fbpx

สู้ทุนใหญ่-ทลายทุนผูกขาด: ‘เศรษฐกิจเพื่อคนไทย’ ก้าวย่างสำคัญของว่าที่รัฐบาลใหม่

ท่ามกลางบรรยากาศการรอคอยผลการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง ข้อถกเถียงในประเด็นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจถูกหยิบยกนำมาพูดถึงและถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย โดยเฉพาะนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในเวลานี้

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ทลายทุนผูกขาด และเพิ่มรัฐสวัสดิการ คือนโยบายชูธงของพรรคก้าวไกลที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะจดจำได้เป็นอย่างดี หากแต่นโยบายดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้าง ถึงความเหมาะสมและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย 

101 ชวน ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ จาก University of California San Diego ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางนโยบายเศรษฐกิจไทยของว่าที่รัฐบาลใหม่ สารพัดวิกฤตปัญหาทางเศรษฐกิจที่รอวันปะทุ และข้อถกเถียงเชิงนโยบาย เพื่อแก้โจทย์อนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังรอคอยคำตอบหลังการเลือกตั้ง

เศรษฐกิจไทยต้องทั่วถึง-เท่าเทียม-หมุนทันโลก

ภาพการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในความคิดของพรรคก้าวไกล จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยไม่เหมือนเดิม

ศิริกัญญา: เราตั้งเป้าหมายที่จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างทั่วถึง เพราะที่ผ่านมาเราเห็นว่าเศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆ ทว่าดอกผลของการพัฒนากลับไม่กระจายอย่างทั่วถึงให้คนในประเทศ มีทุนขนาดใหญ่อยู่เพียงหยิบมือหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในขณะที่คนที่อยู่ฐานรากไม่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตเท่าที่ควร จึงเกิดเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ 3 FG 

1.firm ground สร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่ผ่านมาแนวทางของหลายรัฐบาลมีความพยายามแก้ไขปัญหาภาคชนบทไทยด้วยการทำเกษตรแบบเดิมๆ โดยไม่ได้แก้ปัญหาขั้นพื้นฐานอย่างเรื่องกรรมสิทธิที่ดิน ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัญหารากฐานที่สุด เปรียบเทียบง่ายๆ นโยบายการเกษตรก็เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรกของเรา

รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลาง (SME) ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้โตไปข้างหน้า แต่ที่ผ่านมาเรายังคงติดข้อจำกัดหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ SME กลายเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปราะบาง และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือมากเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถกลับมายืนอย่างเข้มแข็งขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง 

2.fair game คือการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมหรือการทลายทุนผูกขาด หลายครั้งปัญหาเศรษฐกิจเกิดจากการที่มีบางบริษัทมีกลุ่มทุนที่มีอำนาจเหนือตลาด หรือมีการออกกฎระเบียบภาครัฐเพื่อทำให้เกิดการผูกขาดในบางกิจการ นโยบาย fair game จะทำให้คนตัวเล็กมีโอกาสทำมาหากินและลืมตาอ้าปากได้ ทั้งยังช่วยพัฒนาให้กลไกของภาครัฐมีความสามารถในการดำเนินนโยบายมากขึ้น อย่างนโยบายเศรษฐกิจในหลายประเทศ ภาครัฐก็กลายมามีบทบาทนำมากขึ้นเรื่อยๆ ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

3.fast forward growth ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนแปลงเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต และทดแทนส่วนของอุตสาหกรรมที่อาจหมดไปในอนาคต ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปเป็นรถไฟฟ้า ในฐานการผลิตรถเมล์ไฟฟ้า (E-BUS) เราสามารถสร้างอุตสาหกรรมนี้ได้จากการปรับมาตรฐานหรือกฎระเบียบต่างๆ เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนหรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นการช่วงชิงความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมได้ ภายใต้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ และจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตไปข้างหน้ามากขึ้น

