fbpx

“ที่นี่อาจไม่ใช่บ้านที่พวกเขาอยู่ด้วยความรู้สึกอบอุ่นใจ” สำรวจวาทกรรมว่าด้วย ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย 

แบ่งแยกดินแดน

“คุณเห็นด้วยกับ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”

กิจกรรมเปิดตัวองค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 สร้างข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก หลายคนมองว่า นี่คือความพยายามที่จะ ‘แบ่งแยกดินแดน’

คำว่า ‘แบ่งแยกดินแดน’ นับเป็นเรื่อง ‘ต้องห้าม’ ในสังคมไทย ที่ห้ามใครกระทำหรือแม้กระทั่งจินตนาการถึงก็ไม่ได้ เห็นได้จากนักกิจกรรมและประชาชนหลายคนถูกจับกุมและดำเนินคดีภายใต้ข้อกล่าวหานี้ และยิ่งในพื้นที่พิเศษอย่างชายแดนใต้ที่ถูกควบคุมด้วยกฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ ทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2547 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ยิ่งส่งผลให้หน่วยงานความมั่นคงต่างออกมาจับตาและดำเนินคดีกับการสำรวจความเห็นโดยนักศึกษาข้างต้น ภายใต้ข้อกล่าวหาว่า ‘การกระทำนี้หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย’

ในปัจจุบันเห็นชัดแล้วว่าวาทกรรมเรื่อง ‘การแบ่งแยกดินแดน’ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับกำจัดและปราบปรามความคิดของผู้เห็นต่าง ดังนั้นการทำความเข้าใจคำดังกล่าว และคลี่ให้เห็นถึงมิติการเมืองภายใต้คำว่า ‘การแบ่งแยกดินแดน’ จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างมาก เพื่อไม่ให้วาทกรรมดังกล่าวกลายเป็นอาวุธทางการเมืองเหมือนในปัจจุบัน

101 ชวนอ่านสรุปความบางส่วนจากเสวนาวิชาการ หัวข้อ ‘ฤา รัฐนั้นจะเป็นเพียงความฝัน: ทบทวน วิเคราะห์ คลี่คลาย วาทกรรมว่าด้วย “การแบ่งแยกดินแดน” ในรัฐไทย’ จัดโดยศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อชวนมองที่มาและปัญหาของวาทกรรมดังกล่าว ผ่านทัศนะของ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากงานเปิดตัวองค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ
สู่ข้อกล่าวหา ‘แบ่งแยกดินแดน’

รศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มต้นวงสนทนาว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ศึกษาความคิดทางการเมืองอิสลามและเป็นคนมุสลิม ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปจับกุมนักศึกษาและดำเนินคดีตามมาตรา 114 (ข้อหาเตรียมการกบฏ) และ 116 (ยุยงปลุกปั่น) ซึ่งต่างเป็นข้อกล่าวหาร้ายแรง ทั้งที่ในวันนั้น นักศึกษาเพียงต้องการสอบถามว่า คนในพื้นที่ต้องการทำประชามติหรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐไทยและหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาอย่างยาวนาน ใช้งบประมาณไปอย่างมหาศาล แต่กลับไม่เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ

“ผู้คนเห็นชีวิตพี่น้องของพวกเขาเต็มไปด้วยเลือด มีหลายคนถูกซ้อมทรมาน บางคนตายโดยไม่มีใครออกมารับผิดชอบ ย่อมสร้างความรู้สึกเบื่อหน่าย นี่คือความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ สำหรับการสอบถามความคิดเห็น ในโลกวิชาการที่ศึกษาเรื่องความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เคยสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PEACE SURVEY) นับเป็นเรื่องปกติ

“การสอบถามทั้งของ PEACE SURVEY หรือกลุ่มนักศึกษา ไม่ใช่การทำประชามติ เพราะฉะนั้น การดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากประเด็นการเมือง” มูฮัมหมัดอิลยาสกล่าว

มูฮัมหมัดอิลยาสมองว่า ในวันนี้สังคมเห็นแล้วว่าปัญหาการเมืองไทยแยกไม่ออกกับปัญหากองทัพไทย เช่นเดียวกันกับปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่สามารถแยกออกจากปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพได้ ทุกครั้งที่เกิดความไม่ชอบธรรมภายในกองทัพ รัฐไทยมักใช้ประเด็นเรื่อง ‘การแบ่งแยกดินแดน’ มาเป็นข้อกล่าวหาประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรมของตนเอง เช่น เหตุการณ์จับนักศึกษาบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยกล่าวหาว่ามีวัตถุระเบิด ซึ่งแท้จริงแล้ว เจ้าหน้าที่ความมั่นคงพบเพียงน้ำบูดู แต่นักศึกษาเหล่านั้นกลับโดนจับกุมและอยู่ในเรือนจำในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง

