองน่ะ” โจสต์ว่า “และอาจเป็นไปได้ว่า คนเหล่านี้หวังว่าที่พวกเขาทุ่มเทชื่นชมเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย บางทีแล้วคนในราชวงศ์จะช่วยปกป้อง ช่วยดูแลพวกเขากลับมาเป็นรางวัลตอบแทน เพราะอย่างน้อยๆ ในเทพนิยาย มันก็มักลงเอยเช่นนี้เสมอ”

ใครก็ชอบเรื่องชวนฝัน

พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อภิเษกสมรสกับ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ และต้องฝ่าฟันข้อครหามากมายรวมทั้งเรื่องที่ว่าฟิลิปมีสถานะเป็น ‘คนพลัดถิ่น’ เนื่องจากเกิดที่กรีซและสถานะทางการเงิน หรือแม้แต่สถานะทางยศศักดิ์ก็ไม่แน่นอนนัก

กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 อภิเษกสมรสกับ ไดอานา สเปนเซอร์- ถือเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์คนแรกที่ได้แต่งงานกับเจ้าชายแห่งเวลส์

เจ้าชายวิลเลียมเข้าพิธีเสกสมรสกับ เคต มิดเดิลตัน หญิงสาวจากตระกูลนักธุรกิจ หลังพบเจอกันที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์

เจ้าชายแฮร์รีเข้าพิธีเสกสมรสกับ เมแกน มาร์เกิล หญิงสาวชาวอเมริกัน เชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน นับเป็นสะใภ้ราชวงศ์วินด์เซอร์คนแรกที่ไม่ได้เป็นคนขาว

ยากจะปฏิเสธว่าเรื่องราวเหล่านี้ชวนดึงดูดอยู่ไม่น้อย มันให้ความรู้สึกเดียวกันกับเวลาที่เราอ่านนิยายชวนฝันหรือละครที่บอกเล่าเรื่องความสัมพันธ์ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากความแตกต่าง แล้วลงเอยที่ตัวละครยืนคู่กันในชุดแต่งงานสีขาว ขึ้นตัวอักษรว่า “จบบริบูรณ์” หรือ “Happy Ending” และแม้แต่ “ทั้งสองครองรักกันอย่างมีความสุขไปชั่วกัลปาวสาน” ในหน้าสุดท้ายของนิทาน เพราะในชีวิตจริง จะมีสักกี่สถานการณ์กันที่เราได้เห็นความรักก่อตัวขึ้นบนความแตกต่างของชาติกำเนิด -ที่จะว่าไปก็เป็นพล็อตยอดฮิตของนิยายโรแมนติกหลายเรื่อง

ภาพจาก AFP

ยิ่งถ้าพินิจจากสายตาคนที่ไม่ได้เติบโตหรืออยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ เรื่องราวเหล่านี้ยิ่งชวนให้พิศวง แบบเดียวกับที่คนอเมริกันไม่เข้าใจว่าทำไมคนอังกฤษจึงยังต้องมีราชวงศ์ แน่นอนว่าพวกเขาคุ้นเคยกับราชวงศ์อังกฤษผ่านการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง แต่กระนั้น เรื่องของการสืบเชื้อสายเพื่อปกครองก็ยังถือเป็นเรื่องไกลตัวของพวกเขา และพร้อมกันนั้น มันก็ดูเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างที่ บารัค โอบามา (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวกับชาร์ลส์ในปี 2015 เมื่อเจ้าชาย (ยศในเวลานั้น) จากอังกฤษเดินทางมาเยือนทำเนียบขาวว่า “คนอเมริกันออกจะชื่นชอบราชวงศ์อยู่ไม่น้อยนะ ว่าไป พวกเขาชอบเชื้อพระวงศ์มากกว่านักการเมืองในประเทศตัวเองเสียอีกแน่ะ”

ด้านหนึ่ง เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ แน่นแฟ้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งทำให้ชาวอเมริกันได้เห็นและได้ยินเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษ (ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาก็มองเรื่องราวเหล่านี้ด้วยสายตา ‘คนนอก’) งานอภิเษกสมรสระหว่างวิลเลียมกับเคต ก็มีชาวอเมริกันตื่นมาดูการถ่ายทอดสดพิธีทางโทรทัศน์เกือบ 23 ล้านคน หรือย้อนกลับไปไกลกว่านั้น งานอภิเษกสมรสระหว่างชาร์ลส์กับไดอานาเมื่อปี 1981 ก็เป็นชาวอเมริกันที่เกาะจอรอดูพิธีถ่ายทอดสด จนกลายเป็นงานที่มียอดเรตติ้งสูงที่สุดในทศวรรษ 1980s ในสหรัฐฯ