นโยบายลดความเหลื่อม-แก้ทุนผูกขาด จะไปกระทบชนชั้นกลางด้วยหรือไม่ รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ว่าคุณมองทุนใหญ่เป็นตัวร้ายเกินไปหรือเปล่า

ศิริกัญญา: อยากให้มองว่านี่คือการจัดความสัมพันธ์ที่ดีในรูปแบบใหม่ของระบบทุนนิยมมากกว่า โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาค่อนข้างมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด และหลายครั้งกลายเป็นว่านักการเมืองเอื้อผลประโยชน์ให้ทางกลุ่มทุนเสียเอง 

พรรคก้าวไกลยืนยันจะจัดความสัมพันธ์ใหม่โดยให้ฝั่งการเมืองไม่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับฝ่ายนายทุนมากนัก รวมถึงพยายามจัดลำดับความสำคัญให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องพึ่งอำนาจทางการเมืองในการหาผลประโยชน์ใดๆ และจะเอื้อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีมากขึ้น รวมถึงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน ทั้งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและปรับค่าจ้างที่เป็นธรรม เพื่อให้แรงงานมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและพัฒนาทักษะตัวเองได้

เช่นเดียวกับเรื่องทุนผูกขาดที่ต้องมีกฎกติกาให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมเหมือนระดับสากลมากขึ้น เพื่อให้ราคาสินค้าในตลาดไม่แพงขึ้นจากการผูกขาด และเปิดโอกาสให้มีการค้าเสรีมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่การผูกขาดเกิดจากกฎระเบียบของภาครัฐ ซึ่งในความเป็นจริงแม้ว่าเราจะไปแก้กฎระเบียบนี้ก็แทบจะไม่กระทบกำไรของฝั่งทุนด้วยซ้ำ เพียงแต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้อีกหลายธุรกิจลืมตาอ้าปากได้

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ประเทศไทยเผชิญหน้ากับปัญหาระดับโครงสร้างแทบในทุกมิติ แล้วเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้แตกต่างกับรัฐบาลที่ผ่านมา

กฤษฎ์เลิศ: ผมมองว่าเราต้องอาศัย ‘การปฏิรูปครั้งยักษ์’ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนนโยบาย และบางครั้งคนกำหนดนโยบายเหล่านี้ก็ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย หลายครั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก โจทย์นี้แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่ง่ายนักที่จะแก้ไขได้ ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านี้เกิดขึ้นจากสามปัจจัย

ปัจจัยแรก ความล้มเหลวของตลาด อย่างกรณีตลาดแรงงานที่ผลิตแรงงานทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 

ปัจจัยที่สอง เรื่องของนโยบายภาครัฐที่พยายามแก้ความล้มเหลวของตลาด ทว่าแก้ไขไม่สำเร็จ และบางครั้งกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาอีก

ปัจจัยที่สาม คือภาครัฐเป็นตัวปัญหาเสียเอง ทำให้เกิดกฎระเบียบไม่จำเป็นเต็มไปหมด รวมไปถึงการทุจริตคอรัปชัน ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาของโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศก็ต้องแก้ตามปัจจัยเหล่านี้เป็นหลัก

กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ จาก University of California San Diego

ศิริกัญญา: เรื่องแรกที่สำคัญ คือเราจะทำอย่างไรให้สามารถแก้กลไกตลาดที่ล้มเหลวได้ ส่วนตัวมองว่าในบางปัญหาสามารถแก้ได้หากเรามีเจตจำนงทางการเมืองที่ดี ด้วยความที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่สื่อสารกับประชาชนในประเด็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงและมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างมาตลอด จึงเป็นเหมือนฉันทานุมัติจากประชาชน ว่าเราจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครเคยแก้ได้ เรามองว่าหากมีแรงหนุนที่ส่งผ่านมาทางเจตจำนงทางการเมือง ย่อมทำให้นโยบายต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง

เรื่องที่สอง ระยะเวลาในการทำงานที่ผ่านมาย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์คุณลักษณะการทำงานของพรรคก้าวไกล ว่าในปัจจุบันเรายังไม่ได้ถูกกลืนเข้าไปกับในระบบ และมุ่งมั่นมากพอว่าจะสามารถเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดได้จริง 

