fbpx
เดินเร็ว - แก่ช้า : เมื่อการเดินทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์

เดินเร็ว – แก่ช้า : เมื่อการเดินทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์

การศึกษาในช่วงต้นศตวรรษที่ผ่านมาพบว่า ‘คนเมือง’ ในเมืองต่างๆ ทั่วโลกนั้น เดินเร็วขึ้นมากกว่า 10% ในระยะเวลาเพียง 10 ปี และบางเมืองก็เดินเร็วขึ้นถึง 30% ด้วยซ้ำ

การศึกษานี้ทำขึ้นโดย ริชาร์ด ไวส์แมน (Richard Wiseman) ร่วมกับ บริติช เคานซิล โดยสำรวจคนเมืองใน 32 เมืองทั่วโลก (น่าเสียดายที่ไม่มีกรุงเทพฯ) และพบว่าเมืองที่คนเดินเร็วที่สุดในโลก ก็คือสิงคโปร์ ชาวสิงคโปร์นั้นเดินเร็วขึ้นกว่าเมื่อต้นทศวรรษ 1990 ถึงกว่า 30% โดยเดินด้วยอัตราเฉลี่ยเร็วถึง 10.55 วินาทีต่อ 60 ฟุต ตามมาติดๆ ด้วยชาวโคเปนเฮเกน มาดริด​ กวางโจว และดับลิน ในขณะที่ชาวเมืองที่เดินช้าที่สุด คือชาวบลานไทร์ (Blantyre) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศมาลาวี โดยที่ระยะทาง 60 ฟุต เท่ากัน จะใช้เวลาเดินเฉลี่ยถึง 31.60 วินาที คือช้ากว่ากันร่วมสามเท่า

ในตอนนั้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายชี้ไปที่สาเหตุเดียวกัน นั่นก็คือความเร่งรีบของชีวิตสมัยใหม่บีบให้คนต้องเดินเร็วขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือจีน อย่างคนในกวางโจวนั้นเดินเร็วขึ้นกว่าทศวรรษก่อนหน้ามากกว่า 20% ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคม ก็จะพบว่าสอดคล้องกันมาก แต่ในเวลาเดียวกัน หลายเมืองที่คนทั่วไปคิดว่าเดินเร็ว กลับไม่ได้เร็วอย่างที่คิด เช่น คนนิวยอร์กเดินเร็วเป็นอันดับ 8 ตามหลังชาวดับลินและเบอร์ลิน ส่วนชาวลอนดอนอยู่ที่อันดับ 12 และปารีสอยู่ที่อันดับ 16 เป็นต้น

น่าเสียดายที่การศึกษานี้ไม่ได้มีการทำอะไรต่อ เช่น นำมาวิเคราะห์แบบ Meta-Analysis โดยเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลชุดอื่นๆ เช่น พื้นที่สีเขียว การจราจร หรือไลฟ์สไตล์ด้านต่างๆ ของผู้คนในเมืองนั้นๆ ซึ่งน่าจะทำให้เห็นภาพอื่นๆ ได้อีกมาก ที่สำคัญก็คือ หลังโควิดแล้ว ดูเหมือนยังไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้ด้วย – ว่าหลังผ่านเวลาหลายปีที่ผู้คนต้อง ‘หยุด’ อยู่กับที่เพราะโรคระบาดแล้ว วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อการ ‘เดิน’ ของผู้คนมากน้อยแค่ไหน

หลายคนอาจสงสัยว่า ผมไปขุดการศึกษาเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนขึ้นมาทำไม เหตุผลก็คือผมเพิ่งเห็นความพยายามใหม่ที่น่าสนใจของกรุงเทพมหานคร ในการสร้าง BKK Trail ขึ้นมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางสำหรับเดินหรือวิ่งในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่แถบพระนคร ราชเทวี เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือ กทม. กำลังอยากชวนเชิญคนไทยให้ ‘ออกเดิน’ (หรือวิ่งได้ก็ยิ่งดี)

แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ในขณะที่คนเมืองในหลายประเทศทั่วโลก ‘เดินเร็ว’ กันมากขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ (อย่างน้อยก็จากการสำรวจเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว) คนกรุงเทพฯ อย่างเราๆ ท่านๆ นั้น ‘เดิน’ เป็นปกติวิสัย หรือพูดได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มี ‘วัฒนธรรมการเดิน’ ฝังอยู่ในตัวหรือเปล่า เพราะดูไปดูมา เหมือนเราชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยถนัดเดินนัก ทั้งด้วยการออกแบบเมืองและวิถีชีวิต ทำให้เราหันหน้าไปหาวัฒนธรรมรถยนต์มากกว่า และวัฒนธรรมรถยนต์ก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับวัฒธรรมการเดินโดยสิ้นเชิงเลย

ถ้ามองในแง่ภาษา ซึ่งเป็นรากของวัฒนธรรมที่ลึกที่สุด คำว่า ‘เดิน’ ไม่ใช่คำไทยแท้แต่โบราณนะครับ แต่โดยรากศัพท์แล้วเป็น ‘คำยืม’ มาจากภาษาเขมรว่า ដើរ (เฎิร) ร่วมเชื้อสายกับภาษาลาว ເດີນ (เดีน) และเคยมีการเขียนด้วยรูปแบบอื่น เช่น ‘เดอร’ หรือ ‘เดิร’ ด้วย พอพิจารณาแบบนี้ร่วมกับไปกับนิสัยในการ (ไม่ค่อยชอบ) เดินของคนไทยทั่วไป เลยอาจทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานขึ้นมาได้เหมือนกันว่า เป็นไปได้ไหมที่คนไทยแท้แต่โบราณ (โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง) อาจไม่คุ้นกับการ ‘เดิน’ ก็ได้ เพราะทุกอย่างในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แค่ขยับตัวนิดเดียวก็มีอาหารกินแล้ว จึงไม่ต้อง ‘เดิน’ ระยะทางไกลๆ เพื่อไปหาอาหาร การเดินจึงไม่ใช่ส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของเรามาแต่ดั้งเดิม และด้วยอากาศร้อน เราจึงไม่มี ‘วัฒนธรรมเดินเล่น’ หรือ ‘เดินเรื่อยเปื่อย’ เหมือนชาวอังกฤษหรือชาวยุโรปด้วย

แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าคนไทยรังเกียจเดียดฉันท์การเดินนะครับ เพราะในหนังสือ WALKABLE CITY เมื่อกรุงเทพฯ ออกเดิน ของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) องค์กรที่โปรโมทเรื่องการทำเมืองให้ ‘เดินได้’ และ ‘เดินดี’ เคยบอกเอาไว้ว่า ระยะทางเฉลี่ยที่คนกรุงเทพฯ สามารถ ‘เดินได้’ ไกลที่สุดก็คือราวๆ 800 เมตร หรือเกือบๆ หนึ่งกิโลเมตร แปลว่าเอาเข้าจริงแล้ว ถ้าสาธารณูปโภค เช่น ขนส่งสาธารณะ ทางเท้า หรือทางเดินลอยฟ้าต่างๆ นั้นดีพอ มีหลังคาคลุมหรือมีต้นไม้ให้ร่มเงา คนกรุงเทพฯ ก็น่าจะพร้อมออกเดิน และอาจเดินได้ไกลว่าตัวเลขที่ศึกษามาเสียด้วยซ้ำ

หลายคนอาจบอกว่า กรุงเทพฯ ร้อน เลยไม่อยากเดิน แต่ต้องบอกคุณว่า การ ‘เดินตัวตรง’ ด้วยสองขาและสองเท้านั้น ถือเป็น ‘เอกลักษณ์’ ประจำสปีชีส์ของมนุษย์เลยนะครับ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเดินทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ทั้งปวงบนโลกใบนี้