มูฮัมหมัดอิลยาสชวนตั้งข้อสังเกตว่า จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เทียบกับปัจจุบันที่บางพรรคการเมืองเริ่มตั้งคำถาม มีนโยบายรื้อหน่วยงานความมั่นคงที่ทำงานในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะตั้งคำถามว่าการจับกุมนักศึกษาครั้งนี้เกี่ยวกับประเด็นการเมืองหรือไม่

ด้าน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเหตุการณ์ครั้งนี้หลายฝ่ายมักอ้างอิงว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีเนื้อหาว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้’ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครศึกษาว่า ขอบเขตของมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญคืออะไร หากในวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการความเป็นอิสระหรือปกครองตนเอง พวกเขาสามารถคิดได้หรือไม่

“ถามว่าแค่คิดนะ ยังไม่ได้ทำจริง หากวันนี้มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญยังไม่อนุญาตให้คิด หรือถาม หมวดอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญคงไม่ต้องพูดถึงแล้ว แสดงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ยืนยันว่ามีหน้าที่รับใช้ผู้มีอำนาจ

“การขอประชามติว่าจะเลิกทำในวัฒนธรรมและประเพณีที่พวกเขาถูกบังคับ หรือความต้องการเรียกตัวเองอีกแบบหนึ่ง กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพียงเพราะกลุ่มผู้มีอำนาจกลับอ้างว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว คำถามคือมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร” ธเนศกล่าว

สำหรับ ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อการกระทำของกลุ่มนักศึกษาว่า กิจกรรมประชามติจำลองครั้งนี้ควรได้รับคำชื่นชมเสียด้วยซ้ำ เพราะเหล่านักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวกำลังเห็นว่าสันติวิธีเป็นกระบวนการสำคัญ ไม่เลือกจับอาวุธขึ้นสู้ กล่าวคือวิธีการนั้นมีความสำคัญเท่ากับเป้าหมาย

ทั้งนี้ ชญานิษฐ์ชวนตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมารัฐไทยและสังคมไทยมักไม่แยกความแตกต่างของสำนึกความเป็นชาติ บางคนเพียงแค่มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของตน หรือเพียงมีความปรารถนาในการกำหนดชะตากรรมของตนเองเท่านั้น แต่รัฐไทยก็มักจะคิดเหมารวม มองกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน และเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง ทำให้ปฏิกิริยาของรัฐมีแนวโน้มใช้อำนาจแบบเดียวกันหมด ทั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดน นักศึกษาที่แต่งกายตามอัตลักษณ์มลายู หรือนักศึกษาที่จัดงานเสวนาทางวิชาการ

ชญานิษฐ์เสนอว่าแทนที่สังคมไทยหรือรัฐไทยจะตั้งคำถามกับการกระทำดังกล่าว สังคมควรจะกลับมาสำรวจรัฐมากกว่าว่าการกระทำใดที่ทำให้ผู้คนในบ้านหลังเดียวกับเราไม่อยากอยู่กับเราแล้ว

ประวัติศาสตร์วาทกรรม ‘แบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย – ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เปิดประเด็นว่า ที่ผ่านมาวาทกรรมเรื่อง ‘การแบ่งแยกดินแดน’ นับเป็นปรากฎการณ์ที่มาพร้อมกับการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ (modern nation state) ที่ต้องการกำหนดเส้นเขตแดนตายตัวและรวมศูนย์อำนาจอย่างชัดเจน เมื่อรัฐเกิดการรวมศูนย์อำนาจแล้วนั้น แต่ละรัฐย่อมไม่ต้องการให้ใครมาแตะต้อง

“แนวคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลไทยใช้กับกลุ่มหรือขบวนการทางการเมืองที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย วาทกรรมเรื่องการแบ่งแยกดินแดนนั้นเริ่มมาตั้งแต่สมัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ใช้เพื่อปราบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดในภาคอีสาน ในช่วงเวลานั้น

“เมื่อไปดูเอกสารของศาลหรือรัฐบาลไทยในช่วงเวลานั้น จะพบว่ารัฐไทยกลับไม่ได้ใช้คำดังกล่าวในการกล่าวหากลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดในภาคอีสาน ใช้เพียงข้อกล่าวหาว่าดูหมิ่นและเหยียดหยามรัฐบาล แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่คำว่าแบ่งแยกดินแดน กลับกลายเป็น ‘สื่อ’ เป็นผู้นำมาใช้และมักใช้ เพราะเป็นคำที่สื่อความหมายได้ตรงไปตรงมาที่สุด อีกทั้งคำดังกล่าวเป็นขายได้ พาดหัวทีไร ยอดขายขึ้นทุกที”

