ตัวเลขอัตราการว่างงานของหนุ่มสาวจีนในช่วงอายุ 16-24 ปี สูงถึงร้อยละ 21.3 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เท่ากับว่าคนหนุ่มสาวจีน 1 ใน 5 ตอนนี้อาจหางานไม่ได้หรือไม่มีงานทำ นี่ยังไม่นับว่าจะมีบัณฑิตจบใหม่อีกมากกว่า 10 ล้านคนที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในฤดูกาลจบการศึกษา
สาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน เป็นประเทศที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูงที่สุดในโลกมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่การแข่งขันเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือที่เรียกกันว่า ‘เกาเข่า’ (高考) และการแข่งขันแย่งงานกันหลังเรียนจบ ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น อัตราการว่างงานของหนุ่มสาวจีนอยู่ที่ราวร้อยละ 10 แต่ในช่วงเศรษฐกิจขาลงเช่นในปัจจุบัน อัตราการว่างงานของหนุ่มสาวจีนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และแรงกดดันต่อหนุ่มสาวผู้แสวงหางานและความมั่นคงในชีวิตยิ่งทบทวีคูณจากเดิม
บางคนที่มองโลกในแง่ร้ายชี้ว่า อัตราการว่างงานของหนุ่มสาวจีนตามที่รายงานนั้นเป็นเพียงตัวเลขของการจ้างงานในเขตเมือง แต่ยังไม่นับรวมบัณฑิตจบใหม่ที่สิ้นหวังจนเลือกหนีกลับไปอยู่ในชนบท มีนักวิชาการจีนจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งถึงกับประเมินว่าตัวเลขจริงของอัตราการว่างงานของหนุ่มสาวจีนอาจสูงมากกว่าร้อยละ 40 เสียด้วยซ้ำ
ต้นเหตุของการว่างงานของหนุ่มสาวจีน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การเติบโตที่รวดเร็วของจำนวนบัณฑิตที่จบมหาวิทยาลัย ความไม่สอดคล้องระหว่างงานในภาคแรงงานเดิมกับสาขาของบัณฑิตจบใหม่ และความไม่สอดคล้องระหว่างงานที่มีในตลาดกับงานที่บัณฑิตต้องการ
ในปี 2000 บัณฑิตที่จบมหาวิทยาลัยในจีนมีจำนวนเพียง 3 ล้านคน ในปี 2010 มีจำนวน 30 ล้านคน แต่มาในปี 2022 กลับมีจำนวนมากถึง 44 ล้านคน
ภาคแรงงานเดิมของจีนที่เป็นแรงงานราคาถูกในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเริ่มหาแรงงานมาทำงานไม่ได้อีกต่อไป เพราะคนจีนส่วนใหญ่ตอนนี้เรียนในระดับสูงขึ้น ภาคแรงงานเดิมส่วนใหญ่จึงปรับไปใช้แรงงานหุ่นยนต์หรือระบบควบคุมอัตโนมัติ (automation) อย่างไรก็ตาม ภาคแรงงานทักษะและภาคบริการยังไม่สามารถขยายตัวรวดเร็วเพียงพอที่จะรองรับจำนวนบัณฑิตจบใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีได้ (แต่ละปีบัณฑิตจบใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 1.5 ล้านคน)
นอกจากนั้น หลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสการเติบโตที่รวดเร็วของภาคเทคโนโลยีจีน ทำให้นักศึกษาจีนจำนวนมากเลือกเรียนในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีการขยายการรับนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวนบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนรวมกันทั้งประเทศนั้นมีมากกว่าจำนวนบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอื่นๆ ทั้งหมดในโลกรวมกันเสียอีก
แต่ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ท่ามกลางนโยบายที่เข้มงวดขึ้นของรัฐบาลจีนต่อภาคเทคโนโลยีและการตกต่ำลงของภาคเทคโนโลยีทั่วโลกภายหลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ตำแหน่งงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนไม่ได้ขยายเพิ่มขึ้นทันจำนวนบัณฑิตจบใหม่ ตรงกันข้ามบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งของจีนกลับมีนโยบายลดจำนวนคนลงเสียอีก
จริงๆ แล้ว หากพิจารณาตลาดแรงงานในเขตเมืองของจีน จะพบว่ายังมีงานเหลือสำหรับบัณฑิตจบใหม่ แต่งานที่เหลือนั้นเป็นงานที่รายได้ต่ำ ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในเมืองใหญ่ของจีนที่ราคาค่าเช่าบ้านสูงมาก เพื่อนคนจีนของผมเคยบอกว่า ถ้าเอาแค่ให้มีงาน งานไม่ได้หายาก แต่ถ้าต้องการงานที่ดี นั่นต่างหากที่หาไม่ได้ บัณฑิตจบใหม่ของจีนที่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชนชั้นกลางจึงเลือกที่จะรอและแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่ต่อไปก่อน เมื่อยังหางานที่พอใจหรือเหมาะสมไม่ได้
