fbpx

เรื่องเงินๆ ทองๆ ของธุรกิจสื่อมวลชน กับความโปร่งใสและความไว้วางใจของสาธารณะ

ธุรกิจสื่อมวลชน

“ที่สุดแล้ว สื่อก็เป็นธุรกิจ ต้องหาเงินเพื่อความอยู่รอดของบริษัทและพนักงาน”

นี่เป็นเหตุผลที่สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งมักใช้อธิบายเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการรายงานที่เน้นสร้างความเร้าใจหรือสะเทือนอารมณ์ (หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ดราม่า’) ชูประเด็นหรือใช้วิธีการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงนำเสนอเนื้อหาเชิงวารสารศาสตร์หรือเชิงโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ถูกกำหนดวาระโดยกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพราะแนวทางเหล่านี้สามารถสร้างยอดการเข้าถึงเนื้อหาและนำมาซึ่งรายได้ (ในบางกรณีก็เป็นเงินจำนวนมหาศาล) แก่องค์กร

แต่ขณะเดียวกัน เมื่อปรากฏเหตุการณ์ที่สื่อมวลชน (อาจจะเป็นเจ้าเดียวกันกับข้างต้นหรือไม่ก็ได้) ถูกแทรกแซงความเป็นอิสระหรือข่มขู่คุกคาม สโลแกน ‘เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน’ มักถูกนำมาอ้างเพื่อปกป้องคนทำงานและองค์กรสื่อ นอกจากนี้ ยังมีคำกล่าวที่ว่า ‘ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นสื่อได้’ เพราะสื่อมวลชนนั้นมีมาตรฐานการทำงานและจริยธรรมวิชาชีพ ต่างจากผู้ใช้สื่อทั่วไป

คำอธิบายเรื่องเสรีภาพสื่อและจริยธรรมวิชาชีพถือเป็นหลักการสากลในสังคมประชาธิปไตย ส่วนความเป็นธุรกิจของสื่อมวลชนก็เป็นข้อเท็จจริงในโลกทุนนิยม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลเหล่านี้มักถูกนำมาใช้ต่างกรรมต่างวาระ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร ทิ้งไพ่ใบไหนจึงจะเหมาะ แต่น้อยครั้งที่จะถูกนำมาพิจารณาร่วมกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่ข้อสรุปที่ขัดแย้งกันในตัวเอง ที่ว่า ไม่ว่าจะอย่างไร สื่อมวลชนก็เป็นธุรกิจที่ต้องหาเงิน แต่ก็ต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษเพราะ ‘เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน’ และคนอื่นจะมาอวดอ้างตัวเองว่าเป็น ‘สื่อ’ ไม่ได้ แต่เมื่อวิธีการทำงานหรือผลงานคลาดเคลื่อนไปจากมาตรฐานที่ควรจะเป็น ก็จะบอกว่า ‘ทำตามมาตรฐานไม่ได้หรอกเพราะไม่อย่างนั้นจะหาเงินไม่ได้’ (ดังนั้นอย่ามาคาดหวังกับเรามากนักสิ)

บทความนี้ไม่ได้จะบอกว่าสื่อมวลชนเป็นนายทุนหน้าเลือดไร้ธรรมาภิบาล หรือต้องเป็น ‘ธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม’ เนื่องจากสื่อมวลชนไม่ใช่ผู้ประกอบการใดๆ หรือต้องเป็นผู้เสียสละที่อุทิศตนต่อ ‘อุดมการณ์’ และประโยชน์สาธารณะ แต่มีสถานะเป็นทั้งธุรกิจที่ต้องหารายได้และสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชน ดังนั้น จึงมีข้อเสนอ 4 ประการที่น่าจะนำไปสู่การสร้างความโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตยของอุตสาหกรรมสื่อ

การหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาคุยน่าจะช่วยให้เราพ้นจากหล่มข้อถกเถียงเดิมๆ ว่า ‘สื่อก็เป็นธุรกิจ’ ที่พูดอีกก็ถูกอีก แต่สะท้อนความกระอักกระอ่วนและไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในรูปแบบอื่นๆ โดยหวังว่าข้อเสนอนี้อาจนำไปสู่การอภิปรายถึงแนวทางที่ผู้ประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชนจะสร้างความไว้วางใจต่อสาธารณะและความชอบธรรมในการดำรงอยู่ (รวมถึงได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ) ในสังคมประชาธิปไตย

1) ความโปร่งใสในธุรกิจ แวดวงวิชาการและวิชาชีพฝั่งตะวันตกเสนออยู่เนืองๆ ว่าสื่อมวลชนควรนำหลักความโปร่งใสในงานวารสารศาสตร์ (journalistic transparency) มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้ประชาชนเห็นและตรวจสอบว่าการผลิตผลงานเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตั้งแต่การเลือกแง่มุม การหา-ตรวจสอบข้อเท็จจริง การปกป้องคุ้มครองแหล่งข่าว ไปจนถึงการนำเสนอและปรับแก้เนื้อหา หรือเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้วย อีกทั้งยังควรสื่อสารสู่สาธารณะว่าการทำงานหลังฉากมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง

แต่ในวงกว้างยังไม่มีตัวอย่างการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง และปรากฏผลลัพธ์ที่สะท้อนว่าประชาชนให้ความไว้วางใจสื่อมากขึ้นอย่างชัดเจนนัก เพราะผู้รับสารอาจไม่ได้ใส่ใจกับรายละเอียดเหล่านี้ นอกจากนี้ การดำเนินงานด้านนี้ต้องมีระบบและบุคลากรที่ทำงานดังกล่าวโดยเฉพาะ พอการแข่งขันในตลาดสื่อออนไลน์เข้มข้นมากขึ้นและบริษัทสื่อมีรายได้ลดลง จึงเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ทำให้การทำงานสะดุด และไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน

ระยะหลังจึงมีข้อเสนอแนะว่าอย่างน้อยสื่อมวลชนควรใช้หลักการโปร่งใสในธุรกิจ โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ตั้งแต่รายชื่อเจ้าของ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารทั้งฝ่ายจัดการและกองบรรณาธิการ สัดส่วนการถือหุ้น และที่มาของรายได้ เพราะองค์ประกอบเหล่านี้สะท้อนการกำหนดนโยบาย แนวทางการทำงาน และวิธีการหารายได้ขององค์กร รวมถึงจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าบริษัทปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน หรือได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์ใด อย่างไร

สำหรับองค์กรสื่อที่ต้องการทดลองหารายได้ผ่านระบบสมัครสมาชิก (subscription) หรือการระดมทุนรูปแบบอื่นๆ จากผู้รับสาร การเปิดเผยและอธิบายถึงการดำเนินงานที่เป็นอิสระเพื่อตอบสนองประโยชน์สาธารณะ ยังสามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับสารเห็นความสำคัญของการจ่ายเงินค่าสมาชิกได้ด้วย

ข้อมูลเหล่านี้ควรปรากฏให้เห็นเด่นชัด เป็นปัจจุบัน เข้าถึงง่ายทางออนไลน์ ไม่ใช่ให้ผู้รับสารต้องค้นหาและนำมาปะติดปะต่อเป็นจิ๊กซอว์เอง สำหรับไทย องค์กรสื่อเชิงพาณิชย์ที่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้มักเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็มักไปอยู่บนเว็บไซต์ของบริษัทแม่หรือรายงานประจำปี ไม่ได้เป็นหมวดหมู่บนเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาโดยตรง ส่วนบริษัทที่เป็นนิติบุคคล ประชาชนต้องสืบค้นข้อมูลเองจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขณะที่รายชื่อผู้บริหารในระดับบรรณาธิการก็ไม่ค่อยปรากฏ

