fbpx

สดับเสียงเงียบ จดจำ ‘ตากใบ’ ในรอยแผล หยดน้ำตา และเสียงร่ำร้องของผู้หญิงชายแดนใต้

“ท่านเคยได้ยินเรื่องตากใบหรือไม่ หากได้ยิน ได้ยินว่าอะไร”

นี่คือคำถามที่ผู้เข้าร่วมงาน ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ’ จะได้ขบคิดร่วมกันทันทีที่ก้าวเข้าไปภายในงานนิทรรศการ

สำหรับฉัน ‘ตากใบ’ ในความทรงจำช่างเป็นเรื่องราวแสนไกลตัว ห่างไกลทั้งในแง่ของระยะทางและในแง่ของความรู้สึกร่วมที่มีต่อเหตุการณ์

อาจเป็นเพราะตอนที่เกิดเหตุการณ์นั้น ฉันอายุไม่ถึง 5 ขวบ และอยู่ห่างไกลจาก ‘ตากใบ’ ด้วยระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่ถึงกระนั้น ทันทีที่แสงไฟในห้องเสวนาปิดลง ทันทีที่ฉันได้สดับรับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากเสียงของผู้สูญเสียที่นั่งอยู่เบื้องหน้า ห้วงเวลานั้นเองที่ฉันสัมผัสได้ว่ามวลแห่งความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ได้อยู่ไกลตัวฉันเลย หากคือความสูญเสียร่วมกันของคนทุกคนในสังคมไทย

ไม่ว่าจะในเหตุการณ์ความรุนแรงใดที่เกิดขึ้น ต่อให้กาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่สำหรับความรู้สึกของผู้สูญเสีย ความเจ็บปวดของพวกเขาไม่เคยจางหายไป ราวกับเหตุการณ์นั้นเพิ่งผ่านไปไม่นาน เกือบ 20 ปีที่ผ่านพ้น ทว่าความทุกข์ระทมยังคงตราตรึง และท่ามกลางความร้อนแรงของการเมืองไทย ในความวุ่นวายโกลาหลของคนในสังคม เสียงจากผู้สูญเสียในเหตุการณ์ ‘ตากใบ’ ยังคงรอคอยที่จะได้รับการได้ยิน

ผู้คนที่ไปรวมตัวในเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ต่างมาจากหลายสถานที่และมาด้วยหลายเหตุผล บางคนไปร่วมชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทั้ง 6 คน ส่วนบางคนแค่แวะไปเพราะผ่านทาง ทว่าเมื่อมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้น จึงเกิดจากสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและใช้กระสุนจริงโดยเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุมีคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ทั้งยังจับกุมผู้คนกว่า 1,300 คนที่อยู่ในบริเวณนั้นไปยังค่ายอิงคยุทธ จังหวัดปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการขาดอากาศหายใจ

“ปกติจากตากใบไปปัตตานีอย่างมากใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่วันนั้นกลับใช้เวลาเดินทางกว่า 5 ชั่วโมง และรถบางคันบรรจุคนมากกว่า 50-90 คนโดยให้นอนทับกันไป” คือคำบอกเล่าจากหนึ่งใน ‘ก๊ะ’ ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

นวลน้อย ธรรมเสถียร ให้ข้อมูลในฐานะสื่อมวลชนว่าวันที่เกิดเหตุการณ์ตากใบนั้น ส่วนใหญ่จะมีการบันทึกภาพ วิดีโอ และรายงานเหตุการณ์โดยสตริงเกอร์หรือผู้ส่งข่าวจากพื้นที่ซึ่งจะคอยรายงานข่าวให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและส่วนกลางเป็นหลัก แทบจะไม่มีฟุตเทจภาพเหตุการณ์จากผู้สื่อข่าวจากภายนอก เนื่องจากตากใบเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน นี่จึงเป็นข้อจำกัดสำคัญในการสื่อสารเรื่องราวตากใบ

มากไปกว่านั้น นวลน้อยระบุว่าเบื้องหลังความไม่เป็นธรรมของเหตุการณ์ตากใบ ยังมีความพยายามจะปิดบังข้อเท็จจริงของเหตุการณ์วันนั้น โดยการออกคำสั่งห้ามเผยแพร่รูปภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลที่บันทึกไว้โดยสื่อมวลชนที่ติดตามการชุมนุมในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 การเก็บรวมรวบข้อมูล เผยแพร่ และส่งต่อหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับตากใบในช่วงเวลานั้นจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก

“หลักฐานของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในมือของสื่อในพื้นที่ เรารู้ว่ามีคนเก็บฟุตเทจวิดีโอและภาพนิ่งของเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ได้ ตอนนั้นเราพยายามตามหาคลิปของเหตุการณ์แต่ก็ไม่สามารถหาได้”

“มีเพื่อนในแวดวงโทรทัศน์บอกว่ามีคำสั่งห้ามไม่ให้มีคลิปหลุดออกไปสู่มือของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ อีกทั้งทางราชการก็ขู่ว่าใครที่เอาคลิปตากใบมาฉายหรือเผยแพร่จะถูกดำเนินการ”

จากความพยายามรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ในที่สุด ‘ตากใบ’ ก็เป็นที่รับรู้มากขึ้นจากสังคม อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวในวันนั้นยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับผู้มีอำนาจ เพราะ ‘อาชญากรรมโดยรัฐ’ ที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาชำระอย่างถูกต้องชอบธรรม อีกทั้งผู้สูญเสียยังคงต้องแบกรับความทุกข์ทรมานจากความรุนแรงในเหตุการณ์และใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงจากเรื่องราวในวันนั้นอยู่ร่ำไป

สำหรับเหล่า ‘ก๊ะ’ ผู้สูญเสียคนในครอบครัวไปอย่างไม่มีวันหวนคืน เพียงแค่เอ่ยคำว่า ‘ตากใบ’ ความเจ็บปวดและทุกข์ระทมก็ตีตื้นขึ้นมาจนมิอาจกลั้นน้ำตาไว้อยู่ แต่ถึงกระนั้น การเอ่ยถึงเรื่องราวที่ยากจะลืมเลือนนี้นับเป็นวิธีการสำคัญที่จะทำให้ความทรงจำของผู้คนที่มีต่อเหตุการณ์ตากใบไม่ถูกกลบลบหายไปตามกาลเวลา

“เพราะสำหรับรัฐไทย เรื่องตากใบยังสดใหม่จนยากจะแตะต้องได้”

“ที่เรามาคุยกันในวันนี้ เราไม่ได้ต้องการจะตอกย้ำความเจ็บปวดของผู้สูญเสีย เพียงแต่ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยเปิดโอกาสให้เราแบ่งปันความเจ็บปวดจากการสูญเสียของบรรดาผู้คนในตากใบ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะถ้าสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ความเจ็บปวดนี้ แรงสนับสนุนในการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมก็อาจจะไม่เกิดขึ้น” นวลน้อยกล่าว

ก๊ะไลลา (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ภาคสนามของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้ ผู้รวบรวมข้อมูลผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ นำมาสู่นิทรรศการบันทึกความทรงจำ ‘สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547’ ก๊ะไลลาเล่าว่าแม้เธอจะไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้สูญเสียคนในครอบครัวจากเหตุการณ์ในวันนั้น แต่ความตั้งใจในการสร้างนิทรรศการนี้เกิดขึ้นจากความหวังที่คนในสังคมจะรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในตากใบมากขึ้น และเพื่อให้เหตุการณ์ในวันนั้นไม่เลือนหายไปจากสังคมไทย

“แรกๆ เราไม่มีข้อมูลอะไรเลย รู้เพียงแต่ว่ามีเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้น วันนั้นเราแค่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ได้รู้ลึกถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์”

“เราเริ่มต้นเก็บข้อมูลจากหมู่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยความตั้งใจจะทำเรื่องราวเป็นความทรงจำลงในหนังสือ คล้ายกับเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ เพื่อที่เรื่องราวความเจ็บปวดเหล่านี้จะไม่ตายไปจากสังคมไทยและจะไม่จากไปพร้อมกับผู้คนในวันนั้น”