ธเนศมองว่าสิ่งที่รัฐไทยกระทำขณะนั้นเป็นเรื่องตลก เพราะข้อเรียกร้องจากกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดในภาคอีสานไม่ได้มีความคิดแบ่งแยกดินแดน ทว่ากลับต้องการขยายดินแดนเสียด้วยซ้ำ เพราะในตอนนั้นที่พวกเขาไปร่วมขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสและข้ามไปยังประเทศลาว ก็ได้พูดทีเล่นทีจริงว่า ระหว่างที่ประเทศลาวยังไม่มีรัฐบาล เรามารวมประเทศกับไทยดีกว่าไหม

นอกจากเหตุการณ์ของกลุ่ม ส.ส. ในภาคอีสานที่รัฐไทยกล่าวหาว่าพวกเขาต้องการแบ่งแยกดินแดน ยังมีการลุกฮือของประชาชน ณ ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส สื่อในช่วงเวลานั้นเรียกพวกเขาว่า ‘กบฏดุซงญอ’ 

ทั้งนี้ ธเนศให้ความเห็นว่า มุมมองที่มองว่าการลุกฮือครั้งนั้น เป็นการกบฏ ถือเป็นเรื่องที่ผิดในแง่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะการลุกฮือครั้งนั้นเป็นเพียงการประท้วงและไม่พอใจเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่เมื่อการประท้วงเกิดการปะทะและใช้กำลัง บรรดาหนังสือพิมพ์ก็รายงานว่า ‘พวกเขาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน’

“หากมองไปยังต้นเหตุของการลุกฮือของประชาชนที่ตำบลดุซงญอ ต้นเหตุมาจากเหตุการณ์การจับกุมหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ อย่างไม่เป็นธรรม เพราะหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ได้เสนอคำร้องขอ 7 ประการ เขาใช้คำว่า ‘คำร้องขอ’ ซึ่งมันหมายความถึงการทำตามจารีต ไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไร แต่สื่อกลับใช้คำว่าคำเรียกร้อง 7 ประการ”

ทั้งหมดนี้ธเนศชี้ว่าความเข้าใจเรื่องปัญหาทางการเมืองที่ไปแตะถึงความเป็นอิสระต่อรัฐ มักถูกสื่อในกรุงเทพมหานครรายงานว่าเป็นความพยายามแบ่งแยกดินแดนมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่สังคมไทยยังไม่เข้าใจคือ คำว่า ‘แบ่งแยกดินแดน’ นั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่จินตนาการความต้องการเปลี่ยนชื่อเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของผู้คนส่วนใหญ่ในดินแดนนั้น หรือเปลี่ยนประเพณีตามความเชื่อของตนเอง ไปจนถึงการติดอาวุธต่อสู้ ปัจจุบันรัฐไทยกลับมองว่าทุกอย่างคือการแบ่งแยกดินแดน และเป็นการกระทำที่ทำไม่ได้ ธเนศกล่าวอย่างทีเล่นทีจริงว่าหากวันนี้รัฐไทย ‘บ้าจี้’ แต่ละวันเจ้าหน้าที่รัฐคงไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะต้องไล่จับผู้คนที่คิดอยู่ตลอดเวลา

ด้านหนึ่ง ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดน หรือความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้คนตามภูมิภาคกับรัฐบาลส่วนกลาง ไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นปัญหาอันมีที่มาทางประวัติศาสตร์อยู่แล้ว มันจึงเป็นเหมือนปัญหาที่รอวันระเบิดของสังคม ไม่ว่าในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง หรือภาคใต้ เพราะฉะนั้นหากสังคมมัวแต่รับไม่ได้กับความคิดหรือจินตนาการเรื่องการแบ่งแยกดินแดน คงกล่าวได้ว่าในสังคมยังมี ‘ความคิดแบบไม่มีประวัติศาสตร์ (anti history)’ เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกพวกเราเสมอว่า ผู้คนในประเทศนี้มีเชื้อไฟความต้องการอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าคิดต่อคือจะทำอย่างไรให้นโยบายการเมืองและการปกครองดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคและส่วนกลางเป็นไปอย่างสันติ ไม่ใช่เพียงกดปราบ

