fbpx

“หัวใจใหญ่กว่าตับ” ทองพูน พีเค.แสนชัย และบทพิสูจน์ของนักชกที่ไม่ถูกใจ ‘ตลาดเซียนมวย’

มีนาคม 2023 ‘ทองพูน’ แจ้งเกิดในฐานะนักมวยจากเวที ONE ด้วยการเดินหน้าน็อคคู่ต่อสู้ตั้งแต่เสียงระฆังยกแรกเงียบไปไม่กี่อึดใจ -พูดกันแบบให้เห็นภาพชัด เขากดคู่ต่อสู้ล้มลงในเวลาเพียง 24 วินาที แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถิติที่เร็วที่สุดของการแข่งขัน และอีกแค่หนึ่งเดือนหลังจากนั้น เขาทำลายสถิติตัวเองด้วยการน็อคคู่ชกลงในเวลาเพียง 20 วินาที

เดินมวยคล้ายคนมีธุระด่วน กระโจนขึ้นสังเวียนแล้วไม่พูดพล่ามทำเพลง สาวหมัดใส่ทั้งบนทั้งล่าง คู่ชกมารู้ตัวอีกทีก็ตอนลงไปกองกับผืนผ้าใบ ประเภทที่ว่าไม่ใช่แค่คู่ชกไม่ทันได้หายใจหายคอ แต่คนดูก็ด้วย ลองได้เดินเข้าสนามช้าไปแค่อึดใจเดียว เป็นอันว่าพลาดไฟต์สำคัญไปแล้วหนึ่งไฟต์ 

สไตล์การชกของทองพูน -กฤษดา ดาลาส- เป็นแบบนั้น คล้ายว่าคำขวัญในหัวใจคือใส่ก่อนได้เปรียบ ตั้งการ์ดได้ก็เดินดุ่มไปหาคู่ต่อสู้คล้ายขีปนาวุธลูกจิ๋ว ส่วนไหนกดหมัดถึงก็ต้องกด ตีเข่าให้ล้มได้ก็ต้องตี ปราศจากท่าทีละล้าละลัง กระทั่งต้นเดือนธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา ทองพูนขึ้นชกกับ เอลลิส บาร์โบซา นักชกชาวอังกฤษ ก่อนจะพ่ายน็อคไปในปลายยกที่สาม จากหมัดขวาของบาร์โบซาที่หวดขึ้นบนก่อน แล้วตามด้วยหมัดซ้ายอัดลำตัวอันเป็นตำแหน่งของตับ หนึ่งในจุดตายสำคัญของนักมวยอาชีพ

ทว่า อีกหนึ่งเดือนต่อมา บาร์โบซาถูกตรวจพบสารกระตุ้นที่ถือว่าผิดกฎระเบียบสากล ผลการตัดสินจึงพลิกกลับเป็นว่า ยังไม่มีนักชกคนไหนล้มทองพูนลงได้

แต่นั่นก็ดูไม่ใช่สิ่งที่ทองพูนบอกตัวเอง “เราแพ้และเราพลาดจริงๆ” เขาบอก ใต้ท่าทีห่ามห้าวของคนหนุ่ม เขาพูดเสียงเบา ใช้คำสุภาพ นั่งค้อมตัวไปข้างหน้านิดๆ และพินิจพิเคราะห์คำพูดตัวเองด้วยแววตาครุ่นคิดเสมอ หากไม่นับท่าทีเอาจริงเอาจังที่ปรากฏให้เห็นตลอดการสนทนา คนตรงหน้าก็แทบไม่เหลือเค้าบุคลิกลักษณะคนที่พุ่งออกจากมุมไปสาวหมัดใส่คู่ชกบนสังเวียน