“ตอนไปแรกๆ ชาวบ้านก็ไม่ไว้ใจเรา กว่าจะสำเร็จมาเป็นเรื่องราวในวันนี้ได้ เราต้องไปซ้ำๆ ประมาณ 3-4 ครั้ง คือไปพูดคุยจนได้ใจเขา ให้เขาไว้ใจจนบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ และเราก็ขอของจากผู้สูญเสียเพื่อมาจัดเป็นนิทรรศการ และเป็นภาพแทนความทรงจำต่อพี่น้องที่เสียชีวิตไปในเหตุการณ์ตากใบ” ก๊ะไลลาเล่าให้ฟังถึงกระบวนการกว่าจะมาเป็นนิทรรศการ ‘สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547’

‘ความคิดถึง’ จากน้องสาวถึงพี่ชาย

ก๊ะนดา (นามสมมติ) น้องสาวผู้สูญเสีย ‘ฮาเล็ม’ (นามสมมติ) พี่ชายคนเดียวของเธอไปจากเหตุการณ์ตากใบ ฮาเล็มเป็นลูกชายคนแรกและคนเดียวของครอบครัว เขามีน้องสาว 6 คน และเสียชีวิตเมื่ออายุ 25 ปี

“ตอนที่เกิดเหตุการณ์นั้น เราอายุ 18 ปี เรียนอยู่ ม.6 วันนั้นเรียนหนังสืออยู่ก็รู้ว่ามีเหตุการณ์ที่ตากใบ พอเลิกเรียนคนที่บ้านก็ไปรับเราโรงเรียน พอถึงบ้านแม่บอกว่าพี่ชายยังไม่กลับบ้านเลย พอถามว่าทำไมพี่ชายไม่กลับ พี่ชายไปไหน แม่ก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกัน”

“พอถึงเวลาที่ต้องละหมาด พี่ชายก็ยังไม่กลับ แม่นั่งรอพี่ชายอยู่อย่างนั้น แม่ร้องไห้รอพี่ชายกลับมา แต่พี่ชายก็ไม่กลับมา เรารอเป็นวันๆ พี่ชายก็ไม่กลับ หลังจากนั้นมีคนมาบอกว่าวันนั้นพี่ชายไปที่ตากใบ มีผู้ใหญ่บ้านมาตามให้ไปดูศพพี่ชาย แต่พอไปถึงเขาไม่ให้ดูตัว ให้ดูรูปอย่างเดียว”

“เราสนิทกับพี่ชาย เขาเป็นพี่ชายที่ดี เป็นคนดี ชอบช่วยเหลือเพื่อน ตอนนั้นเขาอายุ 25 ปี เรียนโรงเรียนเดียวกับเรา เขาทำงานเก่ง เราก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้”

“แม่บอกว่าตอนเด็กพี่ชายซนมาก แต่เขาช่วยพ่อแม่ทำงานทั้งในสวนยางและในนา เมื่อถึงฤดูเก็บสะตอ ชาวบ้านชอบเรียกให้พี่ไปช่วยเพราะเขาปีนต้นไม้เก่ง เขาชอบออกไปหาปลา จนแม่บอกว่าขี้เกียจทำปลาให้กินแล้ว เขาเป็นพี่ชายคนโตต้องดูแลน้องๆ ตอนหน้าฝนที่น้ำท่วมทุ่งจนนาเป็นหนอง น้องๆ จะแอบไปเล่นน้ำ และพี่ต้องถือไม้เรียวมาตามให้กลับบ้านทุกครั้ง”

“ก่อนเหตุการณ์ประมาณ 1 เดือน พี่ไปรับจ้างกรีดยางที่มาเลเซียเพราะที่บ้านไม่มีเงิน แล้วกลับมาช่วงเดือนบวช พี่ซื้อมีดมาจากมาเลเซียให้พ่อใช้เชือดวัว สำหรับพิธีกุรบานในวันฮารีรายอ พี่ให้เงินพ่อแม่ มีนาฬิกามาฝากน้องสาวที่โตแล้ว และซื้อขนมมาฝากน้องที่ยังเล็ก”

“หลังเหตุการณ์ 2-3 วัน ครอบครัวไปดูศพที่ค่ายอิงคยุทธ แต่แม่ไม่ได้ไป แม่ไม่ไปทำพิธีฝังศพด้วยเพราะทำใจไม่ได้” นี่คือเรื่องราวจากก๊ะนดาถึงพี่ชายคนเดียวของเธอ