ในหนังสือ The Body ของ บิล ไบรสัน มีตอนหนึ่งบอกเอาไว้ว่า ไม่มีใครรู้เหตุผลแท้จริงที่มนุษย์ลุกขึ้นมาเดินในแบบที่เราเป็นอยู่ เพราะในบรรดาสัตว์ประเภทไพรเมต (primate) ทั้งหลายราว 250 สปีชีส์นั้น มีแค่มนุษย์สปีชีส์เดียวเท่านั้นที่เลือกจะ ‘ลุกขึ้น’ มาเดินโดยใช้สองขา (หรือที่เรียกว่า bipedalism)

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า – การเดินสองขานี่แหละครับ ที่ทำให้สมองของมนุษย์เราวิวัฒนาการมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกลายมาเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาได้อย่างในทุกวันนี้

ถ้าพูดอย่างย่นย่อ เดิมทีมนุษย์เราก็คล้ายๆ ลิงทั้งหลายนั่นแหละครับ คืออาศัยอยู่บนต้นไม้ แต่แล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทำให้มนุษย์ต้องจำยอมสละต้นไม้ออกมาอยู่ในที่โล่งที่มีลักษณะเป็นทุ่งอย่างในแอฟริกา และเมื่อออกมาอยู่ในที่โล่งแล้ว เราก็พัฒนาการเดินสองขาขึ้นมา การเดินสองขามีประโยชน์หลายเรื่อง นอกจากจะทำให้เรา ‘เห็น’ ได้รอบด้านแล้ว มันยังช่วย ‘ปลดปล่อย’ มือของเราด้วย ทำให้เราไม่ต้องใช้ ‘มือ’ ในการช่วยเดิน (หรือคลานสี่เท้า) มือของเราจึงเป็นอิสระ สามารถนำไปใช้ทำอะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง รวมไปถึงการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือต่างๆ ขึ้นมา จะเรียกว่า ‘มือ’ เป็น ‘อุปกรณ์’ แรกๆ ที่ทำให้มนุษย์สามารถสร้าง ‘เทคโนโลยี’  ที่หลากหลายเพื่อรับมือกับความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปก็ได้

หลายคนคงรู้จัก ‘ลูซี่’ (Lucy) ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ปัจจุบันดีนะครับ เมื่อสัก 3.2 ล้านปีก่อน ลูซี่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือเอธิโอเปีย เชื่อกันว่า ลูซี่และผองเพื่อนนี่แหละคือต้นแบบของสิ่งมีชีวิตที่ยืนหรือเดินสองขา ในตอนนั้น เมื่อป่าหมดไป ลูซี่และเพื่อนในฝูงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากถูกผลักออกมาอยู่ในทุ่ง วิวัฒนาการของการเดินสองขาจึงเกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ลูซี่นั้นสูงแค่สามฟุตครึ่ง และมีน้ำหนักแค่ไม่ถึง 30 กิโลกรัม คือตัวเล็กมาก การออกมาอยู่ในที่โล่งจึงเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของสัตว์อื่น เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่เดิมเป็นสัตว์สังคมอยู่แล้ว จึงยิ่งมีการ ‘รวมกลุ่ม’ กันอย่างเหนียวแน่น มีการหาอาหารร่วมกัน ซึ่งก็ยิ่งเสริมส่งวิวัฒนาการของสมองเข้าไปอีก เพราะต้องวางแผนร่วมกัน ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็วิวัฒนาการจนกลายเป็นภาษา