แต่ความสุภาพก็เป็นคนละเรื่องกับพลังหัวใจ -หรือไม่ใช่

ในวงการมวย ประโยคที่ว่า “หัวใจใหญ่กว่าตับ” ถูกหยิบมาบรรยายเพื่อเคารพหัวใจนักชกประเภทยอมหักไม่ยอมถอย เดินหน้าแลกเหมือนเดิมพันด้วยชีวิต

ทองพูนเป็นนักชกประเภทนั้น

เดินหน้าแลก

ทองพูนยิ้มเขินๆ ตอนถูกถามถึงไฟต์แรกที่เขาขึ้นชกเวที ONE ซึ่งเขากดคู่ต่อสู้ลงผืนผ้าใบในเวลาแค่ 24 วินาที ระดับที่นักพากย์จากโทรทัศน์ยังบรรยายเนื้อตัวนักชกไม่ครบดี หันมาอีกทีก็มีคนทนพิษหมัดกับศอกไม่ไหว ลงไปนอนพับกับพื้นแล้ว

“เราคิดของเราทุกวันว่าเราอยากชนะ” คำตอบของเขาซื่อและจริงใจ “ตื่นมาก็คิดเลยว่าจะต้องต่อยแบบนี้ จะต้องชนะน็อค แล้วก่อนนอนก็คิดอีกเหมือนกันว่าจะชนะน็อคให้ได้ ถ้าไม่น็อคยกแรกก็ตั้องน็อคยกที่สอง ถ้าไม่น็อคยกที่สองก็ต้องน็อคยกที่สาม”

ไม่มีคำว่าแพ้ในหัว ไม่มีคำว่าถอยอีกเหมือนกัน มีแค่เดินหน้าชน “ตอนนั้นวางแผนการชกกับตัวเองเลยว่าจะต้องต่อยให้เร็วที่สุด ไวที่สุด ไม่ให้คู่ชกตั้งตัว” 

แต่มวยก็เหมือนกีฬาอื่นๆ มันไม่ได้มีแค่การไล่สาวกำปั้นใส่คู่ต่อสู้หรือนาบแข้งเข้าก้านคอ มันเต็มไปด้วยการวัดเหลี่ยมวัดเชิง แรงกำลังนั่นก็เรื่องหนึ่ง วินัยก็อีกเรื่อง แต่ไหวพริบ ลูกล่อลูกชนก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เผลอไผลทำตัวให้คนอ่านเกมเอาง่ายๆ โอกาสจะได้นอนสังเวียนยิ่งสูง และใช่ว่าเขาจะไม่รู้ตัว ทองพูนรู้ดีว่า ‘ไพ่’ แบบที่เขาใช้เมื่อสองยกแรกนั้นไม่อาจเป็นกลที่เขาใช้งานได้ตลอดกาล ถึงที่สุดเขาต้องหาเหลี่ยมมุมอื่นออกหน้าสู้ “สไตล์การต่อยแบบนี้ถูกจับทางง่าย เราเลยต้องเปลี่ยนสไตล์การชกของเรา จากที่บู๊มาก โผล่ไปอัดคู่ต่อสู้เลยตั้งแต่วินาทีแรกเพื่อไม่ให้เขาตั้งตัวได้ พอขึ้นชกไฟต์ที่สามก็ต้องเปลี่ยนเพราะคู่ชกจะจับทางเราได้แล้ว”

รูปแบบการเดินหน้าแลกไม่ใช่สิ่งที่ทองพูนเพิ่งมาสร้าง หากแต่มันอยู่กับเนื้อตัวเขาตั้งแต่วันที่เขาเริ่มชกมวย 

และมันก็เป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จในสังเวียนมวยไทยด้วยอีกเหมือนกัน

‘ทองพูน’

เรานัดเจอทองพูนช่วงบ่ายที่ค่ายมวย เขาเพิ่งกลับจากพักผ่อนหลังการซ้อมรอบเช้า -อันหมายถึงตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อไปวิ่ง กลับมาเตะเป้า 7 ยกและเวตเทรนนิ่งต่ออีกเป็นชั่วโมง- และเตรียมตัวซ้อมรอบบ่าย ลับเหลี่ยมหมัดเตรียมรับมือกับไฟต์ชกถัดไปในวันที่ 17 กุมภาพันธ์กับนักชกชาวคีร์กีซสถาน 

