fbpx

ความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำ และเสียงสะท้อนของผู้คนผ่านการเลือกตั้ง

หนึ่งในโจทย์ท้าทายของสังคมไทยปัจจุบัน คือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติของรายได้ ทรัพย์สิน การศึกษา และการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข ที่ผ่านมา นักวิชาการไทยพยายามศึกษาปรากฎการณ์ความเหลื่อมล้ำโดยมักให้ความสำคัญกับต้นตอและผลกระทบของปัญหา แต่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้รับการศึกษามากนัก คือการรับรู้และการตอบสนองของประชาชนต่อความเหลื่อมล้ำที่สูงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

สาเหตุที่เราต้องให้ความสำคัญกับการรับรู้ของสังคม (Societal perception) ต่อความเหลื่อมล้ำ เพราะการรับรู้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความชอบ (Preference) หรือความต้องการ (Demand) การกระจายรายได้ใหม่ (Redistribution) ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปภาษีเดิมให้มีความก้าวหน้า (Progressive) มากขึ้น กำหนดการเก็บภาษีประเภทใหม่ รวมไปถึงการปฏิรูประบบสวัสดิการของประเทศ ความต้องการเหล่านี้ไม่เพียงมีความสำคัญต่อการออกแบบและวางแผนการพัฒนาประเทศ แต่ยังส่งผลถึงการออกแบบนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล หรือพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้งอีกด้วย

ความชอบหรือความต้องการของสังคมต่อนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ จะแปรเปลี่ยนไปตามความคิดของแต่ละบุคคลที่มีประสบการณ์การใช้ชีวิตในสังคมเหลื่อมล้ำแตกต่างกัน โดยประสบการณ์ดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยเพิ่มหรือลดการยอมรับความเหลื่อมล้ำ (Acceptance of inequality) คนส่วนหนึ่งที่เคยชินกับความเหลื่อมล้ำ อาจให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ มากกว่าการมุ่งขจัดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ขณะเดียวกัน ผู้ที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำมามาก อาจไม่ชอบความเหลื่อมล้ำและต้องการขจัดความเหลื่อมล้ำให้เร็วที่สุด

ในแง่นี้ ความต้องการลดความเหลื่อมล้ำจึงอาจมีนัยต่อการเลือกตั้งและการเมืองในภาพรวม กล่าวคือ หากผู้คนยอมรับได้กับความเหลื่อมล้ำสูงในสังคม พรรคการเมืองที่ชูนโยบายขจัดความเหลื่อมล้ำอาจไม่ชนะการเลือกตั้ง และทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้รับการแก้ไข ตรงกันข้าม หากคนส่วนใหญ่ต้องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและส่งเสียงผ่านการเลือกตั้ง ความเหลื่อมล้ำจะถูกให้ความสำคัญ และ (อาจ) ได้รับการแก้ไขรวดเร็วกว่า

การศึกษาโดย Roth & Wolhfart เมื่อปี 2018 ที่ศึกษามุมมองของคนต่อความเหลื่อมล้ำในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และกลุ่มประเทศในยุโรป พบว่า คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเหลื่อมล้ำสูง มักมีความอดทนสูงต่อความเหลื่อมล้ำเมื่อเทียบกับคนที่ใช้ชีวิตในสังคมที่เท่าเทียม สะท้อนจากการที่คนกลุ่มนี้ไม่สนับสนุนนโยบายหรือแนวคิดช่วยเหลือคนยากจนผ่านการให้สวัสดิการประเภทต่างๆ และมองว่าความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องอยุติธรรม (unfair) แต่อย่างใด

นักวิจัยพยายามหาคำตอบว่าเหตุใด คนในสังคมเหลื่อมล้ำสูงจึงมีความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำและไม่ต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยงานวิจัยชิ้นนี้ทดสอบสมมติฐานเพิ่มเติม 3 ข้อ คือ 1) คนที่คุ้นเคยกับความเหลื่อมล้ำได้ประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำในสังคม คนกลุ่มนี้จึงไม่ต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 2) คนที่เคยชินกับความเหลื่อมล้ำไม่ได้มองว่ารายได้ของตนเองนั้นต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนอื่นๆ ในสังคม คนกลุ่มนี้จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และ 3) คนที่คุ้นเคยกับความเหลื่อมล้ำไม่เชื่อว่ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จึงไม่คิดว่านโยบายต่างๆ จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาปฏิเสธสมมติฐานทั้งสามข้อ และสรุปว่าคนในสังคมมักประเมินระดับความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยตนเองโดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนจากความต้องการในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นเรื่องของปัจเจกและขึ้นอยู่กับแต่ละคนตีความคำว่ายุติธรรม (fairness) อย่างไร