บิล ไบรสัน บอกว่า แรกทีเดียว มนุษย์เป็นสัตว์ที่ปีนต้นไม้เก่ง (คือเป็นนักปีนหรือ climber) แต่ต่อมาเรากลายเป็น ‘นักเดิน’ (walker) แล้วค่อยๆ พัฒนามาเป็น ‘นักวิ่ง’ (runner) พร้อมกับละทิ้งการเป็น ‘นักปีน’ ไป นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเคยสรุปว่า ลูซี่นั้นตายเพราะ ‘ตกจากต้นไม้’ (โดยใช้คำว่า vertical deceleration event) ซึ่งในแง่หนึ่งหมายถึงตกจากต้นไม้จริงๆ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็น ‘ความเปรียบ’ หรืออุปมาที่น่าสนใจด้วย เพราะอาจหมายถึง ‘ความตาย’ ของการเป็นนักปีนที่เปลี่ยนมาเป็นนักเดินและนักวิ่ง

หลายคนอาจคิดว่าการเดินเป็นเรื่องปกติธรรมดา ใครๆ ก็เดินกันจนไม่เห็นเป็นเรื่องแปลก แต่ที่จริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัดนะครับ – ว่ามนุษย์ลุกขึ้นมาเดินสองขาได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์อีกไม่น้อยยังศึกษาเรื่องนี้อยู่อย่างจริงจังเพื่อไขปริศนาอันลึกลับนี้

เมื่อปีที่แล้ว เพิ่งมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Physical Review E ที่ศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหว โดยเจาะจงศึกษาไปที่ ‘ตีน’ ของสัตว์อย่างมนุษย์โดยเฉพาะ โดย แดเนียล เรนจิวสกี (Daniel Renjewski) ซึ่งเป็นวิศวกรกลไกบอกว่าเขาได้ทำแบบจำลองเชิงกลไก และพบว่ามนุษย์เดินสองขาได้เพราะเท้าของเรานี่เอง โดยเขาถือว่าเท้ามนุษย์นั้นถือว่าเป็นอวัยวะที่ ‘แปลก’ ที่สุดในอาณาจักรสัตว์ก็ว่าได้

เท้ากับขาของมนุษย์จะทำมุม 90 องศาระหว่างกัน แต่ลักษณะแบบนี้แทบไม่มีในสัตว์อื่นเลย เพราะสัตว์ส่วนใหญ่จะเดินแบบ ‘เขย่งเท้า’ (tiptoeing) มากกว่า คือไม่ได้ใช้เท้าทั้งหมดในการรับน้ำหนักตัว แต่จะใช้บริเวณนิ้วเท้าและ ball of foot (มีผู้แปลว่า ‘ปุ่มโคนหัวแม่เท้า’) รับน้ำหนัก ในขณะที่ทั่วทั้งเท้ามนุษย์ ตั้งแต่บริเวณส้นเท้าจนถึงนิ้วเท้า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เท้าของมนุษย์จะแบนกว่า รับน้ำหนักของขาได้มากกว่า ทำให้มนุษย์สามารถยืนตัวตรงได้

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สัตว์ส่วนใหญ่ที่เดินหรือวิ่งแบบเขย่งเท้านั้น เกิดจากการให้ความสำคัญกับ ‘ความเร็ว’ เป็นหลัก ไม่ว่าจะเพื่อการล่าหรือการหนี ในขณะที่เท้าแบนๆ แบบมนุษย์ ทำให้เราเคลื่อนที่ได้ไม่เร็วมาก แต่เราหันมาพัฒนารูปแบบของท่าเดิน (gait pattern) ที่ทำให้เราได้เปรียบในการเดิน (หรือวิ่งเหยาะๆ ) เป็นระยะทางไกลๆ พูดด้วยคำของนักเขียนหญิงอย่างอุรุดา โควินท์ ก็คือ – ค่อยๆ ไป แต่ไม่หยุด, คือค่อยๆ ไล่ต้อนเหยื่อไปจนหมดแรง ทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์นักล่าที่น่ากลัว