“ทำการบ้านยากเลย เพราะเขาเป็นคนต่างชาติ เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มีสไตล์แบบไหน แต่ถ้าคู่ชกเป็นคนไทย เรายังพอรู้พื้นเพเขา ว่าเขาเป็นมวยอะไร มีจุดอ่อนอยู่ตรงไหน” ทองพูนบอก “การรู้ข้อมูลพวกนี้มันช่วยเราได้มากๆ เช่น ถ้าคู่ชกคนนี้เขาเป็นพวกอ่อนแรงปลาย เราก็อาจไปเร่งปลายยกได้”

คนหนุ่มยืดเส้นยืดสาย เห็นรอยสัก ‘Thongpoon’ พาดทับอยู่กลางอก ถ้าคุณถามถึงที่มารอยสัก เขาจะส่งยิ้มเขินๆ ให้แล้วเล่าที่มาของมันสั้นๆ

“สมัยนั้นผมติดเกม”

เติบโตที่มหาสารคาม ทองพูนหรือ ‘เจี๊ยบ’ ของเพื่อนๆ ห่ามห้าวแต่เด็ก ถ้าไม่ขลุกอยู่ที่ร้านเกมก็ต้องหาเรื่องให้ตัวเองเอาเนื้อเอาหนังไปให้คนตัวใหญ่กว่าซ้อม และตามประสาเด็กตัวเล็ก ชนเขาด้วยกำลังไม่ได้ก็ถอยมาหาทางสู้อย่างอื่นที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่าอย่างการเข้าไปซ้อมในค่ายมวย และในวัย 11 ขวบ รู้ตัวอีกทีเขาก็วิ่งเข้าออกระหว่างโรงเรียน ค่ายมวย บ้านกับร้านเกม และโดยไม่มีต้นไม่มีปลาย วันหนึ่งเจ้าของค่ายที่บ้านเกิดก็ตั้งชื่อนักมวยให้เขาว่า ทองพูน และเขาก็รับมาเป็นชื่อโดยไม่เคยเอะใจหรือตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป

อยู่กับชื่อนั้นมาหกปี คำนำหน้าชื่อเปลี่ยนจากเด็กชายเป็นนาย เข้าขวบปีที่ 17 ถึงได้รู้ว่าเป็นชื่อร้านเกมที่เขาเข้าไปนั่งขลุกอยู่บ่อยๆ

“สมัยนั้นนี่ได้เงินจากชกมวยเท่าไหร่ก็ไปลงกับเกมหมดเลย” ทองพูนในวัย 26 บอก “ครั้งแรกๆ ขึ้นชกแล้วได้เงินครั้งละ 300 บาท ลงเกมทั้งนั้น แต่ตอนนี้เกมมันปิดตัวไปแล้ว”

แว่วเสียงช่างภาพด้านหลังถามกลับอย่างคนรู้กัน “Heroes of Newerth เหรอพี่” 

คู่สนทนาพยักหน้ายิ้มๆ แทนคำตอบ

และก็เป็นที่มหาสารคามนั่นเองที่เขาเดินหน้ากลายเป็นนักชกอาชีพ เลขนำหน้าอายุหน่วยแรกขึ้นด้วยเลขสองไม่กี่ปี ทองพูนก็มีประสบการณ์ชกมาแล้วว่า 200 ไฟต์ หายใจเข้าออกเป็นสังเวียนมวย กินนอนในค่าย เจอหน้าคู่ชกคนใหม่ๆ บ่อยเท่าคนล่อเป้าตัวเอง “สมัยชกที่ภูธรนี่ชกเยอะครับ ชกทั้งกลางวันกลางคืน เดือนหนึ่งๆ ผมชกมากที่สุดเกือบสิบไฟต์ คือขึ้นชกแทนซ้อมเลย” 