ปัญหาทั้งหมดนี้ หนักหนาสาหัสขึ้นในช่วงเศรษฐกิจจีนขาลงจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลสะเทือนต่อห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในหลายภาคอุตสาหกรรม และส่งผลต่อพลังการบริโภคของคนจีน เมื่อคนจีนจนลงเนื่องจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก
ต่อด้วยปัญหา SMEs ของจีนที่ล้มหายตายจากในช่วงปิดเมืองตอนที่จีนทำนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (zero-COVID) โดยส่วนที่กระทบหนักคือภาคบริการ แต่เดิมนั้นภาคบริการเป็นภาคที่ดูดซับแรงงานหนุ่มสาวจำนวนมาก แต่เมื่อภาคบริการซบเซาจากการปิดเมืองและจากพลังการบริโภคที่อ่อนแรง ก็ยิ่งส่งผลกดดันต่อตลาดแรงงาน
ยังไม่นับปัญหาสงครามการค้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับตะวันตก ทำให้บริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ต่างหยุดขยายการลงทุนในจีน และเลือกกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาที่อื่น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการจ้างงานใหม่ของบริษัทเหล่านี้ในจีน นี่ยังไม่นับรวมเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ซบเซา ซึ่งกดดันต่อภาคการส่งออกของจีน ทำให้บริษัทที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกต่างก็ลดการลงทุนและการจ้างงานกันทั้งนั้น
ภาคเอกชนของจีนเป็นภาคที่จ้างงานมากกว่าร้อยละ 80 ของตลาดแรงงาน ดังนั้น เมื่อภาคเอกชนจีนไม่ฟื้น ปัญหาการจ้างงานของหนุ่มสาวจีนก็ยากที่จะฟื้น ส่วนภาคเทคโนโลยีจีนเป็นภาคที่จ้างงานตรงกับสาขาที่บัณฑิตจบใหม่ส่วนมากของจีนเรียนมามากที่สุด หากภาคเทคโนโลยีของจีนยังไม่กลับมาคึกคัก ก็ยากที่จะบรรเทาปัญหาการจ้างงานของหนุ่มสาวจีน
นี่จึงทำให้ในการประชุมโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเรื่องเศรษฐกิจในเดือนที่ผ่านมา มีการเน้นย้ำถึงการกลับมาให้ความสำคัญกับภาคเอกชนว่าเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ และการประกาศส่งเสริมภาคเทคโนโลยีของจีน แต่หลายคนยังคงรอมาตรการที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลมากกว่าเพียงสโลแกนว่าจะส่งเสริม
มากไปกว่านั้น แรงกดดันต่อหนุ่มสาวจีนเริ่มสะท้อนออกมาผ่านวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาว มีการพูดถึงการขออยู่บ้านไม่ทำอะไร การขอทำงานเป็นลูกกตัญญูอยู่ดูแลพ่อแม่ที่บ้านแทนที่จะไปฟาดฟันในตลาดแรงงาน มีการพูดกันว่าความนิยมในการทำงานในภาคราชการและการแข่งขันเข้าสู่ระบบราชการถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่จีนเปิดและปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นต้นมา เพราะงานราชการเป็นงานที่มีหลักประกันท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่รัฐบาลจีนเองก็ได้ประกาศนโยบายจะลดจำนวนคนในระบบราชการ ไม่ได้มีแนวโน้มจะขยายเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ผมยังมองว่าปัญหาการว่างงานของหนุ่มสาวจีนยังไม่ถึงจุดระเบิดที่จะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะครัวเรือนของจีนยังมีการออมที่สูงมาก พ่อแม่ชนชั้นกลางสามารถช่วยลูกๆ ต่อไปในระยะที่พวกเขายังหางานไม่ได้ ในขณะเดียวกัน หนุ่มสาวชาวจีนเหล่านี้ก็มีโอกาสในการค้าขายผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce หรือเป็นผู้ประกอบการเล็กๆ เองไปก่อนในระหว่างที่กำลังมองหางานที่เหมาะสม
และเรื่องที่แปลกแต่น่าสนใจมากก็คือ แทนที่หนุ่มสาวจีนจำนวนไม่น้อยจะเอาความไม่พอใจไปลงที่รัฐบาล ทว่าแพะรับบาปของเรื่องนี้กลับเป็นสหรัฐฯ และตะวันตกที่กดดันจีนผ่านสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี กลับกลายเป็นว่าคนหนุ่มสาวของจีนเหล่านี้กลับมีความชาตินิยมยิ่งขึ้นกว่าหนุ่มสาวในอดีตเสียอีก และเชื่อตามท่านผู้นำว่านี่เป็นช่วงเวลาแห่งการอดทนจากการกัดฟันสู้กับการปิดล้อมและกดดันทางเศรษฐกิจจากภายนอก