ทั้งนี้ธเนศเสริมอีกว่า ปล่อยให้คนได้คิด เพราะความคิดที่ต้องการแยกออกจากศูนย์กลางนับเป็นความปกติของมนุษย์ ชุมชน และรัฐ หากสังคมมองว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ ก็จะใช้นโยบายและความรุนแรงบังคับไม่ให้ผู้คนคิดถึงความเป็นอิสระของตนเอง ยิ่งในวันนี้สังคมมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นเท่าไหร่ สังคมยิ่งต้องใช้เครื่องมืออย่างประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่นการรับฟังและเจรจาอย่างสันติในการแก้ปัญหา

การก่อตัวของขบวนการเคลื่อนไหว

และแนวคิดทางการเมืองในโลกมุสลิม – มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง

รศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้ว่าการแบ่งแยกดินแดนหรือการจัดตั้งรัฐใหม่นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไป

“หากวันนี้มีใครบอกว่า เราต้องการจะให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นมาปฏิวัติทางชนชั้นเพื่อจัดตั้งรัฐบาลตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ หลายคนคงมองบน

“ในปัจจุบันแนวความคิดของคาร์ล มาร์กซ์นั้นถูกปรับเปลี่ยนจากหลากหลายสำนักคิด จนแนวความคิดมาร์กซิสต์กลายเป็นเครื่องมือเพื่อทำความเข้าใจสังคม แต่เรื่องการปฏิวัติทางชนชั้นเพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพมาเป็นรัฐบาลนั้น เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป”

สำหรับประเทศไทย ในช่วงปี 1960-1980 นับเป็นช่วงเวลาสำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดขบวนการ PULO (Patani United Liberation Organisation : องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี) และ BRN (Barisan Revolusi Nasional : ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) ช่วงเวลาดังกล่าว รัฐไทยส่วนกลางไม่มีความคิดเรื่องการกระจายอำนาจและสิทธิมนุษยชน ทำให้รัฐมักใช้อำนาจเถื่อน (Brute force) เข้ามาจัดการ อีกทั้งในสถานการณ์การเมืองของโลกยังเกิดการปฏิวัติอิหร่านเพื่อจัดตั้งเป็น Islamic Republic

ทั้งนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวของ PULO และ BRN นับเป็นส่วนหนึ่งของบริบทโลกมุสลิม เพราะช่วงเวลานั้นประเทศที่เป็นมุสลิมต่างสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลกเพื่อจัดตั้งรัฐบริวารของตนเอง ดังนั้นการทำความเข้าใจความคิดทางการเมืองต้องมองเห็นว่าทั้งหมดล้วนเป็นผลลัพธ์จากบริบทสังคมโลก กล่าวคือความคิดทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มา

ทว่า ในช่วงปี 1980-2000 เป็นช่วงเวลาที่ความคิดทางการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวในสามจังหวัดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากเกิดการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในกลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ที่ไปเรียนต่อในประเทศซาอุดิอาระเบียว่าการจัดตั้งรัฐในสามจังหวัดชายแดนใต้จะเป็นอย่างไร และมีความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐหรือไม่ ปรากฏว่าความคิดเรื่องการจัดตั้งรัฐพ่ายแพ้ไปในการถกเถียงครั้งนั้น อีกทั้งการทดลองเรื่องรัฐอิสลามในหลายๆ ที่กลับล้มเหลวอย่างมาก ส่งผลให้ความคิดเรื่องการจัดตั้งรัฐในโลกมุสลิมไม่ใช่เรื่องน่าสนใจอีกต่อไป และความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยก็เริ่มเคลื่อนเข้าสู่โลกของชาวมุสลิม

“ตั้งแต่ช่วงปี 2011 การเรียกร้องเรื่องการจัดตั้งรัฐแผ่วลงมาก เพราะมันล้มเหลว หลายฝ่ายจึงหันไปเรียกร้องในเชิงเนื้อหาแทน เช่น ความโปร่งใส การตรวจสอบ การมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นต้น

“อีกทั้งการเรียกร้องเอกราชในปัจจุบันนี้ ไม่มีความคิดสนับสนุนจากภายนอกประเทศอีกต่อไป ในฐานะที่ผมเป็นนักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ของมุสลิม ผมต้องการชี้ว่าความคิดเรื่องเอกราชและการจัดตั้งรัฐนั้นไม่สามารถเป็นไปได้อีกต่อไป

“ทางออกสำหรับความขัดแย้งในปัจจุบันคือ เรามาเป็นเจ้าของร่วมกันได้ไหม ชาวปาตานีเป็นเจ้าของปาตานี คนอื่นก็เป็นเจ้าของปาตานีด้วย ชาวไทยเป็นเจ้าของประเทศไทย ปาตานีก็เป็นเจ้าของประเทศไทยด้วย ซึ่งความเป็นเจ้าของนั้นสะท้อนมาจากการร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นภารกิจสำคัญ คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้การร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการแสดงถึงความเป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน” มูฮัมหมัดอิลยาส กล่าวทิ้งท้าย