นอกจากนี้ ยังเคยมีการศึกษาพบว่าการเดินของมนุษย์นั้นมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ด้วย คือถ้าเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีน้ำหนักราว 140 ปอนด์ (เท่ากับน้ำหนักเฉลี่ยของมนุษย์) สัตว์พวกนี้จะใช้ออกซิเจนสุทธิในการเคลื่อนที่ (ส่วนใหญ่ด้วยการวิ่ง) ที่ 10.03 มิลลิลิตรต่อเมตร แต่การเดินของมนุษย์จะใช้ออกซิเจนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเฉลี่ย 25% แถมถ้าเป็นบรรพบุรุษมนุษย์อย่างมนุษย์ออสตราโลพิเทคัส (Australopithecus afarensis) ซึ่งก็เดินโดยใช้สองเท้า (bipedal) เช่นเดียวกัน มีการคำนวณพบว่าใช้ออกซิเจนได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าถึง 26-37% ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ มนุษย์ยังเปลี่ยนแปลงร่างกายเพื่อรองรับการเดินหลายเรื่อง เช่น การมี ‘กล้ามก้น’ ที่เรียกว่า gluteus maximus หรือการมีเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) การมีอุ้งเท้าโค้ง การมีกระดูกสันหลังโค้ง (เพื่อกระจายน้ำหนัก) หรือการที่เรามีขนตามร่างกายน้อยและมีต่อมเหงื่อมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ก็เพื่อระบายความร้อนที่เกิดจากการเดินและวิ่งเหยาะๆ เป็นเวลานานๆ นี่เอง

จะเห็นได้ว่า แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่รู้แน่ชัดว่าทำไมมนุษย์ถึงลุกขึ้นมาเดินสองเท้า แต่การเดินสองเท้านั้นถือเป็น ‘ของขวัญ’ สำคัญที่บรรพบุรุษของเรามอบให้แก่เราโดยแท้ เพราะมันทำให้เราต่างจากสัตว์ทั้งปวง

ก็แล้วทำไมเราถึงจะทอดทิ้งการเดินไปเสียเล่า!

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ มีงานวิจัยที่บอกว่า ‘ความเร็ว’ ในการเดินของเรานั้น สามารถนำมาใช้เป็น ‘ดัชนี’ บ่งชี้ได้ด้วยนะครับว่าเรา ‘แก่ตัว’ มากน้อยแค่ไหน

มีงานวิจัยในปี 2019 และ 2022 ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open บอกว่า ‘ความเร็วในการเดิน’ ของคนที่อายุ 45 ปี นั้น บ่งชี้ได้ว่าร่างกายและสมองของเรา ‘เสื่อม’ เร็วแค่ไหนด้วย

คนที่ทำงานวิจัยนี้คือ ไลน์ จี ฮาร์แมนน์ ราสมุสเซน (Line Jee Hartmann Rasmussen) จากมหาวิทยาลัยแพทย์โคเปนเฮเกน (ซึ่งเป็นเมืองที่คนเดินเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก) โดยเก็บข้อมูลจากเด็กนิวซีแลนด์มากกว่า 1,000 คน (ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าทำไมไปทำกับชาวนิวซีแลนด์) โดยใช้เวลามากกว่า 40 ปี งานนี้เริ่มเก็บข้อมูลกันตั้งแต่ปี 1972-1973 ในเด็กอายุสามขวบขึ้นไป แล้วก็มาดูกันอีกทีเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตจนอายุ 45 ปีแล้ว

นักวิจัยจะประเมินผู้เข้าร่วมแต่ละคนตั้งแต่เด็กจนถึงวัยกลางคน ทั้งในเรื่องของสติปัญญา ภาษา ทักษะการเคลื่อนไหว ไปจนถึงการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ รวมถึงการประเมินสุขภาพโดยรวม และมีการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมโครงการทุกๆ 2-3 ปีด้วย

เมื่ออายุ 45 ปี นักวิจัยวัดความเร็วในการเดินของผู้เข้าร่วมโครงการที่เหลืออยู่ 904 คน แล้วนำมาพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เช่น ดัชนีมวลกาย ความดันเลือด ระดับโคเลสเตอรอล ฯลฯ รวมทั้งทำเอ็มอาร์ไอสมอง ทำแบบทดสอบสติปัญญา และแม้กระทั่งวัด ‘ความแก่’ ของใบหน้า (facial aging)