2) พันธกิจและแนวปฏิบัติที่สะท้อนความรับผิดรับชอบ (accountability) แม้สื่อมวลชนบางส่วนจะชี้แจงว่าตนมีกรอบจริยธรรมวิชาชีพและแนวปฏิบัติต่างๆ ที่องค์กรของตนหรือองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนกำหนดขึ้นเพื่อให้สมาชิกนำไปใช้ หรือมีคำขวัญ ข้อความโฆษณาที่สะท้อนความมุ่งมั่นในการตามล่าหาความจริง แต่ในทางปฏิบัติก็อาจเบี่ยงเบนหรือเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม การประกาศพันธกิจและแนวปฏิบัติในการผลิตงานวารสารศาสตร์ขององค์กรสื่อก็ยังมีความจำเป็น เพื่อให้เห็นว่าองค์กรและคนทำงานตั้งมั่นอยู่บนหลักการแบบใด และจะแสดงความรับผิดรับชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างไร อีกทั้งยังเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งซึ่งแสดงถึงความเป็น ‘สื่อมวลชน’ ที่จะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) ด้วย

ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า การชี้แจงกระบวนการตัดสินใจของกองบรรณาธิการ (editorial decision) ในงานข่าวทุกชิ้นอาจเพิ่มภาระให้กับคนทำงานหากไม่ได้อยู่ในระบบการทำงานหรือทำอย่างเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว ดังนั้น การชี้แจงหรือประกาศแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสาธารณะอย่างเด่นชัด เช่น การเลือกตั้ง วิกฤตทางสังคม หรือเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการอธิบายกระบวนการทำงานว่ามีความซับซ้อน ข้อควรระวัง หรือประสบข้อจำกัดอะไรบ้าง รวมถึงทบทวนแนวปฏิบัติอยู่เสมอตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม

นอกจากนี้ องค์กรสื่อยังควรสื่อสารต่อสาธารณะเกี่ยวกับช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กระบวนการ และผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียน รวมถึงผลกระทบจากการทำงานและการรายงานขององค์กรให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และเป็นข้อมูลที่อัปเดต ตรงไปตรงมา ไม่เก็บไว้ในแฟ้มลับหรือเจรจากันในห้องปิด เพราะประชาชนจะไม่รับรู้ว่าสื่อมวลชนมีปฏิกิริยาต่อปัญหาอย่างไร และการร้องเรียนได้ผลมากน้อยแค่ไหน การเปิดเผยจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบและกำกับดูแลตนเอง/กันเองของสื่อมวลชนได้

3) ระบบการประกันมาตรฐานคุณภาพในการทำงานและผลงานสื่อ ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ มักใช้ผลการประเมินตามเกณฑ์สากลเพื่อรับประกันต่อสาธารณะว่าการทำงานและผลงานเป็นไปตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมนั้นๆ องค์กรสื่อส่วนใหญ่จะอ้างถึงจริยธรรมวิชาชีพ รางวัล หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการรายงานเป็นเครื่องรับประกันคุณภาพ ซึ่งมักเป็นการประเมินที่ผลงาน แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงกระบวนการดำเนินงานด้วย และอาจไม่สะท้อนว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ อย่างไร

แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการคุณภาพของงานสื่อมวลชนไม่ใช่เรื่องใหม่และมีเครื่องมือหลากหลายที่สามารถนำมาใช้ได้ บางส่วนเป็นเครื่องมือประเมินเนื้อหาที่ถูกออกแบบจากฐานคิดเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking) เพื่อให้ผู้รับสารนำไปใช้เนื่องจากเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่แล้ว เช่น แบบทดสอบของ First Draft ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรไม่แสวงกำไรที่วิจัยและฝึกอบรมเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าว เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์ที่นักวิชาชีพและองค์กรที่รณรงค์ด้านวารสารศาสตร์พัฒนาขึ้นเพื่อประเมินคุณภาพเนื้อหาและมาตรฐานการดำเนินงานของสื่อมวลชน เช่น NewsGuard มีแบบประเมินความน่าเชื่อถือของเว็บข่าวโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทำส่วนขยายบราวเซอร์ (browser extension) และแอปพลิเคชันที่ระบุคะแนนความน่าเชื่อถือของเว็บให้ประชาชนนำไปใช้ได้ หรือ Global Disinformation Index ที่จัดทำรายงานประเมินมาตรฐานการดำเนินงานและข้อมูลของเว็บไซต์ข่าวที่เป็นที่นิยมของประเทศต่างๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือน โดยองค์กรทั้งสองที่ยกตัวอย่างมายังนำผลประเมินส่งต่อไปให้ผู้ซื้อพื้นที่โฆษณา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลงโฆษณาทางสื่อมวลชนที่รับประกันแล้วว่าเชื่อถือได้ หรือเลี่ยงสื่อที่มีแนวโน้มจะผลิตงานด้อยคุณภาพ