ความเข้าใจผิดของรัฐและสังคมไทย
เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง – ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ 

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าจากปฏิกิริยาของรัฐและสังคมไทยต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่เกิดขึ้นมานั้น สะท้อนถึงความไม่เข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ Right to self-determination (RSD) ทำให้เมื่อได้ยินคำนี้ก็มักจะเหมารวมว่าพวกเขาต้องการแบ่งแยกดินแดน ทั้งๆ ที่แนวคิด RSD นั้นมีทั้งหมดสองระดับ ประกอบด้วย

1. Internal Self-determination คือการกำหนดอนาคตตนเองภายในขอบเขตรัฐเดิม หรือการกระจายอำนาจ

2. External Self-determination คือการแยกออกมาเป็นรัฐอิสระ

นอกจากนี้ ชญานิษฐ์ก็เห็นด้วยกับมูฮัมหมัดอิลยาส ว่าการแบ่งแยกดินแดนหรือการสร้างรัฐใหม่เป็นไปได้ยากมากในปัจจุบัน เพราะการก่อตัวเป็นรัฐใหม่ต้องประกอบด้วยความปรารถนาของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ และการยอมรับจากประชาคมนานาชาติ

การยอมรับจากประชาคมนานาชาตินับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ชญานิษฐ์เสนอว่าทำให้การแบ่งแยกดินแดนนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เพราะบรรทัดฐานของนานาชาติเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว และยอมรับการแบ่งเขตแดนของรัฐในปัจจุบัน แต่ถึงแม้วันนี้การแบ่งแยกดินแดนจะเป็นเรื่องยาก ชญานิษฐ์กลับชวนตั้งคำถามว่าเช่นนั้นเราควรพรากไม่ให้ผู้คนในพื้นที่คิดถึงการกำหนดอนาคตตนเองหรือ

“หากวันนี้คุณลงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ แล้วพวกเขาตอบคุณว่า พวกเขาเป็นคนมลายูหรือปาตานี นั่นอาจจะเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นมลายูหรือประวัติศาสตร์บรรพบุรุษของพวกเขา แต่ไม่จำเป็นว่าเขาเหล่านั้นจะต้องสนับสนุนหรือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

“ในทางกลับกัน ถึงแม้ว่าวันนี้พวกเขาจะปรารถนากำหนดชะตากรรมของตนเอง (ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ขอบเขตรัฐเดิมหรือแยกเป็นรัฐอิสระ) ก็ไม่จำเป็นว่าพวกเขาจะเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง”

หากย้อนมองพลวัตสำคัญที่ก่อเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้ พบว่า ในช่วงแรกขบวนการทางการเมืองของประชาชนในปาตานีเป็นเพียงข้อเสนอทางการเมือง ไม่ได้ติดอาวุธ รวมถึงมีพื้นที่ให้กับแนวความคิด internal self-determination แต่ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ (ถูกกล่าวหาด้วยข้อหากบฏและถูกบังคับสูญหาย) ทำให้หลายคนไม่ยอมรับ internal self-determination และมองว่าสันติวิธีกลายเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้กับรัฐไทยอีกต่อไป

ที่ผ่านมามีนักวิชาการรวมตัวกันเพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PEACE SURVEY) ซึ่งหนึ่งในคำถามของการสำรวจนั้นมีใจความว่า ‘การพูดคุยกันเรื่องรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่เป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่’ ชญานิษฐ์เล่าว่าผู้คนส่วนมากเห็นด้วย แต่บางคนเลือกตอบว่าไม่รู้หรือไม่ตอบ ซึ่งสะท้อนว่าเราอยู่ในรัฐและสังคมแบบใดที่ส่งผลให้สมาชิกในสังคมหวาดกลัวเกินกว่าจะกล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างตรงไปตรงมาได้

“ที่ผ่านมารัฐและสังคมไทยอาจจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษามิติทางกายภาพของรัฐให้เข้มแข็งต่อไปได้ แต่ส่งผลบั่นทอนความรู้สึกผูกพัน ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกในรัฐเดียวกัน ให้รู้สึกแปลกแยกไปกว่าเดิม ปฏิกิริยาของรัฐอาจจะกำลังตอกย้ำไปยังคนมลายู และชาวมุสลิมอื่นๆ ว่าที่นี่อาจจะไม่ใช่บ้านที่พวกเขาจะอยู่ด้วยความรู้สึกอบอุ่นใจ” ชญานิษฐ์กล่าว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save