เรื่องที่สาม หลายครั้งที่ผ่านมาการเข้าไปทำงานกับภาครัฐมักเป็นการบริหารที่ค่อนข้างห่างไกล คือรัฐไม่ค่อยได้ลงมือทำงานร่วมกับฝ่ายข้าราชการมากนัก เราจำเป็นต้องปรับวิธีการในการเข้าไปทำงานให้เป็นส่วนหนึ่งของทีมข้าราชการมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นตัวหนุนให้สร้างความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง 

หลายคนอาจยังมีความกังวลว่านโยบายของก้าวไกลจะเหมือนกับนโยบายที่ผ่านมาหรือไม่ คือนโยบายที่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังทำให้แย่ลง ดังนั้นเวลาเราคิดนโยบาย เราย่อมพยายามมองรอบด้านและเตรียมตัวเยียวยาผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น แน่นอนว่าอาจมีบางประเด็นที่เรามองไม่ถี่ถ้วน จึงจำเป็นต้องอาศัยการรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อปิดช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายให้ครบถ้วน 

เพิ่มภาษี-ขยายฐานภาษี สองสิ่งที่ต้องมาพร้อมกัน

แนวทางนโยบายเศรษฐกิจขึ้นภาษีคนรวย-ลดภาษีคนรายได้น้อยของพรรคก้าวไกล อาจสร้างผลกระทบต่อชนชั้นกลางและตลาดทุนด้วยหรือไม่ 

ศิริกัญญา: มีเหตุผลว่าทำไมเราจำเป็นต้องแก้นโยบายเก็บภาษี เช่น ภาษีความมั่งคั่ง เป็นภาษีที่เก็บจากผู้มีสินทรัพย์สุทธิเกิน 300 ล้านบาทขึ้นไปในอัตรา 0.5% โดยจะไม่เก็บกับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย และขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 23% นโยบายเหล่านี้คนชนชั้นกลางอาจเป็นกังวลว่าจะไปกระทบกับตลาดทุน อย่างภาษีกำไรจากการขายหุ้น (capital gain tax) แต่สิ่งที่เราออกแบบก็พยายามจะทำให้มีคนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดอยู่แล้ว

สำหรับภาษีนิติบุคคล เนื่องจากเราไม่ได้ปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามานาน ทำให้เกิดช่องว่างที่คนเรียกว่าการเก็งกำไร คือไม่จ่ายเป็นเงินเดือนแต่จ่ายเป็นเงินปันผลแทน เพราะจะได้อัตราภาษีที่ต่ำกว่า ในขณะที่อัตราภาษีนิติบุคคลของไทยก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำมากอยู่แล้ว 

ส่วนที่ชนชั้นกลางกังวลว่านโยบายแก้ระบบภาษีอาจกระทบกับตลาดทุน เพราะหากกำไรน้อยลงจะทำให้ผลตอบแทนกำไรจากการเล่นหุ้นน้อยลงไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลต่อชนชั้นกลางบางส่วนที่มีรายได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือถ้าเก็บ capital gain tax ก็จะทำให้ถูกเก็บภาษีและจะทำให้ผลตอบแทนลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนของ capital gain tax เราก็พยายามหาทางออกสำหรับเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

เรามองว่า capital gain tax สามารถออกแบบนโยบายได้หลากหลาย เช่น เราต้องการช่วยคนกลุ่มไหน หรือจะให้แรงจูงใจให้คนมีพฤติกรรมแบบไหนในการลงทุน เพื่อลดความกังวลที่ว่าจะทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้วมีเงินทุนบางส่วนไหลออกไปลงทุนในตลาดทุนประเทศอื่น เราจึงต้องทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเพื่อออกแบบนโยบายให้ไม่กระทบกับตลาดทุน หรือถ้าเกิดจะกระทบกับตลาดทุนมากไปก็ต้องหาวิธีการอื่นๆ มาแก้ไขเช่นกัน