‘ความทรงจำ’ ระหว่างภรรยากับสามีที่กาลเวลาไม่อาจลบเลือน

โดยยังมิทันได้เอื้อนเอ่ยคำใด เพียงแค่ต้องนึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในวันนั้น น้ำตาของก๊ะโซเฟีย (นามสมมติ) ก็ไหลออกมาอย่างไม่อาจกลั้นไว้ได้ เพราะในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 คือวันที่พวกเขาพราก ‘มามาสุกรี’ (นามสมมติ) สามีของเธอไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

มามาสุกรีเป็นพ่อของลูกชายอายุ 4 ขวบ ทำงานรับจ้างที่โรงงานยางและรับจ้างทำนา ในขณะที่ตอนนั้นก๊ะโซเฟียกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สองได้ 4 เดือน

“เขาเป็นคนขยันทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เป็นคนไม่พูดมาก ถามคำตอบคำ เป็นคนดี ชอบไปละหมาดที่มัสยิดและชอบช่วยเหลือผู้อื่นตลอดเมื่อชาวบ้านขอความช่วยเหลือเวลามีงานต่างๆ วันนั้นฝนตก เขาได้เงินค่าจ้างที่ไปไถนาเพื่อนบ้าน 1,200 บาท เขาแบ่งเงินให้ก๊ะ 600 บาท และบอกว่าจะไปเที่ยวที่ตากใบ เราฝากเขาซื้อชุดรายอและมะตะบะเจ้าอร่อยสำหรับแก้บวช”

“วันนั้นเขาใส่กางเกงตัวเก่า ก๊ะบอกให้เปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน ตอนเย็นเขายังไม่กลับมา ก๊ะก็เป็นห่วงมาก วันรุ่งขึ้นน้องสาวเขามาส่งข่าวบอกว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ครอบครัวเขาไปเป็นคนไปรับศพ ตอนนั้นไม่ได้ไปด้วยเพราะไปไม่ไหว พอศพกลับมา ก๊ะกับลูกชายเข้าไปดู เขาตัวบวม หน้าบวมเขียวไปหมด ลูกชายก็ร้องไห้ ตอนนั้นรู้สึกโกรธมาก”

“ศพของเขาฝังไว้ที่กุโบร์บ้านแม่ หลังจากนั้นกลับมาที่บ้านก็ร้องไห้ เหมือนชีวิตหมดสิ้นทุกอย่าง”

“ก๊ะลำบากมาก เพราะเราเป็นคนยากจน ท้อง 4 เดือน มีลูกอีกคนหนึ่ง 4 ขวบเรียนอยู่อนุบาล วันนั้นเขาบอกว่าจะไปตากใบกับเพื่อนๆ เราบอกว่าจะไปด้วย เขาก็บอกว่าไม่ให้ไป มีแต่ผู้ชายไปทั้งนั้นเลย ผู้หญิงจะไปได้ยังไง”

“ตอนนี้ก๊ะต้องทำงานเลี้ยงดูคนในบ้านหลายชีวิต ไปทำงานรับจ้างดำนา กรีดยาง เขาจ้างให้ทำอะไรเราก็ทำหมด”

“ยอมรับว่าลำบากใจ คิดมาก ตอนนี้ลูกคนหนึ่งจบ ม.6 แล้วก็ยังไม่รู้หน้าตาพ่อเขาเป็นยังไง” ก๊ะโซเฟียเล่าถึงความทรงจำที่เธอมีต่อสามีผู้เป็นที่รักด้วยเสียงหนักแน่นเคล้าด้วยเสียงสะอื้นไห้

ความถวิลหาจากวันนั้นจนถึงวันนี้

ตอนที่เกิดเหตุการณ์ตากใบ ก๊ะนี (นามสมมติ) มีลูก 2 คน คนโต 7 ขวบ คนเล็ก 3 ขวบ แบมะ (นามสมมติ) สามีของเธอหายไปตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ ก๊ะนีกับครอบครัวไม่เคยได้พบศพของเขา

“เขาสูญหายไป แต่ตอนก๊ะไปรับใบมรณะของเขา เจ้าหน้าที่เขียนว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ”

“แบมะเป็นผู้ชายเพียบพร้อมคนหนึ่ง ถึงเราจะยากจน แต่เขาไม่เคยบกพร่อง เขาสุขุม สมถะ เรียบง่าย ไม่ชอบมีปัญหากับใคร และช่วยเหลือคนอื่นเสมอ แบมะเป็นพ่อครัวที่เก่งมาก ที่จำได้ดีคือซุปเป็ดเทศ หากชุมชนมีงานเลี้ยงโอกาสอะไร แบมะจะถูกเชิญให้เป็นพ่อครัวเสมอ”