ยังมีแนวคิดเรื่องการประเมิน-ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก หน่วยงานภายในที่เป็นอิสระ หรือสภาผู้รับสาร ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีมานานแล้วและบางองค์กรสื่อก็นำไปใช้ แต่อาจจะไม่โดดเด่นจนเป็นที่รู้จักของสาธารณะหรือดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในองค์กรเชิงพาณิชย์ที่ภายหลังต้องให้ความสำคัญต่อปัญหาความอยู่รอดทางธุรกิจมากกว่า

แม้วิธีการประเมิน-ตรวจสอบสื่อที่เป็นอิสระจากกองบรรณาธิการจะยังเป็นที่ถกเถียงทั้งในเชิงแนวคิดและการปฏิบัติจริงถึงประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ที่กองบรรณาธิการจะถูกแทรกแซง แต่ก็ถือเป็นความพยายามในการออกแบบกลไกใหม่ๆ เพื่อรับประกันคุณภาพและความโปร่งใสในการทำงานสื่อ หากยังมีจุดอ่อน ก็ควรพิจารณาว่าจะปรับแก้อย่างไร ไม่ใช่ปัดตกว่าไม่ได้เรื่องหรือสื่อมวลชนต้องไม่ถูกบงการโดยคนภายนอกสถานเดียว เพราะที่ผ่านมาการกำกับดูแลตนเอง/กันเองก็ใช่ว่าจะได้ผลหรือไร้ช่องโหว่

4) การรับประกันสิทธิแรงงานและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานของคนทำงานสื่อ เป็นที่น่าเสียดายว่าแม้สื่อมวลชนจะเรียกร้องให้มีการรับรองเสรีภาพสื่อและถูกคาดหวังให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กลับเป็นธุรกิจที่ไม่เอื้อให้คนทำงานสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้างเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนได้อย่างเต็มที่ มีรายงานชี้ว่าการก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเปรียบเป็นเรื่อง ‘ต้องห้าม’ ของผู้ปฏิบัติงานสื่อ ทำให้การรวมกลุ่มแรงงานที่มีอยู่ยังไม่เข้มแข็งหรือมีอิทธิพลในการต่อรองเพื่อรักษาสิทธิของตนได้มากนัก

งานวิจัยของผู้เขียนเกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจขององค์กรข่าวและการรายงานข่าวการชุมนุมก็มีข้อสังเกตในทิศทางเดียวกันว่า การขาดการรวมกลุ่มและอำนาจต่อรองของคนทำงานนำไปสู่การถูกเลิกจ้างหรือใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่ คุกคาม ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผลกระทบต่อจิตใจระหว่างการทำงานในสถานการณ์ที่มีอันตรายโดยแทบไม่ได้รับอุปกรณ์หรือกลไกป้องกันเยียวยา หรือต้นสังกัดไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องถูกจัดการอย่างเป็นระบบ

แม้จะยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าสหภาพแรงงานจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้จริงหรือไม่ แต่หากคนทำงานสามารถร่วมกันส่งเสียงได้อย่างเป็นเอกภาพ ก็เป็นเรื่องยากที่เจ้าของบริษัทและผู้บริหารจะเพิกเฉยต่อปัญหา และอาจนำไปสู่การร่วมกันหาทางคลี่คลายได้ แทนที่คนทำงานจะต้องก้มหน้าก้มตาทำงานในนามของความดีและความกล้าหาญท่ามกลางความเสี่ยงต่อไป