กฤษฎ์เลิศ: การปฏิรูประบบภาษีถึงอย่างไรก็ต้องทำ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำ แม้หลายคนจะไม่ชอบ แต่เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะภาษีเป็นเรื่องหนึ่งในการปฏิรูประบบการคลังโดยรวมด้วย

และไม่ใช่ว่าทุกคนไม่อยากเสียภาษี จริงๆ มีคนอยากเสียภาษี ถ้าเขารู้ว่าเงินที่เสียไปจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศ หรือแม้กระทั่งนโยบายกระจายความเจริญ ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนเสียภาษีรู้สึกว่าเงินของเขาถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า นี่คือความท้าทายในการดำเนินนโยบาย ส่วนตัวผมรู้สึกว่าควรเก็บภาษีเท่าที่จำเป็น ในส่วนนี้เห็นด้วยที่คุณศิริกัญญาบอกว่าก่อนจะเก็บภาษีใดๆ ต้องดูให้ละเอียดและศึกษาว่าจะมีผลอะไรตามมาหรือไม่

นอกจากนี้ ผมมองว่าภาษีไม่ใช่เพียงต้นทุนเดียวของการทำธุรกิจ อย่างบริษัทข้ามชาติมาลงทุนในประเทศต่างๆ ภาษีไม่ได้เป็นปัจจัยอันดับหนึ่งเสมอไป การทำธุรกิจมีต้นทุนอย่างอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเงินใต้โต๊ะหรือสารพัดค่าธรรมเนียม ถ้าคิดว่าการขึ้นภาษีตรงนี้จะกลายเป็นต้นทุนเพิ่มของทางฝั่งธุรกิจ ก็อยากฝากให้รัฐบาลไปช่วยลดต้นทุนตัวอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เพราะฉะนั้น ไม่อยากให้มองว่าภาษีเป็นต้นทุนอย่างเดียวของธุรกิจ แต่ยังมีต้นทุนอย่างอื่นแฝงอยู่ด้วย ซึ่งต้นทุนเหล่านี้รัฐบาลสามารถช่วยลดได้

ในสภาพเศรษฐกิจไทยที่รายได้การจัดเก็บภาษีถดถอยอย่างต่อเนื่อง จะทำอย่างไรให้รัฐไทยสามารถเก็บรายได้ภาษีได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

กฤษฎ์เลิศ: ผมมองว่าต้องปฏิรูปทั้งระบบเพื่อป้องกันความลักลั่น อย่างในกรณีเก็บภาษี ประเด็นไม่ได้มีแค่ต้องการเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์อย่างอื่นด้วย เช่น เรื่องความเท่าเทียมกัน มีคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทยที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คนจำนวนมากแทบไม่ได้จ่ายภาษีตรงนี้ กลายเป็นว่าคนที่จ่ายก็ต้องจ่ายตลอด ในขณะที่คนที่ไม่จ่ายก็มีจำนวนมากเช่นกัน

คำถามคือเราจะขยายฐานภาษีตรงนี้เพิ่มขึ้นอย่างไร สมมติเก็บ capital gain tax แล้วสินทรัพย์ตัวอื่นต้องเก็บภาษีด้วยไหม เช่น ถ้าผมไม่ซื้อขายหุ้นแต่ไปซื้อขายทองหรือภาพวาดศิลปะแทน สิ่งเหล่านี้ควรเก็บภาษีด้วยหรือไม่ รวมถึงจะเก็บอย่างไร นี่คือคำถามต่อไป เพราะถ้าเราเก็บภาษีตัวหนึ่งแต่ไม่เก็บตัวอื่น ก็อาจมีความลักลั่นในระบบอยู่ดี ดังนั้นการปฏิรูประบบภาษีต้องดูทั้งระบบเพื่อป้องกันความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกับคนฐานะร่ำรวยที่มีช่องทางในการหลบหลีกจนกลายเป็นคนที่เสียภาษีน้อย ในขณะที่คนธรรมดาที่ไม่มีช่องทางนั้นต้องเสียภาษีเยอะ คนจึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