เอาร่างขึ้นไปรับแข้งคู่ต่อสู้ เนื้อตัวฟกช้ำ ผลัดแพ้ผลัดชนะร่วมสิบปี สันหมัดผลัดเปลี่ยนรูป กระดูกแข้งผลัดเปลี่ยนฤดู กล่าวกันว่าสันแข้งนักมวยไทยแข็งเหมือนไม้หน้าสาม ผลสะสมของการกัดฟันหวดกระสอบ เอาขวดนาบแข้งนานนับปี เจ็บแลกแกร่งตามประสาคนที่ใช้ร่างกายใช้เนื้อตัวเลี้ยงชีพ “ตอนนั้นยังเด็ก มันไม่รู้จักเจ็บไม่รู้จักอะไรเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าซ้อมมวยมันยากหรือไม่ยาก รู้แค่ว่าต้องอดทน” เขาบอก

เส้นทางการชกช่วงนี้เองที่เขาหล่อหลอมรูปแบบการต่อสู้ของตัวเองให้เป็นนักชกประเภทเดินหน้าท้าชน หากแต่มันก็ไม่สวยงามอย่างที่เขาคิด

“ผมชกไม่ถูกตลาด” คือสิ่งที่เขาตอบ

การพนัน-ราคา-หน้าเสื่อ

เรายิ้มซื่อรับคำตอบนั้น ประมวลผลอยู่พักใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจ

นักมวยประเภทเดินหน้าลุย ชกแบบหวังให้คู่ต่อสู้ร่วงพับตั้งแต่ยกแรก และการชกที่ผ่านมาของทองพูนทุกนัดก็พิสูจน์แล้วว่าเรียกเสียงเกรียวกราวในสนามมวยกระหึ่มเสมอ แล้ว ‘ตลาด’ แบบไหนกันที่คนจะไม่ชอบ

“ตลาดเซียนมวยครับ” 

มีคำกล่าวในกลุ่มคนดูมวยอยู่เนืองๆ ว่ามวยไทยสมัยหนึ่งเป็นมวยเต้น นักชกสองคนขึ้นมาแตะนวมใส่กันแล้วเดินหมุนรอบสังเวียน ครบยกลงไปนั่งพักแล้วขึ้นมา ‘แตะนวม’ ใหม่ ต่อยห้ายก หาจังหวะสาวกำปั้น สาดหน้าแข้งใส่กันไม่ถึงสิบครั้ง อย่าว่าแต่น็อค กรรมการจะกดคะแนนให้ยังลำบาก

ตลาดคนดูชอบไหมก็เรื่องหนึ่ง แต่ตลาดเซียนมวยชอบใจ ถึงได้มีคำกล่าวว่า ยุคสมัยหนึ่ง สิ่งที่เป็นเข็มทิศสำคัญของการชกแต่ละนัดไม่ใช่ฝีมือนักมวย แต่เป็นการพนัน-ราคา-หน้าเสื่อ

“เดินหน้าต่อยบู๊ โอกาสที่เราจะน็อคคู่ต่อสู้ก็น่าจะสูง เซียนมวยควรจะพอใจสิ” เราแย้ง

“ไม่เลยครับ” เขาตอบเสียงเรียบๆ ไม่มีน้ำหนักของความแค้นเคืองเจือปน ฟังเหมือนคนเล่าเรื่องที่ล่วงผ่านไปนานแสนนานมากแล้ว “เวลาเราเป็นมวยบู๊ เดินหน้าแลก มันก็มีโอกาสพลาดได้ เพราะแต่ละครั้งที่เราออกอาวุธ เราก็เปิดจุดอ่อนของเราด้วย ยกมือต่อยหนึ่งทีการ์ดก็ตกหนึ่งที”