“กับข้าวมื้อสุดท้ายที่แบมะแสดงฝีมือคือซุปเป็ดเทศในกิจกรรมละศีลอดในมัสยิดของหมู่บ้าน นอกจากนี้ แบมะยังเป็นมุอัซซิน คนขานอาซานแจ้งเตือนเวลาละหมาดอีกด้วย ทุกวันนี้เสียงไพเราะของแบมะยังก้องในหูเพื่อนบ้านทุกคน”

บาดแผลแห่งความเจ็บปวดที่ไม่มีวันจางหาย

“ก๊ะเคยไปงานรำลึกเหตุการณ์ตอนครบรอบ 5 ปี ตอนนั้นก๊ะนั่งมอเตอร์ไซค์ไปคนเดียว แต่ไม่ได้ไปบ่อย เพราะกลัวมาก กลัวไปหมดเลย แค่เห็นเจ้าหน้าที่ก๊ะก็กลัวแล้ว”

“เวลาไปร้องเรียนขอความเป็นธรรม ก๊ะรู้สึกว่าไม่ได้อะไรกลับมาเลย เหมือนไปเปล่าๆ เรื่องมันเงียบ เงียบทุกอย่าง แต่ก็ไปเพราะไปเป็นกำลังใจให้ก๊ะคนอื่นๆ ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว แต่เรายังมีเพื่อนอีกหลายคนที่รู้สึกเหมือนเรา” – ก๊ะโซเฟีย

“เราทำใจอยู่นาน คิดมากตลอด ที่บ้านบางทีก็คุยกันว่าคิดถึงพี่ชาย ถ้าเรามีพี่ชายเราคงสบายกว่านี้ น้องๆ คงได้เรียนหนังสือต่อ เพราะเขาขยันทำงานและช่วยเลี้ยงน้อง ตอนนี้ครอบครัวลำบากมาก” – ก๊ะนดา

“ก๊ะต้องอดทนเพื่อลูก เพราะตอนนั้นลูกของก๊ะคนเล็ก 3 ขวบ คนโต 7 ขวบ ก๊ะก็ทำงานรับจ้างดำนา เวลาก๊ะคนอื่นไปร้องเรียนเรื่องต่างๆ เราก็ไปกับเขาด้วย” – ก๊ะนี

นี่คือคำตอบของเหล่าก๊ะ เมื่อถามว่าหลังจากสูญเสียคนในครอบครัวไปจากเหตุการณ์ตากใบ พวกเธอใช้ชีวิตกันต่อไปเช่นไร และทำใจให้ยอมรับต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

แม้ส่วนใหญ่เหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบจะเจอการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือพิการ แต่ก็มีข้อมูลบางส่วนเปิดเผยว่ามีคนจำนวนหนึ่งสูญหายไป เช่นกรณีของก๊ะนีที่ไม่ได้รับศพของสามีกลับมา ทว่าเจ้าหน้าที่กลับระบุในใบมรณะบัตรว่าสามีของเธอขาดอากาศหายใจเสียชีวิต

หากถามถึงการเยียวยาจากภาครัฐ ก๊ะโซเฟียเล่าให้ฟังว่าเคยมีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมที่บ้านเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ทว่าค่าชดเชยหรือการเยียวยาที่เธอได้รับจากการสูญเสียอันมิอาจประเมินค่าได้นั้นกลับมีเพียงกระเช้าของขวัญหนึ่งอันเท่านั้น

“มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมที่บ้าน ถามว่าสบายดีไหม มีอะไรให้ช่วยไหม แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยนอกจากส่งกระเช้ามาให้ครั้งเดียว แล้วจากนั้นก็ไม่มาอีกเลย ก๊ะบอกเจ้าหน้าที่ว่าอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือต่อ แต่เขาไม่เคยช่วยเรื่องการศึกษาลูกเราเลย เราก็ไม่อยากไปร้องเรียนอะไรต่อ เขาให้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น” ก๊ะโซเฟียกล่าว