ศิริกัญญา: ต้องบอกว่านโยบายเก็บภาษีเป็นการหารายได้มาเติมให้กับระบบสวัสดิการ สวัสดิการที่เราอยากได้ก็มีราคาที่ต้องจ่ายและมีต้นทุนของมัน ถ้าจะทำสวัสดิการโดยไม่เพิ่มภาระทางการคลัง เราก็จำเป็นที่จะต้องมีการเก็บภาษีเพิ่ม ดังนั้นจึงอาจมีบางส่วนที่จำเป็นต้องหารายได้อย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง และไม่เป็นภาระทางการคลังในอนาคต 

สุดท้ายแล้วเราจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบภาษี เพราะภาระหนี้ในเรื่องของดอกเบี้ยหรือเงินต้นที่เราจำเป็นต้องจ่ายจากการกู้เงินมาในช่วงโควิด-19 จะกลายเป็นภาระหนี้ที่ไปเบียดบังงบประมาณอื่นๆ ในอนาคตได้เช่นเดียวกัน 

ค่าแรง 450 บาท ภารกิจร้อยวันแรกของรัฐบาล

ค่าแรง 450 บาทในร้อยวันแรกของรัฐบาลก้าวไกล จะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อและสร้างต้นทุนกับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่เฉพาะทุนใหญ่ แต่กับธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SME) ด้วยหรือไม่ และจะมีวิธีบรรเทาผลกระทบอย่างไร

ศิริกัญญา: ต้นทุนของภาคเอกชนไม่ได้มีแค่เรื่องภาษีและค่าแรง เราคิดว่าหลายๆ นโยบายของก้าวไกลจะทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SME) ลดลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดกฎระเบียบใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งเราทราบกันดีว่าไม่ได้เกิดต้นทุนเฉพาะการเดินทางหรือการติดตามว่ากระบวนการอนุมัติจากภาครัฐว่าถึงไหนแล้ว แต่อาจเกิดต้นทุนของการต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือส่วยต่างๆ ด้วย 

ส่วนเรื่องค่าแรง 450 บาท แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดย่อมมากที่สุด ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงออกแบบนโยบายเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม หรือการนำค่าจ้างมาหักภาษีได้สองเท่า 

อีกประเด็นสำคัญ คือการทำอย่างไรให้เกิดผลิตภาพของฝั่งแรงงานเพิ่มขึ้น เราจึงออกนโยบายลดหย่อนภาษี หมายความว่าถ้าภาคเอกชนบริษัทต่างๆ ไปลงทุนในการทำเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว ก็สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาษีได้ นี่เป็นอีกหนึ่งแนวทางเยียวยาปัญหาเงินเฟ้อ 

มากไปกว่านั้น หากเทียบเคียงกับกรณีของการขึ้นค่าแรงขึ้นมาเป็น 300 บาทในช่วงปี 2554 ถึง 2556 ตอนนั้นก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อมากนัก และถ้าไปดูตัวเลขดัชนีราคาของผู้ผลิต ที่ผ่านมาดัชนีราคาของทางฝั่งผู้ผลิตมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ  หมายความว่าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา เท่ากับว่าหากปรับขึ้นขึ้นค่าแรงตอนนี้ก็ยังคงมีช่องว่างมากพอจะทำให้เอกชนสามารถรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้โดยจะไม่ส่งผ่านไปขึ้นที่ราคาสินค้าทั้งหมด

กฤษฎ์เลิศ: ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะตลาดแรงงานซึ่งเป็นตลาดที่ไม่ได้มีการแข่งขันสมบูรณ์ และนายจ้างมีอำนาจในการกำหนดค่าจ้าง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีค่าแรงขั้นต่ำ เพราะอำนาจต่อรองของนายจ้างกับลูกจ้างไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่แรกแล้ว