“และนี่แหละคือครั้งแรกเลยที่แนวคิดเรื่องงานแต่งงานแบบเทพนิยายถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก” ซันโดร โมเน็ตติ สื่อมวลชนชาวอังกฤษที่อาศัยในลอส แองเจลิส, สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับ CNN “มันทำให้เรารับรู้ว่า ใครก็สามารถแต่งงานกับเชื้อพระวงศ์ได้ และนี่ก็กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกันในเวลานั้น

“และพูดก็พูดนะ ผมว่าวอลต์ ดิสนีย์ มีส่วนอย่างมากในการสร้างแนวคิดที่ว่า การเป็นเจ้าหญิงคือความฝันอันยิ่งใหญ่ของเด็กผู้หญิง ซึ่งเล่าผ่านทั้งภาพยนตร์และหนังสือเลย”

โดยเฉพาะกรณีเมแกน มาร์เกิล หญิงสาวชาวอเมริกัน ดึงดูดให้ชาวอเมริกันสนใจเรื่องราวของเหล่าราชวงศ์อังกฤษมากขึ้น พวกเขาสนใจเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับวิถีปฏิบัติและธรรมเนียมของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่อยู่มายาวนาน การใช้ชีวิตที่พลิกเปลี่ยนจากสามัญชนไปสู่การเป็น ‘เจ้าหญิง’ นั้นเป็นอย่างไร ฯลฯ ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อแฮร์รีและเมแกนออกมาให้สัมภาษณ์รายการ Oprah with Meghan and Harry (2021) โดย โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) นักสัมภาษณ์มือฉมัง ยอดคนดูจะพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

หากแต่ ‘ความฝันหวาน’ จะใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ผู้คนสนใจเรื่องราวของเหล่าคนในวังเท่านั้นหรือ

แน่นอนว่าคำตอบคือไม่ใช่

ใครก็ชอบเรื่องอื้อฉาว

จะมากจะน้อย คนเราสนใจเรื่องความสัมพันธ์และการต่อรองทางอำนาจของผู้อื่นเสมอ ในชีวิตอันราบเรียบและจืดชืด อะไรจะซดอร่อยได้มากไปกว่าข่าวการแตกหัก, ชิงรักหักสวาทหรือเชือดเฉือนกันของใครสักคน และหากว่า ‘ใครสักคน’ นั้นเป็นคนมีชื่อเสียง เราก็พร้อมกำซาบเรื่องราวแสนดราม่าของพวกเขาข้ามวันข้ามคืน จึงไม่น่าแปลกใจที่เพจข่าวซึ่งหยิบเอาเรื่องราวส่วนตัวของนักแสดง-ดารามาขยายถึงได้เติบโตรวดเร็วแทบทุกเพจ

และถ้าจะมีสักอย่างที่เรื่องราวของราชวงศ์ ‘เผ็ดร้อน’ ยิ่งกว่าดราม่าดารา ก็เห็นจะเป็นเรื่องที่ว่ามันแนบแน่นมาเป็นเนื้อเดียวกันกับสถานะทางอำนาจและตำแหน่งแห่งที่ของการครองราชย์

การหายไปพักรักษาตัวหลังเข้ารับการผ่าตัดของเจ้าหญิงเคต จึงพ่วงมาด้วยการคาดคะเนต่างๆ นานาว่าพระองค์ยังปลอดภัยอยู่หรือไม่ เหตุใดจึงแทบไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะ ไปจนถึงรูปตัดต่อของพระองค์กับพระโอรสและพระธิดาซึ่งหลังเผยแพร่สู่สาธารณะ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทันทีว่าเป็นภาพที่ผ่านการตกแต่งรูปและยิ่งทำให้คนนอกสนใจสถานะของพระองค์มากขึ้น (ภายหลัง เจ้าหญิงกล่าวว่าพระองค์เป็นคนตัดต่อภาพนั้นเอง) แม้แต่วิดีโอที่พระองค์แถลงเรื่องอาการพระประชวร คนก็ยังตั้งคำถามถึงเจ้าชายวิลเลียมที่ไม่ปรากฏตัวด้วยกัน ลากยาวไปถึงการตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ฯลฯ