คนพูดยกมือตั้งการ์ดให้เห็นภาพตามประสาคนที่ทำจนเข้าเนื้อ ยกแขนขึ้นบัง เก็บคางอันเป็นจุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดของนักชก เขาออกหมัดขวา ใบหน้าซีกขวาทั้งซีกเปิดออกไร้เกราะป้องกัน 

“นี่ไง โดนก้านคอแล้ว” เขายิ้ม “ตอนเราเตะก็เหมือนกัน สมมติเราเตะขวา การ์ดขวาเราก็ตก เตะซ้ายการ์ดซ้ายก็ตก เตะเมื่อไหร่ก็โดนต่อยเมื่อนั้น เราจึงต้องเข้าออกให้เร็ว”

เรื่องพวกนี้ คนไม่เคยต่อยมวยอาจจินตนาการยาก แต่สำหรับคนที่อยู่กับมันมาค่อนชีวิต การตั้งการ์ดปิดคางถือเป็นสิ่งจำเป็นเหมือนการหายใจ วูบไหว ละล้าละลัง รู้ตัวอีกทีหลับยาวด้วยกำปั้นหรืออาจจะแข้งของใครสักคน ยิ่งกับมวยไทยที่เรียกเลือดเรียกเนื้อ หมดแรงแขนตกเมื่อไหร่ถูกเอาไปกินไม่รู้ตัว

“มวยห้ายกขับเคลื่อนด้วยเซียนมวยเยอะมาก แล้วพอเราเป็นนักมวยที่เดินหน้าชก เขาก็จะรู้สึกว่าเขาเดิมพันทางเรายากเพราะโอกาสที่เราจะโดนน็อคก็สูง” ทองพูนอธิบาย “มวยก็เหมือนหุ้นน่ะพี่ ตัวไหนสวิงแรง เอาแน่เอานอนไม่ได้ เขาก็ไม่เล่นกัน”

ไม่รู้กี่ไฟต์ต่อกี่ไฟต์ ระฆังดังเขาก็ปราดไปหาฝ่ายตรงข้าม แนบการ์ดชิดคาง ต่อยแบบทิ้งทั้งไหล่ ไล่นวดอีกฝั่งจนครบห้ายกเพื่อจะพบว่าถูกตัดสินให้เป็นฝ่ายแพ้ “ผมเคยจะเลิกต่อยมวยไปหลายครั้งเลยนะ” เขาบอก และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องของความน้อยเนื้อต่ำใจ ของแบบนั้นไม่ได้อยู่ในเนื้อตัวเขา มันเป็นแค่ความไม่เข้าใจและความอัดอั้นต่อกติกาชีวิตที่ตัวเองเล่น “เรารู้สึกว่าเราชนะแต่ออกมาแพ้เพราะราคามวยบอกให้เราแพ้ ซึ่งจริงๆ ราคามวยมันเป็นเรื่องสมมตินะพี่ มันไม่ใช่ของที่มีอยู่จริง

“เรากลับไปดูเทปที่เราต่อยแพ้ เราก็ว่าเราไม่ได้ต่อยแย่ เรานับคะแนนตัวเอง เราเตะจะแจ้ง ต่อยจะแจ้ง แต่แพ้เพราะตลาดเซียนมวยเขาไม่เอาเรา” 

ทางแก้คือต้องชนะน็อคเท่านั้น แต่อย่างที่หลายๆ คนรู้ การจะเนรมิตให้ใครสักคนหลับด้วยกำปั้น เข่าหรือแข้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พ้นไปจากฝีมือ ความอึดทนต่อลูกเตะลูกถีบของบางคนก็ลึกเกินหยั่ง ยังไม่ต้องพูดถึงนวมที่ใช้ต่อยยังเป็นนวมใหญ่ที่หวดใส่เข้าไปแค่ไหนก็ติดการ์ดอีกฝ่าย

แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ผ่านมานานมากแล้ว

แผลเป็น

“แผลเป็นมันอยู่ข้างไหนนะพี่”

คนถามชี้นิ้วไปบริเวณใต้ตาสองข้าง คนที่อยู่กับรอยแผลมานาน เห็นตัวเองในกระจกทุกวัน บ่อยครั้งลืมเลือนว่ามันอยู่ตำแหน่งไหนของใบหน้า -เราชี้ทางขวา ใต้สันคิ้วมีรอยแผลเป็นยาวเหยียด ที่ระลึกจากคู่ชกที่เขาเคยปะทะด้วยเมื่อ 5-6 ปีก่อนที่เวทีราชดำเนิน

“โดนศอก โดนทั้งที่ตา ที่หัว” เขาอธิบาย แล้วขยับมือไปที่กะโหลก “หัวผมเบี้ยวไปข้างหนึ่งเลย ชาไปหมด จะหยิกจะเขกอะไรก็ไม่รู้สึก จำได้ว่านั่นเป็นไฟต์ที่เจ็บตัวที่สุดแล้ว”

200 กว่าไฟต์ ทองพูนเจอมาหมดแล้วทั้งแผลแตก แผลเย็บหรือกระทั่งโดนน็อค ประสบการณ์ที่คนไม่เคยกระโจนขึ้นสังเวียนสู้ไม่มีวันเข้าใจ -และเราก็ไม่หวังจะเข้าใจ “ผมว่าโดนน็อคไม่เจ็บหรอก” เขาพยายามปลอบ “มันมึนมากกว่า เหมือนเรากะพริบตาปกติ แต่พอลืมตาขึ้นมาเราลงไปนอนกับพื้นแล้ว”

“ยิ่งนวมเล็กยิ่งพลาดง่ายเพราะเราบล็อคหมัดเขาไม่ได้ มันทะลุการ์ด บังยังไงก็โดน” ทองพูนบอก และพยายามปลอบใจอีกครั้ง “แต่ก็ไม่ค่อยเจ็บหรอกครับเพราะเราจะน็อคไปเลย ไม่ทันได้รู้สึกเจ็บหรอก”

ฟังแล้วนึกในใจ ทองพูนเป็นนักมวยที่เก่ง แต่คงไม่ใช่นักปลอบใจที่เก่งเท่าไหร่

สัญญาราคา 3.5 ล้านบาท

ชีวิตการชกมวยของทองพูนในวัยถัดมากินระยะทางเกือบ 500 กิโลเมตร จากมหาสารคามเข้ามาชกในกรุงเทพฯ สิ้นเสียงระฆังหมดยก จะแพ้หรือชนะก็เดินทางกลับบ้าน และนั่นเป็นช่วงเวลาไม่กี่ปีก่อนหน้าที่เขาจะย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ระยะยาวหลังได้ขึ้นชกเวที ONE

ทองพูนนับเป็นนักมวยไม่กี่คนที่ได้เซ็นสัญญาสังเวียน ONE มูลค่า 3.5 ล้านบาทหลังขึ้นชกได้สามไฟต์ 

“ผมเป็นคนตั้งใจซ้อมมากนะ ซ้อมหนัก” เขาบอก และนั่นก็ไม่ใช่คำอวดอ้างใหญ่โต อย่างที่เล่า -ทองพูนไม่ได้พูดจากร่างกร้าว ทีท่าของเขาสุภาพเกือบจะค่อนไปทางนอบน้อมและพูดไม่เก่งด้วยซ้ำ “เราต้องซ้อมให้หนักกว่าเขา ต้องสู้กับตัวเอง ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ดีที่สุดแค่นี้ คู่ชกเขาก็ทำได้มากกว่าเรา เราเลยต้องซ้อมให้หนัก อัดเข้าไปอีก อัดเข้าไปเรื่อยๆ”