แต่สิ่งสำคัญคือถ้าค่าแรงเพิ่มขึ้น ประสิทธิผลก็ต้องขึ้นด้วย ไม่ใช่ขึ้นแต่ค่าแรงแต่ว่าประสิทธิผลไม่ขึ้น นี่เป็นอีกโจทย์ใหญ่ว่าจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาฝีมือและทักษะแรงงาน ผมจึงอยากฝากประเด็นสำคัญว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษต่างกับประเทศรายได้พอๆ กับเรา คือตลาดแรงงานเราใหญ่มาก แต่แรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เพราะฉะนั้นนโยบายต่างๆ อาจทำให้คนไม่อยากเข้ามาในระบบ เพราะการที่เขามาอยู่ในระบบจะขยายฐานภาษีและทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย จึงอาจต้องคิดให้ครบถ้วนถึงช่องโหว่นี้ด้วย

โจทย์หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง วิกฤตใหญ่ที่ต้องเร่งรับมือ

ถ้ามองสภาพเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ นโยบายด้านเศรษฐกิจอะไรที่มองว่าจำเป็นดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุด

ศิริกัญญา : มองว่าเป็นเรื่องของหนี้ครัวเรือน นโยบายก้าวไกลเน้นทำให้เศรษฐกิจภายในเข้มแข็ง แต่เศรษฐกิจภายในจะเข้มแข็งไม่ได้เลยถ้าหนี้ครัวเรือนยังคงกดการใช้จ่ายของประชาชนอยู่ สมมติเงินเดือนประชาชนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ค่าใช้จ่ายหนี้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้การบริโภคไม่เจริญเติบโตตาม

งานแรกที่คิดว่าจำเป็นต้องทำ คือการเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ และหาวิธีการเติมเงินเข้าไปในระบบมากขึ้น ด้วยภาระหนี้ที่สูงมากจะทำอย่างไรให้คนออกไปเที่ยวและออกไปใช้เงิน หรือการประเมินความเสี่ยงการปล่อยกู้ของธนาคารต่างๆ ก็ทำให้คนที่สมควรได้รับเงินไปต่อยอดทางธุรกิจกลับไม่ได้รับไปด้วย 

แต่พรรคก้าวไกลไม่มีนโยบายพักชำระหนี้ เพราะเรามองว่าการเลื่อนปัญหาออกไปในอนาคตไม่ได้เป็นการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา แน่นอนว่าทางแก้ที่ง่ายสุดก็คือการเพิ่มรายได้ แต่การสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้ประชาชนไม่สามารถทำได้รวดเร็วขนาดนั้น ดังนั้นการปรับโครงสร้างหนี้น่าจะทำได้ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อให้คนมีอากาศจะหายใจได้เต็มปอดมากขึ้น และมีภาระหนี้ที่เหมาะสมโดยต้องมีการกำหนดสัดส่วนต้นทุนระหว่างผู้กู้และลูกหนี้

กฤษฎ์เลิศ : เห็นด้วยเช่นกันว่าเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือน แต่เวลามีคำถามว่านโยบายไหนที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุด เรามักจะนึกถึงนโยบายระยะสั้น ส่วนนโยบายระยะยาวจะกลายเป็นลูกเมียน้อย ทั้งๆ ที่การปรับโครงสร้างต้องใช้ระยะเวลาในการทำ ซึ่งถ้าเราไม่ทำไม่เริ่มเลยก็เหมือนกับการยืดปัญหาออกไปเรื่อยๆ ดังนั้นต้องอย่าลืมทำนโยบายระยะยาวควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ เราควรประเมินความเสี่ยงว่านโยบายต่างๆ จะก่อให้เกิดผลเสียด้วยหรือไม่ ถ้าพูดถึงประเด็นว่าเราจะต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น แล้วถ้ารายได้เพิ่มไม่ได้อย่างที่คิดไว้จะทำอย่างไรต่อไป เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะตัวบุคคล ถ้าเกิดหนี้ขึ้นมากันเยอะเข้าก็อาจกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเชิงระบบได้

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save