การยอมรับความเหลื่อมล้ำสามารถอธิบายได้จากแนวคิดความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำ (Tolerance for Inequality) ที่คิดค้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้ล่วงลับ นาม Albert Hirschman ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในแวดวงเศรษฐศาสตร์การพัฒนาว่าเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาแนวคิดการเติบโตแบบไม่สมดุล (Unbalanced Growth) แก่นของแนวคิดความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำคือการที่ผู้แพ้จากการพัฒนาเศรษฐกิจมีทัศนคติที่ดีต่อการเจริญเติบโตที่ไม่เท่าเทียม และมองว่าความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นเป็นแรงจูงใจให้ตนเองมุมานะ ไขว่คว้าหาทางสู้กับชีวิต ด้วยหวังว่าโอกาสของตนเองจะปรากฏในไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม หากความเหลื่อมล้ำของสังคมยังคงอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำจะค่อยๆ หมดลง จากนั้น ผู้แพ้จากกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจจะเริ่มแสวงหาวิธีแสดงออกความต้องการของตนผ่านการเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำ การชุมนุมประท้วง รวมไปถึงการแสดงจุดยืนผ่านการเลือกตั้ง (หากอยู่ในสังคมประชาธิปไตย)

เมื่อพิจารณาประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐกิจไทยค่อยๆ เติบโตในช่วง ค.ศ.1970 จนกระทั่งช่วงปลาย ค.ศ.1980 ไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 10% ต่อปี โดยระหว่างปี 1988 ถึง 1990 ความเหลื่อมล้ำของไทยสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากค่าสัมประสิทธิ์จีนีด้านรายได้ของทั้งประเทศที่ระดับ 0.536 ในปี 1992 หลังจากนั้น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ มาอยู่ที่ระดับ 0.430 ในปี 2021

แม้ว่าความเหลื่อมล้ำในภาพรวมของทั้งประเทศจะลดลง แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างภาค (Between-region inequality) ซึ่งพิจารณาได้จากความแตกต่างด้านค่าเฉลี่ยของรายได้ในแต่ละภูมิภาคกลับไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตมวลรวมของแต่ละภูมิภาค (Gross regional product) มีขนาดไม่ถึง 20% เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ สถิติเหล่านี้สะท้อนความจริง 2 ประการ คือ 1) พื้นที่ที่มีรายได้สูงหรือความเจริญสูงอย่างกรุงเทพฯ ยังคงรักษาระดับการเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ และ 2) ความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคยังอยู่ในระดับสูง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำของไทยในภาพรวมไม่ได้ดีขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เราอาจใช้แนวคิดความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำทำความเข้าใจบางส่วนของการเมืองไทยได้ กล่าวคือ ชัยชนะของพรรคก้าวไกล ทั้งในแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กำลังสะท้อนว่า คนไทยต้องการเห็นความเหลื่อมล้ำลดลง แน่นอนว่าพรรคก้าวไกลไม่ใช่พรรคเดียวที่พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่การชูนโยบายลดความเหลื่อมล้ำผ่านการปฏิรูปการให้สวัสดิการและการทำลายทุนผูกขาด ก็ทำให้นโยบายพรรคในด้านนี้โดดเด่นกว่านโยบายของพรรคอื่น  

แต่แน่นอนว่า Correlation is not causation ดังนั้น คงจะสรุปง่ายเกินไปว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลนั้นเป็นเพราะเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก เพราะปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าอยากจะรู้ว่าพรรคก้าวไกลได้รับการสนับสนุนจากนโยบายความเหลื่อมล้ำหรือไม่ คงต้องทำการศึกษาในเชิงลึกต่อไป โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเรื่องความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำในหมู่ประชาชน