มองจากสายตาคนนอก ทองพูนขึ้นชกเพียงไม่กี่ไฟต์ -ยังไม่ต้องพูดถึงว่าสองไฟต์แรกเขาชนะน็อคในเวลาเพียง 20 วินาที- การคว้าเงินสัญญาสามล้านบาท ตลอดจนเงินโบนัสต่างๆ เป็นเหมือนบ่อน้ำมันรอให้เขากระโจนเอาเนื้อตัวลงไปชุบ

แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ลำพังแค่นึกภาพตื่นตีห้ามาวิ่งแล้วซ้อมด้วยตารางเดียวกันกับเขาทุกวัน น่าจะถอดใจตั้งแต่ยังไม่พ้นครึ่งวันแรก ยังไม่ต้องพูดถึงการลดน้ำหนักที่ถือกันว่าเป็นกำแพงใหญ่ของนักกีฬาต่อสู้อาชีพทุกคน

ที่เขาพูดกันว่า ต่อยมวยยังไม่ยากเท่าลดน้ำหนักนี่จริงเสียยิ่งกว่าจริง เข็มวัดกระดิกผิดจากเกณฑ์หน่วยเดียว เป็นอันไม่ต้องขึ้นชกหรือไม่ก็ต้องหาทางรีดน้ำหนักลงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

“เป็นเรื่องที่เหนื่อยที่สุดเลย” เขายอมรับ “ผมไม่เคยลดน้ำหนักไม่ผ่านหรอก แต่มันก็เหนื่อย ต้องสู้กับตัวเองเยอะมากๆ ต้องคุมอาหาร วิ่งรีดน้ำหนักแล้วซ้อมเตะเป้าต่อ”

กล่าวกันว่า มีคนอยู่ไม่กี่ประเภทที่ออกวิ่งแล้วสวมชุดหนาหนักกลางแดดจ้า ถ้าไม่ใช่คนประเภทท้าทายขีดจำกัดตัวเองให้ถึงขอบนรก ก็เป็นนักมวยที่กำลังลดน้ำหนัก -และอย่างหลังก็ดูเป็นภาวะที่เข้าใกล้ขอบนรกด้วยเหมือนกัน

เรื่องพวกนี้คือสิ่งที่กอปรสร้างเขาสู่สัญญามูลค่า 3.5 ล้านบาท และอาจเป็นสิ่งที่คนข้างนอกมองไม่เห็น

“เป็นนักมวยมันยาก มันต้องมีวินัย มันต้องจี้ตัวเอง เราต้องสู้กับจิตใจตัวเองทุกวัน” 

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

หัวใจที่ทนทาน

ทองพูนมีซ้อมช่วงบ่าย เขายืดกล้ามเนื้อรอขึ้นซ้อมกับ เด็ดดวง ป.พงษ์สว่าง เทรนเนอร์คู่บุญของเขาที่ยืนถือเป้ามวยรออยู่บนสังเวียน กลิ่นน้ำมันมวยเข้มข้นขึ้นจมูก คนหนุ่มพันผ้าพันมือ เตรียมร่างกายพร้อม

ข้อได้เปรียบของคุณคือตรงไหน -เราถามเขาสั้นๆ คาดหวังคำตอบที่ว่าด้วยความเร็ว กำลังหมัดหรือเหลี่ยมมุมอื่น

โดยปราศจากท่าทีลังเล เขาตอบ “หัวใจที่ทนทานครับ”

ตับเป็นอวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์ แต่ที่มีพลังมากกว่าอาจจะเป็นก้อนเนื้อขนาดเท่ากำปั้นตรงอกซ้าย และเป็นสิ่งที่ ‘วัดใจ’ นักมวยทั้งในฐานะตัวตน และในฐานะความเป็นมืออาชีพด้วย

“หัวใจใหญ่กว่าตับ” น่าจะมีไว้เพื่อใช้บรรยายคนอย่างทองพูนนี่เอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save