สดับเสียงเงียบ จดจำความเจ็บปวด

เหตุการณ์ตากใบเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของอาชญากรรมโดยรัฐที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐนำมาสู่ความสูญเสียและสร้างบาดแผลให้ผู้คนนับครั้งไม่ถ้วน เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงวังวนปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาในสังคมไทย

หนึ่งในผู้สูญเสียที่ต้องดิ้นรนดูแลตัวเองและครอบครัวในขณะที่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนในครอบครัวที่จากไปคือ พะเยาว์ อัคฮาด คุณแม่ของ ‘ลูกเกด’ อาสาพยาบาลที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553

เส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้ลูกสาว คุณแม่พะเยาว์ต้องพบเจอจากข่มขู่จากผู้มีอำนาจมาโดยตลอด รวมถึงความหวังอันริบหรี่ที่จะหาตัวคนผิดมาลงโทษ แต่ถึงกระนั้น พะเยาว์ก็ไม่เคยคิดย่อท้อ เพราะเธอเชื่อเสมอมาว่าตราบใดที่เธอพูดความจริง เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะไม่มีวันเลือนหายไปจากสังคมไทย ในทางกลับกัน หากเธอกลัว เงียบ ไม่กล้าออกมาบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้สังคมรู้ จะยิ่งทำให้ผู้กระทำความผิดสามารถลอยนวลพ้นผิดในสังคมได้อยู่ร่ำไป

“เราต้องการเรียกร้องให้สังคมรู้ว่าเหตุการณ์ความสูญเสียแบบนี้มันเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และเราเข้าใจว่าทำไมผู้สูญเสียหลายคนถึงไม่กล้าส่งเสียงของตัวเองออกมา เพราะตอนนี้คนที่คุมพื้นที่ทั้งหมดคือเจ้าหน้าที่รัฐ คดีแบบนี้ผู้มีอำนาจพยายามจะเก็บไว้ให้ได้นานที่สุด เขาจะพยายามกดหัวญาติทุกคนไม่ให้พูด”

“เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และถ้าความรุนแรงเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อให้เขาทำผิดซึ่งๆ หน้า เราก็ไม่สามารถทำอะไรเขาได้เลย เราต้องสู้กับกองทัพให้สังคมไทยและต่างประเทศได้รับรู้ เราต้องรวมตัวกันเอาความจริงเข้าสู้ เพราะสิ่งที่เจ้าหน้าที่กลัวคือความจริง”

พะเยาว์มองว่าข้อจำกัดของการเรียกร้องความเป็นธรรมของเหตุการณ์ตากใบคือระยะเวลาที่คดีจะสิ้นอายุความภายใน 20 ปี ซึ่งในปีนี้เหตุการณ์ดังกล่าวกำลังจะครบรอบ 19 ปี เธอมองว่าอีกหนึ่งหนทางในการทวงคืนความเป็นธรรมคือการผลักดันคดีไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะนำความยุติธรรมกลับมาคืนมาให้แก่ผู้สูญเสีย

“เราไม่หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมไทยแล้ว ตอนนี้อยากผลักดันคดีไปสู่ต่างประเทศ และถ้าเรายังไม่ได้ลองเดิน เราอย่าพึ่งไปคิดว่าไม่มีทาง ยังไงเราก็มองว่ายังมีทาง” พะเยาว์กล่าว

กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ต้องคดี ม.112 จากการร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อปี 2556 จนทำให้สยามกลายเป็นผู้ลี้ภัยและถูกบังคับสูญหายในเวลาต่อมา โดยสยามได้หายตัวไปหลังถูกตำรวจเวียดนามจับกุม และมีรายงานว่าส่งตัวกลับมาให้ทางการไทย ทว่าจนถึงวันนี้ คุณแม่กัญญากลับไม่เคยได้พบลูกชายของเธออีกเลย

“คุณฆ่าเขาแค่เพียงเพราะเขาเล่นละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า สิ่งที่เขาทำร้ายแรงขนาดนั้นเลยหรือ มันเกินความเป็นมนุษย์ไปหรือเปล่า คุณยังเป็นคนเหมือนกับเราหรือเปล่า”