ในปัจจุบัน มีงานศึกษาบางชิ้นที่อาจนำมาใช้ตีความการยอมรับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ อาทิ การศึกษาภายใต้โครงการ World Values Survey (WVS) ซึ่งเป็นการสำรวจค่านิยมและความเชื่อของผู้คนอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างในระดับชาติ (National representative) ใน 3 ปี ได้แก่ 2007 (1,534 คน), 2013 (1,200 คน), และ 2018 (1,500 คน) ในหลากหลายประเด็น หนึ่งในคำถามที่ถูกถามคือ รายได้ของคนในสังคมควรเท่ากันหรือไม่ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามสามารถเลือกให้คะแนนตามน้ำหนักระหว่าง 1 ถึง 10 โดย 1 หมายถึง ‘รายได้ควรทำให้เท่ากัน’ และ 10 หมายถึง ‘เราต้องการให้มีความแตกต่างของรายได้มากขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับความพยายามของแต่ละคน’

ผลการสำรวจพบว่า ระหว่างปี 2007 ถึง 2013 ซึ่งเป็นช่วงที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่ระหว่าง 0.499 ถึง 0.465 นั้น สัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่เลือกข้อ 10 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.90 เป็น 11.70 สะท้อนถึงความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือสัดส่วนนี้สูงถึง 12.70% ในกลุ่มคนที่มองว่าตนเอง (Self-reported) เป็นชนชั้นแรงงาน (Working class) อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 นั้น มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 8 ที่เลือกข้อ 10 ขณะที่กลุ่มที่มองว่าตนเองเป็นชนชั้นแรงงานและคิดว่าความเหลื่อมล้ำควรจะสูงเพื่อเป็นแรงจูงใจ มี 5.20% ดังนั้น ระหว่างปี 2007 ถึง 2018 กล่าวได้ว่าความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำจึงลดลง และลดลงมากเป็นพิเศษในกลุ่มคนที่มองว่าตนเองเป็นชนชั้นแรงงาน

ด้านหนึ่ง งานศึกษาวิจัยเรื่องนโยบายกับพรรคการเมืองในประเทศไทย ก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นวงกว้างว่า ความยากจน (ซึ่งเป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ) มีผลอย่างสำคัญต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากย้อนดูการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. 2544 และ 2548 (ซึ่งปัญหาทางการเมืองยังไม่สลับซับซ้อนเหมือนทุกวันนี้) พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ในช่วงเวลานั้น ความยากจนของไทยยังอยู่ในระดับที่สูง อัตราความยากจนของไทยใน พ.ศ. 2543 อยู่ที่ร้อยละ 42.33

เมื่อความยากจนอยู่ในระดับสูง ชัยชนะจึงเป็นของพรรคไทยรักไทยที่ชูนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและนโยบายปกป้องสังคม (Social protection policies) เพื่อการันตีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน อาทิ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กองทุนหมู่บ้าน รวมถึง 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นต้น ความสำเร็จของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงเชิงนโยบายกับฐานเสียงกลุ่มคนยากจน ทำให้เกิดคำว่า ‘รัฐบาลขวัญใจคนจน’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า บริบทของเศรษฐกิจสังคมไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากยุคไทยรักไทยอยู่มาก แม้ความยากจนจะยังคงอยู่ แต่อัตราความยากจนลดลงไปมาก โดยมีเพียงประชากรกว่า 6.32% เท่านั้นที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมนโยบายเศรษฐกิจแบบเพื่อไทยจึงอาจไม่ได้รับการตอบสนองดีเฉกเช่นในอดีต

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่บั่นทอนและสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยในหลายมิติ ลำพังตัวสภาพปัญหาจึงเป็นโจทย์ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องแก้อยู่แล้วไม่ช้าก็เร็ว แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนกำลังหมดความอดทนกับความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายจึงต้องให้ความสำคัญกับมิติของการกระจายรายได้ นอกเหนือจากกระตุ้นเศรษฐกิจและมุ่งสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สอดรับกับเจตนารมณ์ของประชาชน

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save