เมื่อได้ข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงมาแล้ว นักวิจัยก็เอาข้อมูลพวกนี้ไปเทียบกับความเร็วในการเดิน โดยแบ่งผู้เข้าร่วมโครงการออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือพวก ‘เดินช้า’ (slow gaits) คือเดินด้วยความเร็วเฉลี่ยราว 3.9 ฟุตต่อวินาที กับกลุ่ม ‘เดินเร็ว’ (fast gaits) คือเดินด้วยความเร็วเฉลี่ยราว 5.7 ฟุตต่อวินาที

ผลที่ได้ก็คือ คนที่อยู่ในกลุ่มเดินช้านั้น เมื่อถึงอายุ 45 ปีแล้ว การทำหน้าที่ต่างๆ ของร่างกายจะแย่กว่ากลุ่มที่เดินเร็ว โดยนักวิจัยบอกแบบกึ่งๆ จะฟันธงว่าการเดินช้าอาจมีผลต่อการ ‘เร่ง’ ความแก่ (มากกว่ากลุ่มที่เดินเร็ว) เพราะพบความเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกายมากกว่า แถมข้อมูลจากการสแกนสมองและการวัดความแก่ของใบหน้าก็ออกมาย่ำแย่กว่ากลุ่มที่เดินเร็วด้วย นั่นแปลว่านอกจากร่างกายจะเสื่อมแล้ว สมองมีโอกาสเสื่อมมากกว่าด้วย

คุณราสมุสเซนบอกว่า คนที่ออกกำลังกายให้กระฉับกระเฉงมาตั้งแต่วัย 20-30 ปีนั้น จะมีสุขภาพในระยะยาวที่ดีขึ้น โดยวิธีที่ง่ายที่สุดในการออกกำลังกายก็คือการเดิน เธอบอกว่าแม้การเดินจะดูเหมือนเป็นสิ่งที่เรียบง่ายมาก แต่ขณะเดิน ระบบอวัยวะต่างๆ หลายอย่างต้องทำงานประสานกัน ตั้งแต่กระดูก หัวใจ ปอด กล้ามเนื้อ การมอง ระบบประสาท ซึ่งหมายรวมไปถึงการประมวลผลของสมองด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ การเดินเร็วจะช่วยให้เรา ‘แก่ช้า’ ลงนั่นเอง!

อาจยังไม่มีข้อสรุปนะครับ ว่าคนในเมืองที่เดินเร็ว (อย่างสิงคโปร์หรือโคเปนเฮเกน) จะมีใบหน้าอ่อนเยาว์และสุขภาพทางกายทางจิตที่ดีกว่าคนในประเทศเดินช้าหรือเปล่า (จริงๆ ก็น่าจับสองเรื่องนี้มาชนกันอยู่) แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เมื่อ ‘การเดิน’ คือของขวัญที่บรรพบุรุษมนุษย์มอบให้เรา แถมยังมีงานวิจัยออกมาบอกในทำนองว่าเดินเร็วช่วยชะลอวัยได้อีก การลุกขึ้นมาเดินให้ได้เพียงพอในแต่ละวันจึงน่าจะเป็นการเฉลิมฉลองในตัวของมันเองอยู่แล้ว

ราว 2,400 ปีก่อน ฮิปโปเครติสเคยบอกเอาไว้ว่า “Walking is man’s best medicine.” หรือ การเดินคือ ‘ยา’ ที่ดีที่สุดของมนุษย์ มาถึงวันนี้ งานวิจัยต่างๆ ก็บอกเราแบบเดียวกัน แถม กทม. ก็ยังอยากกระตุ้นให้คนเมืองกรุงออกเดินและวิ่งด้วย BKK Trail

อ่านบทความนี้จบ ลุกขึ้นไปเดินเล่นกันเถอะครับ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save