ในประเทศตะวันตกบางแห่ง นอกจากการคุ้มครองสิทธิแรงงานเพื่อรับประกันสวัสดิการและสวัสดิภาพที่คนทำงานพึงมีพึงได้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับความหลากหลายและโอกาสที่เท่าเทียมกันในการจ้างงานด้วย แนวทางนี้ไม่เป็นเพียงการให้คุณค่าต่ออัตลักษณ์อันหลากหลายในสังคม แต่การที่กองบรรณาธิการประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีพื้นเพและต้นทุนทางเศรษฐกิจ-สังคมแตกต่างกัน ย่อมทำให้มีมุมมองหลากหลายในการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ทางสังคม และนำไปสู่การผลิตผลงานที่ลุ่มลึก หลากทรรศนะ และช่วยให้สังคมได้เรียนรู้ในความหลากหลายนี้ด้วย

แนวทางเหล่านี้อาจดูเหมือนเพิ่มภาระให้กับเจ้าของธุรกิจและผู้ปฏิบัติงานสื่อ แต่ก็ถือเป็นการลงทุนที่จะบอกกับประชาชนว่า ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นสื่อมวลชนให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ และมุ่งนำเสนอเนื้อหาที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ มากกว่าการย้ำว่าให้พิสูจน์กันที่คุณภาพของผลงาน (ซึ่งไม่ได้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอและถ้วนหน้า) หรือการมีอยู่ของจริยธรรมวิชาชีพที่ถูกละเลยหรือละเมิดอยู่เนืองๆ เท่านั้น ทั้งยังสามารถสร้างมาตรฐาน ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน ที่หมายรวมทั้งองค์กรสื่อและผู้ผลิตเนื้อหารูปแบบอื่นๆ อันจะทำให้ประชาชนเชื่อถือและไว้วางใจ ท่ามกลางการแข่งขันกับเนื้อหาที่มีอย่างล้นเหลือบนพื้นที่ออนไลน์และถูกสร้างขึ้นโดยใครบ้างก็ไม่รู้

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารสื่อก็ต้องทำให้การดำเนินงานในแนวทางนี้สอดคล้องกันในทุกองคาพยพขององค์กร และควรมีฝ่ายสนับสนุนเพื่อทำให้การจัดการงานหลังบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ให้กองบรรณาธิการต้องแบกรับงานนี้อยู่ฝ่ายเดียว เพราะหน้าที่หลักของกองบรรณาธิการคือการลงทุนกับการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากต้องมาแบ่งเวลากับงานเอกสารอีก นอกจากจะทำให้งานสะดุดแล้วก็อาจจะบั่นทอนกำลังใจของคนทำงานก็ได้

ความโปร่งใสจะช่วยสร้างมาตรฐานการทำงานของธุรกิจและอุตสาหกรรมสื่อให้ไปไกลกว่าการอ้างเพียงจริยธรรมวิชาชีพที่มักไม่ถูกนำมาใช้เพราะ (เข้าใจกันว่า) จะทำให้หาเงินได้ยาก และอาจกอบกู้ความไว้วางใจของสาธารณะกลับคืนมา ในเมื่อสื่อมวลชนแบไพ่ว่าตัวเองเป็นธุรกิจแล้ว ก็ควรเป็นธุรกิจที่โปร่งใสและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ในทุกๆ มิติ ไม่ใช่ให้วัดจากผลผลิตที่ปรากฏหน้าจอหรือกิจกรรม ‘เพื่อสังคม’ ของบริษัทที่เป็นฉากหน้าเท่านั้น


เชิงอรรถ

– ตัวอย่างเกณฑ์การประเมินมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรสื่อมวลชนและเนื้อหาข่าว

The Journalism Trust Initiatives https://www.journalismtrustinitiative.org

NewsGuard https://www.newsguardtech.com

First Draft https://firstdraftnews.org

Global Disinformation Index Report https://www.disinformationindex.org/research

เหตุไฉน ‘สหภาพ’ ถึงยังเป็น ‘คำต้องห้าม’ ในวงการสื่อไทย? https://hardstories.org/th/stories/labour-rights/thai-journalists-push-labour-unions

ธุรกิจสื่อมวลชน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save