“คดีไม่ไปไหนเลย ไม่ก้าวหน้า เรียกร้องอะไรไม่ได้เลย เราสูญเสียลูกชายไป มันเจ็บปวดตลอดเวลา แม่ตามหาลูกจนท้อ เราได้แต่คิดว่าถ้าคุณได้รับความสูญเสียนี้บ้าง คุณก็จะทราบซึ้งแบบเรานั่นแหละ เพียงแต่เราไม่ได้รู้สึกทราบซึ้ง เราเสียใจ” กัญญากล่าว

แต่แม้จะเจ็บปวดและทุกข์ทรมานแค่ไหน หนึ่งสิ่งที่พะเยาว์ กัญญา และเหล่าก๊ะจากเหตุการณ์ตากใบคิดเหมือนกันคือพวกเธอจะไม่มีวันยอมแพ้ จะไม่มีวันหยุดต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรม และจะไม่มีวันหยุดพูดความจริงที่พวกเธอและครอบครัวต้องประสบ รวมถึงบาดแผลที่เจ้าหน้าที่รัฐยังติดค้างพวกเธอไว้

“ถ้าวันไหนเราฮึดสู้ขึ้นมา เจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายกลัวเรานะ เขามีปืน แต่เรามีปากและความจริงของเรา” พะเยาว์กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นมั่นคง

ตากใบในความทรงจำที่ไม่มีวันลืมเลือน

หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยรวบรวมข้อมูลของเหยื่อและผู้สูญเสียในเหตุการณ์ ทั้งยังจัดงานรำลึกอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ ‘ตากใบ’ ถูกทำให้เลือนหายไปจากสังคมไทยคือ ‘ก๊ะแยนะ’ ผู้เป็นแกนนำในการเรียกร้องความยุติธรรมให้เหยื่อตากใบและผู้คนที่ได้รับความสูญเสียมานานหลายปี

แม้ก๊ะแยนะจะไม่ได้สูญเสียคนในครอบครัวไปจากเหตุการณ์ตากใบ แต่เนื่องจากเธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ได้เข้าร่วมเหตุการณ์ตากใบ รวมถึงต้องสูญเสียสามีไปเพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงนำมาซึ่งแรงในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับทุกคน

ก๊ะไลลาพูดถึงก๊ะแยนะว่า “ทุกครั้งที่ก๊ะแยนะจัดงานจะมีเจ้าหน้าที่มาที่งาน มาบอกก๊ะว่าพอได้แล้ว จะจัดไปทำไมนักหนา แต่ก๊ะแยนะคือคนที่มีพลังมาก ก๊ะเคยบอกว่าจะจัดงานรำลึกแบบนี้ไปจนกว่าก๊ะจะตาย”

นอกจากคำบอกเล่าของก๊ะไลลา ก๊ะนดา ก๊ะโซเฟีย และก๊ะนีแล้ว ยังคงมีเรื่องราวของผู้คนอีกมากมายที่เผยให้เห็นถึงร่องรอยความเจ็บปวดและความสูญเสียที่ไม่ว่าจะเยียวยาเช่นไรก็มิอาจทดแทนได้ ให้สิ่งของและตัวอักษรเหล่านี้เป็นดั่งหลักฐานการมีอยู่ของอาชญากรรมโดยรัฐ และเพื่อให้ข้อเท็จจริงชนะความพยายามทำให้ลืมและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย

กว่าเกือบสองทศวรรษที่เกิดเหตุการณ์ตากใบ แม้ปัจจุบันเรื่องราวนี้จะเป็นที่รับรู้มากขึ้นจากคนในสังคม ทว่าตราบใดที่ความเจ็บปวดและบาดแผลที่ฝังลึกในจิตใจของผู้สูญเสียยังคงไม่ได้รับการเยียวยา ผู้กระทำความผิดยังคงไม่ได้รับการลงโทษ และเสียงจากผู้คนอีกมากใน ‘ตากใบ’ ยังคงรอคอยการได้ยิน ตราบนั้น เราก็ยังคงต้องร่วมกันส่งเสียงแทนพวกเขาเหล่านี้ต่อไป

“เหตุการณ์ผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี แต่สำหรับผู้สูญเสีย หลายคนรู้สึกเหมือนเหตุการณ์ยังเพิ่งเกิดใหม่ๆ ความรู้สึกทุกอย่างยังอยู่ในใจ ยังอยู่ในความคิด พวกเขาลืมไม่ได้” ก๊ะไลลากล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save