เหล่าคนในราชวงศ์ก็เช่นเดียวกันกับบุคคลสำคัญหลายๆ คนที่ไม่อาจเคลื่อนไหวเพื่อแถลงการณ์ใดๆ ตามใจได้ ความลึกลับและกฎระเบียบเหล่านี้ทำให้ผู้คนพยายาม ‘อ่าน’ หรือ ‘ตีความ’ ท่าทีของพวกเขาผ่านแถลงการณ์หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แสนไม่สลักสำคัญอย่างการปรากฏตัวในที่สาธารณะ (เช่น เดินจับมือกันไหม หรือท่าทีของพวกเขาเมื่ออยู่ใกล้กันนั้นเป็นอย่างไร ฯลฯ) อย่างใกล้เคียงที่สุดคือเรื่องราวของตระกูลเคเนดีแห่งสหรัฐฯ ที่ทั้งเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวและโศกนาฏกรรมที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนมานานกว่าสิบปี

กระทั่งรายการ Oprah with Meghan and Harry เอง เหตุผลหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจต่อการปรากฏตัวของแฮร์รีและเมแกนมากถึงเพียงนั้น เหตุผลหนึ่งคือประเด็นความขัดแย้งระหว่างทั้งคู่กับราชวงศ์ที่ลือออกมาเป็นระยะๆ ทั้งเรื่องเมแกนเข้ากับ ‘ระบบ’ อันแข็งตัวของราชวงศ์ไม่ได้, เธอต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่ออยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยธรรมเนียมและวิถีชีวิตแบบอนุรักษนิยมเต็มขั้น ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างเธอถูกเหยียดผิว รวมทั้งหนังสืออัตชีวประวัติ Spare (2023 -หรือ ‘ตัวสำรอง’ ในฉบับแปลภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Sophia) ของเจ้าชายแฮร์รี ก็เล่าเรื่องที่หลายคนอยากรู้อย่างความสัมพันธ์ของพระองค์กับวิลเลียมผู้เป็นพี่ และมีสิทธิได้ครองตำแหน่งกษัตริย์ลำดับต่อไป

เรื่องราวความขัดแย้งเหล่านี้อยู่ในสายตาของสาธารณชนมานับทศวรรษ ความสัมพันธ์ระหว่างชาร์ลส์กับไดอานาและ คามิลลา แชนด์ (Camilla Shand) พระสหาย ซึ่งปัจจุบันคือสมเด็จพระราชินีคามิลลา เป็นที่พูดถึงในหน้าสื่อแท็บลอยด์อังกฤษมายาวนาน เรื่องที่ว่าแท้จริงแล้ว ชาร์ลส์แอบชอบคามิลลามาโดยตลอด แต่ต้องแต่งงานกับไดอานาซึ่งเหมาะสมกว่าในสายตาของวัง หรือความระหองระแหงระหว่างเขากับไดอานาที่ยังผลให้ปลายทางคือการเลิกราหย่าร้าง จนถูกเรียกว่าเป็นสงครามแห่งเวลส์ (War of Wales) นอกจากนี้ยังมีการตีพิมพ์หนังสือ Diana: Her True Story – In Her Own Words (1992) โดย แอนดรูว์ มอร์ตัน (Andrew Morton) นักเขียนและสื่อมวลชนชาวอังกฤษเจ้าประจำในการเขียนหนังสือชีวประวัติคนดัง บอกเล่าเรื่องความเครียดเขม็งของการใช้ชีวิตในระบบ การต้องปรับตัวและรับมือกับปัญหาทางใจซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งทำให้คนนอกสนใจใคร่รู้เรื่อง ‘ภายใน’ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่อย่างตรงไปตรงมาโดยสมาชิกคนไหน

อย่างไรก็ตาม เหตุผลหนึ่งที่ราชวงศ์อังกฤษดึงดูดสายตาและความสนใจของผู้คนมาหลายทศวรรษนั้น ด้านหนึ่งก็เป็นเพราะความยิ่งใหญ่และยาวนานของตัวราชวงศ์กับตัวสหราชอาณาจักรเอง อีกด้านหนึ่ง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนผ่านของสังคมและเวลา ทำให้หลายคนสนใจว่าสถาบันกษัตริย์เหล่านี้จะหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองอย่างไรต่อไป และที่ผ่านมา การเฝ้ามองดูราชวงศ์อังกฤษปรับตัวก็ถือเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจและชื่นชม เพราะก็อย่างที่รู้ -นี่ไม่ใช่สิ่งที่ราชวงศ์ทุกแห่งจะทำกันได้เสียเมื่อไหร่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save